ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

อาจารย์ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์: คุณภาพชีวิต และทางเลือกการตาย เริ่มต้นได้ที่การออกแบบเมือง

เมืองกับความตาย

        สองหัวข้อที่ดูไม่เข้ากันเสียเท่าไหร่ ใครต่อใครมักเข้าใจว่าทางเลือกของความตายนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล จะเลือกตายอย่างธรรมชาติ หรือจะเลือกหนทางเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นสุดแล้วแต่บุคคลผู้นั้นหรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้กำหนด

        แต่โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ในมิติความตาย โดย อาจารย์ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ได้จัดทำวิจัยว่าด้วยคนไทย 4.0 ในหลายมิติของการมีชีวิตอยู่ รวมถึงความตาย ทำให้เห็นว่าทุกช่วงเวลาของการมีชีวิต เราล้วนสัมพันธ์กับสังคมที่ห่อล้อมเราไว้ สังคมที่กำหนดว่าคุณภาพชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ในขณะที่คุณภาพชีวิตเราก็กำหนดสังคม – ตั้งแต่เกิด จวบจนกระทั่งตาย – ในแง่นี้นั้น ทางเลือกของเราไม่เคยเป็นทางเลือกของเราอย่างสมบูรณ์เลย ชีวิตของเราล้วนสอดประสานสัมพันธ์กับชีวิตอื่นในระบบนิเวศของความเป็นเมืองที่เราอาศัยอยู่ทั้งนั้น

        a day BULLETIN พูดคุยกับ อาจารย์ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยจากโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ที่จะทำให้เห็นว่าเรื่องของเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ไกลตัว แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพชีวิตของเราตั้งแต่เกิด ตลอดจนวันตาย 

        และหากเราอยากเลือกออกแบบการตายดี (Good Death) ได้จริง สิ่งสำคัญอาจต้องเริ่มจากการออกแบบเมืองที่ดี

 

ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ว่าด้วยความตายในเมือง

        เริ่มต้นจากสภาวิจัยแห่งชาติที่ให้ทุนทำวิจัยว่าด้วยคนไทย 4.0 ซึ่งมีหลายโครงการ ชวนดูภาพชีวิตคนไทยตั้งแต่เกิด แก่ การทำงาน อยู่อาศัย ซื้อของ เดินทาง ฯลฯ โดยงานนี้ อาจารย์อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ชวนไปมองเรื่องความตายในมิติของคนเมือง เพื่อปิดลูปว่าคนเมืองในประเทศไทยในยุค 4.0 ตั้งแต่เกิดจนตายนั้นมีภาพอะไรบ้าง และจังหวะที่ตายนั้นเป็นอย่างไร

        ซึ่งโดยทั่วไป เรื่องความตาย คนก็ไม่คิดว่ามันจะมีอยู่ในรัฐศาสตร์ คนมักคิดว่าเป็นประเด็นของหมอ หรือมีช่วงหนึ่งที่ครุศาสตร์เคยนำมาพูดถึง ก็จะเป็นเรื่องการเตรียมตัวตาย แต่วิชาความตายในรัฐศาสตร์มันก็มีความต่างออกไป

        สิ่งที่โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ต้องการคือ projection สำหรับการวางแผนในทางนโยบายในอนาคต ว่าเรามองเห็นอะไรแล้วอยากเสนอแนะเพื่อสร้างสังคมไทยในรูปแบบไหน ทุกโครงการวิจัยนี้เป็น Foresight Study คือสร้างเฟรมเวิร์กในการมองก่อน เราจะยังไม่ลงไปใน Empirical Data (ข้อมูลเชิงประจักษ์) จากการลงไปเก็บสำรวจ 

        บางคนอาจจะบอกว่าจะศึกษาแบบไม่มีข้อมูลได้อย่างไร เราก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของการจินตนาการที่ท้าทาย แต่ถ้าจะพูดถึงอนาคตผ่านมุมมองปัจจุบันตลอดเวลา เราจะออกแบบอนาคตได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การเตรียมพร้อมอนาคต มุมมองที่ใช้จินตนาการก็สำคัญ เราก็ต้องหาทางระบุ scenario ว่าอะไรพอจะเป็นไปได้ แล้วค่อยไปทดสอบในขั้นต่อไปว่ามันจริงหรือไม่

การทำนายอนาคต (projection) ในรูปแบบงานวิชาการ จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายในการปฏิบัติจริงอย่างไรบ้าง 

