สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ

สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ | คิดถึงใจเขาใจเรา แล้วเราจะมองคนคนนั้นในอีกมุมที่ต่างออกไป

การยอมรับเรื่องของความแตกต่างและความหลากหลายของผู้คนในสังคม คนหนุ่มสาวในตอนนี้อาจจะมองว่าเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องธรรมดาที่คนแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าสมองของเราจะถูกความจริงที่หนึ่งตัดสินคนที่เพิ่งเคยเจอไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เหมือนกับเรา ซึ่ง ‘อิมเมจ’ – สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ นักร้องหญิงคนเก่งจากค่าย Smallroom บอกเราว่า เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะมีชุดความคิดแบบนี้เกิดขึ้นในครั้งแรก และเธอยังแนะนำว่า ให้เราเชื่อความคิดที่สองที่จะตามมา นั่นคือการเติมความเอาใจใส่เข้าไป คิดถึงใจเขาใจเรา แล้วเราจะมองคนคนนั้นในอีกมุมที่ต่างออกไป เพราะความคิดแวบแรกนั้นไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินใครได้ว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร นั่นจึงทำให้เราคุยกับเธอถึงเรื่องของการยอมรับในตัวตนของผู้คนที่มีความหลากหลาย ว่าวัยรุ่นอย่างเธอคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

 

เราทุกคนมีความแตกต่างเหมือนกัน

     เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกับอิมเมจถึงเรื่องของข้อดีในการยอมรับความหลากหลาย โดยจะนำมาซึ่งประโยชน์ในด้านต่างๆ ของชีวิต ทั้งเรื่องการทำงานเพลง การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข ไม่มีการบูลลีใส่กันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ฟังดูแล้วเป็นเรื่องอุดมคติมากๆ และคงยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจได้ เพราะเราเองก็ยอมรับว่าต่างคนก็ต่างความคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เธอเสนอกับเราก็คือก่อนที่เราจะคิดหรือตัดสินใจอะไรก็ตาม ให้เอาเรื่องเพศ เรื่องสีผิวออกไปให้หมด แล้วมองคนนั้นจากภายใน ซึ่งวิธีนี้คือหลักการสำคัญที่จะทำให้เรานั้นเข้าใจใครสักคนได้อย่างไม่มีอคติ

     “ตัวตนของเราจริงๆ ไม่ใช่เปลือกนอกพวกนี้ ถ้าพูดตามหลักศาสนาจะยิ่งเข้าใจ เพราะตามหลักคำสอนก็บอกอยู่แล้วว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราแค่ยืมมาใช้ สิ่งที่เป็นของเราจริงๆ คือ จิต ถ้ามัวแต่มองไปที่เปลือกนอก เราอาจจะพลาดอะไรดีๆ ไปหลายอย่าง โดยที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จักเลยด้วยซ้ำว่าเขาเป็นคนอย่างไร เราอาจจะได้มุมมองอะไรบางอย่างจากเขา ได้แลกเปลี่ยนความคิด เราอาจจะพบว่าเราอยู่กับคนคนนี้แล้วสบายใจ แต่ถ้าเราไปตัดสินเขาจากเปลือกนอกก่อน มันก็เหมือนกับเราปิดโอกาสตัวเอง”

     แล้วความเท่าเทียมกันที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร เพราะอย่างไรก็ตามเรื่องของกายภาพก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายนั้นแตกต่างกัน

     “เราเห็นกันมาตลอดว่ามีการเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย แต่ก็พบว่ามีหลายคนพูดว่าทำไมเวลาอยู่ในรถโดยสารสาธารณะผู้ชายถึงไม่ลุกให้ผู้หญิงนั่ง นี่คืออีกข้อที่หลายคนยังไม่เข้าใจ เราเรียกร้องความเท่าเทียม นั่นหมายความว่าผู้หญิงกับผู้ชายก็มีขาเท่ากัน แขนเท่ากัน เราไม่ได้ป่วย เราไม่ได้ท้อง ทำไมเราจะยืนไม่ได้ ก็ในเมื่อเขามาก่อน ถ้าเอาเรื่องเพศออกไปเลย เราก็มนุษย์ เขาก็มนุษย์ แต่ถามว่าเราเท่ากันจริงๆ ไหม ทางเพศสภาพยังไงก็ไม่เท่ากัน ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ผู้ชายไม่ สิ่งที่จะทำให้เท่ากันคือการที่เราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งอย่างเท่าเทียมมากกว่า”

 

สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ

 

     ซึ่งสิ่งนั้นที่เธอบอกก็คือ ความเอาใจใส่ (empathy) ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรายอมรับในความหลากหลายของผู้คนได้

     “เราเป็นคนที่เกรงใจคนอื่นมาก มากจนบางทีก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคิดมากไป แต่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้เราคิดถึงคนอื่นว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งสิ่งนั้นคือคำว่า ‘ใจเขาใจเรา’ พอความคิดนี้เริ่มจากการที่ไม่อยากให้มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับตัวเอง เราก็จะไม่ไปสร้างเรื่องนั้นกับคนอื่น ยิ่งกับคนใกล้ตัวด้วยแล้ว เราจะรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร เพราะเจอกันบ่อยหรือโตมาด้วยกัน ก็จะมีความเอาใจใส่เกิดขึ้น เราจะรู้ว่าคนนี้มีภูมิหลังอย่างไร เราก็ไม่ควรพูดเรื่องนี้กับเขา”

     ที่รู้ว่าต้องจัดการแบบนี้เพราะส่วนหนึ่งคุณสนใจเรื่องของจิตวิทยาด้วยใช่ไหม เราถาม 
 “ถ้ารู้เรื่องของจิตวิทยาก็ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น คือจิตวิทยาอาจจะเอาไปใช้วินิจฉัยโรคไม่ได้ แต่เวลาเพื่อนมาปรึกษา มาเล่าในเรื่องที่น่าเป็นห่วง เราจะรู้วิธีดึงเขาให้อยู่กับเรา เพื่อจะได้หาวิธีช่วยเหลือต่อไป”

     เมื่อเข้าใจเรื่องของการเอาใจใส่แล้ว เราจะรู้ว่าความหลากหลายนั้นมีประโยชน์ในด้านต่างๆ ของชีวิตอย่างมาก เหมือนกับนักร้องหญิงคนนี้ที่พบว่า การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างนำมาสู่ประสบการณ์อันล้ำค่า

     “เพลงล่าสุดของเราชื่อ Unlucky มีเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ กว่าจะออกมาเป็นเวอร์ชันที่ได้ฟังกัน เรานั่งคุยกับทีมงานของค่าย Smallroom กันเยอะมาก เพราะความคิดเห็นของทุกคนจะแตกต่างกัน ทุกคนจะช่วยโยนไอเดีย บางไอเดียแม้จะถูกคิดให้ต่างออกไปแต่ก็เอามารวมกันได้ บางไอเดียที่เข้ากันไม่ได้ก็ถูกวางออกไปก่อน แต่สุดท้ายการที่ทุกคนแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา มีการรับฟัง ก็ทำให้เราเจอทางออกร่วมกัน”

     สังคมที่ยอมรับความหลากหลายได้จริงๆ นั้นจะเป็นแบบไหน—เราถาม

     “สังคมที่ยอมรับความแตกต่างได้จริงจะเป็นสังคมที่มีการบูลลีหรือกลั่นแกล้งกันน้อยลง มีความเข้าใจมากขึ้น มีความสงบสุข เพราะเมื่อรู้ว่าทุกคนมีความแตกต่างจะทำให้ทุกคนเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น”

 

สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ

 

วิธีคิดและมุมมองในความหลากหลาย

     ความหลากหลายของคนนั้นถูกนำมาใช้อยู่ในวรรณกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าการรวมตัวของคนที่มีความแตกต่างจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า เหมือนเรื่องราวของ Harry Potter หนังสือเล่มโปรดของเธอ

