“หนังเป็นตัวขับเคลื่อนบทสนทนา” รู้จักกับ ‘โบ ณวัชรี’ ฟิล์มเมกเกอร์ที่ได้ร่วมงานกับ Keshi

“หนังไม่ได้แค่ escape อย่างเดียว เราค้นพบว่าหนังที่เราชอบคือ หนังที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีประสบการณ์ตรงนั้น หรือไม่ได้เป็นคนเดียวบนโลกที่เผชิญอะไรแบบนี้ หรือว่าหนังก็สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนบทสนทนา ในประเด็นที่อาจพูดถึงได้ยากในชีวิตจริง”

        ระยะหลังมานี้ บ่อยครั้งที่เราทราบข่าวว่า ตามวงการต่างๆ บนเวทีโลกมักมีคนไทยเป็นหนึ่งในเบื้องหลังของหลายผลงาน หนึ่งในนั้นคือ ‘โบ’ – ณวัชรี ปิยะมงคล Filmmaker ไทย ผู้รับหน้าที่ดูแลเบื้องหลังโปรเจกต์ GABRIEL ในส่วนของ Post Production Producer & Editor และยังเป็น Produced Photoshoot Cover Art เพลง TOUCH ของศิลปินดังอย่าง Keshi 

        แต่ก่อนที่เราจะได้รับชม Documentary โปรเจกต์ GABRIEL ของ Keshi ที่เธอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนั้น (ซึ่งแฟนๆ ต้องอดใจรอชมกันอีกหน่อยนะ) เราจึงถือโอกาสทำความรู้จัก Filmmaker สาวไทยคนนี้ให้มากขึ้น 

        “ตอนเรียน ป.ตรี เราเรียนคณะอักษรฯ ภาคอินเตอร์มา มีช่วงหนึ่งที่เรียนแล้วเครียดมากเพราะเราไม่ได้ชอบสิ่งที่เรียนอยู่ เลยเป็นช่วงที่กลับมาดูหนังทุกวัน วันละเรื่องสองเรื่อง แล้วรู้สึกว่ามันทำให้เราได้เข้าไปอยู่ในที่อื่นๆ ไม่ต้องคิดเรื่องตัวเองตลอดเวลา ได้คิดเรื่องคนอื่นหรือเป็นคนอื่นไปสักพัก แล้วเราก็เริ่มรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของคนที่เขาสร้างโลกแบบนั้นบ้าง ตอนนั้นเราเห็นเป็นแบบ escapism จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสถานที่แห่งนั้นขึ้น” 

        โบเริ่มเล่าความเป็นมาของตัวเองว่าหนังเป็นสิ่งหนึ่งที่อยากทำมาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะในช่วงที่ต้องเลือกเส้นทางในอนาคต เธอยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไรกันแน่ จึงเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ไปก่อน แต่หลังจากเรียนปริญญาตรีจบ บวกกับแน่ใจแล้วว่าอยากทำอะไร เธอจึงเริ่มออกเดินก้าวแรกในเส้นทางนั้นทันที 

        “เราได้เข้าค่ายทำหนังของ UCLA (University of California, Los Angeles) ตอนนั้นไม่ทักษะอะไรเลย จึงไปทำจิตอาสา ไปลงคอร์สสั้นๆ ที่อังกฤษ พยายามเอาตัวเองแทรกเข้าไปในวงการนี้ หาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นการลงเรียนปริญญาโทในด้านนี้ทำให้เราได้เข้าใจกระบวนการทำที่ถูกต้องมากขึ้น” 

ยากไหมในการเรียนต่อด้าน Film ในต่างประเทศ ซึ่งเราไม่เคยมีประสบการณ์ หรือผลงานมาก่อนเลย 

        คนที่รู้เร็วก็อาจจะได้เปรียบกว่านิดนึง แต่ตอนที่เราไปเรียนที่มหา’ลัยไม่มีสอนในระดับปริญญาตรี เลยทำให้รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้เสียเปรียบอะไร เราเคยถามว่าทำไมไม่มีสอน ป.ตรี เขาบอกว่า “คุณลองคิดดูว่าเพิ่งจบมัธยมมา จะมีเรื่องอะไรมาเล่าได้มากไหม ไม่ใช่ทุกคนที่จบมัธยมแล้วเข้าใจชีวิตขนาดนั้น” ดังนั้น แง่ดีในด้านหนึ่งคือ เราได้ใช้ชีวิตมาก่อน 

