บางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวด้านเศรษฐกิจอารมณ์ดีอย่าง บัญชา ชุมชัยเวทย์ บอกว่า “ผมว่าอย่างไรข่าวเศรษฐกิจมันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจตลอดเวลา เพียงแต่ว่า พอบางช่วงบางคราวที่คนมันไม่มีความทุกข์ ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรมาก ผมว่าเขาก็อาจจะมองข่าวเศรษฐกิจเป็นข่าวแบบ Window Shopping คือผ่านมาผ่านไป ดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ พูดถึงก็ได้ไม่พูดถึงก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ตัวของข่าวมันเกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ และสารพัดเงินทอง เพราะทั้งหมดน่ะมันคือสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจที่มันอยู่ในกระเป๋าใช่ไหม คือวันใดถ้าเงินเราไม่ขาดมือ ใช้จ่ายเรายังคล่องอยู่ เราก็แทบจะไม่สนใจข่าวเศรษฐกิจเลย”
หรือสิ่งที่เขาพูดก็อาจจะจริง อย่างน้อยก็ในสถานการณ์นี้ เพราะถ้าความฝืดเคืองไม่ปรากฏ ถ้าวันนี้ข้าวของไม่ขึ้นราคา ถ้าไม่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนหน้าแห้งไปทั้งแผ่นดิน บางทีเราก็อาจไม่รู้สึกอยากจะถามใครสักคนถึงที่มาที่ไปของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็แน่นอน น่าจะหนีไม่พ้นชื่อของ บัญชา ชุมชัยเวทย์ กับ สไตล์การเล่าเรื่องเศรษฐกิจแบบง่ายๆ ไร้รอยต่อ ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่ชัดเจนมาตลอดนับสิบๆปีในวงการสื่อ
ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา บัญชา เคยขึ้นปกของ a day BULLETIN มาแล้วสมัยที่เรายังเป็น Free Copy Magazine วันนี้จึงนับเป็นการเจอกันอีกครั้งในบริบทที่เปลี่ยนไปในหลายๆ เรื่อง แน่นอน คนดูยังติดตามบัญชาได้จากหน้าจอทีวีทางช่อง 3 HD (ถ้าคุณยังดูทีวี) แต่วันนี้บัญชามีสื่อออนไลน์อย่าง BTimes ที่เป็นบริษัทสื่อส่วนตัวของเขา มีช่องทางการสื่อสารทั้งทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเป็นหลัก
สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ความอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส คุมโทนเล่าเรื่องเศรษฐกิจไม่ให้เครียด (แม้ความเป็นจริงจะมีแต่เรื่องชวนเครียดไม่น้อย) ถ้าจะมีอะไรเพิ่มเติม ก็น่าจะเป็นการไลฟ์เฟซบุ๊กที่เราจะเห็นบุคลิกสบายๆ ของเขามากกว่าในหน้าจอทีวี
พูดให้เห็นภาพก็คือ ในหน้าจอทีวี เขาอาจทำได้มากที่สุดคือยิ้มแย้มแจ่มใส แต่แฝงความเคร่งขึมไว้ในที แต่ถ้าคุณดูเขาไลฟ์ละก็ บางวันก็มาในชุดเสื้อโปโลสีแดง ยิ้มไป โยกตัวไปตามเสียงเพลง ทักทายแฟนๆ แบบเป็นกันเอง ออกแนวเต็มไปด้วยความเคร่งขำแทน
วันนี้น่าจะเป็นอีกครั้งที่เราต้องคุยกันยาว เพราะมีหลายเรื่องราวที่เราต้องการคำอธิบาย และที่มาที่ไปของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่ทุกคนต้องฝ่ามันไปด้วยกัน ที่บอกว่าครั้งสำคัญ เพราะในชั่วชีวิตของคนเรา แทบไม่เคยเจอสามประสานแบบโรคระบาด ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ และผลพวงจากสงคราม… ซึ่ง ณ วันนี้ การรบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ในแบบที่เราคาดไม่ถึงว่ามันจะลุกลามมาได้ถึงอีกซีกโลกอย่างที่เราเห็นๆ กัน
หลังจากพูดคุยกับเขาไปชั่วโมงกว่าๆ เรายืนยันได้ว่า เศรษฐกิจยังเป็นเรื่องน่ารู้ และไม่รู้ไม่ได้…
คุณบอกว่า ตามปกติข่าวเศรษฐกิจ เป็นข่าวแบบรู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้ เพราะคนสนใจข่าวแนวอื่นกันมากกว่า แบบนี้คือเหมือนไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา แบบนั้นมั้ย
อย่าง 2-3 ปีนี้เราเห็นทั้งโลงศพ เห็นทั้งน้ำตา เห็นสภาพความเป็นอยู่ ความสูญเสีย คือเห็นสารพัดเลย แล้วเราเห็นทุกอย่างพร้อมกันเลยนะ มันเหมือนกับว่าถ้าไม่มีอะไรมาจ่อคอหอย คนก็อาจจะไม่สนใจ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้แล้ว เพราะข่าวหรือข้อมูล มันช่วยให้เราเตรียมพร้อม และอาจจะเจ็บน้อยลง หรือถ้ามีใครมาชี้เป้าว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มันก็ยังดีนะ แม้แสงที่ปลายอุโมงค์มันจะมีอยู่นิดเดียว ปากทางเข้ามันมืดมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณพยายามเดินเข้าไปเรื่อยๆ แสงสว่างปลายอุโมงค์มันก็น่าจะขยายมากขึ้น ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเดินด้วยตัวเองหรือเปล่า หรือเรามีเพื่อนเดินไปด้วย ถ้าเพื่อนพาเดินไปด้วย ก็อาจจะเดินเร็วขึ้นหน่อย เพราะมันมีคนช่วยกันคิด ช่วยกันหาทาง จะ up จะ down ยังไง อย่างน้อยมันก็ยังเดินต่อไปได้ ทีนี้เดินต่อไปได้ด้วยเรื่องอะไร ก็ด้วยกำลังใจ แรงบันดาลใจ หรือว่ามันมีตัวเลขสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ ที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ เพื่อให้เราไปถึงปลายทางได้เร็วขึ้น
คุณมองว่าการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะ GDP เงินเฟ้อ หรืออะไรก็ตามอย่างนี้ มันมีตัวเลขสำคัญๆ อะไรบ้างที่เราควรจะสนใจ เพราะว่าบางทีฟังรวมๆ แล้ว ข้อมูลมันก็ท่วมไปหมด มีแต่เรื่องลบๆ อยากรู้ว่าในมุมที่ต้องเป็นคนรับข่าวสาร พวกเราควรจะสนใจตัวเลขอะไรกันแน่
คือคนเรามันมีหลายกลุ่มถูกไหม กำลังซื้อก็ไม่เหมือนกัน ข่าวเศรษฐกิจก็เหมือนกัน มีตั้งแต่ระดับมหภาค คือภาพรวม แล้วก็ไล่มาถึงเศรษฐกิจระดับกลาง แล้วก็มาถึงเศรษฐกิจระดับเล็กๆ หรือระดับจุลภาค ที่พูดเรื่องการจ้างงาน การทำมาหากิน ปากท้อง คนทุกคนคงสนใจตัวเลขข่าวเศรษฐกิจไม่เหมือนกันหรอก ถ้าถามว่าชาวบ้านชาวช่อง หรือพวกเราทั่วไปสนใจอะไร เรื่องใกล้ตัวที่สุดก็คือว่า วันนี้เดินออกไป ไข่แผงหนึ่งขึ้นราคาหรือเปล่า หรือสนใจตารางราคาสินค้าประจำวันของกระทรวงพาณิชย์ แต่ว่าตารางกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องทำให้มันง่ายที่จะเข้าใจ อย่ามาตีตารางเหมือนสมัยที่เราเรียนหนังสือเป็นแกน X แกน Y แล้วผมว่าความถี่ในการนำเสนอก็ต้องบอกกันบ่อยๆ หน่อย เช่น ทุกวัน เพราะอะไร? เพราะว่าราคาผักมันจะมีขึ้นมีลงทุกวัน แล้วคนที่เป็นพ่อค้าแม่ขายหรือต่อให้เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน คุณจะไม่สนใจเลยเหรอว่าพรุ่งนี้ผักกุยช่ายขาวขึ้นราคา 10 บาทต่อหนึ่งกิโล คือมันเป็นราคาที่เขาขึ้นแน่ๆ แต่ประชาชนไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย 10 บาทนี่ ถูกไหม? โลกของเศรษฐกิจมันเป็นอย่างนี้ มันไม่มีใครมาบอกเราว่าวันนี้รายได้เราเข้ากี่บาท ถูกหรือเปล่า? ยิ่งถ้าเป็นแม่บ้านกับมนุษย์เงินเดือน เรารู้อยู่แล้วในแต่ละเดือน สมมติเลย ระดับตำแหน่ง C Level ขึ้นไป รับ 50,000 อย่างต่ำ หาร 22 วันทำการ คุณก็รู้อยู่แล้วว่าคุณได้เงินเท่าไหร่ต่อวัน เงินเดือนมันตายตัว มันไม่ใช่ว่า โอ้โฮ ปลายเดือนเจ้านายให้เงินขวัญถุงเสียเมื่อไหร่
ดังนั้น พวกเราก็ต้องเข้าใจว่าพืชผักสวนครัว สิ่งที่คุณต้องใช้อยู่ มันขึ้นราคาไปเท่าไหร่ ของอะไรบ้างที่จะแพงขึ้น จริงๆ คนเราถ้ายังไม่มีอะไรมาบีบ ก็แทบจะไม่สนใจหรอกว่าพรุ่งนี้อะไรขึ้นราคา ถูกมั้ยล่ะ
