‘ตามหากะทิ’ โครงการที่ให้ทุนนักเขียน 1 แสน พร้อมที่พัก เพื่อตามฝันในการเป็นนักเขียน

“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมตอนไหนในประวัติศาสตร์ ที่ไม่เริ่มต้นจากความคิดของนักคิดนักเขียน” น่าจะเป็นคำยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าคนพูดเชื่อมั่นในเรื่องของการคิด การเขียนแค่ไหน 

        โดยเฉพาะเมื่อคนพูดประโยคนี้ คือ งามพรรณ​ เวชชาชีวะ เจ้าของรางวัล วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทนวนิยาย ปี 2549 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่ารางวัลซีไรต์ จากนวนิยายเรื่อง ความสุขของกะทิ ที่วันนี้พิมพ์ซ้ำไปกว่า 114 ครั้ง เรียกว่าเป็นจำนวนการพิมพ์ซ้ำระดับตำนานของวงการไปแล้ว 

        ‘กะทิ’ ไม่ได้เดินทางเข้าสู่หัวใจเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเดินทางไปสร้างความประทับใจให้กับคนอ่านอีกทั่วโลก ผ่านการขายลิขสิทธิ์แปลไปกว่า 11 ประเทศ บทแปลภาษาอังกฤษสำนวนของ Prudence Borthwick ก็พากะทิไปรับรางวัลที่สองจากการประกวดงานแปล John Dryden Translation Competition จัดโดยสมาคมวรรณคดีเปรียบเทียบแห่งอังกฤษ 

        ‘ความสุขของกะทิ’ จึงเผื่อแผ่ความสุขไปยังคนอ่านมากมายเกินกว่าที่นักเขียนจะคาดคิด ยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูที่ต้นทางการเขียนด้วยแล้วละก็ 

        งามพรรณบอกว่า เธอซุกต้นฉบับไว้นานนับ 6 เดือน กว่าจะมั่นใจเพียงพอที่จะส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา  

        ประสบการณ์การเป็นนักเขียน อันเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก ท้าทาย ทำงานอยู่กับความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องรายได้ และสารพัดอารมณ์กดดันที่โถมเข้าใส่ ทำให้งามพรรณ เข้าใจดีว่า กว่าจะเขียนต้นฉบับที่สร้างความสุขให้คนอ่านได้ นักเขียนทุกข์มาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ 

        ปีหน้า ‘ความสุขของกะทิ’ จะครบรอบ 20 ปีพอดี งามพรรณเลยอยากถือโอกาสนี้ลุกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสนับสนุนนักเขียนที่มีความฝัน และความฝันที่ดี ต้องมาจากการบ่มเพาะที่เหมาะสม 

        ว่าแล้ว โครงการตามหากะทิ จึงเกิดขึ้น และเธอเรียกมันอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น Writer in Residence หรือนักเขียนพำนัก ที่แทบจะเป็นโครงการแรกๆ ของประเทศ ที่เกิดขึ้นตรงตามนิยามสากล นั่นคือการสร้างสรรค์ผลงานเขียนออกมาเป็นหนังสือ 

        ผู้ผ่านการคัดเลือกจากโครงการนี้จะได้เบี้ยเลี้ยงไปเลย 1 แสนบาท พร้อมที่พักในบรรยากาศสงบที่บ้านรับลม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ไม่พอแค่นั้น นักเขียนยังได้รับโอกาสในการอบรมการเขียน จากเธอเองที่เป็นเจ้าของโครงการ และนักเขียนรับเชิญอีกจำนวนหนึ่งที่ล้วนแต่เป็น ‘สายแข็ง’ หรือต้นไม้ใหญ่ของวงการทั้งสิ้น 

        สิ่งที่คาดหวังตั้งใจ คือการได้สร้างนักเขียน ที่มีผลงานเขียนนวนิยายเป็นของตัวเอง

        -ดินดี บรรยากาศดี ปัจจัยในการเติบโตพร้อม เมล็ดพันธุ์ย่อมผลิดอกออกผลได้ไม่ยาก- 

        ได้นักเขียนเพียงหนึ่งคน ไม่น้อยไปหรือ? หลายคนอาจจะคิด แต่อย่าลืมว่า การบ่มเพาะนักเขียนสักคนไม่ใช่งานง่ายๆ นี่คือเส้นทางที่ต้องใช้เวลา ใช้หัวใจ และใช้ความมุ่งมั่นระดับที่ไม่ธรรมดา หากต้องการผลงานในระดับที่ ‘น่าจดจำ’ และฝากรอยประทับไว้ในใจได้ 

        สำหรับงามพรรณ​ เธอบอกชัดเจนว่า งานเขียนคืองานที่สร้างร่องรอยให้กับโลกว่า เราเคยผ่านมา และเราไม่ได้ผ่านไปเฉยๆ เราฝากความคิด ฝากผลงานเป็นหนังสือที่อาจอยู่ในโลกนี้ได้ยาวนานกว่าตัวเราเอง การตามหากะทิ ตามหาเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตในดินแดนของการเขียน ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการตามหาความสุขที่เกิดจากการได้เขียน ความสุขที่เปลี่ยนทั้งโลกของคนเขียนและคนอ่าน เป็นความสุขที่ต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเข้มข้น 

        คุ้มที่จะลงแรงหรือไม่? คงไม่ใช่คำถามเท่ากับว่า นี่คือการฝากร่องรอยให้กับโลกที่ตอบคำถามชีวิตคุณหรือเปล่าต่างหาก 

ที่มาของโครงการ Writer in Residence เริ่มจากตรงไหน? 

        เริ่มจากคิดได้ว่าปีหน้า 2566 นิยายเรื่อง ความสุขของกะทิ จะพิมพ์ครบรอบ 20 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็พิมพ์ไปประมาณ 114 ครั้ง เราเลยอยากให้เป็นโอกาสพิเศษของการครบรอบไปเลย ตอนนั้นก็ยังนึกไม่ออกว่าจะจัดงานอะไรดี เพราะตอนพิมพ์ครบ 100 ครั้ง ทางสำนักพิมพ์เขาก็จัดงานไปแล้ว เลยมานั่งคิดว่าอะไรที่ยังไม่ได้ทำ และอะไรที่อยากทำ เป็นสองคำถามหลัก ก็พบว่เรื่องหนึ่งที่เราอยากทำคือ Writer in Residence หรือการให้ที่พำนักแก่นักเขียน ซึ่งยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนักในบ้านเรา แต่เราอาจจะไปคุ้นชินกับ Artist in Residence มากกว่า คือสำหรับศิลปิน 

        อีกเหตุผลหนึ่งที่อยากทำโครงการนี้ เพราะเมื่อหนังสือครบรอบ 20 ปี เราจะมองย้อนกลับไปในวันแรกที่เราเริ่มต้นเขียน ตอนนั้นเราพบว่าเรามีข้อจำกัดอยู่สองอย่าง คือเรื่องรายได้กับที่พัก เพราะตอนนั้นเราทำงานแปลอยู่ แล้วถ้าเราจะเขียนนิยายหรือเขียนหนังสือสักเรื่อง เราต้องหยุดงานอื่นก่อน แล้วเราก็จะขาดรายได้ช่วงที่เราจะไม่ได้แปล นั่นคือข้อจำกัดแรกที่เราคิด เรื่องต่อมาคือ เราต้องมีพื้นที่ส่วนตัวที่จะนั่งเขียนหนังสือ ตอนนั้นก็ไม่มีพื้นที่ ใช้ส่วนของออฟฟิศที่ทำธุรกิจลิขสิทธิ์หนังสือแทน ซึ่งมันยากในเรื่องของการใช้สมาธิ ความคิด คือพอมองย้อนจากวันแรกมาถึงวันนี้ เราก็อยากให้คนที่มีความคิดที่อยากเป็นนักเขียนเขาได้โอกาสและไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้และสถานที่ทำงานราวๆ 3 เดือนไปเลย เลยเกิดโครงการ Writer in Residence ขึ้นมา ซึ่งปกติที่เขาทำกัน คือจะให้คนที่เป็นนักเขียนอยู่แล้วเข้าโครงการ มีสถานที่ให้อยู่ แต่เราอยากให้คนที่ไม่เคยเป็นนักเขียนมาก่อนได้โอกาสบ้าง มันเลยเป็นความยากตั้งแต่แรกว่าจะมีใครกล้ามาสมัครแค่ไหน แล้วเราจะได้คนที่เราอยากได้หรือเปล่า เพราะมันต้องคัดเลือกเพื่อให้ได้รางวัล 100,000 บาท และที่พัก 3 เดือน เพื่อเขียนนิยายออกมาเป็นเล่ม แล้วเราจะเป็นธุระในการหาที่จัดพิมพ์ให้  หลังจากนั้นก็ไปชวน คุณคำสิงห์ ศรีนอก มาช่วยคิดโครงการด้วยกัน และบอกคนสมัครไปเลยว่า การตัดสินเป็นสิทธิของเรานะ เพราะนี่เป็นเงินส่วนตัวของเราเองเลย จริงๆ เคยยื่นเสนอโครงการกับหน่วยงานรัฐไป แต่เขาเงียบหายไปเลย นั่นก็หลายปีมาแล้ว ตอนนี้เราอยากให้โอกาสนี้กับนักเขียนหน้าใหม่ และอยากให้คำว่ากะทิ เป็นความหมายของการมีความฝัน ของการตามหาความฝัน ซึ่งในที่นี้ก็คือความฝันที่อยากเป็นนักเขียน 

โปรเจกต์แบบนี้ ต่างประเทศก็มีเยอะอย่างที่ทราบกัน แล้วคุณคิดว่าจะช่วยพัฒนาหรือส่งเสริมนักเขียนไทยได้มากน้อยแค่ไหน 

        คือโปรเจกต์แบบนี้ มันต้องเกิดจากการร่วมมือกัน ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะมันควรจะสื่อสารในเรื่องที่อยากจะบอกสังคม เช่น มีโครงการแบบนี้ที่ให้คนไปพักที่ทะเลสาบ Lake Como ที่อิตาลี เขาก็จะเปิดพื้นที่ให้คนมาใช้ เพื่อจะได้ผลงานที่สื่อสารเรื่องที่อยากพูด จริงๆ ก็ใช้ได้ในทุกวงการ ถ้าวงการวิทยาศาสตร์ อยากจะพูดเรื่องโลกร้อน ก็เปิดรับคนมาร่วมกิจกรรม และได้ส่งเสริมเรื่องนี้ ซึ่งจะมีองค์กรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นคนสนับสนุนอีกที แล้วพอผลงานได้ตีพิมพ์ เขาก็จะเขียนอุทิศในหน้าหนังสือว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ได้พักที่นี่ ทำให้ชื่อของโครงการ สถานที่ หรือแม้แต่เจ้าของสถานที่ แพร่กระจายเป็นที่รู้จักต่อไป

        คือ Writer in Residence มันมีลักษณะของการเปิดพื้นที่ให้คนมาระดมความคิดเพื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับของเรา อาจจะยังไม่ถึงสเกลนั้น แต่อย่างน้อยเราก็อยากให้คนมาใช้พื้นที่และใช้ความคิดต่อเนื่องได้ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะคนเป็นนักเขียน แล้วทำงานประจำด้วย บางทีมันคิดอะไรไม่ออก วอกแวก การได้มีพื้นที่อยู่ ก็จะได้พัก จะได้มีความคิดต่อเนื่อง 

แล้วประเทศเรามีความท้าทายอะไร หรือปัจจัยอะไรที่ทำให้ผลักดันเรื่องนี้ให้แพร่หลายไม่ได้ ถ้าอ้างอิงจากที่บอกว่าเคยส่งโครงการไปเสนอแล้วก็เงียบไปหลายปี 

        (ถอนใจ) พูดแล้วก็ต้องถอนใจเนอะ เพราะอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือ เกี่ยวกับนักเขียน จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับสนับสนุนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องมองเห็น หรือคำนวนสิ่งตอบแทนออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ สมมติเราไปเสนอว่าต้องการเงินงบประมาณเท่านั้นเท่านี้ ผลคืออะไร เพราะมันไม่อาจจะไปบังคับนักเขียนได้ว่า ต้องสร้างงานเขียนออกมาให้ได้ หรือถ้าได้ อะไรจะเป็นตัววัดคุณค่าของงานเขียนนั้นๆ เพื่อตอบแทนให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ให้มา เรารู้สึกว่า ถ้าเมื่อไหร่คุณไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะ หรือวรรณกรรม เรื่องแบบนี้ก็พูดยากตั้งแต่ต้น ทั้งที่การสร้างนักเขียน หรือศิลปินคนหนึ่งมันจำเป็นนะ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมตอนไหนในประวัติศาสตร์ ที่ไม่เริ่มต้นจากความคิดของนักคิดนักเขียน ไปย้อนดูได้เลย ยิ่งคุณไปเซนเซอร์ ไปปิดกั้นความคิด ก็ย้อนไปดูเถอะว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะเรียกคนจำนวนมากให้ออกมาแสดงพลังได้ยังไง ถ้าไม่เริ่มจากคนต้นคิด คือนักคิด ซึ่งก็จะกลายมาเป็นนักเขียน เพราะมันเป็นเรื่องใกล้เคียงกัน ไปดูเถอะ ทฤษฎีการเมือง ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ที่เปลี่ยนแปลงสังคม เจ้าของความคิดเขาต้องเป็นคนเขียนออกมา หลังจากนั้นมันจะแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปเอง จะมากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่อง 

        แต่ถ้าเมื่อไหร่เราไม่ให้นักเขียนเป็นตัวเริ่มต้น หรือไม่สนับสนุน อย่างที่เราฟัง อาจารย์ มกุฏ อรฤดี พูดมาทั้งชีวิตเรื่องสถาบันหนังสือ เรื่องการส่งเสริมจากภาครัฐ มันก็คือเรื่องนี้ เป็นต้นน้ำ กับปลายน้ำ ส่งเสริมการอ่าน ก็ต้องส่งเสริมนักเขียนด้วย เพราะการเป็นนักเขียนมันเริ่มต้นยากมาก ในประเทศไทยมันน้อยมากที่คนจะมีรายได้จากการเขียนหนังสือเป็นหลัก โดยไม่ทำอาชีพอื่น คือแทบจะนับคนได้เลย แล้วทุนต่างๆ ก็ไม่ค่อยจะมี ส่วนใหญ่ที่มีจะเป็นรางวัลทางวรรณกรรม ที่สำนักพิมพ์ส่งประกวดบ้าง ก็ได้เงินรางวัลมา 

คุณคิดว่าเป้าหมายของโครงการนี้ที่คุณอยากเห็นคืออะไร 

        มีผู้ใหญ่บางคนเห็นเราทำโปรเจกต์นี้แล้วละ ก็ถือว่าเราทำนำร่อง เป็นฝั่งเอกชนทำ เราไม่แน่ใจว่าพลังของเราจะมากแค่ไหน เราเลยบอกเขาว่า ถ้าเราทำไปถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็อยากให้องค์กรต่างๆ หรือกระทรวง รับไม้ต่อ ถ้าเขามาส่งเสริมหรือมีส่วนร่วมมากขึ้น เราอาจจะทำอะไรที่น่าตื่นเต้นมากขึ้น เราก็เหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำ เมื่อน้ำกระเพื่อม เราก็ดีใจแล้ว เพราะที่ผ่านมาทุกอย่างมันเงียบมาก ตั้งแต่ช่วงโควิดแล้วด้วยซ้ำ งานสัปดาห์หนังสือก็เงียบๆ แล้วคนก็มีภาวะซึมเศร้าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมากันเยอะ ทำให้เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตกันเยอะ ก็คิดว่านี่เป็นการลุกมาทำอะไรสนุกๆ สักครั้ง เลยลองทำขึ้นมา ตอนนี้ผลตอบรับดีมาก ได้ข่าวว่านักเขียนหลายคนยังอยากไปอยู่เลย แต่เราอยากให้โอกาสนักเขียนหน้าใหม่ๆ ก่อน แต่เห็นมั้ยว่าทุกคนอยากได้โปรเจกต์แบบนี้ แต่มันมีไม่เยอะ แต่ถ้าเมืองนอก นักเขียนสามารถยื่นโปรเจกต์ขอเลย แล้วก็ทำงานได้เลย มีโครงการดูแล ส่วนเราขอเริ่มจากการสนับสนุนหน้าใหม่ก่อน เพราะเราไม่มีความรู้ขนาดไปตัดสินคนที่เป็นนักเขียนอาชีพได้ขนาดนั้น เราขอทำระดับจุ๋มจิ๋มไปก่อน (หัวเราะ) 

จริงๆ ยุคนี้คนก็สามารถเป็นนักเขียนได้ง่ายขึ้น มีสารพัดแพลตฟอร์มรองรับ รายได้ที่เขาเขียนออนไลน์ก็น่าจะทำรายได้ดี แล้วทำไมคิดว่าโครงการแบบนักเขียนพำนักแบบนี้จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้