        ที่นั่นเขาอยากให้เราได้ใช้ชีวิตก่อน หรือมีเป้าหมายชีวิต มีเรื่องราว มีประสบการณ์ หรือความเจ็บปวดของตัวเองที่เอามาเล่าได้ อย่างเราก็มีเรื่องเล่าในวัยเด็กที่เล่าได้ แต่ถ้าเล่าตั้งแต่ตอนหลังจบมัธยมเราคงไม่ได้คิด หรือมีมองมุมต่างๆ ที่ลึกซึ้ง คือเล่าได้ แต่คงจะออกมาเป็นหนังที่ตื้นเขินเรื่องหนึ่ง แล้วพอมองกลับไปในวัยนั้น มันก็จริงที่เรายังไม่มีความสามารถในการเล่าเรื่องขนาดนั้น

ปกติเด็กต่างชาติมักจะมีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าเด็กไทย แต่เขาก็มองว่ายังมีประสบการณ์ไม่มากพออีกเหรอ

        ในวัยนั้นเด็กต่างชาติก็เริ่มทำงานพาร์ตไทม์ อยากยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง แต่ในการเติบโตขึ้นส่วนตัวเรามองว่าเรื่องนี้แล้วแต่คนมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราเจออะไรมาบ้าง เราโดนบังคับให้ตัวเองต้องเป็นผู้ใหญ่แค่ไหน ทั้งจากที่บ้าน หรือโดนกดดัน และแม้ว่าในยุโรปหรืออเมริกาเขาอาจจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตคนเดียวมากกว่าเรา แต่เรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์เรามองว่ามนุษย์เติบโตขึ้นในช่วงวัยที่เท่าๆ กันนะ 

หลังจากที่ตอนแรกคิดว่าหนังเป็นเพียง escapism พอเข้าได้เป็น Filmmaker เต็มตัวแล้วยังคิดแบบเดิมอยู่ไหม 

        มันเปลี่ยนนะ ในแง่ที่ว่า หนังไม่ได้แค่พื้นที่ของ escape อย่างเดียว แต่เป็นตัวกระตุ้นที่อาจทำให้เราเศร้ากว่าเดิม เครียดกว่าเดิม กลายเป็นว่าหนังไม่ได้ทำให้เราคลายเครียด ไม่ใช่แค่สนุกแล้ว เพราะหลังจากที่เราได้ทำ ได้เรียน ได้ศึกษาก็ค้นพบว่าจริงๆ แล้ว เราแคร์อะไรหรือให้ความสนใจกับอะไร 

        เราค้นพบว่าหนังที่เราชอบคือหนังที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีประสบการณ์ตรงนั้น หรือไม่ได้เป็นคนเดียวบนโลกที่เผชิญอะไรแบบนี้ หรือว่าหนังก็สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนบทสนทนาในประเด็นที่อาจพูดถึงได้ยากในชีวิตจริง 

        เช่น เรานั่งกินข้าวกับพ่อแม่อยู่แล้วพูดถึงเรื่องทำแท้งควรจะเป็นเสรีภาพของทุกคนบนโลก คืออยู่ๆ เราจะมาพูดเรื่องนี้บนโต๊ะอาหารเลยก็ไม่ได้ แต่ถ้าสมมติเราดูหนังเรื่อง Never Rarely Sometimes Always ผู้หญิงสองคนมานิวยอร์กด้วยกันเพื่อทำแท้ง ก็ทำให้เห็นว่าแต่ละรัฐไม่ได้เปิดหรือเอื้ออำนวยขนาดนั้น 

        พอมีหนังที่ได้ดูด้วยกันได้ในครอบครัว มันจะทำให้เราได้สนทนากัน พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวในหนัง พูดถึงเรื่องที่เปราะบางได้ เหมือนหนังเป็นตัวแทนหรือเป็นตัวกลางที่ทำให้คนไม่ทะเลาะกันมากขึ้น ทั้งการพูดเรื่องการเมือง ศาสนา นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนที่ทำให้เราชอบหนังมากขึ้น

จากผลงานชิ้นที่คนไทยน่าจะรู้จักคือหนังสั้นเรื่อง pieces & bits สามารถบ่งบอกสไตล์การทำหนังของคุณได้อย่างไร

        แนวที่ทำเรามักจะเป็นความสัมพันธ์ของคนกับตัวเอง หรือคนกับสถานที่ เช่น การทำงานในกรุงเทพฯ การเอาตัวรอดในเมืองที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนเท่าไร หรือเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) ของคน การสู้กับตัวเองว่าเราเป็นคนแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า หรือสู้กับตัวเองว่าทำไมเราเป็นคนแบบนี้ หรือทำไมคนถึงมองเราเป็นคนแบบนี้ แล้วเราอยู่ที่นี่ได้หรือเปล่า 

