ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กับงานรักษาความทรงจำให้สังคมไทย

เมื่อพูดชื่อของ ‘หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)’ หลายคนอาจไม่รู้ถึงความสำคัญว่ามีบทบาทอย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง แม้หน้าที่หลักคือการจัดเก็บและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ไทย อาจดูไม่เซ็กซี่ในสายตาคนหมู่มาก แต่รู้หรือไม่ว่าการเก็บรักษาหนังไทยในแต่ละยุคสมัย ไม่ให้เลือนหายไปจากความทรงจำและสังคมไทย คืองานที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยทีเดียว

        ก่อนหน้านี้ ตลอด 38 ปีที่ผ่านมา เราอาจรู้จัก โดม สุขวงศ์ บุคคลสำคัญที่นำพาหน่วยงานเล็กๆ ที่เคยชื่อว่า งานหอภาพยนตร์แห่งชาติ สังกัดอยู่ในกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เติบโตสู่การเป็นองค์กรมหาชนเมื่อปี พ.ศ. 2552 และเป็นผู้อำนวยการคนแรก แต่ปัจจุบันตำแหน่งนี้ผลัดมือมาสู่ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ที่สานต่อภารกิจต่างๆ ด้วยการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อขับเคลื่อนสังคมให้เกิดปัญญา สมดังคำขวัญที่ว่า ‘ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา’ และเผลอแป๊บเดียวก็รับตำแหน่งนี้มา 4 ปีแล้ว และเพิ่งต่อวาระที่ 2 ไปหมาดๆ 

        ด้วยเหตุนี้ a day BULLETIN จึงถือโอกาสจับเข่าคุยกับ ชลิดา ในหลายประเด็นเกี่ยวกับแวดวงภาพยนตร์ไทย ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงล้วงลึกบทบาทหน้าที่ของหอภาพยนตร์ ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ให้ได้รู้กันเพิ่มเติม ขอบอกว่านี่เป็นบทสนทนาที่น่าฟังอีกชิ้นหนึ่งที่เราอยากแนะนำ 

รับตำแหน่งผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ครบ 4 ปีแล้ว ประเมินตัวเองอย่างไรบ้าง กับผลงานที่ผ่านมา

        เพิ่งครบวาระแรกไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา รู้สึกตกใจเหมือนกัน เหมือนเวลามันผ่านไปแบบงงๆ เพราะต้องบอกว่าการบริหารหน่วยงานราชการมีธรรมชาติหลายอย่างที่เรายังต้องเรียนรู้เยอะ ช่วงแรกรู้สึกแปลกมาก เพราะทำหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการให้คุณโดมอยู่เกือบ 8 ปี ทำแต่งานอนุรักษ์ ทำโปรแกรมมิ่ง จัดฉายหนัง แล้วพอเปลี่ยนตำแหน่ง หน้าที่ถือว่าแตกต่างกันมากๆ มีวัฒนธรรมงานราชการที่ต้องเรียนรู้ และมีสิ่งที่เมื่อก่อนไม่ได้ต้องทำ ก็ต้องทำ มาเรียนรู้เอาตอนรับตำแหน่ง

ที่ผ่านมานับวาระยังไง

        นับ 1 วาระเมื่อครบ 4 ปี จากนั้นจะมีการสรรหาใหม่ ปกติจะมีการเปิดรับสมัคร แต่ถ้าผลงานเข้าตา อยู่ในมาตรฐานของบอร์ด หรือคณะกรรมการที่ดูแลหอภาพยนตร์ฯ ก็สามารถพิจารณาให้ต่ออีกวาระได้โดยไม่เปิดรับสมัคร ซึ่งที่ผ่านมาเขาโอเค แต่ก็มีกระบวนการที่ต้องทำเยอะมากตั้งแต่ 6 เดือนก่อนหมดวาระ ต้องเสนอเรื่องขึ้นคนนั้นคนนี้ เสนอรัฐมนตรี และอีกสารพัด

        ตอนนี้ก็อยู่ได้อีก 4 ปี เต็มที่ครบ 8 ปี ก็ต้องไปแล้ว (หัวเราะ) จะอยู่เกิน 8 ปี อ้างนู่นอ้างนี่ไม่ได้ 

ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์คนที่ 2 ต่อจาก โดม สุขวงศ์ มีหน้าที่อะไรบ้าง

        ต้องบอกว่าคุณโดมเป็นไอคอนของที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งแรกที่คุณโดมทำคือการอนุรักษ์ รวบรวมของที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ให้เยอะที่สุด ฉะนั้น เราจึงพยายามสานต่อ คุณโดมคิดเรื่องการเผยแพร่เยอะ แต่เมื่อก่อนมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เลยทำได้ไม่มาก พอหอภาพยนตร์ขึ้นเป็นองค์การมหาชนจึงสามารถทำได้มากขึ้น

        ตอนแรกที่หอภาพยนตร์ก่อตั้งขึ้นใหม่ๆ จะทำอะไรต้องขออนุญาตกรมศิลปากร ถ้าเขาไม่แคร์ เราก็ไม่สามารถมีนโยบาย หรือวางทิศทางอะไรได้ คุณโดมทำมา 20 กว่าปี ตระหนักว่ามันเป็นข้อจำกัด พอขับเคลื่อนจนเป็นองค์การมหาชน เราจึงสามารถมีนโยบายของตัวเอง สามารถบริหารจัดการงบของเราได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับองค์กรอื่น และตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่อยู่ 55 คน รวมถึงมีน้องที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง อีกประมาณ 30 คน

4 ปีต่อไป คุณวางนโยบายการขับเคลื่อนหอภาพยนตร์ไว้อย่างไร

        เราจะทำต่อเนื่องจากสิ่งที่คุณโดมทำ เราพยายามทำเรื่อง Archive หรืองานอนุรักษ์ให้เป็นมาตรฐาน เมื่อก่อนงบน้อยอาจทำไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรามีงบเยอะขึ้น ก็ให้ความสำคัญตรงนั้นมากขึ้น การที่เราสามารถดูหนังเป็นไฟล์ดิจิทัล คุณภาพดีๆ ผ่านยูทูบเป็นผลจากการอนุรักษ์ที่ดี แต่คนอาจไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการมีระบบหลังบ้านที่ดีด้วย ถึงมีสิ่งต่างๆ ในวันนี้

        งาน Archive คนอาจไม่สนใจมาก แต่เรารู้สึกว่ามันเหมือนการลงทุน การเก็บอนุรักษ์หนังไม่ใช่การใช้แล้วหมดไป สมมติปีนี้เราสามารถอนุรักษ์หนังได้ 10 เรื่องมันก็จะอยู่อย่างนี้ต่อไป เหมือนเราซื้อหุ้น ปีนี้เราซื้อ 10 ตัว พอเวลาผ่านไปมันก็พอกพูนขึ้น และทำให้คนเริ่มมองเห็นบทบาทของเราเยอะขึ้นเช่นกัน หลังๆ จะเจอบ้างที่คนไม่รู้จักเราแต่รู้จักงานของเรา หรือเดี๋ยวนี้เวลาไปรัฐสภา เราก็ไม่ต้องแนะนำตัวเยอะแล้ว เพราะเขาเคยเห็นงานของเราแล้ว

เผยแพร่ผ่านช่องทางสตรีมมิงเยอะขึ้น? 

