ชาร้อนในกาใสถูกยกมาเสิร์ฟในช่วงสายๆ ของวันอากาศเป็นใจ เรานั่งคุยกับ ‘เอ็ดดี้’ – พิทยากร ลีลาภัทร์ นักเขียนและวิทยากรผู้บรรยายเรื่องธรรมะแบบเข้าถึงง่ายและเข้าใจได้ไม่ยาก เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความสุขให้ทุกคนฟังได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องราวของความทุกข์ยาก เขาจะอธิบายด้วยธรรมะร่วมสมัยให้เราเข้าใจได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องของความแก่ชรา ความเจ็บป่วย และความตาย
เอ็ดดี้ชวนคุยเรื่องการฝึกฝนจิตใจ ซึ่งมีคำกล่าวว่า ตอนเริ่มฝึกปฏิบัติ เรามองเห็นภูเขาเป็นภูเขา หมายถึงเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่คนอื่นเห็น แต่พอฝึกไปสักพักเราจะเห็นภูเขาไม่ใช่ภูเขา คือความเข้าใจในอีกแบบหนึ่งว่าจริงๆ แล้วสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันคือธาตุดินและอื่นๆ ที่ก่อตัวรวมกันแล้วเกิดเป็นภูเขา แล้วฝึกฝนต่อไปเราก็จะเห็นว่าภูเขาคือภูเขานั่นแหละ หมายความว่าความจริงทั้งหมดทั้งมวล ไม่มีความจำเป็นต้องไปแยกแยะก็ได้ เราก็แค่รู้อย่างที่มันเป็น
เช่นเดียวกันกับความสุข ความทุกข์ ชีวิต และความตาย สิ่งที่เขาเน้นย้ำอยู่เสมอคือ ‘ความจริงตามธรรมชาติ’ และ ‘ความธรรมดา’ ทุกสิ่งล้วนตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีอะไรเหมือนเดิมสักอย่าง รวมทั้งลมหายใจของเรา นี่คือบทสนทนาทั้งหมดที่จะย้ำให้เห็นถึงความจริงนี้
ในฐานะที่เป็นผู้สนใจในเรื่องธรรมะร่วมสมัย คุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องความตายอย่างไร
การตายถ้าเป็นไปโดยธรรมชาติ มันเป็นเรื่องปกติ การตายแบบไม่เป็นไปโดยธรรมชาติก็เป็นเรื่องปกติในอีกทางหนึ่ง เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ใครคาดคิดได้ล่วงหน้า มนุษย์เราเกิดมาสุดท้ายยังไงก็ตาย อันนี้คือความจริง เมื่อเรารู้ว่านี่คือความจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องคาดหวังหรือปฏิเสธความจริง ไม่คาดหวังในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความจริง เช่น การคาดหวังว่าตัวเองจะอยู่ได้จนถึง 100 ปี สำหรับผมน่ะไม่ต้อง ไม่จำเป็น อยู่ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าชีวิตที่ผ่านมาเราใช้มันได้ดีแล้ว เราทำสิ่งที่ดีมากว่าสิ่งที่ไม่ดี เราทำประโยชน์มากกว่าปล่อยไปไร้สาระ
แต่อย่างน้อยก็ขอให้เป็นการตายอย่างธรรมชาติ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย เพราะผมยังเชื่อว่า การฆ่าตัวตาย แม้ว่าจะทำโดยสมัครใจหรือมีสิทธิ์ แต่มันก็คือการหนีความจริง เพราะความจริงไม่ได้มีแค่ความตายเท่านั้น ยังมีเกิด แก่ เจ็บ ก็ล้วนคือความจริงที่ทุกคนต้องเจอ เราจะเอาแค่ความจริงเพียงอันเดียวเป็นตัวตั้ง แล้วไม่เอาความจริงอื่นๆ ก็คงไม่ได้ แม้ว่าความแก่ชรา ความเจ็บป่วยจะไม่มีใครชอบ แต่เมื่อมันมาถึง เราต้องอยู่กับมันไปให้ได้ ต้องยอมรับให้ได้ มีคนไม่น้อยที่แก่ชราไปแล้วก็มีความสุข หรือถึงแม้กำลังเจ็บป่วยอยู่ก็มีความสุข แม้ว่าความสุขนั้นจะยากกว่าคนธรรมดาก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี
แต่การยอมรับความแก่ชรา ความเจ็บป่วย และความตายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ใช่ และนี่คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่กับความเป็นจริง ทุกสิ่งล้วนตั้งอยู่และดับไป อธิบายให้เห็นภาพ ในทุกวันนี้ ใครบ้างมีปัญหาเรื่องที่พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกและตกทางตะวันตก ก็ไม่มี เพราะทุกคนอยู่กับมัน รับรู้ และยอมรับได้ นี่คือความชัดเจนของการเกิดและดับ
