‘คนไทยต้องไม่ตายบนถนนฟรีๆ’ ทวงคืนความยุติธรรมบนถนน กับ คริส โปตระนันทน์

‘อย่าลืมคดีหมอกระต่าย’

        อาจเป็นเสียงเปรยในใจของใครหลายคน ที่ได้แต่หวังว่าผู้คนในสังคมจะยังไม่ลืมเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เมื่อคุณหมออนาคตไกล ต้องมาจบชีวิตลงด้วยการถูกมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งมาด้วยความเร็วเกินร้อยชน และที่สำคัญ เธอกำลังเดินข้ามทางม้าลาย พื้นที่ที่น่าจะปลอดภัยที่สุดบนท้องถนน

        ประเด็นที่ชวนติดตาม ณ ขณะนี้ เรื่องการตามหาความความยุติธรรมให้กับผู้ประสบเหตุก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่เหนือไปกว่านั้น คือปัจจุบันท้องถนนเมืองไทย ยังมี ‘คนตาย’ เพราะถูกยานพาหนะเฉี่ยวชนอยู่อีกมากมาย การเรียกร้องทวงความชอบธรรมให้กับเหยื่อเหล่านั้น ยังคงดำเนินไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น และความสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง

        ในเสียงที่อยากส่งออกไปดังๆ และไม่อยากให้ ‘สังคม’ ลืมเลือนไปนี้ มีสุ้มเสียงของ คริส โปตระนันทน์ รวมอยู่ในนั้นด้วย สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อปีก่อน ผู้ชายคนนี้คือผู้นำของกลุ่ม ‘เส้นด้าย’ ที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คน จนถึงวันนี้ก็ยังคงลุยช่วยอยู่เช่นเดิม

        คริสเคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตราชเทวี พื้นที่เกิดอุบัติเหตุของคุณหมอกระต่าย แถมหมวกในหน้าที่การงานอีกใบหนึ่งของเขาคือการเป็นนักกฎหมาย ผ่านการว่าความทำคดีมานักต่อนัก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขาออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีอุบัติเหตุของ ‘หมอกระต่าย’ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมทางกฎหมาย ที่พีคถึงขนาดประกาศในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 

        “ถ้ามีเหตุคนตายคาทางข้ามใน กทม. แบบที่ถนนพญาไทอีก ผมและทีมกฎหมาย #เส้นด้าย จะอาสาทำคดีให้ผู้เสียหาย และฟ้อง 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ. ตร.) และตำรวจที่รับผิดชอบการจราจร โทษฐานละเว้นการกวดขันวินัยจราจร ให้ฟรี ”  เลยเถิดไปถึงการปฏิรูปกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือทำอย่างไรให้คนตายบนท้องถนนเป็น ‘ศูนย์’ ได้เสียที 

        อ่านถึงตรงนี้ หากจะมีคนอุทานดังๆ ว่า ‘ฝันไปเถอะ’ ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร แต่ถ้านี่จะเป็นความฝัน บทสนทนาระหว่างเรากับคริสครั้งนี้ น่าจะทำให้หลายคน ‘ตื่นรู้’ กับเหตุการณ์ครั้งสำคัญ รวมทั้งอยากลุกขึ้นมาช่วยกันทำอะไรดีๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหานี้บ้าง 

        ก่อนเริ่มบรรเลงการสนทนา ผู้ชายคนนี้บอกว่า บ้านเมืองนี้เหมือนเมืองกอแธมในภาพยนตร์เรื่อง แบตแมน ที่ทุกคนต่างเป็น ‘โจ๊กเกอร์’ และพร้อมจะทำให้ตัวเองได้เปรียบไปเสียทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่การขับรถบนท้องถนน แต่ถามว่า ในรัตติกาลอันมืดมิดของบ้านเมืองนี้ ยังพอมีแสงสว่างแห่ง ‘ความหวัง’ อยู่บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจราจร เขาบอกว่ามี แต่ต้องสู้ ส่วนจะสู้แบบไหน สู้อย่างไร คงต้องตามเข้าไปยังเมืองกอแธมแห่งนี้ เพื่อค้นหาคำตอบร่วมกัน…

ตอนที่ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นเรื่องราวการเสียชีวิตของ ‘หมอกระต่าย’ (พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล) ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของคุณ ตอนนั้นคุณคิดอะไร

