อาจินต์ ทองอยู่คง

อาจินต์ ทองอยู่คง | ฟุตบอลสะท้อนโลก กีฬาลูกหนังกับเบื้องลึกเบื้องหลังต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง

ในขณะที่ฟุตบอลโลก 2018 ก็เตะกันไป ใครชนะใครแพ้ก็ปล่อยเขาเถอะ a day BULLETIN ชวน อาจารย์อาจินต์ ทองอยู่คง แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลและวัฒนธรรมร่วมสมัยมาอย่างต่อเนื่อง มานั่งคุยกันเพื่อร่วมค้นหาเบื้องลึกเบื้องหลังของกีฬาที่ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง

     และช่วยอธิบายให้เราฟังถึงความเป็นมหกรรมระดับโลกของทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ 911 และสงครามที่ซีเรีย ฯลฯ เมื่อนำมากางอยู่บนระนาบเดียวกัน ลองเปรียบเทียบผ่านกรอบแนวความคิดและทฤษฎีของนักสังคมศาสตร์ เราจะเห็นรูปแบบบางอย่างที่น่าสนใจของวิวัฒนาการทางสังคม มหกรรมระดับโลกเริ่มต้นขึ้นและจบลง วนเวียนไปครั้งแล้วครั้งเล่า มาแล้วก็ไป เพื่อให้พวกเราได้มารวมตัวกันและรู้สึกว่าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกัน

     บทสนทนานี้จะช่วยให้เราทำความเข้าใจและตอบคำถามที่ท้าทาย ว่าทำไมมันถึงสนุกนักหนา ทำไมเราต้องถ่างตาอยู่กันดึกดื่น ทำไมเราต้องแชร์ ทวีต และพร่ำเพ้อเกี่ยวกับมัน และทำไมมันถึงดูดเงิน ดูดเวลา และดูดความสนใจจากเราไปได้เสมอๆ

อาจินต์ ทองอยู่คง

 

ตลกดีที่เมื่อเดือนก่อนเราเพิ่งกลัวว่าจะเกิดสงครามโลกกัน ผ่านมาแป๊บเดียวทุกคนก็หันมาเตะบอลโลกกันแล้ว

     ช่วงที่ผ่านมามีข้อสงสัยทำนองว่าความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีชื่อของอเมริกาและรัสเซียไปเอี่ยวแบบนี้แล้วฟุตบอลโลกจะเล่นได้ไหม เล่นได้สิ

     อย่างแรก สงครามที่ทำท่าจะเกิดมันไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้น มีใครจะลุยกับรัสเซียเหรอ ไม่มีหรอก เต็มที่ก็ไปรบกันที่ซีเรียเหมือนเดิม แล้วที่นั่นก็เสียหายไป สงครามของโลกปัจจุบันไม่ได้ขนคนไปไล่ยิงกัน อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยึดโยงกันแน่นหนาจนแทบไม่เปิดช่องให้สงครามได้เกิดขึ้น

     อีกอย่างคือ ฟุตบอลโลกทุกวันนี้มันได้ขยับตัวเองขึ้นไปเป็นมหกรรมระดับโลก ศัพท์ทางสังคมศาสตร์เรียกว่า Mega Event คือเหตุการณ์ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ แม้เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจกับมันมาก่อน ยกตัวอย่างคนทั่วไปซึ่งไม่เคยดูฟุตบอล ไม่รู้จักชื่อนักบอลมาก่อน แต่พอใกล้ถึงรอบชิงฟุตบอลโลก ก็ค่อยๆ เริ่มหันมาสนใจติดตาม เพราะว่าทุกคนในสังคมพูดถึง นี่คือความหมายของคำว่า Mega Event ถ้าไม่ใช่ในวงการกีฬา ผมว่า Mega Event ก็เช่นเหตุการณ์แบบ 911 คือมันเป็นทุกอย่างที่ส่งผลต่อทั้งโลก มองในเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฟุตบอลโลกได้รับความนิยมสูงกว่าโอลิมปิกด้วยซ้ำ ทั้งที่โอลิมปิกเองก็มีฟุตบอล ดังนั้น มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ฟุตบอลโลกจะยกเลิก เพราะทุกวันนี้มันยึดโยงกันแน่นหนาเกินกว่าจะแก้แล้ว

     แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ที่เคยมีบอยคอตก็อย่างโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1980 สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ ณ ขณะนั้นมีเหตุขัดแย้งระดับโลกคือ โซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน (Soviet–Afghan War) ผลที่ตามมาคือประเทศเสรีนิยม 66 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมประเทศไทย ก็บอยคอตไม่เข้าร่วมการแข่งขัน ผลที่ออกมาคือโอลิมปิกครั้งนั้นขาดทุน เจ๊งไม่เป็นท่า เพราะลงทุนไปเยอะในเรื่องสาธารณูประโภค ถนน รถไฟ รวมทั้งสนามใหม่ แต่ยอดผู้ชมการถ่ายทอดสดต่ำกว่าเป้ามาก

