วิถีศิลปินเต็มตัวแบบ รวิชญ์ เทิดวงส์ และนิยาม ‘ชีวิตคือการเช่าระยะยาว’

แม้งานแสดงโชว์เดี่ยวผลงานภาพแบบแอ็บสแตรก ในชื่อ Tapestry of Life ณ 333 Studio จะจบลงไปแล้ว แต่เรื่องราวของ ‘ปิ๊บ’ – รวิชญ์ เทิดวงส์ ยังอบอวลเป็นควันหลงในความรู้สึกเราแบบงานจบ เรื่องก็ยังคงไม่จบไปง่ายๆ 

        บทสัมภาษณ์ขนาดยาวในรอบหลายปีชิ้นนี้ของเขา เลยเป็นการเก็บตกบทสนทนาที่ทำให้เรามองภาพเขากว้างกว่าภาพที่เขาเคยเป็น… อย่างน้อย เราก็เชื่อว่า มันไม่ใช่แค่มิติเดียว 

        ปิ๊บ รวิชญ์ บอกว่า เขาเดินออกจากวงการบันเทิงในวันที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตจาก ‘แรงเงา’ ละครดังที่สร้างเรตติ้งถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ของช่อง 3  

        บทท่าน ผ.อ. ที่เขาสวมบทบาทได้สมจริงที่สุดอีกบทหนึ่ง ทำให้หลายคนติดใจบทบาทการแสดงของเขา และอยากเห็นเขาวาดฝีไม้ลายมือในวงการละครไทยอีก แต่เจ้าตัวไม่คิดแบบนั้น… เขาบอกว่า เขารู้เกมมันแล้ว และไม่คิดว่าจะมีอะไรที่ท้าทายเขาได้อีกในวงการนี้ จากนั้น เส้นทางการแสดงก็ดูเหมือนจะหยุดลงแค่นั้น เขาเบนเข็มไปทำธุรกิจ พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยอยู่หลายปี 

        ซึ่งจะว่าไป บทบาทเกี่ยวกับศิลปะนี่เองที่หลายคนอาจลืมไปแล้วหรือไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่า เขาเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาโดยตรง และชอบเกี่ยวกับงานศิลปะแบบเข้มข้นลึกซึ้ง

        “ผมวาดรูปมาตั้งแต่อนุบาล เป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ดีที่สุด มากกว่าการพูด มากกว่าอะไรทั้งหมด” เขาย้ำแบบนั้น 

        รวิชญ์เล่าด้วยว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เขาเคยมีผลงานแสดงภาพมาแล้วที่ดิ เอ็มโพเรียม ซึ่งถือว่าเป็นห้างที่ดังที่สุดในตอนนั้น จัดแสดงงานอยู่ 1 เดือนเต็มๆ ขายภาพได้กว่า 40 ภาพ สรุปสั้นๆ ว่า เป็นงานที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในเวลานั้นไปเลยก็ว่าได้ ทำให้เขามีภาพของการเป็น ‘พระเอกที่วาดรูปได้’ ซึ่งเขาก็น้อมรับ เพราะไม่แปลกที่คนจะรู้สึกแบบนั้น แต่หลังจากเข้าสู่วงการแสดงอย่างยาวนาน เขาก็ไม่ได้คิดจะจับแปรงสะบัดสีใดๆ อีก เหมือนเสียงเรียกภายในยังไม่ดังพอ ปี่กลองยังไม่ประโคม ว่าอย่างนั้นก็ได้ 

        และเมื่อวันหนึ่ง ตัวตนข้างในเริ่มคลี่คลาย ฉายแวว รวิชญ์ก็ชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่เขาควรทำในชีวิตหลังจากนี้ เขาเลือกปักหลักชีวิตไปบนเส้นทางของศิลปินและที่มาของเส้นทางนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่า 

        “ผมซื้อคอนโดฯ ไว้ และอยากแต่งคอนโดฯ ใหม่ ตอนนั้นอยากได้ภาพแอ็บสแตรกมาติดผนังห้อง หาเท่าไหร่ก็ไม่ถูกใจ เลยวาดเอง” ฟังดูง่าย แต่ถ้าอ่านบทสัมภาษณ์นี้จนจบ คุณจะลืมคำว่าง่ายไปเลย 

        รวิชญ์บอกว่า เขาเป็นคนหมกมุ่น จริงจัง ทำอะไรแล้วต้องทำให้ดี ต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องชนะ การนั่งวาดภาพอยู่หน้าแคนวาสที่ว่างเปล่าสำหรับเขาไม่ต่างอะไรกับการทำสงคราม หรือพูดง่ายๆ ว่าทำสงครามกับสิ่งที่อยู่ในหัวตัวเองเพื่อจะได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพแอ็บสแตรกที่เขาหลงใหลหัวปักหัวปำอยู่ในขณะนี้ เราถามระหว่างสนทนาว่า ภาพแนวนี้ หลายคนดูไม่รู้เรื่อง แล้วจริงๆ มันต้องดูรู้เรื่องมั้ย

        “มันจะไปรู้เรื่องได้ยังไง” เขาหัวเราะไปด้วย  ส่วนเหตุผลที่ละเอียดลออราวกับนั่งเรียนชั่วโมงศิลปะจะเป็นอะไรนั้น เราอยากให้คุณไปติดตามอ่านเอาเอง 

        ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่เราว่ารวิชญ์ถ่ายทอดได้ลึกซึ้ง ยาวเหยียด และทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อเนื่องไปครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะอยากเข้าใจความคิดของผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้น อาทิ ประสบความสำเร็จในธุรกิจจนไปซื้อรถเฟอร์รารีที่เป็นรถในฝันได้ แน่นอนว่า เขาเห่อกับมันมาก จนโพสต์ภาพในอินสตาแกรมอยู่เป็นนานสองนาน ได้คนติดตามจากทั่วโลกหลักแสนคน อยู่มาวันหนึ่ง เขาเบื่อ หาเหตุผลในการทำแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว เลยเปลี่ยนภาพรถซูเปอร์คาร์เป็นภาพคำคมธรรมะ หลวงพ่อต่างๆ เท่าที่จะหามาได้ 

        แฟนคลับในอินสตาแกรมถึงกับไปไม่ถูก นึกว่าแอคเคาต์โดนแฮ็ก

        ในวัยเข้าสู่เลข 5 รวิชญ์กำลังสนุกกับชีวิตของการเป็นศิลปิน และแน่นอนสายตาในการมองโลกของเขาค่อยๆ เปลี่ยนไป 

        “ชีวิตมันเป็น leasehold นะ อย่าคิดว่าเราจะครอบครองอะไรได้ ต้องให้ไปงานศพกันอีกกี่ครั้ง ถึงจะเข้าใจล่ะว่าชีวิตมันไม่มีอะไรควรยึดติด” 

จุดเริ่มต้นในการเป็นศิลปินเต็มตัว 

        เอาจริงๆ มันก็วนเวียนอยู่กับศิลปะนะ เพราะระหว่างนั้นเราแต่งงาน มีครอบครัว  ก็ไปเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่ในใจเราไม่อยากจะจับสีอะไรแล้ว ไม่อยากที่จะสร้างงานแล้ว พอเข้าอายุ 40 ก็กระโดดจากการเป็นนักแสดง ไปจับงานธุรกิจ แล้วก็ทิ้งงานแสดงเลย ทิ้งในปีที่ดังที่สุดในชีวิต คือละครเรื่อง แรงเงา ทิ้งในปีที่เรตติ้งช่องสามไม่เคยเยอะขนาดนั้นมาก่อน 