        ผมคิดแค่ว่า มันควรจะต้องมีใครสักคนที่ออกมาทำอะไรบางอย่าง หรือพูดง่ายๆ ว่า ต้องมีแอ็กชันอะไรบ้างเพื่อให้สังคมได้ยิน เพราะเหตุที่มันเกิดขึ้นเหล่านี้ มันเยอะมากเกินไปแล้ว

        ก่อนหน้านี้ ตอนที่ผมลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เขตราชเทวี ผมเคยไปร่วมงานศพคนที่ถูกรถชนในท้องที่นี้ไม่รู้เท่าไหร่ หรือถ้าไม่ตายก็บาดเจ็บหนัก บางคนแขนหัก ขาหัก หรือบางคนพิการ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สังคมไม่เคยสนใจกับเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ค่าชีวิตของมนุษย์ไม่เท่ากัน

        แต่กับกรณีของคุณหมอกระต่าย โอเค คุณหมอไม่ได้ผิดอะไร แต่เหตุที่มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนที่โดนชนเป็นหมอ แล้วมาถูกรถชนโดยตำรวจ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ไหนจะเป็นการชนที่ทางม้าลายอีก มันจึงกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนสนใจ ซึ่งเราก็ควรใช้จังหวะนี้ในการผลักดันแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นแค่การแก้ด้วยวิธีทาสีทางม้าลายให้ชัดขึ้น คือผมไม่ได้บอกว่าการทาสีทางม้าลายไม่มีประโยชน์ แต่การแก้ไขเรื่อง safety road มันต้องพูดไปถึงต้นตอของปัญหา คือเรื่องความปลอดภัยของคนที่ใช้ชีวิตในเมือง ซึ่งมันต้องแก้อย่างจริงจังและทำได้มากกว่าแค่ทาสีทางม้าลาย

“ไม่มีสังคมไหนที่ชนชั้นนำหรือผู้ที่มีอำนาจเขาจะออกมาบอกว่าเราจะปกป้องสิทธิของพวกคุณ เราจะสร้างกฎหมายที่ดีที่สุดให้กับพวกคุณ ไม่มีหรอก ไม่มีทาง คุณไปดูสังคมตะวันตก ที่มาตรฐานบ้านเมืองเขาดูดีเหลือเกิน มันก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วมันจะดี แต่เขาผ่านการต่อสู้ ผู้คนในสังคมต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างมาตลอด”

ถ้าพูดในแง่ของกฎหมายจราจร นี่คือต้นตอและเป็นปัญหาใหญ่ ถูกไหม

        ถูกครับ ความจริงพระราชบัญญัติจราจรทางบก (พ.ร.บ. จราจรฯ) เคยมีการแก้ไขกันมาตลอด เราออกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2522 แล้วก็ปรับๆๆ แก้ๆๆ กันเรื่อยมา เช่นเรื่องสิทธิ์ในการเดินถนน ในกฎหมายเขียนว่า รถต้องชะลอให้คนเดินถนน นั่นหมายความว่ารถไม่ต้องหยุด แค่ชะลอ ซึ่งเมื่อเทียบกับกฎหมายจราจรในหลายๆ ประเทศ เขามีความชัดเจนกว่ามาก สมมติถ้ามีป้าย STOP ติดเอาไว้ นั่นคือรถต้องหยุด หยุดแบบหยุดสนิท ไม่ใช่แค่ชะลอ ส่วนของบ้านเรา ป้าย STOP เราก็มี เป็นป้ายสีแดงๆ ที่บอกให้รถหยุด แต่ในความเป็นจริง ไม่เคยมีใครเชื่อป้ายเหล่านั้น

        คือ พ.ร.บ. จราจรฯ บ้านเราก็ไม่ได้แย่จนเกินไปนักหรอก เรามีกฎระเบียบกำหนดเอาไว้หมด เพียงแต่ปัญหาคือเรื่องของการบังคับใช้ เราไม่สามารถบังคับใช้ให้เกิดขึ้นจริงได้ ผมยกตัวอย่าง เรื่องกล้อง CCTV  ที่คอยตรวจจับคนทำผิดกฎหมายจราจร แล้วส่งใบสั่งไปให้ที่บ้าน ปรากฏว่า เวลาที่มีคนฝ่าไฟแดง หรือคนใช้ความเร็วเกินกำหนด มีการส่งใบเสร็จไปถึงที่บ้านจริง แต่ในความจริงยิ่งกว่านั้นคือไม่ต้องจ่ายค่าปรับ เพราะว่าบังคับไม่ได้ ตำรวจไม่สามารถบังคับให้คนที่ทำผิดกฎจราจรมารับโทษได้ และไม่มีทางบังคับได้

        เรื่องนี้มีที่มาจากความไม่ร่วมมือกันระหว่างสองหน่วยงาน คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกระทรวงคมนาคม หรือในรายละเอียดก็คือ กรมการขนส่งทางบก เนื่องจากพอตำรวจส่งใบสั่งไปที่บ้าน ระบุว่าต้องจ่ายค่าปรับ ไม่อย่างนั้นห้ามต่อทะเบียนรถ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรมขนส่งฯ โดยตรง ทางกรมขนส่งฯ ก็บอกว่า นี่มันเป็นเรื่องของเราเหรอ คือด้วยงานที่รับผิดชอบอยู่ก็เยอะแล้ว ยังต้องมารับใบสั่งทั้งหมดจากตำรวจ เพื่อคัดแยกดูว่าคันไหนให้ต่อทะเบียน คันไหนไม่ให้ต่อทะเบียน กรมขนส่งฯ จึงบอกทำนองที่ว่า ทำไม่ไหว ไม่ทำ ซึ่งผมถือว่าโหดมาก เพราะในภาษากฎหมาย ถ้าไม่มีใครกลัวอำนาจรัฐ หรือไม่ทำตามคำสั่ง นั่นหมายถึงคุณคือรัฐที่ล้มเหลว เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นมอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟแดงเป็นประจำ หรือเห็นคนรวยที่ไม่แคร์กฎหมาย ตังค์เยอะแล้วไม่สนใจอะไร แข่งรถกันบนทางด่วน ไปดูในยูทูบสิ คลิปมีเป็นร้อย ทำไมไม่มีใครไปจับ

        แต่ผมไม่โทษคนพวกนี้ เพราะผมเป็นนักกฎหมาย ผมเคยเป็นทนายที่ต้องว่าความให้ทั้งคนถูกและคนผิด เวลาที่ต้องเป็นทนายให้คนทำผิด เราก็ต้องหาช่องว่างทางกฎหมายเพื่อสู้คดี ดังนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นนี้กับคนทำผิดกฎจราจร ต่อให้เขาจะกระทำความผิด แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำกฎหมายให้บังคับใช้ให้ได้ รวมทั้งต้องทำให้สังคมนี้เดินไปข้างหน้าให้ได้เช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจบริหารสูงสุด คุณต้องสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุณต้องสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้รัฐมนตรีไปเล่นงานกับอธิบดีต่อ เรื่องเหล่านี้นายกฯ ที่มีอำนาจเข้มแข็งจะต้องทำให้ได้ ซึ่งผมไม่ได้ว่านายกฯ คนนี้ เพราะที่ผ่านมา มีนายกฯ มาไม่รู้กี่สิบสมัย ก็เห็นเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด 

        ดังนั้น ตอนนี้เราจึงเหมือนอยู่ในสังคมในรูปแบบที่ว่า ถ้าขับรถชนหมาตายไม่ผิด ชนคนจนตายก็ไม่ผิด แต่ชนคนรวยตายอาจมีเรื่อง หรือคนรวยชนคนจนก็อาจจะมีเรื่องเช่นกัน มันเป็นกฎที่ห่วยกว่ากฎหมายอีก

        ผมยกตัวอย่างให้เห็นความล้มเหลวของระบบการสั่งการของรัฐ คือโดยธรรมชาติของประชาชนมักจะกลัวตำรวจ แต่ในเมืองไทยไม่ใช่แบบนั้น เนื่องจากตำรวจก็เห็นการทำความผิดอยู่ต่อหน้า แต่ตำรวจก็ไม่รู้จะทำยังไง ซึ่งเราจะไปด่าเขาทั้งหมดก็ไม่ถูก เพราะนายเขาไม่สั่ง ทีนี้พอกฎหมายและการบังคับใช้ไม่ถูกให้ทำได้ คนก็ยิ่งได้ใจ มันเลยเหมือนเมืองกอแธมในเรื่อง แบตแมน ที่ทุกคนกลายเป็นโจ๊กเกอร์กันไปหมด ทุกคนพยายามแก่งแย่งบนถนน ต้องไปให้เร็วที่สุด ไวที่สุด แล้วกูไม่แคร์ จะทำอะไรก็ได้บนท้องถนน ไม่แคร์ว่าตำรวจจะทำอะไรกู เพราะว่าทำอะไรกูไม่ได้ 

“เราไม่อยากขับเคลื่อนสังคมด้วยการด่า โอเค การด่าไม่ผิดหรอก เพราะมันก็เป็นการทำให้หน่วยงานต่างๆ ฟังเสียงประชาชนบ้าง แต่ว่าพอเรามีแอ็กชัน หรือลงมือทำจริงๆ ปุ๊บ จะทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย กูต้องเปลี่ยนแล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะกดดันเราแน่”

ดูเหมือนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะเป็นแค่ตัวละครหนึ่งที่ไม่สามารถลงมือปฏิบัติอะไรได้จริง

        ถึงบอกว่าตอนนี้บ้านเรากลายเป็นเมืองกอแธมไปแล้วไง บ้านเราเวลาจะต้องแจ้งความ ต้องไป สน. ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นตำรวจในต่างประเทศ คุณแจ้งตำรวจได้ในเมือง เพราะตำรวจจะต้องอยู่ในเมือง ตำรวจจะต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘การลาดตระเวน’ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า patrolling แต่ในบ้านเรามันแทบไม่มี เพราะว่างบประมาณค่าน้ำมันไม่มี อย่าว่าแต่ค่าน้ำมัน ค่ายางยังต้องเปลี่ยนเอง คือถ้ามันมีการแบ่งสันปันส่วนงบประมาณมาได้จริง แล้วมีการบังคับใช้กฎหมายได้จริง คนสามารถเห็นตำรวจได้ทุกที่ ผมเชื่อว่าคนจะกลัวมากขึ้น รวมถึงไม่กล้าทำความผิด สังคมก็จะมีมาตรฐานขึ้น

ถ้าจะทำให้เกิดสิ่งที่คุณว่าได้ ก็ต้องแก้ทั้งระบบ ซึ่งคงต้องใช้เวลาไม่น้อย

        ผมเลยเสนออย่างที่เคยเขียนไปในโพสต์ในเฟซบุ๊กแล้วว่า ถ้าอย่างนั้นให้กระจายอำนาจหน้าที่ คือตั้งพนักงานท้องถิ่นให้มาช่วยในเรื่องการกวดขันการจราจร เช่น ถ้าในกรุงเทพฯ ตั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจมาช่วยดูแล หรือในต่างจังหวัด ให้เจ้าหน้าที่ อบต. อบจ. ในท้องถิ่นนั้นๆ มาช่วยดูแล หรือมาช่วยลาดตระเวน 

        จริงๆ หน้าที่การบริหารเมือง มันควรจะอยู่ที่ผู้ว่าฯ เมืองจะดีหรือไม่ดี ควรจะขึ้นอยู่ที่ผู้ว่าฯ ไม่ควรจะไปขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพราะผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไม่ได้แคร์คนกรุงเทพฯ เขาแคร์นายเขา ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ กทม. ต้องแคร์คนกรุงเทพฯ เพราะต้องแคร์คะแนนเสียง คุณจะทำให้เมืองเป็นเมืองที่ดี หรือเป็นเมืองที่ห่วย ทุกอย่างส่งผลต่อคะแนนเสียงของคุณอย่างแน่นอน ผมเลยโพสต์เสนอไป ให้เทศกิจมาช่วยลาดตระเวน ช่วยจับคนทำผิดกฎหมายจราจร ดีกว่าไปจับแม่ค้าพ่อค้า ซึ่งวิธีการก็ง่ายๆ คือแก้กฎหมายมาตราเดียว พ.ร.บ. จราจรฯ มาตรา 4 (37) เรื่องขอให้เพิ่มเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้เป็นเจ้าพนักงานจราจร แค่นี้ เพื่อทำให้เทศกิจหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาช่วยทำหน้าที่แทน 

มาที่ประเด็นคดีของ ‘หมอกระต่าย’ แม้จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่สังคมก็ยังตั้งข้อสังเกตกับคดีประเภทนี้ว่า มักจะติดบ่วงในเรื่องความล่าช้าในการกระบวนการพิจารณาคดี จนบางทีเหยื่อหรือครอบครัวเหยื่อแทบจะสิ้นหวัง คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้

        คือหากกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วกว่านี้ มันจะทำให้สังคมอยู่ในกรอบมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง กว่าที่จะติดคุกหรือเสร็จสิ้นกระบวนการยุติธรรมก็กินเวลาหลายปี หรือแม้แต่การเรียกร้องค่าเสียหาย กว่าจะได้เงินค่าเยียวยา บางคดีอุทธรณ์ 3 ศาล สรุปรวมใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะได้เงิน ซึ่งระหว่างทางการฟ้องร้องก็มีค่าใช้จ่ายอีก ถามว่าแล้วคนจนจะมีเวลาไปศาลสักกี่ครั้ง หรือจะมีเงินจ้างทนายต่อสู้คดีถึงสิบปีไหม ดังนั้น ถ้าการกระทำได้รับผลกรรมอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นผลกรรมจากกระบวนการทางอาญา เช่น การถูกปรับ หรือการติดคุก รวมไปถึงผลกรรมจากทางแพ่ง มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่รวดเร็ว อย่างน้อยผู้คนจะไม่สิ้นหวัง 

        ผมยกตัวอย่างที่อเมริกา ผู้คนไม่ได้กลัวแค่ป้าย Stop sign หรือไม่ได้กลัวแค่ตำรวจ แต่ความจริงคือเขากลัวโดนฟ้อง เพราะเวลาฟ้องร้องกันทีแทบหมดตัว แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งกระบวนการเขามีความรวดเร็ว สังคมจึงกล้าที่จะไว้ใจ เพราะคนที่กระทำให้คนอื่นเสียหาย มีโอกาสที่จะโดนผลจากการกระทำอันรวดเร็ว

        แต่ทีนี้ระยะเวลาการพิจารณาคดีก็เรื่องหนึ่ง ยังมีเรื่องของข้อกฎหมายที่มีผลต่อการการพิจาณาคดีอีกเช่นกัน อย่างกรณีของคุณหมอกระต่าย หลักๆ คือความผิดมาตรา 291 ผู้ที่กระทำโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท แต่ประเด็นต่อมาคือ หากมีการรับสารภาพ โทษลดกึ่งหนึ่ง ไหนจะมีเงื่อนไขการลงโทษที่ขึ้นอยู่กับอายุและสภาพแวดล้อมที่เกิดอีก เรียกว่ามีส่วนลดเยอะ ซึ่งผลสุดท้ายก็อาจจะไม่ติดคุก

        คือในความเป็นกฎหมาย ประมาทแบบไหนก็เรียกประมาท เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการตีความ รวมทั้งบริบทรอบข้างด้วย แต่สำหรับผม เรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องจำคุกกี่ปี แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ คนที่กำลังประมาทอยู่บนท้องถนนตอนนี้เขาไม่เคยรู้สึกถึงเรื่องเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ เพราะอะไร เพราะเขาไม่เคยรู้สึกถึงผลที่ตามมา หรือที่เรียกว่า consequence หรือต่อให้รู้ว่ามันมีกฎหมายอยู่ แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง โอเค มันอาจมีคนที่ต้องเข้าไปรับผลการกระทำอยู่บ้าง แต่ว่ามันไม่ได้เป็นมาตรฐาน พอมันไม่เป็นมาตรฐาน คนก็เลยรู้สึกว่าชนคนตายไปก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เคลียร์ๆ กัน จ่ายตังค์ จบ 

        มันเหมือนกับเรื่องใบสั่งที่เราคุยกันไปตอนต้น คนไม่เคยรู้สึกถึงผลที่ตามมา เขาเลยไม่รู้สึกว่าการขับรถเร็วเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วการขับรถเร็วคือเรื่องใหญ่ เพราะมันฆ่าคนได้ มันคืออาวุธชนิดหนึ่ง แต่เพราะความที่เราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยได้รู้สึกถึงผลที่ตามมา เราถึงยังทำเรื่องผิดกฎจราจรได้เหมือนเดิม ต่อให้มาตรา 291 จะเขียนใหม่ว่าผู้ใดกระทำการประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับสองล้านบาท ผมว่าผลก็ไม่ต่างกัน และผมเชื่อว่าคนตายก็ไม่ลดลง คนขับรถเร็วก็ยังเหมือนเดิม 