     สี่ปีต่อมาเหมือนแกล้งกัน เพราะเจ้าภาพคืออเมริกา ไปแข่งที่ลอสแองเจลิส แน่นอน โซเวียตต้องแบนคืนพร้อมด้วย 16 ชาติสังคมนิยม มีการประกาศก่อนเริ่มการแข่งขันแค่ 3 เดือนเท่านั้น การบอยคอตตอนนั้นปลุกกระแสชาตินิยมในสหรัฐฯ ขึ้นมาอย่างรุนแรง คนอเมริกันออกมาชมการแข่งขัน ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่จนเกิดเรื่องเหลือเชื่อ เพราะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่โอลิมปิกจัดการแข่งขันมาตั้งแต่ 1932 ที่เจ้าภาพได้กำไรจากการจัดการแข่งขัน

     จากตัวอย่างที่ยกมา ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า โลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด มันเป็นตัวนำเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันมันต่างไปหมดแล้ว โลกสังคมนิยมและเสรีนิยมไม่ได้หันหลังให้กันเหมือนอดีต ล้วนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เช่นกันกับตัวธุรกิจฟุตบอลหรืออุตสาหกรรมกีฬาเอง มันใหญ่และแพงเกินกว่าจะยกเลิก เม็ดเงินมันสูงมาก ยิ่งความเห็นว่าอเมริกาแกล้งตกรอบไม่ไปฟุตบอลโลกเพราะรัสเซียจัด มันตลกมากๆ ไม่จริงหรอก

 

แล้วอะไรคือสิ่งน่าจับตามองในฟุตบอลโลกครั้งนี้

     หลายเรื่อง อย่างแรกก็ผลการแข่งขัน ยังไงก็เป็นสิ่งแรกที่คนสนใจ ใครจะเป็นแชมป์โลก ฟุตบอลในสนามพัฒนาไปขนาดไหน แล้วใครจะเป็นดาวเด่นขึ้นมา เรื่องแบบนี้เป็นสีสันที่ขาดไม่ได้ เรื่องนอกสนามก็เช่นกัน ระยะหลังเวลาดูฟุตบอล ผมสนใจเหตุการณ์รอบสนามมากกว่า เกมที่รัสเซียมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง เริ่มจากกลุ่มฮูลิแกนอันธพาลลูกหนัง รัสเซียขึ้นชื่ออย่างมากเรื่องนี้ มักจะมีการก่อเหตุรุนแรงอยู่บ่อยครั้งซึ่งมันไม่ได้เกิดเพราะผิดใจกันมาก่อน แต่เป็นการประกาศศักดา โชว์ศักยภาพ

     เช่นกันกับปัญหาเหยียดผิวอีกประเด็นใหญ่ที่แฟนบอลรัสเซียแก้ไม่หาย แม้แต่ผู้เล่นผิวสีในทีมที่ตัวเองเชียร์ก็ไม่รอด ยังเห็นข่าวออกมาเป็นระยะ ทั้งร้องเพลงล้อเลียน โยนกล้วยบ้าง เรื่องแบบนี้น่าสนใจว่ารัฐบาลและฝ่ายจัดการแข่งขันจะแก้ไขหรือป้องกันได้ดีขนาดไหน เรื่องนี้มีแน่ๆ เพราะเป็นธรรมชาติของพวกเขา ซึ่งรัสเซียเองก็ห่างหายจากการจัดรายการใหญ่ต่างๆ มานาน ความไม่สากลน่าจะยังมีอยู่

     แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ภาพจะออกมาดูดี ด้วยความเป็นรัสเซียแบบที่เราได้ยินมาตลอด “โหดสัสรัสเซีย” เจ้าหน้าที่จะทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยไปได้ ซึ่งวก็มีหลายวิธี ทั้งมาตรการดูแลที่เข้มงวดมากในสนาม ชนิดตำรวจไปยืนเฝ้าตลอด

     เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือความสนุก หากดูแลเข้มงวดมากไป ความสนุกก็ลดหายไป เหมือนฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่ฝรั่งเศส 2 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นบรรยากาศเครียดมาก เพราะกังวลกับการก่อการร้าย การจัดการแข่งขันออกมาเข้มงวดมาก แต่เอาจริงๆ นะผมยังนึกไม่ออกว่าใครจะกล้ามาทำอะไรที่รัสเซีย นึกไปไกลกว่านั้น ก็ไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำว่าประเทศนี้มีก่อการร้าย ผมไม่รู้สึกว่ารัสเซียเป็นดินแดนสนธยาอะไร โอเคพวกเขาเป็นสังคมนิยมแต่ก็มีบทบาทกับสังคมและเศรษฐกิจโลกมาตลอด คนไปเที่ยวกันได้ไม่ยาก

     พูดได้เต็มปากว่าไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบโบราณ แถมบางเรื่องบางประเด็นยังเป็นผู้นำของโลกอีกต่างหาก ดังนั้น มุมการเปรียบเทียบกับเสรีนิยมคงไม่มี เพราะเอาเข้าจริงรัสเซียก็เสรีนิยมเช่นกัน ไม่เหมือนตอนที่จีนจัดโอลิมปิก 2008 ขณะนั้นจีนเป็นดินแดนอารยธรรมกว้างใหญ่ ไม่ได้เปิดตัวต่อสาธารณะมากนัก ไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกมาก่อน ยังเต็มไปด้วยความลับที่ภายนอกยังสงสัยไปหมด

