ผมมาก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อจะได้มีโอกาสได้คุยกับ กัสจัง จิรันธนิน ภายใน Madi BKK คาเฟ่และแกลเลอรีศิลปะย่านเจริญกรุงในบ่ายวันทำงานอาจดูแตกต่างจากทุกวัน เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายของเจ้าตัว ในร้านจึงดูหนาแน่นด้วยผู้คน
‘กัสจัง’ – จิรันธนิน เธียรพัฒนพล เป็นที่รู้จักในโลกดิจิทัลพอตัว เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 6 แสนคนในเฟสบุ๊กและอีกเกือบแสนคนทางยูทูบ เริ่มทำคอนเทนต์ตั้งแต่ยังเด็กจนกระทั่งตอนนี้โตเป็นหนุ่มอายุ 18 ปี ออกไปท่องโลกกว้างไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เขาสนุกกับการได้ท้าทายตัวเองและทำอะไรใหม่ๆ
“เอาจริงๆ ผมว่าผมเป็นคนเบื่อง่าย” เขาบอกผมอย่างนั้น “ความสนใจของผมมีหลายอย่างมาก สลับไปมา คือถ้าจะให้บอกว่าอีกสามปี ห้าปี ความสนใจของผมจะไปทางไหน ผมเองก็ยังบอกตัวเองไม่ได้เหมือนกัน” การพูดคุยของผมกับกัสจังจึงเป็นเสมือนการ มาฟัง ดูและร่วมสนุกไปกับพลังของ Gen Z พลังชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กำลังผลิบาน เต็มไปด้วยมุมมองแห่งความหลากหลาย สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือเจนฯ นี้คือพลเมืองของโลกรุ่นแรกที่เกิดมาพร้อมโลกที่ถูกทำให้เป็นดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว พวกเขายังเป็นพลเมืองรุ่นแรกของโลกที่ไม่น่าจะเคย Log Off ออกจากแพลตฟอร์มไหนเลยที่ตัวเองสมัคร
ลองนึกภาพเด็กที่สนุกสนานกับโลกดิจิทัล แต่อยู่ดีๆ วันหนึ่งกลับมีงานแสดงภาพถ่ายที่ไปคว้ารางวัลระดับชาติของสหรัฐอเมริกามาได้สิ
คนแบบนี้จะน่าคุยด้วยขนาดไหน…
ทำไมจับพลัดจับผลูคุณถึงมาสนใจงานถ่ายภาพได้
สมัยเด็กๆ ผมเกลียดการถ่ายรูปมาก ไม่ได้ชอบและเพราะเป็นประสบการณ์ที่มาจากคุณพ่อ เวลาเราไปเที่ยวกันคุณพ่อจะเป็นช่างภาพประจำครอบครัว แบกกล้องสองสามตัว แล้วใช้เวลาในการถ่ายรูปนานมาก ปรับโน่นปรับนี่ หมุนเลนส์เปลี่ยนเลนส์ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเสียเวลามาก ทำให้ประสบการณ์ผมกับเรื่องกล้องและเรื่องถ่ายรูปไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ความรู้สึกก็เปลี่ยนตอนที่ไปเรียนต่างประเทศ คุณพ่อให้กล้องแอนะล็อกแบบแมนวลพร้อมฟิล์ม คุณพ่อบอกว่าให้ถ่ายรูปมาให้หน่อย ถ่ายอะไรก็ได้ เพราะคุณพ่ออยากเก็บความทรงจำ เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะไม่ได้ไปด้วยกัน ตอนแรกผมก็ขี้เกียจทำนะ แต่ไปๆ มาๆ ก็เริ่มชอบ เพราะเวลาถ่ายรูปออกมา เวลามันสวย มันก็รู้สึกดี เลยกลายเป็นแรงขับที่ทำให้ผมอยากถ่ายอีกๆ
ความรู้สึกของการถ่ายภาพระหว่างดิจิทัลกับแอนะล็อก เป็นอย่างไร
ผมอาจแปลกกว่าเด็กรุ่นเดียวกันหน่อยคือ ผมเริ่มต้นการใช้กล้องถ่ายรูปจากกล้องแมนวลก่อน คือคุณพ่อเคยให้กล้องดิจิทัลมาใช้เหมือนกันแต่ไม่ชอบ แต่พอมาจับกล้องฟิล์ม ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ มันมีอะไรให้เล่นหลายอย่าง มีกลักฟิล์มให้ใส่ มีเลนส์ให้เปลี่ยน แถมเวลาล้างมันก็มีกระบวนการในการล้าง รู้สึกว่ามันเป็นเหมือนโลกใหม่ของผม สัปดาห์แรกที่ได้มานี่ชอบมาก ถ่ายไปเยอะมาก แล้วก็ไปหาชุดคิตมาล้างเอง (C-41 Film Processing) ท้ายสุดแล้วผมมาเจอตัวเองว่าจริงๆ ผมไม่ได้ชอบการถ่ายภาพ แต่ชอบกระบวนการของการได้มาซึ่งภาพทั้งหมด ตอนถ่ายไม่ค่อยสนหรอกว่าภาพออกมายังไง อยากลองเล่นมากกว่า มาชอบการถ่ายภาพจริงๆ คือตอนไปเรียนต่อที่อเมริกา จากนั้นก็เริ่มสนใจเรื่องการแต่งภาพด้วย
ผมว่าในมุมของการทำงานแบบแอนะล็อกกับดิจิทัลก็แตกต่างกัน การรอคอยของแอนะล็อกท้ายสุดก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมชอบนัก แต่ทำให้เข้าใจว่าทำไมคนชอบงานถ่ายภาพแบบฟิล์ม คือมันก็มีเสน่ห์ของมันแบบที่กล้องดิจิทัลทำไม่ได้
คุยเรื่องภาพที่ไปประกวดให้เราฟังหน่อย
ตอนแรกที่เริ่มถ่ายภาพ ไม่คิดจะเข้าประกวดอะไรเลย ไม่คิดว่ารูปเราดี คือมันก็ดีในสายตาผม แต่มันคงไม่ดีขนาดที่ใครจะมาชอบ แต่อาจารย์ที่สอนถ่ายรูปผมเขาบอกว่าทำไมไม่ลองเอารูปส่งประกวดในงานนี้ดู (Scholastic Art & Writing Awards1) ครูบอกว่าผมควรส่งในโควตาของโรงเรียนนี่แหละ ผมก็ส่งไป เป็นรูปที่ผมถ่ายที่กรุงเทพฯ ตอนตีสอง ถ่ายช่วงที่กลับมาอยู่เมืองไทยระหว่างปิดเทอม ตอนนั้นถ่ายเพราะต้องส่งให้อาจารย์ด้วย ก็ถ่ายไปไม่คิดอะไร
รางวัลนี้ปีหนึ่งๆ คนส่งเยอะมาก เฉพาะในโซนผมอยู่ ก็ไม่ต่ำกว่าสองแสนรูป ปีแรกที่ส่งไปผมไม่ชนะรางวัลอะไรเลยทั้งๆ ที่ตอนส่งก็ไม่ได้คาดหวังนะ แต่พอรู้ว่าเราไม่ได้อะไรเลย ก็ทำให้เรารู้สึกมีแรงฮึด อยากทำให้ได้ ผมตั้งเป้ากับตัวเองไว้เลยว่า ปีหน้า (2021) เราต้องได้รางวัลอะไรสักอย่าง อีกปีหนึ่งก็เลยส่งรูปไปประกวดใหม่ คราวนี้ส่งไป 5 ตามที่โรงเรียนให้โควตามา ซึ่งผลคือผมได้มาสองรางวัลก็คือ Gold Key หนึ่งรูป กับอีกรูปได้รางวัลชมเชย และรูปผมก็ได้ไปโชว์ที่แกลเลอรีอัลเฟรโด ที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ด้วย เป็นรางวัลที่ผมภูมิใจมาก
อยากรู้เรื่องจุดเริ่มของการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของคุณว่ามาจากไหน
ผมชอบครีเอตมาตั้งแต่เด็ก ใครที่ดูผมในเพจตั้งแต่แรกๆ เลยจะเห็นว่า ผมชอบ DIY ซึ่งทำเพราะอยากทำ ตอนที่เริ่มต้นก็แบบนั้นครับ เพราะอยากลอง ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีคนมาตามหรือมีคนมาดูของเราอะไรมากมาย มันเหมือนแค่ว่าเรามีความสุขที่ได้ครีเอตอะไรบางอย่าง ตอนเด็กทำวิดีโอต่อเลโก้ กันดั้ม พอทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า เราอยากทำให้คอนเทนต์ให้มันสนุกขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น เวลาถ่ายอะไรทีก็จะดูหลายๆ รอบหน่อย ตัดต่อจนเราพอใจ มันเหมือนมันทำให้เรามีโปรเจกต์ตลอดเวลา เหมือนจะเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นมาจากตอนที่เราเริ่มทำตอนแรก แต่แก่นของความรู้สึกยังเหมือนเดิม ฟีลลิ่งเดียวกันกับตอนที่ต่อเลโก้แรกๆ
