Bodyslam ไม่ใช่คนแปลกหน้าของ a day BULLETIN ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราพบเจอและพูดคุยกับพวกเขามาหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากคนหนุ่มทั้งห้านี้ได้เสมอ ราวกับว่าเราต่างก็กำลังเติบโตและเปลี่ยนผ่านช่วงวัยไปพร้อมๆ กัน
จากจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยอุปสรรค วงร็อกก่อร่างสร้างขึ้นด้วยพลังใจยิ่งใหญ่อย่างน่าเหลือเชื่อ และเรี่ยวแรงของสองมือสองเท้าว่างเปล่าที่ปีนป่ายและย่างก้าวตามความฝัน พาชีวิตไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่วาดหวัง ครั้งหนึ่ง พวกเขาบอกกับตัวเองและคนรอบข้างว่า ‘ชีวิตเป็นของเรา’ สร้างพลังขับดันที่รุนแรงด้วยเสียงดนตรีที่เดือดดาล เอาทั้งชีวิตวางเป็นเดิมพัน แสดงออกอย่างสุดกำลังเพื่อเป้าหมายว่า ‘สักวันฉันจะดีพอ’
แน่นอนว่าบนหนทางนี้ยาวไกลและกินระยะเวลายาวนาน แม้ไม่โดดเด่นจนโด่งดังแบบชั่วข้ามคืน แต่ด้วยความชัดเจนในแนวดนตรีและประเด็นเนื้อหาที่เสียดแทงหัวใจคนหนุ่มสาวร่วมวัย ทำให้พวกเขาค่อยๆ สั่งสมเพื่อนร่วมทางเพิ่มขึ้นๆ จนครั้งหนึ่งผู้คนที่มีความเชื่อและศรัทธาเดียวกัน มารวมตัวกันตามนัดหมายกว่า 65,000 ชีวิต เพื่อชื่นชมและสร้างประวัติศาสตร์ไปร่วมกับวงดนตรีที่เล่นอย่าง ‘ทุ่มสุดตัว’
ครั้งนั้น ความฝันของพวกเขาเคยหนักหน่วง ทั้งห้าคนต้องช่วยกันแบกหามมันขึ้นมา เพื่อทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง แรงพลัง ความรัก ความหวัง และทั้งชีวิตใส่เข้าไปอย่างสุดตัว มาถึงวันนี้ เมื่อได้ข้ามผ่านภูเขาแห่งความเหนื่อยยากเหล่านั้นมา ชีวิตของพวกเขากำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของการเดินทาง เมื่อภาระที่แบกหามมาเนิ่นนานนั้นทำให้พลังกายและพลังใจแข็งแกร่ง จนปัญหาและอุปสรรคทั้งหลายกลายเป็นความเคยชิน
สิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญร่วมกันคือความโปร่งเบาอย่างยิ่งของชีวิตในวัยขึ้นเลขสี่ เนื้อหาของเพลงจึงมีสัดส่วนที่ล่วงเข้าสู่ดินแดนของธรรมะและปรัชญามากขึ้น การดิ้นรนไขว่คว้าไปถึงเป้าหมายและเรียกร้องพลังใจไปสู่ความฝัน เหล่านั้นดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ภารกิจหลัก จากบทสนทนาเพลินๆ ในบ่ายวันศุกร์ที่ไม่เร่งรีบ ทำให้เรากลับพบว่านี่คือวัยวันแห่งการทำความเข้าใจศักยภาพภายในตนอย่างล้ำลึก
และ ณ ปลายทางของเส้นทางสายดนตรีและชีวิต ทั้งห้าคนบอกเล่าถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาได้เรียนรู้ ว่ามันไม่ใช่ความพยายามและการต่อสู้ แต่คือการอยู่ได้อยู่กับเพื่อนร่วมวง ได้ซ้อมดนตรีและออกทัวร์ไปด้วยกัน เฝ้ารอวันที่จะได้ร่วมร้องกับแฟนเพลงของเขาทั่วประเทศ เมื่อเสียงโน้ตสุดท้ายของเพลงสุดท้ายในเพลย์ลิสต์จบลง พวกเขาจะล้มตัวลงนอน แหงนมองพลุเพลิงระยิบระยับดั่งดวงดาวบนท้องฟ้าไปพร้อมกันกับแฟนเพลงทุกคน
ณ วันนี้ 2019 คนหนุ่มทั้งห้ากลับมาอีกครั้ง พร้อมกับนัดหมายรวมพลเราทุกคน กับเทศกาลดนตรีใหญ่ยักษ์พร้อมต้อนรับผู้คนเหยียบ 2 แสน เล่นกันเต็มเหนี่ยว 2 วันกลางใจเมือง ทั้งหมดคือหมายเหตุที่เราต้องจับเข่าคุยกับพวกเขา ‘ตูน’ – อาทิวราห์ คงมาลัย (ร้องนำ), ‘ปิ๊ด’ – ธนดล ช้างเสวก (เบส), ‘ยอด’ – ธนชัย ตันตระกูล (กีตาร์), ‘ชัช’ – สุชัฒติ จั่นอี๊ด (กลอง) และ โอม เปล่งขำ (คีย์บอร์ด) กับโปรเจ็กต์มหึมาครั้งล่าสุด BODYSLAM FEST วิชาตัวเบา LIVE IN ราชมังคลากีฬาสถาน
บอดี้สแลมเดินเข้าประตูมาพร้อมหน้า ทุกคนดูสดชื่นและพกมุกแพรวพราวมาเต็มกระเป๋า แปลกดีที่เราทักทายกันด้วยเรื่องสัพเพเหระเหมือนเพื่อนเก่ากลับมาเจอกัน เราบ่นกันเรื่องฟุตบอลทีมโปรดที่เพิ่งลงสนามไปเมื่อคืน ก่อนบทสนทนาที่เป็นประเด็นของวันนี้ เรื่องความฝันในงานดนตรีและบทเรียนในชีวิตจริงจะเริ่มขึ้น
ณ นาทีนี้ใครๆ ก็รู้จักบอดี้สแลม ใครๆ ก็อยากชมการแสดงสด พวกคุณคือวงร็อกที่มีแฟนคลับมากที่สุดแล้ว อยากให้มองย้อนกลับมาดูตัวเองว่าพวกคุณมองตัวเองเป็นอย่างไร
ตูน: ขออนุญาตเล่านะ ภาพจำที่ชัดเจนมากที่สุด ย้อนไปตอนเมื่อ 16-17 ปีก่อน ตอนออกอัลบั้มแรก เป็นภาพที่เข้าไปขอมิวสิกบั๊กส์ อ้อนวอนขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าห้องอัดเถอะ เรามีเดโมเก็บไว้พอสมควร มีเพลงที่คิดว่าพร้อมออกสู่โลกกว้าง มั่นใจว่าไม่ทำให้ค่ายขาดทุนแน่นอน เราใช้เวลาไปกับกระบวนการรอคอยแบบนั้นอยู่นานหลายปี หลังจากที่ออกจากวงละอ่อน จนปิ๊ดเองก็ออกจากละอ่อนแล้ว (อัลบั้มแรกของละอ่อน ซึ่งตูนร้องนำ ออกจำหน่ายปี 2540 ขณะที่อัลบั้มแรกของบอดี้สแลมวางจำหน่ายปี 2545) นั่นเป็นภาพใหญ่ซึ่งจำได้แม่นยำ เพราะตอนนั้นเกือบจะไม่เอาแล้ว เป็นวันที่ตั้งธงไว้ว่าต้องคุยกับพี่เอก (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) ให้รู้เรื่อง ว่าจะได้ทำเพลงหรือเปล่า หากไม่ ก็จะได้เลิกๆ ซะที
เริ่มจากนั่งประชุมกันกับทีมแต่งเพลงของมิวสิกบั๊กส์ที่ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันบางจาก ซอยสุขุมวิท 39 ชื่อลาวีต้า ตอนนี้ยังมีแก้วเก็บไว้เลย คุยยังไงก็ไม่เห็นทางออก เพราะทุกคนเป็นพนักงาน ตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่ทุกคนให้กำลังใจเราตลอด ผมตัดสินใจลุกขึ้นจากวงประชุม บอกทุกคน ขอเวลาแป๊บหนึ่งนะ แล้วเดินกลับไปที่มิวสิกบั๊กส์ ที่อยู่ห่างไปอีก 500 เมตร เพื่อไปคุยกับพี่เอก
ปิ๊ด: ตอนนั้นตูนบอกขอเวลาแป๊บเดียว แต่เอาเข้าจริงล่อไป 4 ชั่วโมง และเป็น 4 ชั่วโมงที่บีบหัวใจสุดๆ
ตูน: เราคิดแค่ว่าต้องไปเปิดใจ เราเข้าใจค่าย เข้าใจเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจ จึงเฝ้ารอเพื่อทำทุกอย่างตามกระบวนการทั้งหมด (เวลาราว 5 ปีในการทำเดโมและเสนอค่าย) แต่ก็อยากให้ค่ายเข้าใจเราด้วยว่าเวลาชีวิตมันมีเส้นที่เราขีดจำกัดไว้ว่ากำหนดให้ตัวเองรอได้ถึงตรงไหน กำหนดให้ครอบครัวรอถึงเมื่อไหร่