        ในสตรีมมิงอาจยังไม่เยอะ เราเคยร่วมกับ Netflix เอาหนังไทยไปฉายนิดหน่อย แต่เราแอ็กทีฟในสื่อโซเชียลฯ ประมาณหนึ่ง เรามีช่องยูทูบ: Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) เราเริ่มเรียนรู้คนดูว่า คนที่เป็นสายวิชาการ ต้องการอะไรที่มัน solid ก็จะดูผ่านยูทูบ แต่สำหรับคนดูหนังทั่วไป เนื่องจากเราไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น หนังเรื่องที่คนอยากดูอาจไม่เยอะ แต่ยังมีช่องทางสตรีมมิ่งอื่นๆ อีกมากที่มีฉาย ถ้าคนจะไม่ดูผ่านของเราก็ไม่เป็นไร แต่คนที่ติดตามมากๆ ก็คือนักวิชาการที่ดูหนังแล้วเอาไปใช้สอนนักศึกษา และสามารถเขียนงานอะไรออกมาเยอะมาก

        เรายังใช้ TikTok @horpapayon ด้วย เราไม่ได้จะลงคลิปเต้นหรืออะไร แต่สิ่งที่น่าสนใจมากคือ เวลาเราโพสต์คลิป จะมีคนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วยเยอะมาก บางคลิปมีคนดูถึงหลักล้านวิวนะ ซึ่งคลิปเหล่านั้นจะสอดคล้องกับ Social Interest หรือประเด็นที่สังคมกำลังสนใจ ณ ตอนนั้น แล้วเราไม่ได้พยายามทำตลกด้วย จริงๆ แล้วคลิปที่ลงก็เป็นคลิปที่ธรรมดามากๆ

คลิปหลักล้านที่ว่าคือคลิปไหน

        คลิปฉีดวัคซีนโรคอหิวาต์ เมื่อปี พ.ศ. 2502 ยาว 15 วินาทีเอง ตอนนั้นมีกระแสเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เราก็หาฟุตเตจที่มีอยู่แล้วมาลง แต่ภาพที่ลงมันอาจจะดูโหดมาก ยิงปักๆๆๆ ใส่แขน แต่คนฮานะ อาจจะด้วยภาพของยุคนั้น แล้วเราตกใจมาก เพราะเราเพิ่งเล่นเอง พอมาดูยอดวิวก็ เอ๊ะ เราดูผิดรึเปล่า แสนวิวเหรอ เฮ้ย ไม่ใช่ นี่มันล้านวิว

        คลิปที่ยอดวิวเยอะๆ ยังมีคลิปคือ คลิป พนักงานต่อสายโทรศัพท์ ปี พ.ศ. 2474 อันนั้นคนดูเกือบ 5 แสนคน แล้วช่วงนั้นมีเรื่องคอลเซ็นเตอร์ คนก็เลยมาคุยกันในช่องคอมเมนต์เรื่องนี้กัน เลยทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการใช้งานตามไปด้วย เวลาเราอัปโหลดคลิป เราเล่นกับแฮชแท็กเป็นมากขึ้น เราเรียนรู้ว่าจะเล่นกับคนกลุ่มไหน ถ้าคลิปนี้ต้องเล่นกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องแฟชั่น ก็ใส่แฮชแท็กที่เกี่ยวกับแฟชั่น ก็จะมีคนเข้าถึงบอกว่าชอบแฟชั่นของยุคนั้นยุคนี้ เป็นสิ่งที่เราเรียนได้รู้ว่า เราก็สามารถทำอย่างนี้ก็ได้ด้วย แรกๆ เรารู้สึกว่า ในเมื่อเป็นหอภาพยนตร์ เราจำเป็นต้อง educate คนรึเปล่านะ แต่ไม่ใช่เลย 

แล้วต้อง educate ไหม 

        ตอนแรกเราพยายามโปรแกรม คล้ายๆ กับการฝังหัวนิดๆ ว่า ฉันต้องพยายามยัดข้อมูลให้ แต่เราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับสื่อที่ใช้ เช่น ยูทูบ ที่บางครั้งเราอยากสร้างความน่าเชื่อถือ เวลาเราเขียนคำบรรยาย ก็เขียนละเอียดยาวเป็นหน้าเลย คนก็ไม่อ่านกัน เพราะดูในมือถือมันจะซ่อนข้อความ ก็มีคนชอบถามในสิ่งที่เขียนอยู่แล้ว แต่ไม่ว่ากัน แรกๆ เราไม่กล้าตอบคอมเมนต์เพราะไม่รู้ว่าจะวางท่าทีอย่างไร แต่หลังๆ รู้สึกว่าตอบในเชิงให้ความรู้ก็ดีนะ จริงๆ คือเขียนบอกไว้อยู่ข้างล่างคลิปแล้วแหละ หรือบางอย่างเขาถามเรื่องอื่น ก็ตอบไป เขาก็รู้สึกว่าได้มีปฏิสัมพันธ์กัน

        อย่างใน TikTok ก็ทำให้คนรู้จักหอภาพยนตร์มากขึ้นว่าคืออะไร หลังๆ นี้เราไม่ต้องตอบเองเลย เพราะมีคนที่เราไม่รู้ว่าใครมาตอบให้เองเลย “ก็เขาเป็นหอภาพยนตร์ไง” 

แสดงว่าบนโซเชียลฯ ถือว่าแอ็กทีฟมากๆ ในการทำให้คนเข้าใจสิ่งที่ทำ

        แต่ทางบอร์ดก็ยังรู้สึกว่าไม่พอ เขารู้สึกว่าเราดูซีเรียส จริงๆ พวกเราก็เป็นคนคุยสนุกได้ถ้าคุยเรื่องเดียวกัน แต่พวกเราจะเน้นว่าถามมาตอบไป ถามอะไรก็ตอบได้ อย่างนั้นเสียมากกว่า แต่เราไม่ได้ไฮเปอร์ตลอดเวลา อาจจะมีภาพเหมือนกันว่าโซเชียลฯ มันควรจะต้องภาพยังไงยังงี้ เราเข้าใจธรรมชาติของสื่อต่างๆ ในยูทูบมียอดคนติดตาม 1.47 แสนคน แฟนเพจในเฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive มีคนกดไลก์ 1.2 แสนคน ซึ่งทั้งหมดเป็นยอดออร์แกนิกนะ แล้วคนที่ติดตามก็มีความหลากหลาย ไม่ได้มีแต่คอหนังเก่า มีคนรักหนัง Cinephile มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ เยอะขึ้น เราก็ทำกันไป พยายามเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับโลก

บทบาทของหอภาพยนตร์ต่อสังคม ณ ตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

