อริยะ พนมยงค์

อริยะ พนมยงค์: ช่อง 3 จะถูกดิสรัปต์หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ผมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หรอก

เรานัดกับผู้ชายคนนี้ในเช้าวันทำงานที่การจราจรแน่นขนัด เขาคือ อริยะ พนมยงค์ ผู้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 

        เวลาที่เช้าตรู่ และการคมนาคมที่ไม่เคยสะดวกสบายในเมือง เมื่อรวมเข้ากับหน้าที่รับผิดชอบองค์กรใหญ่ที่ก่อตั้งมาแล้ว 50 ปี เราเชื่อว่าอย่างไรเสียเขาก็อาจจะมาเลตนิดหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการนัดหมายในบ้านเราที่เป็นช่วงพีกของการเดินทาง

        แต่นั่นกลับเป็นเรื่องที่เราคิดผิด เพราะเขามาถึงสถานที่ตามเวลานัดตรงเป๊ะ พร้อมกับท่าทางที่สดชื่น และรูปร่างกำยำดูหนุ่มแน่นจนแทบไม่เชื่อว่าชายคนนี้อายุ 47 ปีแล้ว เราทักทายพูดคุยกันระหว่างรอทีมช่างภาพเซตอุปกรณ์ถ่ายรูป ทั้งเรื่องของการออกกำลังกาย อาหารการกิน จนรู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของเขาก็คือ ‘เวลา’ เราจึงเข้าใจว่าทำไมเขาถึงมาพบกับเราได้โดยไม่มีความคลาดเคลื่อน และเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงตื่นเต้นเหลือเกินกับการเข้ามาบริหารงานกับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นความตื่นเต้นเหมือนกับตอนที่เราเล่นเกมที่ก่อนเริ่มต่อสู้จะมีคำพูดขึ้นมาว่า…

        READY TO FIGHT!

 

อริยะ พนมยงค์

ที่ผ่านมาคุณรับหน้าที่ดูแลองค์กรที่ทำสื่อสมัยใหม่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ LINE Thailand ซึ่งดูขัดแย้งกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่เรียกได้ว่าเป็นสื่อเก่าไปแล้ว

        ไม่แปลกหรอกที่ใครจะสงสัยว่าทำไมผมเหมือนถอยหลังเลือกกลับมาทำสถานีโทรทัศน์ (หัวเราะ) มาทำเพราะนี่คือความท้าทาย ตอนผมทำงานที่ Google หรือ LINE Thailand ตลอด 8 ปี ที่อยู่ในวงการสื่อดิจิตอลหรือธุรกิจด้านเทคโนโลยีมาตลอด ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ สิ่งหลักที่ผมจะพูดคือเรื่องของการ transformation และขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงองค์กร คือเราต้องทำลายสิ่งเก่าเพื่อปฏิรูปให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้บริหารหลายคนสนใจเรื่องนี้ สนุกกับการได้เข้ามาฟังผมบรรยายในเรื่องนี้ อยากรู้ มีความกระตือรือร้น แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมพบมาตลอด 8 ปี คือเมื่อผมลงจากเวทีแล้วทุกอย่างก็เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่มีใครนำเรื่องที่ได้ฟังกลับไปทำให้เกิดอะไรขึ้นเลย

คุณแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารในสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยการเริ่มปรับลดขนาดองค์กรทันที แต่สิ่งนี้ไม่ดูรุนแรงไปหน่อยหรือสำหรับทีมงานหลายชีวิตที่ถูกลดจำนวนไป

        พูดตรงๆ ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยอมรับลำบาก แต่ตอนนี้ธุรกิจกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จึงมีกลไกในการจัดการอยู่ไม่กี่อย่าง และต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาพร้อมกับความยากลำบาก ถ้ามันเปลี่ยนง่ายเขาคงเปลี่ยนไปตั้งนานแล้ว ผมคงไม่ต้องเข้ามาหรอก แต่ผลประกอบการของทางช่อง 3 ก็อยู่แบบทรงๆ ทรุดๆ มาหลายปี การที่เราจะเชิดหัวขึ้นได้อีกครั้งก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เบื้องต้นผมยอมรับว่าการที่เราลดต้นทุนด้วยวิธีนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เร็ว เพราะการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานาน ผมต้องแยกว่าอะไรคือกลยุทธ์ในระยะสั้น และกลยุทธ์ในระยะยาว กลยุทธ์ในระยะสั้นสำหรับผมคือในระยะเวลาหนึ่งปี กลยุทธ์ระยะยาวคือสามปี ผมไม่ได้มองไปไกลกว่านั้น เพราะในยุคนี้ถ้ามองไปไกลกว่านั้น ผมจะคิดอะไรไม่ออก 

อีกสามปีข้างหน้าสถานีโทรทัศน์ช่องหลักจะเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหนากว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ไหม 