ณ ตอนนั้น เส้นนั้นมันก็มาถึงแล้ว ผมไม่ได้จะว่าอะไร แค่เดินเข้าไปเพื่อขอคำตอบเฉยๆ เพื่อที่เราจะเดินหน้าชีวิตถูก สุดท้ายไปนั่งเล่าทุกอย่าง ทำอะไร เป็นอะไร คิดอะไร บอกความรู้สึกทั้งหมดที่มี อยู่กันในห้องเล็กๆ มีแค่เก้าอี้ 2 ตัว ที่มีโต๊ะคั่นกลาง ผมนั่งตรงข้ามกับพี่เอก ในตอนนั้นพูดกัน 2-3 ชั่วโมง สุดท้ายร้องไห้ เพราะเก็บทุกอย่างเอาไว้เยอะมาก… พอได้ปล่อยก็ออกมาจนหมด เมื่อได้พูดทุกอย่างที่รู้สึกออกไป พี่เอกที่นั่งตรงข้ามลุกขึ้นมานั่งข้างๆ กอดคอ ขอโทษ แล้วก็อนุญาตให้เข้าห้องอัดทำอัลบั้มแรก… (ตูนนั่งก้มหน้าเอามือปิดหน้าไว้และนิ่งเงียบ)
สุดท้าย คุณก็ปิดการขายกับนายห้างได้สำเร็จ
ตูน: (เงยหน้าและกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง) ต่อให้ตายไป ผมก็ไม่ลืมวันนั้น เมื่อเวลาผ่านแล้วมองย้อนกลับไป มันกลายเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย ทำให้เรารู้คุณค่าของการรอคอย รู้ถึงความยากลำบากกว่าจะได้โอกาสมา เราจะไม่ยอมทำโอกาสที่มีครั้งนี้อย่างเสียเปล่า ไม่ยอมเลินเล่อประมาท หรือทำงานไม่เต็มที่ เพราะไม่ง่ายเลยกว่าจะได้มันมา สำหรับผมกับปิ๊ด รู้สึกว่าวันนั้นมันเป็นโอกาสสุดท้ายจริงๆ เพราะไม่มีใครเขาเปลี่ยนชื่อวงกันได้บ่อยๆ หรอก จะให้ทำอะไรแล้วไม่สำเร็จจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ มันไม่ได้หรอก หากได้ลองทำลองผิดลองถูกก็ดี ถ้าผิด ก็ต้องหาอย่างอื่นทำแทนเพื่อเลี้ยงชีพ พับเก็บเรื่องดนตรีไว้เป็นความฝัน เดินหน้าต่อไปในความเป็นจริง มองกลับไปไม่รู้ว่ากดดันรึเปล่านะ แต่ผ่านมาได้แล้วก็สนุกดี
เพราะแบบนี้นี่เอง พวกคุณจึงเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่อวงบอดี้สแลม มันแปลว่าทุ่มแบบสุดตัว เพราะครั้งนั้นคือการทุ่มสุดตัวจริงๆ
ตูน: แปลเข้าไปได้ไง (หัวเราะ) แบบนี้ภาษาอังกฤษแบบไทยๆ เนอะ จริงๆ คือตอนนั้นผมชอบมวยปล้ำ ชอบฮัลค์ โฮแกน, เจค เดอะสเนก โรเบิร์ต, ดิ อัลติเมต วอร์ริเออร์ ท่าบอดี้สแลมเป็นไม้ตายที่รุนแรงระดับหนึ่ง ซึ่งเรามาตีความแบบไทยๆ บอดี้ในความหมายของเราคือทั้งตัว ทั้งนี้รวมถึงจิตวิญญาณด้วย และสแลมคือทุ่มเหวี่ยงฟาดลงไปแบบแรงๆ รวมแล้วในความหมายของเรา บอดี้สแลมคือการทุ่มเทร่างกายและจิตวิญญาณเข้าไปกับอะไรสักอย่างแบบเต็มที่เต็มเหนี่ยว ซึ่งฟังดูไม่เวิร์กเท่าไหร่ในช่วงแรกๆ (หัวเราะ)
ปิ๊ด: คือช่วงแรกๆ ไม่มีใครเห็นด้วยเลยกับชื่อนี้ แต่เราไม่รู้สึกว่าต้องเห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย หากเรารัก เราชอบกับชื่อนี้ แค่นี้มันโอเคแล้วสำหรับเรา จากนั้นก็ลุยเต็มที่
ตูน: ทุ่มเต็มที่ ในตอนนั้นเราไม่มีงานประจำอะไร ทั้งๆ ที่เรียนจบแล้วด้วยนะ เราเดิมพันกับฝันด้วยการออกมาทำงานเพลงอย่างเต็มที่ ให้เวลากับมันเต็มตัว ส่วนเรื่องใจมันเกินร้อยอยู่แล้ว เรายอมให้พ่อแม่เสียใจที่เราไม่มีงานประจำ แค่นี้ก็เห็นแก่ตัวมากแล้ว เขาส่งเงินมาให้จากต่างจังหวัด ส่งเรียนจนจบนิติศาสตร์ แทนที่จะส่งเงินกลับไปบ้างก็ไม่มีหรอก แค่เลี้ยงตัวเองยังถูๆ ไถๆ เลย จะส่งอะไรกลับไปได้ เรียกว่าทุ่มหมดหน้าตัก
เทียบตอนปี 2545 กับตอนนี้ 2561 ระดับความทุ่มสุดตัวของพวกคุณแตกต่างไปบ้างไหม คุณทุ่มสุดตัวแบบบอดี้สแลมตลอดเวลาได้อย่างไร
ปิ๊ด: ณ จุดเริ่มต้นตอนนั้น เราทุ่มกัน 3 คน ตอนนี้มีพี่ๆ มาร่วมทุ่มกันรวมเป็น 5 คน ช่วยเติมเต็มทุกสิ่งทุกอย่าง
ชัช: ช่วงที่เข้ามาเป็นแบ็กอัพให้วง ผมก็เห็นถึงความตั้งใจ พวกเขาจริงจังมาก อยากจะเป็นมืออาชีพจริงๆ ต้องแบบนี้ ผมเองต้องมาหัดตีกลองใหม่เพราะตีไม่ลงกับเบสเลย ตอนตีแรกๆ ทำยังไงก็ไม่ลง
ปิ๊ด: ไม่ใช่ทำไม่ได้นะ เพียงแต่พี่ชัชความสามารถล้นมากจนต้องแสดงออกมาแทบทุกท่อน ตีจริงไม่เหมือนต้นฉบับ ซึ่งผมไม่ถนัดกับการเล่นแบบอิมโพรไวส์ไปเรื่อยๆ ตัดสินใจบอกพี่เขาไปตรงๆ ว่าถ้าตีแบบนี้ผมไม่ไหวนะพี่ ช่วยปรับให้เข้ากันได้ไหม โชคดีมากที่พี่ชัชรับฟังและรับได้ พร้อมปรับไปด้วยกันจนทุกวันนี้
ยอด: ผมว่าเราทุกคนทุ่มสุดตัวอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลที่ต่างๆ กันออกไป ตัวผมกว่าจะเป็นบอดี้สแลมก็ผ่านเรื่องราวมาเยอะ เคยยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มีงานทำ ยอมเปลี่ยนแนวทุกแบบตามที่ค่ายแนะนำ เขาให้ร้องเองก็เอา (ต้องเต้นด้วยไหมวะ – ปิ๊ดแซวข้ามมา) ย้ายค่ายก็ทำมาแล้ว พอจะออกอัลบั้มก็มีปัญหาทุกที แต่สู้มาเรื่อยๆ จนตอนนี้เรามีเป้าหมายชัดเจน มีวง มีเพลงของพวกเราเอง จึงต้องยิ่งทุ่มเท
โอม: โดยส่วนตัวเวลาทำงานอะไรจะทุ่มเทกับมันมาก ชีวิตมีแต่งาน บ้านมีไว้นอนอย่างเดียว ผมกล้าพูดแบบนั้น ทำทุกอย่างที่ทำได้ เยอะแยะพันตัวไปหมด จนมาถึงวันที่ปิ๊ดชวนเข้าวง เขาชอบพูดว่า มาอยู่ด้วยกัน หนักหน่อยนะ เหนื่อยหน่อยนะ ผมคิดในใจ ไม่มีอะไรหนักกว่าที่ที่กูมาแล้ว (หัวเราะ) แต่บอดี้สแลมสอนให้ผมรู้จักคำว่าจริงจังมันเป็นยังไง เมื่อได้รู้ว่าการที่เอาชีวิตทั้งหมดไปทุ่มเททำอะไรสักอย่างจนมันสำเร็จออกมา อย่างน้อยที่สุดผลตอบแทนก็คุ้มค่าทางใจ โคตรมีความสุขเลย ดังนั้น มาถึง พ.ศ. นี้ ก็ยังทุ่มเทในการทำงานทุกมิติ ส่วนเรื่องอายุที่เพิ่มขึ้น ผมว่าการแบ่งหนักเบาสั้นยาว การอะลุ่มอล่วยช่วยจัดการกับทุกอย่างได้ดี ถามว่าความเต็มที่ของพวกเราลดลงไปไหม ไม่หรอก อย่างน้อย 15 ปีที่ผ่านมาพวกนี้ (ชี้นิ้วไปที่สมาชิกที่เหลือ) ก็ยืนยันให้เห็นมาแล้ว
ที่ผ่านมา เพลงของพวกคุณบอกเล่าเรื่องพลังใจ กระตุ้นเร้าคนหนุ่มสาว ชีวิตเป็นของเรา ต้องมีศรัทธา มีฝัน และต้องออกเดินทาง แปลว่าทั้งหมดนั้นคือเพลงที่คุณร้องให้กับตัวเอง
ตูน: ใช่ เพลงอย่าง Bodyslam ความเชื่อ ชีวิตเป็นของเรา นั่นคือเพลงที่เราใช้เตือนตัวเอง ในช่วงเวลานั้น พวกเราเองไม่ได้มีแรง ไม่มีปัญญามากพอจะสอนใครหรอก ให้ทำอย่างนี้สิ ทำอย่างโน้นนะ จะสอนใครได้ยังไงในเมื่อตัวเองยังเอาไม่รอดเลย นั่นเป็นที่มาว่าทำไมเพลง ความเชื่อ ต้องใช้เสียง อาแอ๊ด คาราบาว มาอยู่ในท่อนฮุก นั่นเพราะเราไม่ได้เก่งกาจมากพอจะร้องท่อนนั้นให้คนเชื่อได้ จริงๆ เราทำเพลงเหล่านี้เพื่อสร้างพลังงานให้ตัวเอง ร้องในสิ่งที่เราคิดเราฝัน แล้วท่อนฮุกเราอยากได้เสียงของคนที่เราจะเชื่อเขาได้ จนถึงอัลบั้มนี้ก็ยังมีเพลงลักษณะเดียวกันที่พวกเราใช้บอกตัวเอง เตือนตัวเอง สิ่งที่ตามมาเมื่อได้ร้องออกไปคือพลังมันย้อนกลับมา
ในอัลบั้ม Believe ยังเป็นช่วงเขียนจดหมาย ซึ่งเราได้รับเยอะมากที่เขียนมาขอบคุณที่ทำเพลง ความเชื่อ หลายคนลาออกจากงานไปทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้วก็สำเร็จ แรกๆ ไม่ชินเลย แทบไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าเพลงของเรามันทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ แต่พอเวลาผ่านไป กลายเป็นความรู้สึกที่ดีจัง เพลงที่เราบอกและให้กำลังใจตัวเองสามารถเดินทางไปถึงคนอื่นได้จนพวกเขามีกำลังใจพัฒนาตัวเอง ในฐานะวงดนตรีวงหนึ่ง เรื่องนี้ถือเป็นเกียรติมาก
ปิ๊ด: มันเป็นความโชคดี เรื่องที่เราบอกตัวเองซ้ำๆ ดันไปตรงกับใจคนฟัง จากอัลบั้มแรก วงมีเพื่อนที่ชอบเรา 10 คน แล้ว 10 คนนั้นก็ไปบอกต่อ เป็นเพื่อนกับวงนี้สิ เพลงพวกเขาเป็นแบบนี้ๆ ทำให้เราเจอเพื่อนใหม่ขึ้นเรื่อยๆ เชื่อไหมช่วงเวลาที่เหนื่อยหรือท้อ ผมใช้เพลงของวงตัวเองนี่แหละให้กำลังใจตัวเอง ไม่ได้ฟังวงอื่นหรอก
เพลงอะไรบ้างที่คุณฟังเพื่อให้กำลังใจตัวเอง
ปิ๊ด: ก็ Bodyslam แล้วอีกเพลงคือ ความเชื่อ ฟังทีไรก็นึกถึงภาพจำ วันที่ตูนเอามาสเตอร์เสียงน้าแอ๊ดร้องมาให้ฟัง ตอนนั้นเราไปเล่นกลางคืนกันอยู่แถวๆ อ.ต.ก. พี่ชัช พี่ยอดก็อยู่กันหมด เราเอาไปเปิดฟังพร้อมกันในรถ เพลงมันโดนมาก ชอบท่อนฮุกสุดๆ รู้สึกน้ำตาคลอตลอด สักพักหนึ่งมีเสียงสะอื้นขึ้นมา พอหันไป อ้าวเฮ้ย พี่ชัช ร้องไห้เละเลยเว้ย (หัวเราะ) เขาบอกว่านี่มันชีวิตกูชัดๆ
อีกเหตุการณ์ที่จำแม่นเกี่ยวกับเพลงนี้ คือเรื่องของ อุ๋ย บุดด้าเบลส เราเคยเจอกันนานมากแล้ว ตอนนั้นยังกินเหล้าเละเทะกันอยู่เลย วันหนึ่งเขาเดินมากอดผม แล้วบอกว่า ‘กูจะไม่มีวันนี้ ถ้าไม่ได้ฟังเพลง ความเชื่อ’ อุ๋ยเล่าว่าพอฟังเพลงนี้แล้ว รุ่งขึ้นเดินไปลาออกจากงานเพื่อออกไปทำในสิ่งที่ฝัน
ยอด: นี่เพลงเราไปทำคนเขาลาออกอีกแล้วเหรอวะ (หัวเราะ)
เพลงของพวกคุณมันคล้ายๆ การสะกดจิตหมู่ใช่ไหม
ตูน: ผมเคยซื้อหนังสือพัฒนาตัวเองที่ฮิตๆ ขนาดพิมพ์สี่สิบห้าสิบรอบ อ่านแล้วก็พอจับจุดได้ว่าหลักการคือบอกอะไรซ้ำๆ วนๆ เหมือนสะกดจิตนั่นแหละ คุณทำได้ คุณทำได้ ให้คุณมีภาพชัดเจนในใจ อยากเป็นอะไร สร้างภาพความสำเร็จเป็นรูปธรรม ย้ำๆ ซ้ำๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจลงมือทำ เราจะทำเพื่อไปที่เป้าหมายนั้นโดยอัตโนมัติ ถ้าถามว่าบทเพลงเป็นการสะกดจิตไหม มันก็สะกดจิตนะ แต่ไม่ใช่วิธีที่คุ้นๆ กัน มันเป็นการซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า เล่นครั้งแล้วครั้งเล่า ฟังครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดความหลงใหล สะกดจิตด้วยความรักในเสียงเพลง ผมไม่เชื่อในเรื่องการสะกดจิตด้วยการบอกตัวเองว่าฉันจะเป็นนั่น ฉันจะเป็นนี่ แต่ผมเชื่อว่าความสำเร็จต้องสะกดมันด้วยการกระโดดลงไปทำจริงๆ
ปิ๊ด: จริงๆ แล้วช่วงที่เราซ้อมกัน เราไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้จินตนาการว่ามันต้องสำเร็จ ต้องออกมาเป็นแบบนี้แบบนั้น เพียงแต่คิดว่าต้องซ้อมให้เยอะ เพื่อที่เวลาเล่นจริงมันจะออกมาดี บอดี้สแลมแต่ละคนมีของไม่เท่ากันหรอก แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่พอเรามารวมกันมันก็เติมเต็มให้กัน จนทำให้อยู่กันมาจนถึงวันนี้ ผมเองก็ขาดทักษะบางอย่าง ได้พี่ยอด พี่ชัช มาช่วยเติม ผมว่ามันเป็นข้อดี หากทุกคนเก่งเต็มล้นเมื่อไหร่ ก็เติมให้กันไม่ได้ คราวนี้คงไปกันคนละทิศทาง
โอม: ใช่ ผมคิดคล้ายกัน คือไม่ได้คิดว่าจะสำเร็จๆ เราแค่ซ้อมให้ดีที่สุด มีความสุขเล็กๆ ในห้องนั้น ส่วนที่เหลือหลังจากนั้น มันจะพาเราไปไหนก็ let it be
ตูน: ไม่ได้คาดคั้นความสำเร็จตอนลงมือทำ ถ้านึกย้อนกลับไป ก็ไม่มีภาพในใจว่า 20 ปีข้างหน้าจะต้องมาเล่นที่ราชมังฯ คนต้องเต็ม ต้องขายอัลบั้มได้เท่านี้
“
ผมยืนยันว่าเราเริ่มจากความชอบ ซึ่งความชอบมันพาเราออกเดินทาง เราไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะเจออะไร ระหว่างทางต้องเหนื่อยบ้างท้อบ้าง แต่ทำแล้วมันสนุก ได้เจอแต่เรื่องประหลาดใจตลอด และทำให้รู้ว่าเรารักดนตรีจริงๆ
”
ขอถามแบบใจร้ายว่ามันเป็นไปได้เหรอ ที่คนเราจะทำอะไรด้วยความรักความชอบ โดยไม่ได้หวังว่าจะอยากดัง อยากรวย เรายอมทำงานหนักขนาดนี้เพราะความสุขในงานนั้นได้จริงเหรอ
(ทั้งวงตบเข่าฉาดใหญ่ และหัวเราะชอบใจ)
ปิ๊ด: มันเป็นเรื่องของแต่ละคน เป็นความฝันรายตัว อย่างผมเองอยากเป็นนักดนตรี ตัดสินใจว่าจะเป็นนักดนตรีอาชีพให้ได้ตั้งแต่ตอน ม.4 แต่ตอนนั้นไม่เคยมีความฝันว่าจะได้ทำอัลบั้มแบบนี้หรอก เป้าหมายคือเป็นนักดนตรีแบ็กอัพนั่นแหละ เพราะชอบวง Future ที่เล่นแบ็กอัพให้ พี่คริสติน่า อากีล่าร์, พี่เบิร์ด ธงไชย ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่าจะไปเป็นมือเบสวงนี้ให้ได้ ไม่คิดเลยว่าจะมาเป็นศิลปินออกอัลบั้ม
ตูน: แล้วตอนนี้คิดยัง
ปิ๊ด: ปัดโธ่ นี่กำลังจะหล่อเลย
