‘เจ้ย’ – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คือคนที่ใครๆ ก็มักจะรู้จักในนามของคนทำหนังไทยคนแรกที่พาภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ คว้ารางวัลปาล์มทองคำคนแรก จากเวทีภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับเมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดประเด็นเกี่ยวกับตัวตนของเขาก็ทยอยออกมาให้เราติดตามด้วยความครุ่นคิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกาศว่าจะไม่ทำหนังในเมืองไทยแล้ว การแสดงความคิดเห็นทางสังคม การเมือง ผ่านงานศิลปะแขนงต่างๆ การเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้ไปโหวตรางวัลออสการ์ (ซึ่งเขาก็ไม่เข้าใจว่าประเด็นนี้ ‘มันจะอะไรกันนักกันหนา’) ทั้งภาพยนตร์ รักที่ขอนแก่น ยังติดอันดับ 4 Best Film of 2016 ของ Filmcomment.com
เราพูดคุยกับเขาที่ขอนแก่น บ้านเกิดของเขาและครอบครัว ด้วยเหตุผลว่า เราอยากพูดคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับอิสรภาพทางการสื่อสาร ความคิด ในพื้นที่ที่มีกรอบจำกัด เพราะนั่นเป็นประเด็นที่เราผ่านพบมาตลอดทั้งปี แต่จะมีการถกเถียง โต้แย้ง หรือได้คำตอบกันแค่ไหน ก็สุดแล้วแต่ประเด็นในแต่ละพื้นที่นั้นจะพาไป
เรายอมรับว่า บทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้เข้าใจยาก เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องนามธรรมล้วนๆ เป็นปัจเจกถึงขนาดที่คุณอาจทำความเข้าใจในประเด็นเดียวกันได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถามว่าดีไหมสำหรับการสื่อสารผ่านงานเขียนที่คนอ่านอาจเข้าใจไม่ตรงกัน เราคงตอบได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ที่บางทีเราก็ควรอ่านด้วยการเปิดใจ ยอมรับในสิ่งที่อาจจะแตกต่าง ไม่เร่งรีบด่วนสรุปว่าอะไรเป็นอะไร เพราะทุกอย่างมีพื้นที่สำหรับการก่อรูป แปรเปลี่ยน และลงเอยที่สิ่งที่คุณอาจไม่คุ้นเคย ซึ่งเราว่าถ้าไม่ได้พูดคุยกับเขาก็ยากยิ่งที่จะได้บทสัมภาษณ์แบบนี้ ซึ่งพูดตามตรง เราก็สนุกกับการสร้างสรรค์งานที่ไม่ต้องการทำความเข้าใจไปกับเขาด้วยเหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริง บทสัมภาษณ์ก็อาจเป็นการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราคงไม่กล้าบอกว่าเป็นงานศิลปะ แต่มันก็เป็นงานชิ้นหนึ่งที่วันหนึ่งอาจแค่ต้องอ่านเพื่อยอมรับ โดยไม่ต้องทำความเข้าใจ จะว่าไปก็มีหลายเรื่องในชีวิตที่เราควรเรียนรู้ ซึมซับ โอบกอดสิ่งที่เป็น รู้ว่ามันเป็นแบบนั้น แล้วก็แค่ไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นแบบอื่น
อภิชาติพงศ์บอกกับเราตอนหนึ่งว่า งานภาพยนตร์เป็นสัตว์ที่ไม่เชื่อง เพราะเราไม่สามารถบังคับให้มันเป็นไปอย่างใจเราได้ ตลอดเวลา ทุกอย่างมีความเป็นไปของมัน ในกรอบของมัน ฟังจนจบประโยค เราว่าหลายๆ อย่างในชีวิตก็เป็นแบบนั้นนั่นแหละ
ถามว่า ทำไมต้องเป็นการสัมภาษณ์ที่ขอนแก่น รอเขามากรุงเทพฯ ไม่ได้หรือ คำตอบคือ ถึงจุดหนึ่งเราก็อยากทดลองดูว่า ถ้าเราไปสัมภาษณ์ในพื้นที่ของเขา กรอบของเขา เราจะได้คำตอบอย่างไร เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าคนคนหนึ่งได้พูดในพื้นที่ของตัวเอง ในขณะที่เรา ผู้ไปสัมภาษณ์ ก็ได้หลุดจากพื้นที่ที่เราคุ้นเคยอย่างกรุงเทพฯ
อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพียงแต่เมื่อมันเกิดแล้ว เราจะยอมรับและโอบกอดเอาไว้ หรือยังจะดิ้นรนไปทำสิ่งที่ไม่เชื่องให้เชื่อง เพียงเพื่อจะต้องทุกข์หนักและเหน็ดเหนื่อยต่อไปไม่รู้จบ
ทราบมาว่าคนญี่ปุ่นชอบงานคุณกันมาก คุณรู้สึกอย่างไร
มหัศจรรย์เหมือนกันนะ เพราะผลตอบรับที่ได้มันทำให้เรามีงานต่อเนื่องมาอีก เราเคยมีผลงานที่ญี่ปุ่นเยอะเหมือนกัน เช่น งาน Video Performance ที่โยโกฮามา มีออกหนังสือใหม่สองเล่มกับสำนักพิมพ์ที่ญี่ปุ่น เป็นภาษาญี่ปุ่นเลย แต่ไม่ได้เขียนเองคนเดียว มีหลายๆ คนมารวมตัวเขียนกัน เราก็เป็นคนหนึ่งในนั้น อีกเล่มจะเป็นภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น พูดถึงกระแสตอบรับของเราที่ญี่ปุ่น ถ้าให้คิดว่าเพราะอะไร ก็พอจะรู้อยู่บ้าง คือมันเป็นช่วงที่เราทำหนังเสร็จแล้วพอมีเวลาว่างจากการทำหนัง เราก็เอาเวลาไปทำงานศิลปะต่อ แล้วการได้มีงานไปโชว์หลายๆ ที่ ก็เป็นเรื่องของงานศิลปะนั่นแหละ คนก็เลยได้เห็นงานเยอะ
มีเหตุผลอื่นไหมว่าทำไมเขาถึงได้ชอบงานของคุณ มันเป็นเพราะสังคมที่นั่นเป็นแบบไหน หรือคนเป็นแบบไหน
ก็อยากรู้เหมือนกันนะ ทั้งๆ ที่งานเราเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งนั้นเลย (นิ่งคิด) แต่อาจจะเป็นเพราะมันเหมือนกับการดูหนังของเรา มันเป็นเรื่องของการตีความของเขาเอง เป็นเรื่องอิสระของการตีความ เพราะหลายๆ คนจะพูดเหมือนกันว่า เขาไม่เข้าใจหนังของเราหรอก แต่ว่าชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วความคิดแบบนี้มันเอาไปใช้กับงานนามธรรมได้หลายๆ แบบ เช่น เราไปดูงานศิลปะที่เป็น abstract มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจแล้วล่ะ แต่เป็นเรื่องที่ว่าชอบ ไม่ชอบ หรือมันสะท้อนอะไรให้คิด เพราะมันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของตัวคนดูเอง
อย่างงานวิดีโอที่เคยนำไปแสดงที่ญี่ปุ่น ก็เกิดขึ้นเพราะเราคิดว่า หลังจากทำหนังเรื่อง รักที่ขอนแก่น จบ เรารู้สึกว่ามันยังไม่สุด มันยังมีวิธีแสดงออกถึงความคิดได้อีกหลายอย่าง แล้วหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของความฝันที่เราอยากทำยังไงก็ได้ให้มันออกมานามธรรมได้มากกว่านี้ เพราะว่าภาพยนตร์มันก็ค่อนข้างจะมีกฎของมันอยู่ แต่งานแสดงบนเวทีมันค่อนข้างสดกว่า แล้วมันเป็นสิ่งที่เราทดลองได้ 100% เพราะมันอยู่ในเทศกาลด้วย ไม่ใช่เรื่องเพื่อการค้า ไม่ได้มีทุนจากหลายประเทศมาค้ำคออยู่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าการทำหนังของเราจะประนีประนอมนะ แต่หมายความว่าพื้นฐานของความเป็นภาพยนตร์มันจะมีกฎของมันอยู่ ซึ่งงานเวทีมันไม่ใช่โลกของเราไง เราเลยไม่สน และไม่คิดว่ามันจะมีกฎอะไรบ้าง
แต่ภาพยนตร์นี่ แค่เวลาก็เป็นข้อจำกัดแล้ว เช่น 2 ชั่วโมง ไหนจะมีเฟรมของมันอีก มันก็เลยกลับมาที่เรื่องแสงที่เราสนใจมากๆ คือในภาพยนตร์มันก็มีแสง มีกรอบ มีเวลามาจำกัด เป็นภาพสองมิติ ไม่มีสเปซอื่น ทำไมมันถึงคุมไม่ค่อยอยู่ หมายถึงว่าทำไมเราไม่สามารถทำให้ภาพยนตร์มันเชื่องได้ คือสมมติว่ามันเป็นสัตว์ตัวหนึ่งนะ ถ้าเราทำให้มันเชื่องได้ ฮอลลีวูดก็น่าจะทำหนังรวยได้ทุกเรื่องแล้วแต่ทีนี้ลงทุนกับหนังไปไม่รู้กี่สิบล้านแต่ละเรื่อง มันยังมีเจ๊งเลย เพราะฉะนั้น ภาพยนตร์ก็เลยเป็นสัตว์ที่ไม่เชื่องสำหรับเราเป็น untamed art มันเลยดูดให้เราเข้าไปค้นหาได้ตลอด คนอื่นอาจจะคิดว่าเราทำหนังให้คนอื่นเข้าไปค้นหาอะไรสักอย่าง แต่เราว่าเราทำหนังให้ตัวเอง เพราะเราเป็นคนดูคนแรก เราก็ต้องคิดว่าเราอยากจะดูอะไร หรือมีความสุขกับการปั้นมันยังไง
อย่างเรื่อง รักที่ขอนแก่น ก็เกิดจากการที่ทำหนังมาหลายที่แล้ว เราก็เลยอยากกลับมาบ้านที่ขอนแก่น ซึ่งเราอยากเล่าเรื่องบ้านเกิดเป็นแบ็กกราวนด์มานานแล้ว เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ ขอนแก่นเปลี่ยนไปเยอะ การเมืองในบ้านเราเปลี่ยนไป การทำหนังเปลี่ยนไปทั่วโลก จากฟิล์มไปเป็นดิจิตอล เราก็เลยอยากให้การทำหนังเรื่อง รักที่ขอนแก่น เป็นประโยคสุดท้ายแล้วที่เราอยากจะพูดเกี่ยวกับเมืองไทย เพราะเราตั้งใจไว้แล้วว่าเราไม่อยากทำหนังที่เมืองไทยอีกแล้ว เลยคิดว่า เออ ถ้าอย่างนั้นเรากลับมาทำหนังที่บ้านดีกว่า เหมือนกับเป็นการปิดฉากไปซะ เพราะ รักที่ขอนแก่น เป็นเรื่องที่สำคัญกับเรามาก ในแง่ที่ว่ามันเป็นพอร์เทรตของความทรงจำหลายๆ อย่าง แล้วก็เป็นเรื่องของความฝันกับความจริงที่มันแยกกันไม่ออก ซึ่งจริงๆ มันก็คือเรื่องของภาพยนตร์นั่นเอง คือเรื่องที่ผสมกันระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งที่มันโยงไปโยงมา ในชีวิตเรา มีหนังสองเรื่องที่สำคัญกับเรามากๆ คือ แสงศตวรรษ กับ รักที่ขอนแก่น
ตอนติดต่อสัมภาษณ์คุณไป คุณบอกว่า ไม่พ้นที่จะต้องพูดเรื่องสังคม การเมืองแน่ๆ เลย เพราะอะไร มันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจคุณตลอดเลยเหรอ
เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันน่ะ คือถ้าเราพูดเกี่ยวกับเรื่องจริง เรื่องแต่ง และในฐานะของคนทำหนังหรือคนทำงานศิลปะ มันก็เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะพูด เพราะประเทศนี้มันเป็นแบบนี้ แล้วคุณจะไม่พูดถึงเลยได้ยังไง มันเป็นไปได้เหรอ
แล้วในทางกลับกัน ก็ในเมื่อประเทศนี้เป็นแบบนี้ แล้วคุณจะพูดถึงอย่างไร
มันก็พูดได้ในระดับหนึ่ง เราไม่สามารถหันหน้าหนีได้ แต่มันก็เป็นเหตุหนึ่งด้วยที่ทำให้เราไม่ทำหนังที่เมืองไทยแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่ทำงานศิลปะ หรือแม้แต่งานเขียน งานถ่ายภาพ เพียงแต่งานภาพยนตร์ มันเป็นเรื่องซับซ้อนมาก เป็นสิ่งที่จะต้องอยู่กับมันไปสี่ห้าปี ยังไงศาสตร์ภาพยนตร์ที่เราชอบมันก็ยังมีการเล่าเรื่องอยู่ มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเซนเซอร์ตัวเอง ถ้ายังอยากพูดความจริงอยู่ ดังนั้น เราเลยคิดว่าจะไม่ทำดีกว่า เพราะเมืองไทยมันก็เป็นลูปวนเนอะ ซึ่งตอนนี้มันอยู่ในลูปมืดอยู่นะเราว่า
พอบอกว่าจะไม่ทำหนังในเมืองไทยแล้ว เซนส์หนึ่งมันก็เหมือนคุณไม่อยากประนีประนอมอะไรกับสังคมไทยแล้วหรือเปล่า
ก็ใช่นะฮะ คือยังไงเราก็ต้องเซนเซอร์ตัวเอง แล้วที่ผ่านมาเราก็พยายามทำหนังให้มีสัญลักษณ์นั่นนี่ แต่พอถึงจุดหนึ่ง การมีสัญลักษณ์มันก็เป็นข้ออ้างไปแล้ว จนเรารู้สึกว่ามันไม่สวยงามอีกต่อไปแล้ว สำหรับเรา ตอนนี้สิ่งที่สวยงามที่สุดคือความจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นศิลปินแล้วพูดความจริงไม่ได้ มันก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าศิลปินแล้ว คือจริงๆ มันก็กระดากปากที่จะต้องเรียกตัวเองว่าศิลปินไง ก็เลยหาทางออกที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นคนทำหนังเสมอ แต่เรารู้สึกว่าศิลปินเป็นเหมือนกระจก ไม่ว่าคุณจะทำงานที่เป็นรูปธรรม นามธรรมใดๆ แต่มันต้องสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของคุณ แล้วมันต้องสะท้อนถึงตัวตนของคุณ บางคนเขามองเห็นโลกสวย เขาก็สะท้อนความโลกสวยออกมา ซึ่งมันก็เป็นหลักฐานที่ดีทางประวัติศาสตร์สำหรับอนาคต ที่เราจะมีศิลปินโลกสวยอยู่หรือศิลปินอะไรก็แล้วแต่ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเรายืนอยู่ตรงจุดไหน ศิลปินกับความจริงมันเป็นของคู่กันนะในความคิดของเรา เพียงแต่ความจริงของเรามันอาจจะไม่ใช่ความจริงของคนอื่น
เหมือนกัน ถ้าใครคิดว่าตอนนี้ประเทศไทยเป็นช่วงที่สว่างสดใสที่สุดสำหรับเขาแล้ว มันก็คือความจริงของเขา มันไม่ใช่ความจริงของเรา แต่เราก็ยอมรับความคิดเขานะ แล้วมันก็ดีถ้าเขาจะนำเสนอความคิดตรงนั้นออกมาด้วย สำหรับเรา เราก็อยากนำเสนอความคิดของเรา แต่เราทำไม่ได้
บางทีคุณก็ทำให้เรานึกถึง อ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินชาวจีน ที่อยากนำเสนอสิ่งที่เป็นความคิดตัวเองโดยไม่ประนีประนอม เมื่อทางการไม่อนุญาตก็ลี้ภัยไปเลย เรามองว่าเขาเป็นทั้งอาร์ทิสต์และแอคทิวิสต์ในเวลาเดียวกัน คุณคิดว่าคุณจะขยับไปถึงตรงนั้นไหม ในเมื่อคุณให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมขนาดนี้
คงไม่ เพราะนั่นคือความจริงของ อ้าย เว่ยเว่ย เขาคิดของเขาแบบนั้น เขาก็ทำแบบนั้น แต่สำหรับเรา ไม่ได้คิดว่าหนังของเรามันจะต้องเปลี่ยนโลกอะไรขนาดนั้น แม้แต่จะทำอะไรให้มันดีขึ้น เพราะว่าสุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าเราทำงานให้ตัวเอง
ถ้ามันไม่เปลี่ยนโลก แล้วมันเปลี่ยนอะไร
เราไม่มี agenda ไง เราไม่ได้มองว่างานศิลปะมันอยู่บนแท่น มันเป็นแค่สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุด เหมือนกับการหายใจ มันเป็นอาชีพน่ะ มันกลืนไปหมดกับการใช้ชีวิต ถ้าแต่ก่อนน่ะใช่ เมื่อ 20 ปีก่อน เราคิดว่าศิลปะอยู่บนหิ้ง เหมือนที่ คุณโดม สุขวงศ์ ที่มูลนิธิหนังไทย บอกว่าหนังเป็นศาสนา แต่สำหรับเราไม่ใช่
แล้วในแง่สภาพแวดล้อมที่จะเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เชื่องอย่างภาพยนตร์ ให้มันออกมาเป็นอย่างที่เราต้องการ
มันก็คงเหมือนหลายๆ คนมั้งที่ต้องตื่นเสมอน่ะ แล้วก็ต้องเดินทางเสมอ เพราะว่าพอเดินทางก็จะเกิดการเปรียบเทียบ เรียนรู้ ไม่ว่าจะเดินทางในประเทศหรือต่างประเทศ
ตื่นเสมอแปลว่าอะไร
คำว่าตื่นเสมอคือ อยู่กับปัจจุบัน รู้ว่าทุกอย่างมันไม่จีรัง รู้ว่าความจริงหรือข้อมูลมันพลิกผันได้เสมอ อย่างสิ่งที่เราเรียนในชั้นเรียนตอนเด็กๆ ตอนนี้มันก็เป็นโฆษณาชวนเชื่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้แต่ประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น การตระหนักรู้กับปัจจุบันมันสำคัญมาก ว่ามันอยู่ตรงนี้นะ มันเปลี่ยนตลอด แล้วคราวนี้เราซื่อตรงกับตัวเองไง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่เราทำงานที่นี่ไม่ได้ แต่หมายถึงหนังใหญ่อย่างเดียวนะ เรื่องอื่นยังทำอยู่ เรากำลังจะสร้างสตูดิโอที่จะเอาไว้ทำเวิร์กช็อปด้วย คือยังมีรากอยู่ที่นี่มาก
ชีวิตมันก็จะเป็นลูปน่ะ บางทีทำหนังใหญ่ 3-4 ปี แล้วกว่าจะได้ทำอีกเรื่องก็ใช้เวลาหาทุนนานมาก ก็เอาเวลาไปทำงานศิลปะ ก็ทำมาตลอด ไม่มีคนรู้ ทำมาตั้งแต่เรื่องแรกๆ เรียกว่าเป็นงานอดิเรกก็ได้ งานหลักคืออยู่บ้านที่เชียงใหม่ และเลี้ยงหมา พูดจริงนะ เพราะเราทุ่มเทกับหมามาก เหมือนเลี้ยงลูก เหมือนคนที่เลี้ยงลูกแล้วทำทุกอย่างเพื่อลูก เราก็ทำทุกอย่างเพื่อหมา แล้วการทำหนังเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นงาน มันไม่ได้มีรูทีนขนาดนั้น แต่ว่าหมามันมีรูทีน ต้องกินข้าวตอนนี้ๆ อย่างตอนทำหนัง ทำงานศิลปะ มันมีอิสระมาก จนไม่ได้ต้องตื่นมาบังคับตัวเองให้ต้องทำ แต่เลี้ยงหมาบางทีก็ต้องบังคับตัวเอง
ที่คุณบอกว่าทำหนังเปรียบเหมือนสัตว์ที่ไม่เชื่อง แต่หมามันเป็นสัตว์ที่ต้องเชื่อง คุณเรียนรู้อะไรจากสองเรื่องนี้
หมามันเหมือนเด็กน่ะ ในแง่ที่บางทีเราไม่สามารถเอาตรรกะเราไปครอบเขาได้ เราก็เรียนรู้จากเขาเหมือนกันว่านี่คือหมา แล้วมันทำให้เราสะท้อนตัวเองเสมอก็คือเรื่องของตรรกะนี่แหละ ว่าทุกสิ่งในโลกมันคิดไม่เหมือนกันหรอก เพราะมันใช้คนละตรรกะ ซึ่งเราก็พยายามนำความคิดนี้เข้าไปในภาพยนตร์เหมือนกัน
คือตอนทำงานศิลปะหรือภาพยนตร์ เหมือนกับว่าเราเป็นคนควบคุมทุกอย่าง แต่การเลี้ยงหมาคือเราควบคุมไม่ได้เลย
แต่มันก็มีความเซอร์ไพรส์ตลอดนะ การเลี้ยงหมา เลี้ยงสัตว์ หรือเลี้ยงเด็ก มันก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำไมเราถึงชอบความฝัน หรือว่าชอบสร้างภาพยนตร์ที่มันไม่มีหลักมีแกนมากเท่าไร เพราะมันเป็นความงามของชีวิตที่ไม่มีต้นกลางจบ ทุกอย่างมันไหลไปเรื่อย นี่แหละตรรกะที่ไม่มีตรรกะ
แล้วการที่ต้องทำงานกับสิ่งที่ต้องควบคุมอย่างหนัง กับการอยู่กับหมาที่เดาทางอะไรไม่ได้เลย คุณสนุกกับอะไรมากกว่ากัน หรือมันหล่อหลอมวิธีคิดของคุณอย่างไร
มันคือการสร้างสมดุลน่ะ การทำหนัง การใช้ชีวิต แน่นอนว่าเรื่องของภาพยนตร์มันคือเรื่องของการคอนโทรลมากๆ เลย ถ้าไปดูตั้งแต่บท สตอรีบอร์ด มันเป๊ะๆ หมดเลยนะ แต่ว่าในขณะเดียวกัน ทำยังไงเราถึงจะนำเสนอปรัชญานี้ออกมาได้ ปรัชญาของความไม่แน่นอนจากการทำงานออกมาเป็นบล็อกๆ ดังนั้น มันก็คือการบาลานซ์ของการทำหนัง คือเรื่องใช้ชีวิตนี่ไม่รู้ว่าบาลานซ์หรือยังนะ แต่เรื่องการทำหนังก็โอเค ซึ่งการทำหนังมันมีกฎ แต่มันก็ต้องใช้ความไม่มีกฎด้วย
เวลาที่คุณไปฉายหนัง แล้วมีคนมาวิจารณ์ บางคนถึงกับตะโกนด่าในโรงภาพยนตร์ เหตุการณ์แบบนี้คุณรับมืออย่างไร เสียเซลฟ์ไหม
คือมันน้อยลงเรื่อยๆ น่ะ แต่ก่อนนี่เสียเซลฟ์แน่นอน อย่างที่บอกว่าหนังหรือว่างานศิลปะ เมื่อเสร็จแล้วมันก็มีชีวิตของมัน คนจะตีความยังไงก็เรื่องของมัน รู้จักคนทำหนังชื่อ Bela Tarr ไหม เขาเป็นคนทำหนังชาวฮังการี ผมเพิ่งไปสอนที่โรงเรียนของเขามา คือเขาเป็นบรมครูในยุคที่เขายังมีชีวิตอยู่ แล้วผมก็อยากเป็นอย่างเขามาก เพราะเขา don’t give a fuck น่ะ กับทั้งภาพยนตร์ กับทั้งชีวิต แต่เรายังทำไม่ได้
คือไม่สนอะไรแล้ว
คือเขาจะพูดตลอดเวลาว่า fuck off อย่ามายุ่งกับชีวิตกู นั่นคือการใช้ชีวิตที่เราคิดว่าน่าหลงใหล แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราพูดเสมอว่าชีวิตมันถูกโปรแกรมมาแล้วตั้งแต่เด็ก เหมือนอย่างที่เรามองว่าเท้าคือของต่ำ มันมีบางอย่างที่เราไม่สามารถเปลี่ยนได้
ที่คุณบอกว่าคุณไม่ทำหนังในเมืองไทย เพราะทำไม่ได้ เนื่องจากมีกฎของมัน คุณก็เลยไปทำที่อื่น แล้วที่อื่นไม่มีกฎเหรอ
คือเราจะรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของน้อยลง เพราะมันไม่ใช่บ้านเรา อย่างตากล้องที่มาถ่าย รักที่ขอนแก่น ให้เรา เขามาจากเม็กซิโก เขาเห็นมุมมองเยอะมากจากที่เราไม่เคยเห็น เพราะเราเห็นอยู่ทุกวัน ทั้งแสง ทั้งความงามของหลายๆ อย่าง แต่ก็อย่างที่บอกว่าเมืองไทยมันเป็นลูปไง เราอาจไม่ได้จะทิ้งไปเลย มันเป็นแค่การทดลองช่วงหนึ่งของชีวิต
คุณบอกว่าแสงคือสิ่งที่คุณหลงใหล และชอบมาก
มากๆ เลย ไม่รู้สิ เพราะเราโตมากับโลกแอนะล็อกด้วยไง เรื่องแสง อุณหภูมิของแสง แล้วติดมากเลยว่าเมืองไทยมันจะต้องเป็นอุณหภูมินี้ แสงนี้ คือไปเมืองนอกมันก็ไม่ใช่แสงนี้แล้ว แน่นอนว่ามันเชื่อมกับความทรงจำ เพราะเราเป็นคนที่วิชวลมาก สิ่งที่ชอบจะเป็นเรื่องของสี แสง รูปทรง แสงมันก็คือภาพยนตร์ แสงมันจับต้องไม่ได้ไง ภาพยนตร์ก็จับต้องไม่ได้ ฉายปุ๊บ ปิดเครื่องแล้วก็ดับ หายไปแล้ว ถ้าพูดในทางปรัชญามันตีความได้เยอะมาก แสงคือความจริง หรือแม้แต่แสงในฝัน มันก็คือความจริงส่วนตัวที่เรามีอยู่ เรื่องแสงจึงสำคัญมาก
สำคัญจนมีผลกับวิธีคิดของคุณเลยหรือเปล่า
ใช่ เพราะว่ามันเป็นตัวที่เชื่อมหลายๆ อย่าง เชื่อมกับโลก เชื่อมกับตัวตน ความทรงจำที่แสงเป็นตัวกระตุ้นให้งานแต่ละชิ้นออกมา งานของเรา เรื่องของแสงสำคัญกว่าเรื่องราว คือเรื่องราวเป็นแค่อีกประเด็นหนึ่งของแสง เพราะฉะนั้น เวลาคิดหนังแต่ละเรื่องบางทีก็ไม่ได้มาจากเรื่องราว แต่มาจากภาพ หรือแสง หรือจากอะไรบางอย่าง ไม่ได้มาจากการคิดพล็อต พระเอกนางเอกไปทำนั่นทำนี่ ไม่ใช่อย่างนั้น เราว่าแสงมันเป็นความทรงจำก้อนใหญ่
มิติที่เปลี่ยนไปที่ชัดที่สุดในตอนนี้คืออะไร
อืม… ก็คือ fuck it off ง่ายขึ้น อย่างที่บอกนั่นแหละว่าแคร์เสียงคนอื่นน้อยลง แต่แน่นอนว่ามันยังมีอยู่
แต่การแคร์เสียงคนอื่นน้อยลงในแบบของอภิชาติพงศ์ มันดูไม่ค่อยก้าวร้าวเท่าไรนะ
ไม่เลยๆ คือพอเราไม่ฟังเสียงคนอื่น เราได้ยินเสียงตัวเองมากขึ้น เราเงี่ยหูฟังเสียงตัวเองได้ไง
แต่สมมติว่าคนคนหนึ่งซึ่งเพิ่งเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง การไม่ฟังเสียงคนอื่นเลยมันจะดีเหรอ
มันสำคัญมากที่เราต้องฟังเสียงตัวเอง อย่างที่ผมไปสอนหลายๆ ที่ก็จะเน้นเรื่องการฟัง ทั้งฟังแบบ biological คือฟังเสียงที่กระทบหู กับฟังตัวเอง ฟังความคิด แล้วก็จะสอนนั่งสมาธิ โดยที่ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเกจิอาจารย์อะไรเลย แต่มันเป็นพื้นฐานของการนั่งสมาธิ แล้วโฟกัสเรื่องลมหายใจ มันคือการรู้สัมผัสของตัวเองกับสิ่งรอบข้าง กับโลก ทั้งด้าน physical และด้าน spiritual เพราะอย่างที่บอกว่าภาพยนตร์หรือผลงานอะไรก็ตาม มันคือเสียงของเรา มันคือตัวตน ดังนั้น ยิ่งคุณรู้ตัวตนมากเท่าไร งานก็จะยิ่งน่าสนใจ แต่ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี เพราะมันไม่มีอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่สามารถไปบังคับเด็กให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้อยู่แล้ว การทำภาพยนตร์โดยเฉพาะในยุคนี้ มันไขว้เขวได้ง่าย เพราะมันมีตัวอย่างเยอะมาก ทั้งในยูทูบ เสียงมันเยอะมากจนกลบเสียงตัวเองไปเลย ว่าเสียงจริงๆ ของฉันคืออะไร แต่เรารู้สึกว่าทุกคนมีเสียง มีรากอยู่แล้ว ไม่ว่ารากนั้นจะถูกโปรแกรมมายังไง คือมันมีรากของความเชื่อมาอยู่แล้ว แต่การรู้นั้นสำคัญ และการฟังเสียงของตัวเองก็สำคัญมาก
คำว่าฟังเสียงตัวเอง เสียงของคุณคืออะไร
โอ้โฮ มันไม่ใช่อะไรที่จะพูดได้ไง มันเป็นคลื่นเฉยๆ มั้ง อย่างเราเป็นคนขี้โมโห แค่รู้ว่าตัวเองเป็นคนขี้โมโหก็พอแล้วมั้ง รู้ว่ารากหรือก้อนของตัวเองเป็นยังไง โดยที่ไม่ต้องไปต้านมัน เรารู้ว่าเราชอบอะไร เราเอียงไปทางไหน อย่างแต่ก่อนเรื่องเพศ เราก็จะไม่พยายามมอง จะไม่มองว่าฉันเป็นเกย์ จะไม่ยอมรับ พยายามที่จะไม่สนใจมัน หรือว่าชอบหนังแบบนี้ แต่ไปทำหนังอีกแบบ ไปหลงอยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาฟังเสียงของตัวเองว่าคืออะไรกันแน่
มันเกี่ยวกับอายุด้วยหรือเปล่า เช่น ตอนนั้นคุณยังไม่สามารถทำแบบนี้ได้ พอโตขึ้นก็ไม่ต้องประนีประนอมแล้ว สามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจน
มันไม่ใช่การประนีประนอม แต่เพราะมันไม่รู้ มันอาจจะยังไม่ถึงจุดที่ว่าฉันชอบอันนี้ ยังอยู่ในช่วงทดลอง คือตอนนี้ก็ทดลองไปเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มชัดขึ้น
หมายความว่าคุณใช้ชีวิตแบบทดลองไปเรื่อยๆ
หมายถึงการทดลองทำงานแต่ละชิ้นน่ะ มันก็ยังมีการลองถูกลองผิด ไม่ใช่ว่าเราจะรู้ไปทุกอย่าง
มันจะมีเรื่องไหนไหมที่คุณจะไม่ประนีประนอมแล้ว
เรื่องไหนวะ… ก็คงเป็นเรื่องภาพยนตร์มั้ง เราก็ไม่ได้แข็งกร้าวนะ แต่เราว่าเรายิ่งลู่ลมมากขึ้น ในแง่ที่ว่าเราไม่พยายามไปต้าน แต่เราพยายามทำสิ่งที่เราทำได้
การเป็นศิลปินที่สู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการแสดงออกจะไม่ดูเจ๋งกว่าเหรอ
ไม่นะ คือเราได้ทำงานมาหลายรูปแบบ และกว้างมาก แล้วเราก็รู้ว่าประเทศนี้มันเป็นแบบไหน แล้วเราก็ไม่ใช่แอคทิวิสต์ เราก็รู้ว่าการแสดงความไม่พอใจกับระบบ มันสามารถทำได้แค่ไหน เราไม่ได้จะไปต่อสู้ เราทำงานในจุดที่เราชอบ ชีวิตมันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเมืองตลอดเวลา แต่สื่อทุกสื่อจะมาถามตลอด เช่น เวลาไปเมืองนอก เป็นต้น
คือตอนนี้ที่คุณบอกว่า fuck off หรือไม่สนใจกับหลายๆ เรื่อง มันทำให้สบายใจมากขึ้นไหม
ก็ระดับหนึ่งนะ
คือคำว่าไม่สนของคุณคือไม่สนเลย
ไม่ๆ เราเทียบกับตัวเราแต่ก่อนเฉยๆ ไม่สนไม่ได้หรอก (หัวเราะ) เพราะถูกโปรแกรมไว้แล้ว
งานที่คุณไปจัดแสดงที่ Tate มีคนบรรยายว่าเกี่ยวกับ Ghost Stillness Sleep คุณคิดว่าใช่ไหม แล้วทำไมคุณถึงพูดถึงแต่เรื่องเหล่านี้
มันเป็นด้านหนึ่งของสิ่งที่สังคมทำให้เกิดขึ้นเฉยๆ ในหลายๆ เรื่อง การใช้ชีวิตที่ผ่านมา จนถึงขั้นที่ว่าอยู่กับความจริงไม่ได้แล้ว เลยไปหลงใหลกับความฝัน หรือพยายามไปหาโลกที่ดีกว่านี้ ซึ่งมันก็เป็นการแสดงตัวตนแค่บาง element เฉยๆ หลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่ด้านหนึ่งของสังคมทำให้เกิดขึ้นมา ถึงขั้นที่มึงอยู่กับความจริงไม่ได้แล้วจึงไปหลงใหลกับความฝัน พยายามหาโลกที่ดีกว่านี้ ซึ่งนั่นก็เป็นการแสดงตัวตนของมัน หรือเรื่องผีก็เหมือนกัน ที่เราชอบก็เพราะว่ามันชัดมากที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่แต่เด็กเนี่ยเราเชื่อว่าผีตาโบ๋มีจริง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ความจริงแล้ว มันเป็น manifestation ของความเชื่อในอดีต หรือความยึดติดของเขา ว่าทำไมลุงบุญมีจึงเห็นผี เพราะจริงๆ มันเป็นแค่ความทรงจำของเขาเฉยๆ สำหรับเรามันไม่ใช่ผีจริง คือเป็นความทรงจำที่มาหลอนเฉยๆ และเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
ผีแปลว่าอะไรสำหรับคุณ
มันเปลี่ยนไปได้ตลอดนะ… จะว่าอย่างไรดีล่ะ การยึดติดอะไรบางอย่างก็เป็นผีที่ตามมาหลอกหลอนได้ มันอยู่ที่การมอง หรือแม้แต่ประชาชนก็คือผี ในแง่ที่บางครั้งก็ดูไม่มีตัวตนหรือได้รับการมองเห็น ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง หรือบางครั้งผู้ปกครองก็คือผี ในบางครั้งที่เราปฏิบัติกับเขาเหมือนไม่มีตัวตน มันเป็นการเปลี่ยนมุมมองเฉยๆ เพราะฉะนั้น การหลอกหลอนมันตีความได้หลายแบบ ซึ่งมันก็ลิงก์กับการมองเห็นหรือมองไม่เห็น
อย่างงานที่ผมทำชื่อ ‘Invisible’ ก็เกี่ยวกับเงาล้วนๆ และเป็นเรื่องของการหายไปของข้อมูล ซึ่งมันมีอยู่ในทุกสังคมหรือการมีอยู่ในความเป็นมนุษย์ เช่น บางครั้งสมมติว่ามีช่วงหนึ่งที่เราหาซื้อต้นไม้เข้าบ้าน เราก็ขับรถไปมองหาร้านขายต้นไม้ และพบว่ามีร้านขายต้นไม้อยู่เยอะมากในเชียงใหม่ ซึ่งเราไม่เคยมองมันมาก่อน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่านี่คือ invisibility บางอย่าง คือของที่เราไม่สนใจเราก็จะ tune out ถ้าเราสนใจมองหาต้นไม้เราถึงจะค่อยมองหามัน อย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้น มันก็เหมือนกับเรื่องที่ว่า ความเป็นตัวตนของเราถูกเทรนมากันแบบไหนล่ะ เช่น ถ้าไม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ มันก็ทำให้เกิดการมองข้าม หรือมองไม่เห็นว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จึงมีศิลปินโลกสวยหลายคนที่ tune out มันออกไปเลย
ในทางกลับกัน งานของคุณเรียกว่าโลกสวยได้ไหม
ไม่สวยนะ คือเป็นโลกเฉยๆ แต่สวยหรือไม่สวยไม่รู้
แล้วสิ่งที่ invisible สำหรับคุณในตอนนี้คืออะไร
ที่เผลอบ่อยๆ ก็คือเรื่องของอำนาจมั้ง การมีอยู่ของอำนาจในประเทศนี้ที่บางทีเราไม่มองมันหรือว่าเพิกเฉยไป อะไรอย่างนี้ คือการร่วมมือกันของอำนาจนั่นแหละยาก คือมันถูก operate จนมันเนียนไปทุกอย่าง อย่างบางทีเราไปจับจ่ายซื้อของเซเว่นฯ เราไม่ได้มองถึงสิ่งที่เรากินทุกวันว่าเบื้องหลังมันคืออะไร
ตอนนี้ชีวิตของคุณหรือที่ผ่านมาก็ตาม ถูกขับเคลื่อนด้วยอะไรเป็นสำคัญ
น่าจะเป็นภาพยนตร์ เพราะมันพาเราเดินทางไปทุกแห่งเลย ทำให้เราพบเจอกับอะไรต่างๆ มากมาย แต่มันก็เหนื่อยมากๆ และเมื่อเหนื่อยมากๆ เราก็ไม่สนอะไรแล้ว ถึงได้บอกว่า Bela Tarr ให้แรงบันดาลใจเราเยอะมากจนเรารู้สึกว่าอยากหยุดทำงานบ้าง แล้วพยายามได้ยินเสียงตัวเองเยอะๆ กว่านี้ เพราะที่ผ่านมาทำงานเยอะมากจนไม่ได้ฟังเสียงของตัวเอง
คนอาจจะมองว่าคุณดูเป็นตัวของตัวเอง นอกกรอบ ไอ้คำพวกนี้ใช่คุณไหม
ก็อาจจะใช่นะ ในแง่ที่เรารู้ว่าเราต้องการอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเป็นคนมั่นใจนะ คือหมายความว่าตอนที่ถ่ายหนังเนี่ย เราก็จะถามคนโน้นคนนี้ ถามผู้ช่วยว่าอย่างนั้นดีไหม อย่างนี้ดีไหม ซึ่งการรู้ว่าตัวเองเป็นคนไม่มั่นใจนี่สำคัญมาก ถ้าไม่มั่นใจ ก็ไม่ต้องแสดงว่ามั่นใจ คนที่ทำหนังด้วยกันจะรู้เลยว่าเราเป็นคนที่ต้องมีตัวเลือกเยอะมาก ขออีกมุมหนึ่งนะ เพราะยังไม่แน่ใจ คือแบบบางคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ จะคิดว่าผู้กำกับจะต้องรู้มาก มั่นใจ เป็นกัปตันของกองถ่าย แต่ว่าสำหรับเราแล้วมันไม่ใช่เลย เราผ่านการทำงานจนเข้าใจแล้วว่า เฮ้ย ก็เราเป็นคนอย่างนี้ แล้วยิ่งได้เจอกับศิลปินจำนวนมาก ก็ยิ่งรู้ว่า มันมีคนอื่นๆ ที่ทำงานแล้วเป็นอย่างนี้อยู่เยอะมาก คือเป็นศิลปินที่ไม่มั่นใจ
คือบางทีเราถูกโปรแกรมมาว่าความไม่มั่นใจคือข้อด้อย เป็นแง่ลบ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ความไม่มั่นใจมันคือพลังอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันคือ doubt คือการถามตัวเองว่าใช่ไหม ซึ่งเรารู้สึกว่า ควรจะโอบกอดมันไว้ แล้วตามมันไป คือถ้าคุณเป็นคนที่มั่นใจก็เรื่องของคุณ แต่ฉันเป็นอย่างนี้ นี่แหละที่รู้สึกว่าเลเยอร์ของหน้ากากในการใช้ชีวิตมันจะน้อยลง แต่ถ้ามองในแง่นี้มันจะเรียกได้ไหมว่าเป็นคนมั่นใจ (หัวเราะ) คือมันสับไปสับมานะ มันมีลิมิตของคำอยู่เหมือนกัน
เรื่องการแสดงความคิดเห็นทางศิลปะล่ะ คุณมองอย่างไร หากในทางกลับกัน มีคนมองว่าการแสดงออกทางศิลปะของคนคนนั้นมันไม่มีศิลปะ
มันเรื่องของเขา เราไม่สน ก็หมายความอย่างที่บอก ทุกคนมีตัวตนของตัวเองในแง่ที่ว่าศิลปะบอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี เช่น เราจะรู้สึกว่ามันจะลำบากใจมากในการไปตัดสินภาพยนตร์อย่างออสการ์ เพราะว่าออสการ์เป็นเรื่องโหวต เป็นเรื่องปัจเจกอยู่แล้วว่าใครชอบอะไร ก็โหวตอันนั้น ไม่ต้องไปเถียงกับคนอื่น แต่ประเด็นก็คือต้องเสียเงินจำนวน 350 เหรียญฯ (ประมาณ 10,000 กว่าบาท) เพื่อที่จะได้โหวต คือจะบอกว่าการเป็นสมาชิกนี้ไม่ได้ถูกเชิญมาให้โหวต แต่ต้องเสียเงินทุกปี เพราะมันมีผลประโยชน์ของเมมเบอร์อยู่ ถ้าเราอยู่ที่อเมริกาจะได้รับเชิญเสมอเลยว่า วันนี้จะมีฉายหนัง จะได้รับเชิญไปดูหนังฟรีตามเมืองต่างๆ
ประเด็นนี้ คุณก็เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมโหวตรางวัลออสการ์
เคยมีคนโทร.มาสัมภาษณ์ว่าเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งคนไทยไม่ค่อยรู้กระบวนการว่าเป็นอย่างไร แต่เรารู้สึกว่าจะอะไรกันนักหนา แค่ออสการ์เอง ซึ่งเขาก็มีเมมเบอร์เป็นร้อยๆ คน คำถามที่เขาถามคือ ‘คุณใช่คนไทยคนแรกหรือเปล่าคะ’ Fuck off! Whatever! คือเราว่ามันดูเป็นประเด็นที่ไม่น่าสนใจ ทีไปคานส์ไม่เห็นมีคนมาสัมภาษณ์เลย ซึ่งคานส์ดู big deal กว่าเยอะ ไม่ใช่ในแง่แค่คนทำหนังอย่างเดียว ในแง่ของกระแสโลกด้วย ในการเข้าเป็นสมาชิกออสการ์กับการเข้าเป็นสมาชิกของคานส์ เหมือนฟ้ากับเหว เหมือนคนละลีกกัน แต่มันทำให้เห็นว่าสื่อเป็นทาสของอะไรบางอย่าง พอได้ไปคุยกับเพื่อนเม็กซิโก เพื่อนก็บอกว่าข่าวออสการ์ก็ดังในเม็กซิโกเหมือนกัน เม็กซิโกก็เน้นแต่ออสการ์
คำว่า ‘มึงจะอะไรกันนักกันหนากับออสการ์’ มันมีนัยอะไรหรือ
ก็มันเป็นแค่การค้าหรือการตลาด เป็นอุตสาหกรรมของเขา เป็นธุรกิจ ซึ่งโอเค เขาให้เกียรติเรา เพราะเขามองเราว่าเสียงของเรามีค่ากับอุตสาหกรรมหนัง หรือศิลปะภาพยนตร์โลก แต่ว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่จะภูมิใจถึงขนาดเป็นตัวแทนประเทศในฐานะสื่อ ซึ่งเราไม่มีคำที่ดีขนาดนั้นที่จะบอกว่าการไปออสการ์เป็น big deal
เมื่อสักครู่ คุณบอกว่า คุณไม่ค่อยพูดเรื่องเพศเหรอ
ไม่พูดจนกระทั่งมาทำเรื่อง สัตว์ประหลาด เหมือนทำงานแล้วมันเป็นตัว come out ออกมากับงานแล้วหลังจากนั้นจึงค่อยๆ ยอมรับตัวเอง ถามว่ามันเป็นกระบวนการที่ยากไหมที่จะยอมรับตัวเอง แน่นอน ในสังคมเอเชียมันมีหน้ากาก มีเลเยอร์เยอะมาก ซึ่งก็ยาก แต่มันจำเป็นต้องทำ คือโลกมันเปลี่ยนไปอีกทาง เราต้องปรับตัว จากการที่เราต้องเดินทางเยอะ ไปเมืองนอก ทำอย่างหนึ่ง กลับมาเมืองไทย ทำอีกอย่าง คือพอต้องใส่หน้ากากมันเลยเหนื่อย จำได้ว่าตอนต้นปี 2000 ได้ไปอเมริกา ถูกสัมภาษณ์เรื่องเซ็กซ์และเกย์ เรายังอ้ำอึ้งในการตอบคำถามอยู่เลย มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเรามีหน้ากาก เราเอาหน้ากากนี้ไปใช้ในสังคมที่เขาไม่ใช้กัน
ตอนนี้อยู่เมืองไทย เรามีความรู้สึกว่า หน้ากากมันก็จะเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ความตอแหลมันเริ่มน้อยลง เรารู้สึกนะ หมายความว่าสังคมโลกมันบังคับให้หน้ากากน้อยลงอยู่แล้ว อย่างการพูดเรื่องเพศอะไรอย่างนี้ เพราะทุกอย่างในโลกมันเริ่มเชื่อมโยงถึงกัน จึงเกิดการประเมินค่าของวัฒนธรรมแบบใหม่ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์
คุณกำลังมองว่า สังคมโลกทุกวันนี้บังคับให้คนต้องถอดหน้ากากมากขึ้น
ใช่ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
มันไม่ได้บังคับให้คุณใส่มากขึ้นเหรอ
ไม่ เพราะสุดท้ายแล้วคุณกำลังเปลื้องหน้ากากไปเรื่อยๆ แต่คือแน่นอนว่าคุณไม่สามารถที่จะไปแช่แข็งสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะว่ามันไม่มีอยู่จริงไง วัฒนธรรมมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันมีการปรับตลอด ไม่ว่าเราจะเซ็งกับสถานการณ์เมืองไทยขนาดไหน แต่มันก็มีการปะทะกัน ชนกันอยู่ตลอด
แล้วเราต้องดีลอย่างไรกับสถานการณ์ที่บังคับให้ต้องถอดหน้ากากอยู่ตลอด
ไม่ต้องดีล มันเป็นไปเอง การที่เราถูกกระทำเยอะๆ ในที่สุดมันก็จะวิวัฒน์ไปเอง อย่าง 10 ปีที่แล้ว ใครมาด่าเราอย่างนี้ว่า มึงไปตายซะ เราก็คงเป็นฟืนเป็นไฟมากกว่านี้
แต่กลายเป็นว่า มันจะเป็นอาการด้านชาต่อเสียงด่าไหม แล้วมันดีอย่างไร
มันอาจจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นนะ เพราะแต่ก่อนมันไม่มีช่องทางให้คนแสดงออก ทุกอย่างมันต้องสวยงาม เฟซบุ๊กมันเป็นช่องทางที่ทำให้คนได้ระบาย ได้แสดงออก อย่างมีคนแต่งชุดไทยไปงานนั้นงานนี้ แต่ในวอลล์เขาโคตรหยาบคายเลย มันก็ทำให้เห็นว่าตัวจริงของคุณเป็นแบบนี้เหรอ ซึ่งก็โอเคว่ามันเป็นโลกเสมือนเนอะ ที่ทำให้เราได้เห็นอะไร และในขณะเดียวกันมันก็แสดงตัวตนของเราออกมา ค่อยๆ โผล่ออกมา ก็หวังว่าต่อไปมันคงจะมีการชนกันมากขึ้น ในแง่ว่า มันจะทำให้เข้าใจว่าคนไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการโต้เถียงกัน ชนกัน มันก็จะ shape ความคิดไปเอง มันไม่มีทางที่จะสู้ด้วยวิธีหัวชนฝาตลอดเวลา มันจะต้องมีการสะกิด มีการท้าทายกันตลอดเวลา คือถ้าคุณอยากจะสู้แบบหัวชนฝาตลอดเวลาก็ทำให้เห็นว่าเนื้อแท้ของคุณเป็นแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะมีคนอีกเยอะที่ก็เหมือนก้อนหินที่ได้รับการขัดเกลาและ shape ให้คมขึ้น