ธุรกิจจัดหาผักและผลไม้ให้กับร้านค้าและภัตตาคารชั้นนำทั่วประเทศ และโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะเปิดปลายปี ‘สุขสยาม’ เมืองสารพัดสุขที่รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นไทยจากทุกภูมิภาค บนพื้นที่ขนาดสิบไร่ ในโครงการไอคอนสยาม ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของ ‘โอ๊ต’ – ชยะพงส์ นะวิโรจน์ นักธุรกิจหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรงผู้สร้าง ‘คอมมูนิตี้’ ให้เป็นแก่นแกนไอเดียของการบริหารธุรกิจ
ความเป็นคอมมูนิตี้สร้างความงามและความแตกต่างหลากหลายที่ช่วยเกื้อหนุนกันให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีคุณค่ายิ่งขึ้น ไอเดียนี้สามารถนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ของชีวิตได้ด้วยหรือเปล่า? เราเริ่มต้นบทสนทนากับเขาด้วยคำถามนี้
ตอนนี้คุณทำธุรกิจหลายอย่าง และยังมีกิจกรรมยามว่างน่าสนุกอีก คุณคิดว่าแต่ละด้านๆ ในชีวิตมีจุดร่วมกันอย่างไร
ชีวิตคนเรามีหลายด้านครับ และบางทีเราก็ไม่ได้ตั้งใจให้มาเกี่ยวข้องกัน ในแต่ละด้านก็เปรียบเหมือนระบบนิเวศ ไม่ใช่ทุกระบบนิเวศจะมารวมเข้าด้วยกันได้ มันมีวงจรของมัน มีความออร์แกนิกของมันที่เราต้องเคารพ ถ้าจะให้โยงกันทั้งหมดก็กลัวว่าจะหลากหลายเกินไปหรือเปล่า อย่างคอมมูนิตี้สวิงแดนซ์ที่ผมพยายามสร้างขึ้นมา มันเทียบเคียงกับคอมมูนิตี้ของเกษตรกรรมได้น้อยมาก ถ้าถามว่าเราเอาไอเดียของคอมมูนิตี้หนึ่งมา copy แล้ว paste กับคอมมูนิตี้หนึ่งได้ไหม ผมว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จะ copy แล้ว paste ได้อยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ร่วมกัน น่าจะเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดในทุกคอมมูนิตี้ คือการเคารพทุกคนที่มาอยู่ร่วมกัน ทำให้ทุกคนในกลุ่มรู้สึกว่าสามารถร่วมแชร์หรือแสดงออกสิ่งที่เป็นจุดแข็งของเขาออกมาได้ อย่างในบริษัท เราให้ความเคารพทั้งคนโบกรถและประธานคณะผู้บริหาร ในด้านการเกษตร เราเคารพเกษตรกรว่าเขามีความรู้ในงานอย่างละเอียด วิธีการหยอดเมล็ดลงดิน การรดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ
“
เมื่อเราเคารพคนอื่น เราจะเห็นรายละเอียดในตัวเขามากมาย เราจะสามารถหาจุดแข็งของแต่ละคนได้ เราก็สามารถ co-create ร่วมกัน เกิดเป็นสิ่งใหม่ นี่คือพลังของคอมมูนิตี้
”
ยกตัวอย่างสวิงแดนซ์ มีคนเข้ามาช่วยกันทำงานหลากหลาย มีคนมาช่วยถ่ายรูป เปิดเพลง ทำเว็บไซต์ ช่วยสอนเต้น ช่วยร้องเพลง ในแต่ละคอมมูนิตี้ ถือเป็นเวทีให้ทุกคนก้าวไปพร้อมๆ กัน ความสามัคคีและสอดคล้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในฐานะผู้นำ เราต้องใจกว้างมากๆ ต้องพยายามดึงพลังและจุดแข็งด้านบวกของทุกคนออกมา
ล่าสุดคุณกำลังเริ่มต้นโปรเจ็กต์ค้าปลีกขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้หลักการเดียวกับการสร้างคอมมูนิตี้ด้วยใช่ไหม
ที่ไอคอนสยาม เรากำลังทำโครงการ ‘สุขสยาม’ ผมตัดสินใจมาทำเพราะรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจความเป็นไทย เราดึงชุมชน ชาวบ้าน และเศรษฐกิจของทุกภาค มาอยู่รวมกันเพื่อ co-create ด้วยกัน จะมีโอกาสสักกี่ครั้งในชีวิตที่เราจะได้สร้างเมืองขึ้นมา เรากำลังสร้างเมืองขนาด 10 ไร่ เป็นระบบนิเวศที่มีความลึกซึ้ง เมื่อเราทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรม ก็ต้องค้นคว้าข้อมูล ยิ่งค้นไป ก็ยิ่งพบว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมาก มันทำให้เราภูมิใจในความเป็นไทยมาก
เคยมีคนมาถามว่า ทำไมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมันเป็นกระแสที่กำลังกลับมา ผมก็ตอบว่า ตอนนี้คอนเทนต์เยอะมาก และไหลไปเร็วมาก อะไรก็ตามที่ไม่ลึกซึ้งพอ ไม่แตกต่างหรือมีคุณค่าพอ มันก็จะผิวเผิน มาแล้วก็ไป ยิ่งเราในทุกวันนี้มีพฤติกรรมเสพข้อมูลรวดเร็ว โจทย์คือต้องหาวิธีที่ทำให้คนมาอยู่ร่วมกัน มาทำงานด้วยกัน มาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นด้วยกัน ผมมองว่านี่เป็นงานที่มีความหมายมาก
คุณชอบพูดถึงคำว่า co-create และการสร้างคุณค่าอยู่บ่อยๆ มันคือสิ่งสำคัญที่สุดของคอมมูนิตี้หนึ่งๆ ใช่ไหม
ลองดูในทางธุรกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นใน supply chain (ยกตัวอย่างบริษัท เอ-เบสต์ ธุรกิจจัดหาและเพิ่มมูลค่าผักผลไม้ให้กับช่องทางการค้าที่หลากหลาย) ต้นน้ำคือเรา เราปลูกเองและทำ contract farming บวกกับไปซื้อจากผู้รวบรวม หลังจากนั้นเราดึงเข้ามาสู่กลางน้ำ ที่เรียกว่า VAC หรือ Value-Added Center นำผักผลไม้มาคัดแต่ง จากนั้นจึงส่งสินค้าเข้าสู่ช่องทางต่างๆ มีทั้งซูเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล ร้านอาหาร กระจายไปสู่ปลายน้ำ
หน้าที่ของเราในระบบนิเวศนี้ หรือคอมมูนิตี้นี้ คือการบริหารทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ได้เห็นภาพรวมของการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งมาก และผมก็รู้สึกรักมันมาก ในฐานะคนไทยผมคิดว่าทุกคนควรมีโอกาสสัมผัสความงามของการเกษตรของบ้านเรา ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของไทยเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม แต่ผมเองและคนส่วนใหญ่เกิดและเติบโตในเมืองใหญ่ เราใช้ชีวิตสะดวกสบายด้วยการไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหาร ก่อนเข้ามาดูแลธุรกิจนี้ ผมไม่เคยคิดสงสัยถึงที่มาที่ไปของผักหรือผลไม้ที่เรากิน กว่าจะปลูกได้ผลผลิตต้องใช้เวลาหรือกระบวนการอะไร อย่างกล้วยต้องใช้เวลา 9 เดือน หรือผลไม้บางชนิดใช้เวลานาน 5-7 ปี
ถ้าเราทุกคนได้มองเห็นการทำงานของคนในอาชีพเกษตรกร เข้าใจถึงความท้าทายและความเสี่ยงในอาชีพ และมีความเคารพกันและกัน เราจะไม่บ่นเรื่องราคาแน่นอน เราอาจคุ้นเคยกับการซื้อขายหุ้น กดปุ่มแล้วเห็นผลกำไรขาดทุนทันที แต่การเกษตรคือธรรมชาติ เราเร่งไม่ได้ มันมีวงจรที่ไปขืนไม่ได้ พอได้เห็นวงจรธรรมชาติ ได้เข้าไปสัมผัส จึงรู้ว่าประเทศไทยมีเสน่ห์ มีเรื่องราวที่บางคนอาจจะไม่ได้มีโอกาสสัมผัส
จำได้ว่าวันแรกที่ทำงาน ผมเดินเข้าไปในตลาดไท คุยกับเจ้าหน้าที่ บอกเขาว่าอยากรู้จักแม่ค้าเบอร์หนึ่งของผักทุกชนิด ใครคือเจ้าแม่ฟักทอง ใครคือเจ้าแม่กะหล่ำปลี แตงโม คะน้า จากนั้นผมก็เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อสืบย้อนไปดูต้นทาง คุยกับพ่อค้าคนกลางและเกษตรกร เขาก็ต้อนรับเป็นอย่างดี เป็นการเรียนรู้ด้านการเกษตรที่สนุกมากๆ อย่างตอนไปดูฟักทอง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เขาก็แสดงวิธีให้เราดูตั้งแต่เริ่มต้น การวางเมล็ดลงดินอย่างถูกต้อง เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นคุณค่าที่สร้างขึ้นโดยตัวเขา ผมเองก็ตั้งใจทำงานของผม เพื่อให้ supply chain นี้เติบโตขึ้น
supply chain ของสุขสยามก็มีความแตกต่างจากการเกษตร แต่ในโลกของการค้าปลีก เราก็ต้องสร้างคุณค่าได้เช่นกัน และมันยังมีความละเอียดอ่อนมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะต้องลงลึกไปในเรื่องราวเชิงลึกของทุกสินค้า อย่างที่มีคนบอกว่า Retail is detail มาสิ ผมจะแสดงให้คุณดู (พาไปดูชั้นวางขายเสื้อยืดที่ระลึกของกลุ่มสวิงแดนซ์) เสื้อยืดจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยก็จะดึงดูดคนซื้อมากกว่า ทั้งตำแหน่งและรูปแบบการวาง ต้องไม่วางซ้อนกันสูงเกินไป เพราะคนจะรู้สึกว่าเป็นสินค้าค้างสต๊อก หรือไม่ต่ำเกินไป เพราะคนจะรู้สึกว่าไม่มีของให้เขาเลือก ดังนั้นรายละเอียดจึงเยอะมาก ทำให้เราต้องศึกษาและทุ่มเททำงานตลอดเวลาเหมือนกัน
คุณค่าที่เราได้ร่วมกันสร้างขึ้นมานั้นจะกลายเป็นผลกำไรทางธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้อย่างไร
ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เขาเรียน MBA มาจากอังกฤษ ผมถามเขาว่าบทเรียนสำคัญที่สุดที่เขาได้รับมาคืออะไร เขาให้คำตอบสั้นๆ เพียงสองคำ คุณต้อง ‘create value’
“
ทุกอย่างที่ทำต้องสร้างคุณค่าขึ้นมา ถ้าเราได้ทำงาน สร้างผลงานที่มีคุณค่า โลกจึงจะเดินหน้าไปได้
”
งานของเราทุกคนมีคุณค่า แม้กระทั่งพ่อค้าคนกลางก็สร้างคุณค่าเหมือนกันนะ เพราะเขาคือคนทำงานโลจิสติกส์ ตอนเด็กๆ เรามักจะถูกสอนว่าพ่อค้าคนกลางชอบเอารัดเอาเปรียบ แต่คุณรู้ไหม ถ้าไม่มีพ่อค้าคนกลาง คุณก็จะไม่มีอาหารอยู่บนโต๊ะแบบนี้ งานของเขาก็มีความสำคัญ เขาต้องขับรถวนเวียนทั้งวันเพื่อหาสินค้าป้อนตลาด 365 วัน ถ้าไม่มีคนแบบนี้ ระบบนิเวศนี้ก็ดำรงอยู่ไม่ได้
แต่เมื่อร่วมกัน create value ทุกจุดของ supply chain อีกสิ่งที่ต้องเรียนรู้ คือถึงแม้ว่าเรา create value ได้แล้วก็ตาม บางครั้งเรากลับ capture value ไม่ได้เลย กว่าจะ capture value ได้ ยกตัวอย่าง amazon เขาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซและได้ create value อย่างมหาศาล แต่เขาเพิ่งได้ทำกำไรหลังจาก 10 ปีผ่านไป แสดงว่าก่อนหน้านั้นเขายัง capture value ในเชิงผลตอบแทนไม่ได้ ดังนั้น ไม่ใช่ทุกๆ การ create value จะทำให้เรา capture value ได้ นี่คือบทเรียนสำคัญที่ผมเรียนรู้มาจากประสบการณ์การทำธุรกิจ
เปรียบเหมือนเกษตรกรใช้เวลาปลูกกล้วย 9 เดือน เกิดการต่อรองราคา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของโลกการค้า บางคนมีอำนาจต่อรองมากกว่าเรา เรารู้สึกว่าลงทุนลงแรงไปมาก เราควรได้มาร์จิ้นเท่านี้ แต่กลับไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการแข่งขัน หลักการเศรษฐศาสตร์ ‘The Invisible Hand’ มือที่มองไม่เห็น โลกการค้าเสรีทำให้การแข่งขันสูง สุดท้ายเราก็ไม่ได้ capture value เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้รุนแรง แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ผมมองว่าการ create value สำคัญกว่า แล้วเราค่อย capture value ให้ได้ภายหลัง
ในทุกๆ ระบบนิเวศ ชนชั้นล่างสุดหรือคนที่อยู่ต้นน้ำที่สุด จะ capture value ได้น้อยกว่าหรือเปล่า
ความจริงในทุกวันนี้เกษตรกรก็มีจังหวะที่มีอำนาจการต่อรองสูงนะครับ มันเป็นธรรมชาติของการค้าขายที่แต่ละคนต้องต่อรองกัน แล้วมันก็มีราคาตลาดที่เราทุกคนใช้ยึดอยู่ ซึ่งเป็นราคาที่ควบคุมโดยวงจร อย่างราคาตลาดของผักกาดหอม ผมเคยขายได้ในระดับราคาตั้งแต่ 3-70 บาท ถ้าต้องขาย 3 บาทนี่ถือว่าเราทิ้งให้ปลากินยังคุ้มกว่าค่าขนส่ง ถามว่าทำไมบางครั้งราคาถึงพุ่งไปถึง 70 บาท ก็เพราะสินค้าไม่มีหรือมีน้อยในตลาด ถ้าใครมีสินค้า เขาก็มีอำนาจการต่อรอง
สุดท้ายมันคือ survival of the ffiittest ใน food chain ของระบบนิเวศ เปรียบได้กับ supply chain
ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจเอง แต่เขาอยู่ท่ามกลางธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วและแข็งแรงมากๆ คุณคิดว่ามันจะยากขนาดไหนที่เขาจะต้องสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา ธุรกิจที่อยู่มาได้นั้นมัน ffiittest แล้ว นอกจากว่าคุณต้องทำอะไรที่ไม่เหมือนกับคนอื่นจริงๆ หรือต้องดีกว่าคนอื่นจริงๆ คือคุณต้องเจ๋งจริง ถ้าธุรกิจใหม่ของคุณ ffiittest คนที่อยู่ในร่มธุรกิจนั้นก็จะมีความสุขได้อยู่ในวงจรที่แข็งแรง และ create value ได้ดีด้วยเหมือนกันอยู่แล้ว เป็นความแข็งแรง
ดังนั้น คุณต้องทั้งแตกต่างและทั้ง ffiit ให้ได้เพื่อเอาตัวเองให้รอดกับทุกๆ อุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันนี้