นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้รีบกลับมาบ้าน อาบน้ำกินข้าวเตรียมความพร้อมแล้วนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อดูละครเรื่องโปรดที่กำลังเข้มข้น น่าติดตาม และเกิดอาการกรีดร้องเมื่อละครจบตอนแล้วทิ้งเชื้อไว้ให้ต้องติดตามต่อไปในอาทิตย์หน้า สำหรับคนที่เติบโตมาในช่วงก่อนที่อินเทอร์เน็ตและสื่อบันเทิงในรูปแบบสตรีมมิงจะแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ คงเข้าใจความรู้สึกนี้ดี
แต่สำหรับเรา แทบไม่ต้องย้อนไปนานเลย เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยๆ กับละครไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะกับ ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ทำเอาผู้คนปั่นป่วนไปกับการตามหามะม่วงน้ำปลาหวาน, กุ้งเผา, น้ำจิ้มซีฟู้ด หรือตั้งเตาหมูกระทะ มากินตามตัวละครกันให้จ้าละหวั่นในช่วงค่ำที่ละครออกฉาย ไหนจะกระแส Soft Power ที่เกิดขึ้นอย่างการใส่ชุดไทยหรือเรียกคนที่เรารักว่า ‘ออเจ้า’ กันไปทั้งบ้านทั้งเมือง และละครเรื่องนี้ก็ดูได้สนุกกับทุกเพศทุกวัย โดยที่ไม่มีตัวละครใดในเรื่องรับบทตัวร้ายแบบสุดๆ จนคนดูอยากเอาเปลือกทุเรียนไปโยนใส่ด้วยซ้ำ
นี่คือหนึ่งในละครน้ำดีที่ผลิตโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ‘หน่อง’ – อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ที่เธอคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงละครและรายการโทรทัศน์มาอย่างยาวนาน ความน่าทึ่งของผู้หญิงคนนี้คือสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการนำเสนอผลงานได้ตามยุคสมัย ทำให้ละครหลายเรื่องที่เธอดูแลขึ้นแท่นเป็นละครขวัญใจคนดูมาตลอด และยิ่งทวีปรากฏการณ์ทางป๊อปคัลเจอร์ไทยมากมาย เช่น ผีอีแพง จากเรื่อง บ่วง, วลี ทุกฝีเข็ม ทุกเส้นไหม ทุกลมหายใจ ข้าขอสาปแช่งพวกมัน ของผีเจ้าสีเกด จากเรื่อง สาปภูษา, ‘น้องนก’ ที่ทุกวันนี้ยังถูกเอามาแซวกับเพื่อนกันอย่างขำๆ จากตัวละครในเรื่อง แรงเงา และล่าสุดกับ ‘ออเจ้า’ ฟีเวอร์ที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้
วันนี้เธอได้จับมือกับค่ายหนัง GDH ทำ บุพเพสันนิวาส 2 (Destiny the Movie) ขึ้นมา โดยยังคงความแปลกใหม่ที่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ภาคต่อของละคร แต่เป็นเรื่องราวในอีกชาติภพหนึ่งของท่านหมื่นและแม่หญิงการะเกด เสริมด้วยลูกเล่นอย่าง Destiny Token ที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เราจึงใช้โอกาสที่อาจจะถูกลิขิตไว้นี้ เพื่อย้อนรอยไปพบวิธีคิดในการทำงานของเธอ ว่าอะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ยังคงมีความสดใหม่อยู่ในตัวเองเสมอ และถ่ายทอดสิ่งที่ถูกอกถูกใจคนดูให้ออกมาได้อย่างไร
ผู้หญิงกับงานโปรดักชันในปีที่คุณเริ่มทำงาน มีความท้าทายขนาดไหน
ยุคนั้นต้องบอกว่าไม่เหมือนยุคนี้เลย ยุคนี้คือเปิดกว้างแล้ว ย้อนไปยุคนั้นผู้หญิงในงานโปรดักชันไม่ค่อยมีมากมายเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายทั้งนั้น โดยเฉพาะในสายของผู้กำกับรายการนั้นไม่มีผู้หญิงเลย เราก็ไปทำในส่วนของการประสานงาน และผู้ช่วยผู้กำกับ จนกระทั่งทางผู้ใหญ่ของช่อง 3 เห็นว่าเราสามารถทำงานได้หลากหลาย สามารถใช้โปรแกรมถ่ายทำต่างๆ ได้ ก็เลยมอบหมายให้เราเป็นผู้กำกับรายการผู้หญิงคนแรกของช่อง 3 ซึ่งถือเป็นผู้กำกับรายการหญิงคนแรกของประเทศไทยด้วย ถือว่าเป็นมิติใหม่ของตัวเองด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)
ในเรื่องของตัวงาน มันก็หนักอยู่แล้วสำหรับงานโปรดักชัน และต้องมารับผิดชอบการกำกับรายการ ซึ่งการกำกับรายการในสมัยนั้น เราต้องทำงานกับผู้จัดละคร ต้องดูบท การแคสติ้งนักแสดง เรียกว่าครอบคลุมหมดเลย ดังนั้น ถามว่างานหนักไหม ก็หนักมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เพราะว่าเราได้ผู้ร่วมงานดี ได้ผู้กำกับที่ดี ได้ คุณอดุลย์ ดุลยรัตน์ (อดีตผู้กำกับชื่อดัง) มาเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ ก็ถือว่าโชคดี ตัวงานแม้จะหนักแต่เราก็มีกำลังใจดี ได้รับความร่วมมือ ทุกอย่างจึงไปได้ด้วยดี ซึ่งเราก็ได้รางวัลเมขลา สาขาผู้กำกับรายการยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง แต่ปางก่อน ซึ่งเพลงประกอบละครเรื่องนี้ก็มาจากเราที่เป็นคนบรีฟให้ คุณวิรัช อยู่ถาวร (นักประพันธ์เพลงชื่อดัง) แต่งให้ด้วยนะ (หัวเราะ) ซึ่งเป็นเรื่องที่เราภูมิใจถึงทุกวันนี้
ละครไทยเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ในมุมของผู้ผลิตรายการ มองสื่อแขนงนี้อย่างไร
ละครไทยเป็นเหมือนสตาร์ทอัพของยุคนี้เลย เป็นทุกอย่างที่มีการเริ่มต้น มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมละครเวลาถ่ายจะมีการบอกบท เราน่าจะเป็นผู้กำกับคนแรกของช่องสามที่มีการถ่ายทำละครนอกสถานที่ จากเดิมที่ถ่ายทำกันแค่ในห้องส่ง ตอนนั้นเราจึงได้ลองของใหม่ๆ ตลอด มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ๆ ได้เป็นผู้กำกับรายการข่าวคนแรกของช่อง 3 ที่เป็นการถ่ายทอดสด ตอนนั้นเรียกว่าเราก็เป็นคนที่บุกเบิกและเจอความท้าทายหลายเรื่องเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะเราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของรายการโทรทัศน์เลย ทั้งถ่ายทำละครหรือการพัฒนางานทั้งหมด เพราะเราอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ จากเทปม้วนใหญ่ๆ มาจนเหลือเทปม้วนเล็กๆ และมาถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน
แรงผลักดันให้คุณอยากทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นคืออะไร
อาจจะเป็นเพราะเราเรียนจบมาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลยรู้สึกว่าเราก็อยากจะสร้างสิ่งที่แปลกใหม่ในการทำงาน อยากมีอะไรที่แตกต่าง ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่คนทำงานด้านสื่อสารมวลชนหรือคนที่ทำงานด้านนี้ก็ตาม อยากจะสร้างผลงานที่ดีและแปลกใหม่อยู่เสมอ และเป็นการพัฒนาตัวเองด้วย เพราะในแต่ละช่วงเวลา สังคมเปลี่ยน คนดูเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน แม้กระทั่งสื่อเองก็เปลี่ยน รายการโทรทัศน์ก็เปลี่ยนในเรื่องของการรับชม วันนี้คำว่า anywhere anytime ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็นึกไม่ออกว่าหมายความว่าอะไร เราเคยไปดูงานที่ต่างประเทศ เขาบอกว่าอีกหน่อยเราจะสามารถดูโทรทัศน์ได้ทุกที่ ไม่ต้องดูเป็นจอใหญ่ๆ อยู่ที่บ้านอย่างเดียวอีกแล้ว แล้วสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นเป็นสื่อออนไลน์ สื่อที่เป็นโชเชียลเน็ตเวิร์ก หรือช่องทางต่างๆ ในการรับชมเยอะมาก ซึ่งตอนนั้นเราแค่ได้ยิน แต่วันนี้เราได้เจอหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงมันเป็นไปในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา ในตลอดเวลาของการทำงานด้านนี้
คุณรักษาเอเนอร์จีในการอยากทำสิ่งใหม่ๆ ไว้กับตัวเองตลอดเวลาด้วยวิธีไหน
เราคิดว่าคนเราอยู่นิ่งๆ ไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องตามโลก ตามกระแส ตามความชอบหรือว่าไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เราทำงานด้านสื่อสารมวลชนหรือทำงานด้านละคร เราก็ต้องสื่อสารกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจผู้บริโภคว่าตอนนี้เขาต้องการอะไร ตอนนี้เขาไม่ชอบอะไร เราต้องรู้จักคนดูหรือรู้จักผู้บริโภคของเราว่าเรากำลังทำงานของเราให้ใครดู เราพยายามที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้มาตลอด และที่สำคัญคือการรักษาคุณภาพงาน ซึ่งตอนที่เราตั้งบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เราก็มีหลักปรัชญาว่าการทำงานเราต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ และในความสร้างสรรค์นั้นต้องเกิดประโยชน์และสาระให้กับผู้ชมด้วย
“ตอนที่เราตั้งบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เราก็มีหลักปรัชญาว่าการทำงานเราต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ และในความสร้างสรรค์นั้นต้องเกิดประโยชน์และสาระให้กับผู้ชมด้วย”
คุณเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2532 วันนั้นคุณทำไมถึงเลือก หวานมันส์ ฉันคือเธอ (2535) มาดัดแปลงเป็นละครยาวเรื่องแรกของบริษัท
จุดเริ่มต้นของเรื่อง หวานมันส์ ฉันคือเธอ นั้นมาจากบทภาพยนตร์ ตอนที่จะเริ่มทำละคร บทประพันธ์เรื่องอื่นๆ ก็มีคนซื้อไปหมดแล้ว ในตอนนั้นบทประพันธ์นั้นหายากมาก เราจึงคิดว่าถ้าจะต้องไปหาซื้อบทประพันธ์ ก็ลองเอาบทภาพยนตร์มาดัดแปลงดีไหม และเมื่อมองในตลาดยุคนั้น ละครที่ออกฉายจะเป็นละครสำหรับผู้ใหญ่ เป็นละครดราม่า ละครที่มีความซีเรียส ถ้าเราเข้ามาเป็นหน้าใหม่ในวงการละครก็น่าจะทำอะไรที่แตกต่าง เลยมองว่าตอนนั้นอะไรที่ยังไม่มีใครทำ และสิ่งที่ยังไม่มีใครทำก็คือละครวัยรุ่น ตอนนั้นยังไม่มีใครจับตลาดละครวัยรุ่นเลย และเราเห็นว่าหนังของทางค่ายไฟว์สตาร์เรื่อง หวานมันส์ ฉันคือเธอ ตอนนั้นดังมาก ก็เลยลองหยิบมาทำเป็นละคร โดยได้ เคิร์ก โรลลิ่ง กับ ‘ต่าย’ – สายธาร นิยมการณ์ มาแสดง ปรากฏว่าละครดังมากจนต้องทำภาคสองออกมา ตอนนั้นมีละครที่ทำจากภาพยนตร์หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ ทั้ง ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย, ปลื้ม, ฉลุย ซึ่งก็ได้รับเรตติ้งกลับมาอย่างถล่มทลาย โดยเฉพาะ ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย ในปีนั้นถือว่าเป็นละครที่ได้เรตติ้งสูงสุดประจำปีของช่องสามเลย
การเติบโตของละครจากบรอดคาซท์ฯ คือเรื่องอะไร
น่าจะเป็นการที่เราเริ่มพลิกมาทำละครดราม่าเรื่องแรกคือ ขมิ้นกับปูน ซึ่งก็ได้รับรางวัล และได้ชิงรางวัลเยอะมาก ตอนนั้นได้ พี่จรัล มโนเพ็ชร (อดีตศิลปินล้านนาชื่อดัง) มาเล่นด้วย ซึ่งละครเรื่องนี้ทำให้เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเปลี่ยนแนวละครและทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากนั้นจึงทำเรื่อง สาปภูษา ซึ่งดังมาก ใครก็พูดถึงเจ้าสีเกด ‘ทุกฝีเข็ม’ เป็นประโยคฮิตที่พูดกันทั้งเมือง วันที่ละครฉาย มีการปิดตลาดเพื่อดูละครกันเลย (หัวเราะ) จากนั้นก็มีผีอีแพงที่อาละวาดทั่วเมืองจากเรื่อง บ่วง ซึ่งจริงๆ แล้วเราเป็นคนขี้กลัวนะ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่กลัวนั้นทำมาหมดแล้ว ทั้งผี เด็ก เอฟเฟ็กต์ สลิง (หัวเราะ) จากนั้นก็มี มงกุฎดอกส้ม และภาคสองคือ ดอกส้มสีทอง ที่เป็นปรากฏการณ์เรยา (Reya Phenomenon) แล้วก็มาเรื่อง แรงเงา ที่ได้เป็นวันแรงเงาแห่งชาติ (หัวเราะ)
คุณเลือกประพันธ์แต่ละเรื่องอย่างไรมาทำละคร และคาดการณ์อย่างไรว่าเรื่องนี้จะต้องปัง
(หัวเราะ) เรามีทีมที่จะนำเรื่องมาเสนอ และเราก็ต้องดูอีกว่าทำแล้วจะมีคนสนใจดูหรือเปล่า อย่าง มงกุฎดอกส้ม มีเนื้อเรื่องที่ดีมาก เราก็เอามารีเมก พอเรื่องราวใน มงกุฎดอกส้ม ถูกปูมาไว้อย่างดีแล้ว การนำบทประพันธ์เรื่อง ดอกส้มสีทอง มาทำต่อ โดยที่ตัวนิยายไม่ได้หนามาก เราก็ปรึกษาอาจารย์แดง (ศัลยา สุขะนิวัตติ์) ถึงการทำเนื้อหาต่อจากละครภาคแรก อาจารย์แดงก็เขียนบทให้อย่างดี ผู้กำกับก็กำกับได้เก่งมาก และนักแสดงที่มีความสามารถมาก ทำให้ ดอกส้มสีทอง ประสบความสำเร็จ
“การทำละครแนวพีเรียดย้อนยุคค่อนข้างจะยาก เพราะเราจะต้องสร้างภาพที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาทั้งหมดเลยจากการรีเสิร์ชข้อมูล ฉาก เสื้อผ้า หน้า ผม โดยเฉพาะฉาก จะเห็นว่าเราใส่ซีจี (computer graphic) เข้าไปเยอะมาก เพราะเราก็อยากให้เห็นบ้านเรือนในยุคนั้นที่ไม่สามารถถ่ายในปัจจุบันได้ ก็ต้องใช้เวลากับงานตรงนี้เหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งด้วย”
คุณทำละครพีเรียดมาแล้วหลายเรื่อง พอมาถึง บุพเพสันนิวาส (Love Destiny) ยังมีความยากอยู่มากน้อยขนาดไหน
เรื่องนี้มันมีจังหวะที่ดีคือมีคนอ่านแนะนำเข้ามา บอกว่ามีนิยายอยู่เรื่องหนึ่งที่สนุกมาก และถูกโหวตให้เป็นหนังสือที่คนอยากให้สร้างเป็นละครมากที่สุด เราก็เลยสนใจ เมื่อได้อ่านแล้วเนื้องเรื่องก็ดีจริงๆ เราจึงติดต่ออาจารย์แดงให้มาช่วยเขียนบท แต่หลังจากที่คิดจะทำแล้วก็พบว่าไม่ง่ายเลย เพราะเมื่อได้บทประพันธ์มาจากคุณรอมแพงแล้ว เราต้องมาทำการบ้านกันเยอะมาก เพราะเรื่องราวของละครเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคนั้นเป็นยุคทองที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง และเป็นยุคที่มีการจดบันทึกข้อความทางประวัติศาสตร์ในหลายๆ ภาษา ดังนั้น การทำตัวประพันธ์ก็ใช้เวลาในการค้นคว้านาน และพอถึงการทำเป็นละครที่เป็นการนำภาพของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมานำเสนอซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ดังนั้น จึงต้องคิดตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม บ้านเรือน ภาษาที่ใช้ อุปกรณ์ประกอบฉาก ปราสาทราชวัง หรือที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น
เราต้องทำการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก เราอยากให้คนดูรุ่นใหม่ได้เห็นถึงวัฒนธรรมการเเต่งกาย ชุดไทย อาหารไทย บ้านเรือนและภาษาที่ใช้ การทำ บุพเพสันนิวาส จึงมีการเตรียมการนานมาก อาจารย์แดงใช้เวลาอ่านหนังสือและทำข้อมูลเกือบสองปี รวมเขียนบทกับที่เราถ่ายทำก็เกือบสี่ปี เพราะฉะนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจารย์แดงบอกว่าจะเขียนบทละครได้อย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจบริบทของชาวอยุธยาในยุคนั้น เขาคิดอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร สุดท้ายเราก็ดีใจที่การถ่ายทอดของผู้เขียนบท นักแสดง และทีมงานที่ทำออกมาแล้วมีความน่าสนใจ น่ารัก สร้างความแปลกใหม่ เช่นคำว่า ‘ออเจ้า’ กลายเป็นคำฮิตไปเลย ซึ่งคำนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลมาตลอดว่าออเจ้าคนจะเข้าใจไหม และศัพท์อื่นๆ ที่ตัวละครพูดด้วยอีกเยอะมาก แต่ก็แก้ปัญหาด้วยก่อนละครออกอากาศ เราก็จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ชม โดยทำเป็นรายการขึ้นมาเหมือนเป็นภาษาไทยวันละคำ ก็เป็นออเจ้าวันละคำ และกลายเป็นรายการฮิตอีก (หัวเราะ)
การทำละครแนวพีเรียดย้อนยุคค่อนข้างจะยาก เพราะเราจะต้องสร้างภาพที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาทั้งหมดเลยจากการรีเสิร์ชข้อมูล ฉาก เสื้อผ้า หน้า ผม โดยเฉพาะฉาก จะเห็นว่าเราใส่ซีจี (computer graphic) เข้าไปเยอะมาก เพราะเราก็อยากให้เห็นบ้านเรือนในยุคนั้นที่ไม่สามารถถ่ายในปัจจุบันได้ ก็ต้องใช้เวลากับงานตรงนี้เหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งด้วย
“หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ภาคต่อของละคร แต่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ต้องไปดูในโรงภาพยนตร์ ว่าจะมีความแปลกใหม่อย่างไร เพราะ บุพเพสันนิวาส 2 เป็นเรื่องที่เกิดในอีกภพชาติหนึ่ง เป็นเรื่องราวความรักของพระเอกและนางเอก โดยคีย์เวิร์ดคือ พี่หมื่นกับแม่การะเกดหรือเกศสุรางค์ ต้องเจอกันทุกภพทุกชาติ”
ถ้าหยิบบทประพันธ์ขึ้นมาสักเล่ม สิ่งแรกที่คุณเห็นคุณค่าในงานชิ้นนั้นคืออะไร
เรามองที่แก่นของเรื่องก่อน ขอยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่อง บ่วง หัวใจของเรื่องนี้คือบาปบุญคุณโทษ ถ้าเราไม่รู้จักการให้อภัย ไม่รู้จักที่จะอโหสิกรรม แม้ว่าจะตายไปแล้วก็ยังต้องผูกพัน และไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ การที่ผีอีแพงฝังความแค้นไว้ ตายไปแล้วก็ไม่สามารถไปไหนได้ยังผูกพันอยู่ เรื่อง บ่วง จึงสอนเรื่องของการอโหสิกรรม ต้องรู้จักให้อภัย
อะไรคือคุณค่าใน บุพเพสันนิวาส (Love Destiny) ที่ถูกเอามาต่อยอดเป็น บุพเพสันนิวาส 2 (Destiny the Movie)
แก่นของ บุพเพสันนิวาส คือ เรื่องความรัก คำว่าบุพเพแปลว่าแต่เก่าก่อน บุพเพสันนิวาส จึงหมายความว่าเคยอยู่ร่วมกันมาแต่เก่าก่อน และมีคำอยู่ในบทประพันธ์ว่าเขาจะต้องเจอกันทุกภพทุกชาติ พอละคร บุพเพสันนิวาส ออกอากาศแล้วเกิดกระแส เกิดปรากฏการณ์ออเจ้าใดๆ ก็ตาม เราก็เคยคิดว่าน่าจะทำเป็นภาพยนตร์ เป็นจังหวะที่ คุณจินา โอสถศิลป์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด) ติดต่อมา เราก็คิดว่าถ้าเป็น GDH ทำเวอร์ชันภาพยนตร์ของ บุพเพสันนิวาส น่าจะมีมุมมองที่แปลกออกไปจากละคร และมีความแตกต่าง เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ภาคต่อของละคร แต่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ต้องไปดูในโรงภาพยนตร์ ว่าจะมีความแปลกใหม่อย่างไร เพราะ บุพเพสันนิวาส 2 เป็นเรื่องที่เกิดในอีกภพชาติหนึ่ง เป็นเรื่องราวความรักของพระเอกและนางเอก โดยคีย์เวิร์ดคือ พี่หมื่นกับแม่การะเกดหรือเกศสุรางค์ ต้องเจอกันทุกภพทุกชาติ ดังนั้น ภาพยนตร์จะเป็นสิ่งที่สร้างความแปลกใหม่ โดยสำหรับแฟนละครจะได้เห็นว่า ตัวละครในชาตินี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราได้เห็นตัวภาพยนตร์แล้ว บอกเลยสนุกมาก (หัวเราะ)
จากจุดเริ่มต้นที่คุณเอาหนังมาทำละคร ตอนนี้กลายเป็นเอาละครมาทำเป็นหนัง คุณใช้วิธีคิดในการพลิกแพลงอย่างไร
จริงๆ แล้วทุกอย่างมีจังหวะของมัน เราเองก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญคือ บุพเพสันนิวาส 2 น่าจะเป็นการเปิดตลาดครั้งแรกของวงการบันเทิงไทย โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการบุกเบิกให้ผู้ที่มีความคิดดีๆ หรือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถจะหยิบอะไรมาทำและสร้างเป็นโปรเจกต์ที่น่าเชื่อมั่นได้ ซึ่งความน่าเชื่อถือก็มาจากผู้ผลิต และเนื้อเรื่องที่มีความแข็งแรง บุพเพสันนิวาส นั้นมีคนรู้จักอยู่แล้ว การที่มี Destiny Token เกิดขึ้นมาด้วย น่าจะเป็นการต่อยอด ซึ่ง Destiny Token นี้ไม่ใช่คริปโคเคอเรนซี ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ Destiny Token คือ การที่แฟนๆ ได้มีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ ได้สิทธิประโยชน์ที่หาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคอลเลกชันเสื้อ ที่เราได้ความร่วมมือจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ทอเสื้อลายดอกดาหลาขึ้นมาแบบที่ตัวละครใส่ หรือโถลายดอกปาริชาต ซึ่งจะกลายเป็นของที่ระลึกที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป และยังมีแสตมป์ มีส่วนลด มีกิจกรรมได้พบกับนักแสดง
เราอยากมอบความพิเศษนี้ให้ในความทรงจำของผู้ชม เพราะไหนๆ บุพเพสันนิวาส ก็มาเป็นภาพยนตร์ทั้งที ก็น่าจะมีอะไรที่แปลกใหม่ และมีอะไรที่แตกต่างให้กับคนดู ให้เขาได้ความรู้สึกที่ดีกลับไป ซึ่งอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ แน่นอนว่าเราต้องใช้ความทุ่มเท และความพยายามที่จะทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ตัวภาพยนตร์เราก็มีความกังวลนะ เพราะเรื่องของสภาวะโควิด-19 และการเข้าชมภาพยนตร์ แต่ก็คิดว่าสถานการณ์น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ที่ผ่านมาคุณรับมือกับความล้มเหลวในการทำงานอย่างไร
เป็นเรื่องปกติที่เราจะเจอความล้มเหลว เพราะการทำงานทุกชิ้นเราทุ่มเทและตั้งใจอยู่แล้ว แต่ผลตอบรับไม่ว่าจะเป็นงานละครก็ตาม อย่างเช่นการที่เราตั้งใจจะทำละครดราม่า แต่ปรากฏว่าไปออกอากาศในช่วงที่สมมติว่าตอนนั้นเกิดปัญหาเศรษฐกิจ คนก็อาจจะไม่อยากดูละครหนักๆ เครียดๆ ซึ่งก็อยู่ที่จังหวะ เวลา โอกาส สังคม สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมีผลหมด แต่ในทุกงานเราตั้งใจทำ เพียงแต่จังหวะที่เราคิด จังหวะที่ออกอากาศ ก็มีผลทุกอย่างที่จะทำให้ละครประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ มันก็ยากที่จะทำงานอะไรให้มันสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอด เพราะว่าปัจจัยมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แต่เราไม่เคยท้อแท้ เพราะถ้าท้อคงจะไม่ยืนมาถึงวันนี้ เพราะว่าเราต้องเข้าใจทุกอย่างว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลง วันนั้นเราอาจจะคิดว่าเรื่องแบบนี้ดีสำหรับช่วงเวลานั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนหรือแม้กระทั่งเราผลิตออกมาไม่ทันก็ตาม ทุกอย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้หมด ดังนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ ทั้งตัวงานเราเอง เข้าใจภาวะสังคม จังหวะการออกอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ มันเป็นไปตามจังหวะของงานที่จะเกิดขึ้นสู่สายตาผู้ชม