        ไม่ใช่แค่สถานีโทรทัศน์หรอก เพราะตอนนี้สื่อสิ่งพิมพ์ก็แย่แล้ว เรียกว่าสื่อแบบดั้งเดิมตอนนี้แทบไม่มีทางออกแล้ว ย้อนหลังไปสองปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวไปค่อนข้างเยอะ เพราะว่าสิ่งที่มาแทนนั้นดีกว่าและตอบโจทย์ได้ดีกว่า สิ่งพิมพ์กว่าจะวางแผงต้องใช้เวลา เราไม่สามารถเขียนวันนี้แล้วพิมพ์ออกพรุ่งนี้ได้ ถึงทำได้ก็ช้ากว่าออนไลน์อยู่ดี

        รายการโทรทัศน์ก็โดนแบบนี้เหมือนกัน เพราะถ้าดูจากตัวเลขก็จะเห็นชัดเจน แต่โชคดีที่เรื่องของความเร็วนั้นเรายังพอสู้ได้ สิ่งที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคคือพฤติกรรมการเสพสื่อ เพราะรายการโทรทัศน์เวลาออกอากาศต้องเป๊ะ และก็จะมีกฎกติกาของสังคม แต่รายการออนไลน์คือฉันดูเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สุดท้ายถ้าลองดูดีๆ มิติที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าคุณจะดูรายการจากโทรทัศน์หรือสมาร์ตโฟน ช่วงไพรม์ไทม์ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะสุดท้ายแล้วเราก็เป็นมนุษย์ทำงาน เรามีเวลาว่างจริงๆ คือช่วงเวลาเดียวกัน เพียงแต่ว่าคุณดูหน้าจอไหน ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคสื่อจึงไม่ได้ต่างกันนัก เพียงแค่ว่าเราใช้จอไหนดูมากกว่า ถ้าเราไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเห็นว่าตรงนี้ยังมีโอกาส และนี่คือโอกาสที่ผมเห็น 

เลิกคิดเสียทีว่าจอโทรศัพท์จะมาแย่งคนดูไปจากเรา

        มันก็แย่งไปจริงๆ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราอนุญาตให้เขาแชร์ไปคือความสะดวกที่คนสามารถดูตอนไหนก็ได้เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องแยกแยะนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของพฤติกรรมการบริโภคสื่อ แต่เป็นเรื่องของเวลา เวลาที่เป็นรูปแบบของการดำรงชีวิต ถ้าคุณเป็นคนทำงาน เข้าออฟฟิศเก้าโมงเช้า แล้วก็พักตอนเที่ยง หกโมงหรือหนึ่งทุ่มกลับบ้าน คอนเทนต์ที่คุณดูก็จะเป็นช่วงพักกินข้าวหรือตอนกลางคืน รูปแบบนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ในช่วงเวลานั้นจอที่เราใช้มันคือจอโทรศัพท์มือถือ ตอนนี้สงครามที่เกิดขึ้นคือการแย่งเวลาผู้บริโภค และการแย่งเวลาไม่ใช่แค่โทรทัศน์หรือออนไลน์ แต่ทุกคนอยากได้เวลาของผู้บริโภคกันหมด 

        ผมไม่ได้มองว่าคู่แข่งของเราคือวิดีโอออนไลน์ แต่คือใครก็ตามที่แย่งเวลาของผู้บริโภคไป นี่คือสงครามของการแย่งชิงเวลา เพราะไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีเจ๋งขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่ใครก็เพิ่มให้ไม่ได้คือเวลา เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในยุคนี้ และเป็นสิ่งที่คนพยายามแข่งขันกัน

ก่อนหน้าที่จะมาทำที่กูเกิล คุณยังไม่ได้รู้สึกว่าเวลาสำคัญขนาดนี้ใช่ไหม

        ใช่ครับ เพราะว่าสมัยตอนที่ผมอยู่กูเกิล จำนวนประชากรคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เยอะเท่าวันนี้ เมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2011 ตอนผมอยู่ที่กูเกิล จำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ที่ 10 ล้านคน ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมต้องไปโน้มน้าวใจคนว่าอินเทอร์เน็ตกำลังมานะ ระวังนะ เดี๋ยวธุรกิจของคุณมันจะเปลี่ยนแปลงนะ คนก็ไม่เชื่อหรอก แล้ววันนี้เป็นไง ปรับตัวแทบไม่ทัน สิ่งนี้คือความยากขององค์กรที่อยู่มานานเจอ ตอนผมเริ่มพูดถึงดิสรัปชันมันก็สายเกินไปแล้ว มันมาอยู่ตรงหน้าประตูแล้ว บางครั้งอาจจะเข้ามาในบ้านแล้วด้วยซ้ำ   

