อเล็กซ์ เรนเดลล์

อเล็กซ์ เรนเดลล์: ธรรมชาติสอนให้เราเรียนรู้ที่จะยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น

ชีวิตคนหนึ่งคนจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับโลกใบนี้ได้ขนาดไหน?

     คำถามนี้เกิดขึ้นในวันที่โลกของเราเจอวิกฤตสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเป็นประวัติกาล สัตว์ทะเลล้มตายเพราะพลาสติก สัตว์ป่าหลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ต้นไม้ในป่าถูกทำลาย ส่วนต้นไม้ในเมืองถูกละเลย ราวกับว่าเราไม่เห็นถึงการมีอยู่ของธรรมชาติรอบตัว และถึงแม้ว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้ความอุดมสมบูรณ์กลับมา แต่หากเทียบกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังดูเป็นหนทางที่แสนยาวไกล

     บ่ายวันเสาร์ที่ฝนตกปรอยๆ สลับกับแดดออกสดใสเป็นช่วงๆ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ใต้ต้นไม้ใหญ่ในสวนสาธารณะสวนลวง ร.๙ เรารู้จักเขาดีในฐานะนักแสดงมากฝีมือ เล่นละครเรื่องแรกตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่อีกมุมหนึ่ง เขาคือคนรักสิ่งแวดล้อมตัวยง ผู้ก่อตั้งบริษัท Environmental Education Centre Thailand (EEC) หรือศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย และบทบาทล่าสุด กับการได้มาเป็นทูตกิจกรรมของโครงการ TCP Spirit เพื่อช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยประเดิมกิจกรรมแรกด้วยการชวนอาสาสมัครมาเรียนรู้วิธีดูแลต้นไม้ในเมือง

 

อเล็กซ์ เรนเดลล์

 

ตอนนี้คุณสนุกกับบทบาทนักแสดงหรือการเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน

     การแสดงมันเป็นอาชีพของเรา จริงๆ ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นอาชีพสักเท่าไหร่หรอก แต่เป็นสิ่งที่เราทำมันมาได้โดยตลอด แล้วก็ทำมาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่จำความได้เราก็เล่นละครแล้ว ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันคือสิ่งที่เราทำได้ แล้วเราก็เข้าใจมัน ยิ่งเวลาที่เราเข้าใจ เราก็ยิ่งสนุก ยิ่งศึกษามันมากๆ ก็จะยิ่งอยากที่จะพัฒนาตัวเองในฐานะนักแสดงให้ได้มากขึ้น แต่ว่าในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมันเริ่มขึ้นจากงานอดิเรก จากสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนใจ และก็เริ่มที่ศึกษาจนกลายมาเป็นงาน ซึ่งทั้งสองส่วนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผมต้องโฟกัสในตอนนี้

 

งานด้านสิ่งแวดล้อมกับการแสดงมันต่างกันขนาดไหน สามารถรวมอยู่ชีวิตคนคนเดียวได้จริงเหรอ

     พอมาทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราก่อตั้งองค์กรและได้ใช้ความคิดของตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในอีกโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกของสิ่งแวดล้อม โลกของ Development Sustainability เรื่องของธุรกิจ ข้อตกลง การจัดการ การผู้บริหาร ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นบทเรียนใหม่ ที่ถ้าหากเป็นนักแสดง เราก็ได้แต่ตีความบทแล้วขึ้นไปเล่นตามที่เราเข้าใจ แต่เราก็คงจะไม่ได้เรียนรู้ว่าคนจริงๆ เขาใช้ชีวิตกันยังไง

     การเล่นละครหรือเล่นหนัง คือการที่เราได้บทมา แล้วเราก็ทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้กับเวลา ณ ตอนนั้น เราจะทุ่มกับมันได้มากน้อยแค่ไหนมักขึ้นอยู่กับความชอบของเราต่อตัวงาน ถ้าชอบมากก็ขยันมาก ถ้าชอบน้อยก็อาจจะขยันน้อย แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็จะเป็นแพตเทิร์น แล้วก็ต้องรอคนตัดสินใจให้เราตลอด คือเราเป็นนักแสดง เราแสดงได้ แต่กว่าผลงานจะออกมาดีมันต้องพึ่งองค์ประกอบเยอะ ซึ่งองค์ประกอบทั้งหลายที่ว่ามันไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเราด้วย เรามีหน้าที่แสดงอย่างเดียว