        ต้องยืมคำของ ‘พี่ต้อ’ – บินหลา สันกาลาคีรี ที่บอกว่า ‘เขียนง่าย แต่ให้เป็นที่จดจำน่ะยาก’ เพราะคนเราเขียนกันได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แต่ผลงานจะเป็นที่จดจำหรือเปล่า ก็ถือเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องท้าทายมาทุกยุคอยู่แล้ว สมัยก่อนนักเขียนส่งงานให้บรรณาธิการอ่าน เขาก็ต้องลุ้นว่างานจะผ่านหรือถูกโยนลงตะกร้า เราจะเป็นใครมาจากไหน ก็ต้องส่งเรื่องไปให้เขาคัดเลือก ซึ่งจริงๆ ถ้าผ่านการคัดเลือกนี่มันจะดีใจมากเลยนะ เพราะมันมีมาตรฐานบางอย่างที่เราต้องผ่าน หรือตีพิมพ์ มันเหมือนการได้แจ้งเกิด แต่คนอ่านจะจดจำเราได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่างานเราดีหรือเปล่า และสร้างงานต่อเนื่องได้หรือเปล่า การเขียนออนไลน์ มีแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างก็จริง แต่มันมีมาตรฐานที่เราต้องไปให้ถึงหรือเปล่า นั่นอีกเรื่อง เขียนแล้ว คนอ่านเขาจำได้หรือเปล่า นั่นก็อีกประเด็น โครงการเรานี่ก็รับนักเขียนที่มีผลงานในออนไลน์นะ ขอแค่ยังไม่เคยมีงานตีพิมพ์เป็นเล่ม 

สิ่งที่เห็นจากงานเขียนเรื่องย่อที่ส่งมา ที่เห็นว่ามีจุดร่วมกันเยอะมากคืออะไร 

        เขียนแนวแฟนตาซีกันซะเยอะนะ พวกเดินทางข้ามเวลา เรายังเอามาเขียนในเพจเราเองเลยว่า แฟนตาซีมันเป็นแค่ภาพลวงตานะ จริงๆ คนที่เขาเขียนแฟนตาซีกันเพราะอยากวิพากษ์ปัญหาสังคม แต่ไม่อยากเขียนเรื่องจริงๆ ตรงๆ ตัวอย่างเช่น Game of Throne ที่คนเขียนอยากวิจารณ์เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เรื่องการต่อต้านสงคราม เรื่องการชิงอำนาจในอาณาจักร แล้วเรื่องพวกนี้มันเขียนตรงๆ ไม่ได้ ก็ต้องไปสร้างเรื่อง สร้างเมืองในจินตนาการขึ้นมา เราคิดว่านิยายแฟนตาซีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการนำเสนอความคิด หรือเล่าเรื่อง คือจะเขียนอะไร ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า เขียนเพื่ออะไร จุดประสงค์จะบอกอะไร แต่ท้ายที่สุด ต้องบอกนักเขียนทุกคนเลย อย่างแรกต้องให้ความบันเทิงกับคนอ่าน คุณเขียนอะไรก็ได้ ตั้งใจจะมีจุดยืน จุดมุ่งหมาย ดีเด่นสูงส่งยังไง อ่านไม่สนุกยังไงมันก็สอบไม่ผ่าน

อย่างตอนคุณเขียนเรื่อง ความสุขของกะทิ คุณเขียนเพราะอะไร คิดอะไรถึงเขียน แล้วเทียบในตอนนั้นขั้นตอนการส่งสำนักพิมพ์ ยากง่ายยังไง? 

        ตอนนั้นคิดจะเล่าแค่ว่าความสุขของคนเรามันไม่เหมือนกัน และความสุขก็นิยามได้ยากมาก เราเลยตั้งประเด็นขึ้นมาเล่นๆ ว่า คนที่เขามีทุกอย่าง เขาน่าจะต้องมีความสุขใช่มั้ย แล้วคนที่เขาไม่มี หรือขาดในสิ่งที่ไม่มีวันจะได้มา เขาจะไม่มีความสุขใช่มั้ย มันเป็นคำถามในใจที่คิดขึ้นมา เลยเริ่มต้นเรื่องจากเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีแม่ และโหยหาความรักจากแม่ รวมทั้งความรักจากคนอื่นรอบๆ ตัวที่พยายามที่จะเข้าไปทดแทน เราก็ตั้งคำถามว่ามันพอหรือไม่ เด็กคนนี้จะเลือกทางเดินของตัวเองได้มั้ย ตอนนั้นไม่ได้มีพลอตอะไรแน่นมาก เขียนแบบด้นไปเลย ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทำให้เรารู้เลยว่า เออ นักเขียนมันมีสองประเภทนะ คือเป็นคนสวนกับสถาปนิก (หัวเราะ) สถาปนิกเขาจะมี blue print มาเลย ว่าจะเขียนยังไง ทำอะไรต่อ รู้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ส่วนเราเป็นแบบพอจะรู้ต้นทาง รู้ปลายทาง แต่ระหว่างทางมันเหมือนคนจัดสวน คือจัดๆ ไปก็ย้ายกระถางนี้ไปไว้ตรงนั้นที ตรงนี้ที หรือบางคนอาจจะเป็นทั้งสองประเภทผสมๆ กันก็ได้ 

ตอนนั้นคุณเสนอสำนักพิมพ์ไป รอพิจารณานานไหม มีความได้เปรียบอะไรไหมในฐานะที่เป็นงามพรรณ​ 