        อย่างเรื่อง pieces & bits เราชอบทำงานเกี่ยวกับผู้หญิงไทย เพราะรู้สึกว่าหลายๆ คนมักโดน stereotype จากคนต่างชาติ ในมุมมองผิดๆ จากสื่อหรือหนังหลายเรื่องที่มักจะสื่อสารว่า มาเที่ยวเมืองไทยจะเห็นแต่ที่เที่ยวกลางคืนหรือ sex tourism ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดนะ แต่สิ่งที่ผิดคือสื่อที่เอาแต่นำเสนอสิ่งนี้ด้านเดียว ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยมีหมอ มีนักบัญชี มีนักเขียน คนทำอาหาร มีมิติอื่นๆ อีกเยอะ แต่หลายคนดูแล้วเขาก็ไม่ได้คิดในมุมนี้ ทำให้ต่างชาติหลายคนมองแค่ว่าผู้หญิงไทยถูก ซื้อได้เลย 

        การทำอาชีพใดๆ ก็ตาม ไม่ผิด แต่สื่อกลับไปทำเป็นเรื่องขบขันต่างๆ ในเชิงดูถูกเรา จนกลายเป็นภาพที่ต่างชาติจำว่าการมีภรรยาเป็นคนไทยต้องคอยปรนนิบัติสามี คอยทำอาหารให้ ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถกลายมาเป็นสินค้าได้ แต่เรากลับถูกมองเป็นแบบนั้นเพราะสื่อนำเสนอไม่หยุด หนังเรื่อง pieces & bits จึงเป็นสิ่งที่เราทำและอยากสะท้อนกลับไปว่า ประเทศไทยมีอย่างอื่นอีก หรือเพื่อบอกว่าไม่คูลเลยที่จะพูดแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องปกติทั่วไป เพราะเราและเพื่อน หรือผู้หญิงอีกหลายๆ คน เจอแบบนี้บ่อย ซึ่งมันไม่ตลกเลย 

pieces & bits | trailer from Bo Nawacharee on Vimeo.

แล้วในฐานะที่คุณเป็น Filmmaker หญิงในวงการ Film ทั้งไทยและต่างประเทศ แตกต่างหรือมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง 

        ยากมาก ยากไปหมด (ยิ้ม) เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ยากอยู่แล้วในการจะมีตัวตนในวงการนี้ ยิ่งเป็นผู้หญิงและเป็นชาวเอเชียด้วยยิ่งยาก แต่มันกลายเป็นคอมมูนิตี้ไปแล้ว คือความเป็นผู้หญิงเอเชียของเรากลายมาเป็นจุดขายได้ หรือ Black Women ก็กลายมาเป็นจุดขายได้เหมือนกัน 

        คนแข่งกันที่จะโชว์ Diversity หรือความหลากหลาย โดยเอาสิ่งนี้มาขายกัน ซึ่งก็แปลกที่เราไม่สามารถขายงานได้อย่างเดียว แต่เราต้องขาย Identity ของตัวเองด้วยในทุกๆ ที่เลย ทั้งวงการหนัง แฟชั่น เพลง งานเราจะมาพร้อมกับตัวตนเราเสมอ ที่นี่อาจจะยากเพราะที่นี่ทุกคนต่างผลิตงานออกมาไม่หยุด เราต้องพยายามเอาตัวเองไปไว้ตรงนั้นเรื่อยๆ แค่ที่ไทยก็ยากตรงที่ไม่ได้มีแหล่งมากขนาดนั้น วงการไม่ใหญ่ ทั้งหนังทั้งเพลงอาจจะต้องไปทั้งสองทาง เพราะคนทำเพลงอยากได้เอ็มวี คนทำหนังบ้างก็อยากทำเอ็มวี แต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าวงการมั่นคงเราจะทำอะไรก็ได้ที่เราจะยึดกับมันตลอดไป ส่วนใหญ่เรื่องที่ยากก็มีเรื่องกฎหมาย Identity ของเรา อย่างเรารู้จักใครไหม เรื่องเส้นสายมีอยู่ทุกที่ไม่ใช่แค่ที่ไทย

ดังนั้น คุณนิยามคำว่า ‘Filmmaker’ ต้องเป็นแบบไหน 

        เราว่า Filmmaker คือร่มใหญ่ ที่มีทั้งคนทำหนัง โปรดิวเซอร์ คนเขียนบท คนตัดต่อ ไดเรกเตอร์ หรือตำแหน่งต่างๆ ทุกคนล้วนคือ Filmmaker ทั้งหมด แล้วแต่ว่าเราจะไปอยู่ส่วนไหนในกอง  อย่างการร่วมงานกับ Keshi เราชอบมากๆ แม้ว่าจะเป็นงานที่จะปล่อยออกมาเป็น Documentary แต่ก็ยังมีความเป็นหนัง เราทำงานกับนักดนตรีก็จริง แต่ก็ยังเป็นงานสายของเราอยู่ นั่นคือการเล่าเรื่อง

พอเข้ามาเป็น Filmmaker แล้วทำให้รสนิยมของการดูหนังเปลี่ยนไหม 

        ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าดูหนังคลายเครียด ไม่ต้องคิดอะไร ดูง่ายๆ นั่นคือสิ่งที่ต้องการในตอนนั้น แต่สำหรับตอนนี้เราดูหนังละเอียดขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ดูเรื่องที่ง่ายๆ ไม่ว่าจะดูหนังแมสหรือไม่แมส หรือหนังอินดี้ นั่นคือความต้องการที่เราอยากดู ณ ตอนนั้น 

คิดอย่างไรกับหนังแมสและหนังอินดี้

        จะดูหนังแมสหรือหนังอินดี้ ก็ล้วนมีความเท่ในแบบของทุกคน มันเป็นความเป็นมนุษย์ของเราที่อยากจะพิเศษ ไม่เหมือนใคร ทำให้คนจำเราได้ อย่างเพลงที่ฟัง เราชอบวงที่คนฟังไม่เยอะ หรือคนที่ชอบวงแมส นั่นหมายความว่าทุกอย่างมีสิ่งที่ดี 

        เช่น บางคนดูหนังอินดี้แล้วมาดูหนังแมส ก็อาจจะได้เข้าใจอะไรที่มันไม่เวิร์กในสายหนังที่เราดู หรือเจอสิ่งใหม่ที่เข้ากันกับรสนิยมของเรา สำหรับคนทำหนังอินดี้ที่ทำเงินได้เยอะ เราก็วิเคราะห์ว่าทำไมถึงทำเงินได้ขนาดนั้น ในหนังทุกประเภทจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เสมอ แล้วคนที่สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองได้แบบนั้นคือคนที่เก่งมากๆ เพราะไม่ใช่แค่สร้างศิลปะแล้ว แต่รวมไปถึงการทำการตลาดด้วย 

ส่วนตัวคุณอยากเป็นแบบไหน แมส หรืออินดี้

        ไม่รู้เหมือนกัน จริงๆ แล้วเราอยากเป็นคนที่เคารพในการตัดสินใจของตัวเองก็พอ ในแง่ของผู้กำกับ เราก็อยากทำอะไรที่มันสำคัญๆ เช่น ทำหนังเรื่องนี้ได้เงินห้าสิบล้าน ขายวิญญาณในการทำหนังอาร์ตของเราไปก่อน แล้วค่อยเอาเงินที่ได้มาพัฒนาหนังอินดี้ของเราต่อ แบบนั้นเราก็โอเค ตราบใดที่คนอนุญาตให้เรายังมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เราก็มีความสุขแล้ว 

เป้าหมายของคุณในเส้นทางการเป็น Filmmaker คืออะไร

        ถ้ามีลายเซ็นเป็นของตัวเองได้ก็ดี แต่บางทีเราอาจจะยึดมั่นเกินไป เรามองว่าเราเป็นคนเบื่อง่ายคนหนึ่ง แล้วเราคิดว่าบางทีเราก็เบื่อตัวเองด้วย ตราบใดที่เราได้ทำงาน ได้ทำหนังที่เราแคร์ ได้ส่งเมสเสจที่เราแคร์ออกไป เราก็โอเคแล้ว เรารู้สึกว่ามันมีความจริงใจตรงนั้นอยู่ บางคนหยิบบางประเด็นขึ้นมาพูดไม่ใช่เพราะตัวเองชอบ หรือสนใจ แต่รู้ว่าถ้าหยิบขึ้นมาพูดแล้วคนจะสนใจหรือดัง เราว่าคนดูเขาดูออก คนทำก็ดูออกเช่นกัน ดังนั้น เราคาดหวังที่จะได้ทำงานที่เราแคร์ และได้ทำต่อเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้อยากบังคับตัวเองไปทำอะไรที่เราไม่ได้รัก ไม่ได้แปลว่าเราต้องรักทุกอย่าง เราอาจจะรักห้าสิบเปอร์เซ็นต์จากงานชิ้นหนึ่ง แต่เป็นงานที่ทำให้เราได้ทำในสิ่งที่เรารักมันก็โอเคแล้ว

แล้ว ‘หนังที่ดี’ สายตาของคุณควรมีองค์ประกอบใดบ้าง

        หนังที่ดีที่จะสมบูรณ์ในตัวของมัน เราดูแล้วแฮปปี้ เรารู้สึกไปด้วยกับมันก็ถือว่าเป็นหนังที่ดีแล้ว เป็นความรู้สึกที่เราไม่ได้รู้สึกมาก่อน คือหนังที่เขียนดี ถ่ายดี แค่นั้นเอง แต่หนังดีมีหลายขั้น ถ้าเราดูรู้สึกด้วยสักหนึ่งซีนจากร้อยซีนแย่ๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว 

มองความสำเร็จของตัวเองไว้อย่างไร

        มองว่าได้ทำงานเรื่อยๆ ก็ถือว่าสำเร็จในมุมหนึ่ง ถ้าสำเร็จเลยจริงๆ คือการที่ทำงานนี้อย่างมั่นคงตลอดไป สามารถใช้ชีวิตที่อยากได้ด้วยเงินที่หามาได้จากการทำงานนี้ เราไม่ได้มองว่าเราต้องมีเส้นอะไรที่เราต้องก้าวไปแล้วเราจะประสบความสำเร็จ มันมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิต เราก็ถือว่าโอเค แฮปปี้ แค่เราใช้ชีวิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเราอยู่จุดนั้นเราก็ยังอยากดีขึ้นกว่านั้นอยู่ดี มันคงไม่มีจุดที่เรียกว่านี่แหละคือความสำเร็จ ยกเว้นว่าถ้าได้รางวัลออสการ์ 10 อัน ถ้านั่นไม่ประสบความสำเร็จแล้วจะเอาอะไรอีก (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าไม่ควรจะเป็นจุดใดจุดหนึ่งที่จะสำเร็จ หรือมีสิ่งที่ต้องก้าวข้าม แค่เป็น constant ability และ constant life better ก็พอ 

อยากบอกอะไรถึงน้องๆ ที่ค้นหาตัวตน หรืออยากเป็น Filmmaker เหมือนตัวเองไหม

        คงบอกว่าให้ทำเข้าไป แย่แค่ไหนก็ทำไป แต่แย่แล้วเราก็ต้องเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่ว่าแย่แล้วแล้วทำแย่ต่อไป ทุกครั้งที่เราทำ ได้ออกกอง หรือทำหนัง จะได้สิ่งที่แย่หรือสิ่งที่เราได้จากสิ่งที่เราทำ พอเรารู้ว่าผิดก็แค่ไม่ทำอีก อะไรที่ดีก็เก็บเอาไว้ แต่ไม่ต้องยึดติดกับสิ่งที่ถูกเสมอไป แค่ต้องทำไปเรื่อยๆ 

        เราทำหนังไปเยอะมากที่คนไม่ได้ดู และไม่มีวันได้ดู มันจะอยู่ในฮาร์ดไดรฟ์ตลอดไป แต่เราเรียนรู้จากมันมาก แล้วจะดีขึ้นได้เรื่อยๆ จะไม่บอกว่าให้ดูหนังเยอะๆ เพราะมันใช้ไม่ได้กับทุกคน บางคนดูหนังน้อยแต่ดูถูกเรื่อง บางคนต้องดูเยอะเพราะต้องเรียนรู้จากการดูก็มี แต่สิ่งสำคัญคือ การทำต่อไปเรื่อยๆ 

สำหรับการร่วมงานกับ Keshi สปอยล์ได้ไหมว่าแฟนๆ จะได้เห็นอะไรในตัวเขาจาก Documentary นี้บ้าง

        ถ้าชอบเพลง หรือชอบอัลบั้มนี้อยู่แล้ว พอได้ดูก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึก appreciated มากขึ้น จะได้เห็นว่าในแต่ละวัน Keshi ใส่ใจในรายละเอียดใดบ้าง หรืออาจจะมีเรื่องเล็กๆ อย่าง ทำไมในเพลงเขาทำไมถึงมีเสียง ‘เคชิ’ อยู่ในเพลง หรือเพลง Understand มาจากอะไร ประมาณนี้ คือจะได้รู้เกล็ดเล็กๆ น้อยที่ตอนฟังเราอาจสงสัยมาตลอดที่เราจะได้รู้ ที่สำคัญคือจะได้เห็นมุมน่ารักๆ ของ Keshi เต็มไปหมดเลย ถ้าได้ดูแล้วก็ต้องชอบเขามากขึ้นแน่ๆ


เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: Thoranit Preechakriangkrai, yves, Kenji Chong และ Looksorn Teerapak Teeratrakul