“ในภาษากฎหมาย ถ้าไม่มีใครกลัวอำนาจรัฐ หรือไม่ทำตามคำสั่ง นั่นหมายถึงคุณคือรัฐที่ล้มเหลว เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นมอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟแดงเป็นประจำ หรือเห็นคนรวยที่ไม่แคร์กฎหมาย ตังค์เยอะแล้วไม่สนใจอะไร แข่งรถกันบนทางด่วน ไปดูในยูทูบสิ คลิปมีเป็นร้อย ทำไมไม่มีใครไปจับ”

        มันไม่เหมือนคดีเมาแล้วขับ แปลกไหมว่าเป็นคดีที่คนกลัวกันมาก เพราะอะไร เพราะกระบวนการมันรวดเร็ว พอถูกจับปุ๊บ ไม่เกินพรุ่งนี้คุณขึ้นศาล ได้รับโทษตามความผิดทันที นี่ไงคือประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ พอทำแล้วเห็นผลตามมาทันที แล้วกระบวนการที่ตามมารวดเร็ว คนถึงได้กลัวกันไง แต่กับกรณีชนคนตาย กลับไม่กลัว ผมว่ามันแปลกมาก (ยิ้ม)

ในระดับนานาชาติ UN เคยมีการตั้ง speed limit ความเร็วในการขับรถในเมืองไว้ที่ 30 กม./ชม. คุณคิดว่าถ้านำมาใช้ในเมืองไทย จะเกิดผลดีขึ้นไหม

        บ้านเราสัก 40 กม./ชม. ผมว่าก็จะแย่กันแล้ว (หัวเราะ) เคยมีการกำหนดกันขึ้นมาจริงๆ นะครับ แต่ส่วนใหญ่จะจับบนทางด่วนหรือทางหลวงระหว่างอำเภอ แต่ไม่มีการใช้ในเมือง แล้วมีเรื่องตลกอีกอย่าง พวกป้ายที่เขียนว่า 30 หรือ 40 ในบ้านเรา พวกนี้เป็นป้ายแนะนำ ไม่ใช่ป้ายสั่งหรือบังคับ เพราะฉะนั้น ทำหรือเปล่าก็อีกเรื่อง สมัยอยู่ที่อเมริกา ผมเคยโดนจับเรื่องความเร็ว ตอนนั้นขับอยู่แค่ 25 กม./ชม. ก็โดนแล้ว ตำรวจขับรถเปิดไซเรนวิ่งมาข้างหลังเลย เขียนใบสั่งให้ตรงนั้น ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตามจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะมีผลตามมา แต่ว่าที่เมืองไทย กระบวนการเหล่านี้มันยังไม่มี แต่ก็เข้าใจนะ ขนาดคดีตีรันฟันแทง ขโมยขึ้นบ้าน เขายังทำไม่ไหวกันเลย นับประสาอะไรจะไปทำคดีจราจร คนทำผิดเป็นล้าน 

        คือสังคมไทยควบคุมกันด้วย moral หรือศีลธรรม สมมติถ้าเราตั้งคอนเซปต์ว่าขับรถเร็วเท่ากับเลว หรือเร็วเท่ากับเลว มันไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มันอาจจะมีต้นตอมาจากกฎหมายก็จริง แต่คนที่อยู่ภายใต้กฎหมายไม่รู้สึกถึงความเป็นกฎหมายด้วยซ้ำ ยิ่งพอกฎหมายมันหย่อน มาตรฐานของสังคมก็หย่อนตามไปด้วย มันเลยกลายเป็นเมืองที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครออกตัวก่อนก็ได้ไปก่อน ปัญหามันเลยไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

เห็นที่คุณโพสต์ในเฟซบุ๊กอีกว่า ต่อไปถ้าใครมีคดีโดนรถชนบนถนนอีก คุณจะไปช่วยฟ้องร้องให้ มีความตั้งใจอะไรกับเรื่องนี้

        เพราะผมอยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ ไง (ยิ้ม) ตั้งแต่ผมเริ่มทำกลุ่มเส้นด้ายช่วยคนติดโควิดมาปีกว่าๆ มันทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ถ้าเรามีแอ็กชันขึ้นมา รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปลี่ยนท่าทีไปทันที เราไม่อยากขับเคลื่อนสังคมด้วยการด่า โอเค การด่าไม่ผิดหรอก เพราะมันก็เป็นการทำให้หน่วยงานต่างๆ ฟังเสียงประชาชนบ้าง แต่ว่าพอเรามีแอ็กชัน หรือลงมือทำจริงๆ ปุ๊บ จะทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย กูต้องเปลี่ยนแล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะกดดันเราแน่  