        สิ่งที่เราทำได้คือการ scoping เช่น สโคปของการศึกษาที่ทำคือเรื่องวาระท้ายของชีวิต อีกสโคปก็คือเรื่องของการจัดการร่าง จากผู้ป่วยระยะสุดท้าย มาสู่การเป็นศพที่ไร้ชีวิตแล้ว เพื่อดูว่าคุณค่าของสิ่งที่เหลืออยู่ในช่วงสุดท้ายของความเป็นมนุษย์นั้นคืออะไร สังคมจะจัดการกับมันอย่างไร เพราะสังคมมีข้อจำกัดเยอะมากในการใช้พื้นที่ เช่น การจัดการร่างตามมิติของศาสนานั้นต้องใช้พื้นที่สาธารณะเยอะมาก ซึ่งแต่ละศาสนาก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน 

        อีกอย่างคือคุณค่าของคนรุ่นใหม่เอง ที่หลายคนอาจไม่มีญาติพี่น้องหลงเหลือพอที่จะไปจัดการศพ อาจฟังดูหดหู่แต่มันไม่ได้เลวร้าย หลายคนเองก็เตรียมตัวตายแบบนี้ คนสมัยนี้มีวิธีคิดเรื่องการเตรียมตัวตายที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องยึดธรรมเนียมศาสนาอีกต่อไป 

งานวิจัยของอาจารย์ใช้วิธีทางวิชาการเป็นส่วนใหญ่ อย่างการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ทำให้เห็นการจัดการความตายที่ต่างไปในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นเมืองมากขึ้นอย่างไรบ้าง 

        เวลาพูดว่าชีวิตคืออะไร จะเตรียมตัวตายอย่างไร มันก็สัมพันธ์กับบริบทสังคมที่เขาอยู่ และคนปัจจุบันเริ่มคลายความเชื่อในประเพณี ศาสนา เปิดกว้างต่อสิ่งที่เป็นตัวเองมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ความตายเกี่ยวข้องกับประเพณีทางศาสนาเยอะ ตั้งแต่สวด ฝัง เผา ปัจจุบันมันเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ที่เขามองว่าใช่หรือเหมาะสม 

        การคลายตัวของประเพณี มันมาพร้อมกับ mobility ของสังคม มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ และสภาวะหลายอย่าง เช่น ในทางทฤษฎีก็จะอธิบายว่าการคลายตัวของประเพณีมาจาก secularism การแยกบทบาทศาสนาออกจากรัฐ อันนี้คือในเชิงมิติของอำนาจการจัดการ แต่การคลายตัวของประเพณีปัจจุบันมันเป็นเรื่องของการจัดการชีวิต เป็นเรื่องของทางเลือก เพราะในสังคมเมืองเรามักรู้สึกว่าเราต่างตัวใครตัวมัน ซึ่งมันก็จะทำให้คนมองไปข้างหน้ามากกว่ามองข้างหลัง ต่างจากคนรุ่นก่อนที่ถูกสอนมาว่า ให้ดูแลพ่อแม่ แต่รุ่นนี้พ่อแม่ก็จะบอกลูกว่า ไม่ต้องห่วงพ่อแม่หรอก ให้ดูแลตัวเอง ก็เป็นไปได้ว่าคุณค่าเรื่องดูแลพ่อแม่ยามแก่จะเปลี่ยนไป ซึ่งมันก็มีผลต่อทางเลือกในช่วง 6 เดือนสุดท้ายทั้งหมดเลย ทั้งเรื่องสถานที่ตาย การจัดการทั้งหลายที่รูปแบบความตายเดิมๆ จะถูกท้าทาย 

        นอกจากสถานที่ตาย เรื่องการจัดการร่างก็จะถูกท้าทายเช่นกัน เช่น ชุมชนที่เข้าใกล้วัดมากขึ้นทุกที มีคอนโดฯ สูงมาสร้างล้อมเมรุ คนร้องเรียนว่าเวลาเผามีควันรบกวน ถึงแม้ชุมชนจะมาทีหลัง แต่วัดก็เริ่มคิดแล้วว่าจะทำยังไงดี สัปเหร่อก็ต้องหาทางจัดการศพ เช่น หาสารบางอย่างมาโรยศพก่อน หรือหาวิธีใหม่ไปเลย จะไม่เผาเลยได้ไหม อย่างต่างประเทศที่มีนวัตกรรมนำศพไปทำเป็นแคปซูล เอาไปปลูกเป็นต้นไม้ หรือ mushroom suit สูทที่ใส่ก่อนเสียชีวิตแล้วก็จะย่อยสลายไปทั้งหมดเอง เทคโนโลยีพวกนี้มันก็จะเปลี่ยนประเพณีนิยมตามคุณค่าที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่มากขึ้น 

        ในแง่นี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีคิดระยะสุดท้ายของชีวิตพอสมควร นอกจากจะทำให้คุณสามารถคงความเป็นตัวตน รักษาคุณค่าของตัวเองได้จนกระทั่งจากโลกนี้ไป ก็ยังช่วยให้ผู้ป่วยระยะท้ายมีความหวังมากขึ้น และยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า เราก็ยิ่งมีความหวังมากขึ้น

เทคโนโลยีจะเปลี่ยนมิติเรื่องความตายไปอย่างไร

        เทรนด์ที่เราเห็นจากงานวิจัยของเรามันจะเป็นสองขั้ว ขั้วแรกเราเรียกว่า naturalistic คือเป็นสาย humanism มนุษยนิยม เอามนุษย์เป็นที่ตั้ง แต่ความตายในปัจจุบันมันเป็น transhuman มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น จากที่เราเคยพูดเรื่องความตายแบบธรรมชาติในมาตรา 12 ลดเทคโนโลยีในการรักษาที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้วเรามักจะเห็นความพยายามยืดความตายออกไปสู่ความเป็น transhuman ซึ่งมันก็เป็นทางเลือกของคน ไม่มีผิด ไม่มีถูก

 

ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

คนส่วนใหญ่มักมองว่า ถ้ามีทางเลือกในการรักษา ก็แล้วทำไมจะไม่เลือก 

        มันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดว่าต้องตายตามธรรมชาติเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ dignity ความตายอย่างศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ คืออะไรก็ได้ที่เขาได้ทำในสิ่งที่เขาเลือกเอง เราไม่สามารถบอกได้ว่าความตายโดยไม่สู้ ไม่ยื้อ ไม่มีเครื่องอยู่บนตัว คือความตายอย่างมีศักดิ์ศรี เคยคุยกับพี่คนหนึ่งที่ชีวิตเพียบพร้อมมากเลย คือชีวิตเขามันสะดวกสบาย มีความสุข มีเพื่อนดี มีเงิน มีทุกอย่าง เขาบอกว่า ‘ถ้าวันหนึ่งต้องตายแล้วมีคนถามว่าเขาจะเอาอย่างไรกับชีวิต’ เขาบอกเลยว่า ‘สู้ให้ถึงที่สุด’ จะต้องทำยังไงก็ทำ ก็เป็นคนละความเชื่อกับ palliative 

        คำถามคือ สังคมจะยอมรับทางเลือกความตายหลากหลายได้อย่างไร เราจะเปิดประเด็นเรื่องความตาย เราจะรองรับเฉพาะกลุ่มที่คิดอยากจะตายด้วยวิธีธรรมชาติอย่างเดียวเหรอ ในขณะที่สังคมเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีมันอยู่ตรงนี้แล้ว ในอังกฤษก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่ transform ตัวเองเป็นไซบอร์ก เปลี่ยนร่างที่กำลังจะตายเพื่อให้อยู่ต่อ แล้วก็ใช้ร่างตัวเองเป็นตัวทดลอง เทคโนโลยีมันกำลังสร้างความหวังให้เป็น forever

ปัจจัยอะไรส่งผลต่อผู้คนในการเลือกว่าเขาจะอยู่ขั้ว human หรือ transhuman 

        โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องใหญ่ของประเด็นเรื่อง 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต คือความหวัง ความหวังคือสิ่งที่น่าจะเป็นตัวที่ทำให้แต่ละคนแตกต่าง

        ความหวังกับโอกาสที่ต่างกันไปในช่วงเวลาของแต่ละคน บางคนก็จะบอกว่าตราบเท่าที่มีชีวิตมันยังมีความหวัง แต่บางคนก็จะบอกว่าความหวังคือสิ่งที่ทรมานที่สุด เพราะเมื่อคุณมีความหวัง คุณก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าอย่างนั้น ทางเลือกของเรานั้นย่อมไม่ใช่ความต้องการเราอย่างแท้จริง ความต้องการ ความหวังของเรานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับผู้อื่นทั้งนั้น 

        ใช่ บางคนอาจจะยอมเป็น trans หรือเราอาจจะเลือก treatment ที่ aggressive หรือยอมที่จะทำทุกวิถีทางที่หมอบอกให้เราทำ หรือมากกว่านั้น 

        หลายคนที่เป็นแม่ของลูกวัยเล็ก ก็จะไปศึกษาว่าคนที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เขาทำอย่างไร เช่น เคสของแม่นุ่น (เพจแม่นุ่น)  ที่สามีเขาก็สู้เต็มที่ สู้ทุกวิถีทาง และเกินสิ่งที่หมอ offer เพราะชีวิตของคนคนหนึ่งมันไม่ได้จบสิ้นแค่ตัวเขา แต่มันหมายถึงการอยู่เพื่อคนอีกคนหนึ่ง 

        ในแง่นี้ ใครจะบอกได้ว่าเขาควรสู้เต็มที่หรือไม่ควร สำคัญคือมันต้องมีทางเลือก ต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดของคนไม่เหมือนกัน