        แต่เพราะเรารู้เกมมันแล้ว เรามองไม่เห็นอนาคตว่ามันจะขยายได้มากกว่านี้ แล้วเราก็ไม่ได้เห็นภาพตัวเองทำงานเป็นผู้จัดด้วย ก็เลยหยุดทุกอย่างไปทำธุรกิจซึ่งก็เป็นรายได้ที่ทำให้เราอยู่ได้  

        ประเด็นก็คือว่า พอไม่ได้คิดจะจับสี จับแปรงอะไรอีกแล้ว แต่ของข้างในของเรามันหนักกว่าสมัยก่อนอีก เหมือนเราผ่านการดูงานมาเยอะ ไปเห็นงานระดับโลกมาหลายแห่ง หลายรอบ งานศิลปินดังๆ นี่พูดชื่อมาเถอะ ดูแล้วดูอีก เพราะเราบ้าดีเทล แล้วเป็นพวกนักวิจารณ์อยู่ในใจมาตลอด เข้าใจว่าอะไรงาม อะไรไม่งาม เข้าใจหมด แค่ไม่คิดว่าจะต้องมาจับสี หรือมาจับพวกอุปกรณ์อีก แต่ของพวกนี้มันอยู่ในตัวเอง มันคือของ ไม่ใช่ทักษะ เพราะทักษะเรามีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แค่จับอุปกรณ์ขึ้นมา หรือไม่จับ แค่นั้นเอง 

        ทีนี้ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ปี 2020 ไปซื้อคอนโดฯ อยู่เอง เอาเฟอร์นิเจอร์ไปลงเสร็จสรรพ เอ้า มันมีกำแพงต้องติดรูป แล้วรูปที่มันจะเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ที่เราซื้อ ต้องเป็นแอ็บแสตรก ทีนี้เอาไงดีล่ะ ก็เลยไปพาดูในเฟซบุ๊ก ไปเริ่มแอดศิลปินคนอื่น กะว่าจะดูรูปเขาเพื่อซื้อมาติด ปรากฏว่าไม่ได้รูปที่ถูกใจ บางรูปก็สวยดีแต่ว่าขนาดของเราไม่ได้เหมาะ เราต้อง 1.20 เมตร คืออยากได้รูปที่ถูกใจในไซซ์ที่ถูกใจ ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาก็ไม่มีขายรูปด้วย เราก็คิดในใจ เฟรมเปล่าก็มีขายนี่หว่า ทำไมเราไม่ทำซะเองเลยวะ เชื่อมั้ย เราไม่คิดจะเป็นศิลปินอะไรเลย เราแค่อยากเอาภาพแอ็บแสตรกมาติดห้องกินข้าว 

สรุปคือวาดเอง แล้วก็เอารูปตัวเองไปติด? 

        ใช่ จะได้ถูกใจไง เอาเลยครับ ซื้อเฟรมเลย ซื้อสี แล้วห้องเรามันก็ไม่มีที่วาดใช่มั้ย ก็แบ่งห้องแต่งตัว ซึ่งก็คือห้องนอนนั่นแหละ เอามา apply เป็นห้องแต่งตัว ก็ปรับใหม่ เอาผ้ามาปูเลยครับ เอาพวกพลาสติกปูทับ นี่คือที่มา แล้วก็วาดไป แต่อย่าคิดว่าแอ็บสแตรกจะง่าย ที่วาดอาจจะง่าย แต่ที่ถูกใจยาก ตอนนั้นมันไม่ถูกใจไง มันไม่มีพลัง 

        อย่างที่บอกว่า เราน่ะดูภาพเป็น สติปัญญาและตาน่ะดูเป็น แต่มือน่ะทิ้งไปนานแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็วิเคราะห์หรือว่าตัดสินงานของตัวเองเลย ว่ามันใช้ไม่ได้ คือเราเป็นคนดูงานศิลปะ critic ในใจมา 20 ปี จากการไปดูงานทั่วโลกอย่างที่บอก พอลุกขึ้นมาวาดภาพเอง มันรู้ตัวเลยว่าใช้ไม่ได้ ก็เลยเริ่มไปเอาหนังสือศิลปะ เอามาดู เอามาบิลต์อารมณ์ เราต้องทำให้ตัวเองเชื่อ ถ้าไม่เชื่อยังไงก็วาดไม่สวย 

เหมือนการแสดงเลยเนอะ

        การแสดงยังง่ายกว่าเยอะ การแสดงพอสวมบทบาทนั้น เช่น สวมบทบาทคนขับแท็กซี่ เราก็เป็นคนขับแท็กซี่ สวมบทเป็นโจรก็เป็นโจร สวมบทเป็นนายแบงค์ก็เป็นนายแบงค์ แต่การวาดภาพมันไม่ใช่ ผลงานทั้งหมดมันไม่ได้อยู่ที่บทบาท แต่ผลงานทั้งหมดอยู่ที่สิ่งที่ออกไปนอกตัวเรา ต่อให้เราอยู่บ้าน ผลงานก็ยังอยู่ที่ภาพ อยู่ที่แกลเลอรี

วาดภาพแรกใช้เวลานานไหม

        ก็นานอยู่ เพราะคิดว่าจะเอายังไงดีวะ จะเอาโทนไหนดี คิดโทนไปคิดโทนมา พองานเสร็จก็โพสต์ลงเฟสบุ๊ก กองเชียร์เยอะเลย สองสามร้อยไลก์ มาคอมเมนต์ว่าสวยงาม ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า เราเริ่มมั่นใจ ก็ไปซื้อเฟรมอันเล็กๆ เหมือนกล่อง ก็วาดอีกไว้ติดในห้องน้ำ คราวนี้ไอ้รูปเล็กๆ มันวาดสนุก ยิ่งเป็นแอ็บสแตรกด้วย ก็เอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กอีก แล้วตอนนั้นดันไปประกาศในเฟซบุ๊กว่า จะโชว์งานเดี่ยว 40-50 รูป เพราะรู้สึกว่ากองเชียร์มันเยอะไง ประกาศไปแล้ว แต่ในใจน่ะ คิดว่าไม่วาดอะไรมาก วาดแค่รูปเล็กๆ เท่ๆ เอาไปโชว์อย่างนั้นพอแล้ว เราไม่อยากจะตูมตามเหมือนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ไม่อยากวาดรูปอะไรใหญ่โต แต่เสียงเชียร์มันเหมือนเสียงปี่เสียงกลองประโคม มันเหมือนปลุกเรา แล้วทำให้เราหมกมุ่นมากเลยนะ เพราะเป็นคนที่ถ้าอยากทำแล้วต้องชนะ ต้องทำได้ ไปๆ มาๆ มันมาถึงจุดที่ว่า ปี 2020 ช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 พอดี เราก็หาข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะไปด้วย ก็ไปเจอ 333 แกลเลอรี เห็นว่าไลติ้งเขาสวยดีเว้ย เลยติดต่อไปคุย พอถามไป  เขาก็เข้าใจแล้วว่า เราน่ะเป็นดารา แต่เรากลับคิดว่าคนลืมไปหมดแล้ว เพราะส่วนตัวก็ไม่ได้สนใจประเด็นนั้น เขาบอกลองเอางานมาดูสิพี่ เราก็เอาไป มีขนาดเมตรยี่สิบที่วาดเผื่อไว้รูปนึง 

        วันนั้นมีงานคนอื่นโชว์อยู่ รูปเท่าหม้อแกง ใหญ่มาก ทุกรูปไซซ์ใหญ่หมด เราเห็นก็…  ตายแล้ว รูปเราเล็กๆ จะไหวหรือเปล่า เขาบอกไม่เป็นไร พี่โชว์รูปของคนอื่นร่วมด้วยได้ เดี๋ยวเขาจัดสรรให้ ผมบอกไม่ได้ ต้องเดี่ยวเท่านั้น นี่คือที่มา เป็นผลงานโชว์เดี่ยวอีกครั้งในชีวิต โชว์ในปี 2021 เพราะเวลาเขานับจะนับแบบนั้น อย่างคุยปี 2020 งานก็จะออกปี 2021 หรืองานปีนี้ 2022 ก็คุยกันมาแล้วเมื่อปีก่อน แล้วเดี๋ยวก็จะมีต่อปีหน้า 2023 ซึ่งได้คุยกันเรียบร้อยแล้ว

        เพราะฉะนั้น การแสดงงานแอ็บสแตรกครั้งแรกก็คือที่นี่ แล้วก็เป็นช่วงที่ผจญกับโควิดอย่างหนักเลย ช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ได้โชว์ แล้วก็มีผลประกอบการที่โอเค 

ถามนิดหนึ่งว่า งานวาดภาพแบบแอ็บแสตรก มันมีความหมายอย่างไรในชีวิตคุณบ้าง 

        คือภาพแอ็บสแตรกมันเป็นเรื่องของนามธรรม จะบอกว่า ไม่มีใครหรอก ต่อให้คุณจะเป็นระดับโลก ที่ขายรูปละสองสามล้าน มันไม่มีหรอกที่จะวาดออกมาได้เคลียร์ หรือเจ๋งเท่าในหัวสมอง ในมโนสำนึก หรือในจิตใจคุณ เพียงแต่มันแสดงให้คนอื่นเห็นไม่ได้ในภาพพวกนั้น

        มันเศร้าก็เศร้าที่สุด รักก็รักที่สุด แฮปปี้ก็แฮปปี้ที่สุด เบิกบานก็เบิกบานที่สุด แต่เขาก็จำเป็นต้องถ่ายทอดใช่มั้ย ส่วนใหญ่ก็ผ่านมือ ศิลปินบางคนก็ผ่านเท้า หรือผ่านวิธีอะไรก็ว่ากันไป แล้วแต่เทคนิค มันเป็นเรื่องของเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการใช้เกรียง ใช้พู่กัน แต่อย่าลืมว่ามันมาจากในนี้ก่อน (ชี้ที่ศีรษะ) ในมโนภาพของเรา ในห้วงอารมณ์ของเรา เป็นเรื่องนามธรรม เพราฉะนั้น มันจะไม่มีวันที่จะบอกได้ว่า พี่วาดรูปเทพมากเลย เพราะสิ่งที่อยู่ในหัว คุณยังมองไม่เห็น เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมาผ่านสสาร สสารคืออะไร สีน้ำมัน พู่กัน เฟรม ผ้าใบ ขนาดของเฟรม นี่คือสสาร 

        ทีนี้สิ่งที่ตาเห็น คือสำคัญมาก เพราะสายตานี่สำคัญมาก ถ้าไม่มีตาก็วาดไม่ได้ ถ้าย้อนกลับไปสมัยโบราณ ทุกคนวาดภาพเหมือน อาจจะมาจากยุคที่ไม่มีกล้องถ่ายรูป จะวาดผนังถ้ำ วาดอะไรก็แล้วแต่ ถ่ายทอดทั้งนั้นแหละ เป็นสสารทั้งนั้น เอาดินมาเป็นสีแดง เอาอะไรต่อมิอะไรมาเป็นวัตถุดิบ

คือถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา

        ใช่ ใช้จินตนาการ ทั้งจิต ทั้งใจ แต่พวกนั้นมันไม่ใช่แอ็บสแตรก ไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะศิลปินพวกนั้น พยายามจะมีค่านิยมที่ต้องวาดภาพให้เหมือนที่ตาเห็น คุณต้องซื่อสัตย์กับตาคุณ คุณเห็นอะไร คุณจะไปวาดอย่างอื่นไมได้ เห็นสองขาคุณไปวาดสามขาไม่ได้ คุณต้องวาดตามที่ตาคุณเห็น ต้องซื่อสัตย์กับมัน ใครแหวกแนวมาก็โดนเล่นแล้ว 

        ที่มันเริ่มเป็นแอ็บสแตรกจริงๆ เนี่ย คือยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว คือพวกอิมเพรสชันนิสต์ นี่พูดถึงที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นลัทธิขึ้นมานะ คือไม่ได้วาดจากตาเห็น ไม่ได้ซื่อสัตย์กับตาร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ซื่อสัตย์กับใจด้วย แต่ใจอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีที่มา คือถ้าให้สรุป ก็เริ่มจากความประทับใจ ไม่ว่าจะประทับใจแสง แสงตอนบ่าย แสงตอนเช้า แต่ใช้อาคารเดิม แล้วศิลปินไม่มีกล้องถ่ายรูป เขาไม่วาดภาพจากรูปถ่ายหรอก เพราะรูปถ่ายมันไม่มีสีด้วย มันมีแต่ขาวดำทั้งนั้น แล้วหายากด้วย ไปเองนี่แหละ เห็นอะไรที่แบบซื่อสัตย์ด้วย กับสิ่งที่ตาเห็นด้วย หลายเรื่อง ก็ไปสถานที่นั่นทุกวัน เปลี่ยนเวลาไปเรื่อย 

        แต่ว่าในฝั่งของตา หรือว่าของสรีระเนี่ย มันก็ไปวิเคราะห์อีกว่า การทำงานของสีที่อยู่ข้างกัน มันไปส่งผลกับตาด้วย แล้วฝั่งนามธรรม ก็ไปทำให้มันเกิดภาพที่แบบผสมสีในจินตนาการด้วย เพราะฉันรู้สึกเศร้า ฉันมีปัญหามา และเห็นอาคารนี้ วาดแม่งเศร้าเลย แต่วาดเป็นอาคารนะ ไม่ได้ทิ้งฟอร์มนะ อะไรแบบนี้ ร้อยกว่าปีนี่เกิดอะไรขึ้นเยอะมาก เกิดลัทธิขึ้นเยอะ 

        หลังจากนั้นก็เติบโตออกมาอีกหลายแขนง ศิลปินบางคนทำแต่จุด ใช้สายตาไปทำปฏิกิริยากัน แล้วทำให้เกิดสีขึ้นจากจุดข้างกัน เหมือนต่างคนต่างก็เหมือนอยู่ในห้องแล็บนะ วิเคราะห์เอง แล้วก็ทำขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็จะเกิดสีที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา ที่กล้องถ่ายรูปถ่ายออกมาแล้วไม่ใช่สีนั้น นี่คือต้นแบบของใครก็ไม่รู้ที่อุตริคิดว่าใช้ใจในการวาดภาพด้วย   

