อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร | ความจริงอันคลุมเครือ ความเกลียดชังยังปรากฏ ในกระบวนการสร้าง ‘เหยื่อ’ ให้กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’

ตลอดระยะเวลา 15 ปีของความไม่คืบหน้าในการทวงถามความยุติธรรมจากคดีอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยรัฐ ยังไม่น่าอดสูเท่ากับการยอมจำนนต่อการถูกป้ายสีความผิดและการตกเป็นเหยื่อของกระบวนการสร้างความเกลียดชัง ที่ทำให้ ‘ผู้เคราะห์ร้าย’ ตกเป็น ‘ผู้ร้าย’ อย่างสมบูรณ์

     12 มีนาคม 2547 คือวันที่หัวใจของสมาชิกในครอบครัวแตกสลาย พวกเขาจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกนานเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ เมื่อ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้คอยว่าความให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบในภาคใต้ ทั้งยังเปิดโปงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกตำรวจ 5 นาย ผลักตัวขึ้นรถบนถนนรามคำแหง จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาให้คำตอบว่าเขามีชีวิตอยู่ที่ไหน จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร หลักฐานที่มีก็ไม่เพียงพอต่อการเอาผิดคนร้าย กฎหมายยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ แถมกระบวนการตรวจสอบยังรู้เห็นเป็นใจ ปล่อยให้วัฒนธรรมลอยนวลได้ทำงาน

     เคราะห์ร้ายของเขาได้ส่งผลมาถึง อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาและแม่ของลูก ซึ่งอดีตเธอเคยเป็นพยาบาลจิตอาสา แต่เลือกที่จะละวางกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมดทั้งมวลเพื่อออกมาดูแลสมาชิกทั้งห้าที่กำลังอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่แล้วชีวิตก็พลิกผันให้เธอต้องกลับมาเดินหน้าทวงถามความเป็นธรรมให้แก่สามี ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ยังต้องเผชิญกับคำกล่าวหาที่คอยตอกย้ำบาดแผลในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่าง ‘ทนายโจร’

 

อังคณา นีละไพจิตร

 

คำถามที่ไม่มีคำตอบ

     “ถ้าเป็นการฆาตกรรมเรายังสามารถทำพิธีทางศาสนาได้ ยังมีหลุมศพให้ระลึกถึง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่รู้จะบรรยายออกมายังไง ยิ่งช่วงแรกๆ ที่เขาหายตัวไป อารมณ์เราไม่มั่นคงเลยจริงๆ มันขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นหลังจากเขาหายไปประมาณอาทิตย์หนึ่งก็มีข่าวออกทีวีว่า ‘เจอตัวสมชายแถวชายแดนปราจีนบุรีแล้ว’ ลูกๆ ก็ดีใจกันมาก เตรียมตัวกันแล้วว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้พ่อจะมา จะได้เจอพ่อแล้วนะ ส่วนตัวเราเองคืนนั้นทั้งคืนก็ได้แต่รอคอยด้วยความหวัง”

     เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา สมาชิกทุกคนที่ต่างรอจะพบหน้าพ่อทั้งคืนกลับได้พบแต่ความเงียบงัน ราวกับปาฏิหาริย์ที่ได้ยินในคืนก่อนหน้าเป็นเพียงคำลวงที่สร้างขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนในสังคม

     “ตอนนั้นเราจึงต้องมานั่งคุยกับลูกว่า พวกเราต้องนิ่งนะ ยิ่งพวกเราเป็นมุสลิมก็ต้องถือว่าเรามอบหมายต่อพระเจ้า ไม่ว่าพ่อจะอยู่หรือจะไม่อยู่กับพวกเราก็ตาม แต่พ่ออยู่ในการดูแลของพระเจ้าแล้วนะ อะไรที่เราไม่รู้ เราจะไม่จินตนาการ ถ้าลูกจินตนาการว่าพ่อน่าจะถูกเอาตัวไปทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสหรืออะไรก็ตาม มันจะทำให้พวกเขาที่ยังเล็กเกิดความทุกข์ทรมาน ดังนั้นเราจะไม่ฟังใครทั้งนั้นจนกว่าเราจะได้ข้อเท็จจริงหรือได้เห็นด้วยตัวเอง”

 

อังคณา นีละไพจิตร

 

     การปรับอารมณ์ภายในไม่ให้วูบไหวไปมาก็ยากอยู่แล้ว แต่พวกเขายังต้องพบกับคำถามที่ซ้ำเติมบาดแผล อย่างเช่น ตายหรือยัง ตายอย่างไร เผชิญการข่มขู่คุกคามที่ส่งมาไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งส่งจดหมายมาหา โทรศัพท์มาแล้วไม่พูด เลวร้ายที่สุดคือต้องมาได้ยินคนกล่าวหาพ่อผู้ที่เคยทำหน้าที่ว่าความช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากว่าเป็น ‘ทนายโจร’