บางคนถึงกับยอมออกไปตั้งองค์กรใหม่เลย 

        เหตุผลหนึ่งที่คนทำแบบนั้นเพราะเราจะเห็นว่าหลายองค์กรใหญ่ๆ เช่น ธนาคารเป็นตัวอย่างที่ดี เขาแยกตัวออกมาเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นเรื่องยาก สร้างใหม่ง่ายกว่า ดังนั้นจึงสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ ดึงคนใหม่เข้ามาโดยที่ไม่ต้องให้ใครไปยุ่งกับธุรกิจเดิม ปล่อยให้ธุรกิจใหม่ดำเนินไปอย่างคล่องตัว เป็นหนึ่งวิธีที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าคุณจะ transform แยกออกมาเป็นหนึ่งบริษัท ก็ปล่อยให้เขาวิ่ง แล้วเมื่อไหร่ที่เริ่มเติบโตค่อยกลับมาเชื่อมกับธุรกิจแม่ก็ได้ การอธิบายให้คนหลายพันคนเข้าใจว่าโลกใหม่มาแล้ว มันต้องเปลี่ยนไป ต้องใช้เวลาและแรงเยอะมาก คุณไปตั้งใหม่เลยดีกว่า ไม่ต้องอธิบาย แล้วก็เอาคนใหม่ไปอยู่ตรงนั้นเลย จะเห็นว่าธุรกิจใหญ่ๆ ที่เริ่มเห็นตรงนี้เขาจะใช้กลไกนี้แยกออกมาเลย เป็นวิธีที่ผมว่ามันก็เวิร์กอยู่ ถ้าเป็นธุรกิจที่แยกออกมาได้ ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ไปยุ่งกับบริษัทแม่มาก

ช่อง 3 จะทำแบบนั้นได้ไหม 

        สำหรับช่อง 3 ความยากในธุรกิจของเราคือธุรกิจใหม่จะแยกจากธุรกิจเดิมเลยไม่ได้ เพราะหัวใจหลักของเราคือคอนเทนต์ และในอนาคตก็ยังเป็นคอนเทนต์ แม้ผมจะแยกออกมามันก็จะยังเกี่ยวกับธุรกิจเดิมอยู่ มันต่างกันตรงที่ลักษณะของธุรกิจด้วย 

 

อริยะ พนมยงค์

คำว่า Content is king ก็ยังเป็นคำที่ใช้ได้ต่อไปในอนาคต

        ไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน เหมือนอย่างที่ผมบอก มันคือสิ่งที่เราบริโภคได้ทุกวัน แล้วก็มีหลายรสชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นละคร บันเทิง ข่าว ความรู้ ที่มันตอบโจทย์ของคนเราได้ 

ในศึกชิงเวลาตอนนี้ทำให้คอนเทนต์เราต้องย่นระยะลงกว่าเดิมไหม 

        นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ โอกาสยังอยู่ตรงนี้ เพราะไม่ว่าคุณทำอะไร สิ่งหนึ่งที่มีค่ามากที่สุดในตอนนี้คือคอนเทนต์ ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคยังบริโภคอยู่ได้ทุกวัน คำตอบก็คือคอนเทนต์ สมมติว่าคุณจะทำธุรกรรมทางการเงิน คุณจะกดใช้แอพพลิเคชันที่ทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้แอพฯ สำหรับสั่งอาหาร เรียกแท็กซี่ ถามว่าคุณใช้บ่อยขนาดไหน ในหนึ่งวันคุณสั่งกี่ครั้ง การกินข้าวปกติเราก็มีอยู่ 3 มื้อ แล้วตอนที่ไม่ได้สั่งอาหารเราทำอะไร ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าเวลาที่เราใช้กับบริการพวกนี้ไม่ได้เยอะ แล้วพอไม่ได้ใช้เยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะลืม ผมมาจากโลกที่ถ้าคุณไม่ได้อยู่บนหน้าแรกของโทรศัพท์มือถือคุณไม่มีความสำคัญแน่ๆ เพราะคุณจะถูกลืม เพราะหน้าถัดไปคนจะไม่ค่อยเปิดแล้ว เพราะสิ่งที่เราใช้บ่อยๆ มันต้องอยู่บนหน้าแรกนี้ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะดึงคนเข้ามาและให้เขาอยู่กับเราไปทั้งวันคือ ‘คอนเทนต์’ เท่านั้น 

แล้วคอนเทนต์ของช่อง 3 ในยุคของคุณคืออะไร 

        ทุกหมวดหมู่ แต่หัวใจหลักของเราคือละคร แต่เราก็ยังต้องปรับตัว และสิ่งที่เราต้องปรับคือทำอย่างไรให้ละครที่เราผลิตออกมาเหมาะกับวิถีของคนยุคนี้ สิ่งที่จะทำต้องสอดคล้องกับยุคสมัย เช่น เวลาพูดถึง LGBT ก็จะมีความยากกว่าเพราะรายการโทรทัศน์เป็นกลุ่มผู้ชมที่มีอายุ บางครั้งเราต้องทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกว่าแบบนี้เหมาะสมกับเขาไหม หรือเหมาะกับชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ด้วย ผมแค่ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความชัดเจนว่าสิ่งนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สมัยก่อนไม่ค่อยกล้าพูด แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาและเป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าดูละครเรื่อง ‘ซ่อนเงารัก’จะเห็นว่าเราสามารถทำเรื่องของคน LGBT ที่เหมาะกับละครช่อง 3 ที่ไม่ใช่การจูบปล้ำกันแบบนั้นได้ แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็น LGBT อยู่แทบทั้งเรื่องเลย ละครจึงเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่สำคัญ   