        ตอนนั้นเราทำงานแปลมาสักระยะแล้ว ตอนส่งงานไปที่สำนักพิมพ์ ก็เลือกไว้สองที่ เพราะเราก็ต้องเลือก บ.ก. ด้วย ซึ่งตอนนั้นเราเลือกส่งไปที่แพรวเยาวชน ที่มี ‘พี่เอ๋’ – อริยา ไพฑูรย์ เป็นบรรณาธิการ แล้วก็อีกที่ก็คือมูลนิธิเด็ก เราส่งไปพร้อมกัน แล้วทางแพรวเยาวชนโทร.มาตกลงก่อน อีกสักพัก อีกที่ถึงโทร.มา ก็เลยกลายเป็นพิมพ์กับแพรวเยาวชนไป จริงๆ ตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าตัวเองเขียนดีไม่ดี เขียนเสร็จซ่อนใส่ลิ้นชักไว้หลายเดือน คิดในใจว่า คนเขาก็พอจะรู้จักเราแล้วว่าเราเป็นนักแปล พอมาเขียนมันก็กังวลว่าเขาจะคิดยังไง ยอมรับเลยว่าไม่มั่นใจเอามากๆ คือเราอ่าน เราก็ว่ามันโอเคในสายตาเรา แต่เราไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะว่ายังไง แล้วนี่คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับนักเขียนเลย คือเขียนแล้วคิดเอาเองว่ามันดีแล้ว สำหรับเรา ตอนที่เขียน คิดแค่ว่า เขียนในสิ่งที่อยากเขียน ไม่ได้คิดถึงตลาดอะไรเลย ไม่ได้คิดว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนด้วยซ้ำ แค่คิดว่าอยากเล่าเรื่องจากสายตาของเด็ก เด็กที่สูงแค่ไม่กี่เมตร มองได้แค่นี้ เห็นได้แค่นี้ เห็นอะไรไม่ไกลเท่าผู้ใหญ่ 

        แต่ตอนนั้นยอมรับว่าไม่มั่นใจจริงๆ เป็นนักแปลสร้างชื่อมานานหลายปี อยู่ดีๆ จะมาทำลายชื่อเสียงเดิมด้วยงานเขียนนิยายมั้ยเนี่ย ก็คิดหนักนะ (หัวเราะ) แต่มีอยู่วันหนึ่ง ไปทานข้าวกับนักเขียนที่เราดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เขาอยู่ เราเล่าเรื่องงานเขียนให้เขาฟังว่าเราไม่มั่นใจ เขาบอกเลยว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาทั้งนั้นแหละ เขาบอกให้หาคนที่เราไว้ใจมาอ่านให้ ตอนนั้นก็เลยส่งให้คุณน้า ที่เป็นนักวิจารณ์หนังสืออยู่แล้ว คือ อาจารย์ นิตยา มาศะวิสุทธิ์ ส่งไปให้คุณน้าอ่านสักพัก น้าโทร.มาบอกว่า นี่เธอมัวไปทำอะไรอยู่ตั้งนาน ทำไมไม่มาเป็นนักเขียนตั้งแต่ต้น น้าบอกแค่นั้น เราก็มานั่งคิดอีกว่า เอ๊ะ นี่มันคำชมหรืออะไร (หัวเราะ) ไปนั่งตีความอีก ทีนี้เราก็เริ่มมั่นใจขึ้นมาอีกนิดในระดับที่จะกล้าส่งสำนักพิมพ์อย่างที่บอก ก็เลยส่งไป แล้วก็ตีพิมพ์ พอพิมพ์ออกมามันก็ได้รับคำวิจารณ์มากมาย ทั้งดีและไม่ดี เป็นธรรมดา 

        แต่ท้ายที่สุด เราต้องตั้งใจเขียนในสิ่งที่อยากเขียน แล้วมันต้องมีคุณค่าพอที่จะอ่าน ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเขียนเรื่องเศร้า จนกระทั่งพี่เอ๋ บ.ก. ส่งงานที่เป็นอาร์ตเวิร์กมา ตอนนั้นนั่งอ่านไปแล้วก็ร้องไห้ไป ฉันเขียนเรื่องเศร้าขนาดนี้เลยเหรอ (หัวเราะ) ตอนเราเขียน เราไม่ได้มองอย่างคนอ่าน จนกระทั่งเป็นอาร์ตเวิร์กให้เราอ่านแล้ว เลยอ่านแบบคนอ่าน อ่านไปร้องไป คนเขียนใจร้ายมากเลย เพราะมันเศร้า มันได้เห็นมุมความรัก ความเสียสละของแม่ที่มีต่อลูก 

เล่มนี้ได้ตีพิมพ์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไป แต่คุณเคยถูกปฏิเสธงานด้วยมั้ย

        เคยสิคะ (หัวเราะ) เคยเขียนงานมาตั้งนาน เสร็จแล้วเอาไปส่ง บ.ก. ปรากฏเขาไม่เอา พ่อยังบอกเลยว่า อาชีพนี้มันแย่ขนาดนี้เลยเหรอ (หัวเราะ) ​คือเหมือนเขาเห็นเราทำงานมาตั้งนาน แต่เหมือนไม่ได้อะไรเลย นี่ไงต่อให้เขียนมาแล้ว 6 เดือน ก็สามารถเป็น 6 เดือนที่ไม่ได้อะไรเลยก็ได้นะ นี่แหละ ชีวิตนักเขียน เราไม่รู้เลยว่าเรื่องที่เราปากกัดตีนถีบเขียนอยู่ จะมีคนพิมพ์รึเปล่า จะดีพอไหม เป็นสิ่งที่แย่เนอะ ยิ่งฟังยิ่งแย่ เป็นนักเขียนเนี่ย 

คือเหมือนมันไม่มีความแน่นอนอะไรสักอย่าง

        ไปถามทุกคนสิ เป็นกันหมดแหละ แล้วนักเขียนต้องคิดนะว่า ต้องเขียนให้ได้วันละกี่หน้า เขียนไปโดยไม่รู้ว่าจะมีใครพิมพ์ไหม แปลว่าตลอดเวลาที่ทำงาน คุณก็ต้องมีรายได้รองรับ ถ้าเขียนเองพิมพ์เอง ก็ต้องมาจัดการเรื่องขนส่ง สต็อกอีก ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ เราอยากเขียนหนังสืออย่างเดียว 

สิ่งที่คุณรู้สึกว่าสามารถเรียนรู้จากนักเขียนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก จะว่าดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ คืออะไร 