กลับมาที่เรื่องของขึ้นราคา สมมติว่าประกาศมาแล้วว่าของอันนี้ขึ้นราคา คนก็จะบอกว่า โอ๊ย ของแพง ต้นทุนแพง ต้นทุนแพงเสร็จก็ไปขึ้นราคาของของตัวเองอะไรอย่างนี้ คุณว่าจริงๆ แล้ว ณ วันนี้ คำว่าของแพง มันไม่น่าจะแพงทั้งหมดไหม หรือว่าเราควรจะปรับตัวอย่างไรกับคำว่าของแพง
ถ้าในแง่มุมของผู้บริโภคทั่วไปนะ คำว่าของแพง เราก็ต้องมีสติกับมีเหตุผล ถ้าพรุ่งนี้เขาประกาศเลยว่านมข้นหวานจะขึ้นราคา แต่เงินมันเป็นของเรา มันยังอยู่ในกระเป๋าเรา พอเงินเป็นของเรา เราก็ควรจะรู้ว่าเราจะจัดสรรงบอย่างไร เราจะแบ่งการซื้ออย่างไร จะสต็อกของยังไง ก่อนที่มันจะขึ้น เพราะมันยังมีเวลา แต่จะสต็อกมากหรือน้อย มันก็ต้องไปดูเงินที่เราเหลืออยู่ว่ามีเท่าไหร่ ถ้าของชนิดนั้นมันจำเป็นกับการใช้ชีวิต เราก็ต้องรีบซื้อ ปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่าย แล้วก็ปรับพฤติกรรมของเราด้วย ไม่ใช่ว่าเขาประกาศตูม ของแพงปั๊บ วันนี้แห่กันไปซื้อตุน ทั้งๆ ที่ของบางอย่างอาจจะไม่จำเป็น
อย่าลืมนะว่าการที่เราซื้อของออกจากห้างแล้วมาเก็บไว้ที่บ้าน จริงๆ คุณกำลังช่วยห้างในการแบกรับค่าใช้จ่ายในการสต็อกของอยู่นะ เพราะเวลาคนผลิตสินค้ามาไม่ว่าอะไรก็ตาม เขาจะรีบผลักสินค้าออกมา เขาต้องให้พวก modern trade หรือให้ช่องทางการขายต่างๆ มาซื้อและเก็บสต็อกแทน เพราะฉะนั้น พวกห้างนี่ก็ต้องจ่ายเงินหรือดอกเบี้ยในการเก็บสินค้า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามบอกของแพง แล้วคนแห่ไปซื้อมาเก็บที่บ้าน คุณกำลังไปช่วยแชร์ค่าเก็บสต็อกของพวกห้าง อันนี้พูดง่ายๆ
คือไปช่วยเขารับภาระ ว่าอย่างนั้น
ใช่ ไปรับภาระแทนเขา แล้วเอาของไปเก็บที่บ้าน กลายเป็นว่าคุณก็ต้องหาพื้นที่ในบ้านเพื่อเก็บของที่คุณคิดว่ามันจะต้องแพง นึกออกไหมครับ เพราะฉะนั้น วงจรมันเป็นอย่างนี้ กลายเป็นว่ายิ่งคุณไปสต็อกของเอามาเก็บไว้ที่บ้าน พวกคนกลางเขาเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาของเขาน้อยลง เพราะเขาผลักของออกไปแล้วเรียบร้อย แต่เราจะเงินจม เราเอาเงินช่วยเขา แล้วเงินเราก็ออกไป นี่คือรายจ่ายทั้งหมดเลยนะ แต่รายได้คุณมันไม่ได้วิ่งตาม ผมถึงบอกว่าบางครั้งของแพงก็ต้องหยุดคิดก่อนว่า มันเป็นของใช้ที่จำเป็นไหม จำเป็นก็ควรเก็บ ควรจะซื้อมา ถ้ายังไม่จำเป็นก็ไม่ต้อง ต่อให้เขาจะจัดโควตา โปรโมชันอะไรก็แล้วแต่ คุณยังไม่จำเป็นต้องควักเงินเพื่อไปซื้อของเข้ามาเก็บในบ้าน
เช่น ซื้อน้ำยาล้างจานมา 80 ถุง
ซื้อมาทำไมตั้ง 80 ถุง?
ไม่ๆ อันนี้พูดเล่น ยกตัวอย่าง
(หัวเราะ) นั่นแหละ สมมติมันมีจริง ก็ต้องถามว่า ซื้อมาตุนไว้ทำไมเยอะแยะ แล้วคนจะคิดอย่างนี้ไงว่าของมันขึ้นแล้วมันจะไม่ลงอีก
แต่จริงๆ มันลงไหม?
ถามว่ามันลงไหม? มันไปลงในรูปแบบอื่นไง ราคาอาจจะขึ้น แต่ไปลงในรูปแบบของโปรโมชัน และราคาที่ขึ้นนี่คือสต็อกใหม่ เพราะสต็อกใหม่ที่กำลังผลิตนั้นมีต้นทุนสูง แต่สต็อกเก่าที่ผลิตมาก่อนหน้านี้มันคือต้นทุนเก่า ฉะนั้น สิ่งที่เขาระบายอยู่ ณ ขณะนี้คือต้นทุนเก่าของเขา เพื่อจะได้มีที่สำหรับของเข้ามาใหม่ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ราคาแพงขึ้น ดังนั้น การที่มีประกาศสินค้าขึ้นราคา ห้างเขารู้อยู่แล้วว่าวันนี้สต็อกเขาหมดแน่ เพราะคนจะซื้อตุน มันเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วไป ฉะนั้น บางทีถึงได้ถามคำถามไงว่า ของแพงแล้วเราจะฟีดแบ็กอย่างไร ถ้าเราคิดเป็น เรารอบคอบ เราก็จัดการค่าใช้จ่ายได้ว่า จะไปตุนแค่ไหน
หรือเรารอล็อตใหม่บางทีอาจจะได้โปรโมชันที่ดีกว่า?
ใช่ มันก็เป็นไปได้ ไม่ต้องรีบเอาเงินสดไปใช้ เพราะตื่นตูมกับของแพงมากเกินไป เงินไม่จม และเอาไปบริหารจัดการอย่างอื่น
ยุคนี้ น่าจะมีอีกคำถามที่ถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า เก็บเงินสดไว้ดีมั้ย หรือเอาไปลงทุนในภาวะแบบนี้
คือ 2-3 ปีเนี่ยมันเป็นยุคที่พิสูจน์เลยว่า Cash is King เพราะมันเป็นภาวะที่ผิดปกติของโลก ไปดูพวกวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะวิกฤตเมืองนอก วิกฤตเมืองไทย ช่วงที่ผ่านมาเวลามันเกิดวิกฤต มันจะไม่เหมือนในยุคที่มีโรคระบาด ถ้าเศรษฐกิจมันพัง
มันก็จะเป็นการพังจากเนื้อของเศรษฐกิจล้วนๆ ซึ่งไม่ได้มีโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ ที่บางคนบอกว่า เกิดมาชั่วอายุ 80 ปีเพิ่งเคยเจอสถานการณ์แบบนี้
ต่อมา สิ่งที่เราส่วนใหญ่ไม่เคยเจอ คืออยู่ดีๆ มันมีสงครามขึ้นมาต่อจากโรคระบาด คือรัสเซีย-ยูเครน ผมถึงได้บอกว่านี่คือภาวะที่ผิดปกติ เพราะภาวะปกติมันไม่มีหรอกโรคระบาดอุบัติมา นี่เจอฝีดาษลิงอีก หรืออยู่ดีๆ สงครามก็เกิดขึ้นตามมา ผมถึงได้บอกว่านาทีนี้ก็ควรต้องเก็บเงินสดเอาไว้ก่อน เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา มันพิสูจน์แล้วว่าใครมีเงินสดอยู่ในมือ เขาเรียกว่าบุญเก่า แปลว่าคุณรอด แต่ก็ต้องเตรียมตัวเอาไว้ดีๆ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา คนใช้เงินเก่าจนกระทั่งเงินสะสมมันแทบไม่เหลือแล้ว ถ้าจะต้องลงทุน ก็แล้วแต่สูตรของแต่ละคน เครื่องมือทางการเงินมีเยอะแยะ ก็ต้องศึกษาและใช้ไป เพราะเก็บเงินอย่างเดียวมันไม่น่าจะถูกต้อง เพราะค่าของเงินมันลดลง แล้วไหนจะเงินเฟ้ออีก อย่างในตอนนี้ต้องหาจุดที่พอดีน่ะ ถามว่าต้องลงทุนมั้ย ก็ต้องทำ เพราะไม่อย่างนั้นเงิน 1 แสนวันนี้ ถ้าไม่ทำอะไรกับมันเลย อีก 5 ปี มูลค่าของมันก็อาจจะเหลือแค่ 5 หมื่น ต้องใช้เงินซื้อของเยอะขึ้น จำนวนเงินสดถ้านับเป็นใบๆ มันก็ครบแสนแหละ แต่มูลค่ามันน้อยลง ถามว่าจะลงทุนยังไง ก็ตอบยากนะ เพราะตลอด 2 ปีมานี้ สภาพมันก็ไม่น่าลงทุนเท่าไหร่
เรียกว่าสภาพมันไม่เอื้อเลย หุ้นก็ตกระเนระนาดตั้งแต่ปีแรกของโควิด ทองคำเองก็มีปัญหา Cryptocurrency ที่ว่ามาแรงๆ เกือบ 2 ปี ตอนนี้ก็ร่วงตั้งแต่พฤศจิกายน ก็ทรุดลงมา ตีซะว่า จนถึงครึ่งปีนี้คริปโตฯ ร่วงลงมา 58% โดยเฉพาะ bitcoin ก็หนักสุดในรอบ 12 ปี มันพอๆ กับอายุ bitcoin ที่มันเกิดมา 13 ปีเลยนะ ซึ่งพอคุณเก็บเงินสดไว้แล้ว แล้วอยู่ดีๆ คุณจะลงทุนในเวลาที่ผลตอบแทนการลงทุนมันลงเหวอย่างนี้ ก็แย่
ยิ่งตอนนี้ก็น่าจะค่าเงินอ่อนมากในรอบ 6 ปีครึ่ง เงินเฟ้อตอนนี้มันคือ 7.7% ถามว่าเราจะลงทุนยังไงให้ชนะเงินเฟ้อ ลงทุนยังไงให้ได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 8% มันยากนะ ต่อให้ตอนนี้จะมีคำโฆษณาชวนเชื่อนู่นนี่นั่น เราลองกลับมาคิดง่ายๆ ว่าคุณจะลงทุนอย่างไรให้ผลตอบแทน 8% ต่อเดือน 12 เดือน 96% อันนี้คือเราตีแบบต่อเดือน มันไม่ใช่ง่ายๆ นะที่เราจะลงทุนอย่างนั้น นี่คือลงทุนโดยที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว ให้มันมีรายได้เข้ามา 8% ผมว่ายาก ถ้าถามผม นาทีนี้คือสะสมผลตอบแทนอย่างเดียว เพราะมันไม่มีช่องทางไหนที่ลงทุนแล้วได้ 8% ต่อให้คุณจะมีที่ดินก็เถอะ ตอนนี้สะสมผลตอบแทนเอาไว้ ทยอยเก็บ ลงทุนหลายๆ ช่องทาง ถ้าเรารู้ว่าบางช่องทางให้ได้ 1% 2% หรือ 3% ก็ต้องแบ่งลงทุนหลายตะกร้า
ถ้าถามส่วนตัว ในชีวิตคุณบัญชาเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ไหม
ตั้งแต่ทำข่าวมา ก็ไม่นะ ครั้งนี้รู้สึกมันยากที่สุดแล้วนะเท่าที่เคยเจอ เพราะว่าเริ่มทำข่าวตั้งแต่ปี 2546 นับมาถึงตรงนี้ก็เกือบ 20 ปี เคยเจอแต่เศรษฐกิจต่างประเทศล้มก็ช่วงปี 2551 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงนั้นมันก็ทำให้ประเทศไทยเดี้ยงไปแล้วครั้งหนึ่ง คือภาคส่งออกก็ไปไม่ได้ แล้วตอนนั้นเป็นยุคที่ดอกเบี้ยไล่ขึ้นอย่างเดียว แล้วก็มาเจอพวกปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยการทำงานในประเทศ ก็ไม่มีเงินลงทุนเลย แต่ถ้าเรานับปี 2540 เป็นอีกวิกฤตใหญ่ จากปี 2540 ถึงตอนนี้ 2565 ก็ 25 ปีผ่านไป เด็กที่เกิดปี 2540 ตอนนี้อายุ 25 ปี แปลว่า อย่างน้อยประเทศเราเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ 3 ครั้ง ผมถึงบอกว่ามันเรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเบญจเพส
ซึ่งแต่ละครั้งรูปแบบกับผลกระทบมันไม่เหมือนกัน ตอนปี 2540 เจอเรื่องหนี้เยอะ ลดค่าเงินบาท สถาบันการเงินล้ม อสังหาฯ เสียหาย อันนั้นคือระดับกลางขึ้นบนที่ได้รับผลกระทบ พอมันเป็นซับไพรม์ ปี 2008 ส่งออกเสียหาย พอส่งออกเสียหาย แรงงานที่ทำงานในโรงงานส่งออกก็โดนผลกระทบ แต่พอมาถึงจุดนี้คือโควิด อันนี้โดนกันเรียบตั้งแต่บนจนถึงล่าง ตายสนิท
ทีนี้กลับมาที่รัสเซีย ที่บางคนยังคงบอกว่าไม่ต้องไปสนใจหรอก ไกลตัว เอาจริงๆ แล้ววิกฤตรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ปากท้องอย่างไร ถ้าให้คุณอธิบายง่ายๆ
สงคราม 2 ประเทศนี้ ผมมีความรู้สึกว่าผลกระทบทางอ้อมที่เราเจอนั้นรุนแรงกว่าเจอทางตรงอีก คือทางตรงหมายความว่า รัสเซียกับยูเครน เจอกันตรงๆ ทั้งเสียดินแดน ประชาชนล้มตาย เศรษฐกิจพัง บ้านเมืองเสียหาย กว่าจะใช้เวลากลับไปฟื้นฟูอีกซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ฝ่ายไหนชนะ ช่วงฟื้นฟูก็ต้องใช้เงินมหาศาล นี่คือผลกระทบทางตรงที่เกิดกับสองประเทศนั้น ส่วนประเทศอื่นๆ นี่คือโดนทางอ้อม แต่อย่างที่ผมบอกว่า ดูแล้วผลทางอ้อมกลับดูจะสาหัสและเรื้อรังมากกว่าผลทางตรง
เช่น น้ำมันแพง แล้วถามว่าใครบ้างไม่ใช้น้ำมัน คนขับรถใช้น้ำมัน คุณออกไปคุณก็ต้องใช้น้ำมัน ดีเซลขึ้น เบนซินขึ้น โลจิสติกส์เองก็หนัก ค่าขนส่ง ขนย้ายก็ต้องขึ้นตาม แล้วสินค้าที่เราซื้อมาทุกวันนี้ เขาก็ต้องรวมค่าขนส่งเข้าไปเพิ่มแล้ว กลับมาตรงปัญหาของรัสเซีย-ยูเครน ถ้าเราไปเทียบกับตอนสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย ตอนนั้นก็มีปัญหาเรื่องน้ำมันใช่ไหม ระหว่างสหรัฐฯ กับตะวันออกกลาง แต่ความแตกต่างของมันคืออะไร? กลุ่มประเทศสงครามอ่าวก็ได้รับผลกระทบอย่างเดียวคือ น้ำมัน แต่ปรากฏว่ารัสเซียกับยูเครนไม่ใช่น้ำมันอย่างเดียว ยังมีเรื่องก๊าซ ปุ๋ย อีกด้วย
ทุกวันนี้ รัสเซียส่งออกปุ๋ยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผมกำลังเทียบให้เห็นว่าสงครามรอบนี้ไม่เหมือนกับที่ทั่วโลกเคยเห็น ความเจ็บปวดของปีนี้มันอยู่ตรงนี้แหละ ที่บังเอิญว่าทั้งรัสเซียและยูเครนดันเป็นประเทศที่ทั้งผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่จับต้องได้หรือเป็นสินค้าที่ใช้อุปโภคบริโภค
ถ้าเกิดปุ๋ยแพง สินค้าเกษตรก็เด้งตาม
ใช่ เพราะต้นทุนขึ้น วันนี้ชาวนาถึงบอกว่าไม่เคยซื้อปุ๋ยกระสอบละ 4 หลัก เรียกว่าซื้อกระสอบละพันกว่าขึ้นไป ผมทำข่าวมาก็ไม่เคยเจอราคาลูกละพันกว่าบาท ถึงได้บอกว่ารัสเซีย-ยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตวัตถุดิบแล้วก็มีสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายทาง ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซ NGV ปุ๋ย ทองแดง นิกเกิล แล้วต่อมาข้าวสาลี ราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะขึ้นหรือไม่ ก็อยู่ที่ข้าวสาลีเป็นหลัก
จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องสนใจข่าวในประเทศที่ห่างไกลขนาดนี้
