บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์: บทพิสูจน์ของคนธรรมดาที่มีหัวใจแห่งการให้ที่ยิ่งใหญ่

พลันที่รถยนต์สี่ล้อมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอวารินชำราบ หนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบยี่สิบปี ร่องรอยความเสียหาย ความเจ็บปวด และคราบน้ำตาของประชาชนผู้เดือดร้อน ยังคงปกคลุมตามบ้านเรือนริมสองข้างทางที่รถผ่าน เจ้าหน้าที่บางรายเล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่วิกฤต บางจุดมีน้ำท่วมสูงถึงแปดเมตร แม้ว่าวันที่เราไปถึงสถานการณ์จะคลี่คลายลงไปมากแล้วก็ตาม

        เมื่อน้ำท่วมเริ่มลด น้ำใจของผู้คนกลับเป็นสิ่งที่เอ่อล้นขึ้นมาแทนที่ เพราะอำเภอวารินชำราบแห่งนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานและรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมี บิณฑ์ และ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ สองพี่น้องผู้ให้แห่งวงการบันเทิงเป็นผู้นำอยู่ ภาพสิ่งของมากมาย ทั้งข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม หมอน ผ้าห่ม ไปจนถึงของใช้จำเป็นต่างๆ ที่จัดแบ่งใส่ถุงพลาสติกกองเป็นพะเนินภายในโรงครัว คือตัวแทนน้ำใจของประชาชนคนไทยจากทั่วประเทศที่ส่งมาให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยผ่านศูนย์ประสานงานแห่งนี้ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่สถานที่นี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการในการรับ-แจกจ่าย สิ่งของ และเป็นที่พักสำหรับทีมงานหลายสิบชีวิตในแต่ละค่ำคืน ก่อนออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

        เราเดินทางมาที่นี่เพราะมีนัดหมายกับ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ คนบันเทิงที่เรามักเห็นเขาปรากฏในหน้าสื่อยามที่มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องการประสบภัย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จนหลายคนยกย่องให้เขาเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้ ในวัย 57 ปี เขามีริ้วรอยของกาลเวลาที่เพิ่มเติมบนใบหน้า ร่างกายที่ซูบผอมลงไปถนัดตาจากการโหมแรงช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัย หากแต่สีหน้าและแววตาอันมุ่งมั่นยังมีเค้าความเข้มขรึมของอดีตพระเอกหนุ่มชื่อดังแบบฉบับไทยๆ อย่างชัดเจน บ่งบอกเราว่ากว่าสามสิบปีที่ยืนหยัดทำงานสังคมสงเคราะห์ได้มอบความสุขให้กับตัวเขามากมายเพียงไร 

        เช่นกันกับครั้งนี้ที่บิณฑ์และทีมงานมูลนิธิร่วมกตัญญูถือเป็นกลุ่มแรกที่เข้าถึงพื้นที่ประสบภัย ก่อนที่ภาพข่าวสารของเหตุการณ์จะส่งสัญญาณให้ภาครัฐได้เริ่มขยับตัวเข้ามาช่วยเหลือ จนกระทั่งกลายเป็น ‘ปรากฏการณ์ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ ที่ประชาชนทั่วประเทศร่วมบริจาคเงินเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยผ่านบัญชีของบิณฑ์เป็นจำนวนถึงสี่ร้อยกว่าล้านบาทในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่า ยามมีปัญหา สังคมไทยพร้อมที่จะส่งความช่วยเหลือให้กันและกันอย่างเต็มที่ เพียงมีใครสักคนลุกขึ้นมาจุดประกาย 

        “สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนที่จิตใจดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มองเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหมือนเป็นความทุกข์ยากของตัวเอง ใครเดือดร้อน ไม่ว่าจะภาคไหนของเมืองไทย หากมีใครสักคนลุกขึ้นมาช่วยเหลือ เขาก็พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้ต่อสู้ พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ”

        ในแง่หนึ่ง น่าสนใจว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้ การขยับตัวของภาคประชาชนซึ่งนำโดยคนธรรมดามักประสบความสำเร็จเสมอ และเป็นการโยนคำถามไปยังฝั่งภาครัฐที่ควรจะเป็นเสาหลักถึงระบบการจัดการยามมีภัยพิบัติที่ต้องมีความรวดเร็วและชัดเจนมากกว่านี้

        เสียงไอโขลกเป็นระยะระหว่างบทสนทนากับบิณฑ์จากอาการป่วยในการลงพื้นที่ บ่งบอกกับเราว่าเขาไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ดาราที่เป็นเพียงเปลือกนอก แต่เขาเป็นเพียงคนธรรมดาที่มีหัวใจของการให้ อันเป็นส่วนสำคัญของความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่เขาทำมาตลอดสามสิบกว่าปีเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าภัยจะร้ายแรงขนาดไหน จิตใจแห่งการให้ของมนุษย์ย่อมสวยงามและยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

 

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

คุณยังจำวันแรกที่มาถึงอุบลราชธานีได้ไหม สภาพของเมืองตอนนั้นเป็นอย่างไร

        ผมมาถึงตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน ถนนทุกสายยังมีรถวิ่งได้อยู่ แต่น้ำเริ่มเพิ่มขึ้นจากแม่น้ำชีเรื่อยๆ ณ ตอนนั้น มีผู้คนเริ่มอพยพจากริมน้ำขึ้นมาอยู่ริมถนนตามที่หน่วยราชการเขาจัดตั้งไว้ให้เป็นที่พัก เป็นเพิง เป็นล็อกๆ กระทั่งวันที่ 8 น้ำเริ่มขึ้นมาถึงหัวเข่า คนที่มีบ้านชั้นเดียวออกมาหมด บ้านสองชั้นยังไม่ออก เพราะคิดว่าน้ำคงขึ้นไม่มาก พอวันที่ 9 น้ำขึ้นพรวดมา จนกระทั่งบ้านชั้นเดียวมิดหลังคา บ้านสองชั้นเริ่มทยอยกันออก เพราะรู้ว่าน้ำไม่ได้หยุดแค่นี้ ทางหน่วยงานราชการเขาก็สั่งอพยพให้ออกมาให้หมดให้ได้ พอวันที่ 10-11 จากน้ำไหลแรงก็เริ่มนิ่งแต่ยังขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นเราก็ได้แค่เอาเรือออกไปสำรวจว่าที่ไหนยังมีคนอยู่บ้าง ที่ไหนคนไม่ออกมา เราก็เอาพวกข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวสำเร็จรูปที่ทำเสร็จ ไปแจกจ่ายตามบ้านต่างๆ เอาไฟฉายให้ไป

ช่วงเวลานั้นถือเป็นความยากลำบากของผู้ที่ประสบภัยขนาดไหนในสายตาของคนที่ลงไปอยู่ในพื้นที่อย่างคุณ

        จากวันที่ 9-13 ผมได้เห็นสภาพทุกอย่าง ทุกคนสิ้นหวังหมด ทุกคนไม่มีกำลังใจ อีกอย่างคือเขาไม่รู้จะพึ่งใคร หน่วยราชการส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล ส่งทหาร ตำรวจ เข้าพื้นที่ ตอนนั้นมีผู้ใจบุญทำอาหารกล่องให้กับเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานต่างๆ ส่วนทางมูลนิธิร่วมกตัญญูก็ลงมา ทีแรกเรายังไม่ได้ทำเป็นโรงครัว เพราะคิดว่าเดี๋ยวคงจะเสร็จ แต่พอมาดูสถานการณ์ เราจึงตัดสินใจตั้งโรงครัวขึ้นมา เผื่อบางทีหน่วยงานต้องการขอความช่วยเหลือในการทำกับข้าวกล่องส่งตามที่ต่างๆ 

        ช่วงที่เอาเรือออกไปดูตามที่ต่างๆ ทั้งกลางวันและเย็น จะได้เจอคนแก่คนเฒ่าพายเรือมาเพื่อจะไปดูว่าตรงไหนเขามีแจกข้าวกล่อง แจกน้ำ จะเอามาเก็บตุนไว้ ตอนนั้นเราได้มอบเงินให้เขาไป บางรายก็หนึ่งพัน บางรายก็สองพัน บางรายก็ห้าร้อย ทุกวันก็ทำแบบนี้ จนกระทั่งเงินหมด ผมก็คิดว่าคงต้องกลับกรุงเทพฯ ไปเอาเงินมาให้เขา อย่าลืมว่าส่วนใหญ่ของพี่น้องประชากรชาวอีสานมีอาชีพทำนาทำไร่ เกษตรกร รับจ้างทั่วไปรายวัน เมื่อเกิดน้ำท่วมหกเจ็ดวันไม่มีรายได้เข้ามาเลย เขาจะเอาที่ไหนใช้ ตอนที่เอาเงินให้เขา เขาดีใจ เข้ามาจับมือ มากอด บางคนถึงกับน้ำตาไหล เขาจะเอาไปซื้อสิ่งที่เขาต้องการ เขาต้องมียาบางตัวหรือมีอะไรบางอย่างที่ต้องซื้อติดตัวไว้เป็นประจำ ผมก็คิดว่าถ้าเราเอาข้าวสารอาหารแห้งมาแจกก็เหมือนเดิม ซ้ำไปซ้ำมา ถามว่าจำเป็นไหม จำเป็น แต่ถ้าเขามีปัจจัย เขาสามารถไปทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่เขาได้เยอะ

หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นการระดมเงินผ่านบัญชีของคุณจากพี่น้องชาวไทยเป็นจำนวนมหาศาล

        พอกลับมากรุงเทพฯ ผมตัดสินใจว่าจะเบิกเงินส่วนตัวหนึ่งล้านบาท และประกาศชวนคนมาทำบุญร่วมกับผม คนละสิบยี่สิบบาทก็ได้ รวมกันหลายๆ คน แล้วผมจะนำไปให้ครอบครัวที่ประสบภัยครอบครัวละหนึ่งพันบาท จำนวนประมาณพันหรือสองพันครอบครัว ปรากฏว่าผ่านไปสองวัน พอไปกดดูบัญชีอีกทีกลายเป็น 27 ล้าน ตอนนั้นเราก็ตกใจ เราคิดว่ากดผิด (หัวเราะ) พอดีมีจังหวะรายการหนึ่งชวนผมไปพูดคุยในรายการ เราก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ข่าวจะได้แพร่กระจาย คนจะได้ร่วมมาทำบุญให้พี่น้องมากขึ้น ผมเลยคิดว่าไปรายการก่อนแล้วค่อยกลับไปที่อุบลฯ กระทั่งจบรายการ ผมมาถึงที่สุวรรณภูมิ พอเช็กยอดอีกทีปรากฏว่าขึ้นมาสี่สิบล้าน ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้ว แต่ในใจคิดว่าคงไม่เกินห้าสิบล้าน พอนั่งเครื่องมาถึงอุบลฯ กดดูอีกที เพิ่มเป็นเก้าสิบเก้าล้าน คราวนี้ตกใจทำอะไรไม่ถูก คิดว่าต้องตั้งกองบัญชาการจริงจังแล้ว หลังจากนั้นจากเก้าสิบเก้า เป็นร้อยยี่สิบ ร้อยห้าสิบ ข้ามอีกวันเพิ่มเป็นสองร้อย สองร้อยสามสิบสาม สามสี่วันแรกล่อไปสามร้อยกว่าล้าน พอห้าวันเริ่มเบาลง วันละสิบล้าน สิบห้าล้าน จนกระทั่งอยู่ที่ประมาณ 426 ล้าน    