ในความแตกต่างกันของทางเลือก มันมีความเห็นร่วมกันขั้นพื้นฐานไหม ว่าความตายดีควรเป็นอย่างไร 

        เราไม่ได้ไปลงดีเทล แต่เราพบว่าผู้ป่วยต้องการอยู่ 3 อย่าง คือ การดูแลที่มีความสามารถ (competent) ต้องการการดูแลที่ตอบสนองทันท่วงที (responsive) ต้องการการดูแลที่เคารพ ให้เกียรติ (respect) ไม่ว่าจะดูแลในดีกรีความเข้มข้นแบบไหน เราทุกคนต้องการและควรได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ รวดเร็ว และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

        กลับมาเรื่องความหวังที่เราคุยกัน ก็จะมีเรื่องความหวัง กับโอกาส ไม่ว่าจะความหวังจาก external หรือ internal ก็ดี ไม่ว่าจะมองความหวังแบบไหน มีความหวังจากอะไร เช่น หมอเก่ง โรงพยาบาลดี หรือว่ามีเงิน ฯลฯ แต่โอกาสก็เป็นเรื่องสำคัญ มองง่ายๆ คือ โอกาสที่จะไปตรวจมันก็เป็นจุดที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น การตัดสินใจว่าจะอยู่บนเส้นไหนมันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสเหมือนกัน 

        เข้าใจว่าสังคมไทยคงยังไม่มาสุดขั้วถึงขนาดเป็น trans ที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ในการ transform เพราะเข้าใจว่ามันคงมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย หรือว่ามีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่จะเป็นอุปสรรค และในท้ายที่สุดมันก็คงไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าสู่ตรงจุดนี้ได้

 

ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

มองในแง่นักสังคมวิทยา มานุษยวิทยาแล้ว Palliative Care ไม่ได้เป็นเพียงสิทธิส่วนบุคคล แต่มันยังมีมิติที่สัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ

        เราคิดว่าคนทุกคนควรมีทางเลือก ในท้ายที่สุด palliative อาจจะกลับมาเป็นทางเลือกสุดท้ายของเขาก็ได้ palliative อาจดำเนินคู่ไปกับ curative ตั้งแต่ต้น โมเดลของ Palliative Care คือไปด้วยกัน แล้วก็ค่อยๆ ลด curative ลง แล้วเพิ่ม palliative ขึ้น เชื่อมั่นว่า Palliative Care เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว อย่างน้อยมันก็จะทำให้เขาใช้ชีวิตช่วงท้ายได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

        เรามักตั้งคำถามว่าตกลงแล้วมันชีวิตใคร ใครควรจะเป็นคนตัดสิน แต่เราก็เชื่อว่ามันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิทธิ์ใคร ชีวิตเป็นเรื่องของความผูกพัน เป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีสายสัมพันธ์ มีระยะเวลาที่เรา develop มันซับซ้อนกว่าการจะบอกแค่เรื่องสิทธิ์ มันซับซ้อนกว่าการจะบอกแค่ว่าอันนี้เป็นบทบาทที่คุณต้องทำหรือไม่ต้องทำ

        บางเรื่องมันปักธงได้ แต่บางเรื่องมันก็ไม่ง่าย เช่น เวลาคนป่วยป่วยเป็นอะไรแล้วหมอแนะนำว่าต้องบอก ขณะเดียวกันญาติจะบอกว่า ‘อย่าบอก’ แต่ในการรณรงค์หรือการสื่อสารก็จะพูดว่า ‘ต้องบอก’ ให้เขาตัดสินใจ ถ้าเกณฑ์อย่างนี้มันรับได้ เพราะมันเป็นเกณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องที่เป็นกลางพอ แต่ถ้าลงไปถึงทางเลือก คิดว่ามันก็ไม่ได้ง่ายถึงขนาดที่มีธงอันนี้ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย 

        อีกอย่าง การรักษาแนวทาง palliative ปัจจุบันนี้มันถูก dominate ด้วยเคสผู้ป่วยมะเร็ง แต่เราว่าเคสมะเร็งมันจะมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรักษา เพราะฉะนั้น palliative หรือคนที่จะต้องมาตัดสินใจในเรื่องวาระท้ายของชีวิตจริงๆ ผู้ป่วยมะเร็งอาจจะไม่ได้เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่มันน่าจะเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งเราคิดว่าเคสสมองเสื่อมน่าจะเป็นเคสที่ Palliative Care มีประโยชน์กับคุณภาพชีวิตระยะท้ายของเขามาก

เห็นชัดว่าคนรอบข้างส่งผลต่อการตัดสินใจมาก แล้วอย่างปัจจัยที่ใหญ่กว่า เช่น ความเป็นเมือง นั้นส่งผลต่อการตัดสินใจในการรับการรักษารูปแบบไหน อย่างไร 

