จอม ศาสวัส เจ้าของ Godo Cafe กับแนวคิดร้านกาแฟข้างบ้าน แหล่งรวมตัวกันของคนในชุมชน

จังหวะฤกษ์งามยามดี เรามีโอกาสได้บินลงใต้ไปยังจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวที่ฮอตเสมอมา ‘ภูเก็ต’ ซึ่งเราได้พบกับร้าน Godo Cafe จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘จอม’ – ศาสวัส หลิมพานิชย์ เจ้าของร้าน รวมทั้งยังเป็นเจ้าของโรงแรม Sound Gallery House ปรับปรุงมาจากอาคารเก่า ‘อั่งม้อหลาว’ คฤหาสน์แบบชาวต่างชาติ เป็นตึกเดี่ยวที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน 

        หมุดหมายในการมาเยือนร้าน Godo Cafe แน่นอนว่าปัจจัยแรกต้องเป็นเรื่องของกิน ซึ่งเราได้ลิ้มรสเมนูของหวาน นั่นคือเค้ก ‘ปีโกหมอย’ ซิกเนเจอร์ที่พัฒนามาจากขนมพื้นเมืองของคนภูเก็ต ก่อนที่เราจะไปคุยกับจอมถึงแนวคิดที่เขาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา เพื่อรายได้และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในละแวกชุมชนใกล้เคียง

ร้าน Godo Cafe เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อยากให้คุณเล่าให้ฟังหน่อย

       เดิมทีคุณพ่อกับคุณแม่ทำธุรกิจเช่าที่ด้านหน้าของบ้านหลังนี้มานานแล้ว และวันหนึ่งก็มีโอกาสซื้อบ้านหลังนี้ เรียกว่า ‘อั่งม้อหลาว’ (คฤหาสน์แบบชาวต่างชาติ) เป็นตึกเดี่ยวมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ซึ่งซื้อเก็บไว้ 10 กว่าปีไม่ได้ใช้ทำอะไร ผมก็คุยกับคุณพ่อว่าอยากพัฒนาที่ดินแปลงนี้ขึ้นมา เจ้าของเดิมเขาเป็นคหบดีที่บังเอิญพวกเรามี แซ่หลิมเหมือนกัน เลยตั้งใจว่าจะรีโนเวตปรับมาเป็นโรงแรมที่เป็นบูทีค อยากให้คนที่เข้ามาได้มองเห็นความงามของบ้านอายุกว่า 80 ปี

      พอเราปรับปรุงอั่งม้อหลาวให้กลายเป็นโรงแรม Sound Gallery House แล้ว จึงคิดว่าอยากจะมีคาเฟ่เก๋ๆ เกิดขึ้นที่นี่ ผมเลยไปคุยกับเจ้าของ Good Café Phuket ชวนให้เขามาทำด้วยกัน ทีนี้เราก็มาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้คาเฟ่นี้เข้ากับอัตลักษณ์ของบ้านหลังนี้

     ส่วนชื่อร้านมาจาก Kopitiam x Doughnut (โกปี้เตี่ยม แปลว่า ร้านกาแฟ) เลยเป็นที่มาของชื่อ ‘Godo’ ผมอยากให้มีคอนเซปต์เป็นร้านกาแฟละแวกบ้าน ให้คนที่อยู่ละแวกนี้เข้ามากินได้ทุกวัน ดังนั้น จะเห็นว่าเค้กกล้วยมีราคาเริ่มต้นที่ 25-30 บาท กาแฟเริ่มที่ 60 บาท

 แล้วทำไมโกปี้เตี่ยมต้องคู่กับโดนัท ปกติเราคุ้นเคยว่าน่าจะต้องเป็นปาท่องโก๋หรือเปล่านะคะ

        ใช่ครับ ตอนนั้นเขาฮิตกันว่าสไตล์ของคนภูเก็ตคือมาโกปี้เตี่ยมต้องกินกับเกี๊ยะโก๊ย (ปาท่องโก๋) แต่เราก็คิดให้แหวกออกมามานิดหนึ่งเป็นโดนัทที่ก็ทำมาจากแป้งเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะคิดว่ามีคนชอบ 

ทราบว่ามาว่าที่นี่มีซิกเนเจอร์หลายอย่าง เช่น ทับทิมกรอบสีน้ำเงินด้วย? 

        เดิมทีซิกเนเจอร์ของที่นี่จะเป็นโดนัท เครื่องดื่ม ทั้งกาแฟ และพลัมที่เป็นบ๊วยอัญชันมะนาว แต่ช่วงโควิด-19 ผมได้สูตรเด็ดการทำทับทิมกรอบ เราไปเรียนรู้แล้วลองทำ ซึ่งเราไม่อยากใช้สีผสมอาหาร เลยใช้สีจากธรรมชาติคืออัญชัน จึงกลายเป็น ‘ไพลินกรอบกะทิหอมหมื่นลี้’ ส่วนอีกเมนูนึงคือ ‘ปีโกหมอย’ เป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่าข้าวเหนียวดำ เขาก็เอาปีโกหมอยมาทำเค้กข้าวเหนียวดำกะทิ 

        ก่อนโควิด-19 จะระบาด ผมเคยเปิดร้านถึงสี่ทุ่มด้วยคอนเซปต์ว่า ลูกค้าบางคนอาจจะอยากหาร้านนั่งตอนกลางคืนแต่ไม่ได้อยากดื่มเหล้า เราเลยเปิดดึกให้เขาได้เข้ามากินพุดดิ้งเต้าหู้ ไพลินกรอบ เฉาก๊วย ขนมปังปิ้ง และพวกเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงมีดนตรีสดให้ฟังด้วย

ตั้งแต่มาภูเก็ต สังเกตว่าสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ ประตูจะมีความโค้ง ซึ่งที่ร้านนี้ก็เช่นเดียวกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

        เพราะคนจีนเชื่อว่าอะไรที่เข้าไปในพระจันทร์จะโชคดี ผมเลยทำ Moon Gate ตรงนี้ขึ้นมา ส่วนลายไก่บนกำแพงนี้มาจากที่ผมกับหุ้นส่วนเกิดปีไก่เหมือนกัน เราก็เลยคิดว่าไก่นี่แหละน่าจะดี แล้วไก่ก็เป็นสัตว์นำโชคด้วย ขอกระซิบว่ามีลูกค้าทำอาชีพขายประกันบอกว่า มานั่งโต๊ะตรงนี้ปิดดีลได้เป็นสิบล้านเลย 

นอกจากมุมมองของการทำธุรกิจแล้ว ในด้านวัฒนธรรมคุณใช้พื้นที่ตรงนี้ส่งเสริมชุมชนอย่างไรบ้าง 

        บางคนเขาบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนตัวไหม จริงๆ แล้วที่นี่แทบจะไม่มีกำไรเลย เพราะเราเอามาจัดงานอีเวนต์หมด อย่าง ‘หลาดมอหลาว’ (หลาด ภาษาใต้แปลว่า ตลาด) พอดีเรามีเพื่อนที่ทำคาเฟ่ ร้านอาหาร ก็ชวนมาออกร้านกัน จากเดิมคอนเซปต์เริ่มมาจากการชวนมากินข้าวเช้ากันในวันอาทิตย์ แล้วผสมผสานวัฒนธรรมเข้าไป 

        ตลาดเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่มีพลาสติก มาเดินก็ให้เอาปิ่นโตมาด้วย หรือภาชนะใส่กลับบ้านเอง หิ้วตระกร้ามาช้อปปิ้ง ที่สำคัญคือเราไม่ได้เก็บค่าเช่า แต่การจัดงานย่อมมีค่าใช้จ่าย เลยใช้วิธีแจกซองให้ทุกร้านที่อยากให้มีตลาดต่อไป ได้ช่วยกันใส่เหมือนทำบุญใส่ซองผ้าป่า (หัวเราะ) 

        ก่อนหน้ามีโควิด-19 บ้านหลังนี้ก็ถูกใช้เป็นสถานที่แถลงข่าวอยู่บ่อยๆ มีอีเวนต์มาก็ช่วยๆ กัน จริงๆ ถ้าโควิดยังไม่เข้ามาเราเล็งเอาไว้ว่าจะผสมผสานเรื่องราวทางศิลปะเข้าไปอีก เราดีลกับโครงการบ้านข้างวัดที่เชียงใหม่ ให้ลงมาจัดงานที่นี่ เพราะผมเองก็ชื่นชอบงานเซรามิก ตอนไปเชียงใหม่เลยได้รู้จักกับพี่ๆ หลายคน

ตรงนี้จึงกลายมาเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ไปโดยปริยาย

        ใช่ครับ คิดว่าคนที่อยู่ในคอมมูนิตี้ตรงนี้ก็ได้ประโยชน์ทั้งหมด เพราะย่านนี้เรียกว่า ‘สามแยกซิมจั่น’ เราชวนผู้คนในชุมชนตรงนี้มาร่วมงานกันเพื่อเชื่อมต่อกับชุมชนเก่า 

คุณมีความคิดเห็นอย่างไร กับวิธีคิดในการสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อรวมตัวกันให้เป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงยิ่งขึ้น  

        ผมว่าเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ผมก็เติบโตและเป็นคนภูเก็ต โตมาในชุมชน พอวันหนึ่งเราได้มีโอกาสทำอะไรต่างๆ ก็อยากจะเชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกัน เราได้ฟังพี่ๆ หลายคนพูดเกี่ยวกับนิทรรศการที่จัดขึ้น ถ้าเราใส่ความครีเอทีพเข้าไป ไม่ว่าเจนเนอเรชันไหนก็จะสามารถขับเคลื่อนตรงนี้ไปได้ พอมันมีพลังมันก็จะทำให้เราขายวัฒนธรรมตรงนี้ได้ เพื่อเชิญให้คนนอกพื้นที่เข้ามา ส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น 

คุณคิดว่า ‘การเชื่อมโยงคนสองเจนเนอเรชันเข้าด้วยกัน เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมให้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน’ ควรใช้วิธีการแบบไหน

        อย่างแรกผมคิดว่า คนรุ่นก่อนต้องมาถ่ายทอดว่าเขาคิดอย่างไรกับเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะผมเองถ้าไม่ได้มาทำบ้านหลังนี้ก็ไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้มีประวัติศาสตร์อะไรบ้าง พอได้มาทำบ้านหลังนี้ก็เปิดโอกาสให้เราได้สืบย้อนกลับไป เคยผ่านอะไรมาบ้าง เราก็จะสนุกกับเรื่องราวในอดีต 

        ในขณะเดียวกันเราก็เติมส่วนที่เป็นครีเอทีฟเข้าไปในความเป็นสมัยใหม่ และเช่นเดียวกันคนรุ่นก่อนเมื่อถ่ายทอดก็ต้องยอมรับ และรับฟังคนรุ่นใหม่ด้วย เปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยน ถ้าสามารถผสมผสานกันได้ก็จะมีอะไรเพิ่มมากขึ้น คนรุ่นใหม่เขาก็จะยอมรับ เพราะอะไรที่มันไม่สามารถบิดหรือว่าเปลี่ยนแปลงได้ หรือไม่สามารถทำอะไรกับตรงนั้นได้ คนรุ่นใหม่เขาก็จะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ เหมือนที่เด็กยุคนี้เขาเรียกว่า ไดโนเสาร์ อย่างเสื้อผ้าก็มีการปรับเปลี่ยนใส่ลวดลายที่ทันสมัยขึ้น ถ้าทำได้คนรุ่นใหม่เค้าก็จะอินกับเราและได้เรียนรู้จากคนรุ่นเก่าด้วย

จากที่เปิดร้านของตัวเอง รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย ได้เห็นมุมมองหรือมีประสบการณ์ใหม่แบบใดบ้าง

        ตั้งแต่มีโควิด-19 มา ทำให้เราต้องปรับตัวเยอะมาก ผมคิดว่าเหมือนเรามาทดลอง วันนี้ลองแบบนี้ถ้าเวิร์กก็ไปต่อ ถ้าไม่ได้เราก็ต้องเรียนรู้ใหม่ เราต้องเข้าไปหาความรู้ใหม่ๆ สิ่งที่เราไม่เคยทำเราก็ต้องลองดู อย่างผมมีโรงเรียนสอนดนตรีด้วยเราก็ปรับตัวไปสู่ออนไลน์ คาเฟ่เราก็ปรับเมนูอาหาร ไม่เคยเปิดตอนกลางคืนก็ลองเปิด ไม่เคยเปิดตอนเช้าก็ต้องลองเปิด ถ้าทำได้เราก็ไปต่อ 

        เมื่อก่อนผมก็ไม่เคยเข้ามารู้เรื่องว่าชุมชนเขาอยู่กันแบบไหน เรามีเวลาเราก็ได้ไปเดินเมืองเก่าเก็บความรู้ เอามาผสมผสาน ผมเริ่มรู้สึกว่าทุกวันคือการเรียนรู้ แทบจะวางแผนอะไรยาวๆ ไม่ได้ แต่คิดว่าสิ่งนี้ทำให้คนในชุมชนรักกันมากขึ้น เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น สิ่งที่ตกลงกันไม่ได้ก็คุยกันได้มากขึ้น ยอมกันได้  

        สิ่งที่เห็นที่ชัดเจนคือภูเก็ตมีความสามัคคีมากขึ้น คนมีความเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือกัน อุดหนุนกัน เมื่อก่อนคนทำอาชีพเดียวกันก็จะรู้สึกเป็นคู่แข่งกันแต่เดี๋ยวนี้ไม่เลย ตอนนี้เราแลกเปลี่ยนกัน มาร่วมมือกัน เกื้อกูลมากขึ้น  


เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: เจนจิรา หาวิทย์