        ผมดีใจมากว่าจากจุดเล็กๆ จากเงินหนึ่งล้านบาทของเรา สามารถช่วยคนได้หลายหมื่นครอบครัว จากที่เราตั้งไว้ประมาณหนึ่งพันครอบครัว ครอบครัวละหนึ่งพันบาท กลายเป็นห้าพันครอบครัว ครอบครัวละห้าพันบาท แต่เงินก็ยังเหลืออยู่ เราจึงต้องคิดให้ลึกไปกว่าเดิม คือต้องมีการฟื้นฟูหลังน้ำลด เราต้องมีพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้าช่วยเหลือ มีหมอนมุ้งผ้าห่ม ประชาชนที่เป็นผู้ประสบภัยได้ผลประโยชน์เต็มๆ เพราะเงินเข้ามาขนาดนี้ เป็นอะไรที่ทุกคนคาดไม่ถึง เหมือนกับนี่คือครั้งประวัติศาสตร์

คำว่าครั้งประวัติศาสตร์คุณหมายถึงในแง่ไหน

        ผมถึงพูดว่าครั้งประวัติศาสตร์ เพราะหมายถึงบัญชีธนาคารของบุคคลธรรมดาคนเดียวคนหนึ่งที่ชื่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ มีคนโอนเงินเข้ามาสี่ร้อยกว่าล้านในเวลาไม่ถึงอาทิตย์ ธนาคารยังบอกว่าระบบล่มหมด เพราะหนึ่งวินาทีคนจะโอนทั่วประเทศ กระทั่งทุกคนโอนไม่ได้ จนต้องมาเปิดอีกบัญชีเป็นกระแสรายวันถึงเริ่มโอนได้ สลับไปสลับมา 

        สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนที่จิตใจดี มีความเอื้อเฟื้อเผือแผ่ มองเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหมือนความทุกข์ยากของตัวเอง ใครเดือดร้อน ไม่ว่าจะภาคไหนของเมืองไทย หากมีใครสักคนลุกขึ้นมาช่วยเหลือ เขาก็พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้ต่อสู้ พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ สี่ร้อยกว่าล้านไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เป็นสิ่งที่มีจุดมุ่งหมาย เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

ทุกครั้งที่เกิดภัยหรือเกิดความต้องการครั้งใหญ่ เรามักจะเห็นภาพคนธรรมดาบางคนลุกขึ้นมา ก่อนที่ความช่วยเหลือจะกระจายไปเป็นวงกว้างเสมอ คุณเคยคิดไหมว่าทำไมคนธรรมดาถึงต้องมาทำแบบนี้ ทั้งที่มันควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก

        คือผมเข้าใจระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐว่าเป็นอย่างไร เวลาเกิดวิกฤตในประเทศไทยทุกครั้งจะมีแต่ทหารเข้าไปก่อนชุดแรก เพราะหนึ่ง ทหารเขาเป็นหน้าเป็นตาให้กับรัฐบาล แต่ทหารเข้าไปช่วยเหลือได้แค่กำลัง ช่วยเหลือในการขน ในการเอารถไปบรรทุก ส่วนภาคเอกชนเวลาเข้าไป หนึ่ง คือช่วยเรื่องกำลังทรัพย์ น้ำ ข้าวสารอาหารแห้ง ข้าวสำเร็จรูป ทำเสร็จไปแจกไปช่วยกัน เพราะพวกนี้เขาไม่ต้องมาตัดสินใจว่าจะทำอะไรไม่ทำอะไร ไม่ต้องคอยเซ็นงบอนุมัติ เอกชนถึงสามารถที่จะทำงานได้เร็วกว่าภาครัฐ ยิ่งเดี๋ยวนี้โซเชียลฯ ลงนิดเดียว ทุกอย่างไปถึงหมด เฮ้ย บ้านนั้นยังไม่มีใครไปช่วย แป๊บเดียวรู้กันหมด ตรงนี้ผมรู้สึกว่าทำให้คนที่เดือดร้อนได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและรวดเร็วมาก 

        อย่างในกรณีของที่อุบลฯ ผมว่าน้ำขึ้นเร็วมาก ลบสถิติปี 45 ไปแล้ว ทุกคนไม่เชื่อว่าน้ำจะมากขนาดนี้ ทางหน่วยงานรัฐหรือราชการก็จะบอกว่า ไม่เป็นไร เขาเฉยกัน เพราะคิดว่าน้ำไม่ขึ้นมากไปกว่านี้หรอก จนกระทั่งมันพรวดขึ้นมาจนไม่มีใครตั้งตัวได้ นำทรัพย์สมบัติต่างๆ ออกมาไม่ทัน หมดไปกับน้ำ มอเตอร์ไซค์ รถ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ไฟฟ้า ชาวบ้านเขาไม่เหลืออะไรแล้ว 

คุณมองว่าทางออกของรัฐหรือแนวทางจัดการยามเกิดภัยแบบนี้ควรมีวิธีอย่างไร

        ถ้าเราทำงานในระบบ ต้องมีการอนุมัติ ต้องมีการขอทำเรื่อง ต้องมีคณะกรรมการดูว่าจำเป็นไหม เพราะว่ารัฐไม่มีงบเฉพาะหน้าหรือเฉพาะกิจ แต่ถ้ารัฐสามารถมีงบเฉพาะกิจได้ แล้วตั้งคนรับผิดชอบ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ปั๊บไม่ต้องรอนายกฯ หรือใครเซ็นอนุมัติ เอางบออกมาหนึ่งร้อยล้านไปลงพื้นที่เลย คือในมุมหนึ่งอาจเป็นการเปิดช่องว่างให้คนคิดไม่โปร่งใส แต่ถ้าเราสามารถหามาตรการในการป้องกันการทุจริตได้ จะเป็นสิ่งที่ดีกับชาวบ้านมาก