     “มีคนคอยบอกว่าอย่าไปมีเรื่องกับตำรวจเลย บางคนก็เตือนว่าระวังเดี๋ยวจะหายตัวไปด้วยอีกคนนะ คือตอนนั้นคนรอบตัวต่างหนีหาย แม้แต่เพื่อนทนายที่ว่าความด้วยกันมาก็ยังหลบหนีออกนอกประเทศเลย ที่หลงเหลืออยู่ในตอนนั้นมีเพียงแต่ครอบครัวเรา สิ่งหนึ่งที่เราทำก็คือเตรียมการให้ดี บอกกับลูกๆ ว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่เราจะไม่ย้ายบ้าน ไม่ย้ายโรงเรียนไปไหนกันนะ ใช้ชีวิตกันให้เป็นปกติ เช้าไปส่งลูก เย็นก็ไปรับลูกที่โรงเรียน จนกระทั่งผ่านไปหนึ่งปีจึงถามความเห็นจากพวกเขาอีกครั้งว่าเราจะเอายังไงกันต่อไปดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลูกทุกคนจะต้องตัดสินใจเอง เพราะมันส่งผลต่อชีวิตในอนาคตของพวกเขาด้วย”

     “พ่อทำเพื่อคนอื่นมาเยอะ แต่วันนี้พ่อกลับไม่เหลือใคร แล้วทำไมคนในครอบครัวจะไม่สู้เพื่อพ่อบ้าง” คือความเห็นของลูกๆ ทุกคนที่ยืนยันต่อผู้เป็นแม่ว่าพวกเขาจะไม่ทอดทิ้งกันให้คนใดคนหนึ่งในครอบครัวตกทุกข์ได้ยาก จนในที่สุดแม้ความเป็นธรรมจะยังไม่ปรากฏต่อหน้า แต่คดีของทนายสมชายก็เป็นคดีบังคับสูญหายคดีแรกที่สามารถนำขึ้นสู่ศาลยุติธรรม และสามารถต่อสู้จนถึงศาลฎีกา

 

อังคณา นีละไพจิตร

 

วัฒนธรรรมของความเกลียดชัง

     “คนที่ถูกอุ้มหายมักจะถูกทำให้ดูว่าเป็นคนไม่ดี เหมือนที่สื่อได้พาดหัวสมชายไว้ว่าเป็นทนายโจร ว่าความให้โจรใต้ คนในสังคมก็พร้อมที่จะเพิกเฉยเพราะเขาเข้าใจว่าคนคนนี้เป็นคนไม่ดี หายไปก็ช่างมัน ไม่มีใครสนใจ คนที่มีหน้ามีตาในสังคมไม่มาสนับสนุน สังคมไทยก็พร้อมที่จะบอกว่าสมควรแล้ว”

     ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนดี ไม่ดี หรือจะทำผิดสักแค่ไหน ทุกคนควรต้องได้รับความเป็นธรรม เพราะมันคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

     “เรารู้ว่าลูกเสียใจแต่เขาไม่บอกเรา เพราะเขาไม่อยากให้เราเครียด ต่อหน้าเราลูกจะไม่ร้องไห้ แต่บางทีเราจะแอบเห็นลูกซุกตัวร้องไห้หลบมุมกันอยู่ในบ้าน เราจึงต้องบอกพวกเขาว่า ไม่มีใครรู้จริงๆ หรอกว่าพ่อเป็นใคร คนที่รู้ดีที่สุดคือลูกๆ เพราะฉะนั้น คนในสังคมจะได้รู้จักพ่อผ่านพวกเราทุกคน สิ่งที่เราต้องทำกันต่อไปก็คือ เราจะเป็นคนที่บอกสังคมเองว่า สมชาย นีละไพจิตร คือใคร แล้วเราจะไม่หลบหนีไปไหน ต่อให้แผ่นดินจะไม่มีที่ให้คนไม่ได้ทำผิดอยู่ สังคมมันแย่มากแล้ว แต่เราก็จะยังยืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด”

     ถามถึงครอบครัวในเวลานี้ เธอยิ้มกว้างอย่างภูมิใจ เพราะบัดนี้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตและกำหนดอนาคตด้วยตัวเอง แม้ความหวังที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาแทบไม่หลงเหลือ แต่แววตาของเธอยังมุ่งมั่น รอคอยวันที่ความจริงปรากฏ ความยุติธรรมบังเกิด

     “ถ้าเอาใครสักคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาประหารชีวิตแล้วเราจะพอใจไหม บอกเลยว่าเราไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เราแค่ต้องการหาคนที่จะมารับผิดชอบ ไม่ได้หวังเลยว่าถ้าฆ่าคนเหล่านี้แล้วสังคมมันจะเปลี่ยน หนึ่ง เราอยากรู้ความจริง สอง เราถือว่าผู้ทำผิดต้องได้รับโทษในสิ่งที่ตัวเองได้ทำไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เพราะการที่ผู้กระทำผิดยังลอยนวล ไม่ต้องรับโทษ มันเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก”

     ผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลายมักจะบอกให้ลืมอดีตที่เลวร้ายไปเสีย และรู้จักการให้อภัยต่อกัน แต่เมื่อความจริงไม่บังเกิด ผู้ทำผิดไม่ปรากฏ แล้ว ‘เหยื่อ’ เหล่านั้นจะลืมได้อย่างไร พวกเขาจะต้องให้อภัยแก่ใคร ในเมื่อพวกเขายังไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่า คนร้ายที่แท้จริงคือใคร