เราถามกันตลอดว่า ทำไมประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา เมื่อไหร่จะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาสักที เห็นได้ชัดว่าเราต้องการให้ประเทศพัฒนาก้าวไกล รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ จนมีความเชื่อที่ว่า เราต้องการผู้นำเพียงคนเดียวที่สามารถคิดแทนและสั่งการทุกคนอย่างเด็ดขาด แต่นั่นเป็นความเชื่อที่เป็นไปไม่ได้จริง ไม่มีคนเก่งที่สุดที่คิดถูกทุกอย่างในตัวคนเดียว
‘ช่อ’ – พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ อดีตสื่อมวลชนไฟแรงจากค่ายวอยซ์ทีวี เชื่อว่าทางออกของปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าสังคมไทยค้นหาได้จากความแตกต่างหลากหลาย โดยเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันน่าจะเป็นระบอบที่มีความชั่วร้ายน้อยที่สุด
เมื่อเราอดทนอดกลั้น แสดงความคิดเห็น และเปิดกว้างออกไปรับความคิดเห็นและร่วมกันตัดสินใจ ยอมรับเสียงข้างมาก เคารพเสียงข้างน้อย ยอมให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ถึงแม้ว่าจะไม่รวดเร็วและเด็ดขาด
ความหลากหลายนั้นเป็นทั้งกระบวนการและจุดหมายปลายทาง มันคือการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน เพื่อวางรากฐานบ้านของเราเหมือนก่ออิฐขึ้นไปทีละก้อนๆ เป็นบ้านที่ทุกคนยอมรับด้วยกัน
หัดวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง
แน่นอนว่าเผด็จการคือขั้วตรงข้ามของประชาธิปไตย แต่ในทางตรงกันข้าม เราก็อดถามโฆษกของพรรคที่ชูธงก้าวหน้าไม่ได้ว่า การประณามเผด็จการนั้นแท้จริงแล้วในตัวมันเองคือการแบ่งขั้วตรงข้ามและไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเปล่า
พรรณิการ์เห็นด้วย และเล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเคยโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเธอเคยกล่าวว่า ‘ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพที่จะสนับสนุนเผด็จการ’ เธอเห็นว่าก่อนที่จะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง เราควรเริ่มต้นที่รากฐานความเชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความแตกต่างหลากหลาย และความเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย
“ในยุโรป คุณสามารถตั้งพรรคขวาจัดได้ ไม่มีความผิด แต่ก็มีกฎหมายควบคุมอยู่ ไม่ให้คุณก้าวข้ามไปรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของคนอื่น การเปิดกว้างเช่นนี้จะทำให้เราไม่มีพรรคเทพพรรคมาร คุณต้องใจกว้างพอที่จะรับฟังทุกคน รวมถึงคนที่เห็นตรงข้ามกับคุณอย่างสิ้นเชิง ในระบอบเผด็จการต่างหากที่ต่างคนต่างก็พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็นเทพ คือผู้ที่มากอบกู้ คือคนดีที่มาช่วยเหลือ เผด็จการมักจะพยายามทำแบบนั้น แต่สำหรับช่อจะบอกว่า ความดีไม่ใช่สิ่งที่คุณจะตัดสินได้ด้วยตัวคนเดียว ความดีของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน”
ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาแสดงออก และระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเปิดพื้นที่แบบนี้ได้
แต่มากไปกว่านั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไม่กลายเป็นเผด็จการเสียเอง ก็คือการทบทวนและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ การกล่าวอ้างเสรีภาพก็อาจจะทำให้เรากลายเป็นเผด็จการได้พอกัน ถ้าไม่คอยหมั่นตรวจสอบตัวเอง
“คือการรับฟังคนอื่น โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาตั้งคำถามด้วยซ้ำ เพราะเราจะตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ” เธอบอก
