อนุทิน วงศ์สรรคกร

อนุทิน วงศ์สรรคกร | ความเป็นเหตุเป็นผลของฟอนต์กับสังคมมนุษย์

เคยตั้งคำถามไหมว่า ชีวิตของเราเป็นผลผลิตจากอะไร

แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ย่อมแตกต่างกันไป ตั้งแต่ในระดับโครงสร้างทางสังคม ไปจนถึงสภาพที่แวดล้อมเราอยู่ในทุกวัน ส่วนใหญ่แล้วคุณอาจไม่เคยรับรู้ ไม่เคยสังเกต ว่ามันได้ส่งผลต่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งบางครั้งยังส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่างโดยที่ไม่รู้ตัว

แม้กระทั่งตอนนี้ที่คุณกำลังอ่านตัวอักษรในประโยคนี้ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ตัวอักษร’ ก็เป็นอีกสิ่งที่มีส่วนกำหนดความรู้สึก และพฤติกรรมของคุณที่อาจส่งผลสะท้อนกลับสู่สังคมได้

ตัวอักษรมากมายรายล้อมชีวิตตั้งแต่ยามตื่นไปจนถึงปิดตาหลับยามค่ำคืน อาจจะใช่ที่ว่าเราใช้ชีวิตปกติสามัญอยู่กับตัวอักษรตลอดเวลา จนไม่ทันตระหนักรู้ว่ามันมีอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่า นั่นคือสิ่งที่เหล่านักออกแบบตัวอักษร ได้ซุกซ่อนมันอยู่เบื้องหลังการทำงานของพวกเรา โดยพวกเราไม่เคยสนใจมัน

     เรามีโอกาสได้มานั่งพูดคุยกับ อนุทิน วงศ์สรรคกร นักออกแบบตัวอักษร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง คัดสรร ดีมาก บริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบตัวอักษร ที่ออฟฟิศใหม่ของเขา ณ ตึกเอ็มควอเทียร์ โดยตั้งต้นเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบตัวอักษรที่ส่งผลกับพฤติกรรมของผู้รับรู้ ซึ่งเขาชี้ให้เราเห็นอะไรในแง่มุมน่าสนุกและท้าทาย

     “กระดาษแผ่นนี้ที่คุณกำลังจดบันทึก คุณแค่จดให้ได้ใจความ นั่นคือจบแล้วใช่ไหม แต่คุณลืมว่ามันมีบางอย่างติดมาด้วย นั่นคือความรู้สึกที่ติดมากับตัวอักษร”

     ไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่มันหมายถึงทุกสิ่ง อนุทินยกตัวอย่างเสียงเพลงคลอเบาๆ เวลาเรายืนเบียดเสียดอยู่ในลิฟต์ ก็ส่งผลต่อความรู้สึก ความคิด และความเป็นตัวตนของเรา โดยที่เราไม่ทันสังเกตและรู้ตัว ตัวอักษรที่ทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการอ่านก็ทำหน้าที่คล้ายๆกันกับเพลงในลิฟต์ก็คือ มีอยู่เพื่อให้ไม่ต้องการให้ตระหนักรู้ว่ามีอยู่ ถ้าไม่มีอยู่ก็จะรับรู้ถึงผลของการไม่มี

     บทสนทนาแบบสบายๆ กับอนุทิน จะช่วยคลายเงื่อนปมของสิ่งต่างๆ ที่ร้อยรัดรอบตัวเรา จากตัวอักษรเล็กๆ ร้อยเรียงกันไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ถ้าเข้าใจไอเดียของตัวอักษร ก็จะเข้าใจความเป็นตัวของตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วคือผลผลิตของอะไร และเราจะเป็นปัจเจกชนที่สามารถเลือกและตัดสินใจทำอะไรได้มากแค่ไหน

 

อนุทิน วงศ์สรรคกร

 

ในฐานะนักออกแบบตัวอักษร ตอนนี้มีเทรนด์การออกแบบอะไรใหม่ และมีเรื่องอะไรที่คุณและทีมกำลังสนใจ

     จริงๆ คำว่าเทรนด์ เป็นอะไรที่ทีมเราไม่ค่อยได้ใช้ หรือถ้ามี ก็จะหยิบมาใช้ในบริบทของการพูดกันเล่นๆ แบบไม่ได้มีค่าความเป็นห่วงอะไรนัก เช่น ‘ช่วงนี้อะไรกำลังมา’ ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะผมมองว่าพวกเราไม่ได้มีหน้าที่ที่ต้องอินกับมัน ผมรู้สึกว่าถ้าเป็นคนที่อยู่ข้างหน้า เขาไม่สนใจหรอก คนที่พูดเรื่องเทรนด์มักเป็นคนที่อยู่ข้างหลัง เข้าใจทัศนคติผมมั้ย คือเราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องแคร์ เรารู้แค่ว่าต้องทำอะไรใหม่ และทำอะไรที่ท้าทาย เรารู้แค่นี้ แต่จะกลายไปเป็นเทรนด์หรือเปล่า อันนี้ตอบไม่ได้

     แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามมาถามว่าเรื่องที่เรากำลังสนใจคือเรื่องอะไร น่าจะได้คำตอบดีกว่า เรื่อง variable fonts เราจะทำตัวอักษรภาษาไทยให้เข้ากับฟอร์แมตใหม่ได้อย่างไร Variable fonts เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ตัวหนังสือบนสื่อทั้งหลายที่เป็น Screen-based ซึ่งแสดงผลบนหน้าจอต่างๆ ทั้ง ไอแพดหรือหน้าเว็บไซต์ โจทย์ตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ภาษาไทยสามารถรองรับตัวเทคโนโลยีใหม่พวกนี้ได้ เพราะถ้าตรงนี้ได้รับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ดีไซน์แขนงต่างๆ ถึงจะสามารถเข้ามารับช่วงไปใช้ต่อได้ เทคโนโลยีที่ใช้กับตัวอักษรมันเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นแบบตัวอักษรก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม อันนี้แหละคือสิ่งที่เรากำลังสนใจ

 

ได้ดูที่คุณให้สัมภาษณ์ว่าการย้ายออฟฟิศ คัดสรร ดีมาก มาอยู่ที่ใหม่ตรงนี้ เหมือนเป็นการเปลี่ยนอะไรบางอย่าง

     เพราะพื้นที่คนละแบบก็จะพูดอะไรบางอย่างกับเรา ซึ่งอาจเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานให้เราได้ ถ้าลองเปรียบเทียบกับการออกแบบตัวอักษรของพวกคุณ จริงๆ แล้ว มันก็ส่งเสียง และเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่ได้เห็นด้วยเช่นกัน

     แบบตัวอักษรมีผลกับคนที่รับรู้แน่นอน ในแบบที่บางทีเราไม่ทันได้มานั่งวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในใจ เกิดขึ้นในหัว แต่เราไม่ได้วิเคราะห์ออกมาเท่านั้นเอง ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อคุณปะทะกับข้อความคุณก็จะอ่าน เป็นกระบวนการที่ออโต้มาก คุณอ่านเอาข้อความหรือใจความ แล้วก็เข้าใจแค่ว่าอันนี้คือจุดมุ่งหมายที่เราจะทำความเข้าใจกับสิ่งนี้

     ยกตัวอย่างเช่น กระดาษแผ่นนี้ที่คุณกำลังจดบันทึก คุณแค่จดให้ได้ใจความที่ต้องการจดจำ แค่นั้นก็จบแล้ว จริงหรือ คุณลืมว่ามันมีบางอย่างติดมาด้วย นั่นคือความรู้สึกที่ติดมากับตัวอักษร เวลา และสถานการณ์ในเวลานั้น ผมจึงมักชอบเปรียบเทียบกับ elevator music เวลาที่เราขึ้นลิฟต์แล้วไม่มีเพลงเราจะรู้สึกแปลกๆ ใช่มั้ย แต่เวลามีเพลงอยู่เรากลับไม่ได้สนใจหรอก ถ้าผมถามคุณว่าตอนคุณเดินเข้าตึกเอ็มควอเทียร์มา เขาเปิดเพลงอะไร คุณจำได้ไหม

 

จำไม่ได้

     เห็นไหม ถ้าวันไหนที่เดินเข้าเอ็มควอเทียร์แล้วไม่มีเสียงเพลง คุณจะรู้สึกว่ามันผิดปกตินะ ก็เหมือนกันกับกระดาษเมื่อสักครู่ที่ผมพูดถึง ถ้าเกิดว่าคุณอ่านเอาใจความอย่างเดียว แล้วคุณไม่ได้ยินเสียงที่มากับกระดาษนั้นด้วย คือไม่ได้วิเคราะห์ลายมือที่เราใช้ในการจดบันทึก มันก็เหมือนกับ elevator music นั่นแหละ

 

แสดงว่าคนที่จะสังเกตเห็นสิ่งนี้ คือพวกนักออกแบบอย่างคุณใช่ไหม คนทั่วไปคงจะไม่ได้ตระหนักถึงมัน

