สิ่งสำคัญที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างคือ Empathy ความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจกัน บ่อยครั้งแค่ไหนที่คุณอ่านข่าวร้ายๆ แล้วด่วนตัดสินราวเป็นผู้พิพากษา นำไปสู่แบ่งแยกพวกเขาและเรา และบ่อยครั้งแค่ไหนที่การแบ่งแยกนี้พัฒนากลายเป็นความโกรธหรือเกลียดชัง จนคุณแสดงด้านมืดภายในใจออกมา ด้วยการด่าทอสาปแช่งคนที่คุณไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเข้าใจเงื่อนไขชีวิตทั้งหมดของเขา
นำความใจดีของคุณกลับมา จุดประกายแสงสว่างในใจอีกครั้ง ด้วยการทำความรู้จักกับ ‘ป้ามล’ – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ผู้ทำงานด้านสิทธิเด็กและสตรีมายาวนานหลายทศวรรษ และเรื่องราวส่วนหนึ่งเคยถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ เด็กน้อยโตเข้าหาแสง
เรื่องเลวร้ายมากมายเกิดขึ้นในสังคมรอบตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้คนล้วนเลวร้ายไปเสียหมด แต่นี่คือความแตกต่างหลากหลาย และคือโอกาสที่เราทุกคนจะได้ยืนยันในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ก็คือความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
พัฒนาความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ
กรณีตัวอย่างมากมายจากหนังสือ เด็กน้อยโตเข้าหาแสง แสดงให้เห็นเรื่องราวในชีวิตของเด็กที่ก่อคดีร้ายแรง ทุกคนต่างมีรายละเอียด ถักทอขึ้นมาจนกลายเป็นเงื่อนไขชีวิต ทำให้ในขณะที่เขาเป็นผู้กระทำผิด ตัวเขาเองก็คือเหยื่อของสังคมด้วยในเวลาเดียวกัน
คนส่วนใหญ่รุมประณาม ด่าทอ และสาปแช่ง เพราะคิดว่าคนเลวเพราะเลือกที่จะเป็นคนเลว แต่สำหรับป้ามล ในฐานะที่เป็นมนุษยนิยม เธอเชื่อว่าถ้ามีทางเลือกอื่น ไม่มีใครเลือกที่จะเป็นคนเลว เราทุกคนมีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันหมด ถ้ามองให้กว้างและพยายามทำความเข้าใจ เชื่อมโยงถึงปัจจัยมากมายภายนอก ก็จะเกิดความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ
“ถ้าเราหัดมองดีๆ ก็จะเข้าใจว่าทุกคนมาจากเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกัน ทำให้สังคมมีความหลากหลาย จึงไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะโกรธหรือเกลียดใคร หรือเชื่อว่าเราดีกว่าคนอื่น เราก็เป็นผลผลิตของเงื่อนไขที่เราเติบโตมา”
การบ่มเพาะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เริ่มต้นที่การให้มุมมองที่เหมาะสม ไม่ด่วนสรุป และเน้นถึงรายละเอียดเพื่อให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ ต้องสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้ ให้ทุกคนค่อยๆ ขบคิด ค่อยๆ มองเห็น
ป้ามลยกตัวอย่างถึงโครงการพัฒนาร่วมกับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ที่พาเด็กๆ จากบ้านกาญจนาฯ ไปช่วยแนะแนวนักเรียนชั้น ม.2 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราดร็อปเอาต์สูงที่สุด และก็อย่างที่เรารู้กันแล้วว่าเมื่อใดที่ประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกก็จะเปิดออกต้อนรับพวกเขา
ในโรงเรียนแห่งนี้มีปัญหาความรุนแรงที่น่าเป็นห่วง เด็กบูลลีกันและแบ่งออกเป็นแก๊งแล้วก็ทำร้ายกัน ป้ามลวางแผนว่าจากจุดเริ่มต้นเปิดเทอมหนึ่งไปจนถึงวันสอบไล่ปิดเทอมสอง เวลารวมสามร้อยกว่ากัน จะทำอย่างไรให้เด็กทั้งหมด 38 คน กลับมาอยู่ร่วมกันด้วยความรักความเข้าใจ
ป้ามลใช้วิธีการเดียวกับที่ใช้ในบ้านกาญจนาฯ คือนำเนื้อหาจากข่าวไปให้เด็กๆ อ่านและร่วมกันพูดคุย วิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็น
“เรานำข่าวจากต่างประเทศไปให้เขาอ่าน ข่าวที่เด็กแกล้งกันจนฆ่าตัวตาย เราพบว่าเมื่อเด็กๆ ได้ดูข่าว ได้รับรู้เรื่องราวจากทั่วทุกมุมโลก เด็กเกิดความสลดใจขึ้นมาเอง เราก็ถามว่า หลังจากนี้เหลืออีกสามร้อยกว่าวัน พวกเราจะอยู่กันอย่างไรดี แล้วหลังจากนั้นมาด้านดีงามของเด็กๆ ก็ฉายแสง เขาก็เลิกล้อชื่อพ่อแม่ เลิกแกล้งกัน เลิกแซวเพื่อนที่ตั้งใจเรียน เด็กเหมือนรู้ขึ้นมาเองว่าพวกเขาควรทำอะไร ป้าคิดว่านี่คือการสร้างเงื่อนไขชีวิตแบบใหม่ ไม่ใช่การไปสั่งสอน ด่าทอ หรือลงโทษเขา”
จัดสมดุลของการตัดสิน
การแก้ไขปัญหาจากกรณีย่อยๆ นำไปสู่โมเดลที่นำไปใช้กับกรณีทั่วไป เช่น ใช้ขัดเกลาบรรดาผู้ใหญ่ที่ด่าทอและทำร้ายกัน
“ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อมั่นและศรัทธาในความเป็นมนุษย์แค่ไหน” ป้ามลเน้นย้ำ
ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราที่มีต่อโลกและชีวิต ว่าถึงแม้รอบตัวเราจะเต็มไปด้วยเรื่องราวเลวร้ายมากมาย แต่มนุษย์นั้นดีงาม เรียนรู้ได้ รับผิดชอบตัวเองเป็น เรื่องราวเลวร้ายจึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากจะเป็นบทเรียนที่มีค่า เราสามารถนำมาใช้เป็นวัคซีนให้แก่เด็กๆ
ดังนั้น คำถามที่ป้ามลถามเด็กๆ อยู่เสมอ คือเราจะแสดงความคิดเห็นต่อข่าวร้ายๆ เหล่านั้นอย่างไร โดยที่ไม่ให้ด้านมืดของเราแข็งแรงขึ้นมา
“ป้าคิดไม่ออกเลยว่าในอีกสิบปีข้างหน้า ถ้าในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารเต็มไปด้วยคนที่เกรี้ยวกราด สังคมเราจะไปจบตรงไหน แล้วเราจะเอาปัญญาจากไหนมาจัดการปัญหา”
ในชีวิตประจำวันของเรา การพูดจารุนแรงใส่กัน ล้อเลียน เสียดสีเหน็บแนม โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติหรือสนุก เป็นการฝึกเล่นกับด้านมืดของตัวเอง และฝึกเล่นกับด้านมืดของคนอื่น
ในโลกออนไลน์ การแสดงความคิดเห็นมักเป็นไปในทางเกรี้ยวกราด ด่าทอ สาปแช่งผู้กระทำผิดอย่างหยาบคาย จนกระทั่งพวกเราเคยชินกับการแสดงความคิดเห็นแบบนี้
เราถามป้ามลว่าทำไมเราจึงไม่ต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อคัดเลือกให้เหลือคนที่แข็งแกร่งที่สุด เหมาะสมที่สุด เราจะช่วยเหลือหรือมีเมตตาต่อผู้กระทำผิด เก็บรักษาผู้คนที่แตกต่างไปจากเราเพื่ออะไร
“คุณล้อเล่นใช่ไหม ป้านึกไม่ออกเลยนะ ว่าถ้าเรายอมให้คนเข้มแข็งรังแกคนอ่อนแอได้ ถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง โลกจะพังพินาศขนาดไหน”
แล้วความสมดุลที่แท้จริงคืออะไร?
ป้ามลบอกว่า ในป่าเขา สัตว์ที่เข้มแข็งกว่าจะอยู่รอด สัตว์ที่อ่อนแอก็สูญพันธุ์ไป แต่สัตว์จะหากินตามสัญชาตญาณ อย่างสิงโต กินอิ่มแล้วก็นอนพักไปเดือนหนึ่ง แต่คนเราจะไม่มีวันพอ
“เราเป็นสัตว์ที่เสพและพึงพอใจกับอำนาจ แล้วก็ใช้อำนาจนั้นอย่างไร้ขอบเขต และจะกลายเป็นอีกวงรอบหนึ่งซึ่งโลกจะต้องวุ่นวาย บทเรียนจากอดีตทำให้เราพอจะประเมินหนทางในอนาคต ถ้าเรารู้ว่าการปล่อยให้อำนาจดำเนินไปถึงที่สุดมันจะนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้น จึงดีกว่าถ้าเราอยู่ร่วมกัน ดูแลกัน อดทนกับความแตกต่าง จัดการด้วยความเมตตา ด้วยความรู้สึกแบบมนุษย์ต่อมนุษย์”
ในขณะที่แนวโน้มของโลกมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายลดลง ความเกลียดชังถูกกระพือ นี่คือสิ่งที่คนทั้งโลกต้องร่วมกันรับผิดชอบ
“หากทุกคนรู้ถึงความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีของตัวเองและคนอื่น ก็จะไม่มีใครอยากเบียดเบียนใคร ถ้าเรามีวัตถุดิบทางความคิดในตัวเรามากพอ มนุษย์จะไม่เลวร้ายถึงขนาดลุกขึ้นมาฆ่าหรือเบียดเบียนกัน เพราะความคิดภายในจะคอยรักษาสมดุลในตัวเขาเอง คนที่เบียดเบียนคนอื่นส่วนใหญ่เป็นเพราะยังไม่เข้าใจ และไม่มีวัตถุดิบภายในมากพอ”
นอกจากมุมมองที่กว้างขึ้นและเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความคิดอ่านก็ต้องเหมาะสมด้วย ซึ่งเกิดจากการสั่งสมคลังภาษา คลังความคิด ผู้คนในสังคมจึงจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ดี และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน