‘หนังที่คนรักต้องตั้งใจทำไม่ใช่แค่ Destiny’ จินา GDH การทำหนังที่ยังคงท้าทายอยู่เสมอ

ยามที่สื่อบันเทิงถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายจากทั่วทุกมุมโลก วงการสื่อในประเทศย่อมต้องทำคอนเทนต์แข่งกับสื่อนอกประเทศเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ และละครไทย ยิ่งไม่ง่ายที่จะได้รับการยอมรับในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย จนกลายเป็น ‘ปรากฏการณ์’ 

        แต่สำหรับ ‘บุพเพสันนิวาส’ กลับสร้าง ‘ปรากฏการณ์ออเจ้าฟีเวอร์’ ขึ้นมาอย่างถล่มทลาย กลายเป็น soft power ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านท่องเที่ยว ที่มีการสวมใส่ชุดไทยไปเที่ยวย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองเก่าต่างๆ หรือความนิยมด้านอาหารการกิน ตามล่ามะม่วงน้ำปลาหวาน, กุ้งเผาน้ำจิ้มซีฟู้ด รวมถึงหมูกระทะ ล้วนทำให้พ่อค้าแม่ค้าขายดีกันถ้วนหน้า 

        ด้วยปรากฏการณ์ความโด่งดังเหล่านี้ ได้ไปเข้าตาผู้บริหารค่ายหนังฟีลกู๊ดอย่าง GDH จึงกลายเป็นการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เกิดเป็นโปรเจกต์หนัง บุพเพสันนิวาส 2 (Destiny the Movie) ขึ้นมา 

        เราจึงถือโอกาสไปร่วมสนทนากับ จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ว่าการนำมาทำเป็นภาพยนตร์ในครั้งนี้ มีความยากง่ายอย่างไร ตลอดจนความคาดหวังมากมาย ในฐานะคนทำงาน ทำอย่างไรให้คนอินกับ ‘ออเจ้า’ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์อีกครั้ง 

GDH จะไม่ย่ำอยู่กับที่

        นับตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งเมื่อครั้งยังใช้ชื่อว่า GTH (บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด) ซึ่งเป็นชื่อเดิมจนเปลี่ยนมาเป็น GDH นับรวมเป็นเวลาเกือบ 12 ปีที่ค่ายหนังอารมณ์ดีแห่งนี้ สร้างหนังที่กลายเป็นความทรงจำดีๆ ให้กับผู้ชม โดยเฉพาะกับเด็กยุค 2000s ที่เติบโตมากับหนังเรื่อง ‘แฟนฉัน’ ซึ่งกลายเป็น nostalgia ที่ผ่านมา 20 กว่าปีแล้วก็ยังคงมีแฟนๆ หนังที่คิดถึงกันอยู่

        หลายคนมักติดหูว่า GTH หรือ GDH เป็นค่ายหนังอารมณ์ดีเสียส่วนใหญ่ แต่ยังมีหนังหลากแนวหลายอารมณ์ออกมาให้ติดตามกันอยู่เสมอ ทั้ง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, สายล่อฟ้า, มหา’ลัย เหมืองแร่, รถไฟฟ้า..มาหานะเธอ หรือ พี่มาก..พระโขนง เป็นต้น แม้ในปี 2558 จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น แต่สำหรับคนทำงานยังคงเลือกสรรพลอตเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอผู้ชมอยู่เสมอ 

        “เราพยายามทำคอนเทนต์แปลก สดใหม่ พยายามท้าทายตัวเองว่าเราจะไม่ทำอะไรเหมือนเดิม และนอกจากเป้าหมายผู้ชมที่เป็นคนไทยแล้ว เราก็คาดหวังว่าอยากให้หนังไทยไปถึงทั่วโลก เพราะหนังที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้ แปลว่าในประเทศต้องดี ซึ่งนี่ก็เป็นเป้าหมายของ GDH อยู่แล้ว ดังนั้น การคิด และกระบวนการทำงานของเราจึงท้าทายขึ้น” 

        จินายกตัวอย่างผลงานให้เห็นภาพที่ชัดเจน คือภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ที่ร่วมทุนสร้างกับบริษัท Showbox และ Northern Cross จากประเทศเกาหลีใต้ กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นา ฮง-จิน จนประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงาน โดยได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best of Bucheon) ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งพูช็อน ครั้งที่ 25 และเป็นภาพยนตร์ทำเงินลำดับที่ 15 ของบอกซ์ออฟฟิศเกาหลีใต้ประจำปี พ.ศ. 2564 อีกด้วย 

        “เราลองผิดลองถูกมามาก และปัจจุบันก็ยังกล้าลองผิดลองถูกต่อไป ไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะทำรายได้มากหรือน้อยขนาดไหนก็ตาม”  

ในภาษาของพวกพี่ หนังดีคือหนังที่ไม่ชุ่ย

        แม้ว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในเครือของ GDH จะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย แต่ก็มีหลายเรื่องที่ทำรายได้ได้ไม่ค่อยดีเช่นกัน นั่นแปลว่าหนังเรื่องนั้นไม่ดีหรือเปล่า เราถามต่อ

        “ในภาษาของพวกพี่ หนังดีคือหนังที่ไม่ชุ่ย คนที่บอกว่า GDH หนังดี ซึ่งคำว่าหนังดี คือหนังที่ตั้งใจทำ และคนดูรู้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ชุ่ย ซึ่งต้องดูจากเรื่องและบทภาพยนตร์ ถ้าเรื่องและบทถูกคิดถูกเขียนมาอย่างดี การถ่ายทำโดยฝีมือของผู้กำกับก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ สนุก เกิดการติดตาม เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำหนังสเกลไหน สิ่งสำคัญในกระบวนการคือ ความตั้งใจ และความพิถีพิถัน ถ้าจะบอกว่าหนังดีคือหนังที่ทำเงินอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แต่ว่าหนังดีคือหนังที่คนดู ดูแล้วชื่นชอบ”

        จินากล่าวต่อว่า ความชอบหรือความถูกใจของผู้ชมแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความถูกใจของคนทำหนังกับผู้ชมก็ย่อมที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มเป็นธรรมดา ยกตัวอย่างผู้กำกับกึ่งอินดี้กึ่งแมสอย่าง ‘เต๋อ’ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ก็มีมุมมองในการทำงานแบบเฉพาะตัว

        “ล่าสุดหนังเรื่อง FAST & FEEL LOVE เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ เป็นหนังที่ดีมาก กลุ่มคนดูอาจจะต้องมีความเข้าใจ อาจจะไม่ใช่กีฬาในกระแส แต่อยากให้เห็นความคิด สิ่งที่เต๋อพยายามจะสื่อสารเข้าไปในหนัง แม้ว่าหนังอาจจะไม่ได้ทำรายได้มาก แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคุณค่าทางอื่น 

        “การทำหนังทุกเรื่องเราไม่มีทางรู้ได้ว่าจะได้รายได้เท่าไหร่อย่างไร เราแค่มีความเชื่อว่าถ้าเราทำหนังที่ดีและคนดูชอบหนังก็จะพาตัวมันไป ดังนั้น หนังทุกเรื่องมีศักยภาพของตัวเอง เล็ก กลาง ใหญ่ ถ้าเราออกแบบโลกของความคิดสร้างสรรค์กับตลาดทุนเข้าด้วยกันได้ เราว่าเป็นไปได้ทุกสเกล เพียงแค่ต้องมีตัวเริ่มต้นโปรเจกต์ให้ได้ก่อน” 

ถ้าเอาชนะสิ่งที่คนคอมเมนต์ได้เท่ากับชัยชนะ

        “พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) สอนไว้เสมอว่า ทุกคอมเมนต์ของผู้ชมเป็นสิ่งที่เราต้องฟัง ถ้าเราสามารถเอาชนะสิ่งที่ทุกคนคอมเมนต์ และปรับปรุงแก้ไขได้หมด ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเป็นที่ประสบความสำเร็จในระดับชาติ” 

        เพราะทุกคอมเมนต์ที่ได้รับมาล้วนเป็นความคิดเห็นที่สำคัญ เพื่อทำให้คนทำหนังรู้ว่าสิ่งไหนที่ควรปรับปรุงแก้ไข และสิ่งไหนที่สามารถพัฒนาไปได้อีก รวมถึงสิ่งไหนที่ดีอยู่แล้ว ผู้ชมชอบ ก็ให้รักษามาตรฐานนั้นเอาไว้ 

        “นักวิจารณ์จะชอบหรือไม่ชอบเราต้องขอบคุณ เพราะเขาได้บอกความรู้สึกของเขาให้เราได้รู้ คนดูก็เช่นกัน เขาไม่ชอบเพราะอะไร ครั้งต่อไปเราจะได้ปรับปรุง โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ที่นี่ล้วนใจกว้าง โดยเฉพาะพี่เก้งที่สอนเราเลยว่า เราต้องรับฟัง บางทีเราอาจจะเจ็บปวดเพราะตอนที่ทำเราไม่รู้หรอกว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบจนกว่าจะถึงวันที่ฉาย ถ้าหนังที่เสียงค่อนข้างเป็นเอกฉันท์คือเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ทุกคนดูได้หมด ซึ่งใครๆ ก็อยากเป็นหนังแบบนี้ แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น” 

เริ่มต้นท้าทายอีกครั้งกับ โปรเจกต์ภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2

 

        จินาเล่าย้อนกลับไปว่าเนื่องจากเธอทำงานเยอะมากในช่วงที่ละครเรื่องนี้กำลังเป็นกระแส ทำให้ยังไม่ได้ดูละครเรื่องนี้อย่างจริงจังนักในช่วงเวลาดังกล่าว

        “วันที่ไปรับรางวัล LINE TV Awards ละคร บุพเพสันนิวาส คว้ารางวัลหมดเลย พี่เซอร์ไพรส์มาก ก็กลับไปย้อนดู ถามคนโน้นคนนี้ในออฟฟิศเขาชอบกันหมดเลย คนใส่ชุดไทยไปไหว้พระ แล้วทุกคนดูมีความสุขมาก พี่จึงถามพี่เก้งกับพี่วัน (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) คิดว่าถ้าเอา บุพเพสันนิวาส มาทำเป็นหนังมันจะเป็นอย่างไร”  

        นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของการเกิดภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 หลังจากผู้บริหารทั้งสามได้ผู้กำกับที่เหมาะสมคือ ‘ปิ๊ง’ – อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม จากนั้นจึงได้ทำการติดต่อ ‘หน่อง’ – อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้ผลิตละครเรื่องดังกล่าวทันที 

        “ตอนโทรไปหาพี่หน่อง แกบอกว่ามีคนติดต่อมาเยอะมาก เขาขอตัดสินใจก่อน พี่หน่องหายไปเลยจนเราก็ลืมไปแล้ว จากนั้นมีอยู่วันหนึ่ง เราไปปฏิบัติธรรมที่อุดรธานี 10 วัน พอออกจากปฏิบัติธรรม พี่หน่องก็ติดต่อมา เขาบอกว่า พี่คิดดูแล้ว GDH น่าจะทำหนังได้โอเค อยากเห็น บุพเพสันนิวาส ในเวอร์ชันภาพยนตร์เหมือนกัน” 

        การจับมือกันระหว่างคนทำละครกับคนทำหนังจึงเริ่มต้นขึ้น โดยขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ ทุกคนต้องได้ดูตัวอย่างภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 กันมาแล้วอย่างแน่นอน ย่อมต้องรู้แล้วว่าเรื่องราวในฉบับภาพยนตร์นี้เป็นชาติภพใหม่ของพี่หมื่นกับการะเกด ดังนั้น หนังจึงไม่ใช่การเอาละครมารีเมก แต่จะเป็นการนำคอนเซปต์ของ บุพเพสันนิวาส มาเล่าในชาติภพใหม่ กลายเป็นเรื่องราวของ ‘แม่เกสรกับพี่ภพ’ ในคาแรกเตอร์ใหม่ กับยุคที่ใหม่ขึ้นกว่าเดิมคือ สมัยยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้จะได้พบกับตัวละครและนักแสดงมากฝีมืออีกมากมายที่มาเซอร์ไพรส์เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมอีกเป็นขบวน 

เพิ่มมูลค่าให้ภาพยนตร์ไทยด้วยการทยานไปสู่โลกแห่งเหรียญดิจิทัล

        การนำปราฏการณ์ระดับชาติมาทำเป็นภาพยนตร์ถือว่าท้าทายแล้ว อีกความท้าทายใหม่ล่าสุดคือ การทดลองสร้างเหรียญ Destiny Token ขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาชมภาพยนตร์อีกด้วย 

        “เราพยายามจะนำ Entertainment ไปสู่การเป็น soft power ดังนั้น การที่เราทำ Token ขึ้นมา เพราะเราอยากนำโลกของความคิดสร้างสรรค์ให้มาเจอกับโลกของตลาดทุนและเทคโนโลยี เมื่อก่อนเราฉายแต่ในโรงภาพยนตร์ แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ เรามาคิดว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าเราเอาผู้ชมมาเป็นผู้ร่วมสร้าง ทำให้ธุรกิจของหนังไทยสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ หากเกิดการหมุนเวียนกันได้ ถ้าเราทำได้ โลกของหนังไทยจะไปได้ไกลขึ้น

        “แต่ก็เป็นการสื่อสารที่ยาก เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ไม่มีตัวกลาง เราทำโปรเจกต์นี้ก็ไม่คาดหวังว่าจะได้กำไรมากมาย สิ่งที่อยากได้คือ มูลค่าของหนังไทยสำหรับคนดูนั้นมีจริงหรือเปล่า หรือถ้ามีคอนเทนต์ที่ดีมากๆ จนเรียกว่าเป็น soft power ได้ แล้วคนดูจะสามารถพามันไปได้ไกลจริงๆ หรือเปล่า ทั้งหมดเป็นความกล้าหาญที่ท้าทาย ส่วนตัวเราเองก็ตื่นเต้นมากๆ เช่นกัน” 

เปิดกว้างในโลกที่ความหลากหลายเพิ่มขึ้น

        จากประสบการณ์การทำหนังมาหลายสิบปี ความยากในการทำหนังยุคปัจจุบันนี้คืออะไร – เราถามต่อ 

        “ต้องยอมรับว่ากลุ่มเป้าหมายเราก็เป็นเด็กรุ่นใหม่อยู่เหมือนเดิม ดังนั้น เราต้องพยายามทำความเข้าใจในโลกที่เขาเป็นอยู่ แต่ว่าสิ่งที่ทำได้คือ เรามีผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ เข้ามา มีโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่เข้ามา เราควรจะเปิดโลกการเรียนรู้เพราะว่าเดี๋ยวนี้การโปรโมตทุกอย่างใช้วิธีการเหมือนเดิมไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนไป ยิ่งคอนเทนต์ดีๆ ที่เข้ามาทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง ถ้าเราไม่พยายามทำให้ดี ใครจะเสียเงินมาโรงหนัง แต่หนังถ้าไม่ดูในโรงหนังมันก็ไม่สนุก  

        “เปรียบเทียบไปก็เหมือนว่าหนังกับโรงหนังเป็นสามีภรรยากัน ต้องรักใคร่สามัคคีและช่วยเหลือกัน เรามีความเชื่อว่าคนยังดูหนังฟังเพลง โอกาสที่เราจะทำหนังเพื่อลงในแพลตฟอร์มอย่างเดียวอาจจะมี แต่น้อยมาก เนื่องจากเราก็ยังมีความเชื่อบนพื้นฐานของเราอยู่ว่า เรายังอยากให้หนังฉายในโรงภาพยนตร์ เพราะอรรถรสของการดูหนังมันต้องภาพเต็ม เสียงเต็ม แต่มันต้องสร้างมาพร้อมกับสิ่งที่เราสามารถกระตุ้นให้คนดูเห็นหนัง หรือสิ่งที่เราต้องการสื่อออกมาให้ได้ทันที คนทำงานที่ GDH คือใช้ใจมาก ถ้าเราทำแค่เพราะเป็นธุรกิจ เราได้เงินเยอะไปแล้ว แต่เราใช้ใจทำด้วย เราอยากให้หนังไทยไปได้ดี 

        “เราอาจจะไม่ได้เงินที่เยอะมาก แต่คนทั่วโลกเขาจะเห็นหนังเรา เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราคือ ทำหนังฉายในโรงภาพยนตร์ หลังจากนั้นถึงจะปล่อยลงสตรีมมิงเพื่อเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับหนัง บางคนอยากดูหนังมาก แต่ด้วยภาระหน้าที่ต่างๆ เราก็มีทางเลือกให้เขา”

        จินากล่าวทิ้งท้ายไว้สั้นๆ อีกว่า “แพสชั่นของเราคืออยากทำหนังที่ท้าทายคนให้ออกมาดูหนังในโรง และอยากทำหนังไทยให้ไปปักธงในที่ต่างๆ ทั่วโลก


เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