โธมัส พิชเยนทร์ เด็กสอบตกที่มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยด้วย Aniverse Metaverse

ลองกวาดสายตาไปรอบๆ โต๊ะทำงานของคุณ หรือแม้แต่เหล่าบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน บางทีคุณอาจจะมีสินค้าแบรนด์ anitech วางอยู่ตรงนั้นก็เป็นได้ อาจจะเป็นเมาส์ไร้สายในมือของคุณ หรืออาจจะเป็นหม้อทอดไร้น้ำมันในห้องครัว เป็นเครื่องดูดไรฝุ่นที่อยู่ใต้เตียง หรือแม้กระทั่งปลั๊กไฟที่ซื้อมาไว้นานมากๆ แล้ว เพราะตอบโจทย์ทั้งความสะดวกและฟังก์ชันดีๆ อย่างการมีพอร์ตยูเอสบีให้มาพร้อมกัน ซึ่ง anitech คือผู้ผลิตปลั๊กไฟคุณภาพดีที่มีพอร์ตยูเอสบีมาให้ด้วยเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย 

        แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้านี้ไม่ได้เป็นของประเทศญี่ปุ่นตามชื่อที่เราอาจเผลอคิดว่าใช่ในตอนแรก แต่เป็นการสร้างขึ้นด้วยมือของคนไทยแท้ๆ นั่นคือ ‘โธมัส’ – พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป โดยเขาตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนแต่ต้นแล้วว่าจะผลิตสินค้าเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นด้วยความทุ่มเทอย่างถึงที่สุด

        วันนี้ความ ‘หมกหมุ่น’ ที่เขามักพูดติดปากให้เราฟังเสมอตลอดช่วงของการพูดคุย สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้จากการที่ anitech สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนไทยได้อย่างแนบสนิท และมีสินค้าที่ครอบคลุมความต้องการในชีวิตมากมาย โดยที่เราสามารถหยิบนำมาใช้ได้โดยไว้วางใจถึงคุณภาพที่ได้มาเกินราคา และเมื่อเราย่องไปสังเกตสีหน้าของทีมงานที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศที่ตกแต่งอย่างอบอุ่นของ บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เราก็จับได้ถึงความรู้สึกที่มีความสุขและความมุ่งมั่นที่ได้รับการส่งต่อมาจากหัวหน้าของพวกเขา 

        ซึ่งโธมัสใช้วิธีการไหนในการซื้อใจทีมงาน ทำอย่างไรในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และสร้างระบบในองค์กรให้แข็งแกร่งขึ้นมาอย่างไร เราได้เก็บเกี่ยวความรู้เหล่านี้มาให้คุณได้ลองเอาไปปรับใช้กันไว้ตรงนี้แล้ว

        เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราและคนรอบข้างพัฒนาดีขึ้นไปด้วยกัน

 

คุณสร้างธุรกิจให้เติบโตโดยเริ่มจากการผลิตเมาส์ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร 

        ผมให้ความสำคัญกับ ‘เป้าหมาย’ เราจะทำอะไรก็ตามแม้กระทั่งการใช้ชีวิตก็ต้องมีเป้าประสงค์ ทำธุรกิจยิ่งต้องมีเป้าหมาย ถ้าคุณแค่ต้องการตั้งบริษัทมาเพื่อแค่ขายของไปแล้วได้เงินมา เราต้องตั้งคำถามแล้วว่า ‘ความต้องการ’ จริงๆ ที่ทำให้เราสามารถประกอบอาชีพหรือเป็นส่วนหนึ่งชีวิตเรา เป็นรายได้ยาวๆ ได้ มันตอบโจทย์จริงรึเปล่า ผมตอบได้เลยว่าเป้าหมายแบบนั้น ที่มี เมื่อสิบกว่าปีก่อนไม่ตอบโจทย์ผมเลย 

“เป้าหมายของผมคือต้องการสร้างธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ดังนั้น ถ้าเราพัฒนาสินค้าแค่ตัวเดียวมันจะตอบโจทย์อย่างไรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน”

        ผมต้องการสร้างอะไรบางอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม เป้าหมายของผมคือต้องการสร้างธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ดังนั้น ถ้าเราพัฒนาสินค้าแค่ตัวเดียวมันจะตอบโจทย์อย่างไรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ผมมองเจ้าอื่นๆ ในตลาด ที่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกที่มีอายุเป็นร้อยปีหรือเจ็ดสิบแปดสิบปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ แต่ไม่มีใครที่ขึ้นมาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้ ด้วยการบอกว่าตัวเองแค่อยากจะพัฒนาสินค้าเพื่อมาขายของแล้วได้กำไรแค่นั้น เขามีเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่านั้น ซึ่งเราก็ต้องการทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน ทุกแบรนด์ใช้เวลาในการก่อร่างสร้างตัวเองมาทั้งนั้น เราจึงมองก็ว่าเมาส์คือสินค้าตัวแรก เพราะบริษัท General Electric ตอนเริ่มต้นก็มีสินค้าเป็นหลอดไฟอย่างเดียวเหมือนกัน 