     ผมเชื่อว่ารัสเซียจะใช้เวทีฟุตบอลโลกในการสื่อสารออกมาถึงแง่มุมที่เขาอยากให้โลกได้รู้จัก ฟุตบอลโลกจึงเป็นโอกาสดีที่จะแสดงให้เห็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึงแถมไม่มีข้อมูลมากนัก น่าติดตามว่าจะโชว์อะไร เหมือนบราซิลมีแฟนโซนมากมายริมชายหาด เยอรมันมีเทศกาลเบียร์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเยอรมันที่ใครเข้าใจว่ามากระเบียบเอาจริงเอาจัง จริงๆ แล้วเป็นพวก Work Hard, Play Hard ทำให้หลังฟุตบอลโลก 2014 ภาพของอินทรีเหล็กเป็นมิตรมากขึ้น รัสเซียก็คงหวังเช่นกัน

     และผมก็เชื่อว่ารัสเซียได้กำไรจากการจัดฟุตบอลโลก ต้องเข้าใจว่าฟุตบอลเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ดังนั้นการจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหรือมหกรรมกีฬาแบบนี้ก็ควรให้คนรวยจัดไป ไม่เช่นนั้นชาติที่เป็นเจ้าภาพอาจเศรษฐกิจล้มไปเลยก็ได้ เหมือนบราซิลตอนฟุตบอลโลก 2014 หรือตอนที่กรีซจัดโอลิมปิก หากไม่พร้อมจริงมันไม่คุ้มเลย ดังนั้นเจ้าภาพต้องเหมาะสม ซึ่งรัสเซียตอบโจทย์ทุกอย่างได้ ทั้งในแง่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับในระยะยาว มันคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องภาพลักษณ์ที่จะสื่อสารออกไปทั่วโลกว่ารัสเซียไม่อันตรายอย่างที่โลกคิดแน่ๆ แค่นี้ก็กำไรแล้ว

 

เปรียบเหมือนกับ ฟุตบอลโลก = แนวทางประชารัฐ

     สำหรับในมุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ย้อนอดีตกลับไป 4 ปีที่แล้วฟุตบอลโลกมาพร้อมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลงานชิ้นแรกคือเคลียร์ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลอย่างเต็มที่เพื่อจัดการกับกฎ Must Have/Must Carry ที่ส่วนตัวผมมองว่าออกมาไม่รัดกุมนัก จนการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ยาก แต่สุดท้าย คสช. ก็จัดการได้ ช่วงก่อนบอลเตะกระแสต่อต้านรัฐประหารมีเยอะ ต้านกันรัวๆ แต่พอได้ชมฟุตบอลโลกกันเต็มที่ กระแสก็หายไป ถือเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนครั้งแรก

     ผ่านมาอีก 4 ปีทุกอย่างคล้ายๆ เดิม คนไทยไม่รู้ว่าจะได้ดูฟุตบอลโลกหรือไม่ จนสุดท้ายก็เป็นภาครัฐเริ่มต้นเขี่ยแนวทางที่รัฐพอใจ แล้วก็หาแนวร่วมเป็นสปอนเซอร์เข้ามาจัดการเบ็ดเสร็จจนได้ชมกัน แบบนี้ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบไทยๆ คือกลไกตลาดถูกแทรกแซงโดยรัฐ แล้ว 4 ปีต่อไปเราจะทำอย่างไร เพราะปัญหายังอยู่ เราไม่มีวิธีอื่นในการแก้ปัญหาที่เป็นอารยะกว่านี้หรือ

     โอเค มองในแง่ดีมันคือประชารัฐ คือรัฐกับประชาชนร่วมมือกันเพื่อให้การแก้ไขหรือทำงานเดินต่อไปได้ แต่ที่มันไม่ถูกคือประชาชน ซึ่งควรจะเป็นประชาชนทั้งหมด แต่การแก้ไขในโจทย์นี้ “ประชา” คือประชาชนแต่ต้องวงเล็บไว้ว่า “นายทุน” รัฐไม่ได้แก้ปัญหาประชาชนส่วนใหญ่ แต่แก้ให้นายทุน ถามว่านายทุนใจดีขนาดนั้นเหรอ ช่วยกันลงขันให้ดูฟรี ไม่หรอก เขาต้องหวังกำไรซึ่งเป็นเรื่องปกติ แล้วใครเสียละ ก็น่าจะประชาชนคนดูนี่แหละ โอเคคุณได้ดูฟุตบอล แล้วถามว่าถ้าการถ่ายทอดสดครั้งนี้สปอนเซอร์ได้กำไร เงินมันไม่ได้มาจากฟ้านะ ก็กระเป๋าคนดูนั่นแหละ แค่ไม่รู้ตัวว่ามันไม่ฟรี

 

อาจินต์ ทองอยู่คง

 

เท่ากับว่าการได้ดูฟุตบอลโลก เป็นอามิสสินจ้างที่เขานำมาให้เรา

     อามิสสินจ้างเหรอ… เรียกแบบนั้นก็ได้ สุดท้ายได้ดูฟุตบอลโลกกันจริง แต่กฎกติกาที่เป็นปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข มาใช้วิธีเจรจาเอา ซึ่งมันน่าจะมีวิธีที่เป็นสากลกว่านี้ ไม่ต้องใช้วิธีพิเศษไปทุกครั้ง ประเด็นของผมคือทำไมคนไทยต้องได้ดูบอลโลกฟรีด้วยล่ะ

ส่วนตัวผมสนับสนุนรูปแบบรัฐสวัสดิการ แต่สิ่งที่มอบให้ประชาชน มันก็ควรเป็นของที่จำเป็นกันก่อนไหม ฟุตบอลมันของฟุ่มเฟือย แถมฟุตบอลโลกก็ไม่มีคนไทยเข้าไปแข่งสักคน สวนทางกับกีฬาอีกหลายรายการที่คนไทยแท้ๆ ไปร่วมแข่ง แต่คนไทยต้องไปหาดูในอินเทอร์เน็ต

     แล้วเมื่อคุณบอกว่าของฟุ่มเฟือยแบบนี้ต้องได้ดูฟรี ปัญหาเกิดตามมาเลย คือเกือบไม่มีใครซื้อมาให้ดู เพราะไม่รู้จะหากำไรได้อย่างไร จากกฎที่ค้ำเอาไว้ คิดต่อไปอีก หากรูปแบบการแก้ปัญหานี้ได้กำไร ต่อไปก็จะกลายเป็นการผูกขาด ใครจะอยากออกมาจาก 9 สปอนเซอร์ที่รวมอยู่ด้วย คนซื้อลิขสิทธิ์ก็สบาย มีคนช่วยจ่ายแน่ๆ ไม่ต้องไปซื้อมาก่อนแล้วค่อยหาแนวร่วม แบบนี้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ปัญหาอยู่การเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งเราจะเรียงตามความนิยมของโลกเหรอ ทำไมรัฐบาลต้องมาอุดหนุนเรื่องนี้ ไปทำเรื่องอื่นก่อนดีกว่าไหม

 

สุดท้ายมันก็วนมาว่ากีฬาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

     การเมืองเข้ามาเกี่ยวด้วยนานแล้ว 4 ปีก่อนมีคำว่า “คืนความสุขกับฟุตบอลโลก” คุณจำได้ไหม เรื่องนี้ถ้าเป็นระบบปกติมันไม่แปลกเท่าไร เพราะประเทศบริหารด้วยนักการเมือง พวกเขาก็ทำในสิ่งที่ประชาชนพอใจเพื่อความนิยมที่เพิ่มขึ้นจะได้กลับเข้ามาอีก มันเป็นไปทางเดียวกับหาเสียง

     แต่ปัญหาของบ้านเราคือตอนนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ ผู้บริหารประเทศไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้ทำอะไรเพื่อหวังต่อยอด แถมบางทีบอกเป็น บางทีบอกไม่เป็น นั่นแหละปัญหา การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลโลกอยู่แล้ว ทั้งการเข้าไปเคลียร์ปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสด แม้จะพูดไม่เต็มปากว่าเป็นผลงาน เพราะจะมีผลงานไปทำไม ไม่ใช่นักการเมืองที่จะทำอะไรต่ออนาคต แต่ก็ทำไปแล้ว

     ส่วนนักการเมืองแท้ๆ ทั่วโลกก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกแน่นอน ยิ่งกลุ่มผู้นำอายุน้อยๆ อย่างประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง จากฝรั่งเศส อายุเพียง 40 ปี เขาโตมากับยุครุ่งเรืองของฟุตบอลช่วงยุค 80s ไปถึงยุคปี 2000 ไม่แปลกหากจะเป็นแฟนฟุตบอล มองในเรื่องภาพลักษณ์ของนักการเมืองยิ่งปกติมาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตน รสนิยม ไม่ทำสิแปลก เพราะหากคุณไม่บอกกับประชาชนว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร ใครเขาจะไปเลือก

     ผู้นำรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงออกแค่แนวคิดทางการเมืองอย่างเดียว แต่ทั้งดนตรี กีฬา ก็บอกอัตลักษณ์รสนิยมได้ดี ยิ่งเป็น Pop Culture ที่คนเข้าถึงง่ายๆ ยิ่งเป็นเรื่องดี เหมือนเป็นพวกเดียวกัน คุณลองนึกภาพหากมีนักการเมืองสักคน บอกว่าชอบเล่นคริกเกต ขี่ช้างตีโปโล แล้วเสนอตัวตนแบบนี้กับประชาชน คนจะอินไหม แบบโอ้โห รสนิยมดี เล่นกีฬาชนชั้นสูง เท่จังเลย เลือกเขาดีกว่า

ปัจจุบันทีมและนักกีฬาเองไม่ต่างจากนักการเมือง ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี ต้องหล่อ ต้องมีความสอดคล้องกับกระแสสังคมโลกหรือเสรีนิยม ยกตัวอย่างโครงการ Refugee Welcome ที่วงการฟุตบอลยุโรปอ้าแขนต้อนรับ หลายทีมหาตั๋วให้มีโอกาสเข้าชม รับโค้ชหรือบุคลากรฟุตบอลจากชาติเหล่านี้เข้าทำงาน หักรายได้มามอบให้ ออกมาเรียกร้องเรื่องกระแสหลักทั้งสงคราม เหยียดผิว สิทธิสตรี ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกหรือคนส่วนใหญ่ยอมรับ

     แน่นอนว่าในฟุตบอลครั้งนี้ เราอาจได้เห็นข้อความ No War อยู่ตามรองเท้า เสื้อ หรือทรงผม เป็นการเรียกร้องที่ดี นักบอลก็ได้ความนิยมไปในตัว ไม่เอาแล้วสงคราม ไม่เอาความรุนแรง