        ก็นี่แหละเรื่องความตั้งใจมั่น อย่าง เจ.เค. โรว์ลิง กว่าจะได้ตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เขาโดนปฏิเสธไป 11 ครั้งนะ นี่ยังคิดเลยว่า บ.ก. ที่ปฏิเสธงานเขาที่อยู่ในสำนักพิมพ์อื่นๆ มิโดนไล่ออกไปแล้วหรือ? แล้วนักเขียนทุกคนเริ่มต้นแบบนั้นกันด้วยความยากหมดเลยนะ อย่าง สตีเฟน คิง เขียนเรื่องสั้น ก็เจอจดหมายปฏิเสธตลอด แล้วเขาก็จะเอามาแปะบนตู้เย็น จนบนตู้เย็นไม่มีที่ว่าง แล้วพอวันที่เรื่องสั้นเรื่องแรกได้ลงตีพิมพ์ ได้เงินมา เขาจำได้ว่าตัวเองยืนกำเงินไว้เลย และอย่างแรกที่เขาคิดก็คือ เขาต้องตอบแทนภรรยาที่ทำมาหากินเลี้ยงดู ยอมให้เขาลาออกจากงานเพื่อมาเป็นนักเขียน นักเขียนมันต้องผ่านจุดนั้นกันมาทุกคน กว่าจะมีความมั่นใจ ได้ก้าวข้ามอุปสรรค มันเป็นเรื่องที่เล่าสู่กันฟังได้ เมื่อคนที่ประสบความสำเร็จแล้วได้มองย้อนหลัง ส่วนคนที่จะเริ่มต้น ฟังเรื่องนี้ก็ดูเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจดี (หัวเราะ) 

ถ้าคุณจะเชียร์คนสักคนนึง แบบถ้าต้องเจอเส้นทางทั้งหมดนี้ มันคุ้มไหมในอาชีพนักเขียน 

        ต้องบอกว่า มันไม่มีอะไรมีความสุขกว่าวันที่เราเขียนจบ มันเป็นความสุขมากเลยจริงๆนะ บางทีก็ไม่แคร์ด้วยว่าจะได้พิมพ์ไหม เพราะความสุขที่เขียนจบมันมีมากพอแล้ว ช่วงแรกๆ อาจจะมีความรู้สึกว่าอยากให้มีคนพิมพ์จังเลย แต่วันที่เขียนจบ เรามีความสุขมาก ถามทุกคนก็จะตอบว่ามีความสุขที่เขียนจบ มันคุ้มค่ากับความไม่แน่นอน ความกังวลทั้งหลายที่เราผ่านมาตลอดทาง 

มันเป็นงานที่ฟังๆ ดูแล้ว…

        มันเป็นเส้นทางที่แปลก แต่มันก็มีคนที่ใจรักไง ถึงได้บอกว่าคนทำหนังสือไปไหนไม่รอด ลำบาก (หัวเราะ) จริงๆ ถ้าไปทำอย่างอื่นก็อาจไม่ได้ให้ความสุขทางใจขนาดนี้ ชีวิตคนเรามีเวลาเท่ากันนี่แหละ ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ แต่คุณจะทิ้งอะไรไว้ข้างหลังล่ะ? ผลงาน ความคิดของคุณ หรือมันควรจะเป็นอะไร สำหรับเรามันคือหนังสือ ซึ่งกาลเวลามันก็จะพิสูจน์เอง เราเคยพูดสมัย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดังมากๆ เหมือนกันว่า เอาไว้อีกสัก 10 ปีข้างหน้ามาพูดกันใหม่ แต่ทุกวันนี้หนังสือเล่มนี้ก็ยังดังอยู่ แปลว่ามันก้าวข้ามผ่านเวลามาแล้ว ปกติยิ่งนานวัน หนังสือก็อาจจะเชย คนหมดความสนใจไปแล้ว แต่บางเล่มมันไม่ใช่ เราเองก็พิสูจน์ตัวเองด้วยเวลา เราว่าเด็กสมัยนี้ก็ยังรู้จัก ความสุขของกะทิ ไม่รู้ว่าโรงเรียนบังคับให้อ่านรึเปล่านะ (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้รู้ได้ว่า นี่คือความสุขที่พอแล้วสำหรับคนเป็นนักเขียน แล้วพอมาทำโครงการนักเขียนพำนักด้วยทุนตัวเอง เราก็เหมือนได้สนับสนุนนักเขียน ในระดับที่เพียงพอที่จะให้ทำตามฝันได้ มันก็คุ้มค่านะ คุ้มค่าที่จะลอง 