        เราเริ่มต้นจากสินค้าที่อยู่บนโต๊ะทำงานของคุณ เริ่มจากเมาส์ และขยับไปเป็นคีย์บอร์ด กล้องเว็บแคม การ์ดรีดเดอร์ ยูเอสบีฮับ ลำโพง ทำไปเรื่อยๆ มันก็เติบโต และมันตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้ นั่นคือ ตอบเรื่องเป้าหมายที่เราต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ดังนั้น จะขายเมาส์อย่างเดียวคงไม่พอแน่นอน ทั้งยังตอบโจทย์เชิงธุรกิจที่แน่นอนว่าเกิดผลกำไรมีตัวเลขที่เติบโตขึ้น และตอบโจทย์ในเรื่องทีมงานที่พวกเขาได้อยู่ในบริษัทที่มีการเติบโต มีผลประกอบการชัดเจน ทีมงานได้บริหารไอเดียต่างๆ ของเขา ตัวผมเองก็อยากทำธุรกิจที่เห็นภาพแบบนี้ ไม่ได้อยากแค่ทำสินค้าแค่ตัวเดียว 

        ดังนั้น เราจึงขยายโปรดักต์ออกมา ไม่ได้มีแค่สินค้าในกลุ่ม Mobile Accessories ไปสู่ Home Device ที่เริ่มต้นจากปลั๊กไฟ และต่อยอดไปเป็น Home Appliance หรือเครื่องใช้ในบ้าน จนถึงปัจจุบันที่เรามีสินค้าที่ทำเรื่องสุขอนามัยของผู้คน เพราะต่อจากนี้ไปเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะตอบเป้าหมายของเราที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน วันนี้เราอาจจะทำได้ในสเกลที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ถ้ามองย้อนกลับไป บริษัทระดับโลกทั้งหลายเขาเริ่มต้นแบบนี้กันทั้งนั้น และทำต่อเนื่องไม่หยุด พัฒนาคุณภาพพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ของโลก ปัญหาของมนุษย์อยู่ตรงไหน แล้วแก้ที่จุดนั้น ซึ่งเราก็จะทำแบบนี้

การที่โปรดักต์ของคุณพัฒนาสู่ความเป็นของใช้ที่อยู่รอบตัวผู้คน ถือว่าเป็นก้าวกระโดดในการสร้างธุรกิจของคุณได้ไหม

        เวลาที่เราออกกลุ่มสินค้าใหม่ ก็จะเป็น S-Curve ใหม่ของเราด้วยเหมือนกัน ตอนที่เราทำ Computer Device ชื่อ anitech ก็อยู่ในตลาดประมาณหนึ่ง มีคนรู้จักเราในระดับหนึ่ง ตอนที่เราเริ่มทำปลั๊กไฟขึ้นมา ประเทศไทยมีปลั๊กไฟมาประมาณห้าสิบถึงหกสิบปี ก้าวกระโดดของเราคืออะไร แน่นอนเรามองแค่ว่าเป็นการเติบโตด้านตัวเลข แต่มองในมุมของผู้ใช้งานด้วย ซึ่งปลั๊กไฟของเราตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีมาก เพราะในบ้านเราปลั๊กไฟจะเป็นพระเอกเสมอบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ที่เวลาบ้านเกิดไฟไหม้ (หัวเราะ) คนไทยอยู่กันมาสี่สิบห้าสิบปี แต่ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่กับคุณภาพชีวิตที่เสี่ยงกับปลั๊กคุณภาพต่ำแบบนี้มาตลอด ทำไมไม่มีคนมาแก้ปัญหาเลย ถ้าผมจะทำธุรกิจอะไรต้องเป็นธุรกิจที่แก้ปัญหาผู้คนได้สิ เพราะถ้าแก้ปัญหาของคนได้ จะเป็นไปตามหลักที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ (ทะยาน คิดแบบ Startup ทำอย่างเอสเอ็มอี มีระบบแบบมหาชน) ว่าเราถ้าจะเริ่มทำธุรกิจต้องเริ่มจาก pain point ไม่ได้เริ่มจากเราอยากทำอะไร 

“บ้านเราปลั๊กไฟจะเป็นพระเอกเสมอบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ที่เวลาบ้านเกิดไฟไหม้ คนไทยอยู่กันมาสี่สิบห้าสิบปี แต่ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่กับคุณภาพชีวิตที่เสี่ยงกับปลั๊กคุณภาพต่ำแบบนี้มาตลอด ทำไมไม่มีคนมาแก้ปัญหาเลย”

        เราเห็นปลั๊กไฟที่บางบ้านซื้อทีวีเครื่องละห้าหกหมื่นบาท ซื้อคอมพิวเตอร์ ซื้อเครื่องเสียงราคาเป็นแสน แต่ใช้ปลั๊กไฟราคา 129 บาท แล้วก็เอาไปซุกไว้อยู่ตามซอกห้อง แล้วก็เกิดอันตราย มีไฟฟ้าลัดวงจรบ้าง ความร้อนเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เรามีศักยภาพในการทำผลิตภัณฑ์นี้ได้ พอเราเข้ามาแก้ก็ใช้เวลา เราทำให้ปลั๊กไฟสามารถเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย มีสีสันสวยงาม ดีไซน์สวยงาม เราแก้ปัญหาเรื่องความร้อน การใช้วัสดุที่ทนไฟ การจัดการแผงวงจรไฟ ทำปลั๊กตกก็ไม่เกิดความเสียหาย เราใช้เวลาสามปีในการขึ้นมาเป็นเบอร์สามของประเทศ 

        สิ่งนี้คือก้าวกระโดดของเรา เพราะตัวเลขการเติบโตของบริษัทเพิ่มขึ้น ผู้คนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้นว่าเราเป็นแบรนด์ที่เน้นเรื่องคุณภาพและแก้ปัญหาผู้คน ผมมีโอกาสได้ไปอยู่บนเวทีของสื่อต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงความตั้งใจของเราที่ต้องการทำสินค้าให้ดี ไม่ได้เพียงแค่ต้องการตอบโจทย์ในเรื่องของผลกำไรเท่านั้น แต่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย 

        ดังนั้น จากปลั๊กไฟก็มาสู่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผมก็ตั้งต้นแบบเดียวกัน คุณลองสังเกตว่าบ้านเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนพร้อมจะโยนทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้เยอะมากจนขยะเต็มโลก แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านให้ราคาไม่แพงแต่ใช้ได้นานๆ ดีไซน์ดูดีเป็นของประดับบ้านได้ด้วย จากเดิมที่คุณซื้อเตาหมูกระทะหรือหม้อหุงข้าวที่ราคาไม่แพง แล้วเอาไปซุกอยู่หลังบ้าน ใช้ไปสักพักแล้วรู้สึกว่าไม่โอเค โยนทิ้งได้ไม่เสียดาย คนซื้อไม่เสียดายแต่โลกต้องรับขยะมหาศาล เราจึงปรับผลิตภัณฑ์ให้ดีไซน์มันดูดี มีคุณภาพ มีการรับประกัน เอาไปตั้งอยู่ในบ้านแล้วเป็นของตกแต่งบ้านได้ สิ่งนี้เป็นก้าวกระโดดทั้งเรื่องของตัวเลขและแก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ดังนั้น เมื่อจะทำอะไรเราก็ต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศของการคิดแบบนี้ ไม่ใช่เอาแค่ตัวเลขมาใช้ตอบทุกอย่าง ขายได้แล้วตอบโจทย์ไม่ใช่สำหรับผม เราต้องตอบโจทย์วิธีการใช้ชีวิตของผู้คนรวมถึงโลกนี้ด้วย 

“สิ่งที่หลายธุรกิจอาจจะขาดไป นั่นคือคำว่า ‘Care’ จริงอยู่ที่ทุกธุรกิจแคร์เหมือนกันหมด แต่คุณแคร์อะไรมากกว่ากัน ผลกำไร ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม หรือโลกใบนี้ คำว่า Care ในสมัยนี้กว้างกว่าเดิมมาก “

การเลือกสิ่งของที่คนมองข้ามไปสู่การเพิ่มคุณค่าให้ของสิ่งนั้นต้องมีหลักการใดบ้าง

        อย่างแรกผมคิดว่าเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจอาจจะขาดไป นั่นคือคำว่า ‘Care’ จริงอยู่ที่ทุกธุรกิจแคร์เหมือนกันหมด แต่คุณแคร์อะไรมากกว่ากัน ผลกำไร ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม หรือโลกใบนี้ คำว่า Care ในสมัยนี้กว้างกว่าเดิมมาก ถ้าเป็นยุคเราที่ย้อนกลับไปยี่สิบปีก่อน เราอาจจะแคร์ตัวเลข แคร์การเติบโต แคร์ผลกำไร หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการแคร์สังคม แคร์ผู้ถือหุ้น ถ้าคุณทำธุรกิจต้องสนใจผู้ลงทุนไม่ให้เขาขาดทุน แต่ปัจจุบันเราพูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม คุณต้องแคร์มากขึ้นไม่ใช่เอาแค่ตัวเลขของคุณดูดี คุณมีตัวเลขที่ดูดีแต่โลกจะเป็นยังไงไม่รู้ 

        ซึ่งผมมีอีกหนึ่งหน้าที่คือการเป็นผู้ประกาศข่าว ดังนั้น ในแต่ละวันผมจะเห็นข่าวจากทางฝั่งประเทศตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่าในมุมของการบริหารจัดการเขาไปไกลกว่าประเทศอย่างเรา วันนี้บริษัทชั้นนำของโลกอย่างไมโครซอฟท์ ซัมซุง หรือไอบีเอ็ม ต่างพูดถึงประเด็นเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน เพราะเขาแคร์ปัญหาโลกร้อนที่จะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ ทั้งๆ ที่ผลตอบแทนหรือตัวเลขของพวกเขา เขาไม่จำเป็นต้องแคร์เรื่องนี้มากก็ได้ แต่ทำไมเขาถึงต้องแคร์ นั่นเพราะเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน แนวคิดนี้เอสเอ็มอีเองก็ทำได้ถ้าเราแคร์มากพอ สิ่งที่มันจะตอบโจทย์แน่ๆ คือ มันจะทำให้ธุรกิจของคุณยั่งยืน

        ต่อมาคือเรื่องของแรงบันดาลใจ โดยทั้งทางบริษัทและส่วนตัวผมเองเชื่อว่าการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นของคุณคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่าคุณตื่นเต้นเป็นพักๆ แล้วก็ทำ ถ้าผมจะทำอะไรสักอย่าง แรงบันดาลใจของผมต้องมาจากสิ่งที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน สามารถส่งต่อได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งอาจจะหมายถึงพนักงานหรือซีอีโอคนใหม่ที่เก่งกว่าผม ผมจะสามารถจุดประกายบางอย่างให้เขาสามารถทำงานได้ ไม่ใช่การชี้นิ้วสั่ง การทำแบบนี้ไม่ใช่การจุดประกาย และเมื่อเขาไม่มีแรงบันดาลใจก็จะส่งผลให้สินค้า ธุรกิจ การดูแลลูกค้า การดูแลสินค้า ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อสังคมในวงกว้าง จะเป็นแค่คุณขายของแล้วก็ได้เงินมา ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าคุณสามารถจุดประกายอะไรบางอย่างให้กับสังคมได้ด้วย 

        ธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ประเด็น การที่ใครสักคนจะจุดประกายให้กับผู้คนได้ ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องประสบความสำเร็จในธุรกิจระดับแสนล้าน หรือเป็นผู้ที่อยู่บนยอดเขา ผมเชื่อว่าธุรกิจทุกธุรกิจสามารถจุดประกายได้ คุณจะเป็นเอสเอ็มอี คุณจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว หรือขายสินค้าท้องถิ่น คุณสามารถจุดประกายได้หมด เหมือนที่ญี่ปุ่นมีร้านราเม็ง เวลาเราไปกินราเม็งอร่อยๆ เรารู้สึกเป็นประกายมาก เพราะเรารับรู้ถึงสิ่งที่เขาทุ่มเท ซึ่ง anitech มีแรงบันดาลใจด้วยการอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เราอยากให้พนักงานรู้สึกว่าใช้ชีวิตที่นี่แล้วฝากความหวัง ฝากชีวิตของเขาเอาไว้ได้ และให้เขาสามารถไปจุดประกายให้กับผู้ค้าหรือซัพพลายเออร์ต่างๆ ต่อได้ สุดท้ายเมื่อเราเอาคำว่า inspire กับ care รวมกัน ผมเชื่อว่าสังคมจะได้มากกว่าการที่มีเอสเอ็มอีเกิดขึ้นอีกหนึ่งราย ถ้าทุกคนช่วยกันทำ ผมว่าโลกเราจะดีขึ้นกว่าเดิม หรือประเทศไทยก็จะมีหน้าตาไม่เหมือนเดิม

คุณคิดว่าเพราะอะไรสินค้าแบรนด์ไทยทั้งหลายยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาในจุดเดียวกับที่ anitech สามารถทำได้ 

        ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความทุ่มเท คนอื่นก็มีความทุ่มเทเหมือนกันเพียงแต่ว่าเราทำในระดับที่เรียกว่า ‘หมกมุ่น’ อย่างตอนที่เราทำปลั๊กไฟขึ้นมา เราประชุมแล้วประชุมอีก จะแก้ปัญหาตรงไหนได้บ้าง เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้มากที่สุด อาจเป็นเพราะมันเป็นสิ่งที่ผมได้มาจากการไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น ผมซึมซับวิถีชีวิตนี้ของคนญี่ปุ่นนี้มา ซึ่งผมไม่ได้ยกย่องว่าคนญี่ปุ่นดีกว่าคนไทยอย่างไร แต่ถ้าพูดในมุมของความทุ่มเทหรือความหมกมุ่นในสิ่งที่เขาทำ ต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นโดดเด่นในเรื่องนี้มากจริงๆ คนที่หมกมุ่นจนรู้จริงและใช้ความสามารถในสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ มันคือเสน่ห์ และสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องอธิบายมันสามารถสื่อออกมาไปยังผู้ใช้งานได้ เราจับสินค้าของคนญี่ปุ่นเรารู้สึกได้เลยว่าเขาทุ่มเทจริงๆ ผมจึงอยากทำสินค้าของผมให้เป็นแบบนั้นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าหน้าที่ของผมไม่สามารถพัฒนาสินค้าของตัวเองได้ทุกอย่าง ผมจึงต้องสื่อสารสิ่งเหล่านี้ไปยังทีมงาน และให้พวกเขาเป็นคนช่วยกันพัฒนา

        กลไกที่สำคัญที่สุดที่ทำให้แบรนด์ anitech โดดเด่นขึ้นมาคือทีมงาน ผมเป็นแค่จุดเริ่มต้น ผมจุดประกายให้ทีมงานรู้ว่าเป้าหมายของการมาทำงานที่นี่คืออะไร เขาก็จะไปทุ่มเทตั้งใจทำงาน ดังนั้น เราจึงไม่ต้องมีกฎระเบียบ ไม่ต้องมีข้อบังคับ ไม่ต้องมานั่งบอกว่ามาทำงานสายโดนปรับ เราไม่จำเป็นต้องมีสารพัดกฎที่มันไม่จำเป็นต้องมี ถ้าเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากมาทำงานได้ในแต่ละวัน เขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกรอบ อย่างออฟฟิศของ anitech ผมใช้หลักคิดในการออกแบบว่าให้มาทำงานอย่างไรที่จะรู้สึกว่าเหมือนมารีสอร์ตทุกวัน เราอยากให้เขารู้สึกว่าการมาทำงานคือการได้มาอยู่กับครอบครัว  ประเด็นสำคัญเลยคือการขับเคลื่อนทีมงาน และให้ทีมงานเป็นคนขับเคลื่อนสินค้า เมื่อเขารู้สึกว่าสามารถฝากผีฝากไข้ให้กับองค์กรได้ เขาก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เป็นเรื่องของ Diversity หรือความหลากหลาย ที่ต้องนำมาใช้ในการบริหารจัดการด้วยใช่ไหม 

        สำหรับผม Diversity เป็นสิ่งที่น่าจะจำเป็นที่สุดในการทำงานสมัยนี้ เพราะจะเป็นตัวที่ขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ ความเหมือนกัน การคิดเหมือนกัน การมีคนแบบเดียวกัน อยู่ในองค์กรเยอะๆ ผมกลับไม่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ โลกของเรามีกลางวันและกลางคืน สิ่งมีชีวิตจึงเกิดขึ้น มีร้อนมีเย็น มีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน หน้าที่ของผมคือจะทำอย่างไรให้คนที่มีความไม่เหมือนกัน มาจากสถานที่ต่างกัน สามารถร่วมงานกันได้ เรามีฝ่ายออกแบบดีไซน์ที่ต้องใช้หัวสมองซีกขวา ที่มีความคิดในแบบของเขา แต่ทีมงานที่อยู่ในฝั่งการขายเขาก็จะเป็นคนที่ใช้สมองซีกซ้าย ทุกอย่างต้องจัดการให้เป็นระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน ทำอย่างไรให้เขาทำงานกันได้ ดังนั้น การจัดการระบบจึงเป็นหน้าที่สำคัญของผม การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการจัดการ หรือใช้หุ่นยนต์มาช่วย ทำงานโดยไม่ต้องให้คนมานั่งทำเอกสารแบบเดิม การมี Diversity เป็นสิ่งจำเป็น แต่ Diversity จะขับเคลื่อนไม่ได้ถ้าไม่มีแม่ทัพมาเป็นคนคอยประสานบุคลากรต่างๆ เหล่านี้ เมื่อแม่ทัพสามารถประสานความแตกต่างเหล่านี้ได้ สิ่งที่จะสร้างความเติบโตคือเครื่องมือไอทีต่างๆ นั่นเอง

เราสามารถแก้ไขระบบภายในองค์กรที่ไม่ดีให้กลับมาดีได้ไหม หรือต้องรื้อแล้วสร้างใหม่เลย 

        ผมเองก็เริ่มต้นจากการทำงานด้วยระบบที่ไม่ดีมาก่อน จะเรียกว่าเป็นระบบที่ใช้ไม่ได้เลยก็ได้ เพราะผมก็ไม่ใช่อัจฉริยะตั้งแต่แรก ผมเป็นคนไทยธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ตอนผมเริ่มทำธุรกิจผมทำได้แย่กว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ตอนนั้นผมอาศัยแค่ใจสู้อย่างเดียว ซึ่งต่อมาผมจะย้ำเสมอว่าทำธุรกิจอย่าเน้นที่ใจสู้ ถ้าเราเน้นที่ใจสู้เราจะเหนื่อยและสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ใจสู้เป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องเอาระบบ เอาคนเก่งๆ มาช่วยจัดการ 

        กว่าผมจะรู้วิธีการนี้ ผมต้องดิ้นรนอยู่กับการที่ไม่รู้ว่าระบบที่ดีเป็นอย่างไร การเลือกคนที่เหมาะสมถูกต้อง คนที่เก่งต้องทำแบบไหน กว่าสิบปีที่ผมต้องอยู่กับระบบที่มั่วๆ งงๆ จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจลงระบบแล้วก็เอาที่ปรึกษามาช่วย ซึ่งแน่นอนว่ามันมาพร้อมกับการลงทุนมหาศาล แค่การลงระบบ การจัดการบัญชี ก็ใช้เงินระดับสิบล้านแล้ว จ้างผู้สอบบัญชี จ้างผู้มาดูแลระบบ แต่สิ่งเหล่านี้เมื่อเราลงทุนไปแล้ว มันคุ้มค่าในระยะยาว เพราะธุรกิจที่ดีที่จะยั่งยืนได้และสามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้ ถ้าระบบจัดการไม่ดีจะเป็นไปไม่ได้เลย 

        และการที่ธุรกิจขึ้นอยู่กับผู้ก่อตั้งแค่คนเดียวนั่นคือความเสี่ยง เพราะผู้ก่อตั้งเองเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาก็มีความเหนื่อยความท้อความไม่สบาย วันใดก็ตามที่ผู้ก่อตั้งไม่มีแรงทำได้เท่าเดิม นั่นคือความเสี่ยง และเมื่อธุรกิจที่เติบโตไปไกลมากขึ้น ผู้ก่อตั้งก็จะมีส่วนสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะกลไกในการจัดการจะพัฒนาของมันเอง และความเสี่ยงก็จะลดน้อยลง ซึ่งต่อไปถ้าไม่มีผมแล้ว บริษัทก็ยังเดินต่อไปได้