        ถ้าคุณยังทำงานในระบบเก่าแบบทุกวันนี้ ยังไงคุณก็ถูกนินทาตลอด ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็แล้วแต่ หรือบางรัฐบาลก็หวังจะเอาชื่อเสียงตัวเอง เอาชื่อเสียงของพรรค พอประชาชนบริจาคของมาก็เก็บของไว้ เพื่อจะมาเขียนชื่อเป็นของตัวเองและแจกให้ประชาชน นี่คือการทำด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ ทำเพียงแต่หวังเอาคะแนนเสียง เอาความดีความชอบ เพราะฉะนั้น อย่างผมแค่ทำงานเป็นจิตอาสาของร่วมกตัญญู ผมไม่ได้มีพรรคการเมือง ไม่ได้มีธุรกิจ ไม่มีอะไรเลย ไม่หวังผลอะไรที่จะกลับมาหาผมนอกจากความดีที่ทำ ยิ่งชาวบ้านมีความสุขเท่าไหร่ ผมมีความสุขเพิ่มกว่าชาวบ้านอีกเป็นร้อยเท่า เพราะว่าถ้าเราทำด้วยความจริงใจ เราจะได้รับกลับมาด้วยใจอย่างเกินร้อยจริงๆ

ในฐานะคนลงพื้นที่ และได้เห็นความยากลำบากของชาวบ้านที่ประสบภัย เวลาเกิดเหตุแบบนี้ คุณคับแค้นใจภาครัฐไหม ในขณะที่ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ทุกอย่างก็ยังช้าทุกครั้ง

        ผมพูดตรงๆ ว่าไม่เคยโกรธหรือคับแค้นใจภาครัฐเลย เพราะเข้าใจระบบ แต่อย่างที่บอกไป รัฐควรจะมีการจัดการงบเฉพาะกิจ หรือไม่เช่นนั้นอย่ามาเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน อย่ามาเอาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ให้พรรคหรือการเป็นรัฐบาล (เน้นเสียง) เช้ามารัฐบาลประกาศ ตอนนี้ต้องการข้าวสารอาหารแห้ง ต้องการน้ำดื่ม ให้คนมาบริจาคให้กับรัฐบาล แต่คุณกลับตุนของที่เขาเอามาบริจาคเพื่อรอให้พรรคพวกตัวเองเอาไปแจก และบอกว่ามาจากรัฐบาล ทั้งที่จริงไม่ใช่ อย่างไรก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่าใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น คุณทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ คุณก็จะได้สิ่งตอบแทนกลับมาด้วยความอิ่มเอมใจ ถ้าคุณทำอะไรไม่มีความบริสุทธิ์ใจ คุณจะได้ความรู้สึกอึดอัดใจ ไม่สบายใจ ผมเองทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมมีความสุขมาก ถึงผมจะป่วยหรือลำบาก ผมก็ยังอยากที่จะลงพื้นที่ เพราะผมไม่แคร์อะไรอยู่แล้ว ผมไม่ต้องมารอพรรค ลุยก็ลุยเลย 

 

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

เคยคิดไหมว่าทำไมประชาชนถึงได้เชื่อมั่นในตัวคุณที่คุณเองเรียกว่าเป็นคนธรรมดา

        ผมทำงานกับมูลนิธิร่วมกตัญญูมา 32 ปี สะสมในสิ่งที่ทำให้ทุกคนเห็นเลยว่า สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยมีผลประโยชน์อะไรกับใครทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์จากส่วนรวมมาเข้าส่วนตัว หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ด่างพร้อย เรื่องการทุจริต เรื่องเงินเรื่องทอง ผมมีแต่ให้ ถึงแม้ไม่มีน้ำท่วม ผมก็ออกช่วยเหลือของผมเป็นประจำทุกวัน ไปช่วยเหลือคนเจ็บ ไปเก็บคนตาย คนทุพพลภาพนอนติดเตียง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำสะสมมาทำให้พี่น้องประชาชนหลายๆ คน น่าจะรู้ซึ้งว่าผมทำจริง ผมไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ผมไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดๆ ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ผมบริสุทธิ์ใจที่อยากจะช่วยเหลือ มันเลยกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ขึ้นมา ผมเชื่อว่าต่อไปก็จะมีคนแบบนี้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นใคร และเป็นเรื่องอะไรเท่านั้นเอง

คุณรู้สึกอย่างไรเวลามีคนยกย่องให้คุณเป็นคนบันเทิงที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการเสียสละในปัจจุบัน

        ความจริงคนในวงการบันเทิงที่ช่วยเหลือผู้อื่นก็มีนะ แต่คนที่จริงจังมากว่าสามสิบปีเหมือนอย่างผมถือว่าน้อยมาก ผมถือว่าผมได้เป็นสิ่งดีๆ ให้กับวงการบันเทิง ให้รุ่นน้องของคนบันเทิง เป็นเยี่ยงอย่างให้แก่ดารารุ่นหลังที่ก้าวขึ้นมาได้เห็นว่ามีรุ่นพี่ได้ทำในสิ่งที่ดีคือการช่วยเหลือผู้อื่นและประสบความสำเร็จ แต่คุณต้องดีด้วยใจจริงนะ อย่ามาทำเสแสร้งหรือสร้างภาพ

        เมื่อก่อนผมโดนคำว่าสร้างภาพมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งคำนี้หายไปจากใจผมหมด ทุกคนยอมรับมากขึ้น สร้างภาพอะไรสามสิบกว่าปี คงไม่ใช่สร้างภาพ แต่เป็นสันดานที่ชอบช่วยเหลือ แต่หากคนจะว่าผมสร้างภาพ ผมก็ยอมรับนะ เพราะเป็นการสร้างภาพดีๆ ให้กับพวกเขาได้เอาเยี่ยงอย่าง ถ้าคิดว่าสิ่งที่ผมทำเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ และเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ เขาสามารถมีชีวิตต่อไปได้อีกหลายปี ทำเถอะครับ ใครจะว่าสร้างภาพก็ช่าง ผมว่ามันเป็นความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ รวมถึงผู้ที่ได้พบเห็น ไม่มีความทุกข์ใจหรอก

พูดถึงเรื่องการให้ เราเคยได้ยินคำที่ว่า ‘ให้จนไม่มีจะกิน’ คุณรู้สึกอย่างไรกับคำนี้

        พระพุทธองค์บอกไว้ว่า ‘ให้เขาแล้วอย่าเดือดร้อน ให้เขาแล้วอย่าคิดมาก ให้เขาแล้วต้องมีความสุข’ ไม่ใช่ให้แล้วมานั่งคิดว่าจะได้อะไรกลับมา มันจะกลายเป็นความทุกข์ใจ การให้ที่เป็นความทุกข์ใจอย่าให้ ไม่จำเป็นต้องเห็นคนอื่นให้ และคิดว่าเราต้องให้เหมือนคนอื่น ทั้งที่เราแทบจะไม่มี ไม่จำเป็นเลย เอาไว้คุณมีพร้อม คุณมีเพียงพอ คุณมีเหลือ คุณให้เขาได้เลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะให้ แต่การให้แล้วกลับเป็นความทุกข์แก่เรา เป็นความรู้สึกอึดอัดใจ ไม่ดีหรอก หากเกิดเหตุการณ์ให้จนไม่มีจะกิน ผมว่าคนที่ให้ก็ไม่รู้จักมองความเป็นอยู่ตัวเองให้ดี แบบนี้ไม่ได้อะไรเลย แม้แต่บุญก็ไม่ได้ จะได้บาปกลับมาด้วยในสภาพจิตใจเรา เพราะฉะนั้น การให้เราต้องดูฐานะ ดูเหตุการณ์ ดูในตัวเราว่า ควรจะให้หรือไม่ให้ อย่าให้จนกระทั่งเอาตัวเองไม่รอด

ถ้าเราเองยังดูแลตัวเองไม่ได้ บางทีการให้ก็กลับกลายเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน

        ถ้าเรายังดูแลตัวเองไม่ได้ เราจะไปดูแลใครได้ เราจะเอาอะไรไปให้คนอื่น หรือว่าให้เพื่ออยากเป็นข่าว อยากให้คนเห็นว่าเราให้ แต่ให้เสร็จต้องกลับมานั่งเศร้าอยู่ที่บ้าน คิดว่ากูจะเป็นข่าวไหม จะมีใครพูดไหมว่ากูให้ พอไม่เป็นข่าวก็คิดว่า โอ๊ย กูไม่น่าให้เลย เสียดายเงิน แบบนี้เป็นอะไรที่แย่มากสำหรับตัวเองนะ ผมให้ทุกครั้ง ผมมีความสุขทุกครั้ง มันอิ่มเอมใจ ผมไม่เคยให้ใครแล้วต้องกลับมานั่งทุกข์ เพราะฉะนั้น ขอให้เป็นธรรมชาติในการให้ เป็นความบริสุทธิ์ใจที่จะให้ อย่าไปหวังผลตอบแทน อย่าไปหวังอะไรที่จะกลับมา แต่หากสิ่งได้กลับมาคือความสุขของเรา นั่นแหละคือสุดยอดของการให้

ถ้าวันนี้เราไม่มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ไม่มีฐานะ ไม่มีอะไรเลย เราจะสามารถให้อะไรได้บ้าง 

        ถ้าเราไม่มีอะไรเลย สิ่งที่สามารถให้ได้คือความจริงใจ ความจริงใจเราให้กับทุกคนได้ ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องเสียทอง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่มากมาย ความจริงใจที่ทุกคนมีให้กันและกันถือเป็นการให้ที่บริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติมาก ถึงคุณจะไม่มีเงินไม่มีทอง คุณให้ความจริงใจสิ ให้แรงกายแรงใจเขาสิ คุณไปช่วยเขาในสิ่งที่คุณมีกำลังช่วยได้สิ การให้บางทีไม่จำเป็นต้องให้เงินให้ทอง ขอแค่ให้กำลังใจเขา ขอแค่ให้ความจริงใจให้กับเขา นั่นสำคัญที่สุด

สำหรับคุณ ขอบเขตของการให้อยู่ตรงไหน คนเราจะสามารถให้ได้ถึงขนาดไหน

        ในมุมมองของผม การให้ไม่มีขอบเขต ผมจะดูความจริงและความจำเป็น ณ ตรงนั้น ว่าคนไหนควรจะได้รับความช่วยเหลือประมาณไหน สมมติผมบอกว่าผมจะให้สองหมื่น แต่ไปเจอบ้านหลังหนึ่ง โอ้โฮ แม่ป่วย พ่อป่วย ลูกอีกสี่ห้าคนพิการหมดทั้งบ้าน อย่างนี้ผมก็ให้ห้าหมื่น ผมจะดูความเป็นจริง ณ ตรงนั้น บ้านนี้อาจจะต้องใช้เงินมากกว่าบ้านนั้น บ้านนี้อาจจะต้องไปหาหมอเกือบทุกอาทิตย์ บ้านนี้อาจจะต้องฟอกไตอาทิตย์หนึ่งสามสี่ครั้ง ไปหาหมอทีต้องเสียค่ารถสามร้อย ห้าร้อย ความจำเป็นแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมจะมอง ณ ตรงนั้นที่เห็น ว่าจะช่วยเท่าไหร่อย่างไร แต่ ณ ตอนนั้น อยู่ที่คนที่ได้รับเงินด้วยว่า เมื่อเขาได้รับเงินไป เขาจะสามารถดูแลเงินตรงนั้นให้เกิดประโยชน์กับครอบครัว กับตัวเองให้มากที่สุดอย่างไร เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่าผมไม่มีขอบเขตในการให้ แล้วแต่ว่าเขาจะเอาไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หากเขาทำไม่ดี เขาก็จะได้สิ่งที่ไม่ดีกับตัวเขา

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าช่วยสังคมมาไม่เคยได้เงินเลย จุดไหนที่คุณเคยให้มากที่สุด ให้ไปเท่าไหร่

        ผมเคยเจอเหตุการณ์ที่มีบ้านถูกไฟไหม้ไม่เหลืออะไรเลย กอดคอกันร้องไห้ทั้งครอบครัว ตอนนั้นผมเอาเงินสดไปให้เขาหนึ่งแสนเป็นกำลังใจ อย่างน้อยเงินแสนนี้อาจจะช่วยให้เขาเช่าบ้านอยู่ได้ชั่วคราวก่อน ก่อนที่มีหน่วยงานจะเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างบ้าน แต่ผมไม่ได้ให้เงินห้าล้านไปสร้างบ้าน ผมไม่มีเงินมากถึงขนาดนั้น ผมให้เท่าที่ผมช่วยเหลือได้ และประกาศลงบัญชีของเขาสำหรับคนจะช่วยเหลือบ้านหลังนี้ เขาจะได้มีโอกาสได้อยู่บ้านของเขาอีกที หรือบางครั้งถ้าบ้านไหนจะต้องผ่าตัดเร่งด่วน ผมก็เคยให้ห้าหมื่น สามหมื่น แสนหนึ่ง เป็นแบบนี้ประจำ

 

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

เงินที่นำไปช่วยเหลือเหล่านั้นคุณได้มาจากไหน ทุกวันนี้คุณมีรายได้จากอะไรบ้าง

        ผมมีรายได้จากการรับเป็นพิธีกรบ้าง มีรายการนู้นรายการนี้บ้าง หรือจากหนังที่ผมทำบ้าง จนกระทั่งมีบุคคลที่ผมเคารพหลายๆ ท่านเขาเห็นสิ่งที่ผมทำในการช่วยเหลือคนมานาน และอยากจะมีโอกาสช่วยผม เขาบอกว่าผมไปดูแลชาวบ้าน แต่ไม่มีใครดูแลผม เขาจึงอยากมอบเงินเดือนให้ผมตลอดชีวิต นี่คือสิ่งที่ผมไม่เคยคิดหวัง แต่กลับมาได้ในสิ่งที่คนอื่นเขามองเห็น ตอนหลังผมไปกราบขอบคุณทุกคน เพราะฉะนั้น ผมมีต้นทุนตรงนี้ที่สามารถจะออกไปช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ได้ ตอนนี้ผมสร้าง ‘บ้านสุขสุดท้าย’ ที่เป็นบ้านพักคนชรา ดูแลคนอยู่ประมาณ 20 กว่าราย นอนติดเตียง บางคนพูดได้ บางคนพูดไม่ได้ เสียชีวิตไปประมาณ 6-7 ราย พอเสียชีวิตก็เผาให้ สวดให้ เอากระดูกไปลอยอังคารให้หมด เหมือนกับญาติตัวเอง นอกจากนั้นผมมี ‘ฟาร์มแห่งศรัทธา’ ซึ่งเป็นฟาร์มที่ดูแลวัวควายที่ถูกไถ่ชีวิตมาจากโรงฆ่าสัตว์ 

        ดังนั้น ทุกเดือนผมหมดรายจ่ายไปกับบ้านและฟาร์มทั้งสองแห่ง รวมถึงออกไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย เดือนหนึ่งผมใช้เงินประมาณสามสี่แสนบาท ฉะนั้น ที่บางคนถามว่าเอาเงินมาจากไหนเยอะแยะ คือมันมาโดยที่เราไม่คาดคิด เงินไม่เคยขาดมือสักเดือนเลยนะ ความเชื่อของผมก็เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจากข้างบนลงมาให้เรา ไม่ให้เรามีความท้อ ไม่ให้เรามีความรู้สึกขัดสนเรื่องเงินทอง ให้เรามีกำลังที่จะช่วยเหลือ เหมือนน้ำท่วมที่อุบลฯ จากล้านเดียวกลายเป็นสี่ร้อยกว่าล้าน ผมคิดว่าข้างบนคงบอก เฮ้ย บิณฑ์ มึงจัดการช่วยชาวบ้านทุกครัวเรือนที่เดือดร้อน ที่เป็นผู้ประสบภัยให้หมด ไม่ใช่เฉพาะอุบลฯ อย่างเดียว ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น ที่น้ำท่วม ให้ช่วยทั้งหมด ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นพลัง เป็นกำลังใจ ที่ทำให้เราได้ต่อสู้ ฉะนั้น ข้างบนเขาจัดสรรมาให้เราเรียบร้อยแล้ว เราต้องทำตรงนี้ต่อไปให้ได้ และทำด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วย

คุณทำงานสังคมสงเคราะห์มา 32 ปี เคยท้อหรือมีคำถามว่าตัวเองทำไปทำไมบ้างไหม

        สมัยแรกๆ ผมโดนด่าสารพัด หาว่าสร้างภาพ หากินกับศพ ผมก็คิดเสียว่าเสียงนกเสียงกาเหล่านี้เป็นเสียงที่ทำให้เราได้มีกำลังใจในการต่อสู้ สิ่งที่เขาพูดมา สิ่งที่เขาดูถูกมา เราต้องทำให้เขาได้เห็นว่าที่คุณพูดโดยไม่ได้เห็นความจริง วันหนึ่งคุณจะละอายแก่ใจ ผมคิดว่าเหมือนกับสุภาษิต ราชสีห์ไม่เคยหยุดฟังสุนัขที่ยืนเห่า เพราะไม่จำเป็น มันไม่คุ้มกับจิตใจเราที่มุ่งมั่นจะทำดี เพราะฉะนั้น ผมจะไม่เอาสิ่งไม่ดีพวกนั้นมากระทบจิตใจ ถ้าเราเอาคำพูดของเขามา เราก็ไม่ไปไหน ต้องหยุดแค่นี้เพื่อต่อสู้กับแค่พวกเขา เพราะฉะนั้น สามสิบกว่าปีมานี้ผมไม่เคยมีความท้อ ผมรู้ว่าผมทำงานตรงนี้ สิ่งที่จะตอบแทนมาไม่ใช่รางวัล ผมไม่ได้ต้องการรางวัล สิ่งที่ตอบแทนผมมา ผมได้กำลังใจ ผมมีความสุขใจ ผมเห็นรอยยิ้มของผู้ที่ผมไปช่วย ผมเห็นรอยยิ้มของพี่น้องประชาชนทุกคนที่กำลังเดือดร้อน พอมีสิ่งดีๆ เข้าไปหาเขามีรอยยิ้ม เขามีความสุข นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการ แต่แปลกว่าผมไม่เคยท้อแท้กับสิ่งที่ผมทำเลยจริงๆ

ทำงานสังคมสงเคราะห์มานาน ให้คนมาเยอะ คุณได้เรียนรู้อะไรหรือมองชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

        เราต้องเป็นผู้รับมาก่อน แล้ววันหนึ่งเราจะเป็นผู้ให้ ตอนเด็กๆ ผมเคยได้รับสมุด ดินสอ เสื้อผ้านักเรียน จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่นำมาแจก พอได้รับ ผมรู้สึกมีความสุข เป็นความสุขที่ว่าพ่อแม่เราไม่ต้องเสียเงินซื้อ แค่นั้นเอง ณ ตอนนั้นยังไม่เป็นผู้ให้ พอเข้าวงการบันเทิง ผมมีเงิน ผมไปซื้อสมุด ดินสอ ซื้อเสื้อผ้านักเรียน อุปกรณ์กีฬา สิ่งที่เคยได้รับจากป่อเต็กตึ๊ง คราวนี้ลองเป็นผู้ให้ดูบ้าง พอให้ปั๊บ เราเห็นเด็กนักเรียนดีใจ ได้เสื้อผ้าใหม่ รองเท้าใหม่ โรงเรียนได้อุปกรณ์กีฬา ทุกคนสนุกสนานมีความสุข เราก็มาคิดว่า เออ การเป็นผู้ให้มันมีความสุขมากกว่าผู้รับ ผู้รับบางครั้งไม่มีความสุข เพราะบางครั้งเราจะคิดว่าทำไมคนนั้นได้มากกว่า ทำไมเราได้แค่นี้ มันเริ่มไม่มีความสุข เริ่มมีการอิจฉา 

        เพราะฉะนั้น ก่อนที่ผมจะเป็นผู้ให้ ผมเป็นผู้รับมาก่อน ผมรู้ถึงสภาพจิตใจของผู้รับ และก็รับรู้ถึงสภาพจิตใจของผู้ให้ ผู้ให้ไม่มีข้อกำหนดหรอกว่าจะให้ไปแค่ไหน เขาก็จะให้ไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่มีข้อสิ้นสุด คนที่ให้จะรู้เลยว่ามีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินทอง แต่เป็นความสุข เป็นการชื่นชมยินดีที่เข้ามาในหัวเรา เราก็อิ่มใจ และมีกำลังที่จะต่อสู้ต่อไป

เคยกลัวไหมว่าวันหนึ่งคุณจะให้จนไม่เหลืออะไรเลย

        ผมไม่กลัวนะ ถ้าวันนั้นมาถึงจริงๆ ผมไม่เหลืออะไรจะให้ แต่ผมจะมอง และให้รอยยิ้ม ให้ความจริงใจ ให้ความสุขแก่ทุกคน ผมยังยิ้มได้ ผมหมดแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว ผมไม่สามารถช่วยใครได้แล้ว แต่ผมก็ยังมีรอยยิ้มให้กับทุกคน ได้รับรู้ว่าผมเต็มที่แล้ว ถึงแม้จะหมดผมก็ไม่โทษใคร ไม่โกรธตัวเอง ถือว่าข้างบนให้เรามาช่วยเหลือคนเท่านี้ก็คือเท่านี้ แต่ที่ยังมีอยู่คือรอยยิ้มและความสุข

ตอนนี้คุณอายุ 57 ปี ใกล้จะถึงวัยเกษียณแล้ว จุดมุ่งหมายในชีวิตของคุณเองหรือต่อสังคม ตอนนี้คืออะไร

        ผมเป็นคนแปลกคนหนึ่งนะ หลายๆ คนถามว่า ผมมีวัตถุประสงค์หรือว่าจุดประสงค์อะไรในบั้นปลายชีวิต แต่ผมกลับไม่มีวัตถุประสงค์ ไม่มีอะไรเลย ผมต้องการทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผมไม่ต้องการเป็นผู้ให้ผู้ยิ่งใหญ่ คิดแค่ว่า ณ สถานการณ์ เหตุการณ์ปัจจุบัน ผมจะทำให้ดีที่สุด พรุ่งนี้ มะรืน อะไรจะเกิดขึ้นผมไม่รู้ แต่ ณ วันนี้ผมจะทำให้ดีที่สุด อนาคตข้างหน้าเป็นเรื่องของอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ จะเกิดภัยพิบัติอีกสักกี่ครั้ง ถ้ามีชื่อของ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อยู่ ผมต้องไปช่วย นั่นคือสิ่งที่ผมมุ่งมาดปรารถนา

ในวัย 57 ปี อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของชีวิตช่วงนี้ 

        ยากที่สุด ณ ตอนนี้ คือจะทำอย่างไรให้ร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอด เพราะผมรู้นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดที่จะต้องทำ พอผมมาทุ่มเทในการลงพื้นที่ช่วยเหลืออย่างนี้ การออกกำลังกายก็ไม่มี ปกติอยู่กรุงเทพผมวิ่ง เล่นฟุตบอล เล่นฟิตเนส ร่างกายก็แข็งแรง แต่พอลงพื้นที่ครั้งหนึ่งมาอยู่เป็นเดือน ไม่ได้ทำอะไรเลย ตื่นมาก็เจอนั่นเจอนี่ ออกไปช่วย กลับมาเย็นก็เพลีย ถ้าร่างกายไม่พร้อมที่จะออกกำลังกายแล้วยิ่งไปซ้ำเติมโดยการออกกำลังกาย จะยิ่งหนักไปกันใหญ่ ผมคิดว่าเดี๋ยวพอเสร็จภารกิจแล้วค่อยไปซ่อมแซมร่างกายในส่วนที่สึกหรอ ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ร่างกายแข็งแรงได้ถึง 70-80 ปี และสามารถช่วยเหลือคนไปได้ตลอดชีวิตที่เหลือ

เวลาคุณออกไปช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องทุกข์ไปกับพวกเขา คุณมีวิธีกลับมาฟื้นฟูจิตใจตัวเองอย่างไร

        ทุกคืนพอกลับถึงห้อง ก่อนอาบน้ำ ผมจะฟังธรรมะเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยวางของพระพุทธเจ้า ทุกคนเกิดมาล้วนมีกรรม กรรมใครจะมากจะน้อยอยู่ที่การกระทำมาในอดีตชาติหรือการกระทำกรรมในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เราไปเห็นในสิ่งที่ โอ้โฮ ทำไมคนนี้น่าสงสาร ทำไมคนนี้ดูมีความสุข ทำไมคนนั้นดูร่ำรวยมหาศาล นี่คือกรรมของเขาทั้งหมด ผมรู้สึกว่าที่เห็นเขาน่าสงสารก็คือกรรมของเขา ชาตินี้ขอให้เขาใช้กรรมหมดเร็วๆ เมื่อเขาหมดกรรม เขาก็เสียชีวิต ความเจ็บปวด ความยากลำบาก ความยากจน เขาไม่มีแล้ว อยู่ที่ว่าเขาจะเกิดใหม่หรือไม่เกิดใหม่

        เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ช่วยขัดเกลาหรือทำให้สภาพจิตใจผมดีขึ้นมาก ก่อนนอนผมเปิดฟังตลอดทุกคืน บางคืนเปิดไว้ประมาณชั่วโมงหนึ่ง นอนฟัง และหลับไป ตื่นเช้ามา อาบน้ำอาบท่า แต่งตัว เปิดฟังไปเรื่อยๆ มันเลยเข้าไปอยู่ในจิตใจ ยิ่งเราไปห่วงมาก จิตเรายิ่งฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักปล่อยวางว่านี่คือกรรมของทุกคน ทุกคนเกิดมาอ้าปากร้อง อุแว้ ก็ถือว่าเขาเริ่มมีกรรมแล้ว

คุณพูดถึงเรื่องกรรม คุณกลัวเรื่องความตายบ้างไหม

        ผมผ่านความตายของตัวเองมาประมาณเจ็ดแปดหน ผมเคยตายไปประมาณสิบเอ็ดชั่วโมง ในความตาย ผมรู้เลยว่าถ้าใครไม่เจอกับตัวเองจะไม่เชื่อเรื่องพวกนี้เด็ดขาด เพราะว่ามันเหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่ ได้กลับมาเป็นคนเหมือนเดิม ทุกวันนี้ คุณไทด์ (เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์) มีครอบครัว มีลูกมีเต้า หรือพี่น้องผมมีหมด ผมคนเดียวที่ไม่มี ผมจึงรู้ว่านี่คือสิ่งที่ข้างบนอยากให้ผมรู้ และให้ผมเป็นคนกระทำ คือให้คอยดูแลพี่น้องประชาชน คอยดูแลคนทุกข์ คนเจ็บ คนป่วย เพราะผมรู้ว่าเรื่องบาปกรรม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ดี มีจริง ผมเฉียดตายมาเจ็ดแปดหน และผ่านพ้นมาได้ตลอด ผมไม่เคยกลัวเลย เพราะผมรู้ว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้นคือความตาย ความจน ความทุกข์ยาก ความลำบาก เรายังหนีพ้นได้ ถ้าเราขยัน แต่ความตาย จะรวย จะจน จะอายุมาก อายุน้อย ทุกคนตายหมด แม้แต่เด็กเกิดใหม่มาก็ตายได้ ความตายไม่เลือกอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้น พรุ่งนี้ผมพร้อมตายได้ ตายตาหลับด้วย เพราะว่าผมมีความสุขมากกับสิ่งที่ทำมาสามสิบกว่าปี ผมได้ทุ่มเทให้กับประเทศไทย ให้กับพี่น้องประชาชนไทย มากมายมหาศาลเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้แล้ว

 


ขอขอบคุณสถานที่ถ่ายทำและสัมภาษณ์: MG M2 Motorsport Ubonratchathani