‘อย่าให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เหมือนไฟไหม้ฟาง’ ชวนปั้นคอนเทนต์ไทยไปตลาดโลกกับ ‘คุณชายอดัม’

ราวเดือนก่อน นักร้องสาวสายเลือดไทย ‘ลิซ่า’ หรือ ลลิษา มโนบาล หนึ่งในสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอต BLACKPINK ปล่อยซิงเกิลเดี่ยวของตัวเองที่ชื่อ LALISA ออกมา งานนี้ไม่ใช่แค่ผลงานปัง แต่เล่นเอาเกิดปรากฏการณ์ ‘ลิซ่าเอฟเฟกต์’

        นอกจากยอดผู้ชมมิวสิกวิดีโอในยูทูบจะถล่มทลาย ล่าสุดกินเนสบุ๊กยังต้องบันทึกเป็นสถิติใหม่ โดยมีจำนวนผู้เข้าชมภายใน 24 ชั่วโมง เยอะที่สุดโลก กว่า 73.6 ล้านวิว นี่ยังไม่นับเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมที่ถูกพูดถึง และสแกนกันละเอียดยิบ เธอสวมชุดสไตล์ไหน ใส่แบรนด์อะไร และโดยเฉพาะกับ ‘รัดเกล้ายอด’ (บางคนเรียกว่าชฎา) ที่เตะตาคุณผู้ชมทั่วโลก งานนี้เรียกว่าสร้างกระแส ‘ความเป็นไทย’ กันแบบชั่วข้ามคืน

        ปรากฏการณ์ลิซ่ายังทะลุทะลวงมาสู่ประเทศไทย ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ธุรกิจร้านขายลูกชิ้นยืนกิน ร้านลูกชิ้นธรรมดาๆ ที่เห็นกันมาแต่อ้อนแต่ออก แต่พอแฟนเพลงทราบว่าลิซ่าเลิฟลูกชิ้นยืนกินที่บุรีรัมย์เอามากๆ

        ปังสิครับรอไร! ลูกชิ้นยืนกินกลายสภาพขายดีในทันทีทันใด เจ้าของร้านลูกชิ้นในบุรีรัมย์เวลานี้ ยืนทอดลูกชิ้นกันแขนเคล็ดไปตามๆ กัน เพราะอานิสงส์ของลิซ่า

        ว่ากันว่า นี่คือพลังความคลั่งไคล้ทางวัฒนธรรม หรือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ทรงพลังเอามากๆ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ที่ได้ผลและโดนใจคนไปทั่วโลก เห็นจะหนีไม่พ้นพลังทางวัฒนธรรมของประเทศเกาหลี ที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เราได้เสพ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ เพลง นิยาย และสื่ออื่นๆ อีกมากมาย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือซอฟต์พาวเวอร์ที่ ‘สร้างพฤติกรรมใหม่’ และความคลั่งไคล้ให้แฟนๆ กันแบบฉุดไม่อยู่ 

        ทุกวันนี้บางคนเลือกซดบะหมี่เกาหลีที่เรียกว่า ‘รามยอน’ ก่อนนึกถึงก๋วยเตี๋ยวต้มยำ หรือคว้าขวดโซจูในตู้แช่ตามร้านสะดวกซื้อมาเปิดดื่ม แทนการซดเบียร์ยี่ห้อดังๆ จากฝั่งประเทศตะวันตก จะด้วยความเคยชินหรือแค่เปลี่ยนบรรยากาศก็ว่ากันไป

        แต่ถามว่าอะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนไปได้ขนาดนั้น คำตอบที่ไม่น่าจะผิดนักก็คือ พลังของความคลั่งไคล้ใน ‘วิถีแบบเกาหลี’ ที่เราซึมซับมาจากการดูซีรีส์ของพวกเขานั่นแหละ 

        ล่าสุดซีรีส์เรื่อง Squid Game ผลงานชิ้นโบว์แดงจากประเทศเกาหลี ก็ได้สร้างกระแสความนิยมไปทั่วโลก เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเน็ตฟลิกซ์ถึงกับประกาศว่า นี่คือซีรีส์ที่มีผู้ชมในแพลตฟอร์มมากที่สุดกว่า 111 ล้านแอ็กเคานต์ แถมแบรนด์รองเท้า Vans Slip-On ที่ตัวแสดงใช้ใส่ในเรื่อง ยังทำยอดขายเพิ่มขึ้นไปได้กว่า 7,800%!!

        อะไรมันจะขนาดนั้น!!??

        ใช่, อะไรจะรุนแรงขนาดนั้น แต่นี่คือพลังที่มาจากความชื่นชอบ และความคลั่งไคล้ จนส่งผลต่อตัวเลขในวงจรธุรกิจชนิดทำกำไรพุ่งพรวด

        และด้วยความร้อนแรงเกินห้ามใจเหล่านี้ จึงเป็นที่มาให้ ‘ผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเรา’ ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ‘เราจะสร้างพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ หรือพูดให้เห็นภาพมากกว่านั้น ในอนาคตประเทศไทยจะต้องมี ลิซ่า2 ลิซ่า3 ลิซ่า4 และอีกมากมาย เพื่อความโด่งดัง เพื่อเป็นจุดขาย เพื่อตัวเลขทางธุรกิจ และเพื่อ… อีกเยอะ!

        การฝันให้ไกลเป็นเรื่องดี แต่ฝันจะ ‘เป็นจริง’ ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ มากไปกว่านั้น คือความเข้าใจ และการมองเห็นจุดหมาย เป็น ‘ภาพเดียวกัน’

        a day BULLETIN ชวน ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ ‘คุณชายอดัม’ ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักคิด นักบริหาร ที่สำคัญ เขายังเป็นหนึ่งในคนที่คลุกคลีตีโมงกับการผลิต ‘คอนเทนต์ไทย’ ออกสู่ตลาดโลกในปัจจุบัน มาพูดคุยกัน อาจไม่เข้าข่ายมาชวนให้ร่วมฝันกันต่อ แต่ค่อนไปทางอยากปลุกให้ตื่น แล้วมาเคลียร์กันให้ชัดๆ

        สรุปซอฟต์พาวเวอร์ไทยต้องเดินไปแบบไหน ถึงจะผลิตลิซ่า 2, 3, 4, 5… ไปเปิดคอร์ส ‘วิชาซอฟต์พาวเวอร์ 101’ กับนักทำคอนเทนต์คนนี้กันได้เลย!

 

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามผลงานของคุณชายอดัม อยากให้ช่วยเล่าภารกิจด้านการผลิตคอนเทนต์ที่ทำอยู่ให้ฟังสักหน่อย

        ปัจจุบันผมเป็นโปรแกรม ไดเรกเตอร์ อยู่ที่ค่าย Viu เป็นแพลตฟอร์มที่เรียกว่า OTT (Over The Top) มีซีรีส์มากมายจากทั่วโลกมาจัดฉายให้ดู นอกจากนั้ยังมีบริษัทของตัวเอง ทำธุรกิจด้าน Talent Management หรือเป็นค่ายนักแสดง มีชื่อว่า Bobcat Talent รวมทั้งเปิดค่ายเพลงชื่อ Narwhal Music อีกด้วย

        แต่งานหลักๆ ก็จะอยู่ที่ Viu ผมเป็นพนักงานของ Viu เมืองไทยในยุคแรกๆ ย้อนกลับไปเมื่อสัก 3 ปีก่อน ตั้งแต่ยังมีพนักงานแค่ 11-12 คนเองมั้ง จนเดี๋ยวนี้น่าจะมีสัก 70 คน โดยภาพรวมของธุรกิจในเวลานี้ ผมเรียกว่ามี 2 ขาแล้วกัน ขาหนึ่งคือขาซื้อ คือซื้อซีรีส์ ละคร จากทั่วโลกมาจัดฉาย และอีกขาคือขาผลิต เราจะผลิตซีรีส์ออริจินัลของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันผมดูแลขาทางนี้เป็นหลัก เมื่อก่อนเคยดูทั้ง 2 ขา แต่ปัจจุบันมีคนมาช่วยดูแลเพิ่มขึ้น

“มีคนชอบพูดว่า คอนเทนต์ไทยไม่ดี ไม่กระเตื้อง ไม่โต ซึ่งไม่จริง เพียงแต่คนไม่รู้ สถานการณ์ตอนนี้คอนเทนต์ไทย เอาที่ผลงานอยู่ในมาตรฐาน ไม่ต้องเรียกว่าดี เวลานี้ถูกซื้อหมด เพราะทุกค่ายต้องการเติมเต็มคอนเทนต์ให้กับคนดู”

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับธุรกิจคอนเทนต์ สถานการณ์คอนเทนต์ไทยในเวลานี้เป็นอย่างไ

        ถือว่าดี แต่มีคนชอบพูดว่า คอนเทนต์ไทยไม่ดี ไม่กระเตื้อง ไม่โต ซึ่งไม่จริง เพียงแต่คนไม่รู้ สถานการณ์ตอนนี้คอนเทนต์ไทย เอาที่ผลงานอยู่ในมาตรฐาน ไม่ต้องเรียกว่าดี เวลานี้ถูกซื้อหมด เพราะทุกค่ายต้องการเติมเต็มคอนเทนต์ให้กับคนดู ผมยกตัวอย่างโครงสร้างการทำละครหรือซีรีส์ในประเทศไทยตอนนี้ พอช่องทำละครออกมา จากนั้นเขาจะไปขายโฆษณาก่อน เสร็จแล้วก็จะมาขายกับแพลตฟอร์ม OTT อย่างพวกเรา ก่อนจะไปขายต่างประเทศต่อ ซึ่งทั้ง 3 สเต็ปนี้ รวมแล้วต้องคุ้มทุน ถ้าไม่คุ้มทุนคืออยู่ไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ เพราะตลาดต่างประเทศมีอยู่จริง อย่างญี่ปุ่น จีน กลุ่มนี้ซื้อเยอะ หรือตลาดเซาท์อีสต์เอเชีย พวกนี้อาจจะได้ราคาต่อชิ้นน้อยหน่อย แต่พอเอาหลายๆ เจ้ามารวมกัน กลายเป็นเม็ดเงินที่ไม่น้อย สามารถทำกำไรได้เหมือนกัน

ฟังจากที่เล่ามา ดูเหมือนสถานการณ์คอนเทนต์ไทยก็กำลังไปได้ดี คุณคิดว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องตระหนัก หรือต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษบ้างไหม

        ผมมองว่าเป็นเรื่องของการวางแผนเพื่อให้เรามีตัวตนที่ชัดเจน ตอนนี้เราเหมือนอยู่ในภาวะไฟไหม้ฟาง เหมือนโยนกองฟาง แล้วเอาน้ำมันราด จากนั้นก็จุดไฟ ตูม! ไฟลุกพรึ่บ แต่ไหม้อยู่พักเดียว เดี๋ยวก็ดับ ภาพรวมคอนเทนต์เราเป็นอย่างนั้น คือมาเร็ว ไปเร็ว ตลาดที่ไปก็ยังน้อย ดังนั้น เราควรต้องสร้างตัวตน สร้างจุดยืนในตลาดโลกอย่างแท้จริง

        ถามว่าต้องทำอย่างไร หนึ่งคือ ผลงานของเราต้องมีความสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าปีนี้ผลิต ปีหน้าไม่ผลิต หรือปีนี้ผลิตจำนวนเท่านี้ ปีต่อไปผลิตจำนวนเท่านั้น คือไม่มีความสม่ำเสมอใดๆ และอีกข้อที่สำคัญ เราต้องมีความหลากหลาย ถ้าเราคิดจะทำซีรีส์รักแบบเกาหลี แล้วไปสู้กับเกาหลี เราแพ้สถานเดียว เหมือนเอาคนเกาหลีมาเตะตะกร้อแข่งกับเรา ไม่มีทางชนะเราได้ ถูกไหม เพราะเราเป็นตะกร้อมากกว่าเขา ในขณะเดียวกัน เรากับเกาหลีก็ไม่สามารถเล่นปันจักสีลัตชนะมาเลเซียได้เหมือนกัน ดังนั้น เกมใครก็เกมมัน สำคัญคือ ต้องหาเกมของตัวเองให้เจอ

แล้วเกมของเราควรเป็นอย่างไร

        นี่คือการบ้านเหมือนกัน ว่าต้องหาจุดเด่นให้เจอ อย่างซีรีส์วายบ้านเราแรงมาก เรียกว่าเป็นพระเจ้าเลยในตลาดตอนนี้ ดังนั้น เราทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดติดกับวายอย่างเดียว คือมันต้องค่อยๆ สร้างกันไป พยายามหาความหลากหลาย แต่ต้องมีสไตล์ มีภาพสะท้อนบริบทของความเป็นไทย ต้องทำให้เขาเห็นว่าคอนเทนต์ไทยเป็นแบบนี้นะ เหมือนพอพูดถึงคอนเทนต์เกาหลี จะเข้าใจได้ทันที

        เราต้องเปลี่ยนสภาพจากวิธีไฟไหม้ฟางก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะต้องพึ่งพาดาราอย่าง ‘ไมค์’ – พิรัชต์ นนกุล หรืออะไรทำนองนี้อย่างเดียว โอเค ความจริงมันก็ต้องการพลังดาราด้วยแหละ แต่เราต้องการดาราที่เล่นแล้วทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักในสายตาของต่างชาติเยอะๆ เราอยากเป็นอย่างนั้นมากกว่า แบบเดียวกับที่เรารู้จักพัคซอจุน รู้จักพัคโบ-กอม ของเกาหลี

        คือถ้าเราทำอย่างนั้นได้ เราจะมีตัวตน จะมีความแข็งแรงในตลาดโลก ในทีนี้ผมพูดถึงแค่ตลาดเอเชียก่อน พอเอเชียแข็งแรงปุ๊บ เราลองไปยังกลุ่มตลาดที่พอมีแต้มต่อ เช่น อเมริกาใต้ แล้วค่อยไปเจาะที่อเมริกา ไปยุโรปตะวันตก นั่นคือระยะ 5 ปี 10 ปี แล้ววันหนึ่งเราจะเข้าไปที่เกาหลีใต้ ซึ่งขึ้นชื่อว่ายากที่สุด

        แต่สมมติถ้าเข้าได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานีทีวีค่ายไหนของเขา เช่น SBS KBS TVN ถือว่าเป็นก้าวแรกที่น่าพอใจ ต่อให้เป็นช่วงเวลาตีสอง-ตีสามก็เถอะ ไม่เป็นไร อย่างน้อยเขาก็ใส่คอนเทนต์ของเราลงไป เหมือนที่บ้านเราเคยใส่ ตำนานรักดอกเหมย ลงไปในไลน์อัพรายการทีวีช่วงบ่ายๆ ของวันธรรมดานั่นล่ะ แต่วันหนึ่งมันอาจจะพัฒนาเป็นช่วงเวลาที่ดีขึ้น หรือสักวันหนึ่งเราอาจจะมีช่องไทยฟิล์ม ไทยซีรีส์ อยู่ในกล่องเคเบิลทีวีที่เกาหลีก็ได้

        ทั้งหมดทั้งมวล คือขอให้เริ่มอย่างจริงจัง ค่อยๆ ไป ไปทีละสเต็ป ไปทีละก้าว ไม่ใช่อย่างที่เขาคุยๆ กันในข่าวน่ะ เราจะดันซอฟต์พาวเวอร์ เราจะผลักดันไอ้นั่นไอ้นี่ จัดแถลงข่าวใหญ่โต เอาคนจากรัฐมานั่งพบปะกัน แต่สุดท้ายก็เงียบหายกันไปหมด แบบนั้นไม่เอา สู้เราทำงานแบบไปทีละนิดทีละนิด แบบเต่าคลานเลย แต่อย่างน้อยมันก็ยังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

คือไปช้าได้ แต่ขอให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าแบบจริงๆ จังๆ

        ใช่ เริ่มต้นทำคอนเทนต์ในราคาถูก แต่ดี พิสูจน์ให้คนเชื่อ สร้างกระแส สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ สร้างความสม่ำเสมอ ความต่อเนื่อง บวกกับสร้างโครงสร้างทางธุรกิจที่ดี  สร้างมุมมองใหม่ๆ ให้คอนเทนต์ โดยที่คนยังเชื่อมโยงได้ พอทำอย่างนี้ปุ๊บ เราจะได้อะไรที่แตกต่างจากคนอื่น

        ที่ผ่านมา วงการผลิตคอนเทนต์บ้านเราจะมีภาวะหนึ่งที่เรียกว่า ‘ภาวะก้นหอย’ มันคือภาวะที่เราทำอะไรเหมือนๆ กัน เช่น สมมติช่วงนี้หนังอีสานดัง ทุกคนก็เลยผลิตหนังอีสานกันหมด หรือช่วงนี้ Squid Game ของเกาหลีกำลังดัง เดี๋ยวสักพักก็จะมีงานแนวไฮคอนเซ็ปต์แนวนี้ออกมาเพียบ หรือแม้แต่แนววายที่มาแรงมาก ก็กลายเป็นว่าตอนนี้มีคู่วายอยู่ 60-70 คู่ เต็มไปหมดเลย

        แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ใน 60-70 คู่ จะมีสัก 10 คู่ที่ดังมากๆ ดังนั้น พอปีถัดไป เขาก็จะผลิตงานแค่ 10 คู่นี้เล่นทั้งหมด แล้วยิ่งพอเจาะเข้าไปใน 10 คู่นี้ ปรากฏว่าเล่นแต่เฉพาะบทนักเรียนมัธยมปลาย อย่างอื่นเล่นไม่ได้เลย พอปีถัดไป ก็กลายเป็นว่า เราจะเจอ 10 คู่นี้ เล่นแต่บทนักเรียนมัธยม วงจรของผลงานมันจะค่อยๆ แคบลง เราเรียกว่าภาวะนี้ว่าภาวะก้นหอย

“ตอนนี้เราเหมือนอยู่ในภาวะไฟไหม้ฟาง เหมือนโยนกองฟาง แล้วเอาน้ำมันราด จากนั้นก็จุดไฟ ตูม! ไฟลุกพรึ่บ แต่ไหม้อยู่พักเดียว เดี๋ยวก็ดับ ภาพรวมคอนเทนต์เราเป็นอย่างนั้น คือมาเร็ว ไปเร็ว ตลาดที่ไปก็ยังน้อย ดังนั้น เราควรต้องสร้างตัวตน สร้างจุดยืนในตลาดโลกอย่างแท้จริง”

        มันจึงเป็นที่มาที่เรามักจะได้เห็นแต่ละครของญาญ่า-ณเดชน์ ในช่วงหนึ่งตลอดเวลา หรือคู่ไหนที่กำลังดัง ก็จะมีผลงานตามมาอีกมากมาย จนถึงจุดหนึ่งที่คนดูเริ่มเอียนกับดาราเซตนี้ ปรากฏว่าไม่มีอะไรจะดูต่อ เพราะความหลากหลายไม่มีตั้งแต่ต้น นี่คือภาวะก้นหอยที่เป็นปัญหาของวงการสร้างสรรค์คอนเทนต์บ้านเราตลอดมา

แล้วทางออกที่ดีต้องทำอย่างไร

        ต้องหลากหลายสิครับ (ยิ้ม)  อยากให้ลองสังเกตเวลาแต่ละค่ายแถลงไลน์อัพงานออกมา หรือจะเรียกว่าไลน์อัพละคร ไลน์อัพซีรีส์ก็ได้ ลองดูว่ามีความหลากหลายสักกี่เปอร์เซ็นต์ โอเค มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทิ้งของที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดออกไป ไม่ต้องขนาดนั้น แต่งานสัดส่วนอื่นๆ คุณก็ควรมี เพื่อให้มีความสมดุล

จาก ‘ปรากฎการณ์ลิซ่า’ ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อน เราพอจะบอกได้ไหมว่า นี่คือคอนเทนต์ในแบบที่เรียกว่า ‘พลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ที่ถูกจุดติดขึ้นแล้ว

        ไม่ใช่ครับ ลิซ่าคือความสำเร็จหนึ่งของอุตสาหกรรมเกาหลี เป็นคนเกาหลีที่ช่วยผลักดันคนไทย แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือลิซ่าเริ่มต้นจากเมืองไทย จากโครงการทูบีนัมเบอร์วัน แต่หลังจากที่เขาเริ่มต้นแล้ว เรียกว่าจากจุด A แล้วกำลังจะไปต่อที่จุด B หรือจุดต่อๆ ไป เขาไม่มีคนพาไป เขาถึงต้องไปเกาหลี ปัญหาของวงการบ้านเราตอนนี้คือเราสร้างคนจากจุด A ได้เยอะ แต่การจะพาไปยังจุด B เราไม่มีคนพาไป

        ทีนี้ลองหันมามองค่ายเพลงในเมืองไทย แรงผลักของค่ายเหล่านี้ ดันได้ถึงสเกลไหน พูดง่ายๆ ค่ายที่อยากไปตะลุมบอนในตลาดโลก มีกี่ค่าย แล้วแรงไหวไหม อย่างตอนนี้ค่ายเวิร์คพอยท์มีวง 4EVE หรือค่าย LIT Entertainment มีวง PiXXie พวกนี้เพลงเจ๋งมากเลย แต่ถามว่าเขาพร้อมจะสนับสนุน หรือผลักดันไปออกสู่ตลาดโลกแค่ไหน ในมุมกลับกัน เราก็ยังไปกระจุกตัวอยู่ที่ก้นหอย เช่น วง BNK48 แต่เอาเข้าจริง BNK48 ก็มีสมาชิกเยอะ แต่ทุกคนก็ไม่ได้ช่วยดันให้เกิดไปมากกว่านี้ มีแค่เฉพาะกลุ่มโอตะที่เป็นฐานรายได้หล่อเลี้ยง มันคือ Sustain หรือประคับประคองไปได้ แต่มันไม่ Growth หรือเติบโต มันอยู่ที่เดิม แล้วน้องๆ เหล่านี้ อีก 15 ปี เขาก็จะหมดช่วงไพร์มไทม์แล้ว คำถามคือเราจะไป Growth เขาตอนไหน

        คือถ้าจะผลักดันออกสู่ตลาดโลก เราก็ต้องหาวิธี ก่อนหน้านี้ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าของค่ายเพลง 88rising เขาเคยเอา ภูมิ วิภูริศ ไปเล่นโชว์ในต่างประเทศ เขาก็มาถามเราว่า คนไทยมีใครเก่งๆ อีกไหม ผมก็แนะนำไป ชื่อ ‘มิลลิ’ ผู้หญิงคนนี้เจ๋งมาก เขาขอเบอร์ผู้จัดการ เราก็หาให้ไป จนตอนหลังมิลลิก็ได้ไปโชว์งานที่ต่างประเทศ อันนี้คือยกตัวอย่างว่าเราจะสามารถผูกงานกันไปกับค่ายแบบนี้ได้ไหม 88rising นี่ถือว่าเป็นค่ายเพลงใหญ่ระดับโลก ถ้าเราทำแบบนี้ได้เยอะๆ มีค่ายเพลงในไทยไป Collaborate กับค่ายเมืองนอก มันจะทำให้เราโตขึ้น นี่คือสิ่งที่คนไทยต้องคิดในเชิงการบริหาร

        เราขาด Innovate Executive หรือเราขาดคนบ้า เช่น นายทุนบ้าๆ ผู้บริหารบ้าๆ บ้าในที่นี้คือคิดนอกกรอบ แต่คิดอย่างมีระบบ มีหลักการ ไม่ใช่บ้าแบบติสต์แตก แบบนั้นพัง (หัวเราะ) ในมุมของการบริหาร เราต้องคิดให้ได้ว่าเราจะผูกกันไปแบบที่เล่านี้ ให้มันโตได้อย่างไร โดยที่ไม่สูญเสียตัวตนของเราไป พวกนี้ยาก แต่นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราเกิดลิซ่าคนถัดไป เกิดบนแผ่นดินไทย แทนที่จะไหลออกไปนอกประเทศ จริงๆ ไม่ใช่แค่ลิซ่า ทุกวันนี้มีอีกหลายคน อย่างเนเน่ (พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์) ที่แจ้งเกิดจากรายการ CHAUNG 2020 ล่าสุดตอนนี้ดังมากที่จีน เวียดนาม เมื่อก่อนก็เป็นศิลปินฝึกหัดของอะคาเดมี แฟนเทเชีย (เอเอฟ) ทุกวันนี้ไปดังที่จีน ถามว่าทำไมเราไม่ทำให้เขาอยู่ในประเทศไทยแล้วสร้างได้เอง   

“ถ้าเราคิดจะทำซีรีส์รักแบบเกาหลี แล้วไปสู้กับเกาหลี เราแพ้สถานเดียว เหมือนเอาคนเกาหลีมาเตะตะกร้อแข่งกับเรา ไม่มีทางชนะเราได้ ถูกไหม เพราะเราเป็นตะกร้อมากกว่าเขา ในขณะเดียวกัน เรากับเกาหลีก็ไม่สามารถเล่นปันจักสีลัตชนะมาเลเซียได้เหมือนกัน ดังนั้น เกมใครก็เกมมัน สำคัญคือ ต้องหาเกมของตัวเองให้เจอ”

        ถ้าอยากให้เป็นแบบนั้น เราต้องกลับมาคุยกันอย่างจริงจัง เราต้องสู้ สู้ในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่สู้ด้วยศิลปิน เพราะศิลปินที่อยู่ข้างหน้าของเราสวยแล้ว ข้างหน้าเราดี เพลงไม่ได้แย่ บางคนเยี่ยมเลย โปรดักต์เราโอเคเลย มิวสิกวิดีโอเราก็ไม่ได้ขี้เหร่ เราทำได้ดีเยอะมาก แต่เรายังขาดคนนำพาจากจุด A ไปยังจุด B นี่แหละ (ยิ้ม)

ถ้ามองจากคนนอกเข้ามา คุณคิดว่านักแสดงหรือศิลปินไทยมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้ไหม

        ได้ คนนอกเขาเห็นตลอดแหละ ด้วยความที่ผมเป็นผู้จัดการนักแสดงด้วย เลยทำให้รู้ว่าทุกวันนี้จีนมากว้านเด็กเข้าสังกัดตลอดเวลา ผมใช้คำว่า ‘กว้าน’ เลยนะ เยอะขนาดไหนคิดดูสิ (หัวเราะ) หรือฟิลิปปินส์ เซ็นเด็กเข้าสังกัดที 20-30 คน ดีไม่ดีอีกเรื่องนะ แต่เซ็นไปก่อน เกาหลีมาออดิชันแทบจะตลอดเวลา แต่เขาคัดแบบหัวกะทิจริงๆ จากเป็นร้อยเป็นพัน เอาแค่คนเดียว อะไรอย่างนี้ คือภาพรวม คนนอกเขาเห็น Potential หรือศักยภาพของเด็กไทยอยู่ตลอดเวลา

        แต่อย่างที่บอก เรามีจุด A ตลอด แต่การจะเคลื่อนจาก A ไป B ยุ่งยากพอสมควร ต้องมีโครงสร้างที่ดี การสนับสนุนที่ดี มีคนทำงานที่จริงจัง และมีความรู้ความเข้าใจที่มากพอ ลองนึกย้อนไปสมัยอาเต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) ทำแกรมมี่ใหม่ๆ เขามีทีมสร้างความเป็นศิลปินที่เพรียบพร้อมมาก เช่น มี ‘ครูแอ๋ว’ – อรชุมา ยุทธวงศ์ มาช่วยเทรนนิ่งแอ็กติ้ง ร้องเพลงยังไงให้มีอินเนอร์ มี ‘พี่ดี้’ – นิติพงษ์ ห่อนาค มาดูแลเรื่องการแต่งเพลง มีทีมโปรดิวเซอร์ หาสไตล์เพลง สร้างคาแรกเตอร์เพลงให้เข้ากับศิลปิน นี่คือวิธีการทำงานเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่เราทำมาก่อนเกาหลีซะอีก ทุกวันนี้เกาหลีก็ทำแบบนี้ ดังนั้น เราเหมือนขาด เรวัต พุทธินันทน์ หรือแม้แต่ขาดคนอย่างอากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ที่เก่งเรื่องบริหาร สองคนนี้ถ้ามีเพิ่มในวงการสัก 300 คน หรือ 150 คู่ ประเทศไทยไปตลาดโลกได้แน่นอน (ยิ้ม)

จากความโด่งดังของลิซ่า ทำให้เราชูจุดขายคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ขึ้นมา แต่เอาเข้าจริง คนส่วนใหญ่ยังสับสนว่า การขายซอฟต์พาวเวอร์ คือการขายความเป็นไทยๆ

        ไม่ใช่ ซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นไทยสำหรับผมตอนนี้คือมิลลิ ที่ใช้ภาษาลูในเพลงของเธอ แบบนี้เรียกซอฟต์พาวเวอร์ หรือ ฉลาดเกมส์โกง คือคัลเจอร์ของไทย เรากำลังพูดถึงระบบการศึกษาของเมืองไทย มันคือบริบทของสังคม โอเค อย่างรำไทยก็ใช้ได้ แต่มันต้องเป็นรำไทยใส่ชฎาแบบที่ลิซ่าทำ เป็นการ collaborate ผสมผสานแบบนั้น เรียกว่าไฮบริดก็ได้ ไม่ต้องไทยจ๋า หรือขายความเป็นไทยโบราณ

        ถ้าอยากเห็นภาพการขายความเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบชัดๆ ให้ดูงานเปิดกีฬาโอลิมปิก เช่น ตอนที่จีนเป็นเจ้าภาพ เขามีสนามกีฬารังนก ใช้อัตลักษณ์แบบจีนมาขาย หรือตอนที่ลอนดอน ที่ประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ อันนี้สนุกมาก มีวงสไปซ์เกิลส์ หรือมีมุกที่พาควีนเอลิซาเบธมาโดดร่มกับ เจมส์ บอนด์ ล่าสุดที่ญี่ปุ่นก็เอาตัวละครในเกมมาริโอมารับคบเพลิง เหล่านี้คือซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด แต่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่อยู่บนความร่วมสมัย เป็น sense of humor การรับรู้ของผู้คนหมู่มากที่ร่วมสมัย ซึ่งเมืองไทยก็ต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง เวลาบ้านเราจัดพิธีเปิดกีฬาอะไรสักอย่าง เราไม่ค่อยท้าทายบริบทสังคม หรือเราไม่ซื่อสัตย์กับบริบทสังคมของเราจริงๆ เราเลยไม่เดินไปทางไหน มันเลยอยู่ตรงนี้มานาน

ถ้าให้คุณชี้เป้าแหล่งขุมทรัพย์ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ พอจะแนะนำได้ไหม

        (หัวเราะ) ที่เห็นตอนนี้เลย คือมิลลิ หรือ ภูมิ วิภูริศ มิวสิกวิดีโอ Lover Boy เดินอยู่ริมหาดพัทยา แต่ทำให้เป็นหาดไมอามีได้ เออ นี่แหละ วิธีการมองของเด็กยุคนี้ แบบนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ หรืออย่างในอินสตราแกรมมีแบรนด์เสื้อผ้าเด็กไทยเป็นหมื่นๆ แบรนด์ ดีไซน์เก๋ๆ ทั้งนั้น แต่ไม่เคยมีงานเมนสตรีม หรืองานสายหลักที่ไหนไปหยิบของเขามาใช้ ถ้าเป็นนักแสดงหรือศิลปินในค่ายผม เวลาออกงาน ผมให้ใส่แบรนด์ไทยเสมอ แต่เราไม่ได้บอกว่าความเป็นไทยคือไทยแบบยุคสร้างชาติ ร้องเพลงบรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ แบบนั้นมันหมดยุคไปตั้งนานแล้ว โอเค มันอาจจะเอามารีมิกซ์กันได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะนำเสนอใน พ.ศ. นี้ เราต้องเปิดให้เสรีขึ้น ให้สิ่งที่ผมว่ามานี้ได้เติบโตขึ้นอย่างจริงจัง

“ทั้งหมดทั้งมวลคือขอให้เริ่มอย่างจริงจัง ค่อยๆ ไป ไปทีละสเต็ป ไปทีละก้าว ไม่ใช่อย่างที่เขาคุยๆ กันในข่าวน่ะ เราจะดันซอฟต์พาวเวอร์ เราจะผลักดันไอ้นั่นไอ้นี่ จัดแถลงข่าวใหญ่โต เอาคนจากรัฐมานั่งพบปะกัน แต่สุดท้ายก็เงียบหายกันไปหมด แบบนั้นไม่เอา สู้เราทำงานแบบไปทีละนิดทีละนิด แบบเต่าคลานเลย แต่อย่างน้อยมันก็ยังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า”

สมมติเรามีออพชันพิเศษให้คุณ 5 ข้อ คุณอยากขอเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้พลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเกิดขึ้นได้จริง

        หนึ่งคือ เปิดฟรีมาร์เกต ลดความเป็นค่ายลง เพิ่มความเสรีในการทำงานให้มากขึ้น มันจะทำให้นักแสดงได้ทำงานที่หลากหลาย และคนทำงานก็จะได้ดาราที่มีคุณภาพมาร่วมงานด้วย ต่อมาข้อที่สอง อยากให้พัฒนาโครงสร้างธุรกิจที่ดี ที่ทำได้จริง ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในกระดาษ แต่มันควรอยู่ที่หน้างานจริงๆ แล้วลองลดการแข่งขัน เปลี่ยนมาเป็นการร่วมทุน ที่ผ่านมาทุกคนเจ็บหมด ดังนั้น อย่าเอาคนบาดเจ็บมาฆ่ากันตาย มาร่วมมือกัน แล้วผลิตคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมออกมาดีกว่า

        ข้อที่สาม หัดยอมรับในสิ่งที่แย่และสิ่งที่ดี ถ้าทำแล้วไม่ดี ต้องกล้าที่จะยอมรับว่าไม่ดี และกล้าที่จะไล่ตัวเองออกไป สำคัญมาก ถ้าเราไม่ดีจริง เราหมดยุคจากวงการ เราถอยดีกว่า ไปเป็นคนคอยซัพพอร์ตคนอื่นก็ได้ ผมไม่เคยเป็นผู้กำกับยอดเยี่ยมอะไรเลย แต่วันนี้ผมบอกผมจะเป็นโปรดิวเซอร์ ขอเอาประสบการณ์และมุมมองของเรา ผลักดันคนที่มีศักยภาพไปยังจุดที่สามารถพัฒนาวงการได้จริงๆ ดีกว่า

        ข้อต่อมา อยากให้เติมเต็มส่วนที่ขาด เรื่องจุด A ไปจุด B ตรงนี้ควรมีการมาเติมเต็ม นำพานักแสดง ศิลปินไปต่อให้ได้  ดังนั้น เราต้องพัฒนาบุคลากรให้ครบวงจร สร้างระบบที่ดีมีคุณภาพให้เกิดขึ้นจริง สุดท้ายข้อที่ห้า เรื่องมาร์เกตติ้ง เรามีคนมาวางกลุยุทธ์ได้ดีแค่ไหน เรียกว่าคนหาเงิน ทำการตลาด สร้างงาน สร้างเงินจากแพลตฟอร์มต่างๆ จากนั้นผลักดันไปถึงเมืองนอก วางเป้าหมายทำให้เราเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมาจริงๆ

        นี่คือห้าข้อที่จะขอ ไม่สิ เป็นห้าข้อที่พยายามทำอยู่มากกว่า และไม่มีทางลัด มีแต่ทางตรง ค่อยๆ ทำไป คนที่ชอบโวยวายว่าทำไมคอนเทนต์ไทยไม่เกิดสักที อยากบอกว่าให้ลงมาทำด้วยกันสิ มาอยู่กับผมนี่ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมอายุ 35 ผมยังมีเวลาอีกสัก 25 ปี ถ้ายังไม่มีใครไล่ไปไหนซะก่อน ผมเชื่อว่ามันน่าจะเกิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามีคนที่คิดเหมือนผมอยู่ตอนนี้สักร้อยคน มันอาจจะเกิดเร็วขึ้น ผมอาจจะได้เห็นความสำเร็จของคอนเทนต์ไทยตอนอายุ 40 ก็เป็นได้

สมมติถ้ามีคนกลุ่มนั้นอยู่จริง อยากเชิญชวนพวกเขาว่าอย่างไร

        มาเลยครับ มาช่วยกัน แต่ตอนนี้ ดับไฟที่ไหม้ฟางกันก่อนดีกว่า ภารกิจแรก (ยิ้ม)