     “สามตัวละครหลักอย่างแฮร์รี, รอน และเฮอร์ไมโอนี มีครบเลย ทั้ง Mudblood, Half-blood แล้วก็ Pure-blood แต่พวกเขาก็อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งในโลกเวทมนตร์ที่มีความแฟนตาซี ก็มีประเด็นเรื่องความหลากหลายเป็นหนึ่งในแกนหลัก มีคนที่รับได้ แล้วก็มีกลุ่มที่รับไม่ได้ต้องการให้พ่อมดแม่มดมีแค่เลือดบริสุทธิ์”

     เรากลับมองไปถึงเรื่องของเผด็จการบางอย่างที่โวลเดอมอร์ต้องการเป็นคนที่คุมทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว แต่คนที่เชื่อในความหลากหลายกลับมองว่าทุกคนเท่าเทียม และความแตกต่างก็ช่วยทำให้ฮอกวอตส์แข็งแกร่งในที่สุด

     “เราว่ามีความซับซ้อนกว่านั้น” เธอนิ่งคิด “ตัวละครโวลเดอมอร์มีวัยเด็กที่ไม่ค่อยดี แล้วก็เป็นเรื่องจิตวิทยาต่างๆ ด้วย มีหลายเหตุผลที่ทำให้เขาอยากมีอำนาจ อยากมีคนรายล้อม อยากยิ่งใหญ่ อยากเป็นคนที่ทุกคนจำ แล้วปัญหาก็คือเขาไม่เคยได้รับความรักด้วย เขาเลยทำแบบนั้น ซึ่งจริงๆ แฮร์รีโตมาก็ไม่ได้รับความรักเหมือนกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าการที่คนสองคนโตมาแบบเดียวกันเป๊ะๆ เขายังไม่เหมือนกันเลย”

 

สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ

 

     แล้วต้องทำอย่างไรล่ะ กับคนที่มีความเชื่อบางอย่างฝังหัว

     “เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราอยู่แต่กับคนที่เหมือนเรา เราก็จะไม่มีวันได้รับความคิดใหม่ๆ จะเห็นอยู่ทางเดียว แล้วพอเราไปเจอเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราก็จะรู้อยู่แค่นี้ แล้วเราก็จะช็อกจนเกิดปัญหา แต่ถ้าได้เจอคนที่ต่างกัน เช่น เรามีเพื่อนที่โตมาจากต่างจังหวัด ส่วนเราโตมาในกรุงเทพฯ ภูมิหลังชีวิตไม่เหมือนกัน พอได้มานั่งคุยกัน ก็จะมีเรื่องแบบว่า อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง”

     เราคิดเสมอว่าการยอมรับความหลากหลายนั้น คนหนุ่มสาวจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ แต่เธอกลับบอกว่าไม่เป็นความจริงเสียทั้งหมด

     “เราเจอคนที่อายุเยอะแล้ว แต่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เยอะมาก มากกว่าที่เจอคนอายุเยอะแล้วไม่รับความคิดเห็นอะไรเลยด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะสมัยก่อนอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ข่าวสารต่างๆ มาช้า และเข้าถึงผู้คนได้ยากกว่า ตอนนี้ทุกอย่างเร็วไปหมด ทำให้เราต้องตามโลกให้ทัน จึงเกิดเป็นชุดความคิดแบบอัตโนมัติให้คนเปิดรับทุกอย่างเข้ามาก่อน แล้วเอามาพิจารณาทีหลัง”

     แต่ถึงอย่างไรเวลาเด็กพูดอะไรมาผู้ใหญ่ก็มักจะไม่ฟัง เพราะคิดว่าเด็กจะไปรู้อะไร ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าจริง เพียงแต่…

     “ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงคิดว่าเราเถียง แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่า เป็นเพราะเขาเจออะไรมาที่ไม่เหมือนเรา ดังนั้น จึงไม่มีทางที่เขาจะมีมุมมองเดียวกันได้ ถ้ามัวแต่ไปคิดว่าทำไม ก็จะทำให้เราทุกข์ แต่ถ้าเราแค่คิดว่าเขาแค่คิดต่าง เท่านี้ก็จบแล้ว แค่พลิกวิธีคิด เราก็จะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างได้”