ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย: สูงวัยอย่างมีคุณภาพได้ แค่ออกกำลังกาย กินให้น้อย นอนให้พอ

เกิด แก่ เจ็บ ตาย

        สัจธรรมที่ได้ยินมาแต่ไหนแต่ไรว่าสุดท้ายเราล้วนต้องเผชิญ แต่คงไม่เกินไปเท่าไหร่ หากจะบอกว่าความคิดนั้นได้เปลี่ยนไป หลังจากได้พูดคุยกับ ดอกเตอร์ศุภวุฒิ สายเชื้อ และอ่านหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า Healthy Aging ว่าด้วยการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ที่เขาได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยด้านสุขภาพในหลายสิบปีมาไว้ในหนังสือสองร้อยหน้านี้

        หนังสือที่ดอกเตอร์ศุภวุฒิใช้ประสบการณ์ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ เปลี่ยนจากคิดเรื่องการเงินระดับประเทศ มาสำรวจสุขภาพร่างกายระดับบุคคลแทน การศึกษายาวนานที่เผยให้เห็นหนทางใหม่ว่า แม้สุดท้ายเราจะแก่ แต่อาจไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยก่อนตายก็ได้

        หากเพียงแค่เรากลับไปใช้ชีวิตตามที่ร่างกายมนุษย์นั้นถูกดีไซน์ – เคลื่อนไหวร่างกายให้บ่อย กินให้น้อย และนอนให้พอ – สามข้อสรุปจากการศึกษาค้นคว้าด้านสุขภาพมายาวนานของ ดอกเตอร์ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่เชื่อว่า เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ แล้วค่อยตาย นั้นทำได้จริง

 

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จากความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์เศรษฐกิจ เปลี่ยนมาเป็นเรื่องสุขภาพได้อย่างไร 

        ความสนใจผมมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเรื่อง practical guide ทำอย่างไรให้สุขภาพดีจนวันตาย ซึ่งก็คือวิธีการกิน นอน ออกกำลังกาย และความสนใจอีกส่วนคือเทคโนโลยีการแพทย์ที่ปัจจุบันไปไกลมากแล้ว 

        ยกตัวอย่างเทคโนโลยีล่าสุด มีงานวิจัยออกมาว่า เราสามารถกระตุ้นให้เซลล์ร่างกายอายุน้อยลงได้ เป็นงานวิจัยจาก ดอกเตอร์เกรกอรี ฟาฮี (Dr. Gregory M. Fahy) ที่พบว่าเราสามารถกระตุ้น Thymus Gland ซึ่งเป็นต่อมที่คุมเรื่อง immunity ต่อมนี้จะเริ่มฝ่อตอนอายุยี่สิบกว่า และจะหายไปเลยตอนอายุหกสิบ อย่างผมนี่ไม่มีต่อมนี้แล้ว มันกลายเป็นก้อนไขมัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนแก่ถึงตาย เป็นไข้หวัดใหญ่ ติดโควิด-19 ก็ตายง่ายกว่า เพราะภูมิคุ้มกันมันไม่มีต่อม Thymus ซึ่งเป็นเสมือนแคมป์ฝึกภูมิคุ้มกันมาช่วย เลยไม่แข็งแรง งานวิจัยนี้เขาก็เลยใช้การกระตุ้น Thymus Gland ให้ฟื้น ปรากฏว่าได้ผล แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาคือร่างกายหนุ่มขึ้นไปด้วยเลย ฉะนั้น ในเชิงคอนเซ็ปต์เรื่อง Reverse Aging นั้นเป็นไปได้แล้วนะ แต่เราไม่รู้กัน เพราะมัวแต่กลัวเรื่องโควิด-19 จนไม่ได้สนใจเรื่องอื่นเลย

        หรืออีกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนมีนาคม โดย ดอกเตอร์ชินยะ ยามานากะ (Dr. Shinya Yamanaka) ที่คิดค้น Induced Pluripotent Stem Cells (iPCSs) จากที่เราพยายามหาสเต็มเซลล์จากรกเด็ก ฉีดกันเข็มละแสนกว่าบาทเพื่อรักษาร่างกายทีละจุด แต่งานวิจัยเรื่อง Induced Pluripotent Stem Cells นี้มันหมายความว่าเราสามารถหมุนเวลาเซลล์ปกติให้กลับเป็นสเต็มเซลล์ได้ งานวิจัยนี้ก็ทำให้ดอกเตอร์ยามานากะได้รางวัลโนเบลไปแล้วในปี 2012 ในช่วงที่ผ่านมาก็มีบริษัทต่างๆ ตั้งขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้เยอะมาก รัฐบาลสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มอียู ก็ร่วมสนับสนุนด้วย 

        พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้เราสามารถทำให้เซลล์ย้อนวัยได้แล้ว ถ้าเราทำได้ก็จะแก้ปัญหาได้เยอะมาก และที่น่าสนใจคือ งานวิจัยนี้เขาบอกว่าเวลาคุณ induce ให้เซลล์มันอ่อนวัยลง ไม่ต้องทำให้มันถึงขั้นกลับไปเป็นสเต็มเซลล์ก็ได้ แค่ย้อนเวลาให้มันหนุ่มขึ้นก็ได้ อันนี้พิสูจน์แล้วกับเซลล์กระดูก เซลล์กล้ามเนื้อ ลองคิดดูว่าถ้าเวลาผ่านไป เรื่องนี้มีพัฒนาการมากขึ้น ในไม่ถึง 20 ปี คนเราจะเลือกอายุตัวเองได้เลย เพราะสามารถย้อนวัยคนได้

        ผมเล่าเบื้องต้นเท่านี้ก่อน ทุกอย่างที่ผมพูดมันถูกตีพิมพ์ในงานวารสารทางวิชาการ ผ่าน peer review แล้ว ไม่ได้มั่ว ยืนยันได้ หรือรางวัลโนเบลที่ดอกเตอร์ยามานากะได้รับก็เป็นการยืนยันอย่างดีว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง 

        ความสนใจผมเลยมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือทำให้ตัวเองสุขภาพดี เรื่องสองคือพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มีแรงบันดาลใจให้ดูแลตัวเองไปจนกว่าเทคโนโลยีพวกนี้จะมาถึง

เทคโนโลยีทางการแพทย์พวกนี้จะเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไร

        เทคโนโลยีสามารถดิสรัปต์โลก ทั้งโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล ฯลฯ วงการเดียวที่ยังไม่ถูกดิสรัปต์คือการรักษาโรคปัจจุบัน เรายังทำเหมือนร้อยปีที่แล้ว ต้องไปโรงพยาบาล นัดหมอ เพื่อรักษาแต่ละโรค โดยที่หมอจะวินิจฉัย เน้นการตรวจโรคและอวัยวะ แล้วสั่งยาให้สามสี่อย่าง ให้คุณไปลองดูว่าอันไหนมันเหมาะกับคุณ อันไหนแพ้ไม่แพ้ มันเป็นการวินิจฉัยในระดับบน ดูจากอวัยวะและโรคที่ปรากฏ 

        แต่นักวิจัยด้าน aging เป็น pioneer สังเกตว่างานวิจัยพวกนี้เป็นเรื่องระดับเซลล์ จะเปลี่ยนแนวคิดไปเลย เช่น Prulipoten Stem Cells นั้นสามารถย้อนอายุเซลล์ในร่างกาย สามารถรักษาได้ทุกโรค คือกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้งเลย

นอกจากสเต็มเซลล์เปลี่ยนโรค มีเทคโนโลยีอะไรที่จะเปลี่ยนโลกอีกบ้าง 

        มีอีกเทคโนโลยีที่น่าจะได้รางวัลโนเบลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ที่เรียกว่า CRISPR-Cas9 (คริสเปอร์แคสไนน์) หรือการอีดิตยีน เช่น ถ้าคุณมียีน APOE4 คุณมีความเสี่ยงจะเป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งตอนนี้ Broad Institute ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกับ MIT สามารถอีดิตยีนนี้ออกไปได้เลย หรือตัวอย่างที่มีข่าวนักวิทยาศาสตร์จีนคนหนึ่งเขาโคลนเด็กแฝดให้เกิดมาเมื่อปี 2018 แล้วเขาอีดิตยีนตัวหนึ่งออกไปเพื่อให้เด็กแฝดหญิง ชื่อนานากับลูลู ไม่มีทางเป็นโรคเอดส์