        เราคิดว่าเราพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสื่อภาพยนตร์ในคนดูแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีวิธีเรียนรู้แตกต่างกัน ในกลุ่มเด็กนักเรียน เรามีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเด็กและการศึกษา เช่น โรงหนังโรงเรียน ในวันธรรมดาจะมีคุณครูพาเด็กมาเยอะเลย โรงเรียนสามารถจองรอบหนังที่จะดูได้ เราจะมีเหมือนเป็นเมนูให้เลือกว่า นักเรียนระดับชั้นไหนดูเรื่องอะไรได้ ครูก็จะเลือกหนัง จากนั้นนัดหมายวัน แล้วพาเด็กมาดู เราทำเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ให้เด็กดูหนังเฉยๆ เราต้องการให้เขามีประสบการณ์ตั้งแต่การเข้าโรงหนัง รู้ระเบียบ มีมารยาทพื้นฐาน เกรงใจคนอื่นด้วย จะวิ่งไปวิ่งมาไม่ได้ ต้องอธิบายให้ฟังก่อนแล้วปฏิบัติด้วย

        และก่อนฉาย เราจะคุยเกริ่นนิดๆ ว่าหนังที่จะดูเกี่ยวกับอะไร มีอะไรให้โฟกัสเป็นพิเศษ พอฉายจบก็จะพูดคุยกัน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก จะมีเด็กยกมือถาม ยกมือตอบกันเยอะมาก เด็กเขาจะพูดอะไรน่าสนใจ เพราะเขาสนุกกับการดูหนังในแบบของเขา เหมือนเป็นการสอน Critical Thinking ไปด้วย ซึ่งจริงๆ เมืองนอกก็ทำนะ ให้ดูหนังแล้วคิด แต่ไม่ได้คิดเชิงว่านิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไร? แต่ให้คิดว่าทำไมตัวละครถึงทำแบบนี้? ทำแล้วมันดีไหม? เรากระตุ้นให้เด็กคิด ส่วนมากหนังที่เลือกมาก็คือหนังที่มีประเด็นคุยกับเขา ถ้าเขามีปัญหาแบบนี้ จะต้องจัดการยังไง ตัวละครจัดการยังไง ใช้เป็นสื่อในการคุยได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.ปลาย

        อย่างเมื่อก่อนมีประเด็นเรื่องคุณแม่วัยใส เราเลยฉายหนังเรื่อง Juno (2007) เพื่อคุยเรื่องการตั้งท้อง เพราะ Juno ไม่ได้มองการตั้งท้องก่อนวัยอันควรแบบไทยว่ามันเลวร้าย เพราะพอถึงจุดนั้น ชีวิตมันต้องมีทางออกแหละ เพียงแต่มันไม่ได้ง่าย คุณต้องมีความรับผิดชอบด้วย ถ้าเป็นละครไทยอาจจะโดนพ่อตบก่อน แล้วไล่ออกจากบ้าน แต่ในเรื่อง ตัวละครจะตัดสินใจว่าจะเลี้ยงเด็กเอง จะยกให้คนอื่น หรือจะทำยังไงดี ขณะเดียวกันหนังก็เตือนคนที่จะเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบนี้ว่าต้องคิดเหมือนกันนะว่าจะมีผลอะไรตามมา ดังนั้นต้องรู้จักป้องกัน ทำให้คนต้องคิดเหมือนกันว่าถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา จะทำอะไร

แสดงว่าหนังที่เอามาฉาย ไม่จำกัดว่าต้องฉายแค่หนังไทยเท่านั้น

        จริงๆ หนังโรงเรียนจะฉายหนังต่างประเทศเยอะ เราก็อยากให้มีคอนเทนต์ไทยด้วย แต่มันไม่มีคอนเทนต์ไทยที่คุยกับเด็กจริงๆ แต่ปีนี้เราลองผลิตหนังสั้น มีสคริปต์แล็บ คัดเลือกคนมาเขียนบท พิตชิ่งบทกัน สุดท้ายทำ 2 เรื่อง เพื่อดูว่าหนังที่ตั้งใจทำเพื่อคุยกับกลุ่มต่างๆ อย่างถ้าจะคุยกับเด็ก ป.5 หรือ ป.6 เราจะทำเรื่องอะไร แล้วเขียนบทและทำออกมาเพื่อทาร์เก็ตตามนี้

        อีกอย่างคือกระตุ้นให้ครูนำภาพยนตร์ไปใช้ในห้องเรียนเป็นโครงการนำร่อง เราทำคู่มืออธิบายด้วยว่าหนังอะไรใช้กับวิชาอะไรได้ และอยากให้ครูเอาไปใช้ในห้องเรียนมากๆ ด้วย

แล้วอย่างนี้ ถ้าถามถึงกลุ่มคนดูที่เป็นคนเมือง คิดว่าคอนเทนต์ที่เหมาะกับพวกเขาคือแบบไหน 

        สำหรับคนดูทั่วไป ทุกอาทิตย์หอภาพยนตร์จัดฉายหนัง 6 วัน วันละ 2 รอบ วันนี้เราฉายหนังยูเครนเรื่อง Train Kyiv-War (2020) กับหนังไทยเรื่อง หมอนรถไฟ (2559) ในโปรแกรม ‘รถไฟสายภาพยนตร์ Railway Cinema’ แต่ละวันแต่ละเดือนจะมีความหลากหลายของหนังแล้วแต่โปรแกรมฉาย มีทั้งไทย หนังอาร์ต หนังเมนสตรีม อินดี้ สารพัด 

        เพราะเป้าหมายของเราคือการรักษาวัฒนธรรมการดูหนังในโรง เราฉายฟรี สำหรับคนที่เขาเดินทางมาดู จะมีอะไรให้ดูเยอะแยะ ซึ่งทำให้เราได้ย้อนกลับไปคิดถึงตัวเราเอง ตอนอยู่เมืองนอกก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น มีงานฉายหนังอาทิตย์ละ 4 วัน เราก็ไปดูทุกวันโดยไม่ต้องเสียอะไร เสียแค่เวลา แล้วเราดูทุกอย่าง ดูหนังที่เราไม่รู้จัก ช่วงที่เราเรียนรู้เราก็ไม่ได้วางสเปกอะไรมาก อะไรที่ไม่เคยดูก็จะดูทั้งหมด รู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้างไม่เป็นไร หนังในห้องสมุดดูหมด เอามาดูจนหมดตู้นี้แล้วก็ไปดูตู้อื่นๆ ต่อ

แต่ในสายตาคนทั่วไป การเดินทางมาที่นี่ถือว่ายากลำบากเหมือนกันนะ

        คิดว่าเป็นปัญหาอย่างเดียวของที่นี่เลย เพราะที่ตั้งของเราอยู่จังหวัดนครปฐม จริงๆ มีรถเมล์สาย 515 ที่ขึ้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็จะเลี้ยวมาส่งถึงหน้าหอฯ เลย แต่ช่วงหลังตั้งแต่มีห้างเซ็นทรัล ศาลายา รถเมล์ก็จะชอบลักไก่ไม่เลี้ยววนมาส่ง ทำให้เดี๋ยวนี้คนที่มาทางรถเมล์ต้องลุ้นว่ารถเมล์จะเลี้ยวไม่เลี้ยว เดี๋ยวต่อไปรถเมล์สาย 515 จะกลายเป็นของเอกชนแล้ว ก็ต้องไปคุยกับเขา บอกว่าต้องเลี้ยวมาที่หอนะ

ทุกประเทศควรมีหอภาพยนตร์ของตัวเองไหม

        ควรมี แต่อาจไม่ได้มีทุกประเทศ เพราะต้องใช้งบเยอะ แต่เราโชคดีนะที่ประเทศไทยมี ส่วนมากหอภาพยนตร์มักจะอยู่ในยุโรป ในสหรัฐอเมริกา อย่าง BFI ของอังกฤษเป็นเหมือนไอดอลของเรา เราพยายามเรียนรู้จากเขา เวลาได้ยินคนที่อยู่ในแวดวง คนที่ทำหอภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ บอกว่า “ยูต้องภูมิใจนะ บางประเทศยังไม่มีเลย” หรือมีคนในยุโรปบอกว่า “Archive ของยูดีกว่าของหลายประเทศในยุโรปอีกนะ” จริงๆ เราต้องให้เครดิตคุณโดม ที่ลำบาก ต้องวิ่งไปหา ตอนนี้ยังเป็นที่ปรึกษาให้หอฯ ยังมาทุกวันอยู่ จริงๆ แกก็คือเจ้าของวิชั่นแหละ เราก็แค่ช่วยทำให้มันเป็นจริง

การมีหอภาพยนตร์ที่ดีกว่าประเทศอื่น บ่งบอกอะไรได้บ้าง

        เราคิดว่าเรามองตัวเองเป็นฐาน ที่จะให้ความรู้ ฐานประสบการณ์ ให้คนที่จะทำหนังต่อไป เราก็ดีใจ ถ้าคนรู้สึกว่าคนมาใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีเพื่อเอาไปต่อยอดในงาน เราดีใจเวลาเห็นหลายๆ คนที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังเรียนมัธยม ได้ทำหนังอยู่ในวงการ เราฉายหนังของเขาตั้งแต่หนังสั้น จนถึงวันที่เขามีหนังใหญ่ เราก็มีหน้าที่ต้องเก็บผลงานของเขาต่อไป

หอภาพยนตร์มีหนังไทยอนุรักษ์ไว้เยอะแค่ไหน แล้วคนทั่วไปสามารถดูได้ยังไง

        ที่ห้องสมุดของหอภาพยนตร์ สามารถดูหนังไทยได้ 2,000 กว่าเรื่อง ก็จะมีคนหลายกลุ่มมาใช้บริการ มีแฟน มิตร ชัยบัญชา มาดูหนังเยอะ ช่วงหลังเริ่มมีเด็กที่เขา Gap Year ไม่เรียนต่อปีนี้มาดูด้วย เขาชอบหนังมาก แล้วบางทีเห็นในเฟซบุ๊ก เขาก็จะแนะนำคนอื่นด้วยว่า หอภาพยนตร์มีหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วชวนกันมาดู

        ที่หอภาพยนตร์มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับหนังด้วย หลักๆ ที่นี่จะมีนิทรรศการ 2 แบบ คือแบบถาวร เช่น นิทรรศการเมืองมายา ซึ่งอยู่ข้างหน้า แต่ปิดซ่อมบำรุงมานานแล้วตั้งแต่ช่วงโควิด นิทรรศการจะบอกประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ยุคแรก พอมีตึกใหม่ จะมีนิทรรศการภาพค้างติดตา (Persistence of vision) ทุกวันนี้ไม่แน่ใจว่ามีสื่อไหนนำเรื่องไปลง เพราะมีคนพาเด็กมาเต็มทั้งวันทุกวัน บางวันมาถึง 500 คน เกินกว่าที่จะรับไหวในพื้นที่ของเรา เสร็จแล้วจะมีนิทรรศการชั่วคราวที่ชั้น 2 ตอนนี้เป็นนิทรรศการภาพถ่าย ‘เขาชื่อสรพงศ์’ เกี่ยวกับ คุณสรพงศ์ ชาตรี เรามีคอลเลกชันของคุณสรพงศ์เยอะมาก สามารถดึงมาจัดได้

        ในมุม Film Archive เรามีเป้าหมายว่าต้องเก็บฟิล์ม เก็บสิ่งเกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับหนัง ทั้งโปสเตอร์ รูปถ่าย บทหนัง เดี๋ยวนิทรรศการต่อไปที่จะจัดจะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับ คุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งเป็นคนที่บริจาคของให้หอฯ เยอะมาก เป็นคนแรกที่เอาฟิล์มมาให้หอฯ เก็บไว้ ปัจจุบันคุณเปี๊ยกใกล้จะอายุ 90 แล้วอยู่ต่างจังหวัด เดี๋ยวจะเชิญแกมาเดือนหน้า ช่วงเตรียมงานก็มาดูว่ามีของอะไรบ้าง ทั้งภาพสเกตช์ บท สตอรีบอร์ดที่เขียนเอง สารพัดอย่าง แกเป็นคนครบเครื่อง ทำหลายอย่าง รวมถึงแผ่นเพลงด้วย จะสังเกตได้ว่าหนังแต่ละเรื่องของแกเพลงโดดเด่นมาก 

ปีนี้ไทยสูญเสียนักแสดงเก่งๆ เยอะมาก อย่าง สรพงศ์ ชาตรี รวมถึง สมบัติ เมทะนี เวลาดูหนังของพวกเขา สามารถมองเห็นพัฒนาการของหนังไทยแต่ละยุค อย่างไรได้บ้าง

        คนที่ไม่ชอบดูหนังไทยอาจจะคิดแต่ว่ามีแต่หนังน้ำเน่า แต่ถ้านั่งดูจริงๆ จะพบว่าคุณสรพงศ์เล่นหนังหลากหลาย ไม่เพียงหนังบู๊ เตะ ต่อย แต่หนังดราม่าก็เล่นดีมาก เขาไม่ได้เล่นแต่บทคนชนชั้นล่าง เขาเล่นเป็นนักเรียนนอก นักเรียนศิลปะ ไว้ผมยาวอะไรต่อมิอะไรก็เยอะ รวมแล้วมากกว่า 500 เรื่อง

        เมื่อก่อนความบันเทิงมีน้อย อาจมีให้ดูทางทีวีบ้าง แต่เรารู้สึกว่าคนยุคก่อนอาจจะเปิดใจรับอะไรต่างๆ ได้ง่ายกว่า เดี๋ยวนี้ตัวเลือกเยอะไง เราเลยลิมิตว่า อันนี้ไม่ดู ไม่มีเวลา กลายเป็นว่าจะแคบกว่าเดิม ถ้าเราคุยกับผู้ใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไปไม่ว่าจะมาจากสายงานไหน ทุกคนจะมีความรู้เรื่องหนังไทยกว้างกว่าในปัจจุบันมาก เพราะเมื่อก่อนการดูหนังเป็นกิจกรรมที่ทำกับเพื่อน วันศุกร์วันเสาร์ก็ไปดูหนังกัน มีเคยรู้จักอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่ดูหนังไทยหมด เขาสนใจดนตรีด้วย สามารถคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ทั้งที่มันไม่เกี่ยวกับงานของเขาเลย กลับกันในปัจจุบันในโลกที่มีตัวเลือกเยอะ ผู้คนกลับแคบลง