        ส่วนที่สองคือสิ่งที่ช่อง 3 ทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือหมวดหมู่ของข่าว สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งโจทย์ไว้คือ ผมกลับมาตั้งคำถามว่าบทบาทของสื่อและบทบาทของเราคืออะไร ผมไม่ได้อยากเป็นแค่สื่อ ผมอยากให้ช่องเราเป็นที่พึ่งได้ อย่างเช่น ช่วงนี้มีทั้ง PM 2.5 ทั้ง COVID-19 เกิดคำถามเยอะแยะมากมายตอนนี้ และสิ่งที่ผมเห็นในโลกออนไลน์คือ เรื่องพวกนี้ขึ้นมาเต็มหน้าฟีดเลย รวมถึงข่าวปลอมทั้งหลายด้วย คำถามง่ายๆ คือ แล้วความเป็นจริงคืออะไร นี่คือปัญหาหนึ่งที่โลกออนไลน์ยังแก้ไขตัวเองไม่ได้ คำถามที่ตามมาคือ ข้อเท็จจริงคืออะไร ในฐานะที่เราเป็นช่อง 3 นี่คือสิ่งที่เราอยากเป็น เราต้องการเป็นตัวกลางที่สามารถเป็นที่พึ่งได้ และให้คำตอบได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริงของสิ่งนั้น เพราะถ้าข่าวออกมาจากโทรทัศน์เราไม่สามารถโกหกได้ เราต้องเช็กมาให้เรียบร้อย ต้องสามารถบอกสังคมและประชาชนได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง สิ่งไหนคือสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ และมันคือสิ่งที่เราเคยเป็น เหมือนในยุคสมัยของ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่มีอะไรทุกคนก็วิ่งเข้าหา มีเหตุการณ์น้ำท่วมหรืออะไรทุกคนก็วิ่งมาหาหมด เราเคยเป็นที่พึ่งให้เขาได้ นี่คือจุดยืนที่เราต้องการกลับมาให้ได้ และทำอย่างไรให้เราเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เหมือนเดิม  

คุณบอกว่าจะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ เราสามารถเป็นเหมือนเพจต่างๆ ที่เขาซัดกันตรงๆ เลยได้ไหม เพราะเราเป็นองค์กรของมหาชน มันมีข้อจำกัดที่ทำให้ไปไม่ได้หรือเปล่า

        ผมคิดว่ามันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะต้องดุเดือด การเป็นที่พึ่งคือการที่เราให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อเขา ยกตัวอย่างเรื่องไวรัส เรื่องฝุ่น หรือเรื่องอะไรต่อมิอะไร ก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องรุนแรง จริงอยู่ที่ว่าความรุนแรงคือสิ่งที่จะดึงดูดคน แต่สิ่งที่คนต้องการจริงๆ ก็คือ เขาอยากรู้ว่าผมต้องทำอย่างไร เราสามารถรวบรวมสิ่งที่เป็นความจริงและช่วยเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ผมว่ายังมีพื้นที่ให้สื่อหากลไกในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องสามารถให้ประโยชน์กับสังคมได้ เพราะถ้าทุกคนรุนแรงกันหมด สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็จะเหมือนโลกที่ผมเคยอยู่ ตอนที่สื่อเดิมโดนดิสรัปต์ คุณก็ต้องไปพึ่งออนไลน์ คราวนี้พอคุณอยู่ในโลกออนไลน์ คุณไม่ได้เผชิญกับสื่อแค่ไม่กี่สำนักอีกแล้วนะ คุณจะเจอกับคนทำสื่อจำนวนมหาศาล ใครๆ ก็เป็นสื่อขึ้นมาได้ ใครๆ ก็ตั้งเพจขึ้นมาได้ คุณกำลังแข่งกับคนจำนวนมหาศาล แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ทุกคนพยามยามชิงเวลาและดึงดูดความสนใจของคนที่อยู่ในโลกออนไลน์  

        สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือการที่บอกว่าคุณต้องเพิ่มยอดวิวขึ้นมาให้ได้ เพราะอย่าลืมว่าโมเดลของออนไลน์คือถ้าคุณอยากได้ค่าโฆษณา คุณต้องมียอดวิวที่สูง กลายเป็นว่าทุกคนต้องปั่นยอดวิว จนบางครั้งก็ลืมไปว่าข้อมูลข่าวสารที่เราจะเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคต้องเป็นสิ่งที่มีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้เรื่องของคุณภาพกลายเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ และที่เหนือกว่านั้นคือต้องปั่นยอดวิวให้ได้ ดังนั้น เราจะเห็นพวกเฟกนิวส์หรือเฮดไลน์ที่แรงๆ เพราะถ้าไม่แรงคนไม่กดดู นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่มากับโลกออนไลน์ มันคืองูกินหาง คุณเลยต้องสร้างความดุเดือด ความรุนแรง หรือเฮดไลน์ที่รุนแรงจนคนเห็นแล้วต้องกดเข้าไปอ่าน พอได้ยอดวิวก็ได้โฆษณาแล้วก็ได้เงินเข้ามา นี่จึงเป็นความท้าทายว่าเราจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นคุณภาพ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องอยู่ให้ได้ในเชิงธุรกิจ 

มีโอกาสไหมที่งูพวกนั้นจะกินตัวเองจนหมด แล้วก็หายไป  

        ผมมองว่าเฟกนิวส์เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเดียว ในวันนี้เราก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาหรือประเทศใหญ่ๆ ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าคุณเข้าใจระบบอัลกอริทึมหรือการประเมินผลของระบบออนไลน์พวกนี้ เมื่อคุณใช้ คุณบิดคอนเทนต์เพื่อให้อัลกอริทึมเห็นคุณ ก็จะมีคนที่ใช้วิธีแบบเดียวกัน ดังนั้น ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่โลกออฟไลน์ไม่มีเหมือนโลกออนไลน์คือ ถ้าเราเป็นเพื่อนกัน ถ้าเราสนใจเรื่องเดียวกัน มันจะประเมินผลในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราชอบ ไปอยู่กับคนที่คล้ายๆ กับเรา เหมือนกับผมที่อยู่ในบทบาทของสื่อ ตรงนี้ก็มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือคุณจะได้เห็นโลกแค่ซีกหนึ่งที่มันเป็นโลกที่เหมือนคุณ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นที่อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลือกตั้ง เรื่องนั้นเรื่องนี้ กลายเป็นว่าเราเห็นโลกที่เหมือนเรา แต่มันไม่ใช่โลกทั้งหมด มันก็มีความอันตราย ซึ่งเราก็ต้องระวังและเข้าใจ ผมจะบอกเสมอว่า วันนี้คุณอยู่ในยุคที่คุณต้องเข้าใจเทคโนโลยี ผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องเป็นคนสร้างระบบ เป็นวิศวกร แต่คุณต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้มันเป็นข้อมูล คุณต้องใช้มันเป็นเครื่องมือ อย่าให้เครื่องมือใช้คุณ

 

อริยะ พนมยงค์

สื่อใหญ่ในบ้านเราทุกวันนี้ เทียบเท่ากับสื่อที่อเมริกาในช่วงเวลาไหน เราตามเขาทันหรือยัง 

        ผมคิดว่าเรายังตามหลังเขาอยู่ประมาณห้าปี สำหรับประเทศไทย บางอย่างผมก็ไม่อยากให้เร็วเกิน แต่ในบางมุมเราก็เริ่มตามเขาไปติดๆ แล้ว เช่น การถูกดิสรัปต์ ในอเมริกาหรือยุโรป ต้องบอกว่าการปักรูปแบบธุรกิจของเขามีความง่ายกว่าและแตกต่างจากประเทศไทยตรงที่ว่ากำลังซื้อกำลังจ่ายของประเทศที่พัฒนานั้นแตกต่างจากบ้านเรา ที่ผมยกประเด็นนี้มาเพราะว่าถ้าไปดูรายการโทรทัศน์ในประเทศที่เขาพัฒนา เขาก็จะมีบริการของเขาเอง เขาจะมี Control Common โปรแกรมสำหรับดูรายการของตัวเอง ถ้าคุณอยากดูคุณก็ต้องจ่ายรายเดือน เขามีรายได้จากสมาชิกตรงนี้มากน้อยแค่ไหนผมบอกไม่ได้ แต่ที่เขาทำแบบนี้ได้เพราะคนมีกำลังจ่าย แล้วเขาอยู่ในประเทศที่คนพร้อมที่จะจ่าย แต่ถ้าเรามาดูในประเทศเรา ใครจะจ่าย เราติดนิสัยว่าทุกอย่างต้องฟรี อะไรที่เป็นบริการรายเดือน จะจ่ายเงินล่วงหน้าหรือจ่ายทีหลังจะเป็นสิ่งที่ไม่นิยม คนไทยติดของฟรี จึงทำให้สื่อกลับตัวลำบากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ถ้าผมบอกว่าผมไม่ลงในยูทูบเลย แล้วคุณจะดูเหรอ คุณจะยอมจ่ายรายเดือนเหรอ คุณไม่รอดแน่นอนในประเทศไทย แต่ปัญหาที่เราจะแก้เป็นการแก้ปัญหาทางรูปแบบธุรกิจ เพราะอาวุธเราไม่เท่าเทียมกัน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภค กำลังซื้อ กำลังจ่ายของผู้บริโภคแตกต่างกัน 

ทำไมในบ้านเรา Netflix ถึงยังอยู่ได้ แต่ถ้ามองคู่แข่งหินๆ อย่าง YouTube Premium หรือ Apple TV เอง กระแสกลับแผ่วมากๆ  

        ต้องแยกสองกลุ่ม เราจะมีบริการแบบ YouTube หรือ LINE TV กับแบบบริการที่คิดค่าชมเป็นรายเดือน การที่เราดู Netflix แต่คนอีก 68 ล้านคนเขาไม่ได้ดูด้วย จำนวนผู้ใช้หรือคนที่กำลังจ่ายรายเดือนมีไม่เยอะ รวมๆ กันแล้วทุกเจ้าที่คิดค่าบริการรายเดือนมีลูกค้าไม่เกินหนึ่งล้านคน เพียงแค่เราจ่ายได้ แต่คนส่วนใหญ่อีก 90% ไม่สามารถจ่ายค่าบริการรายเดือนได้  ดังนั้น บริการรายเดือนเหล่านี้จะไม่ไปกระทบบริการที่เป็น Pay TV หรือรายการโทรทัศน์ที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือน แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ให้บริการแบบไหนในประเทศไทย สุดท้ายสิ่งที่คุณต้องมีคือคอนเทนต์ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือกลุ่มคนหรือประชาชนนั้นเขาเสพคอนเทนต์ที่หลากหลาย และ 80-90% ของคนไทย สิ่งที่พวกเขาบริโภคคือคอนเทนต์ไทย ภาษาไทย ละครไทย ดังนั้น สิ่งนี้คือตลาดใหญ่ที่สุด 

ทำไมทุกคนมารุมเปิดให้บริการนี้ในช่วงใกล้เคียงกัน เหมือนว่าเขารอจังหวะอะไรบางอย่างหรือเปล่า 

        เพราะว่าตอนนี้ประชากรในประเทศไทยหรือประชากรโลกเข้าถึงโลกออนไลน์กันได้เกือบทั้งนั้น บริการเหล่านี้จึงเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะมาก ว่าทำไมเราเน้นคอนเทนต์ดิจิตอล ทำไมเราเน้นเรื่องอินเทอร์เน็ตมือถือ เพราะเราเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยเองก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีการแข่งขันที่สูง สิ่งหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยรู้คือ ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ เป็นหนึ่งในตลาดวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดของโลกในการบริโภคคอนเทนต์ 

        ผมมีคำอธิบายหนึ่งซึ่งถูกไม่ถูกไม่รู้ คือคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แล้วเขาจะเสพอะไร สื่อที่ตอบโจทย์คนไทยได้ดีที่สุดคือภาพเคลื่อนไหว ส่วนประเทศอื่นๆ เขาก็จะอ่านหนังสือกันเยอะ แต่เราจะเน้นการฟังและการดู

ยิ่งกระชับยิ่งสั้นเท่าไหร่ ก็จะไม่ค่อยถูกเมิน 

        แต่ก็ขึ้นอยู่กับหมวดหมู่ด้วย ถ้าเป็นละครคนจะดู แต่ถ้าเป็นหมวดหมู่ข่าวค่าเฉลี่ยการดูอยู่ที่ 3 นาทีเท่านั้น นี่คือความยาก จึงเป็นเหตุผลที่ต้องดึงความสนใจของคนโดยใช้อะไรที่บางครั้งดูรุนแรง หรือเฮดไลน์ที่มันกระแทกหรือคลิกเบต พอกดเข้าไปดู คนก็จะดูแค่ 3 นาที ตอนนี้ความอดทนและสมาธิของคนมันสั้น อะไรที่ยาวเกินไปต้องดีจริงๆ เพราะคนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในระยะเวลาที่สั้นที่สุด    

คุณอยากให้ละครเป็นจุดแข็งของช่อง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าอย่างไรก็ถูกคนอื่นมาแย่งแอร์ไทม์จากคนดูอยู่ดี 

        ความท้าทายในเรื่องนี้คือ ถ้าเป็นสมัยก่อนแต่ละบ้านมีหนึ่งจอโทรทัศน์แล้วดูกันทั้งครอบครัว แต่วันนี้คนมีหลายๆ จอ เด็กก็เลือกได้ว่าเขาอยากดูอะไร ผู้ใหญ่ก็เลือกได้ว่าอยากดูอะไร จริตของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจและต้องปรับเข้ากับโลกสมัยนี้ว่าเราต้องผลิตเนื้อหา ละครที่ตอบโจทย์ให้คนแต่ละกลุ่ม

แต่เรามองว่าละครของช่อง 3 เองในแต่ละปีมีน้อยเรื่องมากที่จะดังระดับดึงคนให้รีบกลับมาบ้านเพื่อเปิดดูได้  

        ผมคิดว่าในหนึ่งปีจะมีละครที่ปังจริงๆ แค่สี่ห้าเรื่องเท่านั้น คิดง่ายๆ ว่าไตรมาสละเรื่อง ฉายอยู่สองเดือนเศษๆ แต่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตอนที่ผมทำโลกออนไลน์ ผมเริ่มเข้าใจว่าการทำคอนเทนต์ดีๆ ต้องใช้เงินเยอะ คุณจะทำคอนเทนต์ออนไลน์หรือฉายลงรายการโทรทัศน์ก็ตาม ต้นทุนมันไม่ได้ต่างกันมากเลย และวันนี้จะเห็นว่าเราเข้าสู่ยุค Original Content ทุกคนก็อยากได้ความออริจินอล เพราะสุดท้ายทุกเจ้าที่อยู่บนโลกออนไลน์ เขาก็ต้องอยู่ให้ได้ ต้องสร้างความแตกต่าง เมื่อทุกคนสามารถซื้อคอนเทนต์จากคนทำได้ ก็อยู่ที่ว่าใครมีเงินมากกว่ากัน ใครจะได้ก่อน กับอีกวิธีหนึ่งคือเขาพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการสร้างออริจินอลซึ่งต้องดูจากเขาเท่านั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่หนักมาก   

 

อริยะ พนมยงค์

สิ่งหนึ่งที่เรื่องของฟรีทีวีหนีไม่ได้คือการตัดเข้าสู่ช่วงโฆษณา คุณปรับตัวกับรูปแบบนี้อย่างไร 

        รายได้ของเรามาจากแบรนด์ มาจากการขายโฆษณา ถ้ามองในฐานะที่เป็นสื่อ เราเป็นช่องทางในการโฆษณา สื่อโทรทัศน์ไม่ได้เปลี่ยนไปจากหลายสิบปีที่แล้ว คุณมาลงโฆษณากัน 15 วินาที 30 วินาที เหมือนเดิม ซึ่งก็ต้องยอมรับ แต่สำหรับนักการตลาดเขาก็จะมีความต้องการอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ขนาดผมอยู่ในวงการเทคโนโลยีมาก่อน เขาก็ยังถามผมว่าปีนี้มีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอไหม  

        แต่ตอนนี้เราผ่านยุคที่ลงโฆษณาทางโทรทัศน์แล้วยอดขายพุ่งกระฉูดไปแล้ว และเศรษฐกิจช่วงนี้ก็ทำให้ขายยากขึ้นด้วย ดังนั้น ในวันนี้ประสิทธิภาพของการโฆษณาจะเป็นสิ่งที่แบรนด์จะต้องดูว่าวันนี้ผมลงค่าโฆษณาไปหนึ่งร้อยบาท ผมจะได้อะไรกลับมา เราเป็นสื่อดั้งเดิมเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ แต่อีกโจทย์ใหม่ที่ผมวางไว้คือทำอย่างไรให้สื่อเดิมของเรากลายเป็นสื่อใหม่ ความหมายของสื่อใหม่คือจะทำอย่างไรให้เราเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพได้ด้วย คำว่าประสิทธิภาพ ถ้ามองในมุมมองของแบรนด์หรือคนที่มาลงโฆษณากับเรา สุดท้ายแล้วเขาอยากได้อะไร เขาอยากได้ยอดขาย เขาอยากได้จำนวนคนที่วิ่งไปที่ร้านค้าของเขา หรือเขาอยากได้อะไรที่มันจะช่วยธุรกิจของเขา เราจะทำอย่างไรที่จะใช้หน้าจอของสื่อโทรทัศน์ที่จะตอบความต้องการนี้ได้ แต่ผมไม่ได้มองแค่หน้าจอโทรทัศน์เท่านั้น ผมมองทุกหน้าจอของเราไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือโทรศัพท์มือถือ เพราะนี่คือสิ่งหนึ่งที่เราพยายามปรับตัว ทำอย่างไรให้สื่อทั้งหมดของเรา connect brand ไปถึงผู้บริโภค ช่อง 3 จึงมีแคมเปญที่ทดลองเมื่อสิ้นปีที่แล้วที่ทำกับ 7-Eleven คือการขึ้น QR code หน้าจอช่วงเบรกละคร ถ้าคุณเอาโทรศัพท์ขึ้นมาสแกนก็จะได้ดีลพิเศษ ได้ส่วนลดไปซื้อของ เป็นแอ็กชันใหม่ที่เกิดขึ้นจากการชมรายการทางโทรทัศน์

คุณจะเซตให้บุคลิกของช่อง 3 ในยุคนี้เป็นแบบไหน 

        ด้วยความเป็นช่อง 3 ผมต้องยอมรับว่ามิติของเอนเตอร์เทนเมนต์ เพราะในวงการบันเทิงเป็นมิติที่สำคัญที่สุดไม่ว่าอะไรจะผ่านหน้าจอ เราต้องยึดกับความบันเทิงไว้ เพราะเมื่อผมกลับไปมองผู้บริโภค ปีนี้เป็นปีที่เขาเครียดมากทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ไวรัส และเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งมีเรื่องเครียดอยู่เยอะ ผมคิดว่าหน้าที่อย่างหนึ่งของเราคือการมอบความบันเทิงให้กับเขา ทำให้เขาผ่อนคลาย แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องมีสาระ นั่นก็คือบทบาทของข่าว ดังนั้น เราต้องมีสองสี แต่โทนหลักของก็คือความบันเทิง เพราะสิ่งนี้คือหัวใจหลักของธุรกิจเรา 

สถานการณ์โลกตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ในฐานะคนทำสื่อ คุณคาดการณ์ความเป็นไปของโลกในช่วงต่อไปอย่างไร  