“
ธรรมชาติมักจะสอนความจริงให้กับเราเสมอ อยู่ที่เราจะยอมรับและเรียนรู้กับมันหรือเปล่า
”
ถ้าเราฝึกตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน มีสติ เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ การเจ็บไข้ได้ป่วยบางอย่างมันทำให้เกิดเวทนาทางกาย เจ็บมาก ปวดมาก อันนั้นก็คือความยากอย่างหนึ่ง แต่ก็มีวิธีเหมือนกัน คืออยู่กับมันให้เป็น เช่น บางคนฝึกสมาธิได้ ก็ให้เข้าสมาธิ ไม่ต้องรับรู้เวทนาทางกายได้ เพราะจิตจะเข้าไปอยู่โหมดนั้นแล้ว พอออกมาดูก็เห็นความจริง หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่ามันไม่ได้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา แต่จะขึ้นๆ ลงๆ แล้วการขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ก็แสดงความจริงให้เห็น แม้กระทั่งความเจ็บปวดที่เรากลัวมันก็ยังไม่เที่ยง ยังมีการเปลี่ยนแปลงเลย
ดังนั้น ก็เลยมีคีย์เวิร์คคือคำว่า ‘ธรรมดา’ แม้แต่เวลาที่เจ็บป่วยแล้วยอมรับไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าในเมื่อมนุษย์ยังมีประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ก็คงไม่มีใครที่เวลาเจ็บปวดแล้วมีความสุขหรอก เพราะฉะนั้น คนที่เจ็บปวดจะต้องทุรนทุราย กระสับกระส่ายเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อเข้าใจสิ่งนี้ได้ก็จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างมีคนมาบอกว่า เขาป่วยแล้วไม่มีความสุขเลย พี่ก็จะบอกว่าธรรมดา เขายังยอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้ ก็ต้องฝึกกันต่อไป ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
อยากให้ช่วยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงให้ฟังบ้าง
คุณแม่เป็นตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วมีสติและมีปัญญาดีมาก ท่านป่วยเป็นมะเร็งที่มดลูก หมอตัดออกไปแล้ว แต่ยังเหลือส่วนเล็กๆ ที่ติดกับเส้นเลือดใหญ่ จุดนั้นตัดออกไม่ได้เพราะอันตรายเสี่ยงต่อชีวิต ก่อนหน้านี้พวกเราก็ทำทุกอย่างแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล แม่ก็เลยปล่อยวางและเตรียมตัว เพื่อมาบอกเล่าให้ลูกฟังว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งบอกกับลูกว่าหากมันโตขึ้นอีก แม่จะไม่รักษา แม่ปล่อยเลย ให้ลูกเตรียมตัวเตรียมใจและรับรู้ ซึ่งแม่ก็ยอมรับความเจ็บป่วยได้ ท่านไม่เคยบ่นว่าแม่ทุกข์จังเลย ยังใช้ชีวิตตามปกติ ไปหาหมอตามนัดกลับมาบ้านก็ทำกับข้าวกิน ดูแลต้นไม้ประจำทุกวัน ทำในสิ่งที่ท่านชอบ แม่ไม่เคยคร่ำครวญหรือเรียกร้องสิ่งใด เพราะที่ผ่านมาแม่เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว และถือว่าเป็นความโชคดีของเรา
ในทางตรงกันข้าม คุณพ่อท่านป่วยเป็นความดัน หน้ามืดแล้วล้มลง ทำให้เนื้อสมองส่วนหนึ่งตายจนมีอาการสมองเสื่อมจากคนที่ดีๆ อยู่กลับเริ่มดูแลยาก ช่วยตัวเองได้ยาก และสื่อสารกันได้ลำบาก ส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่มันก็ทำให้เราเห็นว่า แม้วันนี้เราแข็งแรงดี แต่ช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นคนป่วยทันทีก็ได้
จากประสบการณ์ส่วนตัว การศึกษาเรื่องธรรมะและเข้าอบรมกับทางชีวามิตร เมื่อผสมกันแล้วได้แง่คิดอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกบ้าง
จริงๆ แล้วแทบไม่แตกต่างกันเลย แค่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อย่างเรื่องของการที่เรามีสิทธิ์เลือกที่จะไม่รับการรักษาบางอย่างที่เราเห็นว่ามันเป็นการยื้อมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้น มันมีเส้นแบ่งระหว่างการรักษา กับการทำให้ตายช้าลง