        ดังนั้น ถ้าถึงวันที่คุณต้องการจะเปลี่ยนจากบริษัทที่มีระบบไม่ดีเป็นบริษัทที่มีระบบการจัดการที่ดี ตัวผู้ก่อตั้งสำคัญที่สุด อย่าไปใช้ทีมงานเป็นคนเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงระบบภายในขององค์กรให้ทีมงานทำไม่ได้ เพราะแต่ละแผนกก็มีความคิดไม่เหมือนกัน เวลาที่คนทำงานเขาก็จะคิดถึงส่วนที่เป็นแผนกของเขา เขาไม่ได้เห็นแก่ตัว เพียงแต่เขามองภาพกว้างไม่เห็น และเขาก็เชื่อมต่อกันไม่ได้ หากจะต้องการแก้ คนที่เป็นเบอร์หนึ่งต้องเป็นคนลงมาจัดการด้วยตัวเอง 

        ผมจำได้ว่าวันแรกที่เราเปลี่ยนระบบใหม่ ผมลงมาลุยกับน้องๆ ไม่หยุด แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราก็อยู่กับเขา ผมใช้เวลาประมาณสามปีในการปรับปรุงระบบของบริษัททั้งหมด จนตอนนี้บริษัทของผมมีระบบที่ดีมากพอ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทเรา ซึ่งมาจากบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก บอกกับผมว่าวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทำออกมาได้ดีกว่าหลายบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความภูมิใจของผม ที่เริ่มต้นจาก ‘เด็กที่สอบตก’ ในเรื่องของการจัดการบริหารมาก่อน และปรับปรุงตัวเองจนกลายเป็นเด็กที่กำลังจะสอบผ่าน

“ถ้าถึงวันที่คุณต้องการจะเปลี่ยนจากบริษัทที่มีระบบไม่ดีเป็นบริษัทที่มีระบบการจัดการที่ดี ตัวผู้ก่อตั้งสำคัญที่สุด อย่าไปใช้ทีมงานเป็นคนเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงระบบภายในขององค์กรให้ทีมงานทำไม่ได้ เพราะแต่ละแผนกก็มีความคิดไม่เหมือนกัน”

เราต้อง ‘หมกมุ่น’ กับตัวเองอย่างไรถึงเป็นประโยชน์

        (นิ่งคิด) คงต้องกลับไปที่คำว่า inspiration น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนคนหนึ่ง ที่จะต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของตัวเองในการใช้ชีวิตคืออะไร ตอนที่เราอายุยังน้อยอยู่ การที่จะรู้ว่าตัวเองเหมาะกับอะไรหรือจะทำอะไร อาจจะต้องค้นหาหรือลองผิดลองถูกกันก่อน แต่ผมอยากให้คุณตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ว่า ถ้าพรุ่งนี้เราตื่นมา เราอยากให้ผู้คนพูดถึงเราแบบไหน เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่นึกถึงเราแบบไหน ถ้าคุณเป็นเจ้านาย คุณอยากให้ลูกน้องมองคุณแบบไหน และเอาสิ่งนั้นมาใช้ขับเคลื่อนในการตั้งเป้าหมายของตัวเอง และเป้าหมายนั้นต้องเป็นสิ่งที่ให้พลังบวกทั้งกับตัวเองและสังคม 

        เช่น ถ้าผมบอกว่าเป้าหมายของผมคืออยากเป็นนักพนันที่เก่งที่สุดในโลก ผมก็ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าเราเข้าไปในกาสิโนแล้วกลายเป็นนักพนันที่เก่งที่สุดในโลก สังคมจะได้อะไร ถ้าเราตอบได้ว่าเราจะเป็นนักพนันที่เก่งที่สุดในโลกแล้วเอาเงินที่ได้มาไปช่วยคนยากไร้หรือเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา หากคำตอบเป็นแบบนี้ เป้าหมายที่ตั้งไว้จะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่จุดมุ่งหมายของคุณคือการช่วยเหลือสังคม อย่างน้อยก็ยังเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ต้องหาเป้าหมายของตัวเองให้ได้ก่อน 

        ถ้าให้แนะนำจริงๆ ผมคิดว่าการตั้งเป้าหมายไม่ควรเริ่มต้นจากการเอาเงินมาเป็นที่ตั้ง คุณอยากรวยได้ แต่ถ้าใช้เงินเป็นเป้าหมายชีวิตเราจะวิ่งตามเงินไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะเป็นไปได้ไหมที่เป้าหมายจะตั้งด้วยอะไรบางอย่างที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากกว่าการหาเงินเพียงอย่างเดียว ถ้าความสุขของคุณมีค่าเท่ากับความสำเร็จ แล้วใช้มันเป็นเป้าหมายในการไปให้ถึง คุณจะใช้ทุกวิถีทาง จะเหยียบหัวผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น เอาเปรียบคนอื่น และนั่นคือหนทางที่จะทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะว่าตลอดทางคุณจะไม่มีเพื่อนเลย และเราจะหมกหมุ่นอยู่แต่ความคิดว่าสิ่งที่ฉันทำต้องประสบความสำเร็จให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถทำได้ตอนนั้นเราจะรู้สึกแย่แค่ไหน ดังนั้น ความหมกหมุ่นของผมคือ การทำอะไรหลายอย่างเยอะแยะมากมาย แต่ผมมีความสุขเพราะผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ผมทำเพื่อคนอื่นด้วย 

        วันนี้เป้าหมายล่าสุดของผมคือต้องการมีโอกาสช่วยเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ซึ่งทุกวันนี้ผมทำ anitech ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างห่างไกลจากเรื่องของเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ผมจึงเริ่มต้นทำโครงการ Aniverse Metaverse ขึ้นมา โดยมีแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อกับคุณแม่ที่เป็นอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ผมมองว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำคือชีวิตที่มีคุณค่ามาก เขาทำให้ผู้รู้สึกว่าคนที่เป็นอาจารย์ จะสามารถช่วยเด็กๆ หรือช่วยคนได้เยอะมาก เมื่อมีโอกาสผมก็อยากทำอะไรเพื่อพัฒนาเรื่องการศึกษาให้เด็กไทยดีขึ้นได้บ้าง

“ถ้าความสุขของคุณมีค่าเท่ากับความสำเร็จ แล้วใช้มันเป็นเป้าหมายในการไปให้ถึง คุณจะใช้ทุกวิถีทาง จะเหยียบหัวผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น เอาเปรียบคนอื่น และนั่นคือหนทางที่จะทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะว่าตลอดทางคุณจะไม่มีเพื่อนเลย”

คอนเซปต์ ‘Learn-to-Earn’ ของคุณน่าสนใจมาก เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่มันก็สร้างความสงสัยว่าเป็นการนำเงินมาใช้เป็นแรงจูงใจให้เรียนหนังสืออย่างนั้นหรือเปล่า 

        คุณเชื่อไหม จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รายงานว่าตอนนี้เรามีเด็กไทยหลุดจากระบบมากถึง 65,000 คน มีเด็กยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยเกิดจากความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาของเด็กไทย แล้วเราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ซึ่งการเกิดขึ้นของเมตาเวิร์สทำให้เราคิดไอเดียนี้ขึ้นมาได้ ผมจึงไปติดต่อขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อทดลองให้มีการเรียนการสอนผ่านโลกเมตาเวิร์ส โดยนักศึกษาจะได้รับหน่วยกิตเหมือนกับเข้าไปเรียนในห้องเรียน ผ่านคณะต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ พร้อมต่อยอดพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่าน Aniverse Metaverse

        ผมเชื่อว่า Learn-to-Earn จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและสร้างโอกาสของระบบการศึกษาของเมืองไทย แต่ Learn-to-Earn ของเราแตกต่างจาก xxx-to-Earn อันอื่น เพราะพวกนั้นคือการเอาเงินจากคนใหม่มาจ่ายคนเก่า มันคล้ายๆ กับระบบแชร์ลูกโซ่ที่มีวันที่จะล่มสลาย แนวคิด Learn-to-Earn คือ ทำอย่างไรให้เด็กสามารถใช้ศักยภาพของโลกออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การให้เด็กนักศึกษาสมัยนี้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมตาเวิร์สไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรของเขาเลย ทุกวันนี้เขาเรียนรู้เรื่องของ NFT เรื่องของระบบคริปโตเก่งกว่าผู้ใหญ่หลายคนด้วยซ้ำ เพราะเขาโตมากับเรื่องพวกนี้ 

 

        เราทำเมตาเวิร์สให้เด็กๆ ได้เข้ามาและพัฒนา NFT ของตัวเอง มานั่งเรียนแล้วได้ไอเทมหรือได้ NFT กลับไป แล้วคุณจะเอาสิ่งที่ได้มาไปขายต่อมันก็เป็นวิธีของเขา ซึ่งเขาต้องหาวิธีจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองให้ได้ ทุกวันนี้โลกออนไลน์ในบ้านเราขาดบุคลากรที่จำเป็นเป็นจำนวนมหาศาล ผมอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ผมรู้ว่าบุคลากรทางด้านนี้ขาดแคลนอย่างมาก สมมติว่า โลกออนไลน์ตอนนี้ทั้งโลกต้องการคนสองร้อยคน เรามีบุคลากรที่สามารถทำงานตรงนี้ได้แค่ห้าสิบคนเท่านั้นเอง แล้วทำไมเราไม่ทำให้เด็กเหล่านี้ สามารถพัฒนาได้ ให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องบล็อกเชน ให้เรียนรู้เรื่องการพัฒนา NFT ต่างๆ ให้เขาสามารถสร้างรายได้ และมันก็จะเกิดชุมชน เกิดการซื้อขาย เกิดการแบ่งปันข้อมูล เกิดเป็นเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา เด็กๆ สามารถที่จะสร้างต้นไม้ สร้างตึก สร้างโต๊ะ เป็น NFT ขึ้นมาได้ เพราะมีองค์กรหรือภาคธุรกิจมากมายที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเมตาเวิร์ส แต่พวกเขาทำตรงนี้ไม่เป็น อยากมีสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในเมตาเวิร์สแต่ไม่มีคนมาช่วยออกแบบตกแต่ง อยากมีคอมมูนิตี้ในเมตาเวิร์ส แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่เรามีเด็กๆ ที่สามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ 

        ผมเริ่มต้นด้วยการจับมือร่วมกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเขาก็สนใจอยากทดลองดูเหมือนกัน เพราะเขาก็เชื่อเหมือนกันว่าสิ่งที่ผมคิดจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการศึกษาครั้งสำคัญในประเทศของเราได้ โดยกับตัวเด็กเองก็จะทำให้รู้สึกสนุกในการได้เรียนหนังสือ คนสอนเองก็สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ในการสอนให้กับเด็กได้ เพราะในเมตาเวิร์ส ประสบการณ์ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด เราสามารถหันซ้ายหันขวา มองไปที่ไหนก็ได้ เราสามารถสร้างห้องเรียนให้เป็นแบบไหนก็ได้ เราสามารถไปนั่งอยู่ตรงส่วนไหนของโลกก็ได้ เมื่อมีเรื่องของเกมเข้ามาประกอบ มันก็จะตอบโจทย์ว่าจะเรียนอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ จากการศึกษาแบบเดิมที่นั่งเรียนแล้วก็ไปสอบแล้วก็ได้เกรดออกมา เราก็เปลี่ยนเป็น Learn-to-Earn ที่ให้เด็กมานั่งเล่นเกม พอถึงเวลาสอบก็ให้เขารู้สึกเหมือนกำลังไปตีบอส มีคำถามขึ้นมา ถ้าตอบได้ก็จะเป็นค่าพลังโจมตีใส่บอส ซึ่งถ้าใช้วิธีนี้ รับประกันได้เลยว่าเราไม่ต้องบังคับให้เด็กมานั่งเรียนด้วยซ้ำ ถึงเวลาเข้าเรียนเด็กเขามาด้วยตัวเองเลย 

        จากผลการสำรวจ เด็กๆ ก็บอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องบังคับให้เขาเรียนเลย และสิ่งสำคัญที่สุดของสถาบันการศึกษาคือ การวัดผลได้จริง เพราะทุกข้อมูลทุกอย่างจะถูกเข้ารหัสด้วยบล็อกเชน โกงไม่ได้ สามารถระบุได้เลยว่าเด็กแต่ละคนเข้ามาเรียนตามกำหนดไหม แล้วเขาใช้เวลากับคลาสเรียนไหนมากที่สุด ความสนใจจริงๆ ของเขาคืออะไร เขาอาจจะใช้เวลาไปกับศิลปะ การออกแบบ การร้องเพลง หรือการเล่นเกมก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ก็จะบอกถึงตัวตนของเด็กคนนั้นได้ มากกว่าระบบการเรียนการศึกษาในยุคปัจจุบันที่เป็นอยู่ เหมือนกับฟีดที่อยู่บนมือถือของแต่ละคนที่จะเห็นว่า คอนเทนต์ที่คุณสนใจส่วนใหญ่คืออะไร ระบบมันก็จะเลือกมาให้ทันที 

        เมื่อถึงวันที่เขาพร้อมเข้าสู่ระบบของตลาดแรงงาน เขาจะมีข้อมูลบางอย่างเอาไปเสนอให้กับนายจ้างว่า ผมเป็นเด็กนักเรียนที่จบคณะบริหารธุรกิจ แต่ผมใช้เวลากับเรื่องของการทำคอนเทนต์ ดังนั้น ผมสามารถที่จะทำงานด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ จากเดิมที่บริษัทสัมภาษณ์สองชั่วโมงก็ไม่รู้หรอกว่าเด็กคนนี้เก่งหรือไม่เก่ง แต่ถ้าเขาดูข้อมูลตรงนี้เขาตอบได้เลยว่าเด็กคนนี้เหมาะสมกับงานที่เขาต้องการหรือไม่ สิ่งนี้ได้ประโยชน์ทั้งกับตัวเด็กเอง และสถาบันการศึกษาที่อยู่กับความเสี่ยงจากเด็กที่ไม่สนใจเข้าเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาดแรงงานเองก็ได้ประโยชน์ ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์จากการที่เรามีบุคลากรทางด้านดิจิทัลที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 

        Learn-to-Earn ที่เราทำอยู่นี้ น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าจะตอบโจทย์ให้กับทุกๆ คนทางด้านการศึกษา ไม่ใช่ Learn-to-Earn ที่หมายความว่า เรียนไปแล้วก็มีคนมาคอยให้เงินที่อาจจะไม่ยั่งยืน สุดท้ายสำหรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ก็อาจจะมีบริษัทที่เข้ามาเป็นตัวกลางสร้าง Pool ขึ้นมาแล้วขอบริจาคเงินเข้าไปในระบบนี้เพื่อนำรายได้มาจ้างอาสาสมัครหรือทีมงานมาช่วยกัน ทำให้น้องๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้ามาอยู่ในระบบนี้ด้วยกันได้ ถ้าเราไม่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ไขปัญหา เราก็จะวนอยู่ในแบบเดิม และสุดท้ายก็อาจจะช้าเกินไป กว่าที่จะผลักดันให้ประเทศเราสามารถทัดเทียมกับต่างประเทศได้


เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