หนังไทยเก่าๆ มีเสน่ห์อย่างไร

        การดูหนังไทยเก่าๆ จะได้เข้าใจถึงยุคสมัยของเขาซึ่งอาจจะต่างกับยุคสมัยของเรา แน่นอนเมื่อเทียบกับหนังต่างประเทศ หนังไทยอาจมีโปรดักชันที่ไม่เด่นเท่า แต่เราดูเพื่อพยายามเข้าใจว่าคนสมัยก่อนดูอะไรกันนะ พอดูก็ อ๋อ เข้าใจแล้ว เขาดูหนัง มิตร ชัยบัญชา เพราะเขาอยากดูสิ่งนี้เอง ช่วงแรกตอนเราดูภาพนิ่ง เรายังไม่ค่อยเข้าใจ แล้วเมื่อก่อนก็ไม่ได้เป็นแฟนมิตร แต่พอดูแอ็กชันของเขาก็รู้สึกว่าเขามีบางอย่างคล้ายดาราฮอลลีวูดระดับไอคอน เขามีภาษากายที่แฟนๆ จะชอบ พระเอกแอ็กชันฝรั่งบางคนอาจไม่ได้หล่อสุดๆ แต่การเคลื่อนไหวของเขาเวลาอยู่ในหนังจะน่าดู 

        และด้วยความที่คุณมิตรเป็นคนรูปร่างสูงมาก เป็นสแตนดาร์ดของดาราเกาหลียุคนี้ว่าต้องสูง 180 เซนติเมตร เมื่อก่อนเราคิดไม่ออก เพราะเวลาถ่ายภาพนิ่ง มันจะเห็นแค่ครึ่งตัว แต่เวลาเขายืน เขาดูดีมาก เขาเลยเป็นไอดอลของผู้ชายจำนวนมากในยุคนั้น แล้วแฟนมิตรส่วนมากก็เป็นผู้ชายด้วย

ระหว่างมิตร กับสมบัติ ใครเล่นหนังเยอะกว่ากัน

        คุณมิตรเล่นหนังเยอะ บางวันต้องเล่นถึง 3 เรื่อง แต่อย่างคุณสมบัติ หรือคุณสรพงศ์ เขามีช่วงเวลายาวนานกว่า คุณมิตรมีช่วงเวลาเพียง 13 ปี เริ่มแสดงปี พ.ศ. 2501 รวมแล้วมีหนัง 200 กว่าเรื่อง แต่คนอื่นอย่างคุณสมบัติ มีเวลานับ 50 ปี ทำให้แต่ละปีมันก็เฉลี่ยกันไป พอนับเป็นปีอาจไม่เยอะ

คาแรกเตอร์ของมิตร สมบัติ และสรพงศ์ ตรงกับนิยามความเป็นพระเอกอย่างไรในความคิดของคุณ​

        ทุกคนจะมีความเป็นพระเอกแอ็กชัน แต่ในรายละเอียดจะต่างกัน คุณมิตรจะมีมุมกุ๊กกิ๊ก เล่นตลก ผู้หญิงจะชอบตลกแบบนี้ ต้องเล่นบทยอมนางเอก ทะเล้น แหย่นางเอก แนวนั้น ซึ่งจริงๆ สมบัติก็ลักษณะนี้ เขามีคุณสมบัติของคนที่เล่นตลกได้ดี

        ส่วนคุณสรพงศ์ นอกจากแอ็กชัน เราชอบความดราม่าของเขา เขาเป็นคนที่แสดงดี การที่เขายืนระยะยาวนานไม่ใช่เพราะความหล่อ ตัวเขาอาจไม่สูงมาก แต่คิดว่าผู้กำกับคงชอบทำงานกับเขา เพราะเขาเล่นได้ทุกบทจริงๆ นอกจากเล่นหนังกับท่านมุ้ย เขาก็เล่นหนังของผู้กำกับคนอื่นๆ ได้ดีด้วย เป็นนักแสดงไทยที่แสดงได้ดีเลย แสดงแบบเข้าใจ ขนาดหนังไทยเมื่อก่อนต้องมีนักพากย์นะ เขาก็แสดงสีหน้าท่าทางออกมาได้ถึงบท แล้ววันก่อนก็คุยกับ คุณชาลิตา ปัทมพันธุ์ นางเอกเรื่อง มือปืน (2526) บอกว่าคุณสรพงศ์เป็นคนที่มีอินเนอร์จริงๆ เขาจะจำคอนทินิว หรือความต่อเนื่องของเรื่องได้ เขาเข้าใจหนังทั้งเรื่องว่าจะต้องเล่นยังไง วันนั้นจะต้องถ่ายฉากนี้ เขาต้องรู้สึกยังไง

เห็นในนิทรรศการมีโควตที่เด่นมาก ว่า “ท่านมุ้ยไม่ได้ให้สรพงศ์เป็นพระเอก ท่านมุ้ยบอก กูให้มึงเป็นนักแสดง”

        อาจดีที่เขาเริ่มแสดงจากหนังท่านมุ้ยก่อน จริงๆ ตอนแรกเขาเริ่มจากการเป็นเด็กคุมไฟ แต่เขาก็สามารถแสดงได้ เรื่องแรกที่ชอบมากคือ แผลเก่า (2520) รู้สึกว่าครบเครื่องนะ ตอนดราม่าก็เล่นได้ อย่างที่บอกว่าทึ่งตรงที่มันเป็นหนังพากย์ไง ถ้าเทียบกัน บางคนอาจจะเล่น คุณมิตรจะเล่นเยอะมาก บางเรื่องอาจเล่นแบบแกนๆ เดี๋ยวคนพากย์จะจัดการต่อ แต่คุณสรพงศ์จัดเต็มตลอด เป็นนักแสดงที่เข้าใจบทบาท เรารู้สึกว่าเขาเป็นนักแสดงดีสำหรับเรา

        จริงๆ ในนิทรรศการ จะมีภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ โชคดีที่เรามีภาพจากทาง ละโว้ภาพยนตร์ ที่คุณภาพของภาพดีด้วยนะ ภาพจากยุคแรกของคุณสรพงศ์ที่ไม่ใช่ภาพจำของเรา เขาไว้ผมยาว หรือยังโพสต์ท่าแบบเขินๆ อยู่ ก็พยายามที่จะดึงความตรงนั้นขึ้นมา

แล้วเสน่ห์ในหนังของสมบัติล่ะ

        คุณสมบัติจะมีหนังแอ็กชันเตะต่อย แต่เราชอบคุณสมบัติในหนังที่มีความทะเล้น เป็นพระเอกที่กวนประสาทนางเอก จะต้องยียวน กวนนั่นนี่เสมอ จุดขายที่เรามองเห็นก็คือ ความเป็นคนที่น่ารัก แล้วเขาก็เล่นประกบนางเอกหลายคนนะ เพียงแต่ยังไม่ได้นับว่าเล่นกับใครเยอะ 

เวลามีคนในวงการภาพยนตร์เสียชีวิต จำเป็นต้องจัดโปรแกรมฉายหนังของคนคนนั้นทุกคนไหม

        อาจจะไม่ต้องก็ได้ แต่เราอยากจัดนิทรรศการ Photo Collection มานานแล้ว เดี๋ยวนี้พอทำหลังบ้านดีขึ้น ก็หารูปและค้นข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่นิทรรศการหนัง จริงๆ เมื่อก่อนเราจัดแบบว่า ในเดือนต่อไปเราจะมีพิธีรำลึกนะ แต่หลังๆ งานเริ่มเยอะ อย่างกรณีคุณสมบัติ หนังเขาเยอะมากจริงๆ เราอาจไม่ต้องจัดโปรแกรมหนังของเขาก็ได้ เพราะถ้าจัดโปรแกรมอื่นแทน ยังไงก็ต้องมีเรื่องที่คุณสมบัติแสดงอยู่ในนั้นด้วยแน่นอน

การที่หอภาพยนตร์ฉายหนังที่หลากหลาย ทำให้สังคมได้เรียนรู้อะไรบ้างจากหนังเหล่านี้

        เราอยากให้สังคมเปิดกว้างว่ามีหนังมากมาย เราก็คิดนะว่าอุตสาหกรรมหนังไทยน่าจะเจริญรุ่งเรืองได้มากกว่านี้ เรารู้สึกว่าโอกาสที่จะดูหนังหลากหลายในไทยก่อนมีสตรีมมิงมันคับแคบ ยกเว้นคนที่ขวนขวายอยากดูจริงๆ ก็จะตามไปดูที่สถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut Thailand) สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) แต่พวกนั้นมีนิดเดียว พอเราเป็นหน่วยงานรัฐ เราใช้ภาษี เราก็ต้องสร้างโอกาสขึ้นมาก่อน บางครั้งเรารู้ว่าเวลาฉายใหม่ๆ คนก็จะมาดูน้อยคนไม่รู้จัก แต่ในระยะยาว เราจะเห็นคนทำหนังใหม่ๆ แต่ละคนบอกว่าตอนเด็กๆ มีประสบการณ์บางอย่างที่ได้ดูอะไรบางอย่าง เราจึงต้องเปิดโอกาสเพื่อสร้างคน 

        เมื่อก่อนหนังหลายๆ เรื่อง อย่างหนังที่ฉายเมื่อวาน Sátántangó (1994) ของผู้กำกับชาวฮังกาเรียน เบลาร์ ทาร์ มีความยาว 7 ชั่วโมง เรารู้สึกว่ามันเป็นหนังที่คุณจะต้องมีประสบการณ์แบบนั้นคุณถึงจะเข้าใจ เราจะโม้ยังไงคุณก็ไม่เข้าใจ แต่เราบอกได้ว่าเรามีประสบการณ์นั้น จากการดูที่ญี่ปุ่นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แม้ว่าตอนนั้นเก้าอี้ก็ไม่ได้นั่งสบาย แต่มัน educate ข้างในเราบางอย่าง มันมหัศจรรย์มาก

ความยาว 7 ชั่วโมงของ Sátántangó ให้ประสบการณ์อะไรบ้าง

        มันมีภาพจำเยอะมาก ยังจำความเปียกๆ ชื้นๆ เหมือนเราอยู่ในที่แฉะๆ ได้ แต่กล้องมันมหัศจรรย์มาก เมื่อก่อนถ่ายฟิล์ม ดูแล้วสงสัยมันถ่ายยังไงวะ มันมีมนต์ขลังบางอย่างที่เมื่อพูดถึงหนังในฐานะศิลปะที่เรารู้สึกว่า เราควรต้องมีประสบการณ์แบบนี้กันบ้าง

        ดูเสร็จก็อาจจะมึน อาจจะเหนื่อย แต่เชื่อเถอะว่า หนังมันค่อยๆ ทำงานกับเราอย่างช้าๆ หนังจำนวนมากไม่ได้ดูรู้เรื่องหมดหรอก แต่เราอยากดู ไม่รู้เรื่องก็ช่าง วันนี้มันอาจไม่เมคเซนส์สำหรับเรา แต่สักวันมันจะไปทำอะไรสักอย่างกับความคิดของเรา แล้วจะเข้าใจเอง เหมือนยุคแรกๆ เวลาเราฉายหนังสารคดี ทำเทศกาล ‘Salaya Doc’ เมื่อก่อนไม่มีคนดูเลย แต่เดี๋ยวนี้สารคดีก็กลายเป็นหนังเมนสตรีมระดับหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่ามันทำให้คนที่สนใจอย่างนี้ก็ได้ หนังอย่างนี้ก็มีด้วย โลกมีคนทำหนังอย่างนี้ได้ด้วย

ขอถามเรื่อง Soft Power บ้าง เป็นไปได้ไหม ที่เราจะเห็นสังคมชอบดูหนังไทยมากขึ้น หรือมีกระแสความนิยมแบบที่เกาหลีใต้ทำได้ 

        เวลาพูดเรื่องเกาหลีทีไร สิ่งที่คนไม่ค่อยพูดกันคือ คนเกาหลีเขาดูหนังเกาหลีกันกี่เปอร์เซ็นต์ คนของเขาไม่ได้ชาตินิยมกันอย่างเดียว แต่เขาเป็นคนรักหนัง มีหนังอะไรก็ดู เปอร์เซ็นต์ของ Box Office ที่เกาหลีจะต่างจากที่อื่น ประเทศอื่นอาจมีสัดส่วนหนังฮอลลีวูด 80% ส่วนหนังท้องถิ่น 20% ก็หรูแล้ว แต่เกาหลีน่าจะเป็นที่เดียวเลยที่ Box Office ของหนังเกาหลีอยู่ที่ประมาณ 50-60% เดี๋ยวนี้อาจน้อยลง แต่ยุคพีกๆ คือ 60% แล้วหนังเกาหลีก็มีจำนวนเยอะขึ้น หลายร้อยเรื่อง แต่เทียบกับหนังไทย คนกลับดูกันไม่เยอะเท่าไหร่ 

        เราไม่ได้มองว่าสภาพแวดล้อมของภาพยนตร์ของเขามันบ้าคลั่ง คนอยากดูหนังเยอะแค่ไหน ที่ไทย ถ้าถามเรา ไทยเป็นสังคมทีวี เมื่อก่อนทีวีคือสื่อแมส โรงหนังอาจจะเคยแมสในยุคที่เรายังวัยรุ่น แต่มันเปลี่ยนไปแล้ว เลยเกิดความรู้สึกว่าคนของเราเองก็ไม่สนับสนุน ไม่ใช่ว่าสนับสนุนด้วยความชาตินิยมนะ แต่ยุคหนึ่งคนไทยดูหนังไทยเกือบทุกเรื่อง ดูเพื่อจะได้รู้ว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง

        เราไม่ได้คิดว่าหนังเกาหลีดีทุกเรื่อง แต่ว่าการแข่งขันในเกาหลีแข่งขันสูง ตายจริง เจ็บจริง มีเพื่อนที่เกาหลี ได้ทำหนัง 1-2 เรื่องแล้วจบเลย ที่นั่นเขาสู้กันจริง ทั้งบริษัท ทั้งนายทุน ทุกสิ่งอย่าง 

