หนุ่ย พงศ์สุข กับสื่อไอทีหัวแถวของเมืองไทย ‘แบไต๋’ ทำอย่างไรถึงยังจ่ายโบนัสพนักงานได้ในวันที่ทุกอย่างซบเซา

สมรภูมิสื่อออนไลน์ทุกวันนี้ แข่งขันกันดุเดือด รวมถึงมีสื่อเกิดใหม่ขึ้นแบบรายวัน…

        กวาดตามองในสมรภูมิอันดุเดือดนี้ มีสื่อไอทีสื่อหนึ่ง ที่อาจเรียกว่าเป็น ‘พี่ใหญ่’ โดยเฉพาะในแขนงของความเป็นสื่อด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘แบไต๋’ โดยมีหัวเรือใหญ่ที่ผู้ชมคุ้นหน้ากันดี นั่นคือ ‘หนุ่ย’ – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

        ถอยเวลากลับไป เกือบๆ จะ 30 ปีที่ผู้ชายคนนี้โลดแล่นอยู่ในแวดวงรายการโทรทัศน์เมืองไทย ผ่านการเป็นพิธีกร สร้างสรรค์รายการมามากมาย แต่ภาพลักษณ์ที่ผู้ชมจดจำได้แม่นยำเป็นอย่างดี คือการทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี จนเป็นที่มาของการปลุกปั้นคำว่า ‘แบไต๋’ ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว 

        ‘หนุ่ย แบไต๋’ ก่อร่างสร้างอาณาจักรของตัวเองมานับสิบปี จากวันที่รับบทบาทเป็นผู้ผลิตรายการตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ แต่แล้วเส้นทางธุรกิจก็กลับพลิกตกต่ำจนเกือบจะตัดสินใจปิดบริษัท โชคดีที่เขายังไม่ถอดใจ กลับมาฮึดสู้และเปลี่ยนวิธีคิดในการนำพาธุรกิจ แถมยังเป็นจังหวะเดียวกับที่ผู้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนวิถีการเสพข่าวสารไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น จุดนี้จึงทำให้เขาเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตรายการทางโทรทัศน์ กลายเป็น ‘เจ้าของสื่อออนไลน์’ ที่ตั้งธงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นหลัก 

        ถึงวันนี้ ‘แบไต๋’ เติบใหญ่ มีผู้คนติดตามในทุกๆ แพลตฟอร์มในระดับหลักล้าน เป็นเบอร์ต้นๆ ของสื่อด้านไอทีเมืองไทย และว่ากันว่า เป็นอีกหนึ่งสื่อที่ ‘เนื้อหอม’ เอามากๆ ในเวลานี้ เนื่องจากมีสินค้าและโฆษณาเดินหน้าเข้าออกกันเป็นว่าเล่น แต่ในความหอมหวานของความสำเร็จนี้ หนุ่ยยังไม่เคยลืมวันที่เห็นตัวเลขในบัญชีบริษัทติดลบเป็นตัวแดง จนต้องกู้หนี้ยืมเงินมาต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ แต่โจทย์ยากๆ เหล่านั้น เขาได้ก้าวข้ามมันมาแล้ว เพราะมีแนวคิดที่ดี ทีมที่ดี และความตั้งใจที่ดี

        a day BULLETIN มีโอกาสสนทนากับหนุ่ยในช่วงเวลาที่เขาเพิ่งจ่ายโบนัสให้กับพนักงานกว่า 70 ชีวิตไปหมาดๆ พร้อมปิดตัวเลขรายได้เมื่อปีก่อนไปที่ 103 ล้านบาท เขายินดีที่จะย้อนเล่าช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมา หลังจากให้กำเนิดชื่อ ‘แบไต๋’ กว่าจะก้าวเดินขึ้นมาเป็นหัวแถว และได้เห็นรอยยิ้มของคนรอบข้าง เขาต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง ผู้ชายคนนี้พร้อม ‘แบไต๋’ ให้ทราบกัน นับจากนี้…

ถ้าธุรกิจของคุณเปรียบเป็นเส้นทางสักทางหนึ่ง ขณะนี้คุณเดินทางมาถึงจุดไหน พอมองเห็นเส้นชัยบ้างแล้วหรือยัง