เป้าหมายของการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของคุณคืออะไร
คือการไปต่อ ผมหมายถึงว่าผมไม่ได้มองเรื่องยอดคนตามเราว่าต้องมากมายแค่ไหน แต่คิดว่าตัวแพลตฟอร์มที่ผมมีอยู่ตอนนี้ อนาคตมันสามารถเป็นสปริงบอร์ดที่ทำให้ผมไปทำอย่างอื่นต่อได้ เพราะใจผมอยากเป็น business man การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของผม ก็อาจเป็นเรื่องดีสำหรับเราในการทำอะไรต่อมิอะไรในอนาคต ทุกวันนี้การคิดคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม ก็ใช้สกิลไม่แตกต่างจากทำโปรดักต์ เราก็ต้องมีกลยุทธเหมือนกันว่า จะทำยังไงให้คนที่มาดูของเราอยากอยู่กับเราจนจบวิดีโอ ผมคิดว่าทักษะพวกนี้สามารถเอาไปใช้ในธุรกิจของเราในอนาคต
คุณแก้ปัญหาอย่างไรเวลาที่เราเจอ toxic opinion
ผมเจอคอมเมนต์ท็อกซิกเยอะมาก แต่ผมไม่สนใจ มันไม่ได้มีผลกระทบกับความรู้สึกของผมเท่าไหร่ หากเจอก็ลบหรือบล็อก ผมเข้าใจว่าสำหรับบางคน นี่เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความรู้สึก คุณพ่อเคยบอกผมว่า ถ้าเราเจอคนที่มาบูลลีเราในโซเชียลมีเดีย ให้ผมลองดูสัดส่วนของคนที่มาด่าว่าเรากับคนที่ให้กำลังใจเรา คือถ้าสัดส่วนมันแตกต่างกันมาก ก็อย่าให้คำพูดของคนไม่กี่คนมาทำให้เราแย่สิ คำพูดนี้เหมือนรีเซตความคิดผมเลย มันทำให้ผมเข้มแข็งขึ้นมาก
คิดเห็นอย่างไรกับคนรุ่นคุณ หรือเด็กกว่าคุณที่เริ่มเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์กันแล้ว
เดี๋ยวนี้เด็กๆ เริ่มทำคอนเทนต์กันเร็วมาก แต่ผมสนับสนุนให้ทำนะ ผมว่าการทำคอนเทนต์บนยูทูบหรือแพลตฟอร์มอะไรก็แล้วแต่ เป็นการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้ดีมาก ผมได้กับตัวเองเลยก็คือ life skill ของผมนี่แหละ
ถ้าไปดูวิดีโอเก่าๆ ของผม จะเห็นเลยว่าผมพูดอะไรวกไปวนมา เล่าเรื่องอะไรทีหนึ่งก็จับเรื่องราวในหัวไม่ได้ แต่พอทำไปนานๆ กลายเป็นว่าเราเก่งขึ้น มันเปลี่ยนเรา ทำให้เราเล่าเรื่องได้เก่งมากขึ้น ต้องพูดยังไงให้สั้น เข้าใจง่ายที่สุด ให้จับความสนใจ อินโทรยังไง คืองานพวกนี้มันสอนเราว่าเราต้องทำยังไง ผมเลยสนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าถ้าอยากทำ ทำเลย แต่ที่ต้องระวังให้มากคือเรื่อง privacy ถ้าข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วออกไปในอินเทอร์เน็ตนี่อันตรายมาก เผลอโชว์ที่อยู่บ้านนิดนึงก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะอะไรที่มันอยู่ในอินเทอร์เน็ตมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแล้ว ฉะนั้น ทำอะไรต้องคิดไว้ในหัวเลย
ผมว่าการทำงานในโลกดิจิทัลพวกนี้ ทำให้เรารอบคอบกับชีวิตมาก
คนในรุ่นคุณสนใจเรื่อง Social Movement เรื่องไหนเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า
ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมเป็นคนเชียงใหม่ ทุกปีเราก็จะรู้อยู่แล้วว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ต้องเจอกับมลพิษทางอากาศหนักมาก ผมเองก็เคยเจอกับตัวเพราะเป็นโรคภูมิแพ้ พอถึงฤดูเผาป่า ผมจะป่วย บางปีหนักถึงขนาดที่ว่าต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะหายใจไม่ออก ซึ่งรู้สึกไม่ดีเลยกับสถานการณ์แบบนี้เพราะเราไม่อยากให้บ้านเกิดของเราเป็นแบบนี้ หลังๆ บางทีกลับมาบ้านที่เชียงใหม่ ก็ไปไหนไม่ได้เพราะเจอกับมลพิษทางอากาศ เลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ครั้งล่าสุดที่ผมกลับมาจากสหรัฐอเมริกาช่วงปิดเทอม ด้วยความอยากรู้ก็ลองเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตว่า สถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศในเชียงใหม่ไปถึงไหนแล้ว มีคนแก้ไขอะไรยังไงบ้าง มีใครทำอะไรที่ช่วยให้อากาศดีขึ้นไหม ก็ไปเจอ ‘มูลนิธิอุ่นใจ’ (Warm Hearth Foundation) ซึ่งผู้ก่อตั้งเป็นชาวอเมริกันที่เข้ามาช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ ตั้งใจว่าเงินที่ได้จากการประมูลรูปในงาน Our Moment in Mine2 ของผมครั้งนี้ที่กรุงเทพฯ จะสมทบมุนให้กับมูลนิธิอุ่นใจ เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของมูลนิธิ
เคยคิดไหมว่า Gen Z อย่างคุณ ในอีกสักสิบปี ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร
เอาจริงๆ ตอนนี้ผมยังไม่ได้คิด แล้วก็ยังไม่รู้ด้วยว่าอนาคตผมจะไปทางไหน ความสนใจของผมเปลี่ยนง่ายมาก วันนึงผมชอบโน่น อีกวันผมมาชอบอีกอย่างละ ก็ไม่แน่ว่าอีกห้าปีสิบปีผมจะเป็นยังไงบ้าง
ผมยังไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้ตัวเองเป็นยังไง
หมายเหตุ:
1 รางวัล Scholastic Art & Writing Awards เป็นการประกวดความสามารถทางศิลปะและวรรณกรรมยอดเยี่ยม นับเป็นรางวัลที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ส่งผลงานต่างๆ เข้าประกวด โดยรางวัล Gold Key ที่กัสจังได้รับ เป็นรางวัลระดับภูมิภาค
2 ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย “Our Moment in Mine.” BY GUT THIANPATTHANAPOL โดยงานจะจัดแสดงให้ชมฟรี ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2565 ณ Creator Hub, Madi BKK, ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ หลังการจัดแสดงนิทรรศการแล้วเสร็จ ภาพถ่ายชุด “Our Moment in Mine.” ทั้ง 8 ภาพจะเปิดให้ประมูลทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Gutjang’s Life – โลกของกัสจัง รายได้จากการประมูลไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้มูลนิธิอุ่นใจ (Warm Hearth Foundation) ติดตามความคืบหน้าได้ทางแฟนเพจของกัสจัง
เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง