รู้จักพื้นที่… เรียนรู้ผู้คน… ค้นพบตัวเอง ผ่านเพจเล็กๆ ที่ชื่อ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’

พื้นที่กว้างใหญ่ของกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นหลายเขต หลายชุมชน หลายซอกหลายซอย ในจำนวนทั้งหมด 1,569 ตารางกิโลเมตรนี้ คงต้องยกหน้าที่ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล แต่สำหรับพื้นที่เล็กๆ บนถนนพหลโยธิน 7 อันเป็นที่ตั้งของ ซอยอารีย์…ซอยที่จะว่าเล็ก ก็ไม่ถึงกับเล็ก แต่จะว่าใหญ่ เชื่อว่าก็น่าจะมีซอยอื่นที่ใหญ่กว่านี้อีกมาก

        ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ ในซอยอารีย์แห่งนี้ ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราว ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ ชุมชน หมู่บ้าน สิ่งแวดล้อม ผู้คนทั้งที่อยู่อาศัย และที่สัญจรไปมา ทั้งหมดหล่อหลอมให้เกิดเสน่ห์บางอย่าง ที่ทำให้ซอยอารีย์ มีแง่มุมที่ไม่เหมือนใคร และคนที่สังเกตเห็นเท่านั้น จึงจะบอกเล่าเรื่องราวของซอยแห่งนี้ออกมาได้  และนี่ก็คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ ‘มิช’ – ฮามิช มัสอิ๊ด และเพื่อนของเขา ‘โจ้’ – ประเสริฐศักดิ์ แก้วสง่า ร่วมกันทำเพจ ที่ชื่อว่า ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในซอยแห่งนี้    

        ติดตามอ่านเรื่องราวของคนที่พยายามสร้างพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้ทุกคนหันมาสนใจและทำความรู้จักพื้นที่ใกล้ตัวกันได้นับจากนี้… 

ช่วงก่อร่าง สร้างเพจ 

        ฮามิชและโจ้เป็นเพื่อนที่เคยร่วมงานกันมาก่อนจะมาทำเพจด้วยกัน โดยคนที่ทำงานเป็นหลักหน้าบ้านก็คือฮามิช ที่อาศัยอยู่ในซอยอารีย์แห่งนี้มากว่า 7 ปีแล้ว ส่วนโจ้แม้ไม่ได้อยู่ในซอยอารีย์ แต่ก็คอยช่วยทำงานเบื้องหลัง สนับสนุนให้ฮามิชโลดแล่นลงพื้นที่ พูดคุยกับผู้คนตามที่วางคอนเซ็ปต์กันไว้ 

        ฮามิชจึงเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวทั้งความเป็นมาของตัวเขา ความเป็นมาของเพจ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ และเรื่องราวที่เขาได้รับรู้จากการอาศัยอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเพื่อนบ้าน สถานที่ ผู้คน ในฐานะผู้ที่เดินผ่าน มองเห็น และเฝ้าสังเกต จนกระทั่งวันหนึ่งรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะถ่ายทอดถึงสิ่งต่างๆ ผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายอาชีพลงในเพจเพื่อให้ทั้งคนอยู่ คนมาเยือน และเพื่อนร่วมซอยได้รู้จักกันและกันมากขึ้น                     

        “เราตั้งใจเล่าเรื่องของคนในซอย รวมทั้งคนที่ทำงานที่นี่แต่ไม่ได้อยู่ที่นี่ หรือคนที่กวาดถนน ขายลูกชิ้น หรือเจ้าของกิจการ ให้ทุกคนได้อยู่ในระนาบเดียวกัน เราอยากนำเสนอเรื่องของทุกคนให้ออกมาเท่าเทียมกัน ตอนแรกเคยคิดว่าจะเริ่มจากถ่ายรูปคนเฉยๆ แล้วก็เขียนสั้นๆ ตั้งใจจะไม่เขียนยาวแบบเพจอื่น จะพยายามกำหนดว่าเราจะคุยในระดับที่เพื่อนบ้านคุยกัน จะยาวแค่ประมาณ 2 พารากราฟ ซึ่งเท่านี้ก็จะรู้แล้วว่าคนนี้ทำอะไร  คนนั้นปลูกต้นบอนไซ อะไรแบบนี้ เราเคยคิดอยากจะลงลึกแบบ Humans of New York แบบคนนี้ถูกพ่อทำร้าย แต่บางเรื่องต้องใช้เวลาในการเจาะลึก ไปๆ มาๆ รู้สึกว่าเพื่อนบ้านอารีย์มีความแตกต่างจากเพจอื่นๆ ตรงที่คนจะรู้ว่าคนนี้คือลูกใคร อยู่ที่ไหน แล้วถ้าเราไปบอกว่า คนนี้หย่ากับเมีย เลี้ยงลูกคนเดียว คนที่เป็นเพื่อนบ้านเขาก็จะแบบ…เอ้า หย่ากันแล้วเหรอ?​ เลยคิดว่าบางคนก็อาจไม่ได้อยากให้ใครรู้เรื่องส่วนตัวขนาดนั้น เราเองก็อยากรักษาเนื้อหาให้ออกมาอยู่ในระดับที่รับได้ประมาณนี้ เหมือนคนเจอกันก็ทักทาย สงกรานต์ไปไหน เราอยากกำหนดขอบเขตให้อยู่ในบทสนทนาของเพื่อนบ้านที่เจอกันก็ทักทายกัน คุยกันบ้างพอให้มีสีสัน” 

 

จากทุ่งพญาไทถึงสถานีรถไฟสามเสน

        ในฐานะเพื่อนบ้าน และมาอยู่บ้านในพื้นที่นี้ ก็ต้องทำความรู้จักพื้นที่ละแวกบ้านด้วยสักนิด ฮามิชเล่าว่าสมัยก่อนที่ตรงนี้คือทุ่งศุภราช พญาไท จะครอบคลุมเขตพญาไท ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าสนามเป้ามาถึงทางรถไฟสามเสน ยาวไปจนถึงคลองบางซื่อ และตลาด อตก. “ถ้าจะพูดถึงซอยอารีย์อย่างเดียวก็อยู่แค่พหลโยธิน ซอย 7 เราเลยตั้งใจว่าจะพูดถึงในละแวกนี้ที่ยังสามารถเดินได้ไม่ไกลมาก ก็จะครอบคลุมตั้งแต่จตุจักร สนามเป้า ประดิพัทธ์ สะพานควาย เพราะแต่ละที่ก็เชื่อมถึงกัน เดินถึงกันได้”

        แต่สำหรับตัวคนทำเพจเอง ที่บอกว่ามาอยู่อารีย์ได้ 7 ปี แล้วนั้น “ก่อนหน้านั้นผมเป็นคนหนองจอก โตมาในชุมชนมุสลิม มีบ้านอยู่ริมคลองแสนแสบ ไม่ได้สัมผัสความเป็นคอมมูนิตี้แบบที่อารีย์มี เพราะว่าแถวนั้นบ้านจะห่างๆ กัน เขาจะเจอคนก็ต่อเมื่อไปตลาดหรือสุเหร่า แต่เราเองไม่ได้เป็นคนที่สุงสิงกับใคร พอมาอยู่อารีย์ เลยเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เมื่อเดินผ่านใครก็พอจะจำได้ รู้จักบ้านโน้นบ้านนี้ เลยเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นบรรยากาศความเป็นชุมชน ที่เรารู้สึกดี และคิดว่าชุมชนนี้มีหลายอย่างที่น่าค้นหา

        “ผมอยากจะทำเพจอย่างนี้อยู่ตลอด ก่อนหน้านี้ทำงานทางศิลปะมาก่อน เป็น gallerist จัดนิทรรศการศิลปะ แล้วไปทำเพอร์ฟอร์มิงอาร์ต ละครเวที แล้วก็ไปทำมาร์เก็ตติ้งในบริษัท…  เลยทำให้ได้เจอโจ้ แต่เราเป็นคนทำคอนเทนต์มาเรื่อยๆ เขียนบล็อก เขียนอะไรมาตั้งแต่เด็กๆ จะเขียนเรื่องหนังที่ดู เพลงที่ฟัง ทำอะไรที่เราคิดออกมา”

        หลายสิ่งที่ฮามิชเคยทำเขาบอกว่า บางเรื่องน่าจะมีคนอื่นรู้มากกว่า ทำให้เขายังมีความคิดที่อยากทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ตัวเองมากกว่านั้น “เราก็มีไอเดียขึ้นมาว่าอยากทำเพจที่เป็นแม็กกาซีนของตัวเองอย่างจริงจัง ผ่านการคิดมาหลายรูปแบบ จนมาลงตัวที่คุยกับคนในซอยนี่แหละ มีเรื่องที่น่าเล่าดี 

        “ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตอนที่ทำงานบริษัท เราก็จะแค่ตื่นมา ขึ้นบีทีเอส ไปทำงาน กลับมาก็นอน จะไม่ได้คุยอะไรกับใครทั้งสิ้น เราได้เห็นเลยว่าความเป็นชนชั้นกลาง มนุษย์คอนโดฯ หรือมนุษย์เงินเดือน เขาจะไม่ได้ทำอะไรแบบนี้… คือในวันหนึ่งก็หนักพออยู่แล้ว ไม่สามารถจะกลับมาแล้วคุยอะไรกับใครได้อีกแล้ว กลับมาก็นอน

        “ส่วนสาเหตุที่เลิกทำงานประจำ เพราะโควิดด้วย ทำให้ต้องทำงานผ่านซูม ไม่ค่อยเวิร์กสำหรับเรา เพราะต้องจ้องจอเยอะเกินไป แล้วเราเป็น extrovert ด้วยมั้ง รู้สึกว่า ถ้าเราได้เจอคนจริงๆ ได้พูดอะไรที่เราเห็นสีหน้า มีการตอบโต้ จะทำให้เราสบายใจกว่า เลยเริ่มรู้สึกว่าอยากทำงานที่ได้เจอคน แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองโตพอที่จะดูไดเร็กชั่นพื้นที่สื่อของตัวเองได้แล้ว เรามีความตั้งใจมาตั้งแต่เด็กเลยว่าอายุ 30 ฉันจะต้องเป็นคนที่สามารถทำงานด้วยตัวเอง นัดสัมภาษณ์เอง ออกไปสัมภาษณ์คนเอง ถ่ายภาพเอง กลับมาทำคอนเทนต์เอง ทำให้ครบวงจรของตัวเอง แต่ในที่สุด เราก็รู้ว่ามีบางอย่างเราทำไม่ได้ เลยมีการดึงโจ้เข้ามาช่วยกันทำ”

        เรียกว่าความฝันไม่ได้หลุดวงโคจรไกลเกินไปนัก เพราะเขาได้เริ่มทำให้เป็นจริงได้ในตอนอายุ 31 แถมไม่ต้องทำคนเดียวอย่างที่คิด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ “ไม่รู้ทำไมถึงอยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เราเคยทำงานแบบนี้ เคยสัมภาษณ์คนสั้นๆ มาก่อนแล้วบ้าง จากงานเก่าๆ ที่ทำมา แต่ครั้งนี้เราได้ควบคุมไดเรกชันด้วยตัวเอง ซึ่งสนุกกว่าเยอะ  ได้ตัดสินใจเอง ทำให้เรารู้สึกว่าเราเชื่อใจตัวเองได้ ถ้าอะไรที่เราเห็นว่าทำได้…ทำเลย แล้วผลลัพธ์มักจะออกมาดี อะไรที่เราคิดว่าดี ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยผิดหวัง”

 

เรื่องราวได้จากการเดิน

        การได้มาใช้ชีวิตในซอยอารีย์  ที่เริ่มจากการเป็นแค่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ออกไปทำงานเช้า เย็นกลับ พอขยับขยายมาทำเพจ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ ยิ่งทำให้เขาอยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัสเรื่องราวต่างๆ รอบตัวมากขึ้น เพื่อนำมาบอกเล่าให้คนได้อ่าน 

        ทั้งหมดนี้เขาบอกว่า “เกิดจากการเดิน”

        “ช่วงที่ว่างตอนไม่มีงานทำ เย็นนี้ไม่รู้จะทำอะไรก็เดินไปเรื่อยๆ เดินไปซื้อข้าว จากนั้นก็ลองเดินออกไปไกลกว่าเดิม เดินแล้วก็ถ่ายรูปด้วย มีช่วงหนึ่งเดินทุกวันก็จะรู้เลยว่า ตรงนี้แสงสวย แล้วก็ค่อยๆ รู้เรื่องอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ”

