จาก ‘Bearhug’ สู่ชานมไข่มุก ‘Bearhouse’ กับภารกิจอันยิ่งใหญ่ต้องมีแฟรนไชส์ทั่วโลกให้ได้

ในยุคแรกของยูทูเบอร์รุ่นบุกเบิก Bearhug คือหนึ่งในช่องยูทูบที่ผู้ชมหลายคนต่างพูดถึงและติดตาม ด้วยเสน่ห์ในการทำคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว และตามล่าหาของกินในแบบฉบับตัวเอง จากสองดาราหลักผู้เป็นเจ้าของช่องอย่าง ‘ซารต์’ – ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช’ และ ‘กานต์’ – อรรถกร รัตนารมย์ ทำให้ผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ และวัยรุ่นต่างยกให้พวกเขาเป็นขวัญใจ และเป็นหนึ่งในไอดอลในเวลาอันรวดเร็ว  

        หลังจากทั้งคู่ปลุกปั้น ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายในฐานะยูทูเบอร์ สร้าง Bearhug จนมีฐานแฟนคลับที่มั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว ในอีพีที่พวกเขาไปรีวิวชานมไข่มุก ณ เกาะไต้หวันนั่นเอง ทำให้ซารต์ผู้เป็นชานมเลิฟเวอร์จุดประกายไอเดียขึ้นมาว่า ‘อยากมีชานมไข่มุกแบรนด์คนไทยให้ต่างชาติเข้ามาต่อแถวรอซื้อแบบนี้บ้าง’ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้มของแบรนด์ชานมไข่มุก Bearhouse 

        “ตอนนี้เรามีสามธุรกิจ ธุรกิจแรกคือ Bearhug ช่องยูทูบที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ธุรกิจที่สองคือ Bearhouse ร้านชานมไข่มุก ตอนนี้มี 10 สาขา แพลนปีนี้จะเปิดเป็น 20 สาขา และธุรกิจที่สามคือเยลลี่ Sunsu ช่องทางขายโมเดิร์นเทรด โดยขายช่องทางหลักคือ 7-Eleven”

        หากใครติดตามข่าวของพวกเขาคงรู้ดีว่า ทั้ง ‘ซารต์’ และ ‘กานต์’ ต่างได้เรียนรู้ประสบการณ์อันล้ำค่าจากกรณีชานมกระป๋อง Sunsu (ตอนนี้เปลี่ยนสินค้าเป็นเยลลี่) แม้จะขายดีแต่กลับขาดทุนกว่า 17 ล้านบาท เนื่องจากขาดประสบการณ์ในด้านการผลิตและการขนส่ง หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้การพัฒนาแบรนด์ในก้าวต่อไปพวกเขามีความระแวดระวังมากขึ้น 

        “ปีนี้พวกเราตั้งใจว่าอยากกลับมาโฟกัสที่ Bearhug มากขึ้น เพราะว่าทีมงานในสองธุรกิจเริ่มลงตัวมากขึ้นแล้ว ก็เลยจะคิดให้เวลากับ Bearhug ที่พวกเรามีความสุขที่จะทำ แต่ไม่ใช่ว่าอีกสองธุรกิจไม่มีความสุข แต่เป็นงาน operate ซึ่งเราสองคนไม่ถนัดเลย เพราะเรามีพื้นฐานมาจากการเป็นครีเอเตอร์”

จากแค่ชอบกินชานมไข่มุก สู่การผลิต และสร้างแบรนด์ชานมไข่มุก ‘Bearhouse’ เป็นของตัวเอง

        ซารต์: เริ่มจากความอยากที่จะทำ แล้วก็ด้วยความคิดน้อย เลยทำให้เรากล้า เพราะตอนนั้นทำยูทูบสำเร็จระดับหนึ่ง เลยคิดว่าพวกเรามีความมั่นใจว่าฉันก็น่าจะทำได้ ถามว่าคิดเรื่องผังองค์กรหรือกลยุทธ์ตั้งแต่วันแรกเลยไหม ไม่ได้คิดรอบด้านขนาดนั้น เพราะตั้งแต่วันแรกมีหลายอย่างที่เรายังไม่พร้อมเยอะมาก 

        เราไม่ได้ไปหาว่าในโลกมีประชากรดื่มชาเท่าไหร่ มีการเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ มี market size อย่างไร รู้แค่ว่าตอนนั้นชานมฮิตมาก โลกตอบรับ แล้วเราก็ชอบมากด้วย รู้แค่นี้ก็เลยทำ แต่พอทำปุ๊บเราก็เริ่มต้องมีทิศทาง เราต้องดูแล้วว่าจะเติบโตอย่างไร เพราะถ้าเราทำไปวันๆ จะหาเพื่อนร่วมเดินทางไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าถ้าเกิดวันนั้นเรามัวแต่คิด ก็คงไม่ได้ทำ

Key Successes Factors of ‘Bearhouse’ 

ตั้งแต่เปิดร้านวันแรกจนวันที่กำลังวางแผนขยายอีก 10 สาขา

Key Successes ที่ 1: เพราะความเป็นยูทูเบอร์ชื่อดัง และมีฐานแฟนคลับมากมาย 

        กานต์:  เพราะพวกเราโชคดีที่มีต้นทุนด้านการเป็นสื่ออยู่แล้ว แล้วคอนเทนต์ที่เราทำ เรารีวิวด้วยความซื่อสัตย์มาตลอด เราแนะนำของอร่อยให้ทุกคนกินมาตลอด

        ซารต์: ทำให้ตอนที่เราเปิด จึงเป็นกระแสขึ้นมา สื่อต่างๆ ที่เรารู้จักหรือต่อให้ไม่รู้จัก แต่พอรู้ข่าวเขาก็ให้ความสนใจโดยที่เราไม่ได้บอก ทำให้คนยิ่งมาเข้าไปอีก จนไม่คิดว่ากระแสการตอบรับจะล้นหลามขนาดนี้ (ยิ้ม) 

Key Successes ที่ 2: ความแตกต่างที่ลงตัว เติมเต็มซึ่งกันและกัน

        กานต์:  ผมกับซารต์ค่อนข้างจะต่างกันสุดขั้วด้านความถนัด ทำให้เราเป็นทีมที่เติมเต็มด้านที่ต่างคนต่างไม่ถนัดให้กัน อย่างซารต์เขาจะถนัดด้านตัวเลขเสียส่วนใหญ่ ส่วนผมจะเป็นหัวด้านศิลป์ ด้าน GAT เชื่อมโยง (หัวเราะ) พวกเราเลยจะทำงานกันคนละด้านไปเลย ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่พวกเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน

Key Successes ที่ 3: ให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

        กานต์: ถ้าเป็นเรื่องรสชาติ ซารต์จะลิ้นดี หมายถึงการเทสต์เรื่องรสชาติดีมาก ส่วนผมจะเป็นลิ้นจระเข้ (หัวเราะ) เวลาทำสูตร ผมก็จะเถียงกันประจำว่ามันไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ เพราะคนอย่างผมจะแยกไม่ออกว่ารายละเอียดต่างกันอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าทุกคนในประเทศก็น่าจะประมาณผมนี่แหละ

        ซารต์: แต่เราคิดว่าเราชนะที่รายละเอียดเหล่านี้นะ เพราะเราใส่ใจในจุดที่คนอื่นมองข้าม เลยทำให้คนจำแบรนด์เราได้ ยกตัวอย่างเช่น ถั่วกระจก ในนั้นมีถั่ว 4-5 ชนิดที่ซารต์กินแล้วไปเจอเม็ดหนึ่งที่เหม็นหืนเล็กๆ แต่ทีมกลับบอกว่าไม่เห็นได้กลิ่นเลย พวกเราเลยเอา 2 กระปุกมา blind test เป็น 4 อัน ซึ่งเราก็จับได้ว่ากระปุกไหนผิดปกติ 

       เราคิดว่าเราน่าจะตอบโจทย์บางอย่างของลูกค้าได้ เพราะบางทีเวลาที่เราชอบอะไรสักอย่าง เราชอบโดยที่ไม่มีเหตุผล ร้านอื่นๆ ก็เหมือนกัน แต่เพราะว่าเราอาจจะใส่ในบางรายละเอียดลงไปมากกว่า เลยทำให้แบรนด์เราต่างจากคนอื่น อย่างมัทฉะ ห้ามเหม็นเขียว ห้ามขายแพงไปกว่านี้ เพราะถ้าเราทำแพงกว่านี้ คนทั่วไปที่เขาไม่ได้เป็นสาวกมัทฉะเขาก็จะรับไม่ได้ ซารต์ก็จะคิดรสชาติให้ทุกคนเข้าถึงได้และอร่อยด้วย