ถูก คนที่บอกว่ารัสเซียอยู่ไกล ยูเครนอยู่ตรงไหนของแผนที่โลกก็ยังไม่รู้จัก อันนั้นคือที่ตั้งประเทศ แต่คุณไม่ได้สนใจเลยใช่ไหมว่าพอเขารบกันเสร็จเนี่ย ผลมันจะตีมาถึงประเทศไทยได้ เพราะเราเป็นประเทศที่เอาวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้าขายอีกที เราอาจจะได้เปรียบตรงที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ในเรื่องของการปลูกข้าวเยอะอะไรก็ว่าไป แต่ความหลากหลายของวัตถุดิบในประเทศไทยมันไม่เหมือนกับ 2 ประเทศนี้ แค่รัสเซียประเทศเดียวเขามีทั้งเหล็ก น้ำมัน ก๊าซ แล้วนี่รบกันมาจะครึ่งปีแล้วนะ ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ไหนจะปัญหาการเมืองระหว่างประเทศอีก มันยืดเยื้อแน่ๆ
แล้วในความคิดผม ตอนนี้ปี 2565 ก็แสดงว่าต้องมี 2 ปีขึ้นไปกว่าจะฟื้น ซึ่งจริงๆ ถ้ามันไม่เกิดสงครามมาซ้ำ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นเร็วกว่านี้ แต่นาทีนี้พอมันเกิดสงคราม เครื่องบินใช้น้ำมัน ก็เจอต้นทุนแพง พนักงานมาประท้วงอีก เพราะคนไม่พอ เพราะก่อนหน้านั้น 2 ปีสายการบินปลดคนไปเท่าไหร่ล่ะ? เครื่องบินมีทั้งเช่าทั้งซื้อ เอาออกหมด ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของโลกคืออะไร? คนอยากเดินทางแต่ไม่มีเครื่องบินพอ ต่อให้มีเครื่องบินพอ ก็ไม่มีกัปตันพอ แล้วก็ไม่มีลูกเรือพอ เพราะเอาออกไปหมดแล้ว แต่ว่าคนมันอยากเที่ยว แต่ก็ไปเที่ยวลำบาก จะไปไหนทีก็หงุดหงิด รอคิวนาน เคยไปดิสนีย์แลนด์กันใช่ไหม? วันนี้คุณต้องต่อคิว 6 ชั่วโมง เพื่อจะได้เล่นแค่ 2 นาทีนะ แต่พอจะเที่ยวภายในประเทศก็เจอเงินเฟ้อ แพง ผมถึงบอกว่ามันเป็นช่วงวิกฤตที่แปลกมาก โรคระบาดก็มา สงครามก็มาพร้อมกัน คือสองปีที่ผ่านมา คน lean and lean แบบเหลือแต่กระดูกแล้ว พอวันนี้บอกจะกลับมาบูสต์ เพิ่มน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อ มันก็ทำไม่ไหว พวกโรงแรมเขาลดคนออกไปหมดแล้ว แต่ว่าท่องเที่ยวทำท่าจะกลับมาฟื้น ก็ต้องยอมจ้างคนไม่มีประสบการณ์เพื่อที่จะมาบริการในโรงแรม ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่คนไปพักก็ต้องหงุดหงิด เพราะบางที่ service mind ก็ไม่ดี
ขายออนไลน์ล่ะ ไปไหวไหม?
การแข่งขันสูง ขายของกันเป็นเบี้ยหัวแตก ไหนจะสินค้าไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันมากเพราะอะไร อย่าลืม ทุกวันนี้ตั้งแต่ตอนที่โควิดเกิดขึ้น คนมีชื่อเสียงพวกดารา เซเลบฯ ทุกอย่างก็ไปให้ OEM ผลิต เสร็จแล้วมาแปะแบรนด์ แล้วก็มาลงสนามออนไลน์ ยังไม่นับรวมกับคนอื่นที่เขาอยู่ในสนามมาก่อนหน้านี้ที่เขาพยายามเป็น KOL และไม่ได้มาจากสื่อดั้งเดิมด้วย คือคนขายมันเยอะไปหมด ฉะนั้น ทุกวันนี้จึงมีความเป็นเบี้ยหัวแตก มีความคล้ายกันของสินค้า ความแตกต่างไม่มี ยังไม่ต้องนึกถึงการแข่งขันกับรายใหญ่ๆ ที่เป็นมาร์เกตเพลซอย่าง Lazada Shopee ที่เขาขายสารพัดทุกอย่าง ด้านการต่อรองสต็อกดีกว่า บริหารรายจ่ายดีกว่า โปรโมชันรุนแรงกว่า วันนี้เราอาจจะขายออนไลน์ได้ แต่ถ้าให้อยู่รอดระยะยาวก็เป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่ก็ไม่ปฏิเสธนะ มันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่พอจะทำให้เรามีรายได้ในช่วงเวลาเฉพาะหน้า เอาเงินสดมาก่อน
แล้วอีกอย่าง ถ้าจะทำธุรกิจให้ไปได้ดี ผมมองการทำธุรกิจที่เจาะกลุ่มคนมีกำลังซื้อไปเลย อย่างทุกวันนี้ออนไลน์แข่งกันจะตาย คนซื้อไม่ใช่เศรษฐีซื้อนะ เป็นคนทั่วไป มันถึงเป็น red ocean ผมว่าหลักสูตรของการทำการตลาดหรือการทำธุรกิจเนี่ย หัวใจเดิมที่ชัดที่สุดก็คืออะไร คือการหาตลาดที่มันต่าง สอง นอกจากหาตลาดที่ต่าง ที่เห็นชัดที่สุดตั้งแต่วิกฤต 2540 ถึงปัจจุบันนะ ต้องขายของคนที่มีกำลังซื้อจริงๆ ขายของคนรวยจริงๆ เหมือนที่มันเกิดโมเดลบ้านพร้อมอยู่ของแลนด์แอนด์เฮาส์ คือขายคนที่พร้อมซื้อ แล้วถามว่าโมเดลนี้คลาสสิกไหม? คลาสสิกนะ เพราะต่อให้มีวิกฤต คนที่มีกำลังซื้อเขาก็มีเงินที่สะสมมากพออยู่แล้ว นั่นคือกลุ่มที่เราควรจะไป แต่ทุกวันนี้ คนขายของออนไลน์บ่นกันทั่วหน้า เพราะคนซื้อแทบไม่มี มันมีแต่คนขาย เพราะว่าเมื่อของมันขายง่าย คนซื้อก็เปลี่ยนไปเป็นคนขาย แล้วยิ่งขายของเหมือนๆ กันอีก ก็จบ ก็ดูสิ ที่ทุกวันนี้คอนโดฯ 10-20 ล้านขายได้ ก็เพราะแบบนี้ คือถ้าคิดจะมีรายได้ จะฟื้นช้าฟื้นเร็ว เราต้องลงแรงกับ 2 เรื่องที่มันเป็นหัวใจ นั่นก็คือ product หรือ service ที่ต้องแตกต่าง แล้วมุ่งไปที่คนที่มีกำลังซื้อ
ทำข่าวเศรษฐกิจผ่านมาหลายวิกฤตแล้ว คุณคิดว่าคนแบบไหนที่จะรอดในทุกวิกฤต
คนที่จะรอดคือคนที่มีความคิดเชิงบวก พิสูจน์มาแล้วในทุกวิกฤต คนที่มีวิธีคิดในทางบวก มันจะมีพลังบวก แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา และมันก็จะฝืน ที่เขาเรียกว่าฝืนชะตา ข้อจำกัด หรือปัจจัยลบที่พยายามเข้ามาหา คนแบบนี้เขาจะมีความกระตือรือร้นและหาช่องทางให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญ เขาจะมองไปไกลมากๆ เขาจะไม่มองแค่ระยะสั้นหรือกลาง ดังนั้น คนที่มี positive thinking มีมายด์เซตแบบนี้ เขาจะรอด
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มองโลกสวยงามเกินไป คือการคิดในทางบวกกับโลกสวย ผมว่ามันคนละอย่างกัน โลกสวยคือไม่ดูความเป็นจริงเลย แต่งเติมเอาเองไปหมดทุกอย่าง แต่ว่า positive thinking มันยังมีความคิดอยู่ว่า ต่อให้เรื่องนี้มันลบ เราก็เชื่อว่ามันไปรอด มองว่ามันเป็นความท้าทาย เป็นแค่ข้อจำกัดประเดี๋ยวประด๋าว คนคิดบวกจะคิดอย่างนี้ เขาจะไม่มองว่านี่คืออุปสรรค แต่กลับมองว่านี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไขให้ผ่านไปให้ได้ แล้วก็อย่างที่บอก คุณต้องมีความกระตือรือร้น ใฝ่หาโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ต่อให้วัย ความสามารถของคุณมันอาจจะถดถอยไปบ้าง ก็ช่าง แต่คุณต้องมองให้เห็นว่าโลกนี้ยังไงก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ ผมทำข่าวเศรษฐกิจมาตลอด แต่ละยุคแต่ละสมัย เชื่อมั้ย มันก็มีคนที่แปลกๆ มีความสามารถแตกต่างจากคนอื่นโผล่ขึ้นมาเสมอ แล้วก็กลายเป็นเศรษฐีใหม่ได้ ในยุคที่เราคิดว่าวันนี้มันยังจะมีเศรษฐีเกิดขึ้นอีกเหรอ? แต่ตลอดมาโลกก็ทำให้เห็นว่า แอมะซอน กูเกิล เฟซบุ๊ก เทสล่า อะไรพวกนี้มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ บางคนเริ่มธุรกิจจากโรงรถเล็กๆ จนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตของโลกก็มีมาแล้ว
ผมเชื่อว่า ในวัฏจักรของการพัฒนาของโลก หรือแม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจโลก มันจะมีผู้เล่นรายใหม่อยู่ตลอดเวลาในแต่ละยุคแต่ละสมัย มันจะมีเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันสิ้นสุด แล้วมันจะมีตลาดที่เกิดใหม่อยู่ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุดเช่นกัน
วันนี้ถ้าอยากไปได้ไกล ผมว่าภาษาต่างประเทศต้องดี อย่างมาตรฐานก็คือภาษาอังกฤษ จากนั้นก็เทคโนโลยี แล้วสุดท้ายถ้าจะประสบความสำเร็จ ถึงจุดที่แบบว่า wealth คุณก็ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการลงทุน การหาช่องทางลงทุน ศึกษาเรื่องการลงทุน มันก็เป็นตัวที่สปริงบอร์ดความเป็นเศรษฐีได้เร็วขึ้น และถ้าจะให้ไปไกลกว่านี้ คือการทำธุรกิจให้เติบโต แล้วเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น อันนั้นก็ก้าวกระโดดไปอีกระดับ
กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ถามว่าทำอย่างไรไม่ให้รู้สึกแย่กับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้
อย่างแรกเลยนะ ช่วงชีวิตคนเรา ถามว่าเราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วกี่ครั้ง ให้คิดอย่างนี้ก่อน อาจจะนับตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็ได้ จนมาถึงตัวเรา ถ้าเราไม่ผ่านเลยสักครั้ง วันนี้เราจะไม่มีลมหายใจอยู่ที่จุดนี้ เพราะฉะนั้น วันนี้เราเจอสิ่งที่มันเป็นวิกฤตครั้งหนึ่งของโลกที่แย่มากๆ เพราะเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤติ แต่ก็อยากให้คิดก่อนว่า เฮ้ย เรายังมาได้ถึงขนาดนี้ อันนี้อย่างแรก คิดบวก เพราะมันจะพิสูจน์ว่า เรายังมีลมหายใจอยู่นี่หว่า แม้ว่ามันจะมีปัญหาความเครียด ข้อจำกัดเรื่องเงินๆ ทองๆ อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ามันยังยืนได้อยู่ พอยืนเสร็จปั๊บ ผมบอกเลยว่าโลกสมัยใหม่ตัวคนเดียวไม่รอด เพราะฉะนั้น การมีพรรคพวก เพื่อนฝูง การหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อเป็นพันธมิตรในการทำมาค้าขายหรือธุรกิจ ยุคนี้ต้องทำ มันหมดยุคสมัยวันแมนโชว์ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะด้วยความที่เครื่องมือสื่อสารทั้งหมดทำให้เราผูกกัน เพราะฉะนั้น พันธมิตรก็ต้องสร้าง
ผมถึงบอกว่าการคิดในเชิงบวก การให้กำลังใจตัวเอง การหาเพื่อนใหม่ทางธุรกิจ แล้วพยายามโชว์ให้เห็นถึงศักยภาพของเราที่มีอยู่ เพื่อให้เขาเห็นโอกาสในการทำงาน แล้วมันน่าจะทำให้เรามีโอกาสในการที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว หรือไปต่อได้ อันนี้ผมว่าคนทั่วๆ ไปก็ต้องมองด้วย แล้วเชื่อมั้ย เวลาเราคิดลบ คิดมาก เครียด กำลังใจมันหายหมด พลังในตัวมันหดหู่หมดเลย
เมื่อกี้ตอนคุยกัน คุณบอกว่าไม่เชื่อในไอดอล แต่เชื่อในโรลโมเดล
อันนี้ส่วนตัวนะ คือคนไทยชอบพูดประมาณว่า เราจะเป็นแบรนด์อันนั้นอันนี้ เราจะเป็นบลูมเบิร์กของประเทศไทย เราจะเป็นสตาร์บัคส์ในประเทศไทย ถามว่าเป็นทำไม เราเป็นตัวเองสิ จะได้เป็นเบอร์หนึ่ง ถูกมั้ย?
มีคำพูดหนึ่งที่ผมชอบมาก ที่เขาบอกว่า ถ้าคุณเป็นไอดอลผม แปลว่าผมต้องก๊อบปี้คุณร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคุณคือไอดอล แต่ไอดอลไม่ใช่โรลโมเดล เราดูเขาได้เพื่อเป็นโรลโมเดล แต่สิ่งที่ผมจะสร้างคือตัวผมเอง อันนี้มากกว่า เราต้องเชื่อในโรลโมเดล อย่าไปเชื่อในไอดอล แต่หลายคนยังเชื่อในไอดอล แล้วพร้อมจะก๊อบปี้ทุกอย่างของไอดอล ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะยังไงคุณก็ไม่ใช่เขา แล้วเขาก็ไม่ใช่คุณ ดังนั้น ทำไมมันต้องมีจตุจักร 1 และจตุจักร 2 ทำไมต้องมีคลองถม 1 คลองถม 2 การมีชื่อดั้งเดิมไม่ได้หมายความว่าจะขายคนรุ่นใหม่ในสถานที่ใหม่ได้ ไม่ใช่ นั่นคือมายด์เซตของคนรุ่นก่อน ผมถึงบอกว่าจะทำไปเพื่ออะไร ก๊อบปี้ตั้งแต่ชื่อและคอนเซปต์น่ะ
เหมือนที่วันนี้มีคนอยากจะเป็น อีลอน มัสก์ ก๊อบปี้ดีเอ็นเอได้คงทำไปแล้ว แต่คุณไม่ใช่เขานะ เขาก็ไม่มีทางเป็นคุณแน่ แต่โรลโมเดลต่างหากที่เราต้องเข้าใจและศึกษา เพื่อดึงวิธีคิดของเขาเอามาใช้ เช่น เป็นคนที่กล้าคิดแตกต่าง กล้าที่จะเปลี่ยน เปลี่ยนอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมดแล้วบอกว่า วันหนึ่งรถไม่ต้องใช้น้ำมัน แต่ต้องเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า ซึ่งจริงๆ รถที่ใช้ไฟฟ้าเราเห็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่สนามกอล์ฟ มันก็ใช้รถไฟฟ้า แต่มันไม่มีใครกล้า breakthrough ให้เป็นรถที่วิ่งตามท้องถนน คือวิธีคิดพวกนี้มันมาจากการท้าทายวิธีคิดเดิม แล้วก็ไปสร้างโอกาสทางวิธีคิดใหม่ๆ
แล้วคุณบัญชามีโรลโมเดลมั้ย
มีหลายคน อย่างเช่นในวงการข่าวคือ แลร์รี คิง ทางช่อง CNN แต่เขาเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วนี่เอง เขาเป็นโรลโมเดลเรื่องการสัมภาษณ์ การตั้งคำถาม การเคารพแขกที่เชิญมา ความมีแพสชั่น ทั้งเสน่ห์ในน้ำเสียง ดวงตา ผมชอบมากเลยคนนี้
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