     ไม่ใช่ ผมว่าคนทั่วไปก็รู้และสามารถสังเกตเห็นได้ แต่ก็ใช่ ถ้าเป็นนักออกแบบก็จะสังเกตเห็นเป็นปกติ จะรับสัญญาณนี้ได้ง่ายกว่า ยังไม่ต้องไปพูดถึงว่าแบบตัวอักษรไหน มีผลกับความรู้สึกเขาอย่างไรเลย เอาแค่ตระหนักถึงการมีอยู่ของมัน บางทีคุณก็ยังไม่รู้เลย คือขอแค่ให้พิมพ์ได้ อ่านได้ใจความก็พอแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนหรอก แต่คนเราจะมีระดับการให้ความสนใจ หรือว่าเราแต่ละคนจะละเอียดกับแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน นักดนตรีอาจจะรับรู้ได้ถึง elevator music แต่คนอื่นจะไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของนักออกแบบที่ควรจะทำให้ได้ หมายถึงนักออกแบบเราเล่นได้สองบทบาท คือบทบาทที่อยากจะทำให้รสจัดจ้าน จนกระทั่งคนสังเกตและจดจำมันได้จริงๆ กับอีกบทบาทหนึ่งคือทำยังไงให้มีอยู่ แต่คนไม่ต้องสังเกต แค่ให้มองข้ามไปเลย ซึ่งผมว่าอันนี้ทำยากกว่านะ

 

อ้าว ทำไมล่ะ

     เพราะเราทำอะไรให้รสจัดน่ะง่ายกว่า คือก็แค่ทำให้แปลก คุณก็รู้สึกได้เลยว่ามันแปลก แต่การทำให้ไม่แปลก แล้วคุณสามารถเข้าถึงใจความได้ โดยที่ยังมีสำเนียงดีไซน์ของมันติดมาด้วย โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวเลย เช่น คุณอ่านเว็บไซต์นี้แล้วรู้สึกสบายตากว่าอีกอันหนึ่ง หรือรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ทำไมอ่านยากจังเลย อีกเล่มหนึ่งทำไมอ่านง่าย แต่คุณตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร จริงๆ แล้วเราต้องการความสบายเหมือนกันแหละ แต่คุณจะไม่ทันคิดตอนที่เลือกใช้ และตอนที่เลือกอ่าน คุณไม่รู้ว่ายากง่ายเป็นเพราะแบบตัวอักษรหรือเปล่า ซึ่งคุณก็ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ เพราะว่าเราออกแบบเพื่อให้ไม่ต้องรู้สึก

     เหมือนเวลาเราเปิดก๊อกน้ำ หรือเสียบปลั๊กแล้วมีไฟมา เรารู้สึกว่ามันง่าย แล้วเราไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าน้ำมาได้ยังไง ใช่มั้ย เรารู้แค่สะดวกดี คือเขาให้ความสะดวกกับคุณจนทำให้คุณคิดว่ามันเป็นของที่ต้องสะดวกอยู่แล้ว ซึ่งผมว่าแบบตัวหนังสือที่เราทำมันก็รองรับหน้าที่ในระนาบเดียวกันนั้น

     จริงๆ การออกแบบเพื่อให้รู้สึกแบบจะๆ ก็เป็นโจทย์อีกแบบหนึ่ง อย่างเช่น Custom fonts ที่เราทำให้องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง คือจะคิดว่าทำยังไงให้สะดุดตาที่สุด หรือทำยังไงให้ชัดเจนว่าต่างจากคู่แข่งทางการค้าที่สุด โจทย์ไม่เหมือนกัน อันนี้คือต้องการความโดดเด่น ให้เด้งออกมา มาก่อน ดูแล้วจำได้เลยว่าเป็นของแบรนด์ไหน ยี่ห้อไหน

 

อนุทิน วงศ์สรรคกร

 

เราพอจะสรุปได้ไหม ว่านักออกแบบคือผู้ที่กำลังแอบกำหนดความคิดของเราอยู่

     สำหรับผม คำตอบต้องแยกเป็นสองแพร่ง ถ้าเป็นตัวหนังสือที่เราทำให้กับลูกค้า เรากำหนดขนาดนั้นไม่ได้ เพราะแบรนด์แต่ละแบรนด์ก็จะมีอัตลักษณ์ของเขา เราต้องทำตามสิ่งที่ควรเป็น ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขาต้องการ เพราะบางทีเขาไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เราก็ต้องให้ความรู้ตรงนั้น หน้าที่ของนักออกแบบไม่ใช่ไปรองรับเขาอย่างเดียว เราต้องไปบอกเขาด้วยว่าอันนี้ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ สิ่งที่คุณต้องการคือสิ่งนี้ เพราะเหตุใดโดยมีเหตุผลประกอบ แต่นักออกแบบส่วนใหญ่จะไปคุยแล้วบอก ‘อ๋อ ต้องการแบบนี้ใช่ไหมครับ เดี๋ยวผมทำตามให้’ ซึ่งอันนี้เท่ากับว่าเราไม่ได้คุยกันด้วยหลักการเหตุผลแล้ว เราไม่ได้ทำงานบนความเป็นคู่คิดและที่ปรึกษา ไม่ใช่ดีไซน์เซอร์วิส มันเป็นการขายอาร์ตเวิร์ก

     แต่ถ้าเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้เราสามารถกำหนดเป้าหมายว่าอยากให้เกิดผลกระทบอะไร แต่การเกิดผลกระทบไม่ใช่เอะอะเกิดผลกระทบ นักออกแบบต้องออกแบบจากการแก้ไขปัญหา ออกแบบจากการคิดว่าจะกระทบคนอื่นอย่างไร ก็อาจจะเป็นไปได้แต่น่าจะมาเป็นความคิดลำดับที่สอง คือต้องมีปัญหาก่อน ไม่งั้นจะออกแบบไปทำไม เช่น ฟอนต์ใช้ในสิ่งพิมพ์เอามาใช้ในเว็บเจอปัญหาแสดงผลไม่ดีบนจอ นี่ก็เป็นปัญหา ฟอนต์ที่ใช้บนสื่อสมัยใหม่ที่เป็นการแสดงผลโดยใช้แสงไม่ใช่หมึกพิมพ์ ก็มีข้อแม้ในการออกแบบที่ต่างกัน ใช้แทนกันไม่ได้ นักออกแบบตัวอักษรก็ต้องแก้หรือสร้างฟอนต์ที่ช่วยลดการเกิดปัญหานี้

 

อยากรู้ว่าในการออกแบบ นักออกแบบต้องฟันธงและมีความดื้อดึงขนาดไหน เขามีความเป็นเผด็จการมากน้อยขนาดไหน

     นักออกแบบมีความเผด็จการแค่ไหนเหรอ (นิ่งคิด) ผมว่าเราไม่มีความใกล้เคียงกับเผด็จการเลยนะ ตั้งแต่ทำงานมา เราไม่เคยเข้าไปทุบโต๊ะประชุมแล้วบอกว่า ‘ผมจะเอาแบบนี้ โปรเจ็กต์นี้ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เป็นแบบอื่นไม่ได้’ ในความเป็นจริง มันทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย คำถามข้อนี้อาจจะมาจากเรื่องเล่า เป็นวาทกรรม ที่เล่าถึงนักออกแบบบางคนให้ดูน่าเกรงขามกว่าคนอื่นหรือเปล่า เล่าเป็นในเชิงวีรกรรม สร้างมูลค่าให้นักออกแบบคนนั้นๆ ผมว่านักออกแบบจริงๆ ต้องรู้จักเจรจาต่อรองมากเลยนะ ซึ่งถ้าคุณต้องรู้จักเจรจาและสร้างสมดุลในเชิงธุรกิจ คุณเป็นเผด็จการไม่ได้อยู่แล้ว

 

ถ้าคนที่มาจ้างเราบอกว่าแบบตัวอักษรที่เราทำให้นั้นไม่ดี หรือไม่เชื่อในสิ่งที่เราบอกว่าถูกต้อง คุณจะรู้สึกอย่างไร

     ถ้าไม่เชื่อ ก็ไม่ควรหรือไม่น่าจะทำงานด้วยกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าเกิดคำถามนี้แสดงว่าป่วยมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดคำถามนี้แล้ว เพราะในเมื่อตกลงร่วมทำงานกันแล้ว แต่ไม่ไว้ใจกัน ก็ไม่ควรเริ่มทำงานด้วยกันตั้งแต่แรก

 

อ้าว ก็นี่ไง หมายถึงว่าเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราออกแบบว่าถูกต้องแล้ว

     แต่ถ้าเราไม่เชื่อแบบนั้น เราเองก็ผิดด้วย เพราะเท่ากับว่าเราไม่เคารพตัวเราเอง แล้วเราไม่เคารพสิ่งที่เราทำ คือผมกำลังพูดบนพื้นฐานที่ว่า เราต้องรู้ด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำได้แค่ไหน ถ้าอะไรที่เกินกำลังที่ทำได้ อันนั้นผมว่าก็ไม่ถูก

 

ในฐานะนักออกแบบ การที่ต้องปรับเปลี่ยนตามลูกค้า คุณว่าเรามีขีดจำกัดไหม

     ก็ต้องมี คือไม่ได้หมายความว่าคุณบอกให้เราปรับเปลี่ยนอะไร แล้วเราต้องเปลี่ยนตามหมด ทุกอย่างเป็นเหตุผล ลูกค้าพูดด้วยเหตุผลของเขา เราก็มีเหตุผลที่จะไปบอกว่าอันนี้เราทำได้หรือไม่ เปลี่ยนเพราะเราฟังเหตุผลของคุณแล้วเมกเซนส์หรือเหตุผลอันนี้ไม่เมกเซนส์ ผมว่าคุณอย่าทำเลยเพราะว่าอะไรก็ต้องมีคำตอบ เราก็ควรใช้ความเป็นมืออาชีพบอกเขา ในเมื่อเขาจ้างเรา ความคิดเห็นของเราคือส่วนหนึ่งของสินค้าและบริการของเรา ไม่ใช่แค่ตัวชิ้นงานออกแบบอย่างเดียว มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องบอกว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอะไร

     การทำงานออกแบบจึงเป็นเรื่องของเหตุผลนำ เหมือนเวลาคนเราตกอยู่ในปัญหา แล้วอยากจะออกจากปัญหา เราออกจากปัญหาด้วยอารมณ์ได้ไหม มันก็ไม่ได้ ทุกอย่างจะนำไปสู่เหตุผลทั้งนั้น มันเป็นการต่อสู้ระหว่างเหตุผลของฝั่งหนึ่งกับอีกฝั่งหนึ่ง น้ำหนักของเหตุผลจึงสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าการที่มาคุยกันวันนี้ดีมากเลย คนที่เขาจะเข้ามาพูดกับเรา เขาจะได้รู้ว่าเราไม่ได้คิดงานแค่มิติแบนๆ คุณกำลังจะได้คำปรึกษาจากเราในหลายๆ เรื่อง มันไม่ใช่ว่าเราบอกคุณว่างานนี้ดีอย่างเดียว แต่เราจะคุยกันด้วยเหตุและผลว่าดีเพราะอะไร หรือควรเปลี่ยนเพราะอะไร

 

อนุทิน วงศ์สรรคกร

 

อยากรู้ว่านอกจากในการทำงานแล้ว คุณเคยสังเกตตัวเองไหม ว่าแต่ละวันอยู่กับตัวอักษรมากน้อยขนาดไหน แล้วมันส่งผลอะไรกับคุณบ้าง

     มากเลยนะ ซึ่งคงไม่ใช่แค่กับผมหรอก แต่กับทุกคน ลองคิดว่าถ้าคุณเปิดโทรศัพท์ดูแล้วไม่มีตัวหนังสือเลยจะเป็นยังไง ตัวหนังสือคือข้อตกลงระหว่างคุณ ผม และคนอื่นๆ ว่า ตัวนี้ออกเสียงแบบนี้ ตัวนี้ตามด้วยตัวนี้ ตัวนี้ประกอบกับตัวนี้จะเป็นอีกเสียงหนึ่ง แล้วจะเป็นความหมายนี้ มันคือข้อตกลงสากลที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน แล้วเราฝากความคิดของเราลงไปในนั้น

     ฉะนั้นถ้ามองในกรอบนี้ ทุกคนเอาความคิด ความอ่าน ไปฝากไว้กับสิ่งที่เป็นรูปทรงตามข้อตกลง แล้วมันจะไม่สำคัญได้อย่างไร ถ้าไม่มีสิ่งนี้ เราจะไม่มีความเป็นจริงตอนนี้ ที่เรานั่งคุยด้วยกัน เพราะว่าการส่งต่อข้อมูลหรือองค์ความรู้ไปหาอีกคนหนึ่ง จะไม่เกิดขึ้น มันจะต้องใช้การพูดกันอย่างเดียว ซึ่งไม่สามารถจะเล่นซ้ำได้ แต่การที่คุณจด คุณสามารถกลับไปอ่านทีหลังได้ นี่คือความสำคัญของตัวหนังสือ แล้วเราก็ใช้มันเป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลืองเลย คุณเขียนอย่างสิ้นเปลือง คุณไม่ได้สนใจลายมือตัวเองด้วยซ้ำ คุณแค่เขียนให้คุณจำประโยคนี้ได้ ความไม่สนใจเดียวกันก็ถูกโอนย้ายมาด้วยเมื่อเรามีเครื่องพิมพ์ดีด มีเครื่องคอมพิวเตอร์

     คือเรามองตัวหนังสือว่าเป็นของใช้แล้วจบกัน เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้มีความสำคัญมาก ก็เพราะว่ารับรู้มันเป็น elevator music ไงครับ แต่ถ้าวันไหนเกิดไม่มีขึ้นมา ก็เหมือนคุณขึ้นลิฟท์แล้วรู้สึกมันเงียบผิดปกติ เป็นสถานการณ์เดียวกันกับเวลาคุณตื่นเช้ามาเปิดมือถือแล้วเห็นว่าไลน์ไม่มีตัวหนังสืออะไรให้อ่านและให้พิมพ์เลย

 

สุดท้ายแล้วชีวิตคนเราคือผลผลิตของการออกแบบตัวอักษรด้วยใช่ไหม

     (นิ่งคิด) ผมว่าตัวหนังสือไม่ได้สั่งให้เราทำหรอก ย้อนกลับไปที่ผมบอกมันเป็นแค่บันทึกความคิดของคุณ ทฤษฎี หรือชุดข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลที่เป็นหลักฐานเฉยๆ แต่เวลาเราอ่านหรือเห็นอะไร เราก็ต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์ด้วย ต้องใช้ซอฟต์แวร์ของวิจารณญาณของเหตุและผล ที่จะชั่งตวงวัดว่าสิ่งนั้นน่าเชื่อถือไหม คือผมว่าชีวิตเราเป็นผลผลิตของอีกหลายๆ องค์ประกอบ ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวอักษร คือตัวอักษรทำหน้าที่ให้สารที่เราต้องการสมบูรณ์ แต่มันไม่ได้แคร์นะว่าสารนั้นถูกหรือผิด

 

แต่ในแง่มุมการค้า ตัวอักษรมีผลกับพฤติกรรมหรือการตัดสินใจซื้อด้วยใช่ไหม

     สมมติเราเลือกซื้อน้ำขวดหนึ่ง คงเป็นเพราะมีอะไรบางอย่างที่ดูแล้วน่าเชื่อถือ หรืออาจจะดูแล้วมันคุยกับเรา พวกวิชวลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่นักออกแบบตัวอักษรอย่างเดียวนะ แต่อยู่ที่โปรดักต์ดีไซน์ อยู่ที่กราฟิกดีไซน์ ซึ่งหลายฝ่ายทำงานอยู่ร่วมกัน แล้วถูกนำมารวมกันโดยมาร์เก็ตติ้ง หรือการสร้างแบรนดิ้ง มันเป็นความรู้สึกต่อแบรนด์ ภายใต้ร่มของเศรษฐศาสตร์ ที่เขาดีไซน์กันมาเพื่อให้คุณต้องรู้สึกอย่างนั้น เลือกที่จะโชว์เนื้อแท้ของผลิตภัณฑ์ หรือเลือกที่จะทำให้เรารู้สึกในบางทางกับมัน แต่การที่คุณจะฉลาดรู้ทัน ก็เลยไม่ซื้อสินค้า หรือฉลาดรู้ทัน แต่ก็ยังซื้อเพราะชอบ อันนั้นก็เรื่องของแต่ละคน

คือแบบตัวอักษรไม่สามารถที่จะแบกภาระในการที่จะทำให้คุณซื้อหรือไม่ซื้อสินค้า มันต้องทำงานร่วมกันนะ แบบตัวอักษรไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้คุณเห็นแล้วเลือกเลย หลายคนที่ทำแบรนดิ้งแล้วคิดกับฟอนต์แบบนี้ อันตรายมาก โอกาสล้มเหลวสูง

 

สมมติขวดน้ำที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกันเลย แต่การออกแบบตัวหนังสือในโลโก้ไทป์ หรือเล็ตเทอร์ริ่งต่างกัน อันหนึ่งเป็นตัวผอมๆ อีกอันเป็นตัวอ้วนๆ แบบนี้คุณว่ามีผลต่อการเลือกไหม

     คือถ้าคุณจะถามว่าเป็นเพราะตัวอักษรหรือเปล่า ผมจะตอบว่า ใช่มีส่วน แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดมั้ย อันนั้นไม่ใช่ มันมีปัจจัยอื่นอยู่ด้วย โฆษณาเป็นยังไง เลือกใครมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ สีของขวดเป็นยังไง มันเกี่ยวข้องกับหลายอย่างมาก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าบางทีบางสถานการณ์ การออกแบบตัวอักษรเป็นจุดตัดที่ทำให้คนเลือก สมมติว่าขวดเป็นแบบอุตสาหกรรมหมดเลย ทรงเดียวกันหมด ก็อาจจะมาตัดกันที่ตัวหนังสือได้ ซึ่งก็จะมีระดับในการตัดสินใจ แต่ทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน

 

ลองขยับมามองในภาพกว้าง การออกแบบตัวอักษร สามารถกำหนดรูปแบบสังคมได้ด้วยไหม

     ถ้าให้ผมตอบแบบคลิเช่ก็จะบอกว่าได้ แต่จะบอกว่าทุกหน้าที่การงานในสังคมก็มีฟังก์ชันของตัวเอง ทุกหน้าที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ทั้งหมด ผมว่าเราไม่ควรดูถูกอาชีพที่เราทำด้วยการที่มานั่งถามว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ยังไง หรือออกแบบสังคมได้ยังไง เพราะในเมื่อจริงๆ แล้ว มันเป็นพันธกิจที่ทุกคนต่างต้องมีร่วมกัน ในการเป็นมืออาชีพในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่แล้ว และสิ่งนี้ควรจะเป็นสามัญสำนึกด้วย

 

อนุทิน วงศ์สรรคกร

 

บนเวที TEDx Bangkok คุณตั้งคำถามกับคนฟังในตอนสุดท้ายว่า “เมื่อนึกถึงประเทศไทย วันนี้และอนาคต คุณอยากเห็นหรือได้ยินประเทศไทยในเสียงไหน” แล้วสำหรับตัวคุณเองคำตอบคืออะไร

     ถ้าย้อนกลับไปที่การพูดครั้งนั้น ผมเปรียบเทียบว่า ถ้าวันนี้ประเทศไทยถูกนำเสนอแทนด้วยการออกแบบตัวหนังสือแบบหนึ่ง ซึ่งเข้ากับยุคสมัย สิ่งปลูกสร้าง วิธีคิดของคน วรรณกรรม หรือเพลงในยุคนี้ นึกง่ายๆ ว่าตัวแทนของสิ่งที่วันนี้กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเป็น เราคงไม่เอาแบบตัวหนังสือจากยุคอยุธยามาใช้ เพราะไม่ใช่เสียงของสมัยนี้

     ผมเลยถามไปว่า แล้วในอนาคตคุณอยากเห็นประเทศไทยเป็นเสียงไหน มันมีคำถามที่ซ่อนอยู่คือ เราอยากจะเห็นประเทศไทยโตไปเป็นแบบไหนล่ะ ตัวอักษรจะได้วิวัฒน์ตัวเองตามไปให้เข้ากับสถาปัตยกรรม เข้ากับวิธีคิด เทคโนโลยี รถไฟฟ้าที่จะเกิดใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง หรืออะไรก็ตามที่จะเกิดในอนาคต

     จริงๆ แล้วมันเป็นคำถามปลายเปิดที่คำตอบมันขึ้นอยู่กับคุณล้วนๆ ว่าคุณอยากเห็นประเทศไทยแบบไหน ถ้าคุณอยากจะเห็นประเทศไทยกลับไปอยู่ในยุคความรุ่งเรืองแบบอยุธยา ตัวอักษรก็อาจต้องกลับไปเป็นแบบนั้น เพราะว่าแบบตัวอักษรที่คุณใช้ก็จะยึดโยงกับเสื้อผ้าที่คุณใส่ รถที่คุณขับ คุณก็คงไม่เอาตัวอาลักษณ์มาใส่อยู่บนรถพลังงานไฟฟ้าใช่มั้ย ทุกอย่างย่อมจะไปสอดคล้องกัน ทัศนคติของเมืองกับทัศนคติของตัวหนังสือที่เป็นตัวแทนของเมืองก็สอดคล้องกัน

 

ทุกวันนี้ คนไทยเราเลือกตัวอักษรซึ่งเป็นเสียงแทนให้ประเทศไทยผิดอยู่หรือเปล่า

     ผมว่าแม้กระทั่งการเลือกผิด มันก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไปแล้ว เหมือนที่เราเลือกผิดยังไง มันก็จะกลายมาเป็นแบบตอนนี้ ซึ่งถ้าผิดก็คือมันผิด ณ ตอนนั้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเลือกผิดไปแล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่การปฏิเสธที่จะไม่ทำความเข้าใจหรือไม่เรียนรู้ความผิดพลาด อันนั้นคือความเฮงซวย

 

การออกแบบตัวอักษรมีวันหมดอายุไหม มันควรไปพร้อมสังคมด้วยใช่ไหม

     วันหมดอายุก็มีกับทุกอย่างนะ ส่วนว่ามันควรไปพร้อมกับสังคมด้วยไหม แน่นอน เราไม่แยกเรื่องการออกแบบออกจากสังคม ก็ได้ตอบไปแล้วแทรกในคำตอบที่ผ่านๆ มา คุณจะออกแบบอย่างเดียวโดยไม่แคร์ว่าสังคมไปถึงไหนแล้วไม่ได้ คุณแยกออกจากกันไม่ได้หรอก คุณแยกวิทยาศาสตร์ออกจากคณิตศาสตร์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้โดยไม่มีคณิตศาสตร์ หรือคุณแยกคณิตศาสตร์ออกจากภาษาศาสตร์ได้ไหม ก็ไม่ได้ คุณจะสื่อสารกันยังไงโดยไม่มีทักษะด้านภาษา มันคือเรื่องเดียวกันหมด ถ้าวันนี้คุณไม่คิดแบบนี้ ผมว่าคุณก็คือคนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สร้างโลกจากซากปรักหักพังที่ยังแยกทุกอย่างออกจากกันหมด

เป้าหมายในการทำงานการออกแบบตัวอักษร ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำจนถึงวันนี้เปลี่ยนแปลงบ้างไหม

     เป้าหมายไม่ได้เปลี่ยน คนเราก็มีแค่เป้าหมายเดียวแหละมั้ง หรือบางคนอาจจะมีหลายเป้าหมายก็ได้ แบบแบ่งชีวิตทำได้หลายอย่างในชีวิตเดียว โอเค เราก็ยินดีกับความมุ่งมั่นอันนั้น แต่สำหรับผมมีเป้าหมายเดียวก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว อย่าเปลี่ยนเป้าหมายบ่อยเลย ผมว่าคนจำนวนมากตอนนี้มีความรู้สึกแบบ ‘เฮ้ย ตื่นมาฉันอายุ 40 ปี แล้ว ฉันยังเห็นตัวเองอยู่ตรงนี้อยู่เลย ฉันคงไม่มีทางประสบความสำเร็จแล้ว เวลาคงหมดแล้ว’ แสดงว่าคุณไม่ได้มีเป้าหมายชัด ถ้าคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน คุณจะมีวิธีการ สำหรับผม ผมว่าเป้าหมายไม่ได้เปลี่ยน แต่มันอาจมีการขยับขยายได้

 

ถ้านักฟุตบอลอาจมีเป้าหมายคือเวิลด์คัพ แล้วนักออกแบบตัวอักษรอย่างคุณมีไหม

     ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่านักฟุตบอลทุกคนอาจไม่ได้อยากไปฟุตบอลโลกนะ นักออกแบบเองก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องการ Gold Medal ของ AIGA เปล่าเลย เขาอาจจะมีเป้าหมายอย่างอื่นก็ได้ เช่น เป้าหมายของเราคืออยากให้เรื่องหลักสูตรการศึกษาด้านการออกแบบในบ้านเราเป็นระบบแบบแผน มีจิตวิทยาทางการสอนการออกแบบมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ Gold Medal เลย แต่ถ้า AIGA จะมาให้รางวัล นั่นก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่เราทำ แต่ Gold Medal ไม่ใช่เป้าหมาย รางวัลเป็นสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้คุณ จริงๆ เป้าหมายอาจไม่ต้องใหญ่ก็ได้

     ผมว่าคนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ ก็จะมีเป้าหมายไม่เหมือนกันด้วยนะ บางพื้นที่เขาไม่สามารถคิดก้าวข้ามขอบเขตที่ตนเองอยู่ได้ เพราะว่าอาจจะมีปัญหาในระดับอื่นๆ อีก เหมือนธุรกิจที่เราทำอยู่ตอนนี้ ถ้าเป็นที่อื่นใน AEC เขาอาจจะยังไม่สามารถมองอะไรที่ไกลขนาดนั้นได้ เพราะเขาก็อาจจะมีปัญหาในอีกระดับหนึ่ง แต่อย่างบ้านเราผ่านก็จุดนั้นมาแล้ว เราก็สามารถที่จะขยับเป้าไปไกลกว่าจากจุดนั้นได้

 

แล้วคุณเคยคิดถึงเรื่องการออกแบบเพื่อสังคมบ้างไหม

     สำหรับผม ไม่มีอะไรที่เพื่อสังคมร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากจะพูดเก๋ๆ ถ้าอยู่บนความเป็นจริง ต้องนึกด้วยว่าจะขับเคลื่อนไปยังไงในทางเศรษฐศาสตร์นะ ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร อยากทำเพื่อสังคม แต่ก็ต้องฟังก์ชั่นทางเศรษฐศาสตร์หรือต้องฟังก์ชั่นทางตัวเลขด้วยใช่ไหม ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมดในโลกความเป็นจริง แค่ต้องบาลานซ์ให้ได้แค่นั้นเอง สิ่งที่คัดสรร ดีมาก ทำ เราพยายามจะให้ วิน-วิน นะ คือเราออกไปบรรยายให้สถาบันการศึกษา ทางฝั่งธุรกิจเราก็ได้ คนที่ฟังบรรยายก็ได้ประโยชน์ คนที่จัดบรรยายก็ได้งานเช่นกัน เราพยายามจะเกลี่ยทุกส่วนให้บาลานซ์ ไม่ใช่ว่าออกไปบรรยายแล้วคิดแต่ว่าเราต้องได้อย่างเดียว ผมว่ามันเป็นศิลปะของการทำงาน

 


BITS

     เตรียมพบกับงานสัมมนาวิชาการอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ งานประจำปีที่รวมนักออกแบบและผู้ที่สนใจจากหลากหลายสาขาให้มาร่วมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรในบริบทร่วมสมัย เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงเพื่อการศึกษาและเชิงพาณิชย์ งาน BITS เป็นหนึ่งในงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับการจัดวางตัวอักษรและการออกแบบตัวอักษรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 8 ที่โรงแรมอินเตอร์คอน หัวหิน ในช่วงระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2018

     รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bitscon.asia