พรรณิการ์เรียนรู้สิ่งนี้จากการทำงานเป็นสื่อมวลชน นั่นคือหลักการและจรรยาบรรณของสื่อ ที่บอกให้ต้องฝึกฝน คอยตั้งคำถามกับตัวเอง และยอมรับการตั้งคำถามจากคนอื่น
“เราถามตัวเองทุกวันว่าเอนเอียงหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ เราใส่ประเด็นส่วนตัวมากเกินไปหรือเปล่า บางวันก็ใช่ บางวันก็ไม่ใช่ นั่นคือสิ่งที่ตัวเราได้พัฒนาขึ้นจากการทำงาน นอกเหนือจากนั้น สำคัญที่สุดคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามาทำงานตรงนี้เพื่ออะไร เพราะมันจะทำให้เราไม่หลงทาง ไม่ทำให้ด่วนตัดสินว่าเราดี คนอื่นเลว ช่อมาทำงานสื่อเพราะเชื่อว่าสื่อคือพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น”
ให้ความหลากหลายนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า
นอกจากอุดมการณ์ทางการเมือง ในการทำงานก็ควรนำการยอมรับความหลากหลาย และวิถีทางประชาธิปไตยมาใช้ในกระบวนการทำงาน
พรรณิการ์เล่าถึงช่วงเวลาขณะเริ่มรวมตัวตั้งพรรค บางวันกลุ่มแกนนำใช้เวลานานถึง 13-14 ชั่วโมง ทุกคนอยากจะทุบโต๊ะเพื่อให้ได้ข้อสรุป คิดว่าควรจะจบประเด็นกันได้แล้ว แต่นั่นไม่ใช่วิธีการทำงานที่ถูกต้อง ทุกคนควรจะต้องปรับตัว นำอุดมการณ์มาแปลงให้เป็นวิธีการทำงานจริง
“คุณเอก (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) จากเดิมเป็นซีอีโอของบริษัท เคยใช้เวลาในการประชุมไม่เกิน 15 นาที เขาก็คิดว่าพวกเราต้องใช้เวลามากขนาดนี้เลยเหรอ สุดท้ายก็ได้เรียนรู้ว่านั่นถูกต้องแล้ว เพราะถ้าเราใช้วิธีการนั่งทุบโต๊ะ เราจะแตกต่างอะไรจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ใช้วิธีการทำงานแบบเผด็จการ ในที่สุดก็เข้าใจว่ายิ่งประชุมพูดคุย ยิ่งทำให้พรรคเราเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย แม้กระทั่งหัวหน้าพรรคก็ยังแพ้โหวตในการประชุมพรรคได้”
ซึ่งสิ่งเดียวที่แน่นอนตลอดทั้งกระบวนการทำงานก็คือการตกผลึกร่วมกันถึงแนวทาง อุดมการณ์ และมี Grand Narrative ร่วมกัน แม้เธอยอมรับว่าการเริ่มต้นจากศูนย์นั้นยากเย็นและเหน็ดเหนื่อยกว่า เปรียบเหมือนการสร้างบ้านใหม่โดยวางอิฐทีละก้อน แต่ข้อดีคือเราได้ออกแบบเองทั้งหมด ให้เป็นแบบที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในแบบที่เราทุกคนอยากจะให้มันเป็น
คุณคิดว่าพรรคการเมืองที่ใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพมากๆ นายทุนพรรคคนเดียวมาเคาะให้แบบที่ผ่านมา มันโอเคไหมล่ะ? – เธอย้อนกลับมาถามเราตามสัญชาตญาณความเป็นสื่อมวลชน
ไม่เลย ไม่โอเค – เรายอมรับ
ในฐานะผู้นำ มันมีทางเลือกให้คุณสองทางในการนำพาองค์กรเดินหน้าไป ทางหนึ่งคือทุบโต๊ะแล้วก็สั่งด้วยอำนาจ และอีกทางหนึ่งคือการเปิดโอกาสและความเป็นไปได้ให้มากที่สุด จากความร่วมแรงร่วมใจของคนในทีม
คุณเป็นผู้นำแบบไหน? เราถามเธอ
พรรณิการ์บอกกับเราว่า สำหรับเธอ ผู้นำไม่ต้องใจใหญ่ ถ้าบอกว่าผู้นำต้องใจกว้าง นั่นหมายความว่าเรายกให้เป็นเรื่องคุณธรรมของตัวคนคนนั้นว่า เขาจะยอมใจกว้างหรือเปล่า สิ่งสำคัญกว่านั้นคือคุณต้องเข้าใจและยอมรับความจริงว่าบนโลกใบนี้ไม่มีมนุษย์คนไหนที่คิดถูกทุกอย่าง
1) คุณต้องเชื่อก่อนว่าไม่มีคนหนึ่งคนใดที่ตัดสินใจถูกร้อยเปอร์เซ็นต์
2) คุณต้องมีความเชื่อมั่นในเพื่อนมนุษย์ ว่าทุกคนมีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีไอเดียที่ดีในหัวของตัวเอง
ดังนั้น ผู้นำที่ดีคือคนที่สามารถดึงเอาศักยภาพหรือส่วนที่ดีที่สุดของคนในทีมหรือองค์กร ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวทางนี้ใช้ได้ตั้งแต่การทำงานกลุ่มในโรงเรียนไปจนถึงการทำงานในระดับประเทศ