        ผมจำได้เลยว่าเรื่องของฝุ่นเข้ามา ไฟป่าเกิดขึ้น ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของ COVID-19 ในฐานะที่เป็นสื่อเราต้องช่วยประชาชนให้ใจเย็นขึ้น ผมไม่ได้บอกให้ประชาชนเลิกวิตกกังวลกับไวรัสนะ คุณวิตกน่ะถูกแล้ว แต่เราต้องรับข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ไม่อย่างนั้นคนก็จะยิ่งนอยด์ไปกันใหญ่ พากันออกไปกักตุนน้ำ กักตุนอาหาร ซึ่งที่เขาแห่กันไปกักตุนก็เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรต่อ ที่บ้านผมตอนแรกเขาก็เป็นกัน เขาต้องการคนที่เข้ามาบอกว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้ แล้วเราต้องทำตัวแบบไหน เราจะยังเดินทางได้อยู่ไหม แล้วต้องทำอย่างไร วันก่อนที่ผมเดินทางพบว่ามีคนใส่ผ้าปิดจมูกกันทั้งนั้น ดังนั้น การให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับวันนี้จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะบนโลกนี้ที่ถ้าใครบางคนกดโพสต์ข้อมูลลงไปแค่ปุ่มเดียวก็มีคนเชื่อตามกันไปหมดเลย 

        โดยเฉพาะเวลาที่คนบอกว่าข้อมูลนี้เชื่อได้เพราะคนวงในบอกมา ผมก็ถามเขาว่ารู้ได้ไง เขาก็บอกแค่ว่าข่าวนี้ไว้ใจได้ นี่คือคำตอบเขา เพราะทุกคนก็จะเชื่อแบบนี้ว่าคำตอบมันไว้ใจได้ และคำตอบที่มั่นใจได้นี่เอามาจากไหน เราลืมต้นตอมันไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมว่าน่าเป็นห่วงในยุคนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าที่มาจริงๆ แล้วมาจากใคร  

ในต่างประเทศมีสถานีโทรทัศน์ไหนที่เจอวิกฤตคล้ายกับช่อง 3 บ้างไหม แล้วเขาผ่านมาได้อย่างไร 

        ตอนที่ผมคุยว่าจะมาอยู่ช่อง 3 ผมก็หาข้อมูลว่าในโลกนี้มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนที่เอาตัวรอดได้บ้าง ผมหาแล้วหาอีกก็ไม่เจอ เพราะอย่างที่บอก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับช่องทีวีทั่วโลกในเวลาใกล้ๆ กัน มันคือสิ่งที่ทุกคนเจอ และสื่อทั่วโลกกำลังแก้โจทย์นี้อยู่ เลยยังไม่มีกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่าใครกลับมาและลอยตัวได้แล้ว แต่มีข้อมูลหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าชื่นชมซึ่งไม่ได้เหมือนเราเสียทีเดียวคือสตูดิโอดิสนีย์ ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ซบเซา และเขาอยู่มายาวนานมาก จะบอกว่าเขามาจากโลกเก่าก็ได้ แต่วันนี้กลายเป็นว่าเขาตีกลับ แล้วเขาก็มีโจทย์ชัดเจนว่าเขาจะสู้ ตอนนี้เขากำลังสู้กับ Netflix เขาก็เริ่มดึงคอนเทนต์ของเขาขึ้นมา ด้วยการเปิดตัวดิสนีย์ พลัส ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่าดิสนีย์คือเจ้าดั้งเดิม มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเราบอกไม่ได้ แต่วันนี้เราเริ่มเห็นว่าบริษัทที่อยู่มานานก็ไม่ยอมแล้ว เขาลงมาสู้กับบริษัทใหม่ๆ ด้วย และผมคิดว่าช่อง 3 ก็จะสู้ด้วย จะดิสรัปต์หรือไม่ดิสรัปต์ ผมไม่รู้ แต่ผมไม่ยอมง่ายๆ หรอก

ทำไมคุณยังต้องการความท้าทาย ทั้งๆ ที่จริงคุณก็น่าจะอยู่แบบลอยตัวได้แล้ว 

        จากใจจริงผมอยากช่วยองค์กรไทย ผมมีความรู้สึกว่าการที่เราอยู่บริษัทต่างประเทศมานานพอสมควร เราจะปล่อยให้องค์กรในประเทศไทยถูกดิสรัปต์อย่างเดียวก็ไม่ใช่ ผมอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงถูกดิสรัปต์ แต่ถามว่าเราจะแก้เกมกลับได้ไหม ต้องทำใจว่าธุรกิจอะไรก็ตามที่โดนดิสรัปต์ สุดท้ายก็อาจจะสูญหาย อุตสาหกรรมหนึ่งที่มันทรุดไปมันไม่ได้มีผลกระทบแค่กับเรื่องขององค์กรนะ แต่ทั้งอุตสาหกรรมนั้นที่แบกคนอีกเท่าไหร่ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่มันมาแทน บอกตรงๆ มันไม่ใช่บริษัทของคนไทย ผมพูดเลยว่าเราทั้งหมดเป็นผู้บริโภคที่ดี ใช้บริการพวกนี้อยู่ทุกวัน แต่ผมอยากให้เรามองอีกมิติหนึ่งว่า พวกคุณเข้าใจไหมว่าเบื้องหลังของบริการพวกนี้คืออะไร เราควรจะใช้บริการพวกนี้ยังไงให้มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่ความบันเทิงของเราไปวันๆ แต่ให้มีประโยชน์กับธุรกิจกับประเทศของเราด้วย