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในบ้านเมืองนี้ คือต้องส่งเสียงออกมาดังๆ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย

        ใช่ ไม่อย่างนั้นมันไม่เกิดขึ้นจริง อย่างที่ผมบอกจะช่วยฟ้องร้องคดีให้กับคนที่เจออุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ ผมแค่ต้องการแสดงให้เห็นว่า เรื่องแบบนี้ต่อไปมันจะต้องมีผลที่ตามมาบ้าง ไม่ใช่เงียบหายไป แต่ผมก็ไม่เคยบอกว่าผมจะชนะ แค่ผมจะนำคุณเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ เหมือนคนที่มีเรื่องกัน มึงมาต่อยกับกูสักตั้ง (หัวเราะ) ยังไม่ต้องแคร์เรื่องผลลัพธ์หรอก ขอให้มันได้รับผลการกระทำบ้าง ซึ่งผมบอกเลยว่า พร้อมที่จะเสียเวลากับการมีเรื่องเหล่านี้

“เมื่อเทียบกับกฎหมายจราจรในหลายๆ ประเทศ เขามีความชัดเจนกว่ามาก สมมติถ้ามีป้าย STOP ติดเอาไว้ นั่นคือรถต้องหยุด หยุดแบบหยุดสนิท ไม่ใช่แค่ชะลอ ส่วนของบ้านเรา ป้าย STOP เราก็มี เป็นป้ายสีแดงๆ ที่บอกให้รถหยุด แต่ในความเป็นจริง ไม่เคยมีใครเชื่อป้ายเหล่านั้น”

วันนี้ยังมีความหวังอะไรในแง่กฎหมายกับเมืองที่คุณนิยามว่า ‘กอแธม’ แห่งนี้อยู่ไหม

        มีสิ (ยิ้ม) แต่ต้องสู้นิดนึง ผมรู้ว่ามันยากและมันเหนื่อย แต่ก็ต้องสู้ ไม่มีสังคมไหนที่ชนชั้นนำหรือผู้ที่มีอำนาจเขาจะออกมาบอกว่า เราจะปกป้องสิทธิของพวกคุณ เราจะสร้างกฎหมายที่ดีที่สุดให้กับพวกคุณ ไม่มีหรอก ไม่มีทาง คุณไปดูสังคมตะวันตกที่มาตรฐานบ้านเมืองเขาดูดีเหลือเกิน มันก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วมันจะดี แต่เขาผ่านการต่อสู้ ผู้คนในสังคมต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างมาตลอด

        เพราฉะนั้น ถ้ากลุ่มเส้นด้ายในสายตาของผู้คนทั่วไป คือตัวแทนของคนที่ไม่มีเส้น ผมก็อยากจะบอกว่า ให้ออกมาปกป้องตัวเอง ออกมาบอกคนที่มีเส้นว่า ถ้าทำแบบนี้ เดี๋ยวมึงเจอกู แล้วไม่ต้องกลัว เรามีเครื่องมือแค่ไหน เราก็ใช้แค่นั้น มีจอบ เราก็สู้ด้วยจอบ มีเสียม เราก็สู้ด้วยเสียม หรือมีแค่กฎหมายไม่กี่มาตรา เราก็จะสู้ด้วยมาตราเหล่านั้น สู้ไปทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้หรอกว่า จะสู้ได้ไหม แต่ที่รู้ๆ คือ เราต้องสู้ก่อน

ในสายตาคุณ เมืองกอแธมแห่งนี้จะไม่มีฮีโร่อย่างแบตแมนที่จะออกมาช่วยประชาชนบ้างเลยหรือ

        ไม่มี (เสียงสูง) มีแค่เรานี่แหละ มันอยู่ที่ตัวเอง อยู่ที่ประชาชน ต้องช่วยๆ กัน ผมเชื่อในพลังของสังคมว่ามันปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องสู้นิดนึง อย่าไปยอมแพ้ ถ้ายอม นอนอยู่บ้าน ปล่อยๆ ไป เรื่องมันก็จะอยู่ที่เดิม

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ อย่ารอแบตแมน ต้องสู้ด้วยตัวเอง ถูกไหม 

        ก็บอกแล้วว่าแบตแมนไม่มีอยู่จริง (ยิ้ม)


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