        ทีนี้หลังๆ ผมก็เชื่อว่าภาพหลายๆ อย่างมันทิ้งฟอร์มแล้ว คือทิ้งสิ่งที่ดูรู้เรื่องน่ะ มีแต่น้ำหนัก มีแต่โทนสี มีแต่ขนาด แต่ไม่มีสิ่งที่ตาดูรู้เรื่องเลย ทลายกรอบทุกอย่าง บางทีเป็นเส้น แล้วบอกนี่เป็นผู้หญิง ก็มาจากฟอร์มผู้หญิงนี่แหละ แล้วตัดฟอร์มจนไม่เหลือเลย นี่พูดโดยสรุปนะ 

อยากรู้ว่า ช่วงที่คุณผลิตผลงานแอ็บสแตรก คุณค้นพบอะไร

        การวาดภาพแอ็บสแตรกเป็นเรื่องของเทคนิคเยอะ เทคนิคที่อยากจะแตกต่างจากคนอื่น อยากจะลองเทคนิคนี้เข้ามาใช้ดู ผสมผสานได้มั้ย ลองดูพื้นผิว พยายามคิดอะไรที่เคยมีใครทำมาก่อน แต่อย่าลืมนะ พลังอะไรต่างๆ มันไม่เหมือนตอนเด็ก 

ปีหนึ่งผลิตได้จำนวนเท่าไหร่

        คือจริงๆ มันอาจจะไม่เยอะหรอก แต่ว่ามาตรฐานเราสูง สูงในมุมของเรา เราไม่ได้ทำเขี่ยๆ ถ้าทำเขี่ยๆ น่าจะมีสัก 500-600 รูป ทำๆ แล้วก็เอาไปโชว์ มันไม่ใช่ นี่มาตรฐานแบบเข้มงวด กว่าจะออกมาแต่ละชิ้น ต้องผ่านมาตรฐานตัวเอง ตัวเองมันมีหลายตัวอยู่ในนี้ มันมีตัวตรวจสอบด้วย มันมีหลายๆ ตัว แต่ทีนี้มันก็เป็นเราแหละ บางทีก็เมานะ ทำๆ ไปมันเมา 

เมายังไง

        เมาก็คือ ดูทุกอย่างสวยหมดเลยในห้อง ก็ต้องไปดูงานคนอื่นบ้าง เขาจัดนิทรรศการอะไรก็ต้องไปดู ไปเจอเพื่อน ไปเยี่ยมเพื่อนที่สตูฯ บ้าง ดูแล้วกลับมาอยู่กับตัวเอง 

คนที่เขาบอกว่าดูงานแล้วแอ็บสแตรกแล้วไม่รู้เรื่อง มันผิดไหม

        ไม่ มันจะไปดูรู้เรื่องได้ยังไง (หัวเราะ) ในเมื่อบางทีในหัวเรามันก็เป็นอวองการ์ดด้วยซ้ำ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องราวหรอก แล้วเราก็ถ่ายทอดไอ้สิ่งนั้นแหละออกมา มันเป็นการตกผลึกของฟอร์มที่ต้องโยนทิ้งไปแล้ว อย่างบางคนบอก เฮ้ย พี่ เมื่อคืนนี้ผมฝัน ฝันก็แปลว่าไม่ได้ตั้งใจใช่มั้ย ฝันเอง ฝันว่าผมเข้าไปในห้องแล้วงูโผล่มา พยายามจะกัดผม ผมก็วิ่งหนี อันนี้คือดูรู้เรื่อง แต่มันมีไม่รู้เรื่องก็มี คือแบบมันไม่มีฟอร์มอะไรเลย 

        ดูภาพแอ็บสแตรกนี่ต้องโยนคำว่าดูรู้เรื่องทิ้งไปเลย ใช้ความรู้สึกอย่างเดียว ที่เขาบอกว่าชอบมากรูปนี้ หรือว่าซื้อไป เพราะว่าความรู้สึกอย่างเดียว หรือบางคนชอบสีนี้เป็นพิเศษ ยังไงก็แพ้สีนี้ ก็ซื้อไปเลย แบบนี้ก็มี 

เคยมีประสบการณ์ที่ซื้อรูปแบบด้วยเหตุผลนี้บ้างมั้ย

        ผมไม่ได้สะสมรูป ไม่ได้ซื้อ อาจจะเคยซื้อบ้างสมัยก่อน แต่ไม่สะสม เป็นคนชอบผลิตเองมากกว่า แต่พวกนาฬิกา วัตถุอะไรแบบนี้ สะสมบ้าง แต่ว่าไม่ได้สะสมภาพวาด 

        คือจริงๆ ในส่วนของงาน มันต้องเป็นคำพูดจากคนอื่นที่เห็น โดยเฉพาะคนที่ดูเป็น คนที่เห็นงานมาเยอะๆ เขาวิเคราะห์ได้ คนที่ไม่เป็นเลยก็จะชมอย่างเดียว สวยจังเลย อย่างเพื่อนมาที่บ้าน มาที่สตูฯ เรา ชมงานอย่างเดียวเลย เราก็รู้สึกว่าไม่ต้องฟังแล้ว ถ้าฟังแล้วจะหลงทาง จริงๆ ก็ไม่ต้องฟังใครหรอก 

ภาพแอ็บสแตรกนี่มีแบบวาดออกมาไม่สวยมั้ย 

        มีครับ (หัวเราะ) เคยเห็นภาพแอ็บสแตรกราคาสี่พันล้านมั้ย ของ มาร์ค รอคโค สวยหรือไม่สวยล่ะ เขียนอะไรแบบที่เด็กเขียนได้น่ะ แต่ราคาเป็นพันล้าน แล้วทำไมเด็กไม่ได้ขายราคานั้นได้บ้างล่ะ ใช่มั้ย 

เมื่อกี้คุณพูดเล่นๆ กับเราว่า เวลาอยู่หน้าแคนวาส เหมือนอยู่สนามรบ 

        ใช่ แล้วก็ใส่อารมณ์กับมันไป แล้วก็รบให้ชนะ คือชนะมันมีหลายแบบ ชนะในอารมณ์ที่ราบเรียบก็มี ในตัวเรามันมีหลายคนใช่มั้ย ไอ้คนอีกคนก็ต้องสู้กัน ฉันไม่ให้เธอผ่านนะ ไม่งั้นเราจะมาอยู่อย่างนี้เหรอ ความที่เราดูงานมาเยอะ เราจะคิดเลยว่า ถ้าเอางานเราไปติดคู่กับใคร เราต้องไม่อาย เอางานใครระดับโลกกี่พันล้านมาวางคู่ เราต้องไม่อาย คิดแบบนี้เลย ถึงได้มาตรฐานสูงไง 

        รู้มั้ย ปีหนึ่งมี 365 วัน ผมทำได้แค่ 40-50 รูป ถ้าวาดสั่วๆ ต้องเป็นร้อยรูปขึ้นไปแล้ว คือมาตรฐานตัวเองมันไม่ยอมปล่อย แล้วที่นี้ ถ้าไม่ดี ไม่มีทางให้มาแสดงงาน 

ชีวิตของการเป็นศิลปินเต็มตัวนี่มันเป็นอย่างไร

        มันเอาแต่ใจ (หัวเราะ)​ เล่นละครยังพูดตามบท ลองไม่พูดตามบทดูสิ ก็เละเทะ ถูกมั้ย แต่มีข้อนึงที่ไม่เหมือนกัน คือเป็นศิลปินต้องควักเงินตัวเอง เล่นละครได้เงิน มีคนลงทุนให้ แต่ตรงนี้ของเรา เราลงทุนเองหมดเลยที่เห็น ทีนี้ประเด็นคือ ชีวิตมันคือการลงทุนอยู่แล้ว มีอาชีพไหนไม่ลงทุนบ้าง ไม่มีหรอก อย่างน้อยที่สุดก็ต้องลงทุนเรื่องเวลา เวลาเรามีจำกัด เฉลี่ย 80 ปี การมานั่งคุยตรงนี้ นี่ก็ลงทุนแล้วนะ ชีวิตมันต้องลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เวลานี่แหละเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เอากลับมาไม่ได้ด้วย 

        เพราะฉะนั้น มันก็แตกฉานเรื่องพวกนี้ เราถึงกล้าวาดแอ็บสแตรก เพราะตอนนี้เราว่าเราแตกฉานเรื่องปรัชญาพอสมควรนะ จะบอกอะไรอย่าง เราอย่าไปคิดว่าเงินมันคือการลงทุนอย่างเดียว เวลานั่นแหละสำคัญที่สุด เราเจอคนตายต่อหน้าต่อตามาเยอะแล้ว ตายไม่บอกไม่กล่าวกับเพื่อนฝูงก็มี อายุ 59-60 ตายแล้วก็มี มีเยอะด้วย แต่ตอนนี้หลักๆ รุ่นพ่อเรา อายุเลขแปด เริ่มทยอย มันเป็นธรรมชาติชีวิต แต่ชีวิตคนเรามัน leasehold (เช่าซื้อระยะยาว)​ ไม่ใช่ freehold (ครอบครองสิทธิ์) 

        ยกตัวอย่าง ตอนซื้อที่ๆ เราชอบ เราซื้อแบบ leasehold เห็นว่าเป็นคอนโดฯ วิวสวย โลเคชันดี อยู่ใกล้สปอร์ตคลับ ตอนนั้นมีคนแนะนำว่าซื้อแบบ freehold เลย เราก็คิดหนักนะ กลับมานั่งคิดวนเวียนว่า หรือจริงๆ ชีวิตมันควรเป็น leasehold วะ อีกสามสิบปี เราอายุแปดสิบ ก็ไม่ได้นานมากนะ แต่ตอนแปดสิบกูคงทำอะไรไม่ได้แล้วไหม (หัวเราะ) 

ช่วยอธิบายชีวิตที่ leasehold ให้ฟังหน่อย

        ชีวิต leasehold ที่พูดคือ อีกสามสิบปี อายุแปดสิบแล้ว ตอนนั้นหวังจะไปทำอะไรอีก จะขับซูเปอร์คาร์ คงไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเลือกได้ ตอนนี้เราควรอยู่อย่างมีความสุขไปเลย อยากกินอะไรกินไปเลย เพราะว่าอะไร ชีวิตมัน leasehold นะเว้ย เห็นตัวอย่างไม่พอ ไปงานศพยังไม่เยอะอีกเหรอ จะต้องมีปัญญามากกว่านี้เหรอ  มันไม่ใช่ จะต้องไปงานศพอีกสักกี่พันรอบ ถึงจะมีปัญญาบอกว่า ชีวิตต้อง leasehold คืออย่าไปยึดติดอะไรมากมาย แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดีแบบนี้ เขายังมีภาระ แต่ส่วนหนึ่งก็สร้างภาระให้ตัวเองด้วยแหละ เช่น ไม่มีลูก ก็ไปสร้างลูกขึ้นมา ก็หนี้ล้วนๆ หรือว่าไม่มีที่อยู่ก็ไปซื้อคอนโดฯ ขึ้นมา ทีนี้มีคอนโดฯ คุณก็เป็นทาสเลยทีนี้ ต้องทำทุกอย่างแล้ว เพราะว่าต้องผ่อนคอนโดฯ เพราะฉะนั้น เรากำลังจะบอกว่า ชีวิตมัน leasehold แต่ไม่มีใครคิดแบบผมหรอก เพราะว่าเขาก็ควรจะผ่อนรถ ผ่อนคอนโดฯ ใช่มั้ย

        แต่นอกเหนือจากนั้น ชีวิตมันไม่ได้ง่าย พอพ้นภาระเรื่องที่อยู่ ต่อไปเจอว่าเป็นโรคต่ออีก ตอนแรกคุณซื้อคอนโดฯ ซื้อรถ คุณก็ผ่อนให้กับบริษัทเหล่านี้ แต่พอคุณผ่อนจบปุ๊บ คราวนี้คุณผ่อนให้หมอ ให้โรงพยาบาลต่อ เพราะถึงวัยแล้วไง เพราะฉะนั้น ชีวิตเราเป็นทาสทั้งชีวิตแหละ นี่กำลังพูดถึงคนส่วนใหญ่นะ อยู่ในวงจรแบบนี้ล่ะ

แล้วคุณอยู่ในวงจรนี้ด้วยมั้ย

        มันก็เหมือนกำลังลงทุน  ลงทุนโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้เงินหรือเปล่า ถ้าคิดแง่นั้นนะ แต่มันมีเรื่องที่จะต้องระบายน่ะ ก็ต้องระบายออกผ่านภาพวาด แต่บอกเลยว่า การเป็นศิลปินมันเกิดยากจะตาย ใครจะลงทุนล่ะ เรื่องแบบนี้ก็ต้องมีเงินดูแลตัวเอง รูปแพงๆ ก็ต้องใช้วัตถุดิบที่แพง สีนี่คิดว่าถูกเหรอ ไปดูงานเราสิ สีหนาขนาดนี้ เพราะฉะนั้น จะทำงานอย่างนี้ คุณจะต้องไม่เดือดร้อนแล้วเท่านั้น อย่างน้อยสองปี เราก็ผลิตไปร้อยกว่ารูปนะ นี่ปีหน้าวางเรียบร้อย เดือนพฤศจิกายน จะแสดงคู่กับศิลปินอีกคนที่เป็นมืออาชีพเลยในเรื่องนี้ 

ถามตรงๆ ว่าเครียดไหม เวลาตัวตนข้างในคอยบอกว่า รูปนี้ยังไม่ได้ ยังไม่ใช่ ยังไม่ถูก  

        เจอปัญหานี้ยังไงก็เครียด แต่เรากำลังจะบอกว่า นี่คือ right timing ของเรา ที่จะทำแบบนี้ แต่คนอื่นเราไม่รู้ แต่สำหรับเรา นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมมาก แล้วแต่ละคนมีเวลาแบบนี้ไม่เหมือนกัน ผมมีลูกสองคน ลูกก็เห็นว่าเราทำอะไรอยู่นะ เขาบอกเลยว่า โห…พ่อฉันเป็นศิลปิน อะไรอย่างเนี้ย พูดอย่างนี้เลย พ่อฉันเป็นศิลปิน เพราะเวลาอยู่คอนโดฯ งานก็กองๆ ไว้ ลูกก็มาดู 

        นับจากนี้เราคงทำไปตลอดแล้ว แล้วจะขยับขยายไปต่างประเทศด้วย คือเราอยากไปในพื้นที่ที่เขาไม่รู้จัก รวิชญ์ เทิดวงส์ เขาไม่รู้ว่าเราเป็นดารา ต้องไปพื้นที่พวกนั้น เวลาทำอะไรต้องเอาจริง ต้องชนะ แต่อะไรก็ตามที่เราคิดว่าเราไม่ชอบ ก็เอาตัวออกมา 

ชีวิตเคยแพ้ไหม

        แพ้นั่นแหละคือธรรมะ ชนะบางทีก็ทุกข์นะ นึกถึงช่วงที่ปีนเขาไปถึงยอด นั่นละทุกข์ทั้งนั้นเลย เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ปีน จนไปถึงยอดก็ทุกข์ แต่ที่สุดแล้วมันก็เป็นชัยชนะนั่นแหละ จริงๆ แล้วอาจจะต้องลองเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เดินไปก็ชมดอกไม้ไปด้วย ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น และทุกขั้นตอนปล่อยวางหมดนะ สูงสุดก็ทุกข์ แบกอะไรไว้ตั้งเท่าไหร่ ปล่อยวางมันลงซะ เราเคยเป็นมาแล้ว เป็นมาหลายวงการ 

        เมื่อก่อนบ้าซูเปอร์คาร์ ซื้อเฟอร์รารีมา ผ่อนเดือนตั้งหลายแสน ประเด็นคือ ทำไอจีเฟอร์รารีด้วย แต่เอารูปรถของคนอื่นทั่วโลกมาลง จากไม่มีคนไลก์เลยนะ มีคนฟอลโลว์แสนหก ไม่มีหน้าเราสักหน้าเดียวเลยนะ คนฟอลโลว์มาจากต่างประเทศประมาณ 99% แล้ววันนึงเราก็คิดในใจ เฮ้ย กูทำไปเพื่ออะไรวะ ทำอยู่สี่ปี ตอนนั้นทำธุรกิจด้วย ก็มีเวลาเหลือไง นั่งประชุมไปก็โพสต์ไป แต่งรูป เปลี่ยนองค์ประกอบ ไปๆ มาๆ เลิกอินแล้ว ขายรถไปเลย พอขายรถก็มาคิดว่ากูจะโพสต์ต่อดีหรือเปล่าวะ ตอนนั้นก็โพสต์ๆ ไป แต่ไม่ถี่เหมือนเดิม จนตอนหลังมันฝืน ฝืนแล้ว แล้วมีคลื่นลูกใหม่จากอเมริกาเกิดขึ้น พวกนี้เขาจะมีวงการของเขา จากนั้นเราพลิกไอจีเป็นรูปธรรมะเลย แล้วเรามีไอจีแนวธรรมะเยอะด้วย หลายแอคเคาต์เลย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรา  

คือยังไงนะ อยู่มาวันหนึ่งเบื่อ ขายรถ แล้วก็เปลี่ยนไอจีเฟอร์รารีเป็นภาพธรรมะ 

        ใช่ แล้วคนก็ด่า ต้องมีคนเข้ามาขโมยแอคเคาต์แน่เลย (หัวเราะ) ด่ากันเละ แต่เราก็ไม่อะไร ก็โพสต์ต่อไปเงียบๆ 

ธรรมะนี่คุณโพสต์ภาพอะไร

        ก็เอาคำสอนจากเฟซบุ๊ก ของหลวงพ่อคนนั้นคนนี้ ที่คนอื่นเขาโพสต์ เราก็เซฟเก็บไว้ แล้วทำภาพสวยกว่าคนอื่นหมดเลย เพราะก่อนหน้านี้ ตอนทำภาพเฟอร์รารี เราก็ทำสวยมาก เพราะเราแต่งสี แต่งภาพอย่างดี ทำเป็นงานอดิเรก ทำรวมๆ กันหลายอันเลย รวมกันร่วมแสนฟอลโลเวอร์นะ บางอันสามหมื่นเจ็ด บางอันสองหมื่นกว่า โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังเป็น ปิ๊บ รวิชญ์ เป็นคนทำ มีเพื่อนบางคนรู้ แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก จะรู้ไปทำไม เราทำเอาบุญ 

เรียกว่าโพสต์เอาบุญ

        ใช่ ทำเอาบุญ เป็นงานอดิเรก ทำเอาบุญ 

แล้วคุณโพสต์ภาพงานศิลปะของตัวเองในอินสตาแกรมไหม 

        อ๋อ อันนั้นเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ พอมาเอาจริงกับงานตรงนี้ ก็คิดว่าเราควรมีไอจีใหม่ เลยสร้างขึ้นมาชื่อว่า @pipravit_official ตอนนี้ยอดคนตามแตะหลักพัน เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ไม่กี่เดือน เอาไว้ลงงานศิลปะโดยเฉพาะ

สมมติถ้ามีคนมาดูงานแล้ววิจารณ์ว่า งานไม่ดี คุณจะรู้สึกอย่างไร เพราะมันก็พื้นที่สาธารณะ

        เราชอบนะ คือเราเป็นคนที่คนทั่วไปรู้จัก แล้วเขาก็จะทึ่งว่า เราเป็นดาราแล้วมาทำแบบนี้ได้ยังไง ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ค่อยชอบอะไรแบบนี้ มันเหมือนสมัยก่อนมีศิลปินหญิงคนนึง เป็นเทพมาก วาดดอกไม้สวยมาก ทั้งโลกยกให้เขาเป็นเบอร์หนึ่งของผู้หญิงในวงการทำงานศิลปะเลยนะ แต่ตัวเขาบอกว่า ทำไมต้องพูดแบบนี้ ทำไมต้องใช้คำว่าผู้หญิงนำหน้า ทำไมไม่เป็นแค่ที่หนึ่งล่ะ ทำไมต้องแบ่งเพศล่ะ เหมือนกันกรณีเดียวกับเรา ทำไมคุณแบ่งว่าดารากับไม่เป็นดาราล่ะ คุณดูที่งานจริงๆ สิ 

        แต่สุดท้ายจะพูดอะไรก็ตาม เราปล่อยวางอยู่แล้ว เราไม่ตอบโต้อะไรกับเขาหรอก เพราะแต่ละคนก็ต้นทุนไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน คนที่ไม่รู้เรื่องศิลปะก็บอกว่าสวยทั้งหมดล่ะ น่าสนใจ สวย ส่วนใหญ่จะพูดแบบนี้ เอาจริงๆ เขาก็พูดจากใจจริงนั่นแหละว่ามันสวยดี แต่เขาไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะไง เขามองจากมุมของแฟนละคร เป็นดาราแล้วยังวาดรูปสวยอีก ปลื้มจังเลย อะไรอย่างนี้ แต่ผมไม่ได้ว่า เพราะสวยหรือไม่สวย มันก็คือเราไง ผมไมได้วาดเพื่อสวย 

แล้ววาดเพื่ออะไร?