“เราไม่เคยท้อแท้ เพราะถ้าท้อคงจะไม่ยืนมาถึงวันนี้ เพราะว่าเราต้องเข้าใจทุกอย่างว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลง วันนั้นเราอาจจะคิดว่าเรื่องแบบนี้ดีสำหรับช่วงเวลานั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนหรือแม้กระทั่งเราผลิตออกมาไม่ทันก็ตาม ทุกอย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้หมด”
ที่คุณพูดมาคือหลักการ Uncontrollable Factors ที่คนทุกรุ่นต้องเรียนรู้ใช่ไหม
สิ่งนี้อยู่คู่กับโลกของเรานะคะ เหมือนสภาพลม ฟ้า ฝน ที่เราก็ไม่รู้ว่าวันนี้ฝนจะตกหรือเปล่า พายุจะมาไหม เราสามารถตั้งรับได้ แต่คาดเดาอะไรก็ลำบากเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้จริงๆ ในบางเรื่อง แต่ที่เราทำได้คือ ปัจจัยในการทำงาน เช่น ความตั้งใจของคนสร้าง ผู้กำกับ การมีเนื้อหาที่น่าสนใจ นักแสดงเล่นได้สมบทบาท หนังหรือละครเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของคนดูแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เราคุยกันเยอะมากๆ อย่าง บุพเพสันนิวาส 2 เราก็มั่นใจว่าคนดูน่าจะชอบ และมีความแปลกใหม่อยู่ในหนังด้วย ที่สำคัญคือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งคนดูจะได้เห็นประวัติศาสตร์ในอีกยุคหนึ่งด้วยค่ะ
ในฐานะผู้มีประสบการณ์ชีวิต เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรเมื่อมาถึงวัยที่ต้องก้าวออกจากการเรียนและเริ่มต้นทำงานจริงๆ
การเรียนมหาวิทยาลัยเขาจะสอนแต่หลักเกณฑ์และหลักการ ชีวิตหลังเรียนจบคือการประยุกต์ใช้ทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรผิดหรือถูกอยู่แล้ว เราอาจจะเรียนมาว่าหลักการเป็นแบบนี้ แต่วันที่ทำงานจริงกลับไม่ใช่ เราต้องรู้จักปรับเปลี่ยน เราจึงจะสามารถอยู่ในยุคสมัยต่างๆ ได้ เพราะตัวเราต้องปรับทั้งวิธีคิด ปรับตามความต้องการของคนดู แต่สิ่งสำคัญคือ อะไรที่ยังคงมีคุณค่ามันก็ยังมีคุณค่าในตัวเองอยู่ เช่น เรื่องวัฒนธรรม การเล่าเรื่องที่อิงกับเรื่องราวปัจจุบัน เมื่อเวลาเปลี่ยนผลงานก็อาจจะดูเชยตามเวลา แต่ละครพีเรียดหรือภาพยนตร์ก็ตามที่เป็นไปตามประวัติศาสตร์ มันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป ถ้าละครหรือภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ในส่วนใดก็ตาม มันก็คงจะอยู่กับสังคมไทยและเป็นสิ่งที่นำเสนอไปสู่สังคมโลกด้วย ภาพยนตร์จึงเป็น Soft Power ที่มีความแข็งแรง และทำให้คนต่างชาติสนใจ หันมาชื่นชมและเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย เช่น เห็นน้องเบลล่า (ราณี แคมเปน) แต่งชุดไทยสวยเขาก็อยากจะแต่งตามบ้าง หรือส่งให้อาหารไทยแพร่หลายไปทั่วโลกได้
คนทำงานเกี่ยวกับหนังหรือละครมักจะเจอปัญหาแปลกๆ สู้กลับทุกวัน คุณคิดว่าสิ่งนี้คือ Destiny หรือไม่
(หัวเราะ) อันนี้ก็จริงนะ มีเรื่องราวแปลกๆ มาให้แก้ปัญหาทุกวัน เราคิดอยู่อย่างเดียวว่าทุกวันที่เราก้าวเท้าออกจากบ้านคือการแก้ปัญหา ชีวิตคือการแก้ปัญหาทุกอย่าง ไม่แก้ที่ตัวงาน ก็แก้ให้คนที่ทำงาน เราก็จะต้องมีทางออกในการแก้ปัญหาให้ดีที่สุด แล้วปัญหาแต่ละอย่างมันจะเก่งๆ กันทั้งนั้น (หัวเราะ) ยิ่งทำละครยิ่งเจอปัญหาที่ไม่เคยซ้ำกันเลย
ที่สุดแล้วต้องกลับไปที่ทางพระ เพราะเมื่อจะทำอะไรก็ตาม ต้องกลับมาที่สติ ศีล สมาธิและปัญญา ถ้าขาดสติ เราคิดอะไรไม่ออกแล้ว เจอปัญหานี้แล้วมัวแต่สติแตก ลองอยู่นิ่งๆ สักนิดแล้วเราจะมองเห็นช่องทางหรือว่าวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือผลักปัญหานั้นให้เบาลง
เราเคยเจอปัญหาหนักๆ หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ออฟฟิศเกิดเพลิงไหม้ ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้กำลังใจและบอกกับเราว่า “คนเราต้องมีกำลังใจอยู่เสมอนะ ถ้าเราเสียกำลังใจเราก็จะเสียทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ปัญหาเราห้ามไม่ได้ มันเกิดขึ้นแต่เราต้องมีพลังใจและก็มีกำลังใจในการที่จะเดินหน้าต่อไป แก้ปัญหาแล้วก็ยิ้มให้กับปัญหานั้นๆ”
ส่วนมันคือ Destiny ไหม ตอนเราทำละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส พอแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Love Destiny ถ้าทางพระที่ท่านบอกมาคือ ทุกอย่างไม่มีเรื่องบังเอิญ ดังนั้น เราเชื่อว่าทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว
“การเรียนมหาวิทยาลัยเขาจะสอนแต่หลักเกณฑ์และหลักการ ชีวิตหลังเรียนจบคือการประยุกต์ใช้ทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรผิดหรือถูกอยู่แล้ว เราอาจจะเรียนมาว่าหลักการเป็นแบบนี้ แต่วันที่ทำงานจริงกลับไม่ใช่ เราต้องรู้จักปรับเปลี่ยน เราจึงจะสามารถอยู่ในยุคสมัยต่างๆ ได้”
ชีวิตเราถูกกำหนดมาให้ต้องเจอบททดสอบของชีวิตแต่ละคนอย่างนั้นใช่ไหม
เขาบอกว่าชีวิตของเราเหมือนกับต้องเจอฤดูกาลไม่ว่าจะหน้าฝน หน้าหนาว และหน้าร้อน บางทีก็มีพายุพัดเข้ามา ซึ่งเราก็ห้ามไม่ได้ แค่อาจต้องหลบฝนเข้ามาอยู่ในบ้าน รู้จักที่จะหลบภัยให้เป็น ภัยนั้นอาจจะมาได้เรื่อยๆ แล้วเราหลบภัยหรือว่าจะรักษาใจของตัวเองยังไงให้ผ่านวิกฤตทุกอย่างไปให้ได้ แต่ทุกวิกฤตไม่มีอะไรการันตีเลยว่ามันจะไม่กลับมาอีกครั้ง วิกฤตจะมาในรูปแบบที่แปลกไปเรื่อยๆ ดังนั้น เราก็คงจะต้องมีสติแล้วก็มีกำลังใจด้วย
เวลาทีมงานมาปรึกษาหรือปรับทุกข์ด้วย คุณให้วิธีคิดเขากลับไปอย่างไร
ความน่ารักของน้องๆ คือ เขาจะพยายามแก้ปัญหาก่อน ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จะมาปรึกษาเรา เราจะบอกกับเขาว่าชีวิตมีทางออกเสมอ แต่เราจะออกทางไหน บางทีเราแค่เหมือนกับผงเข้าตาทำให้มองไม่เห็น แต่ถ้าให้คนอื่นมาช่วยมองชี้แนะ เราก็จะเห็นทางออกอย่างที่เขาพูดกัน เช่น ถ้าจะไปเชียงใหม่จะไปได้กี่ทาง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าไปเครื่องบินสิ แต่ถ้าเป็นเด็กๆ เขาอาจมีวิธีไปได้เป็นร้อยวิธี ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ทำให้เราไม่ได้มีเส้นทางแค่เส้นเดียว ดังนั้น แต่ละคนก็จะมีทางออกที่แตกต่างและเป็นสไตล์ของตัวเอง
ชีวิตยังเป็นเหมือนละครโรงใหญ่สำหรับคุณอยู่ไหม
ชีวิตของคนเรามันยาวมาก ละครคือการย่อเป็นส่วนๆ มาให้ได้เห็น แต่ละครก็มาจากเรื่องจริง แต่ในชีวิตจริงของคนเรามีความซับซ้อนมากกว่านั้น ดังนั้น Love Destiny จะมีจริงไหม เราเชื่อมีว่าจริง เราเคยเห็นคนที่บินมาจากอเมริกาเพื่อมาเจอน้องคนหนึ่งที่เรารู้จัก เขาเจอกันได้เจ็ดวันก็ขอแต่งงานเลย แล้วก็ยังรักกันมาจนถึงวันนี้ เราเชื่อว่ามีจริงๆ เรื่องของบุพเพสันนิวาส ดังนั้น ความรักในละครหรือในหนังเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งที่ให้คนดูได้เห็นเท่านั้น และเหตุการณ์แบบน้องคนนี้เราก็เชื่อว่ามีเยอะมากๆ ด้วยเหมือนกัน
หนังรักที่สื่อสารกับคนยุคนี้คุณคิดว่าจะเล่าเรื่องยากขึ้นไหม
ยากขึ้นเพราะว่าสังคมเปลี่ยนไป วิถีชีวิต เศรษฐกิจต่างๆ และการที่คนสองคนจะมาแมตช์กันพอดีแล้วอยู่ร่วมกันไปตลอดชีวิต หมายถึงความคิดเห็นของแต่ละคน หรือการเลี้ยงดูต่างๆ มีผลที่จะทำให้คนสองคนจะไปกันได้ยาวๆ ไหม คนสองคนอาจจะคิดต่างกัน แต่ก็สามารถไปด้วยกันได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องมีความรักเกิดขึ้นก่อน มีความประทับใจบางสิ่งในตัวของคนที่เขาพบเห็น บางคนก็รักแรกพบ บางคนก็พูดกันไม่กี่ประโยคก็อยากจะไปรับไปส่ง (หัวเราะ) หรือรู้สึกว่าเขาเป็นคู่ชีวิตของเราแน่ๆ
เรามีความรู้สึกว่าความรักยุคนี้ใช้สื่อเยอะ แต่ก่อนเราจะมีแค่จดหมาย ตอนนี้สื่อกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้เจอกัน เรามีน้องหลายคนที่ออฟฟิศที่เขาเจอกัน คุยกันทางเฟซบุ๊ก โดยอีกคนอยู่ต่างประเทศ ตอนนี้เขาก็แต่งงานมีลูกมีความสุขกันมากๆ เจอกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็รักกันได้นะ เห็นรูปถูกใจ คุยกันถูกคอแล้วก็รักกัน ก็แล้วแต่คู่น่ะ กับบางคนก็ง่ายมากจริงๆ แต่บางคนก็หาไม่เจอสักที อาจจะไม่มีพรหมลิขิตหรือ Destiny ต้องกันก็ได้