ที่พูดทั้งหมดนี้ก็ยากและลำบากมากเลยนะ 

        ใช่ค่ะ (หัวเราะ) แต่ให้ทำอย่างอื่นเราก็ไม่ทำหรอก อยากเป็นนักเขียนนี่แหละ ขัดแย้งมากเลย (หัวเราะ) จริงๆ คนสมัยนี้มีอาชีพให้เลือกเยอะแยะนะคะ แต่ก็ยังเห็นคนจำนวนมากอยากเป็นนักเขียน ซึ่งเราก็จะบอกทุกครั้งว่ามันยาก แต่มันจะคุ้มค่าถ้าเราทำได้ ถ้าเรามีความรักที่จะทำจริงๆ ไม่ได้ทำเพื่อชี่อเสียง และที่พูดๆ มาทั้งหมดก็เพื่อจะให้เข้าใจว่ามันไม่ง่าย ที่คุณอยากเป็นนักเขียนเพราะคิดว่าง่าย หรือเห็นแค่หน้าเค้กของมันว่า จะมีชื่อเสียง ไปไหนมีคนขอลายเซ็น มันมองแค่นั้นไม่ได้ ถ้าลองผ่าเค้กไปดู มันมีเลเยอร์เป็นชั้นๆ กว่าจะมาถึงหน้าเค้กข้างบนได้ แปลว่ามันต้องผ่านการต่อสู้มามาก คุณต้องต่อสู้กับตัวเองก่อนเลยอันดับแรกว่าจะเขียนให้จบได้มั้ย จะเขียนอะไร มั่นใจในตัวเองแค่ไหน แล้วไหนจะต้องมาสู้กับความคิดตัวเองตอนโดนปฏิเสธกลับมาอีก มันต้องผ่านความคิดเยอะมาก แต่ถ้าคิดว่าพร้อม รักมันจริงๆ มันก็คุ้มค่า (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่คิดว่า งานเขียนมันไม่เห็นมีอะไรเลย ก็แค่เขียนๆๆ ออกมา มันไม่ใช่นะ อย่างถ้าได้รับเลือกมาในโครงการนักเขียนพำนักที่ปากช่อง ก็ต้องมาอยู่กัน 3 เดือน แล้วเราคาดหวังว่าเขาน่าจะพัฒนางานเขียนที่เขาส่งเรื่องย่อมาให้เป็นนิยายให้ได้ ตลอด 3 เดือนนี้เราจะมีการอบรม เขามีคำถามอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร เราจะจัดหานักเขียนอาชีพมาสอนให้ ซึ่งก็ระดับนักเขียนรางวัลซีไรต์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น คุณคำสิงห์ ศรีนอก คุณชาติ กอบจิตติ หรือแม้แต่เราเอง มีการบ้านให้ทำ ทำทุกอย่างเพื่อให้เขาเป็นนักเขียนให้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะขยันแค่ไหน ถ้าเขียนจบแล้ว ต้องการบรรณาธิการ เราก็เป็นบรรณาธิการให้ได้ หาสำนักพิมพ์ให้ได้ แต่ถ้า 3 เดือนใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ก็น่าเสียดาย เสียดายทั้งเรา เสียดายทั้งเขา เลยพยายามเลือกคนที่ เก่งไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ต้องมีความตั้งใจ มี commitment มันไม่ใช่งานง่ายนะ งานหนังสือเป็นงานหนักอย่างที่บอก 

ต้องมีวินัยมากจริงๆ นะ 

        ต้องรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคแน่ๆ แต่เอาแบบนี้ดีกว่า คุณมาอยู่ในโครงการนี้ ก็จะได้ประสบการณ์ทุกอย่าง อยากถามอะไรก็จะตอบ อยากรู้อะไรจะหาให้ แต่ถ้าคุณไม่ขวนขวาย ไม่มี commitment ไม่รู้ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร อยู่กับเรามันก็ไม่มีประโยชน์ เวลา 3 เดือนมันก็จะหายไปเลย แต่ถ้าคุณพยายาม เราก็จะแลกเปลี่ยนกัน เราเองก็จะได้รู้จักคนคนหนึ่งมากขึ้น แต่เขาต้องมีใจที่ตั้งมั่นมากๆ พร้อมที่จะเหนื่อย พร้อมที่จะเรียนรู้ แก้ไข เปิดทัศนคติ และที่สำคัญมากๆ ที่เราต้องเลือกเลยคือ ต้องเป็นคนใจกว้าง เพราะเราเชื่อว่านักเขียนที่ใจแคบ ไม่รอด

        เพราะคุณต้องนำเสนอความคิดที่แตกแยกในเรื่องให้ได้ ถึงคุณอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เป็นความคิดหลัก แต่ความคิดอื่นๆ มันจะเด่นขึ้นมาได้เสมอ คุณต้องรู้ความคิดที่แตกต่างโดยรอบว่ามันคืออะไร ถ้าใจไม่กว้าง มองเห็นแค่สิ่งที่ตัวเองอยากเห็นตรงนี้ มันก็ขาดคุณสมบัติสำคัญไป เราต้องการคนที่ตั้งใจเรียนรู้ มีความมุ่งมั่น และมีความคิดเปิดกว้าง พร้อมรับฟังความแตกต่าง เพราะทุกอย่างมันต้องมารวมกันเป็นคุณสมบัติเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน ความคิดต้องมาก่อน เขียนดีไม่ดียังหัดกันได้ แต่ถ้าไม่มีอะไรจะคิด ไม่รู้จะเขียนอะไรอีก มันจะยากกว่านะ แล้วที่เราเลือก เราก็ให้เวลาคุณไปคิดมาแล้ว เพราะเราเปิดรับสมัครอยู่ 4 เดือน คุณอยากเขียนอะไร คุณต้องไปค้นคว้ามาแล้ว เพื่อจะได้เรื่องย่อ เขาต้องมีในใจแล้วว่าจะไปทางไหน มันก็ทดสอบได้ระดับหนึ่งว่าอยากเป็นนักเขียนจริงมั้ย

คิดว่าตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้คืออะไร? 

        สำเร็จแปลว่าคนที่มาเข้าโครงการนี้ มาแล้วได้ประโยชน์จริงๆ เขาสร้างงานที่มีคุณค่าพอที่คนจะแบบว่า โอ้ เริ่มเขียนจากที่นี่เองเหรอ ถ้ามันถึงขนาดได้ชื่อว่าคนนี้ เกิดจากโปรเจกต์นี้ที่เราตามหา เราว่าเราก็ตายตาหลับแล้ว มันหมายความว่า เราได้ทำให้นักเขียนคนหนึ่งได้เริ่มต้น เขาอาจจะไม่ดังเล่มแรกก็ได้ แต่มันจะทำให้เขามั่นใจขึ้นว่า นี่คืออาชีพที่อยากทำ เส้นทางที่เขาเลือกเดินคือโอเค หลังจากนั้นจะไปสร้างงานอื่นๆ ต่อไปก็ได้ นี่เลยภาวนาเลยนะว่า สาธุ ขอให้ได้คนที่เหมาะสมเถอะ จะได้สมประโยชน์ เราลงแรงขนาดนี้ ตั้งใจขนาดนี้ แล้วไม่ใช่เราคนเดียว แต่ยังมีคนอื่นคอยสนับสนุนเยอะ แล้วนักเขียนอาชีพหลายคนก็อยากได้โอกาสแบบนี้บ้าง เพราะเขาไม่เคยเจอโครงการที่จะสนับสนุนทั้งเงินและที่พักเพื่อให้เขาได้ทำงานเขียนจริงๆ

กำลังคิดเหมือนกันว่า ถ้ามีโครงการสนับสนุนให้คนได้เป็นนักเขียน มีทุนให้คนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เราอาจจะพัฒนาอาชีพคนได้มากขึ้นนะ เช่นตัวแทนนักเขียน Book Doctor คนตรวจต้นฉบับก่อนจะส่งให้ตัวแทน เป็นต้น

        มันจะเจริญขึ้นเลย แต่ก็ต้องกลับไปที่รายได้ก่อนนะ ถ้าเขามีรายได้ที่ดี สำนักพิมพ์ให้ค่าตอบแทนนักเขียนมากพอที่นักเขียนจะไปจ้างคนแบบนั้นมาช่วย เพราะ agent ก็ต้องได้ค่าตอบแทนแบบนั้น เพราะสำนักพิมพ์เขาต้องพึ่งพา agent ในการคัดเลือกต้นฉบับมา เขาจะไม่รับงานจากนักเขียนโดยตรง หรือเวลาสำนักพิมพ์มีนโยบายว่าปีนี้พิมพ์กี่เรื่องๆ เขาก็ยกหูหา agent เลยว่า มีนักเขียนแนวนี้มั้ย ใครบ้าง ดังนั้น พวกนักเขียนถึงต้องหาตัวแทนให้ถูกคน นั่นคือระบบของเขา ซึ่งมันล้วนมาจากค่าตอบแทนที่มากพอ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เขียนแทบตาย เขาจะพิมพ์แค่ 1,000 เล่ม คำนวนแล้วสมมติได้ 30,000 แล้วคุณจะไปจ้างคนมาตรวจต้นฉบับ คิด 10% คือต้องให้ 3,000 มันไม่คุ้ม และไม่มีใครทำให้คุณหรอก ปัญหามันมาเป็นลำดับชั้นอย่างนั้นเลย ยกตัวอย่าง แดน บราวน์ ที่เขียน Davinci Code เขาไปถึงจุดที่ international แล้ว เขาน่าจะมีทีมทำงาน ทีมหาข้อมูลเลยละ แต่หันกลับมา บ้านเราพิมพ์หนังสือกันเป็นจำนวนน้อย เพราะเขาเชื่อว่าคนอ่านน้อย ปัญหาก็จะวนไปเป็นวัฏจักรแบบนี้แหละ พอเริ่มต้นพิมพ์น้อย เขาก็ทำสัญญาให้นักเขียนน้อย หรือเพราะเขารู้ว่าพิมพ์เล่มนี้ 1,000 เล่ม น่าจะขายหลายปี ถูกไหม (หัวเราะ) คือเรื่องนี้มันต้องพัฒนากันไปหมดทั้งระบบเลย ส่งเสริมนักเขียน ส่งเสริมนักอ่าน คนอ่านเยอะ ตลาดไปได้ดี สำนักพิมพ์ก็กล้าพิมพ์จำนวนมาก นักเขียนก็ได้เงินเยอะ ไม่ต้องมาคิดมาก หมดกังวลที่เล่าไปเมื่อกี้

สุดท้ายแล้ว ที่พูดมาทั้งหมดนี้ คุณบอกว่านักเขียนเป็นอาชีพที่ไม่ง่าย ต้องมีความกล้า เลยอยากถามว่า แล้วรางวัลของความกล้าคืออะไร

        รางวัลของความกล้า ก็น่าจะเป็นว่า ถ้าเราจากโลกนี้ไป เรายังได้ทิ้งอะไรไว้บ้าง แปลว่า Leave Marks on the World อย่างถ้าเราไม่อยู่แล้ว หนังสือเราก็ยังอยู่นะ และน่าจะยังอยู่ได้อีกนาน เหมือนที่เราเห็นนักเขียนหลายคนที่เป็นตำนาน หนังสือเขาอยู่นานกว่าตัวเขา ในเมื่อเราพูดกันเสมอว่า ชีวิตมันไม่แน่นอน ถ้าเราจะฝากอะไรไว้ หรือสร้างสิ่งที่มีแรงขับเคลื่อนให้สังคม หนังสือเป็นสิ่งที่ชัดมากนะ ถ้าหนังสือมันดี มันก็ไม่มีวันตาย 


        Writer in Residence หรือโครงการนักเขียนพำนัก ส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 

        1. เป็นมหาวิทยาลัยที่เชิญนักเขียนให้มาพำนักในแคมปัส และใช้เวลาสอนการเขียนให้กับนักศึกษา พร้อมๆ กับทำงานเขียนของตัวเอง ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัย William & Mary ในสหรัฐอเมริกา มีนักเขียนเช่น Mike D’Orso ผู้เขียนเรื่อง OCEANA: Our Endangered Oceans and What We Can Do to Save Them เคยเข้าพำนัก

        – https://www.wm.edu/as/english/writing/news/year-after-year,-writer-in-residence-program-serves-as-beacon-for-aspiring-authors.php  

        ตัวอย่างมหาวิทยาลัยอื่น เช่น

        – https://weissman.baruch.cuny.edu/arts-and-culture-at-weissman/the-sidney-harman-writer-in-residence-program/

        – https://www.sheffield.ac.uk/science/about/writers-residence

        2. เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศลที่ส่งเสริมการทำงานของนักเขียน 

        ตัวอย่างเช่น Bellagio Center ที่ประเทศอิตาลี มีนักเขียนเช่น Michael Ondaatje ผู้เขียนเรื่อง The English Patient เคยเข้าพำนัก นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีอีกหลายแห่ง  สามารถหาข้อมูลต่อได้ที่ 

        – https://www.rockefellerfoundation.org/bellagio-center/ 

        – https://fondation-janmichalski.com/en/residences

        – https://www.hemingwaybirthplace.com/writer-in-residence


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