        เป็นโจทย์ที่เราก็พยายามหาคำตอบ และเป็นคำถามที่ตอบยากมาก อันดับแรก ต้องคิดก่อนว่าเมืองมันเกี่ยวอะไรกับความตาย ในทางสังคมวิทยา เมืองมันอยู่ในฐานะของสิ่งที่ทำให้เราอยู่ เป็นสิ่งแวดล้อมของการมีชีวิต เช่น เรามีวิจัยที่ว่าการอยู่ในสิ่งแวดล้อมสีเขียว ที่เป็นเรื่องของ ‘Built Environment’ ของพื้นที่เมือง มีการจัดการพื้นที่ที่เอื้อต่อการเข้าถึงสวนสาธารณะ คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่า หรือแม้กระทั่ง WHO เองก็มีการศึกษาที่บอกว่าเมืองส่งผลต่ออัตราการเจ็บป่วย เพราะฉะนั้น ในเรื่องของเมืองในฐานะ Built Environment เมืองในฐานะ space เมืองจึงมีผลต่อการดำรงชีวิตของคนและการดำรงชีวิตนั้นก็มีผลต่อการเจ็บป่วย แต่ยังไปไม่ถึงขั้นของความตายเสียทีเดียว 

        ถ้าเรามองเรื่องความตายในมุมของสิ่งแวดล้อม เราก็จะพบว่าความตายมันไม่ได้เกิดเฉพาะคนที่ป่วย มันมีความตายอีกตั้งไม่รู้กี่รูปแบบ ในงานวิจัยวิเคราะห์ว่าความตายมีอย่างน้อย 7 รูปแบบ เช่น ความตายที่เกิดจากโรค ความตายที่เราจัดการได้ ความตายทางเลือก เช่น euthanasia หรือความตายอีกกลุ่มหนึ่ง คือความตายแบบที่เราไม่มีโอกาสคิด ไม่มีโอกาสได้เลือกเลย เช่น อุบัติเหตุ 

        ในแง่นี้ ถามว่าความตายเกี่ยวข้องอะไรกับเมืองไหม ก็เกี่ยว อย่างอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนหนึ่งเราก็จะรู้ว่าความปลอดภัยบนท้องถนนมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Built Environment ทั้งหลาย ซึ่งเราจะเห็นว่าเมืองในปัจจุบัน ความตายที่เป็น Brutal Death หรือความตายที่มันน่าสลดหดหู่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคเลย แต่มันเกิดโดยสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่บางอย่างที่ทำให้คนเครียด เอะอะก็ถือปืนไปยิงในห้าง หรือว่าในสภาวะแวดล้อมที่ทำให้คนมีความยับยั้งชั่งใจต่ำ หรือไม่มี protection หรือทำให้คนรู้สึกว่าอะไรไม่สำคัญเท่าฉันมีทัสนคติที่ปกป้องตัวเอง ใครอย่าล้ำเส้น ทุกอย่างคือทำให้เกิดการฆ่ากันแบบง่ายๆ ฆ่ากันแบบโหดร้ายขึ้นทุกวัน 

        Brutal death ส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพชีวิตที่ทำให้คุณไม่มีความสุขกับการมีชีวิต ทำให้คุณไม่มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ทำให้คุณสิ้นหวัง ทำให้คุณไม่แคร์กับทุกข์ร้อนของใคร ในอีกมุมหนึ่ง คนอื่นก็ไม่แคร์คุณ คุณเลยรู้สึกสิ้นหวัง โดดเดี่ยว ขณะเดียวกันคุณก็ไม่เคยแคร์คนอื่นเหมือนกัน ดังนั้น ความตายตรงนี้มันมีอีกหลายภาพเหลือเกินที่เราพบว่ามันควรจะถูกพูดถึงด้วยเหมือนกันในเซนส์ของเมือง ไม่ใช่พูดแต่ความตายจากโรค

ความตายที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้เกิด ‘โรค’ แต่เกิดจากความผิดปกติของ ‘โลก’ 

        ใช่ หรือความตายกลุ่มถัดไปเป็นความตายเรื่องการฆ่าตัวตาย ซึ่งเรามีสมมติฐานว่าปัจจุบันมันอาจจะเกิดจากสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นวิกฤตของการมีชีวิต ไม่ใช่ว่าเกิดจากเขาโศกเศร้าแล้วเขาก็จากไปแบบฆ่าตัวตายให้มันจบๆ ไป แต่ความจริงการฆ่าตัวตายในปัจจุบันมีข้อสังเกตว่ามันกำลังเป็นการฆ่าตัวตายที่ตอบโจทย์ว่า ในเมื่อมันไม่ใช่เราแล้ว ตัวเราไม่รู้สึกแฮปปี้กับชีวิตที่เป็นอยู่แล้ว เขาเรียกว่าเป็น Existential Crisis คือความหมายของตัวตนมันไม่ใช่อีกต่อไป สมมติอย่างผู้หญิง เวลาไปรักษามะเร็งแล้วได้คีโม เชื่อไหมคะว่า stress ของการผมร่วงมันสามารถทำให้คนคนหนึ่งยอมตายจากมัน ไม่ใช่ตายเพราะมะเร็ง แต่ตายเพราะ suffering จากการที่มองเห็นตัวเองในกระจกในสภาพที่เขาคิดว่านี่ไม่ใช่ฉัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงการรักษาแบบนี้ไปอีก 10 ครั้ง 20 ครั้ง ชีวิตที่จะต้องอยู่แบบนี้มันก็คือความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นก็จบเถอะ แม้กระทั่งการไปทำ euthanasia จริงๆ ก็คืออยากตายนั่นแหละ อยากจบชีวิต เพียงแต่ว่าไม่ได้จบเอง แต่ก็คือการ consider แล้วว่านี่ไม่ใช่เรา บางคนจบเอง บางคนไปทำ euthanasia แต่มันก็คือการบอกให้เราเห็นว่าจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญคือจุดที่เขาตอบตัวเองได้ว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการแล้ว นี่ไม่ใช่ตัวเขาเองแล้ว แม้ว่าเขาจะเป็นใครก็แล้วแต่

      มีศาสตราจารย์คนหนึ่งแกเป็นเอแอลดี (Adrenoleukodystrophy) เป็นโรคที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงตายไปเรื่อยๆ จากคนที่เคยโปรดักทีฟ บางคนเป็นเรื่องของ productivity ที่เปลี่ยน บางคนคือเรื่องของอิมเมจที่เปลี่ยน บางคนอาจจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ บางคนอาจจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ถูกกระทบโดยการเจ็บป่วย หรือเขาอาจจะไม่ได้ป่วยก็ได้ เช่น อาจจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ในท้ายที่สุดมันส่งผลกระทบต่อสิ่งที่มันเป็นคุณค่าของเรา

        เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีความหมายของชีวิต โดยที่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงมัน แต่พอวันหนึ่งที่สิ่งนั้นหายไป เราจะรู้ว่าฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมัน หรือบางคนเคยเชื่อว่าตัวเองเก่งมาตลอดทั้งชีวิต วันหนึ่งถูกท้าทายแล้วตัวเองเฟล ก็จะพบว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่ฉันอยากได้แล้ว ซึ่งคนอื่นอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่สำหรับเขาคือไม่ หรือแม้กระทั่งคนที่ฆ่าตัวตายตามนักร้องเกาหลี ฆ่าตัวตายตามคนดัง เพราะนั่นคือสิ่งที่เขายึดโยง การฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องเกิดจากความเครียด เราก็เลยมองว่ามันคือเรื่องของสิ่งที่ปัจจุบันคือคนนิยามตัวเองแล้วมันไม่เป็นไปตามนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องการงาน ความสำเร็จ ความรัก แม้กระทั่งอิมเมจ

 

ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

ความตายมักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ ‘เลี่ยงไม่ได้’ (inevitable) แต่จริงๆ แล้วสภาพแวดล้อมของเมืองส่งผลต่อความตายบางรูปแบบที่สามารถ ‘เลี่ยงได้’ (evitable) อย่างไรบ้าง

        ความตายอีกลักษณะหนึ่งที่เราบอกคือความตายอย่างโดดเดี่ยว ความตายอย่างโดดเดี่ยวมักจะเป็นของกลุ่มคนที่ถูก marginalize เช่น สมมติผู้สูงอายุ การฆ่าตัวตายอาจจะเกิดจาก หนึ่ง อยู่ในสถานะที่ตัวเองเฟล อ่อนแอในส่วนของร่างกาย และถ้ามันมีอะไรมากระทบก็อาจจะทำให้ความหมายของชีวิตเปลี่ยน อาจจะทำให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้นว่าใช้ชีวิตมามากเพียงพอแล้ว แต่ความตายอย่างโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ แต่กลุ่มคนไร้บ้าน ด้วยความไร้บ้านที่เขาออกมาจากบ้าน แล้วก็มาเสียชีวิตข้างนอก หรือบางคนก็ถูกนำมาทิ้งให้เสียชีวิตตามท้องถนน

        แล้วก็ความตายอีกแบบหนึ่งก็เป็นความตายที่เกิดจากความเสี่ยง เป็นความตายที่เกิดจากความเสี่ยงทางสังคม คือสังคมอยู่ในสภาวะที่เราเรียกว่า ‘โลกที่เสี่ยงภัย’ ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ หรือจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ PM 2.5 ก็ดี หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงในเชิงของโรคอุบัติใหม่ที่มันมากับการเคลื่อนย้ายของสังคม (mobility)

        อย่างเช่นกรณีโควิด-19 จะเห็นได้ชัดมาก จากที่มันเคย localize อยู่เฉพาะถิ่น แต่การเคลื่อนย้ายของสังคมที่เราไม่สามารถหยุดได้ก็ทำให้สังคม localize กลายเป็น Global Pandemic ภายในระยะเวลา 2 เดือน แล้วเราก็จะเห็นว่าความเสี่ยงทางสังคมมันนำมาสู่โรคอุบัติใหม่ และทำให้โรคอุบัติใหม่ที่เคยอยู่ในที่ต่างๆ เฉพาะจุด มันข้ามพรมแดนได้หมด หรือว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการก่อการร้ายก็ถือว่าเป็นความตายที่เกิดจากความเสี่ยงทางสังคมเหมือนกัน อันนี้ก็คือกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ของความตายที่เราพบ จริงๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมือง แต่ความตายมันเกิดขึ้นทุกที่ในโลก เพียงแต่ว่าในวิถีความเป็นอยู่ของเมืองมันเอื้อให้เกิดความตายลักษณะนี้มากขึ้น

นอกจากเมืองจะส่งผลต่อรูปแบบความตายแล้ว เมืองยังส่งผลต่อการตัดสินใจของเราว่าจะตายรูปแบบไหนด้วยไหม อย่างไร

        เมืองมันคือ being ของคน หมายถึง being ในเซนส์ที่เราอยู่ในเมืองแล้วเรามีความสัมพันธ์กับผู้อื่น มันก็จะเป็นตัวบอกว่าเราเป็นใครอยู่ในเซนส์ของเรา develop ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ในพื้นที่ของเมือง มันก็เป็นตัวบอกว่าในท้ายที่สุดเราเป็นใคร เราต้องการใช้ชีวิตอย่างไร ตรงนี้มันก็จะส่งผลต่อเรื่องของความตายเหมือนกัน ว่าเรามี Support System ที่อยู่ในเมือง เรามี Family Unit ไหม หรือชุมชนของเราในเมืองมีเซนส์ของการพยายามสร้างอะไรร่วมกันหรือเปล่า เซนส์แบบนี้มันก็เกิดขึ้นเหมือนกัน เนื้อหานี้ก็คือสมมติฐานที่ว่าด้วยเมือง

        เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองคือสิ่งแวดล้อมของโลก มันคือความเป็นจริงของโลก เช่น Climate Change ก็เกิดในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ความเป็นเมืองจึงเป็นพื้นที่สำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ

        มันมีนักสังคมวิทยาคนหนึ่งที่เขาเชื่อว่า Built Environment ของเมืองมันถูกสร้างให้คนใช้ชีวิตแบบอิสระต่อกัน และขับเคลื่อนอยู่บนความรวดเร็ว ความแข่งขัน ซึ่งมันไม่ใช่เมืองอย่างเดียวแล้ว มันเป็นเรื่องที่ผูกพันกับเรื่องระบบเศรษฐกิจ ผูกพันกับการอยู่รอด ผูกพันกับการที่ทำอย่างไรให้เรามีที่ยืน เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มันก็เลยทำให้เราพัฒนาทัศนคติของการปกป้องตัวเอง (self-protection) เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่าทัศนคติบางอย่างมันถูกหล่อหลอมโดยสภาพแวดล้อมที่มันครอบเราอยู่อีกทีหนึ่ง 

ในแง่นี้นั้น สิ่งที่เราเรียกว่าเป็น ‘ทางเลือก’ ของเรา มันไม่ใช่ทางเลือกของเราอย่างแท้จริง หากมันถูกกำหนดด้วยปัจจัยอื่นๆ ทั้งบริบทเมือง สังคม ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

        ใช่ๆ เราว่าโครงสร้างสำคัญมาก เศรษฐกิจและทุนนิยมคือเรื่องใหญ่ ทั้งหมดคือเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง สิ่งรอบตัว

ความท้าทายของการสื่อสารเรื่องชีวิตระยะสุดท้าย เรื่องความตายในสังคมไทย

        การสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่การพูดเรื่องนี้ต้องทำให้ถูกกาลเทศะ เมสเสจต้องถูกดีไซน์มาดี ปล่อยถูกเวลา ไม่งั้นก็จบ เพราะว่ามันต้องสู้กับความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมว่าความตายเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรพูด มันเป็นลาง