    ผมเปิดบริษัทมาเมื่อปลายปี 2000 เพิ่งครบ 21 ปีไปเมื่อปลายปีก่อน กำลังเดินหน้าสู่ปีที่ 22 ส่วนแบไต๋ ผมเปิดตัวชื่อนี้เมื่อปี 2006 ถึงวันนี้มีอายุครบ 16 ปี ถามว่าตอนนี้เห็นเส้นชัยแล้วหรือยัง ผมจินตนาการว่าตอนนี้เราอยู่ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่นี้เป็นที่ที่เอาไว้ยิงกระสวยอวกาศ ซึ่งแบไต๋ของผมกำลังเป็นแบบนั้น เรากำลัง road to หรือเตรียมกำลังจะบิน แต่กว่าจะได้บินแบบนี้ ผมดำผุดดำว่ายมาเยอะ เอาว่าความลำบากมีกี่ชั้น ผมน่าจะดำไปแตะก้นสระของความลำบากมาแล้วล่ะ (ยิ้ม)

16 ปี นับตั้งแต่ถือกำเนิดชื่อ ‘แบไต๋’ คุณต้องผ่านกับอะไรมาบ้าง

        เมื่อก่อนสมัยที่ยังผลิตรายการให้กับทางสถานีโทรทัศน์ การจะได้ทำรายการสักรายการหนึ่ง มันใช้เวลารอคอยที่ค่อนข้างนาน สมมติส่ง proposal ไปให้ทางช่องพิจารณา ต้องรอประมาณ 6 เดือน กว่าเขาจะเรียก หรือกว่าจะได้ทำ พอทำไปสัก 3 เดือน เอ้า มีคำสั่งเลิก หรือทำไปสัก 8 เดือน เอ้า เลิกๆๆ มีคำสั่งให้หยุดการผลิตอีกแล้ว คือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มันเกิดการทำไร่เลื่อนลอยมาโดยตลอดว่างั้นเถอะ

        จนเวลาผ่านไป เกิดการประมูลสถานีทีวีดิจิทัลขึ้น ตอนนั้นราวๆ ปี 2014 ผมไม่ได้เล่นเกมใหญ่ ไม่ได้ไปประมูลอะไรกับเขา แต่ผมได้รับโอกาสจากสถานีดิจิทัลเหล่านั้น ให้เปิดรายการจำนวน 12 รายการ ใน 6 ช่องโทรทัศน์ จำได้ว่าช่วงเวลานั้นมีคนโทร.มาหาผมมากมาย มีเสียงใสๆ พูดกับผมว่า ตอนนี้เป็นเวลาของคุณหนุ่ยแล้ว 

        ปรากฏว่า 12 รายการ ภายใน 6 ช่อง ถ้าเป็นเจ้าอื่นๆ อาจวัดผลกันสัก 15 ปี แต่ของผมปีเดียวรู้เรื่องเลย เจ๊ง เพราะว่าเงินไหลออก หมดตัว คำว่า ‘หมดตัว’ คือเงินแปดหลัก สเกลเงินแปดหลักสำหรับบริษัทเล็กๆ ถือว่าสูญเสียสภาพคล่อง เกิดภาวะอันยากลำบากแล้ว

        ตอนนั้นบริษัทมีพนักงานราวๆ 30-40 คน พอตัวเลขมันหายไปแปดหลัก เราตัดสินใจถอดข้าวของจากสตูดิโอที่เช่าไว้ เพื่อเอากลับบ้าน จากนั้นตัดสินใจเอาเงิน OD อีกสองล้านบาทสุดท้ายที่กู้จากธนาคาร เอามาทำลายสนามหญ้าหน้าบ้านตัวเอง จากที่เคยเป็นวิว 360 องศาแบบพานอรามิก มองออกไปเห็นวิวทะเลสาบ ผมทำหลังคาขึ้นมาแล้วครอบปิดเป็นโฮมออฟฟิศขนาดเล็กๆ ตั้งชื่อด้วยว่า Show No Lake ล้อชื่อบริษัท Show No Limit ของตัวเองที่ทำแล้วเจ๊ง เจ๊งจนทำให้ให้ lake หน้าบ้านของฉันหายไป (หัวเราะ) จากนั้นก็ใช้เวลาซ่อมสร้างอยู่ราวๆ 4 ปี จนมันค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมาใหม่

จากวันที่ตัวเลขบัญชีบริษัทแทบไม่เหลือเงิน คุณพลิกเกมนี้กลับมาได้อย่างไร

        วันที่ผมสิ้นสภาพทางทีวี ผมโทร.ไปปรึกษาพี่ที่เคารพท่านหนึ่ง ผมบอกเขาว่าจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ผมควรจะทำยังไงดี พี่คนนี้ตอบว่า ยุคนี้คนเขาคงไม่ได้อยากฟังการสอนเรื่องคอมพิวเตอร์จากคุณหนุ่ยแล้วล่ะ โอ้โฮ ฟังดูเศร้านะ เหมือนคนกำลังตกยุค แต่กลายเป็นว่า ผมต้องขอบคุณคำพูดนี้ เพราะหลังจากนั้น ผมปรับทรงรายการใหม่ทั้งหมด ผมตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เลิกขึ้นไตเติลรายการ เลิกทักทาย เลิกสวัสดี พูดเข้าเรื่องเลย และไม่มีผังรายการ ผมใช้คำว่า ‘แบไต๋ไลฟ์ สดทันทีที่มีเรื่อง’ เพราะว่าอยากมาเมื่อไหร่ก็มาเลย ไม่จำเป็นจะต้องไปรอสัญญาณ หรือรอการออกอากาศใดๆ 

        รูปแบบการทำงานตอนนั้น มันคือการทำคอนเทนต์ตามเวลาที่สังคมกำลังสงสัย สมชื่อความเป็นแบไต๋ จากเดิม แบไต๋ไฮเทค มันเหมือนการถามตอบ เป็นการจัดรายการข่าวไอที มีคน 3-4 คนมาคุยกัน เราปรับเหลือคนเดียว ก็คือผม แล้วมีคนที่วิดีโอคอลเข้ามาแจมบ้าง 

        เราลงทุกรายละเอียดจริงๆ แม้แต่ขนาดภาพ บนยูทูบเราใช้ขนาด 16:9 เพราะยูทูบสามารถขึ้นบนจอทีวีได้ แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊ก ไอจี เราทำภาพแนวตั้งทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่ถือมือถือจะต้องดูเรา คือถ้าเราทำภาพแนวนอนเหมือนเดิม สัดส่วนภาพสวยงามก็จริง แต่คนดูจะไม่คอมเมนต์ เพราะไม่มีใครพิมพ์คอมเมนต์จากภาพแนวนอน เรื่องเหล่านี้เราตั้งใจศึกษาจากพฤติกรรมคนใช้จริงๆ เพื่อให้มันได้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

นอกจากก้าวสู่โลกออนไลน์แบบเต็มตัว มีเรื่องอะไรที่คุณคิดว่า มันได้เปลี่ยนไปพร้อมกับการก้าวครั้งใหม่นี้บ้าง

        เรื่องความคิดของผมเอง คือผมเปิดบริษัทเองมาตั้งแต่เด็ก เราเข้าใจว่าเราทำได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วมันทำไม่ได้ ผมจึงเลิกเข้าข้างตัวเอง เหลือเพียงความคิดที่ว่า ฉันทำได้ในสิ่งที่ฉันถนัดจริงๆ ซึ่งงานที่ผมถนัด มันคือการพูดคุยกับคนนี่เอง

แล้วในส่วนของการบริหารธุรกิจ คุณทำอย่างไร

        แรกๆ ผมยังทำเอง แต่วันหนึ่งก็มีความคิดว่า เราต้องจ้างกรรมการผู้จัดการ เพราะสภาพทีมในเวลานั้นเละเทะมาก ผมใช้คำว่าเละเทะเหมาะที่สุด คือในขณะที่เราวิ่งออกไปข้างนอกเพื่อพบลูกค้า แต่ข้างในบริษัทคือเละเทะ ใครเคยดูหนังเรื่อง Braveheart ให้นึกถึงอารมณ์ที่หัวหน้าวิ่งตะโกนนำลูกน้อง… พวกเรา สู้มัน! ด้านหลังคือลูกน้องที่เป็นขุนดาบทั้งหลาย เขาก็วิ่งตามนะ แต่สภาพเนื้อตัวถูกฟันเหวอะหวะ แผลเต็มตัว คือพูดง่ายๆ สภาพมีแต่ใจ แต่ร่างกายไม่ได้ 

        ผมจึงต้องหาคนที่เข้ามาทำให้การบริหารจัดการภายในบริษัทดีขึ้น จึงเป็นที่มาของกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ชื่อ ‘คุณแตน’ – ศรีตรัง สารวัตร เขาเข้ามาด้วยประสบการณ์ที่มากกว่าเราในเรื่องเหล่านี้ เรียกว่าเข้ามาจัดการสุขภาพภายในองค์กร เขารู้แม้กระทั่งที่บ้านใครเป็นยังไง ใครมีปัญหาอะไร ใครเลิกกับแฟน ใครมีพ่อมีแม่ที่ต้องดูแล รู้หมด ซึ่งหลังจากที่เขาเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ มันมีผลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน พนักงานมีความสบายใจมากขึ้น มันเหมือนเป็นการสร้าง wealth ให้กับพนักงานและองค์กร

        และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็เป็นทางคุณแตนที่มาขออนุญาตกับผม เขานำวิธีการ incentive หรือการจัดแบ่งรายได้เพิ่มเติมให้กับพนักงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ต่างๆ ของลูกค้า เมื่อก่อนเราไม่ได้ทำแบบนี้ เราจ่ายเงินเดือนพนักงานก็เหมือนการจ้างเหมา เหมือนกินบุฟเฟต์ ไม่ว่าจะงานไหน คุณก็ทำไปสิ 

        ผมยังจำเหตุการณ์วันหนึ่งที่ผมเดินลงจากบ้านเข้ามาที่ออฟฟิศ วันนั้นผมถามลูกน้องว่าวันนี้มีประเด็นอะไรบ้างเพื่อจะทำไลฟ์ โปรดิวเซอร์หันมาบอก วันนี้ไม่มีประเด็นค่ะพี่ ผมก็เลยประชดกลับไปว่า โทษนะ โลกมันหยุดหมุนหรือยังไง มันถึงไม่มีประเด็นอะไรเลยน่ะ 

        ผมยังจำแววตาของเขาได้แม่นยำเลย มันเป็นความเหนื่อยล้า เขาจึงพูดออกมาแบบนั้น หรืออีกเหตุการณ์หนึ่ง ผมกลับจากไปหาลูกค้าเข้ามาที่ออฟิศ พร้อมตะโกนด้วยความดีใจว่า เฮ้ย ลูกค้าเข้า ปรากฏว่าผมได้ยินเสียงถอนหายใจของลูกน้อง เฮ้ย นี่ไม่ใช่แล้วล่ะ ลูกค้าเข้า เอ็งต้องดีใจกับพี่สิ จากทั้งสองเหตุการณ์นี้ มันสะท้อนให้ผมรู้ว่า เพราะเงินเดือนเขาเท่าเดิม แต่งานของเขากลับเพิ่มขึ้น

        มันจึงเป็นที่มาของการมี incentive ทุกงานที่เป็นของลูกค้า ทุกคนจะได้ส่วนแบ่งกันทั้งหมด ตั้งแต่ช่างภาพ โปรดิวเซอร์ คนเขียนสคริปต์ แม้กระทั่งแอดมินที่ดูแลเรื่องการวางบิล เก็บเช็ค ผมแบ่งให้หมด ตามเปอร์เซ็นต์การรับผิดชอบของงาน กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้พอเราตะโกน ลูกค้าเข้า ทุกคน เฮ! เพราะอะไร เพราะในใจเขามันคือแฟร์ เขาต้องการสิ่งนี้ บางทีเขาไมได้คิดหรอกว่า เงินจะได้เท่าไหร่ แต่เขารู้สึกว่าเขาได้รับการดูแลจากเราอย่างยุติธรรม

        มันเลยทำให้ทุก 3 เดือน เราจะมีการแบ่งเงิน incentive ให้กับพนักงาน ปีหนึ่งเขาจะได้ 4 ครั้ง แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราประกาศพร้อมกัน มีโบนัสให้อีก 3 เดือน เสียงเฮดังสนั่น จนรุ่งเช้า หลังจากที่ทุกคนได้สติ ก็ text มาหาผมกันยกใหญ่ นี่มันเป็นการปรนเปรอกันมากๆ เลยครับพี่หนุ่ย บางคนใช้คำว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีเงินในบัญชีเยอะขนาดนี้มาก่อน ทั้งหมดที่ผมได้อ่าน มันทำให้ผมรู้สึกว่า เออ เราได้เป็นคนให้ เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ (ยิ้ม)

คุณจำได้ไหมว่า จังหวะไหนที่ทำให้ชื่อ ‘แบไต๋’ กลายเป็นที่จดจำของผู้คนในโลกออนไลน์อย่างมากมาย

        จริงๆ ตอนเริ่มทรานสฟอร์มสู่ออนไลน์เต็มตัว ผมทำคลิปออกมาในช่วงแรกๆ คนดูแค่ 3-4 พันวิวเอง แต่มันมีอยู่คลิปหนึ่ง จำได้ว่า เป็นเรื่องของทนายดังคนหนึ่งที่ต้องทิ้งของก่อนขึ้นเครื่องบิน แล้วเขาถ่ายรูปโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย พอภาพนั้นถูกเผยแพร่ออกไป ก็ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ กลายเป็นกระแสดราม่า วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา 

        พอผมเห็นข่าวปุ๊บ ผมเดินไปบอกลูกน้อง ไปสุวรรณภูมิกับพี่ เพราะผมจำได้ว่ามันมีตู้ไปรษณีย์อยู่ตู้หนึ่งที่สุวรรณภูมิ ถ้าเวลาใครเอกซเรย์ของไม่ผ่านขึ้นเครื่อง เขาจะให้ไปใส่ในตู้นี้ มันเลยกลายเป็นที่มาของคลิปตู้ไปรษณีย์ ที่เราไปสอนวิธีการใช้ และจากนั้นไม่น่าเชื่อว่า คลิปดังกล่าวคนดูเป็นล้านวิว

        พอทำคลิปได้ล้านวิว มันเหมือนจุดติดน่ะ ทีนี้มันก็มีล้านต่อมา จนมีคนแซวว่า เราทำคลิปล้านวิวเป็นว่าเล่น (หัวเราะ) ทีนี้พอล้านแล้วจ้า โทรศัพท์ที่ออฟฟิศก็เริ่มดัง ปลายสายบอก ผมก็มีนวัตกรรมเหมือนกัน อยากให้ไปถ่ายให้บ้าง ซึ่งในรูปแบบของการทำสื่อ ถ้าเราสนใจเรื่องอะไร เราวิ่งไปหาเขา เราต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ถ้าเขาอยากให้เราไปถ่ายเรื่องของเขา อันนี้เขาต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้เรา มันจึงเป็นที่มาของการทำคอนเทนต์แนวแอดเวอร์ทอเรียลอย่างที่เห็นกัน

        แต่ผมก็ตั้งเงื่อนไขกับลูกค้าทุกราย ทุกครั้งที่รีวิวสินค้า ผมต้องบอกข้อติ หรือมีข้อสังเกตให้คนดู และที่สำคัญ ผมต้องบอกราคา จะมาตีหัวเข้าบ้านว่าให้โทร.ไปเบอร์นี้สิ แล้วไปจบการขายกันเอง แบบนี้ผมไม่เอา ผมขอบอกราคาเลย เพราะราคาคือตัวตัดสินทุกอย่าง ไม่ใช่รีวิวทุกอย่างฟังดูดี แต่ให้ไปที่ร้าน ติดต่อเบอร์นี้ หรือกดลิงก์นี้ แต่พอเข้าไปแล้วค้นพบว่าเขาซื้อไม่ได้ เพราะราคามันแพง ผมว่ามันเป็นความน่าเจ็บใจยิ่งกว่า

ทำอย่างไรให้ลูกค้า ‘เชื่อ’ ที่จะมาลงสื่อของคุณ

        คนที่ซื้อรีรวิวของแบไต๋ เขาไม่ได้เอาเงินสดของเขามาซื้อ ไม่ใช่เงินส่วนตัวของเขา แต่เป็นเงินบริษัท ดังนั้น เขาต้องตอบแทนบริษัทด้วยอะไรครับ มันก็คือตัวเลขที่รีเทิร์นกลับไปนั่นเอง ลูกค้าแต่ละรายต้องมี ROI (Return on Investment) หรือตัวชี้วัดยอดขาย หรือบางเจ้าอาจวัดผลด้วย KPI (Key Performance Indicator) คือการวัดตัวเลขของคนดู คลิปต้องได้ยอดคนดูเท่านั้นเท่านี้ 

        ซึ่งตรงนี้ผมใช้เรื่อง data analytics และเรื่องของมาร์เกตติงออนไลน์เข้ามาช่วย ผมมีทีมที่ไปเรียนด้านนี้มาโดยตรง และทำให้ได้ผลตามที่ลูกค้าต้องการ เราตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ และที่สำคัญ ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ทำคลิปกับแบไต๋ ไม่แพง และมีประสิทธิผลอย่างที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะวัดด้วย ROI หรือ KPI ก็ตาม

ทุกวันนี้คุณแบ่งสัดส่วนคอนเทนต์อย่างไร ระหว่างคอนเทนต์ที่มีสปอนเซอร์ กับคอนเทนต์ออริจินัลที่ผลิตจากกองบรรณาธิการ

        ที่ผ่านมา เราพยายามวางด้วยสูตร 80:20 คือออริจินัล 20 และแอดเวอร์ทอเรียล 80 แต่กับสถานการณ์ปัจจุบัน กลายเป็นว่ามันอยู่ที่ 90:10 คือแอดเวอร์ทอเรียล 90 ออริจินัล 10 นี่เป็นปัญหาที่เรียกว่า good problem คือลูกค้าเข้าเยอะ เป็นใครก็แฮปปี้ แต่ผมก็ต้องพยายามบาลานซ์คอนเทนต์ออริจินัลด้วยเช่นกัน ผมจะไม่ปล่อยให้คนอ่านสื่อของผมจมอยู่กับคอนเทนต์โฆษณาอย่างเดียว

        นี่คือภารกิจที่ทีมงานกำลังเร่งทำกันอยู่ตอนนี้ แต่หากมีใครถามว่า คอนเทนต์เชิงค้าขายไม่เยอะไปหน่อยเหรอ ผมอยากบอกว่า ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ดู ดู นี่คือพื้นที่ที่เป็นอิสระ ผมยกตัวอย่างแบบนี้ ถ้าเป็นโฆษณาที่ไม่ตรงใจของเขา แล้วเขาจะไม่ดู มันก็เรื่องของเขา ถูกไหม แต่ถ้าวันหนึ่งโฆษณานี้ มันเกิดเป็นประโยชน์กับเขา ผมเชื่อว่าเขาก็จะกลับมาดู 

        คอนเทนต์บนโลกออนไลน์มันไม่ได้สูญสลายหายไปไหน แล้วอีกอย่าง ผมทำโฆษณาให้เป็นความรู้ เขาสามารถกลับมาดูเมื่อไรก็ได้ อย่างคอนเทนต์แนะนำระบบ M-Flow ของกรมทางหลวง นี่คืองานลูกค้า แต่ผมวิเคราะห์หมดทุกมุม เทคโนโลยีตัวนี้ใช้ยังไง อ่านอินฟราเรดกล้องยังไง ใส่เอไอเข้าไปยังไง สิ่งที่ผมพูด มันมากกว่าใบปลิวโฆษณาแน่นอน แต่ในมุมมองของคนดู เขาอาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่านี่คือโฆษณา แต่มันคือความรู้ 

อย่างที่ทราบว่า สมรภูมิการแข่งขันสื่อออนไลน์ในวันนี้ดุเดือดมาก คุณและแบไต๋มีวิธีการยืนอยู่บนเวทีนี้อย่างไรให้ดูน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

        ต้องสด ใหม่อยู่เสมอ เราต้องโล้ไปกับเรื่องใหม่ๆ ทั้งหมด เราต้องนำเทรนด์คนนิดๆ เพื่อให้เขาตาม โดยเราจะมีทีมมอนิเตอร์ เพื่อที่จะดูข่าวด้านนี้โดยตรง รวมทั้งต้องนำเสนอให้ทันเวลา เราขอแค่ว่า ถ้าสังคมเริ่มมีความสงสัย เราทำคอนเทนต์ไปรอไว้เลย 

        อีกเรื่องที่เป็นแก่นแท้ของการทำสื่อด้านไอที คือเราต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความทันสมัยให้กับคน เคยสังเกตไหม คนส่วนใหญ่มักชอบพูดว่าผมโง่ไอที ไม่รู้เรื่องไอที หรือโลว์เทคมากๆ ผมอยากจะบอกว่า จริงๆ คุณเป็นคนทันสมัยนั่นแหละ คนทันสมัยคือคนที่รู้ว่ามีของอะไรออกมาใหม่ อะไรที่เป็นเรื่องปัจจุบันขณะ จะด้วยซื้อมาใช้เอง หรือแค่รู้จักมัน แบบนี้เรียกว่าทันสมัยแล้ว แต่ถ้าล้ำสมัย คือคนที่รู้อะไรล่วงหน้า ซึ่งเราไม่ต้องเป็นถึงแบบนั้นก็ได้

        ขนาดผมทำงานด้านนี้ ผมยังไม่ต้องซื้อมือถือทุกรุ่นทุกยี่ห้อเลย เพียงแต่ให้รู้ว่ามันมีอะไรบ้าง หรือยุคนี้เด็กๆ เขาเล่นอะไรกันอยู่ในตอนนี้ เราก็ควรต้องรู้ ผมคิดว่ามุมมองเรื่องความทันสมัย มันควรมีอยู่ในทุกวัย ทุกวันนี้ผมอายุ 44 เมื่อก่อนผมฟังแต่เพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน เพราะนี่คือที่สุดในยุคเรา แต่เดี๋ยวนี้ ผมฟังวง BTS ผมเต้นเพลง Permission to Dance ได้ เพราะผมรู้สึกว่ามันสนุกดี คือโลกมันหมุนไปทุกวัน เพลงมันอาจไม่ใช่แนวเดิมๆ แต่ถ้ามันฟังแล้วรู้สึกว่าเพราะ เราก็ควรจะฟัง หลักการอยู่กับความทันสมัยของผมมีเท่านี้

ฟังดูวันนี้คุณมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2014-2015 ที่ผ่านจุดต่ำสุดของชีวิตมาแล้ว

        แน่นอนครับ ธุรกิจมันดี มันก็นำพาความสุขมาให้ ผมเพิ่งผ่านหลักชัยสำคัญ ในเฟซบุ๊กยอดคนติดตามหลักล้านแล้วจ้า ส่วนในยูทูบ จำนวนคนซับสไครบ์ก็เพิ่งครบล้านไปไม่นาน สนามยูทูบยากกว่า เพราะเป็นสนามของยูทูเบอร์ ซึ่ง หนุ่ย พงศ์สุข ไม่ใช่ยูทูเบอร์ เราไม่ได้มีจริตในการทำแบบนั้น เด็กๆ เขาทำได้ดีกว่า ก็ให้เขาทำไป 

        ส่วนตัวผมจะมี commit หรือข้อสัญญาให้กับตัวเอง คือเราจะไม่นำเสนอคอนเทนต์ด้วยคำหยาบ เราสามารถมันส์ได้ พูด เว้ย เฮ้ย เอาให้แซ่บที่สุดได้ แต่จะไม่ไปถึงคำแบบ ไอ้เ–ย ไอ้อะไรแบบนี้ ไม่เด็ดขาด เพราะมันเกินจริตที่ผมสั่งสมมา

ความยากในการทำงานทุกวันนี้ของคุณคืออะไร

        คือสถานการณ์โลก ผมใช้คำว่าโลกเปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ และเพราะความที่มันไม่แน่นอน มันจึงมักจะมีคนมาถามผมเสมอว่า เราจะทำตัวอย่างไรดีกับโลกทุกวันนี้ ผมจะแนะนำกลับไปว่า ให้มีทักษะตามโลก และติดตามความรู้

        ตีความได้ว่า มันคือการอัพเดตทุกวัน การอ่านข่าวนี่คือเรื่องสำคัญ อ่านไป เก็บไป วันละนิดวันละหน่อย เพื่อให้ตามโลกให้ทัน แล้วถ้าอยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษ เรามีกูเกิล กดสิ อ่านเข้าไป อ่านแล้วเปรียบเทียบข้อมูล ทุกวันนี้เราไม่ต้องไปเรียนจบระดับดอกเตอร์ แต่เราสามารถหาอ่านความรู้ได้ทั่วโลก ฝึกที่จะเป็นนักอ่าน นักวิจัยข้อมูล เพื่อให้เราตามโลก และตามความรู้ได้อย่างเท่าทัน

ที่สุดของการทำธุรกิจของคุณคืออะไร

        ที่สุดของผมคือการทำให้ตัวเลขของบริษัทมันเติบโต ผมต้องการให้บริษัทเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินไม่ต้องมากองอยู่กับผมคนเดียวก็ได้ เพราะคำว่า ‘รวยที่สุด’ ไม่มีอยู่จริง ผมเคยคุยกับหุ้นส่วนของผม เขาบอกผมว่า พี่หนุ่ยลองมีเงินสักสามร้อยล้านดูนะครับ แล้วพี่จะรู้ว่า มันไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างจากคนมีหมื่นล้านเลยครับ เพราะว่าอยากจะกินอะไรก็ได้กินเหมือนกัน อยากไปไหนก็ได้ไปเหมือนกัน แต่มันต่างกันอยู่เรื่องเดียว คือแค่ไม่มี private jet หรือเครื่องบินส่วนตัว แค่นั้นเอง 

        พอได้ฟังปุ๊บ ผมเลยตอบตัวเองตั้งแต่แต่วันนั้นเป็นต้นมาว่า เราไม่ต้องการรวยขนาดนั้น เพราะเราก็ไม่ได้อยากมี private jet แค่นั่งเฟิสต์คลาส บิซิเนสคลาส ผมก็มีความสุขจะแย่อยู่แล้ว (หัวเราะ)

        ผมเชื่อว่าชีวิตแต่ละคนมีแบบฉบับของตัวเอง ไม่ต้องเลียนแบบกัน คนที่อยากรวย เผลอๆ ก็แค่อยากเลียนแบบชีวิตของเศรษฐีที่เราประทับใจ แต่ถ้าในมุมของผม ผมชอบที่จะได้ความรู้จากประสบการณ์ของคนเหล่านี้ บางคนเกิดก่อนเราเป็น 40 ปี แล้วเขาเล่าประสบการณ์ให้เราฟัง โดยที่เราไม่ต้องไปใช้เวลาถึง 40 ปีเพื่อที่จะเรียนรู้ ผมว่ามันคุ้มจะตาย ผมขอแค่นี้ก็พอ

ลองจินตนาการเล่นๆ คุณคิดว่า ในวันที่อายุ 60 ปี หนุ่ย พงศ์สุข น่าจะกำลังทำอะไรอยู่

        ผมหวังว่าผมจะยังหน้าตาอย่างนี้อยู่นะ อยากหน้าเด็กตลอดไป นี่คือความมุ่งหวัง (หัวเราะ) สิ่งที่ผมอยากให้เป็นในวันที่อายุ 60 คือการมีสุขภาพที่ดี ได้อยู่ดูลูกหลานและเจเนอเรชันถัดไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ได้ดูพวกเขาด้วยความทุกข์ ความเครียด หรืออคติ ดูด้วยความรู้สึกว่า เจเนอเรชันคนรุ่นใหม่เก่งกว่าคนรุ่นเก่า มันเลยทำให้โลกนี้หมุนต่อไป เราไม่ต้องไปบอกกับใครๆ ว่า เอ็งต้องฟังพี่ ไม่ต้อง ปล่อยให้โลกมันหมุนของมันไปแบบนั้น แต่ถ้าอยากจะฟังจริงๆ พี่ก็มีคำแนะนำดีๆ ที่จะมอบให้ ถ้ายังอยากฟังกันอยู่นะ (ยิ้ม)

เรากำลังจะจบบทสนทนากันแล้ว มีเรื่องอะไรที่คุณอยากบอกกับเราเป็นพิเศษอีกบ้างไหม

        ผมอยากจะบอกว่า ในโลกการทำงานออนไลน์ เราอาจจะติดกับดักตัวเลขที่ทำให้หลายคนบ้าตัวเลข บ้าตัวเลขคืออะไร คือต้องได้เท่านั้นเท่านี้วิว ลูกค้าที่มาทำคอนเทนต์กับแบไต๋ เขาบอกพอลงชิ้นงานที่แบไต๋ เพียงแค่หลักหมื่นวิวเขาก็ขายสินค้าได้แล้ว เหตุผลเพราะว่า เราสื่อสารกับคนที่ต้องการซื้อสินค้าชิ้นนั้นจริงๆ

        ถึงตรงนี้จึงอยากบอกว่า อย่าไปบ้ากับตัวเลข แต่ต้องใส่ใจกับ target หรือกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องต่างหาก ไม่มีใครได้คนดูทั้งประเทศ จำผมไว้เลย ขนาดคอนเทนต์ที่แมสที่สุด ก็ยังมีคนหรือกลุ่มคนที่ไม่ดู ดังนั้น สื่อไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อคนทุกเพศทุกวัย แต่สื่อถูกสร้างขึ้นเพื่อ target segment หรือการแบ่งสัดส่วนการตลาด จงหา target segment ของเราให้เจอ แค่นั้นเอง แล้วคุณจะเอนจอย (ยิ้ม)


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