        เพื่อแสดงให้เห็นว่า เนี่ย กูทำได้ แล้วมาตรฐานผมสูง แล้วนี่แหละ คือลายเซ็นผม คือมาตรฐานของผม ไม่ได้ต้องเป็นดาราวาดรูป แล้วต้องไปแข่งกับดารา ไม่ใช่ แต่เราคือนักวาดภาพจริงๆ เป็นศิลปินที่แข่งกับศิลปิน 

เป้าหมายสูงสุดของการทำงานคืออะไรในตอนนี้

        คือความเป็นอาร์ทิสต์ อย่างปีหน้าก็มีแล้ว อย่างที่บอกเป็นงานโชว์คู่กับคนที่เป็นอาร์ทิสต์คนนึงที่ไม่ธรรมดาเลย ตอนนี้กำลังฮอตมากเลยในวงการแอ็บสแตรกเมืองไทย เป็นอาจารย์ผู้ชาย จะโชว์คู่กันปีหน้า 

        ทีนี้มันไม่ใช่เรื่องของดารา ไม่ใช่นักร้อง ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์วงการบันเทิง แต่เป็นอาร์ทิสต์กับอาร์ทิสต์แล้ว แล้วงานก็มีคิวเรเตอร์เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว คิวเรเตอร์คือตัวคอนโทรล เป็นคอนดักเตอร์ แล้วงานพวกนี้ไม่ได้อยู่แค่เมืองไทย ไปอยู่ในออนไลน์ วางแผนโชว์ต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้รู้จักรวิชญ์แล้ว เหมือนเราทำไอจีธรรมะ ก็ไม่มีคนรู้จักว่ามึงเป็นใครวะ (หัวเราะ) 

ถามนิดนึง ตอนที่ทำงานเพื่อหาเงินมาเพื่อผ่อนเฟอร์รารี คุณรู้สึกยังไง

        ก็หนักนะ แต่เอาวะ ชาตินึงมันต้องมี เพราะตอนนั้นเราทำธุรกิจด้วย ถึงบอกว่าได้ลิ้มรสชีวิตมาทุกแบบแล้วไง ไม่ใช่แค่ลิ้มรสวัตถุ แต่ลิ้มรสวงการด้วย เขาทำธุรกิจอะไรกัน เราก็รู้จักด้วย แต่ตอนนี้เราอยากทำแบบนี้แล้ว คุณรู้มั้ยว่ามันดีตรงไหน มันดีตรงได้ทำตามอำเภอใจ แล้วพอมาคุยกับแกเลอรี เขาเอาด้วย ถ้าเกิดมาคุยแล้วเขาไม่เอาด้วย ก็คงเป็นอีกเรื่อง เหมือนมาตรฐานเราไม่ดีพอ

        ซึ่งจริงๆ เรามีมาตรฐานสูงอย่างที่บอกแหละ รูปทุกรูปที่เราวาด เราเอาไว้ในห้องนอนนะ ให้อยู่ในจุดที่สายตาเห็น จะลุกไปห้องน้ำ ก็ต้องผ่านสายตาที่มองเห็น เห็นทุกวันจนรูปนั้นผ่าน แล้วค่อยเก็บ 

        แล้วรูปเนี่ย นั่งจ้องไปเรื่อยๆ มันเมานะ คิดว่าสวย บางวันดูๆ ไป เฮ้ย มันผ่านแล้วนี่หว่า ทำไมพอมามองอีกทีมันไม่สวยแล้ววะ ดังนั้น ทุกรูปไม่ว่าจะไซซ์แค่ไหน จะเอาไปวางไว้ในห้องนอน แล้วลุกไปลุกมา ประมาณอาทิตย์สองอาทิตย์ได้ ก็จะเห็นด้วยความบังเอิญ แต่เราต้องให้มันมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเรา อย่างเช่น เราคุยกันแบบนี้ นี่มีรูปผมตั้งอยู่นะ มันจะผ่านสายตาเราอยู่เรื่อยๆ มองจนกว่ามันจะผ่าน ไม่ง่ายนะเว้ย เพราะว่าหน้าเราเนี่ย มันบาง ไม่ได้หนา งานออกไปต้องมั่นใจจริงๆ ไม่งั้นอาย 

แล้วรูปที่มันไม่ผ่าน ทำอย่างไร

        ไม่ผ่านก็ทิ้งไป ว่าไปตามเรื่อง บางรูปวาดเสร็จฉับพลันก็มี แบบว่าผ่านเลย แล้วไม่ต้องไปดูอีกแล้ว แบบนี้ก็มี คือดูกี่ครั้งก็จบแล้ว  เพราะฉะนั้น จากการศึกษารูปมาเยอะ แล้วเราสังเกตจุดนึงที่ไม่รู้คนอื่นสังเกตหรือเปล่า คือเราเป็นคนละเอียด เราเห็นว่าทุกฝีแปรงคือซิกเนเจอร์ เป็นลายเซ็นของคนทำ ต่อให้คนจะเป็นระดับโลกขนาดไหน ทุกฝีแปรงคือซิกเนเจอร์ของเขา แล้วคนพวกนี้เขาใช้ใจทำ แล้วมันเกิดจากทักษะที่มันทำซ้ำๆ น่ะ แต่พวกรูปที่ทำแรกๆ จะแพงสุดเสมอ 

คิดว่าช่วงนี้ชีวิตเป็นสีอะไร

        มีความสุข ก็เป็นสีเย็นๆ นะ ฟ้า เทา เออ ผสมเทาแม่งให้หมดเลย ฟีลนิ่งๆ เย็นๆ ไม่ร้อน แต่บางรูปที่เห็นว่าร้อน เป็นเพราะด้วยอารมณ์ ตอนเด็กๆ ชอบสีน้ำทะเล เทอร์ควอยซ์ พอวันนี้มาชอบแบบเขียวเทาๆ แต่อีกสิบปีข้างหน้าก็ไม่รู้นะ 

มีช่วงทุกข์ที่สุดมั้ย ปีสองปีมานี้

        ทุกข์ที่สุดไม่มีนะ แต่มันก็เทียบกับคนอื่นไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ช่วงคุณพ่อเสียชีวิต คือคุณพ่อก็เป็นไปตามธรรมะอยู่แล้ว คุณพ่อ 82 ท่านก็สุดแค่นั้น คือจะผ่าตัดอะไรก็ไม่ได้แล้ว ร่างกายไม่ไหวไง 

คุณคิดว่าการเป็นศิลปินในเมืองไทย มันยากง่ายยังไง

        มันเหมือนเต่าทะเล คุณคิดว่าครอกนึงมันรอดมากี่ตัว มันเสร็จนกนางนวลไปกี่ตัวแล้ว กว่าจะโตขึ้นมาได้ เหนื่อยยากสุดๆ ฉันใดฉันนั้น การเป็นศิลปินเมืองไทย เจอแค่ค่าครองชีพเข้าไปก็แย่แล้ว ไม่รอดหรอก เพราะไม่มีใครการันตีนะว่าทำแล้วจะได้ตังค์มั้ย เอามั้ยล่ะ ปีนึง ที่บอกว่าทำไมวาดเยอะ ก็เราเอาเวลาทำมาหากินไปทำน่ะ แต่ถ้าเราไม่มีเงินเหลือเลย มานั่งวาดก็ไม่ได้ใช่มั้ย ไปขับแท็กซี่ไม่ดีกว่าเหรอ ได้ตังค์แน่ๆ 

        แต่โอเคแหละ ในบรรดาคนเหล่านี้ มันก็คงจะมีสักคนที่หลุดออกมาได้ พวกนี้ก็น่าทึ่ง แต่ว่าทุกอย่างที่เขาใช้ ไม่ว่าจะเป็นปากกา ดินสอ สีน้ำ เขาต้องควักเงินเองเสมอ แล้วถ้ามีคนมาซื้อ จะมาซื้อสักกี่รูป จริงมั้ย ถ้ากระโดดเข้าไปในโหมดทำมาหากินด้วยการวาดภาพ จะมาซื้อรูปสักกี่คน สุดท้ายจะยังไงรู้มั้ย จะถูกบังคับให้วาดตามแบบลูกค้า พังเลย จบเลย ไม่ใช่ศิลปินแล้ว เป็นนักวาดภาพเฉยๆ 

        ถึงพยายามจะบอกว่า การเป็นศิลปิน มันเหมือนเต่าทะเลนั่นแหละ กว่าที่จะหลุดออกมาได้ตัวเท่านี้ (ทำมือใหญ่ๆ) มันก็มีแหละ แต่มันน้อย และมันยาก เคยสงสัยมั้ย พวกเต่าตัวโตๆ มันไปโตที่ไหนมาวะ กว่ามันจะรอดมาถึงตัวเท่านี้ได้ มันต้องผ่านมาแค่ไหน กว่าที่จะไม่ถูกกิน จนกลายเป็นไซซ์ที่ไม่ถูกรังแกจากสัตว์อื่นๆ ได้ เรากำลังจะบอกว่า สมมติเราจบจากสถาบันอะไรก็แล้วแต่ ที่ถูกหล่อหลอมมาให้เป็นศิลปิน มันไม่ง่ายนะ เริ่มต้นก็ต้องซื้อเฟรมแล้ว แต่ฐานะฉันก็ไม่รวย ขนาดรวยยังแย่เลย เพราะทุกสถาบัน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้เรามีรายได้ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ว่าเราสามารถยืนบนขาตัวเอง ในแง่ของเงินทอง แต่จะมีใครล่ะที่อยากให้ลูกกระโดดมาเป็นศิลปิน แล้วบอกว่า วันนึงลูกเราจะดัง มันจะการันตียังไงล่ะ 

        ไปดูประวัติศิลปินใหญ่ๆ ระดับชาติสิ อย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ท่านไม่ขายงานนะ ถ้าคุณเห็นในยูทูบที่ท่านให้สัมภาษณ์ ท่านไม่ขายงาน คือเรามองว่าการทำแบบนี้ก็เหมือนนักบวชไปแล้ว เพราะขายงานคือพาณิชย์ ตัวเองก็เลยไปขายโอเลี้ยง ขายก๋วยเตี๋ยวในละแวกในซอย แต่ผลงานนี่เทพเลย มีเรื่องของปรัชญาแบบจีน เรื่องของพลังชิ อะไรพวกนี้ แล้วก็อ่านบทกลอนอีก พูดคำว่า ทะเลๆๆๆ อยู่แค่นั้น มีคนมานั่งฟังด้วย ศิลปินยืนพูด คนในชุมชนก็นั่งฟัง 

        เป็นบุคคลที่ลึก ลึกจนไม่ต้องสัมผัส คิดดู พูดกลอน ทะเลๆๆ คนๆๆ เป็นร้อยครั้ง มีคนมาล้อมฟังกัน แล้วรูปตัวเองที่วาด ก็ไม่ขายด้วย แปลว่าอะไร แปลว่าทั้งหมดทั้งสีทั้งอะไร ลงทุนเอง ก็เอาเงินมาจากการชงโอเลี้ยง หรือว่าขายของ นี่คือชีวิตของ จ่าง แซ่ตั้ง แล้วใช้สีโปสเตอร์ วาดบนกระดาษนะครับ ยุคแรกๆ เพราะตังค์ไม่มี พอไม่มีตังค์ จะเอาวัตถุดิบดีๆ จากที่ไหน นี่แหละชีวิตศิลปินสมัยก่อน

มีประโยคนึงที่พูดกันบ่อยๆ ทำงานหาเลี้ยงชีพ และเพื่อเอาเงินไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

        นั่นคือสิ่งที่เคารพและยกย่อง แต่ถ้าชั่วโมงที่คุณสะสมมาไม่เยอะพอ คุณก็จะก่อกๆ แก่กๆ อยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ว่ามันจะผ่านไปอีกสิบปี หรืออีกกี่ปี คือคนจะยอมซื้อรูปในมูลค่าสูงๆ คุณต้องเป็นแบบศิลปินใหญ่ๆ เลย และนั่นแหละคือชั่วโมงที่คุณจ่ายไปในการเขียนรูปต่อวัน แล้วทำอย่างนั้นทุกวัน คุณจะต้องอยู่กับไอ้สิ่งนี้ ที่คุณจะต้องทำ ไม่อย่างนั้นคุณจะได้รูปราคาเท่าไหร่ล่ะ ถ้าคุณนานๆ ทำที ทักษะก็สู้ไอ้พวกทำถี่ไม่ได้ ทั้งการยอมแลก ก็แลกไม่เท่า คนสะสมภาพ เขาชอบคนที่ยอมแลก 

        แปลกนะ คนดีๆ วาดภาพออกมาไม่ค่อยได้ราคาแพง เพิ่งไปเจอศิลปินมาจากฮอลแลนด์ พี่ชลิต นาคพะวัน แนะนำให้รู้จัก เขาเล่าให้ฟังว่า มีผู้ชายคนนึงที่ฮอลแลนด์ เมื่อก่อนวาดรูปนึงไม่กี่ตังค์ แล้ววันนึง วาดไป ฉีดเฮโรอีนไปด้วย ขยัน ผลิตงานได้เยอะ เกิดอะไรขึ้นรู้มั้ย ตายสิ 

อ้าว สรุปว่าตาย 

        พอตายเท่านั้นแหละ ภาพกลายเป็นราคาแสนสองแสน แล้วไอ้คนที่ทุกอย่างพร้อมหมด ชีวิตไม่ได้โหดเท่า แต่ขายรูปในราคานั้นไม่ได้ มันก็น่าคิด คือเราไม่ได้บอกว่า คุณต้องทำเลว หรือทำอะไรที่ไม่ดี แล้วคุณถึงจะดังนะ แต่หลักฐานมันเป็นอย่างนั้นเยอะ ศิลปินระดับโลกนี่ไปอ่านประวัติเถอะ เหมือนอยู่ดีๆ คนไม่จำน่ะ 

        เรากำลังจะพูดว่า วงการศิลปะมันมีเรื่องบางอย่างที่คุณต้องเข้าใจมุมของมัน แล้วศิลปินใหญ่ๆ งานเขาก็ต้องเป็นแบบ pioneer หรือผู้บุกเบิก เช่น ปิกัสโซ่ ที่บุกเบิก cubism แวนโก๊ะก็เป็น pioneer ด้าน expressionism หรือหากมี story มาเสริมอีก ก็ยิ่งตูมตามเข้าไปใหญ่ แต่ความจริงแล้ว ที่เขาดังเพราะเขาเป็น pioneer 

        แต่เป็น pioneer คุณว่ายากกว่าสร้างสตอรีให้ตัวเองมั้ย ยากกว่าประมาณหมื่นเท่า เพราะการเป็น pioneer มันแทบจะหาไม่ได้แล้ว เพราะคนเขาทำกันมาหมดแล้ว มันมีอะไรใหม่บ้างในโลกนี้ วาดภาพแล้วเอาคัตเตอร์กรีดก็มีแล้ว ตีลังกาก็ทำแล้ว เผารูปก็มี คือกิมมิกเหล่านี้ มันถูกคิดมาหมดแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณต้องเห็นเยอะนะ แล้วต้องอัพเดตด้วยนะ ถึงจะสร้างอะไรใหม่ๆ ได้ 

        จุดขมวดของเรื่องนี้ที่เล่ามาทั้งหมด คือท้ายที่สุด เราก็แค่ทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดี และต้องหารายได้เหมือนทุกคนแหละ อะไรที่พอจะทำได้ เราก็ทำ ทำโดยไม่รู้หรอกว่ามันจะขายได้มั้ย มีรายได้มั้ย เหมือนเราก็ต้องเป็นพระนั่นแหละ นิ่งๆ ไว้ ทำไปก่อน อะไรจะเกิดก็ว่ากันอีกที 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