Key Successes ที่ 4: ไข่มุกโมจิจากแป้งข้าวไทยคือ Signature  

        กานต์: ตอนที่ผมกับซารต์ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ ซารต์ก็ไปชอบร้านชานมต่างประเทศ แล้วเราก็ตระเวนกินและหาข้อมูลกัน ปรากฏว่าทั้ง 2 คนฟันผุแล้วก็มีอาการท้องอืด เพราะเม็ดไข่มุกเหนียว แบรนด์ต่างประเทศบางแบรนด์ไข่มุกเหนียวมาก กลืนทียังเป็นเม็ดอยู่ จุดนี้จึงเป็น pain point ของลูกค้าก็ว่าได้

        เราเลยตั้งใจว่า ถ้าเรามีโอกาสทำร้าน เราจะตั้งเป้าหมายไว้ว่า ข้อ 1 จะใช้ไข่มุกที่ไม่เหนียว ข้อ 2 เราทำโดยจะใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรของไทย เพราะวันหนึ่งถ้าเราขยายไปต่างประเทศจะได้ทำให้ supply chain โตในไทยด้วย เราเลยคิดขึ้นมาเป็น ‘ไข่มุกโมจิ’ โดยใช้แป้งข้าวไทย ตอนแรกทำสูตรจากครัวกลางส่งไปหน้าร้าน แต่กลายเป็นว่าไข่มุกตัวนี้มีอายุอยู่ได้สั้นมาก ต้องถนอมมาก ก็เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ต้องทำสดทุกสาขา ดังนั้น แต่ละสาขาเราจึงลงทุนสูงมาก

        ซารต์: ไข่มุกต้มครั้งหนึ่งได้แค่ 30 แก้ว และอยู่ได้แค่ 2 ชั่วโมง บางทีต้องต้มถี่มาก ล้างถี่มาก รายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก ต้มทั้งวัน สมมติว่าทุก 2 ชั่วโมงต้มปุ๊บ ลูกค้าน้อย เราขายได้ไม่หมดภายในเวลานั้น ก็ต้องทิ้งหมดเลย อนาคตถ้ามีวิทยาศาสตร์มาช่วยในปัญหานี้ คือทำให้ยืดอายุการเก็บได้นานขึ้น แต่คุณภาพยังเท่าเดิม ก็น่าจะดีขึ้น

        กานต์:  จุดนี้เลยกลายเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา เพราะเราอยากขยายไปต่างประเทศเหมือนกัน แต่สมมุติว่าเราขยายไปดูไบ แล้ววันหนึ่งเครื่องเสียที่ดูไบขึ้นมา เราจะทำอย่างไร 

Key Successes ที่ 5: คุณภาพของสินค้า และคุณภาพชีวิตของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ

        ซารต์: เราซีเรียสเรื่องสินค้ามากๆ คุณภาพต้องมาก่อน ต้องเป๊ะ วันไหนที่ลูกค้าลองสั่งเดลิเวอรีไป แล้วได้ถุงหรือแพ็กเกจที่ไม่เหมือนที่เราวางไว้ เราจะเริ่มหาสาเหตุแล้วว่าเพราะอะไร ลูกค้าเขาอุดหนุนเราด้วยเงินทุกบาททุกสตางค์ แบงก์ร้อยของเรามีค่ามากแค่ไหน ของลูกค้าก็มีค่าแบบนั้น เราต้องทำให้แบงก์ร้อยของเขามีค่าที่สุด เพราะเครื่องดื่มเราก็ไม่ได้ถูกขนาดนั้น

        กานต์: สิ่งที่ผมค่อนข้างซีเรียสคือเรื่อง HR คือความเป็นธรรมของพนักงาน ณ วันนี้กำลังตั้งใจวางแผนอยู่ อยากสร้างระบบให้เด็กๆ หน้าร้านได้สิ่งที่เท่าเทียม ได้เติบโต มี career path มีความเป็นธรรม 

ดังนั้น ในฐานะที่ทั้งคู่เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ จำเป็นไหมว่าพนักงานต้องเป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกัน  

        กานต์/ซารต์: ไม่เกี่ยว/ไม่จำเป็น

        กานต์: เคยรับคนอายุมากเข้ามา สรุปคือ culture shock ทำงานด้วยกันไม่ได้ กลายเป็นว่าก็เกิดการคัดสรรตามธรรมชาติออกไป แต่ตอนนี้พนักงานที่อายุ 40 กว่าก็มี ซึ่งเขายังอยู่ในขอบเขตที่ใช้มือถือเก่ง พิมพ์คล่อง ทำงานผ่านคลาวด์ได้ 

ใช้แนวทางหรือวิธีการทำงานแบบไหนในการลดช่องว่างที่แตกต่างกันระหว่างพนักงานแต่ละคน

        ซาร์ต: อย่างแรกเลย ‘ต้องให้เกียรติกัน’ คือเราต้องยอมรับว่าเขาอายุมากกว่า เขาผ่านประสบการณ์มามากกว่า ที่เราจ้างเขาก็เพราะเหตุผลนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เขาตัดสินใจอะไรบางอย่าง แปลว่าเขาคิดมาแล้ว เราต้องให้เกียรติเขา เวลาเกิดปัญหา ก็ต้องถามเหตุผลเขาก่อนว่าทำไมพี่ถึงตัดสินใจแบบนี้เหรอ พอเขามีเหตุผล โอเค ต่อไปเรียนรู้ใหม่ด้วยกันนะ เวลาเกิดอะไรขึ้นปุ๊บจะไม่ได้ไปตัดสินเลยว่าพี่ผิด เราถูก เพราะเราจ้างเขามา เพื่อให้เขามาทำให้บริษัทเราดีขึ้น

        กานต์: การให้เกียรติของพวกผมคือ เราไม่เรียกใครว่าลูกน้องเลย ไม่เคยเรียกเลย แต่จะเรียกว่า ‘ลูกทีม’ แทน หน้าร้านก็จะเรียกว่า ‘เด็กหน้าร้าน’ 

ชานมกระป๋อง Sunsu ก้าวย่างที่พลาดสู่บทเรียนสำคัญในก้าวต่อไป 

        ชีวิตคนเราก็เหมือนเหรียญ ไม่ได้มีด้านเดียวเสมอไป มีวันที่ประสบความสำเร็จ ก็ย่อมมีวันที่ก้าวพลาดกันได้เป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกันสองผู้บริหารรุ่นใหม่ แม้ช่องยูทูบจะไปได้ดี แบรนด์ชานมจะอยู่ในจุดที่เป็นที่นิยม คนต่อแถวกันล้นหลาม แต่อีกหนึ่งสินค้าที่พวกเขาตัดสินใจปิดตัวไปเนื่องจากขาดทุนกว่า 17 ล้านบาท คือชานมกระป๋อง เรียกว่าเป็นก้าวที่เจ็บพอสมควร แต่ล้มแล้วก็ต้องลุกให้ไว 

        ซาร์ต: ที่มาของความผิดพลาดนี้คือ เกิดจากการที่เราอยากทำธุรกิจสินค้าบางอย่างเข้าเซเว่นฯ เพราะว่าฐานคนดู Bearhug มีทั่วประเทศ ซึ่งเซเว่นฯ ก็มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เลยคิดว่าทำสินค้าสักอย่างหนึ่งดีกว่า ซึ่งเราชอบชานมแล้วตอนนั้นก็ยังไม่มีชานมกระป๋อง เราเป็นชานมกระป๋องเจ้าแรกๆ ในไทยเลย ก็เลยทำปุ๊บแล้วส่งเข้าเซเว่นโดยไม่ได้คิดแผนการผลิต แผนการขนส่ง ไม่ได้ทำอะไรไว้ก่อนเลย

        กานต์: แล้วซารต์เขาเป็นคนที่เอาคุณภาพเต็มที่ ซึ่งไม่เหมาะกับสินค้าที่มันจะต้องมีการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจริงๆ ชานมตัวนี้เราดูขายได้นะ แต่สุดท้ายกำไรไม่เหลือ

        ซารต์: ด้วยความที่เขาเข้าถึงลูกค้าจำนวนเยอะ เขาก็เลยหักค่า GP ของคนขายค่อนข้างสูง ซึ่งเราไม่ได้คิดเรื่องนี้ไว้ ต้นทุนเราก็เอาตามที่เราชอบ ส่วน Bearhouse เราใส่ใจคุณภาพของรสชาติได้สุดๆ เพราะเราขายกับลูกค้าโดยตรง แต่อย่างธุรกิจนี้เราลืมคิดไปว่าเราผ่านตัวกลาง ถึงมันจะขายได้ แต่สุดท้ายกำไรไม่เหลือ