     ในทางกลับกัน พวกเขาจะไม่เรียกร้องหรือพูดถึงเรื่องที่กีฬาเข้าไปเป็นคู่กรณี อย่างเช่น ข่าวโรงงานในบังคลาเทศ กัมพูชา ที่เป็นฐานการผลิตเครื่องกีฬาที่นักเตะใส่กัน ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตแรงงานที่นั่นต่ำมาก มีไฟไหม้ตายกันเป็นสิบ แต่ก็แปลกที่โลกฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ ไม่สนใจเรียกร้องประเด็นนี้ทั้งที่เมื่อเทียบกันกับเรื่องอื่นๆ แล้วมันใกล้ตัวกว่าเยอะ ปัญหาเพราะถ้าเขาพูดเรื่องพวกนี้เขาจะเสียประโยชน์ ก็เลยเลี่ยงที่จะไม่พูด

     จุดนี้ก็เป็นคำถามที่วนกลับมาสู่องค์กรหรือตัวนักกีฬาว่าทำไมปัญหาที่ตัวฟุตบอลเองเป็นคู่กรณีโดยตรงกลับนิ่งเฉย หรือแม้แต่เรื่องเทาๆ ในมุ้งของ FIFA เองก็ตาม

 

ในตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมาก จากก่อนหน้านี้เป็นโลกของกระแสหลัก แต่ตอนนี้กลายเป็นสังคมที่กระจายความสนใจออกไปหลากหลาย ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อคามนิยมของฟุตบอลโลกบ้างไหม

     โชคดีของกีฬาคือ จะมีคุณค่าเมื่อดูสด มันถึงจะเร้าใจและได้อารมณ์ที่สุด คงมีคนไม่มากที่จะมาย้อนดูแล้วตื่นเต้น รายการกีฬาแบบนี้มันผ่านแล้วผ่านเลย จุดแข็งตรงนี้ทำให้วิธีดูฟุตบอลยังไม่เปลี่ยน ต้องอดนอนหรือรีบตื่นมาดู แต่พฤติกรรมคงจะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาจนวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้เวลามีฟุตบอลโลก เราไปดูกันที่ไหน ลานเบียร์ บ้านเพื่อน เพราะดูคนเดียวไม่สนุก อยู่กับเพื่อนหรือคนมากๆ สนุกกว่า

     แต่ปัจจุบันสังเกตได้ว่าเราดูบอลคนเดียวกันเยอะขึ้น เพราะเรายังแชตคุยกันได้อยู่ และแถมมีเพื่อนเยอะด้วยในอินเทอร์เน็ต เชื่อได้เลยว่า 80-90% ของคนดูฟุตบอลโลกครั้งนี้ ตาก็ดูทีวีไป สลับกับเล่นมือถือ เปิดเฟซบุ๊ก เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การชมฟุตบอล แต่เป็นเทรนด์ในการสื่อสารทั้งหมดที่จะเป็นไปในเชิงส่วนตัวมากขึ้น คืออยู่ในพื้นที่ส่วนตัว อยู่ในบ้าน ในห้องนอน แต่สามารถแสดงความเห็นไปยังสาธารณะ พวกเว็บบอร์ดหรือเพจสาธารณะ คราวนี้ล่ะ จะเมนต์กันเต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงใจ หน้าฟีดจะเต็มไปด้วยเรื่องฟุตบอลโลกโดยไม่ต้องนัดหมาย

     พฤติกรรมการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบในวงกว้าง คนที่ทำธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องต้องปรับตัวตามให้ได้ ที่ชัดเจนคือการทำสื่อ ยิ่งสื่อกีฬายิ่งชัด ในตอนนี้จะเห็นว่ามีเพจกีฬาเกิดขึ้นเยอะมาก นักข่าวกีฬาหลายคนก็มาทำเอง เพราะมันทำง่าย ใครก็มีเพจได้ เข้าถึงง่ายตรงกลุ่มเป้าหมาย และสร้างสรรค์แสดงตัวตนได้เต็มที่ ทั้งยังได้รับความนิยมมากกว่าของเดิมด้วยซ้ำ ผู้บริโภคก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ ดังนั้นทุกคนต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในจุดนี้ โอกาสมีมากขึ้นอยู่ที่ใครจะปรับตัวได้หรือไม่

     การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ส่งผลถึงเกมฟุตบอลโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องจำนวนคนดูในสนามที่หายไป มีตัวเลขมากมายที่ยืนยันว่าจำนวนผู้เข้าชมเกมฟุตบอลยุโรปในสนามลดลง ในอังกฤษยิ่งชัดเจน สื่อใหญ่อย่าง BBC ทำรายงานพิเศษยืนยันว่าปัจจุบันฟุตบอลอังกฤษมีผู้ชมในสนามลดลง กลุ่มที่หายไปมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 18-25 ปี ด้วยเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน เริ่มจากค่าใช้จ่ายในการดูฟุตบอลที่สนามนั้นแพง ทั้งค่าตั๋ว ค่าเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะน้ำอัดลมหรือเบียร์ รวมๆ แล้วมันสูงเกินไปเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่นที่พวกเขาสนใจ ทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือสันทนาการต่างๆ ทำให้ราคาตั๋วของพรีเมียร์ลีกไม่ขึ้นราคามาร่วม 5 ปีแล้ว ต้องทำแคมเปญเพื่อล่อใจช่วงอายุ 18-25 ปี สามารถซื้อตั๋วปีได้ในราคาถูกเป็นพิเศษ นั่นคือความจริงที่เราต้องรับรู้กันเสียก่อน