ในความคิดคุณ การพยายามผลักดัน Soft Power ของไทยเดินหน้าไปอย่างไรบ้าง

        มันอาจจะผิดตั้งแต่เราเรียกผลิตภันฑ์ทางวัฒนธรรมว่า Soft Power แต่จริงๆ ไม่ใช่ Soft Power คือกระบวนการ หนัง มวยไทย ชฎา อะไรต่างๆ ไม่ใช่ Soft Power มันต้องมีการขับเคลื่อนกระบวนการ เช่น เราอยากให้หนังไทยมีที่ทาง ก็ต้องไปดูว่าจะผลักดันไปทางไหนดี ประเทศเกาหลีช่วงประมาณปี 1997-1998 เอาหนังมาฉายให้ดูฟรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีของแจกด้วย แต่คนมาดูน้อยมาก แต่เขาก็ทำอย่างนั้น ตะบี้ตะบันทำ 

        วันก่อนมีเพื่อนเป็นอาจารย์ฝรั่งถามว่า ทำไมไทยชอบทำหนังประวัติศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่ขายไม่ได้ เราก็บอกว่า เขาคิดว่าเขาอยากขาย เพื่อนบอกว่าในโลก หนังประวัติศาสตร์แต่ละประเทศมันขายไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะ เป็นเรื่องของ (ประเทศ) มึง 

        ถ้าทำเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังอาจได้อยู่ หรืออย่างเรื่องเส้นขนานที่ 38 หนังเกาหลีที่ฮิตๆ บูมๆ มันก็เกี่ยวกับเรื่องเกาหลีเหนือ-ใต้ คนเกาหลีก็แห่ไปดูเยอะ มันก็ยังสามารถไปต่อได้ 

อะไรคือจุดอ่อนของการผลักดัน Soft Power ในไทย

        Soft Power เป็นเรื่องที่เราควรดันไปข้างนอก แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่า มีคนอยากผลิตอะไรมาเพื่อครอบงำคนในประเทศเราเอง เราต้องแยกให้ออกระหว่างการทำอะไรเพื่อครอบงำคนในประเทศ กับการทำอะไรเพื่อผลักดันชื่อไทยให้ออกไปข้างนอก

        ถามว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ดีที่เอาออกไปให้คนรู้จักได้ เช่น อาหารไทย แต่เราก็ยังไม่ซีเรียสมากพอจะผลักดันว่า เราต้องการรสชาติที่มันจริง มีความต้นตำรับ แต่ถ้าฝรั่งชอบใส่แครอต ก็ดันให้ใส่ ซึ่งไม่ได้ จะเอามาใส่ในอาหารไทยยังไง สมมติตั้งเป้าว่า เราอยากให้โลกรู้ว่า ผัดกะเพราต้องหน้าตานี้เท่านั้น เราก็ต้องยืนยัน

        ประเทศไทยเป็นประเทศที่เราดีใจที่เขามาตั้งโรงงานในบ้านเรา แต่เราไม่อยากซื้อรถยนต์ของเราเอง เราดีใจที่ฝรั่งมาถ่ายหนังในบ้านเรา แต่เราไม่อยากมีหนังของเรา ในขณะที่ฝรั่งเขาไม่แคร์อะไร เขาแค่มาทำหนังเลวๆ แล้วเราก็ดีใจจังเลยที่มีฝรั่งมาถ่ายหนังในบ้านเรา แต่หนังมันแย่มากนะ อายเขาไหมนั่น เรายังไม่อยากจะบอกว่ามันเป็นประเทศฉัน เราอยากให้หนังเราไปยืนอย่างสง่า เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ในความสง่าผ่าเผย เราจะต้องเดินช่องทางไหน 

แล้วคิดว่าคนทั่วโลกรู้จักหนังไทยผ่านการเดินช่องทางไหน?​

        ผ่านหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ซึ่งเขาเดินช่องแคบไง ช่องทางแพงไง ถ้าเขาคือแฟชั่น แปลว่าเขาก็สามารถเดินเก๋ๆ ที่ไหนก็ได้ ถึงแม้คนไทยจะดูไม่รู้เรื่อง แต่เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นคนทำหนังไทย ก็ตอนเขาไปทำหนัง Memoria (2021) ที่โคลอมเบีย ทุกคนก็ยังบอกว่าเขาคือ Thai Filmmaker เขาไปพูดที่นิวยอร์ก เขาก็เป็น Thai Filmmaker อยู่ดี ทั้งที่เรื่องนั้นไม่มีเงินไทยเลย แล้วก็มีทีมงานไทยนิดนึงเอง เรารู้สึกว่า นี่ไง เราต้องมองตลาดที่จะไปให้ออกว่า ตลาดนั้นมีช่องอะไรที่ไปได้ ก็ไปเสริมสิ่งนั้นให้มันดีขึ้น 

        แต่ทุกวันนี้มันจะมีลักษณะผิดที่ผิดทาง สะเปะสะปะ อย่างซีรีส์วาย เราอยากจะส่งออกซีรีส์วายทั้งโลก ทั้งที่วายมันก็ไม่ได้นิยมทั้งโลก มันก็มีที่ทางของมัน เคยคุยกับคนญี่ปุ่น เขาบอกว่าเมื่อไหร่จะได้ดูซีรีส์วายแบบ Official ตอนนี้ยังต้องแอบดูช่องทางไม่ถูกกฎหมายกันอยู่เลย เรารู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ต้อง customize จริงๆ เราต้องเอาตัวเลขออกมาว่า กลุ่มนี้ ตัวเลขเป็นเท่าไหร่ ผลที่คาดว่าจะได้เท่าไหร่ ถ้าเราใส่ input นี้เข้าไป ตัวเลขอะไรจะเพิ่มขึ้นบ้าง คิดเป็นกี่เปอร์เซ็น ทำเป็น segment ออกมาเลย

Soft Power จำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยคนในวงการไหม

        ไม่ใช่ขับเคลื่อนโดยคนในวงการ แต่มันต้องขับเคลื่อนโดยกลไกภาครัฐ แต่ภาครัฐอาจไม่ได้มีกลยุทธ์เพียงพอ เราถึงต้องเอาตัวเลขมาดู เวลาพูดว่าอุตสาหกรรมหนังทำเงินกี่พันล้านในประเทศ ต้องมาดูว่ามันหมายถึงคนต่างชาติมาถ่ายหนังใช่ไหม แต่ Local Content ล่ะมีกี่เปอร์เซ็นต์ ยอมรับความจริงจุดนี้ก่อน ตอนนี้ Local Content อาจยังไมถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลย เราปล่อยคนในบ้านอดอยากปากแห้ง แล้วปล่อยให้คนข้างนอกมาตักตวงไป เรามองตรงนี้ไม่ออกหรือยังไง คนทำงานจะตายกันหมดแล้ว