เรามีสิทธิ์เลือกที่จะจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ ข้อนี้ชัดเจนและมีประโยชน์มาก สมมติว่าเราทำพินัยกรรมไว้ว่า เมื่อเราถึงขั้นโคม่าแล้วต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ก็ขอว่าไม่ต้องใส่นะหากรู้ว่าการรักษานั้นไม่ได้ผล ทำได้เพียงยื้อความตาย เราบอกได้ว่าไม่ต้องการ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าเราฆ่าตัวตาย แต่เป็นการเลือกจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ
ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเราไม่พูดกันเรื่องความตายใช่ไหม ทั้งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่เรากลับไม่ค่อยบอกกันว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเวลานั้นมาถึง
ถามว่า หากไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย แล้วเรายังจะต้องตายอยู่ไหม… ก็ตายอยู่ดี (หัวเราะ) ดังนั้น การพูดกันก็จะดีกว่าไหม หากการพูดนั้นหมายถึงการที่เราได้เตรียมตัวตาย ซึ่งได้ประโยชน์กว่าการไม่พูดเสียอีก ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครจะกลัวหรือไม่กลัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต่อให้ไม่ชอบ ต่อให้กลัว ยังไงก็ตายอยู่ดี ในเมื่อเรารู้แน่แล้ว มาเตรียมตัวไม่ดีกว่าหรือ ทำใจหรือวางใจให้ถูกก่อนไม่ดีหรือ เราก็จะได้วางแผนล่วงหน้า เพราะไม่รู้ว่าวันของเราจะมาถึงเมื่อไหร่
เมื่อเราสามารถเห็นว่าชีวิตและความตายเป็นเรื่องธรรมดา นั่นก็หมายความว่าทั้งสองเรื่องนี้มีจุดร่วมกันอยู่
มันเป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่เกิดแล้ว คนเราเกิดมาก็ทุกข์แล้ว จริงไหม? ไม่ใช่เพิ่งจะมาทุกข์ตอนใกล้ตาย คนจำนวนมากมักกลัวตาย เพราะกลัวตายแล้วจะทุกข์ ซึ่งจริงๆ แล้วความทุกข์มันยังอยู่ เพราะฉะนั้น สุขในทางหนึ่งคือพ้นจากความทุกข์ นั่นถึงเป็นเหตุให้คนอยากฆ่าตัวตาย แต่ถ้าธรรมชาติยังไม่ให้เราไป เราก็ไม่ควรไป แม้ว่าอาจจะอยู่แล้วเหนื่อยหน่อย อาจจะยากลำบากนิดหนึ่ง แต่อะไรที่เป็นธรรมชาติย่อมดีที่สุด และก็จะเป็นสุขที่สุดแล้ว
สุดท้ายคุณคิดเห็นอย่างไรกับสิทธิ์ในการกำหนดชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะการเลือกตายด้วยความเต็มใจอย่าง mercy killing ในต่างประเทศ
สำหรับสิทธิและการฆ่าตัวตาย ผมมองว่ามนุษย์ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกในช่วงสุดท้ายของชีวิต ผมเคยบอกทุกคนไว้ว่าหากหัวใจวายแล้วหมอจะฉีดยา หรือรักษาแบบ 80% รอด ให้ทำไป แต่ถ้าหมอบอกว่า 50:50 และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็ให้ปล่อยเราไป ซึ่งตรงกับทางชีวามิตรฯ ที่บอกว่า เราต้องการได้รับการปฏิบัติหรือการรักษาแบบไหน และควรที่จะสื่อสารกับคนรอบข้างด้วย เพื่อให้เราหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นสุข
อย่างไรก็ตามผมไม่เห็นด้วยกับ mercy killing เพราะเท่ากับการฆ่าตัวตาย นี่ยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และยังคงเป็นคำถามที่ติดอยู่ อย่างกรณีของ เดวิด กูดออล นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เลือกไปฉีดยาตายที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งหากพูดกันในทางพุทธ เหมือนการผิดศีล และแทบจะไม่ต่างจากการฆ่าตัวตาย เพียงแค่ว่าเขาทำโดยที่มีสติสัมปชัญญะดี และอาจจะต่างกันเล็กน้อยคือ ‘ภาวะจิตสุดท้าย’ ก่อนจากไปนั้นเป็นจิตชนิดไหน สำหรับคนที่ฆ่าตัวตายปกติจะมีจิตที่เศร้าหมอง แต่เดาว่าเคสนี้อาจจะไม่ได้เศร้าหมอง ก็เป็นทางที่ไม่ได้แย่มากนักหากเขาไปแบบนั้น