     หากคุณโตทันยุครุ่งเรืองของฟุตบอล ราว 1980-2000 ฟุตบอลคือ Pop Culture ของสังคมโลก ลองนึกภาพ หากเราถามเด็กผู้ชายมัธยมเมื่อสัก 15-20 ปีก่อนว่าเล่นกีฬาอะไรกว่า 90% ตอบเป็นเสียงเดียวว่าฟุตบอล ใครไม่เล่นอาจโดนข้อหาไม่แมนแท้ คุยเรื่องฟุตบอลมันต้องรู้เรื่อง มากน้อยก็ว่ากันไป

     ฟุตบอลโลกมาแต่ละครั้งความสนใจของสื่อต่างจับจ้องไปที่รายการนี้ แต่ปัจจุบันมันต่างออกไป แม้ไม่มีการสำรวจออกมาเป็นตัวเลขยันกัน แต่เชื่อขนมกินได้ว่ากีฬากระแสหลักที่คนสนใจของโลกฟุตบอลยังคงเป็นผู้นำ เช่นกันกับการออกกำลังกาย แต่ส่วนชิ้นเค้กจะมากเหมือนเมื่อก่อนไหม ผมไม่คิดแบบนั้น เราเห็นหลายคนไม่ได้เล่นฟุตบอลมากเท่าไหร่แล้ว ทั้งช่วงอายุ รสนิยม รวมทั้งข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้การรวมตัวยากขึ้น กิจกรรมที่อยู่กับตัวเองอย่างการวิ่ง จักรยาน โยคะ หรือฟิตเนส แทรกขึ้นมา จึงเป็นธรรมดาที่ส่วนแบ่งของฟุตบอลจะน้อยลงไป เพราะยังไงๆ คนก็มีเวลาแค่วันละ 24 ชั่วโมงเท่าเดิม แต่ความสนใจมากขึ้น มองในมุมนี้ก็พอเข้าใจได้ว่าความนิยมของฟุตบอลตกลงสักพักนึงแล้ว

 

อาจินต์ ทองอยู่คง

 

แปลว่ามูลค่าของฟุตบอลกำลังลดลงหรือเปล่า

     สรุปแบบนั้นคงไม่ได้ ในรายงานดังกล่าวถามต่อไปว่า ถ้าไม่ไปดูในสนามแล้วยังติดตามไหม เกือบทั้งหมดยังติดตามอยู่ แต่วิธีเสพต่างไป พวกเขายังสนใจฟุตบอลอยู่ทั้งในรูปแบบเกมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วมาก เกมยอดฮิตที่เล่นก็ยังเป็นฟุตบอล หรือแม้แต่การพนันทุกอย่างเป็นตัวเลขบวกที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับเม็ดเงินที่หมุนเวียนในโลกฟุตบอล มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ขยับราคาสูงขึ้น ค่าเหนื่อยผู้เล่น จำนวนผู้ชมการถ่ายทอดสด ดังนั้นเราต้องแยกความนิยมกับมูลค่าออกจากกันก่อน

 

คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสนาม เราจะมีเรื่องฮือฮาแบบในอดีต ที่เราเคยมีเปเล่, มิเชล พลาตินี, มาราโดนา หรือ โรนัลโด รึเปล่า

     ด้วยความรู้ทางเทคนิคฟุตบอลที่มีไม่มากนัก ผมคงตอบคำถามเรื่องวิธีการเล่นไม่ได้ แต่ที่พอจะตอบได้คือโอกาสที่ฟุตบอลปัจจุบันที่เน้นเล่นแท็กติกและผลการแข่งขัน ทำให้แต่ละตำแหน่งแบ่งงานรับผิดชอบกันโดยละเอียด โอกาสจะได้เห็นใครโดดเด่นแบกทีมไว้คนเดียวเหมือนสมัยเปเล่ หรือมาราโดนา ในอดีตคงเกิดขึ้นได้ยาก

     ยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสนใจของคำว่า “นักเตะที่โดดเด่น” เราคงต้องคุยกันว่าคำนี้มันหมายถึงอะไร ถ้าหมายถึงคนที่เก่งที่สุดของรายการ ย้อนกลับไปฟุตบอลโลก 1998 ถามว่าใครเด่นที่สุด เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุด คนดูบอลคงนึกถึง ซีเนอดีน ซีดาน ที่พาทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ แต่สำหรับคนวงกว้าง ชื่อที่ดังที่สุดในครั้งนั้นต้องยกให้ เดวิด เบ็คแฮม จากอังกฤษต่างหากล่ะ แม้จะไปไม่ได้ไกลกับทีม แต่เบ็คแฮมสามารถเรียกความสนใจจากสื่อทั่วโลกได้ทุกการเคลื่อนไหว ทั้งแฟชั่นในสนาม การปรากฏตัวนอกสนาม ภรรยาสาว รวมทั้งใบแดงอื้อฉาวที่เขาโดนไล่ออกรอบ 8 ทีมสุดท้าย ในเกมที่อังกฤษแพ้อาร์เจนตินา ตกรอบฟุตบอลโลก

     ถึงบอลจบ แต่เรื่องของเขาก็ยังไม่จบ สื่อยังตามติดชีวิตไปตลอดจนทุกวันนี้ เบ็คแฮมเป็นมากกว่านักฟุตบอล ในทางสังคมเขาคือปรากฏการณ์ เป็นนักกีฬาที่สามารถก้าวไปอยู่ในแถวหน้าได้ในทุกวงการ ทั้งบันเทิง การเมือง รวมทั้งมูลค่าในตัวเอง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ถามว่าเบ็คแฮมเป็นนักฟุตบอลที่เก่งไหม โอเคเขาคือแถวหน้า แต่คงไม่ใช่ระดับท็อป 5 แต่ก็แปลก เพราะนี่คือผู้เล่นที่มีรายได้มากที่สุดของโลกฟุตบอลยุคนั้น ไม่ใช่แค่ค่าเหนื่อย แต่เป็นมูลค่าอื่นๆ จากการเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาต่างๆ ด้วยภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง

     ต่อจากเบ็คแฮม ไล่เรียงมาจนปัจจุบัน ยังหานักฟุตบอลที่มีความโดดเด่นใกล้เคียงเขาไม่ได้ นาทีนี้ก็พอมีคริสเตียโน โรนัลโด จากโปรตุเกส ที่เข้าข่ายแต่ก็ไม่ใกล้เคียง

 

ฟุตบอลในปัจจุบันเน้นผลการแข่งขันมาก ทีมเล่นสวยๆ หายากขึ้นทุกที เรื่องนี้สะท้อนอะไรบ้างในมุมของนักสังคมศาสตร์

     ฟุตบอลแพงขึ้น ฟุตบอลมีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นจนไม่สามารถจะเสี่ยงได้มากเท่าไหร่ ทีมต่างๆ จึงต้องทำเต็มที่เพื่อผลการแข่งขัน หลายครั้งจะเห็นเกมที่ใครอดทนมากกว่ากัน เป็นฝ่ายประสบความสำเร็จ น่าจะพอสรุปได้แบบนั้น ที่ไม่สามารถสรุปควบคู่กันไปได้คือเกมที่เสี่ยงน้อยลง เอนเตอร์เทนน้อยลง แปลว่าความสนุกจะหายไป เราจะพูดว่าเกมที่เต็มไปด้วยแท็กติกทำให้ฟุตบอลน่าเบื่อ ไม่สนุก พูดแบบนี้มันใจร้ายกับโค้ชไปหน่อย สำหรับคนชอบเชียร์บอลบุกเป็นบ้าเป็นหลังคงขัดใจ แต่ก็มีอีกหลายคนที่สนุกไปกับการวางหมากแก้เกม และระเบียบวินัยการเล่น มันก็ดูแล้วลุ้นไปอีกแบบ

 

การนำ VAR (Video Assistance Referee) เข้ามาช่วยตัดสินในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่าฟุตบอลแพงขึ้นด้วยใช่ไหม

     ก็อาจจะใช่ แต่ส่วนตัวผมไม่ชอบ VAR เพราะมันทำตัวราวกับว่ามันยุติธรรม 100% ทั้งที่ไม่ใช่แบบนั้น ยังมีการเถียงกัน แต่ทุกอย่างต้องจบหลังจากไปดูภาพ VAR ตัดสินแบบนี้ก็ไม่มันเลย สู้ปล่อยให้ค้างคาและเถียงกันไปแบบคลุมเครือดีกว่า คำถามนี้ผมตอบในฐานะคนดูที่ดูฟุตบอลเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงจากคำตัดสิน

     และหากต้องพูดในมุมนั้น ผมคงเห็นพ้องว่าเครื่องมือพวกนี้ทำให้เกิดการยุติได้เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ชัดเจนเกิดขึ้น ที่ต้องระบุเพราะการที่เราจะแสดงความเห็นว่าชอบไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่กับเรื่องอะไรก็ตาม ควรจะรู้ว่าตอบในฐานะอะไรมีมุมมองแบบไหน บางทีนักกีฬาก็มองเหมือนตัวเองเป็นคนดู คนดูก็นึกว่าตัวเองเสียประโยชน์แบบนักกีฬา แต่เมื่อมองในฐานะแฟนบอลที่ดูเอาสนุก ผมไม่ชอบ และทำให้ย้อนคิดไปว่า

แท้จริงแล้วเราดูกีฬากันเพื่ออะไรแน่ เพื่อหาความถูกต้องเหรอ หรือเพื่อความสนุกที่เกมกีฬามอบให้ ผมชัดเจนว่าเลือกอย่างหลัง ฟุตบอลที่มีความผิดพลาดแบบโง่ๆ มันก็ดีเหมือนกัน

     ยกตัวอย่าง รอนนี โอซุลลิแวน นักสนุกเกอร์ที่เก่งมากของโลก เขามีเรื่องแสบๆ หลายครั้งในการแข่งขัน ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสทำ Maximum Break 147 แต้มในไม้เดียว ถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดของโลกสนุกเกอร์ เจ้าตัวทำได้แน่นอน แต่เขาไม่ทำ แกล้งไม่แทงดำลูกสุดท้าย เหตุเพราะว่าทางฝ่ายจัดการแข่งขันตั้งรางวัลในการเล่นดังกล่าวไว้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

     ซึ่งรอนนีเชื่อว่าเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่ส่งผลดีต่ออนาคตของนักกีฬาสนุกเกอร์ ถามว่าเขาทำถูกต้องไหม เขาควรเล่นให้เต็มศักยภาพ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ด้วยการแทงลูกนั้นให้ลง แล้วก็รับรางวัลที่ไม่เห็นด้วยไป แบบนี้ถูกต้องไหม หรือไม่ล่ะ ในเมื่อไม่ให้เกียรติกัน ตั้งเงินรางวัลน้อย แต่อยากดูของยาก ก็ไม่ทำให้ดู ทำเพื่อปกป้องอาชีพตัวเอง แต่ท้ายที่สุด หากเอาเรื่องการเอนเตอร์เทนคนดูในฐานะ Performer รอนนี ตอบโจทย์ เพราะจบไม้นั้นคนดูสนุกและชอบใจ

 

อาจินต์ ทองอยู่คง

 

ความเปลี่ยนแปลงของผลประโยชน์ต่างๆ กฎกติกา และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ มีผลต่อน้ำใจนักกีฬาใช่ไหม

     คำถามนี้อาจจะเรียกร้องกันผิดคน แนวคิด Sportsmanship หรือน้ำใจนักกีฬา เดิมทีมาจากกลุ่มคนชั้นสูงของอังกฤษ ที่เล่นกีฬาเป็นกีฬา ไม่ได้เน้นเล่นเพื่อความเป็นเลิศ อารมณ์จะเหมือนกับพวกนักกีฬาโอลิมปิก ที่มีเป้าหมายชัดเจนที่บอกว่า ชัยชนะไม่สำคัญเท่าการได้เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งตอนเริ่มต้นของโอลิมปิกเองก็ไม่อนุญาตให้มืออาชีพมาลงแข่ง เพราะเล่นไม่ใสสะอาด

     แต่ฟุตบอล ณ ปัจจุบัน มันเป็นอาชีพไปแล้ว นั่นแปลว่าเป้าหมายอยู่ที่ความเป็นเลิศ ต้องเอาชนะเป็นหลัก มีผู้ตัดสินเป็นฝ่ายชี้ขาด ดังนั้นอย่าไปถามหาความใสสะอาดหรือน้ำใจนักกีฬาจากเกมแบบนี้ หากจะเอาชนะด้วยและต้องมีน้ำใจนักกีฬาด้วย ดูแล้วคงไปด้วยกันไม่ได้

     ทั้งนี้ต้องแยกกันให้ออกกับบางจังหวะที่นักกีฬาพยายามโกง บิดเบือน หาช่องว่างจากกติกา เช่นแอบเอามือเล่นไม่ให้กรรมการเห็น แบบนี้โกงเพราะไม่เป็นไปตามกติกา แต่การฉวยโอกาสเล่นต่อโดยที่ฝ่ายตรงข้ามนอนเจ็บอยู่ ซึ่งเจ็บจริงๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้ เรื่องแบบนี้ไม่ผิดกฎ ไม่มีกติกาห้าม ดังนั้นคุณใส่กันได้เต็มที่ เพียงแต่ว่าก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาด้วย ว่าผู้ชมจะจดจำคุณแบบไหน อย่าลืมว่าอีกบทบาทหนึ่งของนักกีฬาอาชีพก็คือ Performer ที่ต้องเล่นให้ถูกใจผู้ชม ดังนั้นหากไม่ถูกใจก็ต้องรับเสียงวิจารณ์ให้ได้

 

สุดท้ายคนไทยจะได้อะไรจากฟุตบอลโลกครั้งนี้

     อ้าว ได้ดูก็ดูไปสิครับ (ตบเข่าฉาด) มีนักสังคมศาสตร์สรุปถึงบทบาทของกีฬาว่ามีหน้าที่และส่งผลอะไรต่อสังคมไว้น่าสนใจ ในสังคมอุตสาหกรรมการที่คนเราทำอะไรซ้ำซากจำเจ พอมันน่าเบื่อนานเข้าสภาพจิตใจก็ค่อยๆ แย่ลงไป เหมือนลูกโป่งที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นจนสุดท้ายก็แตก ถ้าวันนั้นมาถึง แรงงานจะผลิตงานไม่ได้ ระบบอุตสาหกรรมจะพัง กีฬาจึงทำหน้าที่เสมือนวาล์วนิรภัย คอยปล่อยลมออกก่อนที่มันจะระเบิด มีความสำคัญมาก เพราะหากคนทำงานต่อไปไม่ได้ อุตสาหกรรมไม่สามารถขูดรีดแรงงานได้ ทุกอย่างจะพัง

     กีฬาจะรับหน้าที่ผ่อนคลายในวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อวันจันทร์จะได้มาทำงานอีก กีฬาเองมีความพิเศษเฉพาะตัว สร้างความตื่นเต้นได้มากกว่ากิจกรรมอื่น เพราะมันคาดเดาไม่ได้ ตื่นเต้นจนอะดรีนารีนหลั่ง เหมือนไปสู้รบชกต่อยกัน แต่การดูกีฬาทำให้คุณผลิตสารนี้ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงเจ็บตัว

 

ค่าหมุนวาล์วให้คนไทยในครั้งนี้ คุณว่าคุ้มไหม

     โคตรคุ้มมั้งครับ คืนความสุขกันให้เต็มที่เลย (หัวเราะ)

 


เรื่อง: พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์