โอม: ถ้าคุณถามว่าคิดไหม อยากดัง อยากรวย ก็คิดดิ ใครบ้างไม่คิด แต่ไม่เคยคิดฝันถึงขั้นว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ จึงไม่ได้เอาความฝันมาคาดคั้นตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ ดังนั้น เวลาซ้อมดนตรีกับเพื่อนๆ ตลอดห้าชั่วโมงที่พวกเราอยู่ด้วยกัน ก็เลยเป็นเรื่องของความสุขจริงๆ
คำถามที่เราถูกถามมากที่สุดคือ ผมอยากเป็นศิลปินแบบพี่ ต้องทำยังไง คุณเชื่อไหมว่าเราก็ไม่รู้ว่าจะตอบเขายังไง แค่บอกว่า น้องทำไปเถอะ ทำต่อไป แต่ขอให้ทำแล้วสนุก แล้วมันจะนำพาน้องไปเอง ถ้าให้ย้อนว่า 10-15 ปีที่แล้ว เคยคิดไหมว่าจะเป็นศิลปินดัง มีนิตยสารมาขอสัมภาษณ์ ไม่เคยฝันขนาดนี้เลย คือชีวิตเรามันก็พอฝันได้ ฝันลางๆ แต่ทุกคนต้องอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งก็คือ 4-5 ชั่วโมงที่เรามาซ้อมกันนี่ไง ดังนั้น คุณสนุกกับความเป็นจริงดีกว่า
ยอด: ผมนี่หนักกว่าเพื่อน ไม่มีฝันแบบที่คุณถามเลย แค่ชอบดูคนเก่งๆ อย่าง พอล กิลเบิร์ต (มือกีตาร์จากคณะ Mr. Big) สตีฟ ไว (มือกีตาร์ที่โลกยกย่องว่าเก่งที่สุดเท่าที่โลกเคยมี) อยากเล่นได้แบบเขาแค่นิดเดียวก็มีความสุขแล้ว ผมจึงซ้อมทั้งวันทั้งคืนเลย ซึ่งตอนเด็กๆ ก็ซ้อมผิดวิธีมาตลอด แต่ทำไงได้ ด้วยความอยากเล่น
ตูน: ทุกคนคงมีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กัน ตอนเริ่มต้น เราพิสูจน์แค่ว่าเอาชีวิตให้รอดได้ด้วยอาชีพร้องเพลงทำดนตรี พิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าเราทำงานแบบนี้ก็ดูแลตัวเองได้ มองไปทีละขั้นๆ แค่นี้เอง ช่วงที่รอทำวงบอดี้สแลม พวกเราต้องไปเล่นดนตรีกลางคืน แบ่งเงินกันได้วันละสี่ห้าร้อยบาทเพื่อเลี้ยงตัวให้รอด
ขณะที่ตอนนั้นในค่ายมีวงลาบานูนที่มีชื่อเสียงแล้ว บิ๊กแอสก็เริ่มมีชื่อเสียง ผมเองมีโอกาสดูคอนเสิร์ต ได้ตามไปช่วยยกของให้พี่ๆ ทั้งสองวงนี้ ไปเกาะเวทีดู ถามว่าเห็นแล้วรู้สึกยังไง เฮ้ย มันดีจังเลยเว้ย ได้เล่นเพลงของตัวเองแล้วมีคนร้องตามได้ มันน่าจะดีเนอะได้ เล่นเพลงตัวเองแล้วมีคนชอบ มีคนร้องตาม ใช่ ตอนนั้นผมฝันอยากเป็นแบบนั้น แต่ก็ไม่กล้าคิดว่าจะเป็นเบอร์ไหน ต้องดังขนาดไหน เพราะแค่คิด โลกแห่งความจริงก็ดึงเรากลับมา ห้องอัดยังไม่ได้เข้าเลย ชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้ แต่เห็นแล้วแหละความฝัน มันใกล้แล้ว แต่จะทำยังไงละ ต้องค่อยๆ ประกอบฝันนั้นไปให้เป็นรูปร่าง
ตอนนี้พวกคุณมาไกลจนมีคอนเสิร์ตใหญ่คนดูครึ่งแสน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่ทั่ววงการเรียกว่าคุณคือเบอร์หนึ่งไปแล้ว อยากรู้ว่าการได้ยืนบนยอดพีระมิดของชีวิตและการงาน ความรู้สึกจริงๆ มันเป็นเช่นไร
ตูน: เราค่อยๆ เดินขึ้นบันไดมา อัลบั้มแรกคนรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง จากนั้นก็มีคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางคนยังไม่รู้เลยหน้าตาพวกเราเป็นยังไง จนมาชุดที่ 3 ปี 2548 จากที่ก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น ปีนั้นมันเหมือนเบิ้ลสองขั้น ได้พี่ยอดมา ได้พี่กบ (ขจรเดช พรมรักษา) พี่ออฟ (พูนศักดิ์ จตุระบุล) บิ๊กแอส มาช่วยทำเพลง ย้ายมาอยู่จีนี่ เรคคอร์ด ค่ายที่ช่วยส่งเสริมเรื่องช่องทางพาเราไปสู่ผู้ฟังได้มากขึ้น ทุกอย่างก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ได้เรียนรู้จากชุดแรกเล่นแคมปัสทัวร์ เครื่องก็ยกกันเอง เครื่องที่ได้เล่นก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่การที่เล่นเต็มที่ไปเรื่อยๆ นี่แหละที่โชคดีทำให้คนเห็นค่าของมัน
ถ้ามีใครจัดอันดับหรือคิดถึงเราเป็นวงแรกๆ ก็ถือเป็นเกียรติและขอขอบคุณมาก แต่ด้วยความสัตย์จริง เราไม่เคยจัดอันดับให้วงตัวเองเป็นตัวเลข แน่นอน เมื่อมีใครมาบอกว่าคุณคือเบอร์นั้นเบอร์นี้ มันมีความสุขแน่ๆ หากอยู่ในอันดับที่ดี แต่เราไม่เอาความสุขไปผูกติดกับตัวเลข แล้วยังไง อีกห้าปีสิบปี ธรรมชาติบอกเราว่าคลื่นลูกเก่าต้องหายไป คลื่นลูกใหม่ต้องมา หากเราไปผูกใจไว้กับตัวเลข ความสุขในงานวันนี้คงหายไป โอเค เราดีใจมากที่เพลงขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ตฮอตเวฟ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราดีใจแต่ไม่ได้เหลิงเพราะขึ้นอันดับหนึ่ง แต่เพราะมีคนฟังเพลง เพลงของเราถูกเปิด ถูกแชร์ ถูกรัก แล้วก็ทำงานดีๆ ต่อไป เพราะเราเชื่อมั่นว่าความสุขของเราผูกไว้กับการทำงาน ความสุขของเราผูกกับการเล่นคอนเสิร์ตอย่างบ้าคลั่ง แล้วได้เห็นคนดูสนุกที่สุด นั่นต่างหาก แต่ขอบคุณครับที่ให้เกียรติวงเราให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้
ความสุขจากสมัยแคมปัสทัวร์ตามโรงเรียน จนตอนนี้คนดูเกือบแสน ความสุขที่ได้รับต่างไปไหม
ปิ๊ด: มันมากขึ้น ตอนไปราชมังฯ คราวที่แล้ว มันถึงขั้นสุขจนขี้แตกเลยล่ะ เหมือนเล่นอยู่ในความฝัน หันไปทางไหนทุกคนเอาด้วยหมด ไม่ได้เชียร์แค่นักร้องตามปกติ สุดยอดเลย
ชัช: แต่ผมไม่ได้อยู่ข้างหน้า กว่าจะเห็นทุกอย่าง ต้องรอคอนเสิร์ตเลิก ปกติก็เลยจำใครไม่ได้
ปิ๊ด: พี่จำผมไม่ได้เหรอ (หัวเราะ)
ชัช: แต่ครั้งนั้น จบงานเดินออกมาหน้าเวทีทุกคนยังส่งพลังให้ เหมือนเขายอมรับเรา ช่วงเวลานั้นมันยากอธิบายจริงๆ ว่าสุขขนาดไหน
ปัญหาของคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ บางคนเกิดอาการสำลักความสำเร็จ พอครั้งต่อมาไม่ได้สำเร็จมากขึ้น เขารู้สึกผิดหวังจนแทบรับไม่ได้ บอดี้สแลมมีอาการแบบนั้นบ้างไหม
ตูน: มีตอนช่วงกลางๆ ของการเดินทาง พวกเราคุ้นชินกับเรื่องจำนวน คือเวลาไปแสดงที่ไหนคนจะต้องแน่นหมด คุ้นชินกับอารมณ์เต็มอิ่มบ่อยๆ เราเสพติดมัน พอไปบางที่แล้วเห็นคนน้อย อ้าว ทำไมไม่เต็มล่ะ ไม่เหมือนเมื่อวาน คือมีอารมณ์ตกใจ แต่ถามว่าเราเล่นเต็มที่ไหม ยังเต็มที่เหมือนเดิม แล้วก็แปลกนะ เพราะหลายครั้งที่คนน้อยๆ มันสนุกกว่าคนเยอะก็มี
ตลอดการทัวร์ 8 ปีที่ผ่านมา มีหลายวันที่ข้างในใจมันเติมเต็มกว่าตอนที่เล่นราชมังฯ ซึ่งเราเต็มที่กับทุกวันอยู่แล้ว แค่มันแตกต่างกันออกไปด้วย สภาพดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อม สภาพตัวเรา ส่วนสำลักไหมความสำเร็จไหม ไม่เชิงสำลัก แต่เห็นนะ สิ่งที่เปลี่ยนไป ผมคอยสังเกตและตั้งคำถาม แต่ไม่นำมาคิดมาก เราเป็นอะไรไปแล้ว เขาไม่รักแล้ว ไม่อยากดูแล้ว ไม่เป็นขนาดนั้น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวแปรที่จะเอามากำหนดให้เราเต็มที่หรือไม่กับงาน
บนคอนเสิร์ต B13 ตูนพูดถึงคอนเสิร์ตที่ราชมังฯ ว่าเห็นคนลุกจากเก้าอี้ทิ้งที่ว่างเอาไว้ แล้วก็เก็บไปคิดมาก แบบนี้เข้าข่ายสำลักไหม
ตูน: ไม่ใช่เฉพาะผมหรอก ไม่ว่าจะนักร้องประกวด นักร้องในร้านอาหาร ถ้าเล่นๆ อยู่แล้วมีคนลุกออกไป ทุกคนคิดทั้งนั้น เรื่องแบบนี้ทำให้เราต้องย้อนดูตัวเอง บอกเตือนตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับการแสดง การร้องของเรา ช่วงที่พูดประโยคนั้นออกไป เพราะผมเองดันไม่อยู่กับคนดูอีกหลายหมื่นที่อยู่กับเรา ผมกลับไปโฟกัสกับเก้าอี้สองตัวที่ว่างลง ทั้งๆ ที่เขาอาจจะไปเข้าห้องน้ำก็ได้
โอม: ช่วงทัวร์ต่างจังหวัดติดๆ กัน ภาพแบบนี้มีประจำ เล่นไปสักห้าหกเพลง คนเริ่มลุกหาย เขาอาจกลัวรถติด มีธุระ ก็พยายามคิดแบบนั้นไป แต่ก็รู้สึกแบบตูนนะ บอกตัวเองว่าอย่าไปโฟกัสกับคนตรงนั้น เขามีสิทธิทำได้หมดนั่นแหละ การทัวร์คอนเสิร์ตบ่อยๆ สอนเราให้เข้มแข็ง ไม่เสียกำลังใจกับการที่คนลุกออกไป แต่เลี่ยงไม่ได้กับการตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันเกิดอะไร พลาดตรงไหน สำรวจแล้วเอามาปรับปรุง ถ้าเอามาคิดต่อแล้วคิดเรื่องแย่ๆ แบบนี้ไม่คิดดีกว่า
ปิ๊ด: วงเรามักจะเจอเงื่อนไขให้เล่นเป็นวงสุดท้าย ดังนั้น เจอประจำครับ คนเดินออกตอนเล่นอยู่ ส่วนตัวผมชินแล้ว แต่จะคิดต่างไป สมาธิทั้งหมดจะทุ่มไปกับคนที่ยังอยู่ เฮ้ มาเลย มาๆ ร้องเลย ลุกขึ้นสิ ลุกขึ้นเต้นเลย ไหนๆ เราก็อยู่ด้วยกันต่อ ขอให้เต็มที่ สนุกไปกับคนที่อยู่ เอนเตอร์เทนแขกผู้มีเกียรติ
ถามตรงๆ หากไปเล่นคอนเสิร์ตสักงาน แล้วคนมาดูไม่ถึงครึ่งของที่คิดไว้ บอดี้สแลมในวันนี้รับได้ไหม
ปิ๊ด: เฮ้ย มาถึงตอนนี้ พวกเราก็เจอแบบนี้อยู่บ่อยๆ นะ นี่พูดจริงเลยนะ เอาง่ายๆ ตอนสงกรานต์ปีที่แล้ว ไปที่เชียงราย ร้านพาคลับ ความจุที่คุยกับเจ้าของงานไว้คือเขาต้องการสองพันคน เอาเข้าจริงๆ คนมาร้อยสองร้อยคน คือหร็อมแหร็มมาก แต่คนที่มาแต่ละคน ผมเรียกว่าเป็นโคตรพันธุ์แท้ ร้องตามได้หมด ร้องสุดเสียง เอนจอยเต็มที่ ผลออกมาในวันนั้นคือพวกเราโคตรมันเลย สุดๆ ไปเลย เป็นงานคนน้อยที่สนุก และพวกเรายังจำได้จนวันนี้
โอม: ผมกับตูนเคยไปดูคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ เป็นโชว์ของ Izzy Kairo ศิลปินระดับโลก กวาดดูด้วยสายตา กะว่าคนดู 200 ไม่เกิน 300 แต่ตัวศิลปินและวงใส่ออกมาสุดๆ โคตรมันเลย แม้แต่คนทำไฟก็ดูสนุกกับงานของเขา ทั้งงานมีไฟแค่ 15 ดวง บวกไฟฟอลโลว์ แต่ใส่กันยับมาก สนุกเต็มที่ สื่อสารกับคนดูให้คึกตามไปได้ ความรู้สึกและพลังที่ได้จากงานนั้น ไม่ต่างจากโชว์ที่มีคนเยอะสามพันคนห้าพันคนเลย นั่นขนาดวงระดับโลก แล้วเราเป็นใคร จะมานั่งผิดหวังกับจำนวนคนไปทำไม
ถ้ามาตรวัดความสำเร็จของพวกคุณไม่ใช่จำนวน อยากรู้ว่า ณ ปัจจุบัน มาตรวัดความสำเร็จของบอดี้สแลมเป็นอย่างไร
ปิ๊ด: ง่ายมาก หากจบโชว์แล้วพวกเราทั้งห้าคนเดินมาตีมือกัน กอดคอกัน แล้วพูดตรงกันว่านี่แม่งมันฉิบหายเลยเว้ย แบบนี้คือเราประสบความสำเร็จแล้ว ฟินสุดๆ
ยอด: ปกติเวลาเล่น ผมก้มหน้าก้มตาตลอด ดังนั้น ความรู้สึกร่วม การสื่อสารกันของสมาชิกจึงสำคัญมาก และหากเหตุการณ์ที่ปิ๊ดว่าเกิดขึ้น นั่นคือที่สุดแล้ว
โอม: ผมมองเรื่องคุณภาพคนดู คนดูน้อยร้อยคน แต่เสียงดังฉิบหาย ร้องเพลงเราได้ อยากมาดูเรา แบบนั้นดีกว่า บางทีไปเล่นในงานเลี้ยงโต๊ะจีน มีคนมาสามสี่พันเลยนะ ได้ยินเสียงตักอาหาร เห็นหม้อไฟเดินไปมาอีก
แล้วพวกแก๊งเลกเชอร์ ที่มาคอยดูว่าพวกคุณจะเล่นผิด ยังมีอยู่หรือเปล่า
ชัช: เออๆ ยังมี เจอล่าสุดนี่แต่ไม่รู้จ้องหรือเมา วงไปเล่นงานเลี้ยงภายใน พนักงานชายมายืนจ้องใกล้มากตรงนี้ๆ (เขาชี้นิ้วในระยะห่างประมาณสองสามเมตร) จ้องตาเขม็ง ถอดเสื้อด้วย น่ากลัวมาก พอเล่นเสร็จ พี่ๆ ไม้กลองๆ แน่นอนผมส่งให้ถึงมือเลย ส่วนเรื่องจับผิดตอนเล่นไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนตัวผมว่าเขาจับผิดที่เพลงมากกว่า
โอม: จับผิดไม่ต้องจับ เดี๋ยวมันลอยเข้าหูเอง เพราะเล่นผิด เล่นไม่เหมือนกันสักวัน
ยอด: เรื่องนี้เข้าใจได้ แฟนเพลงบางคนเขาก็อยากเห็นเราเล่นจริงๆ เพราะว่าเขาฟังและแกะตามพวกเราว่ามีวิธีเล่นยังไง ยกตัวอย่าง ตอนเปิดตัวเพลงใหม่ครั้งแรกที่สยาม ประสบการณ์ตรงเลยนะ คือมายืนจ้องต่อหน้าเลย ใกล้มากๆ แทบจะยืนติดกัน
แล้วก็โชว์เต็มที่ให้เห็นกันไปเลยใช่ไหม
ยอด: ใช่ แล้วก็เป็นไปอย่างที่เขาต้องการ คือเล่นหลุดต่อหน้าเขาเลย (หัวเราะ) ก็แหม ตื่นเต้นจะตาย เล่นมายืนจ้องขนาดนั้น ไม่รอดหรอก
โอม: มันก็มีคนมาจับผิดแบบ อย่างน้อยเขาชอบมากจนอยากรู้ว่าเล่นยังไง แล้วก็มีอีกพวกที่มาตั้งถ่ายมือถือแช่ไว้เลย ก็เข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยนี้ไปแล้ว ก็พอเข้าใจได้