        เวลาคุยเรื่องผลักดันหนังไทย เราต้องมองว่ามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบหรือยัง จะฟังแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายบริษัทในอุตสาหกรรม เราต้องรู้ว่าเกมเพลย์เยอร์ทั้งหมดคือใคร ต้องมาบาลานซ์แหละ ถ้าให้คนนี้น้อยเขาอาจจะโกรธเรา แต่เราต้องให้คนนั้นคนนี้ด้วย ต้องดูว่าคนนั้นเก่งทางนี้ คนนี้เก่งทางนี้ เดี๋ยวก็จะหาทางไปทางนี้ได้ 

        กลับมาที่หอภาพยนตร์ เราพยายามทำในส่วนที่เราทำได้ในเชิงยุทธศาสตร์ภาพยนตร์ เมื่อพูดถึงการพัฒนา เราจึงพัฒนาผู้ชม เราทำให้ผู้ชมรับในสิ่งที่หลากหลาย มีมุมมองกว้างขึ้น เปิดใจกว้างขึ้น แต่ช่วงนี้พี่ไม่ได้ดูหนังไทยทุกเรื่องนะ แต่หนังไทยเรื่องที่ดูก็ออกมามันแย่เกินไป โลกทัศน์นายทุนยังติดโลกเก่า ไม่ได้คิดเรื่องคุณภาพ คิดแต่ว่าคนจะดูแค่อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่จริง คนเหล่านั้นมูฟออนไปเยอะแล้ว

แสดงว่ามาตรฐานคนดูสูงขึ้นเยอะ

        เราคิดว่าสูงขึ้นนะ ช่องทางถึงสำคัญไง เมื่อก่อนโรงหนังเป็นผู้ควบคุมและตัดสินใจว่าหนังแบบนี้จะให้รอบเยอะๆ เพราะมีสิทธิ์ขายได้ ขณะที่บางเรื่อง ต่อให้หนังดี แต่ให้รอบฉายแค่ตอน 11 โมงเวลาเดียว มันก็ต้องตายอยู่ดี สตรีมมิงเลยเลยเป็นตัวเลือก ช่วยให้คนเข้าถึงสิ่งที่อยากดู

        การมาของ Netflix และซีรีส์เกาหลีสำคัญมาก เมื่อก่อนเราไม่ได้ดูนะ เพิ่งมาดูช่วงโควิด พอดูก็ดูจริงจังมาก รู้สึกว่าคนดูจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนไปแล้ว เขา appreciate การแสดงที่ดี พล็อตเรื่องซับซ้อน โปรดักชันดี แล้วจะไม่สามารถกลับไปดูอะไรกะโหลกกะลาได้แล้ว

        ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ถ้ามีหนัง 10 เรื่อง ก็จะมีเรื่องเข้าวิน เราอาจจะเลือกดูได้แค่เรื่องเดียว แต่ทุกวันนี้สตรีมมิงดีตรงที่เรามีสิทธิ์เปิดดูได้ทั้ง 10 เรื่อง หรือบางเรื่องเราอาจไม่เคยคิดจะดู แต่วันนี้ว่าง อยู่บ้านทั้งวันก็เปิดดูก็ได้ เราคิดว่ามันเขย่าตรงนี้ได้บ้าง แล้วก็จริงๆ ก็หวังกับเด็กๆ นะ เพราะรสนิยมต้องปลูกตั้งแต่เด็ก

ปลูกในผู้ใหญ่ไม่ทันแล้ว?

        ไม่ใช่ไม่ทัน แต่ถ้าได้ตั้งแต่เด็กก็ดี ถ้าเราคิดจะสร้างเขาให้เป็นผู้ผลิตด้วย เราชอบพูดว่าเมืองนอกอย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆ สิ่งที่เมืองนอกมีก็เหมือนๆ บ้านเรา คือเขามีหนังให้ดู แล้วก็มีคนพาเด็กไปดูตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งบ้านเราก็มีนะ แต่ไม่ค่อยเห็นใครพาเด็กไปหอศิลป์ ไม่ค่อยมีคนพาเด็กไปที่แบบนี้เท่าไหร่ เมืองไทยไม่ถึงกับไม่มีสิ่งเหล่านั้น แต่คนดูก็จะเฉพาะกลุ่ม หรือดูกันเอง คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก ขนาดหาดูยาก แต่คนชอบดนตรี หรือฝรั่งก็ยังมาดูเลย 

        อย่างหอภาพยนตร์ก็เช่นกัน เรามีสิ่งนี้ แน่นอนว่าการเดินทางอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ แต่มายด์เซตก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ถ้ามัวแต่คิดว่ามายาก มันก็มายาก โอเค ถ้าอยู่รามอินทรา หรือบางนา มาที่หอภาพยนตร์อาจจะยากจริง เหมือนอยู่คนละฝั่งของโลก แต่ถ้าอยู่สนามหลวง เราว่าไม่ยากเท่าไหร่แล้ว หรืออย่างพระราม 2 ก็อาจจะมายาก แต่คนจากพระราม 2 ที่นั่งรถเมล์มาก็มีตลอด

        เราคิดว่าถ้าการสัญจรมันดี อะไรหลายอย่างมันก็คงจะดี แต่เราก็ไม่กล้าบ่นแรง แต่ก็คิดนะว่า ถ้าเราอยากจะไปเราก็ต้องไปมั้ย สมมติเราไม่มีทางเลือก ที่นี่เป็นหอสมุดที่เดียวที่มีเอกสารที่เราต้องการ เราก็อาจจะวางแผนตัวเองว่าจะมาวันเสาร์ ตอนเช้ามาห้องสมุดก่อน ไหนๆ มาแล้วก็ขึ้นไปดูหนัง 2 เรื่องเลยละกัน สรุปแล้ว ถ้าเราต้องการอะไรจริงๆ มันไม่ยากเกินไป แต่เราก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปัจเจก เราตัดสินแทนคนอื่นไม่ได้ เราเลยอยากเชิญชวนว่า ขอเพียงชีวิตนี้ให้ทุกคนในประเทศไทยมาหอภาพยนตร์แค่ครั้งหนึ่งในชีวิต อยากให้มาลองสัมผัส เลือก exhibition ที่ตรึงใจสุดๆ ที่อยากมา สักครั้งในชีวิตก็พอ 

        ทุกวันนี้ สิ่งที่เราทำได้คือทำให้หนังยังมีอยู่ เราไม่ค่อยเชื่อว่าจะต้องโฆษณาชวนเชื่อว่าทุกคนต้องดู หน้าที่ของเราคือทำให้มันมีอยู่ ถ้าอยากดูหนังไทย 2 เรื่องก็มา อยากดูหนังจอใหญ่ๆ คุณภาพเสียงดีแบบฟรี เราเปิดอาทิตย์ละ 6 วัน มาดูได้ ถ้าอยากเข้าห้องสมุด อยากอ่านนิตยสารก็ได้ ตอนนี้นิตยสารหรือสิ่งพิมพ์เก่าๆ ก็จะเริ่มสแกนเป็นดิจิทัล อีกหน่อยสามารถมาเปิดดูในห้องนี้ได้ เราทำของเราเรื่อยๆ ส่วนคนจะต้องการหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่เราบังคับไม่ได้


เรื่อง: โซโนอิ | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