ชยนพ บุญประกอบ

ชยนพ บุญประกอบ | เสียดายถ้าต้องด่วนจากไปโดยไม่ได้ทำอะไรให้จบบริบูรณ์

ในโลกที่กว้างใหญ่ เปิดโอกาสมากมายให้เราใช้ชีวิตได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ที่กำลังสนุกสนานกับสีสันของชีวิต ความสุขความสำเร็จมีมากมายให้กอบโกย เรื่องความตายจึงดูเป็นเรื่องไกลตัวและถูกมองข้ามเสมอตอนที่พลังงานของร่างกายและจิตใจยังลุกโชน

     ‘หมู’ – ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับหนุ่มเจ้าของผลงาน SuckSeed ห่วยขั้นเทพ และ เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ บอกกับเราตั้งแต่ต้นว่า เขาก็เป็นหนึ่งในคนหนุ่มที่มุงานหนัก แทบไม่เคยมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับความตาย แต่การได้ร่วมเวิร์กช็อปกับ สสส. และบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ก็ช่วยให้เขาได้มาทบทวนตัวเองถึงสิ่งที่เขาหลงลืม มองข้าม และปรับโฟกัสให้เห็นถึงสิ่งสำคัญ รวมทั้งคนสำคัญ เพื่อการใช้ชีวิตไปจนถึงวันสุดท้ายได้อย่างมีคุณค่ายิ่งขึ้น

ชยนพ บุญประกอบ

 

อยากรู้ว่าคนรุ่นใหม่อย่างคุณมองเป้าหมายชีวิตและความสำเร็จในอนาคตไว้อย่างไร

     มันมีคน 2 แบบ แบบที่วางแผนระยะยาว แล้วก็ทำตามเป้าหมายของตัวเองอย่างเต็มที่ กับคนแบบที่ตอนนี้รู้สึกยังไงก็ทำแบบนั้นไปเลย บอกไม่ได้หรอกว่าแบบไหนจะเหมาะกับใครมากกว่ากัน แต่ถ้าเป็นตัวเราจะพยายามบาลานซ์ทั้งสองอย่าง อย่างตอนที่เราเลือกไปเป็นสจ๊วต จริงๆ มันก็ไม่ถึงกับวางแผนว่าไปทำงานสจ๊วตก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยกลับมาทำหนัง ใครจะไปรู้ว่าเราจะทำอย่างนั้นได้จริงๆ มันเป็นคนละสายงานกันด้วย ไม่เหมือนกับการไปเรียนด้านภาพยนตร์และเรียนจบมาจะได้ทำหนัง แบบนี้มันสมเหตุสมผล แต่การเป็นสจ๊วตแล้วกลับมาทำหนัง อันนี้ไม่เมกเซนส์ เรียกว่าเป็นเรื่องโชคมากกว่า

     ตอนนั้นเป็นความรู้สึกว่าเพิ่งเรียนจบแล้วอยากไปทำอะไรก็ได้ที่รู้สึกตื่นเต้น ไม่คุ้นชิน แล้วการเลือกว่ามีเป้าหมายบางอย่าง ก็ควรทำเดี๋ยวนั้นไปเลยหรือเปล่า เราคิดว่าต้องพิจารณารอบข้างด้วย ถ้าเราสามารถเลือกได้อย่างอิสระ ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของคนคนนั้น ซึ่งก็คือตัวเรานี่แหละที่โชคดี อยากเลือกทำอะไรก็ได้ทำ ไม่ได้เดือดร้อนด้านการเงิน ทุกคนที่บ้านแข็งแรงดี ไม่มีใครน่าเป็นห่วง ทุกอย่างมันเปิดให้เรามาทำงานตรงจุดนี้ได้

 

คุณเป็นผู้กำกับหนังแนววัยรุ่น ผลงานออกมาประสบความสำเร็จ เมื่อมองย้อนกลับไปที่บ้าน ครอบครัว พ่อแม่ คุณคิดอย่างไร

     การเข้าอบรมกับชีวามิตรฯ เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ดีเหมือนกัน ด้วยความที่เราไม่เคยอยู่ในภาวะที่ต้องคิดเรื่องพวกนี้มาก่อนว่าจะมีคนใกล้ชิดมากๆ กำลังอยู่ในระยะสุดท้าย โคม่าจากอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยร้ายแรง แต่พอได้ฟังเรื่องราวจากคนอื่น มันทำให้ได้เห็นถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่เชื่อไหมว่าสักแป๊บหนึ่ง วันนี้ พรุ่งนี้ เราก็จะเผลอลืมมันไป มันง่ายมากเลย เราเผลอประมาทได้ง่าย เราเชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์โดยตรงจากเรื่องนี้จริงๆ จะทำให้เขาตระหนักเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็ต้องผ่านการกระตุ้นเตือนจากสื่อบ่อยๆ สุดท้ายแล้วเราคิดว่ามันทำให้เราตั้งใจทำงานที่ทำอยู่ตอนนี้ให้เต็มที่ที่สุด

 

ในมุมของการดูแลคนอื่น คนรุ่นลูกหลานอย่างคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง

     มันมี 2 มุม คือมุมของการจัดการตัวเราเอง กับมุมที่เราต้องไปดูแลคนอื่น เอามุมของตัวเราเองก่อน แม้ว่าความตายในมุมของพวกเรายังเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่พอมานั่งนึกดูมันก็เกิดขึ้นได้ การได้เขียนความปรารถนาของตัวเองเอาไว้ ก็ทำให้เราได้ฝึกดูว่าถ้าเกิดเหตุขึ้นจริงๆ เราจะจัดลำดับความสำคัญยังไง ได้ทบทวนความคิดตัวเองว่าเราให้คุณค่ากับอะไรในชีวิต สมมติว่าถ้าเราตายวันนี้ เราจะจัดการกับตัวเองยังไง งานที่ยังค้างอยู่ หรือทรัพย์สินต่างๆ เราจะโอนให้ใคร ทุกอย่างต้องจัดการและมันคงดีมากหากมีคำตอบไว้ให้กับคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ ต่อให้เรายังไม่ตายแต่เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย

คนส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นเรื่องไม่มงคล เราคิดว่าทางออกของเรื่องนี้คือการทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนค่านิยม และทำให้คนเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องมงคลหรือไม่มงคล แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย

     เราเองก็ยังไม่ได้ป่าวประกาศบอกใครว่าต้องการอะไร แต่เป็นเรื่องที่เรากลับมาเขียนเอง กลับมาทบทวนเองมากกว่าว่าเราให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิตบ้าง ทรัพย์สิน การงานที่ค้างอยู่ เราก็จะนึกน้องชาย เพื่อนร่วมงาน คนรัก ญาติ ได้เห็นว่าใครสำคัญจริงๆ กับเรา

     ในมุมที่ต้องดูแลคนอื่น สิ่งสำคัญคือการเข้าใจความปรารถนาของเขา สมมติพ่อ แม่ ญาติ เพื่อน หรือใครก็ตามที่เราสนิท แล้วมีการระบุเอาไว้ชัดเจนว่าอยากให้ทำอะไรในวันที่เขาจากไป มันดีต่อทุกฝ่ายมากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของทรัพย์สิน มรดก แต่เป็นทุกเรื่องที่อยากให้เราช่วยจัดการ การได้รู้ว่าท่านไม่ได้อยากให้ยื้อก็ทำให้เราได้ทำตามสิ่งที่ตรงกับความต้องการของท่าน ข้อเสียของการยื้อ หนึ่ง เราไม่รู้ว่าคนที่กำลังถูกยื้ออยู่เขาเจ็บปวดทรมานแค่ไหน แล้วเขาอยากให้เราเลิกหรือเปล่า สอง เมื่อเรายื้อไว้นานๆ สำหรับคนที่สมองตายแล้ว เขาไม่มีทางกลับมาได้ มันจะสิ้นเปลืองทรัพยากรสำหรับคนอื่นที่ต้องใช้เครื่องมือนี้ที่โรงพยาบาล แล้วเครื่องมือมันไม่พอ อาจจะเป็นคนไข้ที่ยังรักษาได้หรือต้องการการรักษา เขาก็ต้องมานอนรออยู่ที่เตียงนี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็รักษาไม่ได้แล้ว

     ทำไมคนเราถึงชอบยื้อชีวิตคนอื่น เพราะสัญชาตญาณแรกของเราคือต้องช่วยชีวิตไว้ก่อน ต่อให้คนนั้นไม่มีสติพอที่จะบอกได้ว่าตัวเองอยากมีชีวิตอยู่หรือไม่อยากมี และถึงแม้ว่าหมอจะคิดว่าทำไม่ได้

 

ชยนพ บุญประกอบ

 

เร็วเกินไปไหมที่ในวัยแค่นี้ต้องมานั่งคิดเรื่องอะไรพวกนี้

     ไม่เลย มันเหมือนทำประกันชีวิตมากกว่า ทำเอาไว้ก็ไม่เสียหาย เป็นการทำความเข้าใจกับความจริงและเป็นการรับผิดชอบตัวเองด้วย การเตรียมตัวเตรียมสิ่งเหล่านี้ไม่เสียเงินด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม เราว่ามันกลับจะทำให้ได้เห็นการใช้ชีวิตของตัวเองชัดขึ้น และอยากมีชีวิตอยู่กับคนที่อยู่ในลิสต์ให้ดีขึ้น คิดถึงเรื่องความตาย แล้วเราอยากอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น อยากสานสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม และก็เห็นเป้าหมายในชีวิตชัดเจนมากขึ้นด้วยว่าเราอยากจะทำอะไรจริงๆ

     เรามองว่า living will ของเราแต่ละคนสามารถเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเราทำตอนนี้ กับทำในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะรู้ว่าเราเปลี่ยนแปลงไป เราให้ความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างไม่เหมือนกัน แต่มันก็สนุกดีที่ได้ทบทวนตัวเองในแต่ละช่วงวัย อย่างตอนสมัยเรียน อาจารย์แนะแนวถามเราว่าจบแล้วจะไปทำอาชีพอะไร ให้หลับตาแล้วนึกถึงตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า มาวันนี้ ภาพที่เห็นก็ไม่เหมือนกับตอนนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่เป็นวัยรุ่นที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง สิ่งที่ควรโฟกัสน่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ที่เราจะต้องดูแล พวกเขาใกล้สิ่งนี้มากกว่าเรา

     ยิ่งตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ต้องอะไร ให้มองใกล้ๆ ก่อนเลยว่าแค่พ่อแม่เรา เขายังเดินได้ดีหรือเปล่า อย่างแม่เราตอนนี้เข่าเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว เริ่มเดินกะเผลก เราก็คิดว่าการที่เขาต้องเดินขึ้นบันไดไปนอนที่ห้องนอนชั้นสองอย่างยากลำบาก มันต้องเป็นแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ จะอีกสักกี่ปีที่เขายังเดินไหว ทำให้เริ่มคิดวางแผนแล้ว อาจจะต้องย้ายห้องนอนแม่มาอยู่ชั้นล่าง ตอนนี้ทางเข้าบ้านมีราวจับหรือยัง พื้นห้องน้ำลื่นไปไหม เราก็ไปหารองเท้าใส่กันลื่นให้เขาหน่อย พยายามมองในมุมของเขา แม้เขาอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เราได้ยินบ่อยมากเรื่องคนแก่ลื่นในห้องน้ำ แล้วคนเราก็มักจะจากกันไปด้วยเรื่องอะไรแบบนี้ ถ้าเราสังเกตและตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ก่อน อย่างน้อยก็ประคับประคองให้เขาไปถึงตรงนั้นช้าหน่อย ก่อนที่เขาจะโคม่า ก็อย่ารอให้เขาไปถึงขั้นนั้นสิ เราดูแลกันก่อนตั้งแต่ตอนนี้ไม่ดีกว่าเหรอ

     เราเห็นด้วยกับอาจารย์แสวง บุญเลิศเฉลิมวิภาส เกี่ยวกับการยื้อความตายพ่อแม่ในวันสุดท้าย หลายครั้งจะเกิดจากอาการ ‘กตัญญูเฉียบพลัน’ หมายถึงลูกหลานทั้งหมายที่ไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่มีเวลาให้เขา แต่พอพ่อแม่จะไป ก็อยากตอบแทนด้วยการยื้อชีวิตเขาไว้ให้นานที่สุด โดยลืมคิดว่ามันอาจทำให้เขาทรมานมากไปกว่าเดิม เพราะฉะนั้น การดูแลเขาในวันที่เขายังอยู่กับเราน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

     อีกสิ่งที่เราสนใจมาก คือวิธีการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึงการให้อาหาร ให้น้ำเท่าที่จำเป็น และรักษาเท่าที่สภาวะของผู้ป่วยต้องการ จากนั้นค่อยๆ ลดระดับการดูแลลงเรื่อยๆ คล้ายกับการแลนดิ้งของเครื่องบิน ที่ค่อยๆ ลงจอดไม่ใช่พยายามดึงขึ้นทั้งๆ ที่น้ำมันกำลังจะหมด เพราะสุดท้ายจะตกกระแทกพื้นแล้วระเบิด ดังนั้น การดูแลแบบนี้จะทำให้เขาค่อยๆ ลงอย่างราบรื่น ไม่ได้เคร่งครัดว่าต้องยื้อความตาย

 

ชยนพ บุญประกอบ

 

เคยคิดเล่นๆ ไหมว่าตัวเองในวัยแก่ชราจะเป็นอย่างไร

     มีภาพหนึ่งที่เราแปะไว้ในเฟซบุ๊กเองเลย คือประโยคว่า ‘Be who you needed when you were younger.’ จงเป็นคนที่คุณต้องการตอนคุณยังเด็ก หมายความว่าถ้าตอนเด็กๆ เราเคยขาดคนที่ให้กำลังใจ คอยชี้แนะเรา เราก็อยากเป็นคนนั้นแหละเมื่อเราโตขึ้น เราชอบให้กำลังใจคนอื่นเท่าที่เราพอจะทำได้ เท่าที่เรามีศักยภาพ แต่การจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมีความรู้ มีทักษะ ประสบการณ์ เพราะฉะนั้น เป้าหมายในชีวิตของเราคือถ้าเราโตขึ้น เราอยากเป็นคนที่เก๋าๆ มีประสบการณ์ล้นเหลือ เคยทำอะไรมาอย่างโชกโชน และสามารถแนะนำไปถึงคนรุ่นต่อไปได้

มันมีหนังสือการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ฮิคารุ เซียนโกะ ที่ตั้งคำถามว่าเราเล่นโกะกันไปทำไม แล้วคำตอบก็คือ เราเล่นเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ให้มันสืบทอดองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ เหมือนวิทยาศาสตร์ที่เมื่อร้อยปีที่แล้วมันก็ส่งต่อมาถึงวันนี้ เราเป็นแค่คนรับมาและส่งต่อ เป็นฟันเฟืองจากอดีตถึงอนาคต เพราะฉะนั้น เมื่อเราแก่ตัวไป เราก็อยากเป็นฟันเฟืองที่ส่งไม้ต่อที่ดี

 

ในฐานะที่คุณทำหนังให้วัยรุ่นดู คุณคิดว่าจะถ่ายทอดเรื่องความตายนี้ออกไปอย่างไร 

     เวลามันมีหัวข้ออะไรขึ้นมา มันไม่สามารถตอบได้ทันทีว่าเราจะทำหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร มันต้องผ่านการเคี่ยวกรำมาระยะหนึ่งจนตกตะกอนและรู้สึกว่าเราเล่าเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้น ตัวเราเองเราทำหนังวัยรุ่นเพราะเราเคยผ่านวัยนั้นมา หนังอย่าง SuckSeed คือช่วงวัยของเราตอนอยู่มัธยม เป็นช่วงที่เราเล่นดนตรีกับเพื่อน อกหัก หนังเรื่อง เมย์ไหนฯ ก็เป็นชีวิตอีกช่วงหนึ่ง ถ้าอย่างเรื่องความตาย ประสบการณ์ตรงของเรายังน้อย แต่เราก็ไปทำความรู้จักผ่านเวิร์กช็อปของชีวามิตรมา พอเริ่มรู้ เราก็เริ่มหันกลับมาสนใจเรื่องครอบครัว เรื่องความสัมพันธ์กับคนในบ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเหมือนกันว่าจะประมาณไหน แต่ก็มีสิทธิ์ที่หนังเรื่องต่อๆ ไปจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นความตายได้เหมือนกัน

 

กลัวความตายไหม

     กลัวนะ กลัวว่าจะจากไปโดยยังไม่ได้ทำอะไรให้สมบูรณ์ เพราะเรายังใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่ ยังไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นและสังคมมากพอ เพราะด้วยวัย ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เราควรจะแก่ชราและตายไป ถ้าเราด่วนตายก่อนหน้านั้นก็คงเสียดาย ก่อนตายน่าจะทำอะไรได้อีกเยอะ สมมติเราทำหนังหนึ่งเรื่องใช้เวลา 2 ปี ถ้าเราตายตอนอายุ 80 ก็น่าจะทำหนังได้อีกเป็นสิบๆ เรื่องนะ อดทำเลยว่ะ เสียดาย

     ส่วนอีกมุมคือการกลัวความเจ็บปวด กลัวความทรมาน เราจะตายแบบทรมานหรือเปล่า กลัวเป็นแบบในซีรีส์ Game of Thrones ที่ตายโหงเกือบทุกคน แต่มีประโยคหนึ่งของ Valar Morghulis ในเรื่องนี้ที่ดีมากคือ ‘All men must die.’ โคตรสัจธรรมเลย

 

พูดแบบนี้ได้ไหม ว่าสิ่งที่ผลักดันให้เราใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในวันนี้ ก็คือการที่เรารู้ว่าวันหนึ่งเราต้องตาย

     เออใช่ เล่นฟุตบอลก็มีหมดเวลา 90 นาที ถ้าเตะกันไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ได้อะไร นาทีท้ายๆ ของเกมถึงได้มีค่า เพราะมันมีวันสิ้นสุด ยิ่งช่วงทดเวลาบาดเจ็บก็ยิ่งบีบคั้นนี่แหละคือไคลแม็กซ์ที่แท้จริง เราว่ามันเหมือนกันกับการใช้ชีวิต เพราะหมดเวลานั่นแหละที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า

 


ภาพ: ธนดิษ ศรียานงค์