ตูน: ทุกวันนี้เล่นคอนเสิร์ตเวทีไหนมองลงไปแล้วเจอภาวะมือถือล้นหลาม เราจะหยุดเล่นแล้วคุยกับพวกเขาว่าอุตส่าห์ตั้งใจมาอยู่ด้วยกัน เสียเวลาออกจากบ้านมา แล้วจะมาดูผ่านจอมือถือทำไมล่ะ ดูด้วยสองตาตัวเองดีกว่า เก็บบันทึกใส่หัวใจไว้ดีกว่า จนตอนนี้กลายเป็นแก๊กเล่นกับคนดูไปแล้ว นึกภาพสิ หากมัวแต่ถ่ายคลิป มันก็ไม่มีสมาธิสนุกไปกับคอนเสิร์ต ปรบมือก็ไม่ได้ เดี๋ยวหาโฟกัสไม่เจอ ตลกที่สุดคือคลิปพวกนั้นเราแทบไม่เคยกลับไปเปิดดูเลย เพราะถ่ายไปก็ไม่ชัด แล้วจะมารู้สึกทีหลัง ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมไม่สนุกดื่มด่ำกับช่วงเวลานั้น
อยากบันทึกภาพไว้ดูย้อนหลัง ก็รอซื้อดีวีดีได้
ตูน: ดีวีดีก็ยังสู้ไม่ได้นะ มันเป็นแค่บันทึกภาพย้อนหลัง ถ้าเราอุตส่าห์มีโอกาสไปยืนอยู่ตรงนั้นด้วยกัน แล้วทำไมไม่เต็มที่ไปด้วยกันล่ะ แน่นอน เราเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงในการรับชม แต่อยากให้เข้าใจเหมือนกันว่าการแสดงต้องการปฏิกิริยาตอบสนอง อยากให้มีส่วนร่วมกัน เอาเป็นว่าเราทั้งสองมาปรับสมดุลด้วยกัน
ปิ๊ด: ตึกตึกโต๊ะ ตึกตึกโต๊ะ ตึกตึก… (ฮัมท่อนอินโทรเพลง ยาพิษ) พอเพลง ยาพิษ ขึ้นมา พวกเราเตรียมจะกระโดดกันแล้ว แต่คนดูยกมือถือขึ้นมาเล็ง พวกเราก็จะแบบ เอ๊ะ อะไรเนี่ย
จากเพลงยุคแรกๆ ที่มีภาพของพลังใจมุ่งสู่เป้าหมาย ทำตามความฝัน มาวันนี้ พออายุมากขึ้น รู้สึกว่าพลังน้อยลงและอยากจะปล่อยวางใช่ไหม จึงร้องเพลง วิชาตัวเบา เหมือนคนอายุ 40 กว่าเลย ออกแนวปลงๆ
โอม: ไม่เหมือนคนสี่สิบกว่าหรอก มันใช่เลย (หัวเราะ)
ตูน: จริงๆ แล้วเนื้อหาแบบนี้มีอยู่ในทุกอัลบั้มอยู่แล้ว เพราะความเป็นบอดี้สแลมคือการบันทึกเรื่องจริง เป็นสิ่งที่เราเจอมาเอง เพียงแต่ว่าอายุเปลี่ยน ประสบการณ์เปลี่ยน การเดินทางมากขึ้น บันทึกที่แตกต่างไปถูกส่งลงมา ก็เหมือนคนคนเดิมที่เจอบททดสอบ ได้เรียนรู้ ได้แพ้ สามารถเรียนรู้ไปกับมันมากขึ้น มองในมุมที่แตกต่างออกไปแล้วเลือกถ่ายทอดออกมา
ก่อนหน้านี้อาจไม่เคยมองข้อดีของความพ่ายแพ้ ไม่ได้เห็นลึกขนาดนี้ แค่เราเห็นและสัมผัสมัน ตั้งรับไปกับมัน เพียงแต่ไม่ได้ตกผลึกจนนำมาถ่ายทอดได้ แม้แต่เชื่อในสิ่งที่จะเล่าหรือเพลงที่จะร้องความรู้สึกแบบนั้นยังไม่เกิดขึ้น ไม่เชื่อ จึงไม่ถ่ายทอด ในช่วงนั้นเราไม่ได้เท่ คูล เก่งกาจอะไร แค่มองเห็นมันอยู่ พอมาถึงขวบปีนี้ เราพร้อมที่จะพูดถึงมันแล้ว สุดท้าย แค่เราเชื่อจึงเลือกที่จะพูด ทั้งความพ่ายแพ้ ชัยชนะ ข้อดี ข้อด้อยของความผิดหวังที่เจอในทุกวัน
ถ้าเป็นเมื่อห้าปีหรือสิบปีก่อน คงร้องว่า ‘หนักก็เพราะยังเก็บ เจ็บก็เพราะยังคิด’ ไม่ได้
ตูน: (พยักหน้า) ใช่ ยกตัวอย่าง ผมชอบคำว่า ‘คราม’ เล่าคอนเซ็ปต์คำนี้ให้พี่กบ (ขจรเดช พรมรักษา) ฟัง อยากมีคำนี้เป็นชื่อเพลงอยู่ในอัลบั้ม ตั้งแต่ชุด Save My Life แล้วล่ะ ซึ่งความหมายของ คราม มันตกตะกอนทางความคิด มันนิ่งกว่าเพลงอื่นในอัลบั้มตอนนั้นมาก พวกเรายังเป็นแบบ ยาพิษ อยู่เลย คือยังฟูมฟายแบบ ยิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจ อกหัก สีสันยังเยอะมาก คราม ก็เลยต้องเก็บบ่มไว้ในคลังอีก 3 ปี พอช่วงเวลาลงตัวกับช่วงวัย เรานำมันกลับมาพูดอีกครั้ง จนตัวเราเองก็เชื่อ คนฟังก็เข้าใจไปพร้อมกันได้ สุดท้ายมันวนกลับมาสูตรเดิม ตรงจุดเริ่มต้นที่เราต้องเชื่อมันก่อน ต้องจริงกับมัน รู้สึกไปกับมันแล้วจึงถ่ายทอดออกมา
แบบนี้เราจะยังเรียกบอดี้สแลมว่าเป็นวงขวัญใจวัยรุ่นได้อยู่ไหม
ตูน: (หัวเราะ) ก็ยังอยากให้เป็นแบบนั้น ความฝันสูงสุดของพวกเราคือเป็นวัยรุ่นจนวันสุดท้ายของชีวิต นั่นเป็นเป้าหมายสูงสุดของบอดี้สแลม ความเป็นวัยรุ่นมันไม่ใช่แค่เรื่องของสภาพร่างกายข้างนอก มันอยู่ในใจด้วย อยู่ที่วิธีคิด ไม่ใช่ภาพเด็กๆ อายุ 18 เดินสยามสแควร์เท่านั้น แต่วัยรุ่นเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน มีไดรฟ์เยอะๆ มันน่าอิจฉามาก อยากเป็นแบบนั้นแม้ในวันที่ดูภายนอกแล้วไม่น่าจะมีได้ แต่ถ้าเราสร้างมันขึ้นมาได้จะดีมาก สามารถขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า เราเป็นวัยรุ่นได้ในแต่ละช่วงวัย อายุหกสิบจะไปแต่งตัวแบบเด็กสิบเจ็ดสิบแปดคงไม่ไหว แต่คิดดูสิ ถ้าหกสิบแล้วยังออกอัลบั้มใหม่ มีแรงกระโดดโลดเต้น เพลงยังพูดเรื่องบันดาลใจให้กับคนอายุสิบแปดได้ สื่อสารกับคนรุ่นหลังได้
ชัช: ในอนาคต ถ้าได้เห็นแฟนเพลงเราจูงลูกหลานมาดูคอนเสิร์ต คงอบอุ่นดี
ปิ๊ด: ไม่ต้องรออนาคต ตอนนี้ก็มีแล้ว (หัวเราะ) ล่าสุดไปเล่นแคมปัสทัวร์ คนมาดูเกิดปี 2543 นั่นหมายความว่าพวกเราไปประชุมผู้ปกครองให้ได้เลย
ตูน : ส่วนตัวผมรัก U2 มาก เพราะรู้สึกเขาเป็นวัยรุ่นตลอด กลมกล่อมแม้ปัจจุบันภายนอกจะโรยราไป ไม่ได้ผมยาวใส่หมวกคาวบอย ไม่ได้ดูเท่เหมือนเคย แต่สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือ ตั้งแต่เราเริ่มฟังเพลง U2 จนตอนนี้ออกอัลบั้มใหม่ พวกเขายังต่อติดกับเราได้ สื่อสารได้ ดนตรีไม่ได้หวือหวา แต่สิ่งที่ถ่ายทอดออกมายังสื่อสารกับเราที่อายุต่างกัน ผมว่าวิธีการของเขาน่าติดตาม ครั้งหนึ่งผมไปดูคอนเสิร์ตพวกเขา เจอเด็กวัยรุ่นเต็มเลย นั่นแปลว่า U2 ยังพูดในภาษาเดียวกับคนรุ่นใหม่ จนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราจะแก่ อยากแก่แบบนี้แล้วกัน อย่างน้อยมีแรงออกอัลบั้มใหม่ มีเรื่องให้พูดและเรื่องนั้นไปสัมผัสกับคนอายุห่างกันมากๆ ได้
‘ช่องว่างระหว่างวัย’ ดูเหมือนว่าจะถ่างออกไปเรื่อยๆ ไหม คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะพูดยังไงให้เด็กรุ่นลูกเข้าใจ
ตูน: ดนตรีมันง่ายต่อการสื่อสาร เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเรียกให้คนหันมาฟัง เหมือนเราจะป้อนยาหรือสารอาหารให้กับใครสักคน เราต้องทำเป็นอาหารอร่อยๆ มาเสิร์ฟ เพราะไม่มีใครอยากกินยาขมหรือของไม่อร่อย เราทำเป็นลูกกวาดลูกอมสีสันสดใส ให้เขาได้เห็นคุณค่า
พวกคุณเล่นคอนเสิร์ตใหญ่มาแทบจะครบทุกที่แล้ว ทั้งอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก, อิมแพ็กอารีนา ว่าแต่ติดใจอะไร ราชมังคลากีฬาสถาน ถึงขอกลับมาอีกครั้งแถมมาเป็นเฟสติวัลเล่นคอนเสิร์ต 2 วัน 2 รอบติดต่อกัน
ตูน: ตั้งแต่อัลบั้ม Believe เราอยากจะมีคอนเสิร์ตใหญ่มาตลอด เพื่อเล่าในเรื่องภาพสำหรับงานอัลบั้มใหม่ได้ ซึ่งบอดี้สแลมมีโอกาสได้เล่นคอนเสิร์ตใหญ่มาตลอดทั้ง Bodyslam Believe Concert ที่ธันเดอร์โดม, Big Body Concert 9 เล่น อิมแพ็กอารีนา, Bodyslam Save My Life Concert 2 รอบที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ไล่มาจน บอดี้สแลม ไลฟ์ อิน คราม ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ปี 2553
ในครั้งนั้นเริ่มจากจุดเล็กๆ แค่ภาพจำในตอนเด็ก เราเห็นวงดนตรีฝรั่งเขาทัวร์คอนเสิร์ตแล้วไปเล่นตามสนามกีฬาใหญ่ๆ บอดี้สแลมก็อยากจะมีโอกาสลองแบบนั้นบ้าง สุดท้ายเราก็ได้ทำ และโชคดีที่มีแฟนเพลงมาให้กำลังใจเต็มสนาม เรียกว่าคิดถึงบรรยากาศแบบนั้นก็ได้ ผ่านมา 8-9 ปีแล้วยังจำบรรยากาศ จำความตื่นเต้นที่ได้เล่น จำได้แน่นอน เรื่องตื่นเต้นไม่ต้องพูดถึงเพราะสนามมันใหญ่จริงๆ มีความลับอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยเปิดเผยที่ไหน ความจริงเราแค่อยากเล่นที่สนามศุภชลาศัย ความมั่นใจเราน่าจะเหมาะกับสนามขนาดนั้นมากกว่า แค่นั้นก็ตื่นเต้นมาก แต่สนามศุภฯ ไม่อนุญาตให้จัดคอนเสิร์ต เขาให้ใช้เพียงแค่งานกีฬาเท่านั้น สุดท้ายเหลือแค่สนามราชมังฯ ครั้งแรกที่ได้ยินผมพูดกับตัวเองจะไหวเหรอ จะมีคนมาดูขนาดนั้นเลยเหรอ จนสุดท้ายไม่เป็นไร คนไม่เต็มก็เอา แต่ความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นอีกเยอะเมื่อรู้ว่า Sold Out หกหมื่นกว่าใจเต้นรัวเลย
โอม: ผมจำได้ช่วงเตรียมตัวก่อนขึ้นเล่น ในห้องพักมีภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพที่อึ้งมากคือจังหวะเปิดประตู เราเห็นแฟนเพลงวิ่งร้อยเมตรเต็มฝีเท้ามาจับจองพื้นที่ สักครึ่งชั่วโมงภาพตัดมุมกว้าง เห็นทั้งสนามคนหนาตามาชักตื่นเต้น แต่ที่หนักเลยคือช่วงสแตนด์บาย ดับไฟ เพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้น ผมเข้าประจำที่ มองไปมีแต่คน มันเยอะแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน เยอะจนกลัว ปาก มือ เท้า สั่นหมด
ในดีวีดีคอนเสิร์ต Live in คราม มีภาพก่อนเริ่มโชว์ที่แช่ไว้หน้าห้องน้ำ แล้วมีเสียงโอ้กอ้ากเหมือนคนอ้วก นั่นคือความตื่นเต้นใช่ไหม
ปิ๊ด: โอ้กอ้ากไม่รู้ แต่ถ้าปู้ดป้าดนี่ผมเอง (หัวเราะ) ตื่นเต้นจนขี้แตกนี่เรื่องจริง ปกติเวลาตื่นเต้นผมจะไปยืนจ้องของจริง ไปจ้องเวทีจ้องคนดูให้หายตื่นเต้น แต่ครั้งนั้นไม่ไหวจริง ทำยังไงก็ไม่หาย มันตีกลับจนวิ่งเข้าห้องน้ำ ซึ่งก็ยังไม่ดีขึ้น เล่นไปหลายเพลงกว่าจะจูนติดจนเอาอยู่
โอม: โดนบรรยากาศเล่นงานกันถ้วนหน้า มันทำอะไรไม่ถูกจริงๆ
ปิ๊ด: พอควบคุมตัวเองได้ มันก็ราบรื่นขึ้น ทุกคนเต็มที่ ทำงานของตัวเองสุดกำลัง ฟินทุกอย่าง ภาพสุดท้ายปิดด้วยเพลง ความเชื่อ ตอนจบเพลงจะมีพลุขึ้นเป็นสัญญาณ โอเคงานของเราจบแล้ว แต่ตามซ้อมต้องเล่น Outtro ต่อ ปรากฏว่าไม่มีใครเล่นแล้ว เราทุกคนนอนหงายท้องดูพลุบนฟ้ากันอยู่พักใหญ่ อารมณ์มันพีกสุด
ตูน: ไม่ใช่แค่ 5 คนบนเวที แต่รวมทีมงานกว่า 100 ชีวิต เพียงแต่ส่วนตัวเสียดายเพราะตอน Live in คราม ผมเพิ่งออกจากโรงพยาบาลด้วยอาการหมอนรองกระดูก หมอห้ามไม่ให้โยกคอ ถือเป็นช่วงบททดสอบที่หนักหน่วงในชีวิต กายภาพได้ไม่นาน ซ้อมได้ไม่นานก็ต้องขึ้นโชว์งานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต มีคนดูมากที่สุด เพลย์ลิสต์ยาวที่สุด บนเวทีก็ใส่สุดเท่าที่จะทำได้ มันยังค้างคา เราน่าจะสมบูรณ์กว่านั้นกับวันไฮไลต์ของชีวิต แม้จะผ่านมานานแต่ความรู้สึกที่ว่ายังอยู่ แน่นอนผมจะเอาความรู้สึกที่ว่ามาปล่อยบนเวทีราชมังฯ อีกครั้ง พูดแบบวัยรุ่นเลยนะ ‘เดี๋ยวมึงเจอกู ไอ้พวกอาการเจ็บป่วย’
งานใหญ่ขนาดเล่นราชมังฯ แถมเล่น 2 รอบติดกัน มันโหดเอาเรื่องกับทั้งวงและทีมงานแน่ๆ
ตูน: อย่างแรก มันไม่บ่อยครั้งที่จะทำโปรดักชันแบบนี้กับสนามใหญ่ระดับนี้ 8-9 ปีทำที หมดคราวนี้ไปก็ไม่รู้จะมีอีกไหม ที่สำคัญนี่คือคอนเสิร์ตใหญ่ โปรดักชันจัดเต็มครั้งเดียว ในชุดนี้เราไม่ได้ขนไปเล่นที่ไหนอีก ดังนั้น จัดเต็มแน่ๆ ส่วนเหตุผลที่ต้อง 2 รอบ เพราะแปดปีก่อนบัตรขายหมดก่อนงานนานพอสมควร มีหลายคนพลาดไป ทางวงเลยคุยกันว่าไหวไหมหากจะเล่น 2 รอบ และเล่นอย่างเต็มที่ ในเมื่อทุกคนโอเคก็เอาเลย ช่วง 2 เดือนนี้หยุดออกงานมาเข้าค่ายฟิตกันอีกครั้งหนึ่ง
ชัช: ตอนที่ตกลงว่าสองรอบ โอ้โฮ คิดถึงร่างกายก่อนเลย ต้องฟิตมาก เริ่มซ้อมตั้งแต่วันนี้แล้ว ไม่อย่างนั้นกล้ามเนื้อมันไม่จำ ยังเคยคุยกันเล่นๆ กับยอด ตอนที่เล่นเพลงร็อกหนักๆ บางคืนยังเคยตี 60-70 เพลงรวดไม่หยุด ลงเวทีมายังร่าเริงแหย่เขาไปทั่ว ไม่มีเหนื่อย แบบนี้ต้องกลับมาปลุกตัวเองอีกครั้ง ตอนวัยรุ่นเคยทำได้ ตอนนี้ก็ต้องทำได้สิวะ สองวันเอง
ยอด: แต่ตอนนั้นที่ว่ามันยี่สิบปีที่แล้วนะ (หัวเราะ)
แล้วตอนนี้เล่นเสร็จแต่ละงานเป็นยังไง
(ชัชทำท่าหงายท้องบวกลิ้นห้อย พร้อมเสียงหัวเราะจากทุกคน)
ตูน: ผมว่าดีนะ อย่างน้อยๆ งานนี้ก็ทำให้ทุกคนได้ซ้อมร่างกายให้ฟิตเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง อย่างพี่ชัชเองกลับมามองว่าก่อนหน้านี้เคยทำได้ ก็ต้องทำได้สิ มันไม่ยากหรอก โอเค ร่างกายต้องปลุกกันหน่อย เปรียบเทียบครั้งนี้กับครั้งที่แล้ว ท่าทีกับความรู้สึกต่างกัน แต่เป้าหมายเหมือนเดิม คือเต็มที่กับโชว์ ไปปล่อยพลังเล่นเพลงใหม่ให้ทุกคนได้ฟัง ผมเปรียบเทียบกับ คริสเตียโน โรนัลโด ตอนมาแมนฯ ยูไนเต็ด ใหม่ๆ ก็สับใหญ่ หลอกใหญ่ มุทะลุ เป้าหมายอยากทำประตู แต่อาจจะดื้อคนเดียวบ้าง กะเลี้ยงหลบทีละเจ็ดแปดคน แต่โรนัลโดตอนที่อยู่เรอัล มาดริด เขาเล่นเป็นทีมมากขึ้น วิ่งไม่ต้องเยอะมากแต่มีคุณภาพ ลักษณะจะเป็นแบบนั้น
ที่สำคัญ นี่เป็นครั้งที่สองกับราชมังฯ เราพอจะรู้เหลี่ยมว่าต้องใช้แรงในการส่งเท่าไหร่ มีตัวช่วยอะไรบ้าง ต้องจัดเพลงแบบไหน จากการทัวร์มาแปดปีไม่มีหยุด เราเข้าใจเพลงตัวเองมากขึ้น รู้ว่าแต่ละเพลงสามารถสื่อสารไปแบบไหนได้อีก ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้เหมือนกัน
คล้ายกับนักฟุตบอลที่เก๋าขึ้น อาจจะไม่ได้เก่งขึ้น แต่รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตลอดทั้งแมตช์ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
ตูน: เก๋าไหมวะ (หันไปถามเพื่อนๆ) คำว่าเก๋ามันดูโอเวอร์ๆ ดูทะนงตนไปหน่อย เอาเป็นว่าเรารู้เหลี่ยมก็พอ เก๋าผมไม่ค่อยชอบ เพราะแค่พลาดเขียนตกลงไปขีดเดียว มันเก่าเลยนะ เราแค่รู้สึกว่าจัดการกับตัวเองและบรรยากาศของปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้น
ปิ๊ด : ด้วยความเป็นเฟสติวัล รอบนอกจะมีบันทึกอีกหลายเรื่องของวง เรื่องราวมากมายจากการเดินทางนำมาเล่า แน่นอนเป็นเทศกาลต้องมีของกิน ร้านประจำที่เราแวะเสมอช่วงออกทัวร์ ก็เชิญมาออกร้านในงานให้แฟนๆ ได้ชิม
ตูน: ร้านที่มีรูปพวกเราติดอยู่
โอม: แฟนๆ มาดูงานที่เป็นถนนบันทึกเรื่องราวและความทรงจำของบอดี้สแลมได้ตั้งแต่เที่ยง เพลินกับตัวเทศกาลก่อนชมคอนเสิร์ตช่วงหัวค่ำ ที่สำคัญคือมีเวทีเล็กให้น้องๆ วงดนตรีจากทั้ง Hot Wave หรือเวทีประกวดอื่นๆ ได้แสดง ซึ่งพวกเราก็ถือกำเนิดมาแบบนี้
ตูน: อยากสะท้อนภาพพวกเราตอนเด็กๆ ผ่านวงเหล่านี้ ที่เล่นขึ้นมาด้วยความสนุกไม่ว่าจะเพลงอะไร เครื่องแบบไหนก็ได้ เล่นถูกกติกาบ้างผิดบ้าง ขออยู่บนเวทีเล่นให้นานที่สุด เพลงที่เล่นก็ไม่เข้าพวก เขาไล่ลงก็ไม่ยอมลง อยากให้เห็นว่าพวกเราก็เริ่มมาจากแบบนี้แล้วโชคดีได้เล่นราชมังฯ ไม่แน่ น้องๆ ที่เล่นบนเวทีวันนั้นในอนาคตอีก 10 ปี มีโอกาสโชคดีได้เข้าไปในเล่นในสนามใหญ่ก็ได้ พวกผมอาจต้องต่อแถวซื้อตั๋วเข้าไปชม ผมว่าต้องมีวงแบบนั้นแน่ๆ
ปิ๊ด: อาจจะหาคนมาแทนพี่ชัชได้จากเวทีนี้
ชัช: อ้าวเฮ้ย
หากเปรียบเทียบบอดี้สแลมเป็นชีวิตของคนคนหนึ่ง เขาหรือเธอมีบุคลิกแบบไหน ตอนกำลังจะเข้าสามสิบหรือสี่สิบ
ตูน: ให้ผมคิดนะ ตอนนี้พวกเราคงเป็นเด็กสิบหก คือเท่ากับอายุวงนี่แหละ เป็นเด็กหนุ่มเพิ่งทำบัตรประชาชนมาเลย แต่เป็นเด็กที่แก่แดดหน่อย เริ่มเข้าใจโลก เข้าใจตัวเอง ส่วนเรื่องอนาคตนี่ผมไม่เคยออกแบบ มันก็คือการมีอยู่ ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปของวง มองเป็นบันไดขั้นเล็กๆ ทำอัลบั้มให้เสร็จ มีคอนเสิร์ตใหญ่ แล้วออกทัวร์ไป ผ่านไปสักพักเราก็อยากทำอัลบั้มอีกแล้ว เราก็กลับมารวมตัว เอาจริงๆ นะ เราไม่เคยมองไกลๆ แบบห้าปีสิบปีเลย แต่ระหว่างทางเราห้ามตกหล่นนะ ต้องเป็นวัยรุ่นอยู่เสมอ
บทเรียนชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับคนคนหนึ่งที่เป็นแบบบอดี้สแลม คืออะไร
ปิ๊ด: เรื่องดีที่สุดคือการที่พวกเราผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะมาก ได้เล่นดนตรี มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างทาง แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยกัน การอยู่กันครบทั้งห้าคนแบบนี้มันดีนะ และที่สำคัญคือเรากำลังจะมีอีกเหตุการณ์สำคัญร่วมกันอีก คือคอนเสิร์ตวิชาตัวเบาที่รออยู่ มันดีจริงๆ
ชัช: ผมเรียนรู้ว่าสติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หลายครั้งสิ่งที่เจอแล้วทำให้ชีวิตมืดมนลง พอย้อนกลับไปดูก็พบว่ามันเกิดขึ้นตอนเราไม่มีสติตลอด ดังนั้นพยายามรักษาตัวให้มีสติเอาไว้เสมอ จะได้ไม่มีใครเดือดร้อน ทั้งเราหรือใครก็ตาม
ยอด: ดนตรีทำให้ผมได้เจอความรู้สึกที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอมาก่อน สิ่งที่เราทำโดยไม่ได้ตั้งเป้าใหญ่โต รู้แค่ว่าต้องทำให้ดีที่สุด สิ่งนั้นไปสร้างพลังให้คนอื่น ครั้งหนึ่งมีนักดนตรีพิการแขนลีบเดินมาบอกผมว่าเขาหัดเล่นกีตาร์เพราะมีผมเป็นแรงบันดาลใจ การได้รับพลังแบบนี้มันดีที่สุดแล้ว เดาไม่ออกเลยว่าถ้าไปทำงานอย่างอื่น จะมีโอกาสได้สัมผัสไหม
โอม: ผมโชคดีมากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งที่รัก ท่ามกลางคนที่ชอบผลงานของเรา มีทีมที่ยอดเยี่ยม เท่านี้มันก็เป็นการใช้ชีวิตที่ดีมากแล้ว
ตูน: ตัวผมเองไม่รู้ตัวโน้ตเลยสักตัว แต่โชคดีมากที่ได้มานั่งโม้ให้คุณฟังตรงนี้ ได้มาร้องเพลงบนเวทีให้คุณฟัง ได้เป็นบอดี้สแลมแบบทุกวันนี้ ผมรู้สึกตัวเองโชคดี มีพี่ๆ ในวงคอยสนับสนุน มีพี่อ๊อฟ พี่กบ ช่วยตั้งไข่ ทั้งในแง่มุมดนตรีและชีวิตถ้าไม่มีพี่สองคน ผมไม่มีทางมีชีวิตรอดจนทุกวันนี้ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ผมได้เรียนรู้ คือการมีเพื่อน มีพี่น้อง ความสัมพันธ์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมดีใจที่ทุกวันนี้มีคนร่วมดีใจไปกับเรา ร่วมสนุก ร่วมเสียใจ ร่วมคิด ร่วมฝันไปด้วยกัน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้
FYI
หากใครติดตามเรื่องราวของบอดี้สแลม นอกจากเพลงฮิตมากมายที่ทั่ววงการยอมรับ อีกจุดหนึ่งที่คนดนตรีปรบมือให้พวกเขาคือความพยายามและซ้อมหนัก เชื่อหรือไม่ ในช่วงที่ซ้อมกันพีกมากๆ พวกเขาซ้อมเป็นแบนด์ร่วมกันตกวันละ 8 ชั่วโมง ก่อนจะแยกย้ายกลับไปซ้อมส่วนตัว แล้วจึงกลับมาร่วมกันใหม่ โดย ปิ๊ด มือเบส บอกกับเราว่า ส่วนตัวเขาเองจะซ้อมอีก 6 ชั่วโมง ขณะที่มือกีตาร์อย่างยอดยืนยัน ปัจจุบันเขาก็ยังเล่นกีตาร์ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน กว่าจะเป็นวงดนตรีที่คนรัก มันไม่ง่ายเลยจริงๆ