     แต่พอเรามาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก่อตั้งองค์กรขึ้นมาเอง เราเป็นคนหาพนักงานเข้ามา เป็นคนจัดการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง การเปิดบริษัท การสอน คือทุกอย่างมันเป็นเรื่องใหม่หมดเลย แล้วผมก็เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นผ่านการทำจริงมาเร็วมาก ด้วยเวลา 3 ปีครึ่ง เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเยอะเลย

 

เข้าใจความเกี่ยวเนื่องของมนุษย์กับธรรมชาติมากขึ้นแค่ไหน

     มากครับ ตอนเด็กๆ เราจำได้ว่าเคยต้องเลือกเรียนระหว่าง 3 วิชา คือ History, Geography และ Environmental Management (EM) ซึ่ง EM นี่คือสิ่งสุดท้ายที่เราอยากจะเรียนเลย เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมมันไม่เห็นสำคัญตรงไหน ถึงขั้นมองว่าการเรียนสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเนิร์ด แค่ปลูกต้นไม้ฉันทำที่บ้านก็ได้ ไม่เห็นต้องมานั่งเรียนเรื่องนี้เลย ใครจะไปรู้ว่าทุกวันนี้จะมาถึงจุดนี้ (หัวเราะ)

 

อเล็กซ์ เรนเดลล์

 

ตอนนั้นอี๋คนเนิร์ดเรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดนั้นเลยหรอ

     เรามองว่ามันเป็นอะไรแบบเนิร์ดๆ ใครจะไปเรียนวะ เรื่อง Environmental Management แต่พอเราเติบโตมา แล้วทำเรื่องของสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็รู้สึกว่าได้ค้นพบอะไรในตัวเองเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดที่เปิดมากขึ้น วิธีการดำเนินชีวิตของเรา หรือการใช้ชีวิตที่สุดท้ายแล้วมันส่งผลให้กับอีกหลายๆ ชีวิต

     แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าสมัยก่อนไม่ได้มีช่องทางในการให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมกับเด็กเยอะเท่าทุกวันนี้ หรือไม่ได้มีโซเชียลมีเดียที่สามารถดึงคนที่ไม่สนใจให้มาสนใจเรื่องเกี่ยวกับป่า เกี่ยวกับธรรมชาติได้เท่าปัจจุบัน แต่ตอนนี้พอเราเห็นวิธีการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของบางคนแล้ว มันเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก ทำให้เราค่อยๆ ทบทวนว่าเราอยู่ตรงไหนของสังคม เรามีเพาเวอร์อะไร และเพาเวอร์นี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในทางไหนได้บ้าง

     เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้มันส่งผลยังไงกับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ก็เข้าใจมากขึ้น ได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญ กับคนในพื้นที่จริงๆ ตลอดชีวิตเราเติบโตมาในบ้านที่มีครบ มีคุณพ่อคุณแม่ มีงานที่ดี เรียนโรงเรียนดี มีเพื่อนดี มีสังคมดี จนแทบไม่เคยต้องรู้จักกับคำว่าลำบาก แต่พอมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมันยิ่งย้ำลึกเข้าไปอีก เพราะเราได้ไปคลุกคลี ไปใช้ชีวิต ไปกิน ไปนอนอยู่ตรงนั้นจริงๆ

 

จำจุดเปลี่ยนจากเด็กที่อี๋วิชา Environmental Management มาสู่ตัวคุณในวันนี้ได้มั้ย

     มันเริ่มจากการที่เราไปเที่ยวกับธรรมชาติ แล้วเราค้นพบว่าตัวเองมีความสุขกับการอยู่ในที่ที่มีสิ่งแวดล้อมแบบนั้น แล้วค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ แต่จุดเปลี่ยนที่ชัดที่สุดก็น่าจะเป็นตอนเราปลุกระดมเพื่อช่วยช้าง พอทำโปรเจ็กต์นั้นขึ้นมามันทำให้เราเข้าใจในเรื่องของการอนุรักษ์ และเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการศึกษามากขึ้น จากนั้นก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็มานั่งอยู่ตรงนี้แล้ว (หัวเราะ)

     สิ่งที่เปลี่ยนไปจริงๆ ของเรามันคือภายใน เวลาอยู่กับธรรมชาติ เรารู้สึกว่าตัวเองพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี พอใจกับสิ่งรอบข้าง จนบางทีก็ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากใช้นะ แต่มันทำไม่ได้ ทำแล้วรู้สึกว่ามันฝืน ชีวิตเดิมๆ คือช่วงเวลาที่เราเป็นวัยรุ่น เงินเริ่มเข้ามาเยอะ ทำให้มีกำลังที่จะซื้อนู่นซื้อนี่ ใช้ของแบรนด์เนม ทุกวันนี้เราไม่สามารถทำได้แล้ว เราไม่สามารถที่จะใส่เข็มขัดแบรนด์เนม ไม่สามารถที่จะซื้อเสื้อผ้าที่โชว์ยี่ห้อใหญ่ๆ ถ้าซื้อก็ขอเป็นโลโก้เล็กๆ อยู่ข้างหลัง เพราะเรารู้สึกอาย รู้สึกว่าทำไมเราถึงต้องไปแข่งกับใคร ทำไมเราต้องไปอวดว่ามี

     พอเรามาอยู่กับธรรมชาติ ได้เห็นสิ่งที่มันสำคัญกับตัวเราจริงๆ แล้วก็ได้ใช้ชีวิตแบบมีความสุข สามารถบริหารจิตใจให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ซึ่งในโลกของวงการบันเทิงและโลกของการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เราพร้อมที่จะแย่งกันและแข่งขันกันในทุกสิ่งทุกอย่าง พร้อมที่จะมีคนเข้ามาแล้วได้ดีกว่าเรา แต่ถ้าจะอยู่ให้มีความสุขเราต้องรู้จักตัวเอง ต้องยอมรับกับความเป็นจริง ยอมรับว่าเมื่อไหร่ที่เราพยายามที่จะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัวเรา มันจะสร้างความทุกข์ แล้วทุกวันนี้เรากล้าพูดได้เลยว่าเรามีความสุขกับทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกงาน และทุกวันที่ตื่น ถึงจะเหนื่อย แต่เราก็รู้สึกค้นพบแล้วว่านี่คือเรา

 

มันมีความขัดแย้งแค่ไหนที่จะต้องทำงานบันเทิงและงานสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

     ทุกวันนี้ทำอะไรก็แล้วแต่เราทำมันด้วยความสุข เราสนุกกับทุกงาน อย่างการแสดง เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่เรารักและได้ทำเป็นอาชีพ การดำน้ำเราก็ได้ทำเป็นอาชีพ เราชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ มันก็กลายมาเป็นอาชีพ มีคนไม่กี่คนบนโลกที่สามารถทำอาชีพของตัวเองจากสิ่งที่รัก แล้วเราก็พบมันเร็วด้วย

     ธรรมชาติทำให้เรากลับมาคิดทบทวนถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ทำให้เราได้เข้าใจคุณค่าของครอบครัวและเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ของเรา ในขณะเดียวกัน วงการบันเทิงมันพร้อมที่จะดึงให้เราเป็นคนที่ไม่อยากจะเป็นอยู่ตลอดเวลา เหมือนเราอยากจะเป็นแบบเขาหรือเก่งกว่าเขา ด้วยธรรมชาติของวงการบันเทิงที่ดำเนินมาแบบนี้ แต่การคลุกคลีกับธรรมชาติมันทำให้เราเข้าใจว่า เฮ้ย! ไม่เป็นไร คุณเก่งกว่า คุณทำตรงนั้นได้ คุณไปเลย เรายินดีกับคุณ เหมือนหลังๆ นี้เรายินดีกับทุกสิ่งทุกอย่าง เรายินดีกับคนที่โตมาแล้วประสบความสำเร็จ เรายินดีกับคนที่เคยเห็นตั้งแต่เขาเคยเป็นเด็กฝึกงาน เป็นผู้ช่วย จนทุกวันนี้กลายเป็นผู้กำกับ เป็นผู้จัด เรายินดีกับเขามาก ซึ่งโลกของการแข่งขันมันไม่ได้ง่ายที่จะคิดอย่างนั้น ความอิจฉา ความไม่พอใจ มันพร้อมที่จะเข้ามาจู่โจมเราอยู่ตลอดเวลา

 

อเล็กซ์ เรนเดลล์

 

มองว่ามนุษย์ในเมืองตัดขาดจากธรรมชาติมากเกินไปหรือเปล่า

     ถูกต้องครับ นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดกับการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ เราจะให้การศึกษาแก่คนที่ไม่ชอบได้ยังไง คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอาจจะเคยมีคำถามว่า ‘สัตว์ชนิดนี้กำลังสูญพันธุ์ แล้วไง มันไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเราเลย’ แบบนี้เราก็ต้องพยายามหาทางทำให้เขาเข้าใจว่า ถึงแม้การดำเนินชีวิตของเขาจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่มันมีผลกับทุกคน มันมีผลกับโลกและสิ่งแวดล้อม เราจะรู้ได้ยังไงว่าในบางประเทศที่มีน้ำสกปรกมากจนกินไม่ได้เป็นความผิดของคนในประเทศนั้นอย่างเดียว แต่มันอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องจากการกระทำของเราด้วยก็ได้ เราต้องให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจว่าจริงๆ แล้วทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือไม่ก็ตาม ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทั้งหมด

 

มันไม่จริงเลยใช่ไหม ที่เรามองว่าถ้าอะไรสักอย่างในโลกนี้หายไป ก็ไม่เกี่ยวกับชีวิตเรา

     มันเกี่ยวครับ อาจจะไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง แต่ว่าลูกหลานของเรา วิธีการหากินของเรา มันเปลี่ยนแน่นอน พอเรามาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะรู้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน ทุกอย่างมันคือวงกลม มนุษย์ฉลาดกว่าวงกลมนั้นเกินไปนิดหนึ่ง มนุษย์มีสมองที่ทำให้สามารถคิดได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในบางเหตุการณ์จึงเหมือนเราอยู่เหนือสิ่งแวดล้อมและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราคือส่วนหนึ่งของตรงนั้น แล้วเมื่อไหร่เราเอาเปรียบมันก็จะลำบากกันหมด

     ลูกหลานของเราลำบากกันแน่ๆ ถ้าเกิดเราไม่ช่วยกันทำอะไร ดีที่ช่วงนี้มันมีการรณรงค์เรื่องของพลาสติกกันเยอะขึ้น เราไม่เคยเห็นความเคลื่อนไหวเยอะขนาดนี้มาก่อน ไม่เคยเห็นคนที่ไม่สนใจมาสนใจ ไม่เคยเห็นคนแบบใช้ชีวิตไปวันๆ หันมาแชร์ หันมาไลก์ นี่แหละคือพลังของการ educate การตระหนักของเราดีขึ้นเยอะ แต่ว่ามันก็แอบช้า

 

ตั้งแต่อดีต มนุษย์เราพยายามที่เอาชนะธรรมชาติเพื่อชีวิตที่สุขสบาย จริงๆ แล้วถ้าเรามาถึงจุดหนึ่ง เราชนะธรรมชาติได้ไหม

     ใช้คำว่า ‘ชนะธรรมชาติ’ อันนี้เราไม่แน่ใจ แต่คิดว่าตราบใดที่เรายังต้องใช้ทรัพยากรในการอยู่รอดในแต่ละวัน เราก็ต้องบริหารมันให้ได้ การอนุรักษ์และความยั่งยืนเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของสังคม เพราะฉะนั้น มันต้องการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและคนทั่วไป เรื่องของ education ก็ควรจะมามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะผมคิดว่ามนุษย์ไม่สามารถจะเอาชนะธรรมชาติได้หรอก ต้นไม้ที่มีอยู่ทุกวันนี้มันทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ อยู่ๆ เราจะไม่ให้ความสำคัญ ไปเอาชนะมัน มันไม่ได้ มันไม่เวิร์กหรอกครับ

 

อเล็กซ์ เรนเดลล์