        สมมติว่าเอามาตรา 12 ไปคุยตอนที่เขาป่วยแล้วหรืออยู่ในโรงพยาบาล คนก็จะรู้สึกทันทีว่าคุณกำลังบอกใช่ไหมว่าเขาจะไม่หาย กำลังบอกใช่ไหมว่าจะไม่รักษาเราแล้ว ดังนั้น เราถึงรู้สึกว่าภาคประชาสังคม หรือสื่ออย่าง a day ที่เข้าถึงวัยรุ่น ถ้าคนทั่วไปรับรู้เรื่องนี้ผ่านสื่อประเภทนี้ ความหมายมันจะเป็นไปในแง่บวกว่าความตายเป็นเรื่องของการเตรียมตัว ไม่ใช่บอกว่าหมดสิ้นหนทางแล้ว 

 

ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

แต่ก่อนคนอาจจะพูดว่าความตายกับเมืองดูเป็นความสัมพันธ์ที่มันไม่ค่อยชัด แต่อย่างโควิด-19 มันทำให้ความสัมพันธ์นี้ปรากฏชัดขึ้นบ้างไหม

        แต่เดิมเรามีภาพ good death กันมาแบบหนึ่ง คือต้องแก่ ใช้ชีวิตมาเต็มที่ แล้วสุดท้ายตายในเวลาที่เหมาะสม ในสถานที่ที่เราเลือกได้ และในสังคมไทย ไม่ว่าจะตายอย่างไร พิธีกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งคนตายไปสู่ความตายที่ดี มันมีความเชื่อ วัฒนธรรมบางอย่างห่อหุ้มนิยามความตายดีเอาไว้

        แต่โควิด-19 ทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถพูดถึงมิติเรื่องเวลา และสถานที่ได้ เรายังไม่เจอถึงขั้นยุโรปหรืออเมริกาที่ความตายเกิดขึ้นรวดเร็ว เกลื่อนกลาด เรายังไม่ได้เจอสภาวะที่ทำให้เราตกใจแบบนั้น แต่มันก็เปลี่ยนความคิดคนอยู่ดี

        ล่าสุด ให้ลูกศิษย์ทำออนไลน์เซอร์เวย์ว่าคนรุ่นใหม่คิดอย่างไรกับความตายอย่างโดดเดี่ยว มันก็ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีคิดเรื่องความตายเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเคย มันยืดหยุ่นมากขึ้น ตายยังไงก็ได้ให้ไม่เป็นภาระกับผู้อื่น จัดการยังไงก็ได้ ไม่ต้องมีพิธีมากมาย ความคิดแบบนี้มันยิ่งชัดขึ้นเมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้นมา

โควิด-19 ส่งผลกับความเชื่อทางความตายที่เปลี่ยนไปอย่างไร

        อย่างแรกคือ ความตายเกิดจากสังคม ความตายอย่างโดดเดี่ยวเป็นรูปแบบความตายแบบหนึ่ง แต่ความตายจากโควิด-19 เป็นความตายจากสังคม เกิดจากสังคมที่มีความเคลื่อนย้าย (mobility) สูง เราจะเห็นว่าความตายด้วยโรคแบบนี้มันไม่ใช่ accidental อีกต่อไป แต่มันถูก shaped จากวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม หรือแม้แต่การที่ต้องถูก distancing ก่อนจะตายก็เป็นเรื่องที่เลือกไม่ได้

        ความตายที่เกิดจากสังคมนี้ไม่ใช่แค่ความตายจากโรคระบาด แต่ยังรวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย เช่น วิถีชีวิตเราที่เปลี่ยนไป ใช้ชีวิตกันอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลต่อ Lifestyle Diseases อื่นๆ เหมือนกัน 

        มีการพูดคุยกันเยอะว่าเราจะมีมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างไร แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเมืองในฐานะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการระบาด หรือความตาย

        แต่เราต้องมองเชิงโครงสร้างโดยรวม ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข แต่ทุกมิติของเมือง เช่น คนไร้บ้าน ผู้คนในพื้นที่แออัด ที่ไม่สามารถกักตัวได้ มันก็ยากที่จะควบคุมการระบาด สุดท้ายก็จะส่งผลโดยรวมอยู่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีของ habitat สภาพแวดล้อมที่เราอยู่มันส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของเรา และคุณภาพชีวิตของปัจเจกทุกคนก็ส่งผลต่อ habitat โดยรวมเช่นกัน

 


ร่วมรับฟัง อาจารย์ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์  และผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ได้จากงาน ‘Lifefulness ‘ชีวิตมีชีวา’ : ให้ชีวิตทุกวันมีคุณภาพ ไปจนถึงวันสุดท้าย’ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘On the Path to Wellness’ วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00-15.00 น. ผ่านทางเพจ ชีวามิตร Cheevamitr Social Enterprise