        กานต์:  ทำธุรกิจฝากเขาขายต้องมี timing ในการทำการตลาด สมมุติเราใส่งบการตลาดตรงนี้ไป 5 ล้าน แต่ของยังไม่ on shelf ทุกอย่างก็จบ ซึ่งตอนนั้นพวกผมทำการบ้านเรื่อง timeline ไม่ดีเอง 

        ซาร์ต: ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจเลยว่า กระบวนการผลิตต้องวางแผนล่วงหน้ากี่อาทิตย์ ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาวันไหน แต่วันนี้เราคิดเลยว่าจะขายอะไรปุ๊บ จะซื้อวันไหน ต้องสต็อกเท่าไหร่ ใช้เงินเท่าไหร่ ต้องรู้ก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ตัดสินใจอะไรทั้งนั้น

ในวันที่ดำเนินธุรกิจด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า แล้วคิดว่ากำลังไปได้ดี แต่ผลกลับต้องสะดุดล้มอย่างแรง ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

        ซารต์: ตอนนั้นทั้งเสียเซลฟ์และเสียใจ คือรู้สึกว่าเราพลาดที่ไม่ใส่ใจและไม่ถนอมเงินของเรา ทั้งที่เป็นเงินที่เราหามาด้วยสองคน 

        กานต์: เรียกว่าละลายทิ้ง (หัวเราะ) 

        ซารต์: ทำไมเราไม่ระวัง ทำไมไม่รอบคอบกว่านี้ เหมือนใช้เงินฟุ่มเฟือย เหมือนเราเสียใจที่เราไม่ได้ใส่ใจเงินก้อนนี้ แต่เราก็ไม่โทษตัวเอง เพราะว่าเรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเราไม่รู้ เรายอมรับตรงนี้แล้วให้อภัยตัวเองง่ายๆ เพราะเราไม่รู้ตั้งแต่วันแรก จำได้เลยว่าวันนั้นคือช็อก เหมือนอะไรซัดหน้าเข้ามา เราก็เลยต้องยอมรับแล้วก็ตัดจบ 

        กานต์: ผมเห็นซารต์เขาเสียใจอยู่แป๊บเดียว ไม่เกินสองชั่วโมง

        ซารต์: (หัวเราะ) ที่เสียใจไม่นานไม่ใช่ว่าเพราะรวยนะ เพราะนั่นคือเงินทั้งชีวิตเลย พวกเราไม่ได้ซื้ออสังหาฯ หรือรถมาสะสม ทุกวันนี้รถก็ยังผ่อนอยู่เลย พูดได้ว่าเราเอาทุกอย่างมาลงกับธุรกิจหมด จึงทำให้เสียดายเงินมาก แต่ว่าเราก็ต้องมูฟออน เพราะเยลลี่ก็ยังขายได้อยู่ ที่ตายคือชานมกระป๋อง เราละทิ้งเขาขนาดไหน เราคิดว่าเราจะปล่อยให้เงินทำงานเองเหรอ คือมันไม่ได้เหมือนเล่นหุ้นที่ซื้อลืม นี่เป็นธุรกิจที่ต้องการความเอาใจใส่จากเจ้าของมากๆ แต่เราดันไม่ใส่ใจ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรับผลที่ตามมา 

มาถึงตอนนี้มองว่าพาธุรกิจของตัวเองเดินทางไปถึงจุดไหนแล้ว

        กานต์: ยังประกอบรถไม่เสร็จเลย คือถ้าเส้นทางของผมมันคือการ scale up ตอนนี้เรายังประกอบรถอยู่ ดังนั้น ยัง scale up ไม่ได้ 

        ซารต์: เหมือนเราเห็นปลายทางทุกวัน ทุกวันนี้ที่ยังมีพลังในการทำงานก็เพราะเราอยากไปเปิดสาขา ขยายเติบโตไปต่างประเทศทั่วโลก เรารู้ว่าปลายทางคืออะไร แต่ตอนนี้เราแค่เดินทางอยู่ อาจจะไกลหน่อย ซึ่งไม่รู้ว่าอีกไกลมากไหม แต่ก็รู้ว่ากำลังเดินทางอยู่นะ 

มุมมองที่ได้จากการก้าวเข้ามาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ

        กานต์: ผมคิดว่าธุรกิจแบ่งออกเป็นหลายประเภท บางธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์ทำงาน บางธุรกิจใช้การบริการทำงาน บางธุรกิจใช้หุ่นยนต์ทำงาน แต่ธุรกิจเราใช้คนทำงาน ผมกับซาร์ตก็เพิ่งมาตระหนักได้ว่า ทำไมผ่านมา 2-3 ปีแล้วเราไม่ลงทุนกับ HR ให้มากพอ

        ซารต์: ปกติเวลาเราได้ยินจากคนอื่นก็เป็นทฤษฎีที่เราก็รู้อยู่แล้ว เช่น บอกให้กินอาหารที่มีประโยชน์ เรื่องคนสำคัญนะ แต่พอเรามาทำเองถึงได้รู้ว่าสำคัญอย่างไร ใชคำว่า ‘กระจ่าง’ ได้เลย รู้ว่าทำไมแบรนด์ต่างประเทศเขาถึงมีแฟรนไชส์ได้ทั่วโลก เพราะเขามีระบบการสอนพนักงานที่ดีมาก ซึ่งเป็นภารกิจในปีนี้ที่พวกเราต้องลงทุนเหมือนกัน

ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อยากบอกอะไรกับคนที่อยากทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย 

        ซารต์: อยากบอกว่า ถ้าอยากลองอะไรก็ทำเลย แต่ทำเลยในที่นี้เราต้องรู้ว่าจะรับ worst case ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่หรือใครก็ตาม อยากให้เขาคิดว่าทุกอย่างที่ทำไปครั้งแรกไม่มีทางที่จะสำเร็จ หรืออาจจะสำเร็จ แต่ก็อาจจะล้มเหลวได้เหมือนกัน อยากให้เตรียมการรับมือกับปัญหาหรืออุปสรรคที่เราต้องเจอ เพราะว่าเวลาที่เรามีความสุขมันไม่เป็นไร แต่เราจะอยู่ไม่ได้เมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นแบบที่เราวางแผนไว้ ให้เตรียมใจด้วยว่า ทุกอย่างไม่ได้มีแต่ข้อดี

        กานต์: สำหรับผมมีเด็กรุ่นใหม่มาคอมเมนต์ในยูทูบเยอะว่า เขาเครียดกับชีวิต เครียดกับการที่ทำไมเราไม่ประสบความสำเร็จแบบคนอื่น เพราะว่าสื่อยุคนี้มันมีแต่คนประสบความสำเร็จให้เห็น เช่น เด็กอายุ 20 สร้างรายได้พันล้าน เด็กอายุ 25 สร้างรายได้พันล้าน ผมต้องบอกความจริงที่ว่า แต่ละคนมีต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนเกิดมาบนฟูก บางคนเกิดมายากจน เราต่างมีต้นทุนที่ต่างกัน เราอาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ทั้งหมด ผมไม่อยากให้น้องๆ กดกันในตัวเองมากเกินไป ค่อยๆ ดูทรัพยากรของเราแล้วค่อย ๆ สร้างในทางของเราดีกว่า 

        ซารต์: พวกเราสร้างฟูกมาตั้งแต่ตอนปี 2014 ที่ทำยูทูบ เพราะว่าสุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับว่า คนที่ติดตามเราหรือคนที่รักเราก็มาจากสิ่งที่เราทำเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อยากให้เด็กรุ่นใหม่ดูตรงนี้ด้วยเยอะ ๆ บางทีเขาอาจจะเห็นแต่ภาพที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ในความจริง ภาพของการต่อสู้ กว่าที่จะมาถึงวันนี้  มันก็มีจุดที่ต้องเหนื่อยมาก่อนเหมือนกัน 

 

จากการที่อยู่ในแวดวงนี้มา 2-3 ปี มองว่าเสน่ห์ของการทำชานมหรือเครื่องดื่มคืออะไร

        กานต์: ผมหลงใหลในตัวชา ผมชอบกลิ่น ชาคือพืชที่มีใบ ไม่ว่าจะชาเขียว ชาอู่หลง ชาอะไรก็ตามมันมาจากต้นเดียวกัน แต่กลับให้กลิ่นที่แตกต่างกัน ผมว่ามันคล้ายๆ กาแฟ เราหลงใหลในกาแฟเพราะว่ากลิ่น เราก็หลงใหลในชาเพราะว่ากลิ่นเหมือนกัน 

        ซาร์ต: เราหลงใหลในตัวไข่มุก หรืออะไรบางอย่างที่มาผสมกับเครื่องดื่ม เพราะว่าถ้าเกิดเป็นคนที่ไม่อินเครื่องดื่มเลย ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะเป็นคนชอบของหวาน ไม่ดื่มเครื่องดื่มอะไรเลยที่เป็นของหวาน แต่ว่าทันใดที่มีเม็ดไข่มุกเข้ามาในนั้น ความรู้สึกมันมหัศจรรย์มาก มันเป็นเสน่ห์ที่ลงตัว มี texture ให้เคี้ยวในเครื่องดื่ม อนาคตอาจจะต่อยอดอะไรจากตรงนี้ได้

ทั้งคู่เห็นภาพตัวเองในอนาคตอีก 10 ปีว่าเป็นอย่างไร 

        ซารต์:  ตอนนั้นก็อาจจะเลี้ยงแมวอยู่บ้าน (หัวเราะ) อยากให้บริษัทอยู่ด้วยตัวเองได้ ส่วนเราเป็นแค่ที่ปรึกษาข้างนอกหรือมองดูห่างๆ อยากให้บริษัทเติบโตของเขาเอง ความฝันของคนหลายคนอาจจะอยากเป็นซีอีโอ แต่พวกเราฝันชัดเจนว่า อนาคตเราอยากจ้างซีอีโอ คือชอบเหนื่อยแบบอินดี้ เราอยากเอาเวลาไปปรุงชาด้วยตัวเอง อยากเหนื่อยแบบนั้น ไม่ได้อยากเหนื่อยแบบ… มาดูสิ เดือนนี้ KPI เป็นอย่างไรบ้าง ทำไมเมื่อวานมาสาย ทำไมผลงานไม่ถึงเกณฑ์ เราไม่เห็นตัวเองในแบบนั้นเลย

        กานต์: 10 ปี ผมยังมองไม่ค่อยเห็น แต่ถ้าตามที่วางเป้าไว้อาจจะไม่ได้อยู่ไทยเป็นหลัก อาจจะบินไปประเทศต่างๆ แต่ว่าไม่ได้บริหารแล้ว ภาพที่ชัดเจนเหมือนกันคือ เราอยากพูดว่า “ตรงนี้มี Bearhouse มาเปิดแล้วนะ” ผมกับซารต์อาจจะไปอยู่ตามไร่ชา พัฒนาสายพันธุ์ชาต่างๆ (ยิ้ม)  

ความสุขของทั้งซารต์และกานต์ในวันนี้

        ซารต์: เห็นบริษัทเติบโต เห็นการเติบโตของพนักงานที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่วันแรก คือซารต์เป็นคนตรวจเงินเดือน ซาร์ตแฮปปี้มากเลยว่าน้องคนนี้เคยอยู่ตั้งแต่เงินเดือนเท่านี้จนตอนนี้ได้เลื่อนขั้นแล้ว ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะยินดีกับการที่เขาเติบโตได้ขนาดนี้ มีความสุขมาก ดีใจที่เขาได้มาโตกับเรา ความสุขของเราก็คือการที่เห็นบริษัทและพนักงานโตไปเรื่อยๆ 

        กานต์: ความสุขของผมคือการเห็นระบบการทำงานเกิดขึ้น เริ่มมีวัฒนธรรมองค์กร เริ่มมีอะไรที่คลอดขึ้นมาเองเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายระบบมันทำให้เราถอดตัวเองออกจากงานได้

        ใบหน้าหนุ่มสาวทั้งสองเปื้อนยิ้มขึ้นมาหลังจบบทสนทนา พร้อมกับการลิ้มรสความหวานจากไข่มุกเม็ดสุดท้ายที่เราเพิ่งดูดจากแก้วขึ้นมา “ต้องมีแก้วต่อไปแน่นอน” เรานึกในใจ 

        แต่เหตุผลที่พาให้เรามาเยี่ยมพวกเขาถึงถิ่นชานมไข่มุก Bearhouse เพราะอยากร่วมพูดคุย เพื่อให้พวกเขาได้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ การประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และก้าวต่อไปในอนาคตที่วางแผนเอาไว้นั้นคืออะไร แล้วบทสนทนาระหว่างเวลาชานมไข่มุกยามบ่ายก็เริ่มขึ้น… 


เรื่อง: สันทัด โพธิสา, คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