อยากขอคำแนะนำวิธีปรับความคิดให้ทันสมัยตลอดเวลาได้แบบคุณบ้าง
คุณต้องเปิดรับและเปิดกว้างทุกอย่าง เปิดกว้างทางความคิดเห็น เปิดกว้างที่จะพบปะผู้คน เปิดกว้างที่จะรับสื่อต่างๆ และรับสื่อในทางที่ถูก รู้ว่าสื่อพัฒนาไปถึงไหนแล้ว วันนี้เขามี TikTok นะ วันนี้เขาเต้นแบบนี้ ซึ่งวันหนึ่งเราก็อาจจะลุกขึ้นมาเต้นก็ได้ (หัวเราะ) เพราะเรื่องที่สังคมสนใจก็ต้องเรียนรู้กันไป ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ตัวเองตกยุค มีอะไรเกิดขึ้นเราก็ต้องทันเหตุการณ์ ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ เเต่ก็เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ถ้าเราอยากจะเข้าใจสังคม เข้าใจเด็ก และเรารับสื่อมากเพียงพอที่เราจะเข้าใจ ถ้าเราไม่เห็นสื่อเราก็จะไม่เข้าใจเขาเลย เขาพูดเรื่องอะไรกันอยู่ ทำไมเขาถึงสืบสวนกันเรื่องนี้ เพราะสังคมสนใจหรือเพราะมีผลกระทบกับจิตใจหรืออะไรก็ตาม ดังนั้น สื่อเยอะก็ต้องเลือกรับสื่อ ต้องสกรีนดีๆ เพราะบางทีถ้ารับสื่อผิดชีวิตเราอาจจะไปผิดทางก็ได้ ถ้าเราเข้าใจเรารู้วิธีรับสื่อได้ดี เราก็สามารถเอามาคุยเอามาสอนวัยรุ่นได้ด้วยเหมือนกัน และเขาก็จะฟังเรา
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอา ‘หวานมันส์ ฉันคือเธอ’ มาสร้างตอนนี้ เรื่องราวก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะเรื่องความหลากหลายเป็นสิ่งที่คนยอมรับได้แล้ว โครงและแก่นของเรื่องยังเป็นการสลับร่างได้ แต่เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อนฝูง สถานการณ์ต่างๆ ต้องเข้ากับยุคสมัย ซึ่งอาจจะทำออกมาแล้วสนุกกว่าเดิมก็ได้ (หัวเราะ) หรือแม้กระทั่งการมาของซีรีส์วายที่ตอนนี้ได้รับการยอมรับ ส่วนจะประสบความสำเร็จไหมอยู่ที่ว่าเราสามารถทำออกมาได้สนุกแค่ไหน และซ้ำทางกับใครหรือเปล่า ซึ่งเราเองก็มีโปรเจกต์ทำซีรีส์วายด้วยเหมือนกันชื่อ ‘พี่จะตีนะเนย’ ที่เราเพิ่งทำออกมาเพราะใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจกับแนวทางของซีรีส์วายก่อน ซึ่งซีรีส์วายนั้นจะทำหน้าที่มอบความสุขให้กับผู้ชมและเป็นความบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่ง และเราก็ไม่อยากตกเทรนด์ก็ขอทำออกมาสักเรื่องด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ) เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ซีรีส์วายของเรานั้นแตกต่าง ซึ่งเราก็มั่นใจว่า ‘พี่จะตีนะเนย’ จะแตกต่างและสนุกถูกใจคนที่ชอบซีรีส์วายด้วย
ด้านละครพีเรียดก็เช่นเดียวกัน ต้องอยู่ที่แนวเรื่องด้วยว่าละครเรื่องนั้นจะหยิบอะไรมาบอกเล่า และอยู่ในยุคที่คนให้ความสนใจหรือเปล่า หรือเป็นช่วงเวลาที่เขายังไม่รู้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นตรงนั้นน่าสนใจหรือเปล่า เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Universal เช่น บุพเพสันนิวาส ฝรั่งดูแล้วก็เข้าใจ คนจีนดูแล้วก็เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของความรัก อะไรที่บอกถึงความเป็นมนุษยชาติหรือความเป็นสากล นั่นคือการรับรู้ร่วมกันของคนทั้งโลกก็จะเป็นแบบนี้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำเรื่องประวัติศาสตร์ที่จะย้อนไปในยุคไหนก็ตาม แต่ยังความเป็นมนุษย์อยู่ คงเนื้อหาที่มีความเป็นสากลที่ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยกี่ชาติมนุษย์ก็คงยังเป็นแบบนี้ เด็กรุ่นใหม่ก็สามารถดูได้เข้าใจ ได้รู้ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ด้วย และที่สำคัญเขาก็เหมือนเราในปัจจุบัน เขาก็คือเราในอดีตที่อาจจะมาเกิดใหม่ก็ได้ ดังนั้น เรื่องราวที่พูดถึงความรัก โลภ โกรธ หลง ในตัวมนุษย์ ไม่ว่าเราจะย้อนไปกี่ยุคกี่สมัย ถ้ายังมีอารมณ์ร่วมที่เป็นความสากลอยู่ในภาพยนตร์หรือละคร งานชิ้นนั้นก็จะคงอยู่ต่อไปได้ตลอดไปเช่นกันค่ะ
เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