        เราถามเรื่องบ้านประตูสีฟ้าหลังหนึ่งในซอย ที่หลายคนชอบมาถ่ายภาพ จนเรามารู้ภายหลังว่าคือบ้าน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ฮามิชบอกว่า “ที่รู้เพราะว่าพยายามมองเข้าไปว่าคือบ้านคนรึเปล่า ตรงนั้นเหมือนเป็นจุดที่คนมองข้าม กลายเป็นที่จอดรถของพวกไรเดอร์ คนที่มาก็มักจะเดินผ่านไปที่ Gump (คอมมูนิตี้มอลล์) แต่เราว่าประตูไม้บ้านนี้สวยดี ก็ชะเง้อมองจนได้คำตอบว่าเป็นบ้านใครสักคน ก็ลองไปใส่กูเกิ้ลแมปซูมดู และเสิร์ชหา แต่ก็ยังไม่มีข้อมูล แต่พอเห็นว่าในอารีย์มีบ้านคนสำคัญอยู่ มีบ้านอาจารย์ป๋วยด้วย ก็เลยเสิร์ช จากนั้นก็คิดว่า อ๋อ ถ้ามีบ้านนี้ก็ต้องมีบ้านอื่นอีก ก็เลยเริ่มสงสัยแล้วตามหาคำตอบ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะทำมาตลอดเลยแต่ยังทำไม่ได้คือ กดกริ่งบ้านเลย ยื่นการ์ด แล้วก็บอกเขาว่าอยากจะมาคุย โดยที่ไม่ได้นัดหรืออาจจะนัดไว้ก่อน แต่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ถ้าเกิดวันหนึ่งทำอย่างนั้นได้ก็จะรู้สึกดี เพราะนั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะทำตั้งแต่แรก คือทำให้คนรู้ว่าคนที่อยู่ในบ้านนี้คือใคร ทุกหลังเลย คือทุกคนเราว่าก็มีสตอรี่กันทั้งนั้น” 

        ถ้าใครเคยเดินเข้ามาในซอยอารีย์ หรือเคยได้ยินชื่อเสียงของซอยนี้อยู่บ้าง สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ “ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นบ้านทหาร เพราะที่นี่ก็อยู่ใกล้ๆ กับสนามเป้า มีนักการเมือง คนตระกูลเก่า ถ้าได้เดินผ่านก็จะเห็นมีป้ายชื่อนามสกุลติดอยู่หน้าบ้าน ทำให้เรารู้ว่าเป็นบ้านใคร หรือถ้าอยากรู้ว่าเป็นใครก็หาข้อมูลต่อ เราจะเสิร์ชนามสกุลดู บางทีก็ถามคนแถวนั้น หรือถ้าเราได้ไปสัมภาษณ์ใครบางทีก็ถามเขาว่าพ่อแม่สะดวกคุยมั้ย แล้วก็ไปสัมภาษณ์พ่อแม่เขาอีกที เราก็จะรู้เลยว่าบ้านนี้ย้ายมาจากจังหวัดไหน ถ้าคุยกับลูกจะได้เรื่องของกิจการที่เขาทำ แต่ถ้าคุยกับพ่อแม่ก็จะรู้ว่าบ้านนี้มาจากไหน เป็นสิ่งที่เราพยามจะทำให้ได้บ่อยๆ ต้องใช้ความกล้านิดหนึ่ง” 

คำตอบของคำถาม…

        คนที่ฮามิชเคยสัมภาษณ์ลงในเพจมีทั้งข้าราชการ คนทำงานบริษัท เชฟ เจ้าของกิจการ แต่มีเรื่องราวของลุงยามคนหนึ่งที่ฮามิชบอกว่าเป็นเรื่องที่พอลงไปแล้วมีผลตอบรับที่สร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาประมาณหนึ่ง คือเรื่องของคุณลุงยามที่ทำงานในหมู่บ้านในซอยนี้

        “เราได้สัมภาษณ์ลุงยาม เขาก็เล่าเรื่องชีวิตเขาให้ฟัง เราถามเขาว่าความฝันคืออะไร อยากทำอะไร คือสำหรับเรา มันเป็นคำถามที่ใช้ถามชนชั้นกลาง หรือถามเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาอย่างดีประมาณหนึ่ง เราก็ลองถามเขา เขาก็ตอบว่าเขาก็มีความฝัน แต่ตอนนี้มันน่าจะสายไปแล้วที่จะได้ทำ ก็อยากแค่ ไม่ต้องทำงานหนักมากขนาดนี้ แล้วก็อยากมีเงินกลับไปซื้อที่ดินปลูกบ้านเล็กๆ ที่ต่างจังหวัด เขาบอกว่าที่ผ่านมาทำงานเยอะมาก ทำงานแทบทุกวัน คำตอบเขาทำให้เราได้เห็นกับดักความจนประมาณหนึ่ง ว่าจริงๆ การทำงานหนักอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับคนบางชนชั้น เพราะบางคนทำงานหนักแล้วก็ได้เท่านี้จริงๆ เพราะต้นทุนต่างๆ ที่มี ทำให้เขาต้องติดอยู่กับการเป็นลูกจ้างไปเรื่อยๆ แล้วยังมียามอีกหลายๆ คนที่มิชเคยคุย บางคนเคยทำงาน 11 เดือนโดยที่ไม่ได้หยุดเลย คือเขาไม่อยากหยุดเอง เพราะบางบริษัทจะหักเงิน ดังนั้น ถ้าไม่อยากโดนหักเงินก็ต้องทำงานทุกวัน 

        “ตอนนั้นพอเราโพสต์เรื่องนี้ไปก็มีคอมเมนต์มาบอกว่า กฎหมายแรงงานทำอะไรอยู่ จริงๆ ไม่ควรเกิดเรื่องแบบนี้ มันผิดกฎหมายไม่ใช่เหรอ ประเด็นเหล่านี้ก็เลยเป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน เหมือนเราได้ทำเพื่อสังคมด้วย จริงๆ การที่ได้คุยกับคนที่หาเช้ากินค่ำ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับเรา เพราะเราไม่สามารถคอนเน็กกันได้ สมมติเราคุยกับเจ้าของร้านสักแห่ง เขาก็จะเข้าใจแล้วว่าเดี๋ยวเราโปรโมตให้เขา เขาก็ยินดี แต่ถ้าเราไปคุยกับวินมอเตอร์ไซค์ ก็จะเหมือนเขาเอาเวลาที่ควรจะต้องไปทำงานมาให้เราสัมภาษณ์ เราก็ต้องคิดแล้วว่าเราจะให้ค่าตอบแทนเขาได้แค่ไหน แล้วเราจะถามเจาะลึกได้แค่ไหน เพราะว่าเขาไม่รู้ว่างานที่เราทำมันจะออกมาแบบไหน เขาก็อาจจะมีความกั๊กๆ ในใจว่าเราจะเอาข้อมูลเขาไปใช้ในทางที่ไม่ดีหรือเปล่า บางครั้งก็เลยต้องอาศัยการเป็นลูกค้าประจำไปก่อนสักพัก ให้เขารู้ว่าเราทำอะไร แต่ว่าคนส่วนใหญ่ถ้าเปิดใจแล้ว เขาก็จะชวนญาติพี่น้อง ชวนร้านข้างๆ ชวนคนต่างๆ มาคุยกับเราต่อไปเรื่อยๆ นะ (หัวเราะ)”

อารีย์เป็นย่านชิคๆ 

        แม้พื้นที่ย่านอารีย์จะแวดล้อมด้วยสถานที่ราชการมากมาย เช่น กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพากร สำนักงบประมาณ กรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ รวมทั้งบ้านของข้าราชการและบุคคลสำคัญ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีบางท่าน ทำให้ย่านนี้เป็นย่านที่อบอวลไปด้วยประวัติศาสตร์ แต่เมื่อตัดภาพมาในยุคนี้ อารีย์ไม่ได้มีภาพแบบนั้นในสายตาคนรุ่นใหม่อีกต่อไป เพราะสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนจากย่านอื่นๆ แวะเวียนมาเช็กอินกันบ่อยๆ ก็คือร้านอาหาร ร้านกาแฟ บูทีคโฮเต็ล ที่ผุดขึ้นมาอย่างคับคั่ง 

        “ปัจจุบันภาพของซอยอารีย์จะถูกมองผ่านสายตาชนชั้นกลางมากกว่า และวัฒนธรรมของพวกเขาก็คือ cafe hopping เล่นโยคะ หรือเวิร์กช็อปต่างๆ ซึ่งในซอยอารีย์เอง ก็มีที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีต้นไม้ร่มรื่นอยู่พอสมควร ทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในวันเสาร์อาทิตย์ บ้านหลังใหญ่ๆ บางหลังก็แบ่งพื้นที่ให้เช่าหน้าบ้านเพื่อเปิดเป็นร้าน ตรงนี้ก็สะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะว่าถ้าคนไม่ได้เดือดร้อนจริงๆ โดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่ๆ เขาก็คงจะไม่ให้ใครเช่า หรือคงไม่เปิดบ้านตัวเองเป็นร้าน 

        “ก็มีหลายอย่างที่ทยอยเปลี่ยนไปในซอยอารีย์ การพัฒนาน่าจะมาพร้อมกับรถไฟฟ้า เพราะยิ่งมีคนใช้บริการรถไฟฟ้าเยอะขึ้นก็ทำให้คนมาถึงตรงนี้ได้ง่ายขึ้น ถ้าไปคุยกับคนเก่าๆ สมัยก่อนนู้น เขาจะบอกว่า แทบไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาตรงนี้เลย เพราะมันไกลมาก รถเมล์ก็นานๆ มาที  คนที่อยู่ที่นี่จะหาทางเข้าไปในเมืองมากกว่า แต่พอมีรถไฟฟ้าปุ๊บ ที่นี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปเลย เพราะเป็นสถานีแรกๆ ที่สร้าง ก็เลยทำให้มีตึกสูง มีคอนโดฯ ต่างๆ เกิดขึ้น มีกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น เพราะอารีย์มีความเป็นชุมชน เหมือนกับบ้านเขา มีครบทุกอย่าง สามารถเดินได้ เลยทำให้พื้นที่ย่านอารีย์แพงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย 

        “หลายคนก็มาตามหาแพสชันที่นี่ ทั้งคนไทย ต่างชาติ บางคนมาเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน ที่นี่จะมีอพาร์ตเมนต์ห้องใหญ่ที่มีหลายห้องนอน เขาก็จะหารูมเมตผ่านออนไลน์กันมา แล้วมาแชร์ห้องอยู่ด้วยกัน ส่วนคนไทยก็อาจจะออกจากงานประจำ มาเปิดร้านกาแฟ ซึ่งร้านกาแฟในยุคแรกๆ ก็มีอย่างกาแฟละเลียด หรือ Porcupine ก็มาจากคนที่สนใจธุรกิจกาแฟแล้วมาเปิดร้านของตัวเอง แต่พอมายุคนี้ทำไม่ได้แล้วนะ เพราะที่แพงมาก ทุกคนต้องสู้กับค่าเช่า ส่วนร้านใหม่ๆ จะเปิดขึ้นตามวัฒนธรรม cafe hopping วิธีการคือตกแต่งร้านสวยๆ ให้คนมาถ่ายรูปกัน เป็นมาร์เกตติงไปในตัว ทำให้เขาอัพราคากาแฟได้สูงแล้วพอคนมากันเยอะจนหมดช่วงที่คนสนใจแล้ว เขาก็อาจจะรื้อร้านแล้วตกแต่งใหม่ หรือปิดร้านแล้วไปเปิดที่อื่น เพราะว่าเขาได้กำไรเยอะมากในช่วงที่มีคนพากันมาถ่ายรูปในร้าน เหมือนกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของคนไทยไปแล้ว”

จากเพจเล็กๆ สู่กิจกรรมชวนเดินลัดเลาะไปในอารีย์ 

        หลังจากเดินลัดเลาะอยู่คนเดียวมาพักใหญ่ ไม่นานมานี้ ฮามิชเลยคิดโปรเจกต์เล็กๆ เพื่อเติมสีสันให้กับเพจ ด้วยการประกาศชักชวนลูกเพจให้ออกมาเจอหน้าค่าตาและเดินเล่นด้วยกันเป็นครั้งแรก โดยไม่ได้ระบุเส้นทางแน่ชัด บางช่วงของการเดินก็ไปตกลงกันระหว่างทางว่าจะไปไหนต่อดี วันนั้นเขาพาคน 6-7 คนเดินกันไปตั้งแต่อารีย์ซอย 2 ย้อนมาอารีย์ซอย 4 ชมประตูสีฟ้าหน้าบ้าน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไปแวะนำทองแกลเลอรี แล้วลัดเลาะเข้าไปในกรมทรัพยากรน้ำ ไปเดินดูบ้านเก่าๆ ในหมู่บ้านแรกของกรุงเทพฯ นั่นก็คือพิบูลย์วัฒนา จากนั้นก็ย้อนไปทางกระทรวงการคลัง เดินผ่านกรมประชาสัมพันธ์ ไปที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเดินทะลุซอยศาสนา (ฮามิชเล่าว่า เมื่อก่อนซอยนี้เคยมีกรมการศาสนาตั้งอยู่ และย้ายออกไปในเวลาต่อมา)​ ได้ถ่ายภาพแสงสุดท้ายของวันผ่านฉากหน้าของวังที่สวยงาม ก่อนจบเส้นทางเดินในทริปเล็กๆ 

        “ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะมีใครมาเดินกับเรา แต่ก็คิดว่าต่อให้มีคนมาคนเดียวเราก็เดิน เพราะเราเองก็มาเริ่มต้นเดินจริงจังตอนอยู่ที่อารีย์ เขาบอกกันว่าที่อารีย์เป็นพื้นที่ walkable เราก็อยากรู้ว่าเดินได้มากแค่ไหน ซึ่งก็พบว่าเดินได้ เทียบกับที่อื่นก็ดีกว่าหลายๆ ที่โดยเฉพาะในเมือง เราไปมาหลายที่ ซึ่งเป็นพื้นที่คล้ายๆ ซอยอารีย์ แต่กลับไม่มีที่เดิน เรารู้สึกว่าต้องไม่ให้อารีย์เป็นแบบนั้น 

        “เรารู้สึกว่าการเดินทำให้เราได้ปฏิสัมพันธ์กับคน หรือต่อให้ไม่ปฏิสัมพันธ์ แค่มองแล้วจำหน้าได้หรือเขาเห็นหน้าเรา รู้สึกว่าอย่างน้อยมันช่วยทางด้านสุขภาพจิต ปรับสภาวะจิตใจ เพราะการที่เราได้ออกไปพบเจอผู้คน มีคนเดินผ่านไปมา มองหน้าเราบ้าง หรือสวนกันบ้าง ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตนจริงๆ เพราะหลายครั้งเราคิดอะไรหมกมุ่นอยู่คนเดียว จนเราก็ลืมไปว่าเรามีตัวตนอยู่จริงๆ การออกไปเดินเจอแสงแดดบ้าง ร่มเงาบ้าง ได้เห็นท้องฟ้าเปลี่ยนสีบ้าง ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เชื่อมโยงกับพื้นที่ตรงนั้นมากขึ้น 

        “บางทีเราไม่ได้มีโอกาสมากมายที่จะไปเดินตามสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่อยู่ไกลๆ  แต่เรารู้สึกว่าเดินได้แค่นี้ เราก็เอาเท่าที่ได้ แล้วอะไรที่เราเคยมองข้าม มองผ่าน พอเราได้เดินบ่อยๆ ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะชื่นชมสิ่งรอบตัว ได้เห็นว่าบ้านนี้สวยจังเลย เดินมาทีไรก็รู้สึกดีจังเลย พอเราเดินบ่อยๆ เราก็ได้สังเกตความรู้สึกตัวเองเวลาเดิน ตอนนี้เรียกว่าเดินจนไม่มีซอกไหนที่ไม่เคยไปแล้ว แต่ถ้ายังมีที่ที่ได้เจอแล้วแบบ ตรงนี้เข้าได้ ตรงนี้ไปต่อได้ ก็จะรู้สึกเหมือนเป็นรางวัลให้มีความสุขขึ้นได้อีกนิดหนึ่ง

        “บางครั้งก็ยอมรับว่าเห็นภาพสะท้อนปัญหาสังคมเยอะมาก บางทีเห็นบ้านที่เปลี่ยนเป็นตึกหรือว่าบ้านร้างที่ไม่รู้ว่าเป็นของใคร มองไปมองมา ก็เริ่มคิดว่า เออ เราไม่มีพื้นที่สาธารณะเลยเนอะ หรือไม่มีพื้นที่ให้คนทั่วไปเช่าทำกินในราคาที่พอจ่ายได้เลย เมื่อไม่มีที่แบบนั้น คนที่มาเช่าก็จะกลายเป็นร้านเชนใหญ่ๆ แทน”

        ฮามิชบอกว่า เรื่องการเดินยังมีประโยชน์อีกมาก นอกจากเพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจด้วย “เราอยากให้คนเห็นค่าความสำคัญของการเดินมากขึ้น ยิ่งเดินมาก เศรษฐกิจก็ยิ่งดีด้วย ลองนึกว่าถ้าเราเดินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง เราก็ต้องผ่านร้านต่างๆ จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ได้ซื้อ หรือเราอาจจะไปบอกเพื่อนว่ามีร้านตรงนั้นตรงนี้ แต่ว่าถ้ามีสกายวอล์ก ทุกคนก็จะเดินข้างบนอย่างเดียว ร้านข้างล่างก็อาจจะเจ๊งหมดเลย” 

        “สรุปคือ ไม่เฉพาะพื้นที่ในอารีย์ แต่ถ้าใครอยู่ตรงไหนแล้วพอเดินได้ ก็อยากให้เดิน การเดินทำให้เราเป็นคนที่ขี้สงสัยได้สังเกตสิ่งต่างๆ แล้วสองสามอย่างนี้แหละที่ทำให้วันธรรมดาๆ สนุกขึ้นมาได้ บางทีแค่เราไปเดินเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องมีเป้าหมายก็ได้ แล้วค่อยสังเกตไปเรื่อยๆ สักวันก็จะมีเป้าหมายขึ้นมา การเดินจะช่วยให้เราได้เคลียร์สมอง และได้บอกตัวเองว่า บางครั้งเราอาจไม่ต้องพึ่งอะไรเลย เราก็สามารถพาตัวเราเองจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้”

        แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็อยู่ที่ว่า เราจะเดินได้ไกลแค่ไหน จะมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวมากแค่ไหน จะเห็นความสำคัญของการมีเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหน?​

        และไม่แน่ว่า พื้นที่เล็กๆ แถวบ้านของพวกเรา อาจจะกำลังรอให้เราไปสำรวจและสะท้อนภาพกว้างของเมืองใหญ่ ที่พวกเราอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี เหมือนที่เพจเพื่อนบ้านอารีย์ พาเราเดินสู่ถนนลดเลี้ยวที่พาลัดเลาะ ทำให้เรารู้ว่าทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน และเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกเดียวดายในเมืองใหญ่ก็ได้ 

 


ฮามิชแนะนำจุดหมายที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ในอารีย์

1. ทางเดินเลียบคลองข้างวัดมะกอก 

 

2. ทางเดินข้างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกรมทรัพยากรน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นทางลัดไปยังหมู่บ้านพิบูลย์วัฒนา ถ้ารู้ทางเส้นนี้ก็จะเดินทะลุมาฝั่งถนนพระรามหกได้ง่ายขึ้น 

 

3. สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ คนที่ไม่เคยเดินเข้ามา อาจไม่รู้ว่ามีสวนนี้ให้คนได้มาออกกำลังกายได้

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์

4. พิพิธภัณฑ์แผ่นเสียงในกรมประชาสัมพันธ์ เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเข้าไปชมได้ มีแผ่นเสียงมากมายที่ส่งกลับคืนมาจากสถานีวิทยุจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และนำมารวบรวมไว้ให้ชมกันที่นี่  


เรื่อง: ฬียากร เจตนานุศาสน์