        CRISPR-Cas9 นี่อีดิตยีนทุกอันได้เลย ถ้าคุณเป็นธาลัสซีเมีย อีดิตยีนนี้ไปได้ก็ไม่เป็นแล้ว เทคโนโลยีการแพทย์มันไปทางนี้ ซึ่งอาจจะดิสรัปต์การแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง เราจะไม่มีหมอ มีแต่ Genome Engineer คุณจะมี engineer ที่ไปดูว่ายีนอันไหนมันบกพร่องแล้วไปจัดการตรงนั้น หรือถ้าจัดการไม่ได้ก็จะไปจัดการสเต็มเซลล์ แล้ว Reverse Aging แทน แต่ทุกอย่างทำในระดับเซลล์หมด 

        เทคโนโลยีพวกนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้น ผมอาจอยู่ไม่ทัน แต่พวกคุณนี่แหละ ดูแลตัวเองให้ดีกันต่อไป คุณเลือกได้ว่าคุณจะตายเมื่อไหร่ หรือไม่ตาย เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าการควบคุมยีนของมนุษย์จะทำให้ควบคุมอายุขัยได้

        ยีนนี่คือ Instruction Set สำหรับร่างกาย ถ้าคุณทำ Map Genome ของตัวเอง ต่อไปคุณรู้ก่อนเป็นโรคด้วยซ้ำว่าคุณเสี่ยงเป็นโรคอะไร แล้วค่อยไปคุยกันว่าจะอีดิตยีนนี้ออกเลยไหม หรือจริงๆ ไม่ต้องไปพบที่โรงพยาบาล สามารถคุยอยู่บ้านนี่แหละ เขาแค่ใส่ชิปแทร็กยีนคุณ วันไหนยีนคุณมีปัญหา หรือมีเซลล์ที่อาจกำลังกลายเป็นเนื้องอก ศูนย์ข้อมูลจะรู้ก่อนตัวคุณอีก ซึ่งจะดิสรัปต์การแพทย์แบบปัจจุบัน เพราะคุณไม่ต้องมาโรงพยาบาล เมื่อเขาได้ข้อมูล ก็แค่ส่งยาไปให้ที่บ้านเลย Future of Medicine น่าจะเป็นแบบนี้ และจะไม่ใช่การรักษาด้วยยารักษาโรค และเป็น Genomic Therapy คือการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงยีนของคุณ

อีกนานเท่าไหร่กว่าเราจะเห็นการดิสรัปชันใหญ่ในการรักษาสุขภาพแบบนี้

        ผมไม่รู้ว่าผมจะอยู่ทันเห็นหรือไม่ แต่ผมรู้ว่าสหรัฐอเมริกาลงทุน Map Genome เมื่อปี 1998 เสร็จตอนปี 2003 ตอนแรกใช้เงินไปสองพันกว่าล้านเหรียญฯ ตอนนี้มีบริษัท Genome Mapping ทำให้คุณได้ในราคาสี่ร้อยเหรียญฯ ต่อไปเมื่อราคาลดลงไปอีก อาจมีการ Map for Free หรือเป็นของแถมไปเลย 

        จากที่เขาเริ่มต้นจากศูนย์ มาจนถึงขั้นนี้ได้เขาใช้เวลาเพียง 17 ปี ฉะนั้น ในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า เราน่าจะรู้ได้หมดเลยว่ายีน 20,000 ยีนในร่างกายเรา ตัวไหนรับผิดชอบเรื่องอะไรบ้าง

        เทคโนโลยีสามารถทำให้เขาสามารถค้นคว้า ไล่ดูได้ เขาไล่ดูได้ว่ายีนตัวไหนทำให้เป็นโรคอะไร ยีนตัวไหนทำให้ตาบอด เป็นโรคปอด เป็นเบาหวาน ความดัน ก็บอกได้ เพราะหลายโรคที่เราเป็นกันอยู่ในขณะนี้ก็มีต้นตอมาจากยีน ขอแค่เวลาแทร็กเท่านั้นแหละว่าเป็นยีนตัวไหน แล้วค่อยใช้ CRISPR-Cas9 ไปอีดิตได้ 

 

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ข้อดีของเทคโนโลยีคือให้ความหวัง แต่ในขณะเดียวกันมันจะทำให้เรานิ่งนอนใจ ปล่อยร่างกายให้อยู่ในความดูแลของเทคโนโลยีหรือไม่

        ผมไม่ได้บอกให้นิ่งนอนใจ แต่กลุ่มเป้าหมายของหนังสือผมคือพวกคุณในวัยสามสิบ ที่ร่างกายแก่ลงเพียงเล็กน้อย แต่ยังทำงานได้ดีอยู่ แต่ผมรับรองเลยว่าหลังจาก 40 ร่างกายจะเริ่มแก่ตัวอย่างรวดเร็วแบบทวีคูณ

        เจตนาของการเขียนหนังสือเล่มนี้เลยคืออยากให้คนอายุสัก 30 อ่านว่าคุณจะ maintain peak ของคุณไปได้นานอีก 30-40 ปีได้อย่างไร ตัวของผมเองเริ่มสายเกินไป เพราะมัวแต่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ มาเริ่มเอาตอน 50 กว่า สายไปตั้ง 15 ปี เสียดายโอกาสมาก แต่พอทดลองกับตัวเองแล้วเห็นว่าได้ผลดีค่อนข้างมาก ตอนผม 56 ผมหนัก 80 กว่ากิโล ตอนนั้นนี่เจ็บไหล่ เจ็บหลัง เจ็บเข่า ตอนนี้ไม่เจ็บเลย แล้วมันไม่ยาก ไม่เสียเงินเพิ่มด้วย เพราะกินน้อยลง นอนมากขึ้น ออกกำลังกายด้วยการวิ่งที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร มันไม่มีข้อเสียอะไรเลยที่จะทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น มีแต่ข้อดี

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาดูแลรักษาสุขภาพในวัยเกือบหกสิบปี

        โชคดีที่เพื่อนร่วมงานเขาเห็นผมสุขภาพแย่ เพื่อนร่วมงานเห็น แต่ผมไม่เห็นนะ เขาบอกให้ไปตรวจสุขภาพ ผมก็ไม่ไป ผมต้องเดินทางไปต่างประเทศเยอะ ทุกครั้งหลังเดินทางกลับมาไม่สบายตลอด ปีหนึ่งไม่สบาย 5-6 ครั้ง จนคิดว่าเป็นปกติของคนอายุห้าสิบกว่า เพราะผมไม่เคยสนใจสุขภาพเลย มัวแต่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ เหมือนคุณ sub-contract การรักษาสุขภาพตัวเองไปให้คนอื่น เพื่อนเลยแอบนัดหมอ anti-aging แล้วให้ผมไปตรวจ หมออ่านฮอร์โมนแล้วบอกว่าอายุเท่าคนวัย 70 กว่า แต่ตอนนั้นผมอายุ 56 นะ คือแย่มากเลย ผลตรวจวันนั้นมันเป็น wake up call ทำให้ต้องถามตัวเองว่าจะเอายังไงต่อ จะเฉื่อยแฉะไปเรื่อยๆ หรือจะใช้ความเป็นนักวิเคราะห์มาดูข้อมูลแล้วหาทางเลือกให้ตัวเอง

การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจ และข้อมูลสุขภาพ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

        เวลาผมทำวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ผมจะเอาข้อมูลเยอะๆ มาแยกแยะว่าอันไหนสำคัญ ไม่สำคัญ แล้วผมก็ต้องหาข้อสรุปมาบอกนักลงทุนว่าเขาควรจะ take action อะไร งานวิจัยของผมไม่ใช่เอาไว้ขึ้นหิ้ง แต่ต้องเป็น Actionable Ideas จะตัดสินใจอย่างไร จะ buy sell หรือ hold ก็เอาเรื่องข้อมูลมาใช้กับสุขภาพตัวเอง คือแสวงหาข้อมูลอย่างกว้างไกล เริ่มจากข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงคือรางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อถือได้แน่นอน มันถูกกลั่นกรองมาเยอะมากแล้ว แล้วมาเลือกว่าจะ take action ไหนที่ดีที่สุดหลังจากได้ข้อมูลมา 

ข้อมูลที่ได้มา ทำให้เราตาสว่างอย่างไรบ้าง 

        ก็หลายอย่าง เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชื่อเดิมดีกว่า คือ ‘สามสิบบาทรักษาทุกโรค’ กล่าวคือ ระบบปัจจุบันคือรอให้เป็นโรคแล้วค่อยไปรักษา เหมือนรอให้รถชนแล้วเอารถไปซ่อม แต่คุณไม่อยากให้รถชน 

        ดังนั้น เราจึงควรจะ proactive มากกว่า reactive ละ แต่มนุษย์เราส่วนใหญ่จะ reactive ไม่อย่างนั้นบริษัทประกันส่วนใหญ่ขายประกันสุขภาพไม่ได้หรอก ทั้งที่เขาไม่ได้ประกันสุขภาพเลยนะ แต่เวลาเราฟังเขาขาย เราก็ซักถามว่าครอบคลุมโรคนั้นโรคนี้ไหม กลายเป็นว่าเราอยากเป็นทุกโรคเลย จะได้คุ้ม ผมว่ามันไม่ใช่ อย่างผมเองนี่ช่วงหนึ่งก็ซื้อประกันตรึมเลย แล้วก็จี้ถามราวกับว่าอยากเป็นทุกโรคเลย แต่เราคิดผิด เรามัวแต่รอให้โรคมาเยือนแล้วหวังว่าประกันจะมารักษาโรคได้อย่างไร 

        วันนั้นที่ไปตรวจสุขภาพมันถึงมีแรงกดดันกึ่งบันดาลใจว่าต้องคิดใหม่แล้ว เพราะคิดแบบนี้มันผิดหมดเลย ทั้ง attitude หรือเรื่องประกันสุขภาพ ทำไมเราต้องรอให้เป็นโรคจะได้ใช้ประกัน ใช้สิทธิสามสิบบาท ทั้งที่ปกติแค่ไปหาหมอยังไม่อยากไปเลย 

        คนเราบางคนนี่รู้ว่าตัวเองจะเป็นโรคยังไม่ยอมไปตรวจร่างกายเลย อาศัยทำบุญเอา หรือไปรอรักษาโรคตอนป่วย จะเลือกเดินทางนั้นก็ได้ หรือจะเลือกอีกทาง คือเลือกรักษาสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่ทางที่คนส่วนใหญ่เลือก คนส่วนใหญ่ by default เลือกรักษาโรค 

ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราไม่มีข้อมูล เรามีข้อมูลมากมาย แต่ข้อมูลไหนที่พบแล้วเปลี่ยนความรู้ เป็นการลงมือทำได้

        จากการอ่านบทความทางวิชาการหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีบทความไหนเลยที่บอกให้กินเยอะๆ นอนน้อยๆ ไม่ต้องออกกำลังกาย แล้วจะสุขภาพดี ไม่มีเลย มันตรงกันข้ามหมด สุดท้ายแล้ว การรักษาสุขภาพคือ กินน้อย นอนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ สุขภาพถึงจะดี มีแค่นั้นเองจริงๆ ผมอ่านมาเยอะมากแล้ว

        เพราะว่าร่างกายมนุษย์เราถูกดีไซน์มาแบบนี้ ให้อดอยากบ้าง แล้วก็ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ตอนกลางคืนไม่มีไฟฟ้าก็ต้องนอน มนุษย์เราเกิดมาหกล้านปีที่แล้ว วิวัฒนาการของร่างกายเกิดขึ้นช้าๆ ใช้เวลาเป็นแสนเป็นล้านปี แต่ในช่วงเพียง 50-100 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ประดิษฐ์อาหารฟาสต์ฟู้ด ไฟฟ้า ร่างกายของเรา evolve ไม่ทัน ร่างกายมันถูกสร้างมาให้ล่าสัตว์ ต้องอดมื้อกินมื้อ กลางคืนต้องรีบไปนอนในถ้ำ ไม่อย่างนั้นสัตว์จะมาคาบไปกิน ถ้าคุณใช้ชีวิตตามที่ถูกดีไซน์มา ร่างกายมันถึงจะอยู่ได้นาน ในหนังสือเล่มนี้ก็จะลงรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

        Dr. Daniel Lieberman แกไปดูสรีระของร่างกายคนเรา และกล้ามที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายคือกล้ามที่ก้น (Gluteus Maximus) กล้ามอันนี้เวลาเดินไม่ต้องใช้ ใช้เฉพาะตอนวิ่ง มันต้องวิ่งเพื่อล่าสัตว์ (หรือวิ่งหนี)

ดอกเตอร์ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

สูงสุดสู่สามัญ ถ้าสุดท้ายสิ่งสำคัญคือกลับไปใช้ชีวิตตามพื้นฐานร่างกาย แล้วทำไมเราต้องพึ่งเทคโนโลยี

        เราใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นตัวเสริมศักยภาพของเรา แต่อย่าลืมว่า basic design ของร่างกายมนุษย์มันดีไซน์ให้กินน้อย นอนเยอะ และเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เราก็ต้องใช้ร่างกายแบบนั้น 

        ในหนังสือผมบอกว่าให้วิ่งอาทิตย์ละ 20 กิโล กิน 2 มื้อ นอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง แค่นี้ก็พอ เบสิกต้องเป็นแบบนี้ อย่างอื่นคุณทำอะไรผมไม่สน แต่ผมขอพื้นฐานเท่านี้

        ดอกเตอร์โอซูมิ (Yoshinori Ohsumi) ได้รางวัลโนเบลเมื่อปี 2016 บอกว่าเซลล์มัน rejunevate ตัวเอง เซลล์มันมี autophagy คือการฟื้นฟูตัวเองโดยการกลืนกินของเสียภายในเซลล์เมื่อมีการอดอาหาร ฉะนั้น คุณควรกิน 2 มื้อ หรือบางวันผมกิน 1 มื้อหรือ 2 มื้อกับอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้คุณรู้สึกหิวนิดๆ ทุกวัน และนอนให้พอ 

ข้อมูลทำให้เริ่มลงมือทำ แต่กุญแจสำคัญคืออะไรที่จะทำให้คนเราลงมือทำได้อย่างต่อเนื่อง 

        ปีแรกก็เหนื่อยนะครับ ยอมรับว่าหิว ช่วงเวลาอาหารเย็นเคยเป็นไฮไลต์ของวัน กลับมาหิวก็ต้องรีวอร์ดตัวเอง แต่กลายเป็นต้องไปวิ่ง ช่วงแรกยากมาก แต่ข้อดีของการเป็นนักวิจัยคือเราจะมีวินัยในระดับหนึ่ง เวลาเราต้องวิเคราะห์อะไร สมาธิและความมุ่งมั่นจะต้องมีจึงจะวิเคราะห์ได้ สงสัยว่าสมาธินี่มันทำให้มีความแน่วแน่ในการที่จะทำสิ่งยากให้ลุล่วงไปได้ คนที่มีสมาธิจะมีความแน่วแน่ จิตใจไม่ว่อกแว่ก

        แต่ในอีกส่วนหนึ่งคือ ข้อมูลที่ได้มา ยิ่งอ่านยิ่งเถียงตัวเองไม่ได้ว่าทำไมเราต้องไม่กลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมอีก ถ้ากลับไปแบบเดิม สุขภาพจะไม่ดีอย่างแน่นอน ผมจนด้วยปัญญา ผมพยายามไปหาข้อมูลอื่นมาแย้งว่าเรากินเยอะได้ ไม่ต้องออกกำลังกาย แต่ผมหาไม่ได้ มันไม่มี 

        ข้อมูลมันฝังอยู่ในหัวแล้ว รู้แล้วจะไปทำแบบอื่นไม่ถูกต้อง เหมือนถ้าคุณได้ข้อมูลหุ้นอย่างหนึ่งมา แต่คุณไป take action ในทางตรงกันข้ามกับข้อมูลก็จะไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ

        ขอให้คุณออกกำลังกายได้สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ฟังดูว่ามากและยาก แต่คุณใช้เวลากินมากกว่านั้นเยอะ เวลาคุณกินอาหาร โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล มันสร้างโดพามีนซึ่งจะทำให้คุณแฮปปี้สุดๆ เลย แต่หากวิ่งจนถึงระดับหนึ่งก็จะได้สารอีกอันหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีเหมือนกัน คือเอ็นดอร์ฟิน แทนที่จะได้โดพามีนจากการกิน ผมก็วิ่งเอาเอ็นดอร์ฟินมาทดแทน แต่ทั้งสองล้วนเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกดีเหมือนกัน

        ปัญหาคือ กว่าเอ็นดอร์ฟินจะออก คุณต้องวิ่งจนเหนื่อยก่อน ซึ่งคนมักจะหยุดวิ่งก่อนถึงจุดที่เอ็นดอร์ฟินเริ่มหลัง คุณต้องวิ่งจนเลยจุดเหนื่อยก่อน เอ็นดอร์ฟินมันจึงจะหลั่งออกมาแล้วทำให้รู้สึกดี ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากวิ่งไปแล้วประมาณ 3 กิโลเมตร 

        ยอมรับว่าช่วงแรกมันไม่ง่าย มันฝืนมาก แต่ผมอ่านงานวิจัยจนรู้ว่าวิ่งไปเท่านี้แล้วเอ็นดอร์ฟินมันจะมา ข้อดีคือเรารู้ข้อมูล เราสามารถอ่านงานวิจัยจนรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น และคาดการณ์ได้

        ทุกอย่างที่ผมเขียนลงหนังสือเล่มนี้ ผมเอาตัวเองเป็นหนูทดลองหมดทุกเรื่อง ทุกอย่างที่ผมเขียนลงไป ผมลองหมดแล้ว พิสูจน์แล้วทั้งในเชิงงานวิชาการและการปฏิบัติว่ามันทำได้จริง

 

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เรามีเทคโนโลยีรักษาโรคมากมาย เรามี easy pill ที่รักษาสุขภาพได้โดยไม่ต้องออกแรงบ้างไหม

        จริงๆ มีทฤษฎีใหม่ที่พูดถึงระบบที่ทำให้เป็นโรค เรียกว่า epigenome เอพิ แปลว่าอยู่เหนือ อันนี้หนังสือที่ผมพูดถึงเป็นหนังสือของ ดอกเตอร์เดวิด ซินแคลร์ (Dr. David Sinclair) ชื่อ Lifespan: Why We Age – and Why We Don’t Have To เขียนลึกมาก อ่านยาก เป็นทฤษฎีใหม่ที่บอกว่า Aging is a disease. (ความแก่ตัวคือโรคชนิดหนึ่ง)  เป็นเรื่องของ epigenome ก็เป็น Paradigm Shift ที่ไม่ใช่เรื่องของการกินแอนติออกซิแดนต์ แต่การพูดถึงสารต้านอนุมูลอิสระนั้นทำให้ขายของได้ คนก็เลยพูดกันเยอะ

        เวลาคนขอคำแนะนำ ดอกเตอร์ซินแคลร์จะตอบว่า พยายามกินให้น้อยจะดีที่สุด แต่ผมพบว่าอาหารที่มีประโยชน์จริงๆ คือน้ำชา ซึ่งผมเขียนลงในหนังสืออีกเล่ม คือ Beating COVID-19 นักวิจัยไต้หวันพบว่า สาร Theaflavin ในชาดำมีสรรพคุณในการต่อต้านการแบ่งตัวของไวรัสซาร์ส ซึ่งต้องยอมรับว่าชามันมีอะไรในกอไผ่จริงๆ คนดื่มกันมาสองพันปีและเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ แต่มันได้ผลอย่างไรในรายละเอียดก็ยังถกเถียงกันอยู่ คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ตกผลึกเต็มที่ แต่มีงานวิจัยล่าสุดของออกซฟอร์ดที่เขียนแนะนำให้ชาเป็นส่วนหนึ่งของการโภชนาการ เป็น part of daily nutrition เลย คือถ้าจะให้มี easy pill ที่กินได้เลยก็น่าจะเป็นชานี่แหละ แล้วมันเป็นพืชธรรมชาติ ไม่ได้สกัดออกมาเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอะไร

เชื่อตามชื่อหนังสือจริงๆ เลยไหมว่าสุดท้ายแล้ว ‘We don’t have to age’

        เพราะว่าเมื่อคุณสามารถคุมยีนได้แล้ว ยีนเป็นตำราทุกอย่างของร่างกาย เหมือนที่บอกไปตอนต้นว่าคุณอีดิตยีนได้แล้ว หรือที่ ดอกเตอร์เกรกอรี ฟาฮี Reverse Aging ได้แล้ว ในเชิงคอนเซ็ปต์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถย้อนเวลาได้

        เราพยายามที่จะทำให้เราสุขภาพดีจนวันสุดท้าย  ส่วนตายไปเมื่อไหร่มันก็แล้วแต่ เรายังไม่สามารถกำหนดได้ ยังเป็น uncertainty อยู่ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ เราต้องการใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขจนวันสุดท้ายของชีวิต และตายไปเลย ไม่เป็นภาระใคร ไม่ทรมานด้วย ตอนนี้มันได้เท่านี้ก่อน แต่ในระยะยาว ไม่มีอะไรมาบังคับว่าเราจะอายุแค่ 80-100 ปีนะ โดยเฉพาะถ้าต่อไปเราทำ Engineer Genome ได้ 

นอกจากประโยชน์ส่วนตัวแล้ว การรักษาตนเองให้มีสุขภาพดีจนวันสุดท้ายจะก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมอย่างไรบ้าง

        ปัญหาตอนนี้ของทุกประเทศคือ กลัวว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุจะสูงมาก ปัจจุบันคนไทยอายุเกิน 60 ปี มีอยู่ 11-12 ล้านคน ในปี 2040 จะเพิ่มมาเป็น 20 ล้าน คนที่อยู่ในวัยทำงานเขาต้องแบกภาระจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าคนกลุ่มนี้สุขภาพดีจนวันสุดท้าย ก็จะไม่เป็นภาระ ตอนนี้งบประมาณที่เราใช้กับประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าจำไม่ผิดอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทในปีนี้ แล้วถ้าคนสูงอายุมากขึ้น คนสุขภาพไม่ดีอีก งบจะเป็นเท่าไหร่ TDRI เคยบอกว่าจะต้องใช้งบถึง 1 ล้านล้านบาท แต่ถ้าทุกคนแก่ แต่ไม่เจ็บ ถึงเวลาตายก็ตายไปเลย ไม่ต้องเป็นโรคอะไรเลย สามารถประหยัดเงินไปได้ล้านล้านบาท จะไม่ดีกว่าหรือ

 


ร่วมรับฟัง ดอกเตอร์ศุภวุฒิ สายเชื้อ และผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ได้จากงาน ‘Lifefulness ‘ชีวิตมีชีวา’ : ให้ชีวิตทุกวันมีคุณภาพ ไปจนถึงวันสุดท้าย’ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘On the Path to Wellness’ วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00-15.00 น. ผ่านทางเพจ ชีวามิตร Cheevamitr Social Enterprise