คนเรามักจะตัดสินตัวตนของใครก็ตาม ตามภาพลักษณ์ที่เห็นจากภายนอกก่อนเสมอ แต่เราจะรู้จักตัวตนของเขาดีขึ้นจากพฤติกรรม และสิ่งที่เขาทำ เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของคนบันเทิงที่มักถูกเรียกด้วยคำว่า ‘ดารา’ ก่อนด้วยภาพเบื้องหน้าที่สวยงาม แต่อันที่จริงกว่าพวกเขาจะก้าวเข้ามาสู่แสงอันสว่างไสวที่ฉายทาบลงมาที่ตัวได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย และมักกลับถูกมองข้ามอยู่เสมอ
“ถ้าเรามีความเป็นศิลปินในตัว ผมว่ามันจะอยู่ได้นานและยั่งยืนกว่า ถึงแม้ไม่ได้หวือหวาอย่างดาราที่มีช่วงเวลาของความพีก แต่สิ่งเหล่านั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะอยู่ได้ยาวแค่ไหน บางคนได้มาเร็วและง่ายมากจนรู้สึกว่าฉันไม่ต้องรักษามันไว้ก็ได้ เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามันมีค่า”
‘กอล์ฟ’ – พิชญะ นิธิไพศาลกุล ที่เดบิวต์ฐานะดูโอกับน้องชาย ‘ไมค์’- พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ในนาม Golf-Mike ทั้งคู่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามตั้งแต่ออกอัลบั้มแรก และได้โกอินเตอร์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในไอคอนยุค 2000s ที่ยังคงเป็นภาพจำ แม้ปัจจุบันทั้งคู่ต่างเดินไปในเส้นทางที่เป็นตัวเองแล้วก็ตาม แต่ความเป็น ‘ศิลปิน’ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่กอล์ฟพยายามเผยให้แฟนๆ ได้เห็นตัวจนของเขามากขึ้น มากกว่าคำว่า ‘ดารา’ รวมถึงคอยหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อเติมแพสชันให้ไฟตัวเองไม่มอดดับไปอยู่ทุกวัน
“Nothing will never ever
Bring us down”
….
“We don’t stop, we keep going BAM BAM BAM
We don’t stop, and you know it NA NA NA”
ปีที่กอล์ฟ-ไมค์ เดบิวต์อัลบั้มแรก จำได้ว่าตอนนั้นพีกมาก จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นศิลปินเริ่มจากอะไร
ทุกอย่างเริ่มต้นจากความเนิร์ด ผมเป็นคนติดเกมมาก รู้สึกว่าเกมคือโลกของเรา เราตื่นเต้นกับมันจนอยากเล่นตลอดเวลา จนที่บ้านรู้สึกไม่โอเค คุณแม่เลยให้พี่เลี้ยงเอาจอยเกมไปซ่อนไม่ให้ผมเล่นเยอะเกินไป แล้วเขาก็พยายามหากิจกรรมให้เราทำ ซึ่งกิจกรรมนั้นพาให้ผมได้รู้จักกับพี่คนหนึ่งซึ่งเขากำลังหาเด็กใหม่เข้าไปเป็นศิลปินในสังกัด เขาก็เลยส่งรูปกอล์ฟกับไมค์ไป เพราะไมค์ก็เนิร์ดเหมือนกัน (หัวเราะ) ก็เลยถูกส่งไปแคสต์กันทั้งคู่ แล้วผู้ใหญ่เขาก็เห็นว่าเราสองคนหน้าตาน่ารักดี เลยให้เขาไปฝึกดู เป็นคลิปที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นว่า ไมค์ร้องเพลงพี่เบิร์ด กอล์ฟเต้นเบรกแดนซ์ นั่นคือตอนที่เป็น G Junior แล้ว
จากเด็กติดเกม สุดท้ายแล้วกลายเป็นกอล์ฟ-ไมค์ ดูโอแห่งยุค 2000s
(หัวเราะ) ใช่ครับ ใครจะไปรู้เนอะ แต่กว่าจะได้เป็นกอล์ฟ-ไมค์ได้ เราใช้เวลาปีกว่าในการซ้อมร้องเพลง ซ้อมเต้น ถึงจะไปโชว์ให้ผู้ใหญ่ดูเพื่อให้เขาเห็นศักยภาพของพวกเรา หลังจากที่ผู้ใหญ่เลือกแล้วก็ยังไม่ได้เป็นนักร้องนะ ต้องฝึกซ้อมเพิ่มอีก ฝึกร้องเพลงหนักขึ้นกว่าเดิม
เพราะถ้าทางค่ายเขาจะลงทุนกับเรา เขาก็ต้องดูว่าโตขึ้นมาเสียงเราจะเปลี่ยน ลุกส์เราจะเปลี่ยน หรือตัวเราจะโตแค่ไหน เขาต้องรอให้เราได้โตเต็มที่ เสียงเราคงที่แล้วถึงจะตัดสินใจให้เดบิวต์ เพราะตอนนั้นทำเพลงออกมาก็โละไปเซตใหญ่ เราสองคนก็นั่งท้อกันด้วยความเด็ก เราก็มีคำถามว่าเขาจะให้เราทำจริงหรือเปล่า ทำไมเขายกเลิกเพลงอีกแล้ว จนสุดท้ายก็ได้เดบิวต์ด้วยเพลง Bounce ที่ดูเท่ขึ้น ดูโตขึ้น เหมาะกับลุกส์ที่โตเต็มที่แล้ว ก็เลยได้ออกอัลบั้มตั้งแต่อายุ 18 ปี
หลังจากเดบิวต์แล้ว ตอนนั้นรู้สึกถึงความเป็นศิลปินอยู่ในความคิดบ้างหรือยัง
ถ้าพูดถึงความเป็นศิลปินก็อาจจะยังเรียกไม่ได้ขนาดนั้น แต่เป็นสิ่งที่ค่ายเขาห่อหุ้มมาให้เรา แต่ทุกอย่างก็มาจากความชอบของเรา อย่างเพลง Bounce ก็มาจากที่เราชอบเล่นบาสฯ เป็นปกติอยู่แล้ว เขาก็เลยเอาแรงบันดาลใจมาจากตรงนั้น ซึ่งตอนนั้นเทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่ได้ก้าวหน้ามาก เขาก็เอาลูกบาสฯ มาอัดเสียงในห้องอัดเพื่อทำเป็นบีตของเพลงนี้ด้วย ก็เลยดูเวอร์วังอลังการไปหมด ตอนนั้นออกมาก็ประสบความสำเร็จทำให้เราได้ทำอัลบั้มต่อๆ ไป
เรียกว่าเป็นการซึมซับจากการได้มีโอกาสเดบิวต์ ทุกอย่างเลยหล่อหลอมให้มาทางนี้โดยปริยาย
พอเดบิวต์แล้วเราได้ศึกษาเรื่องการทำเพลงมากขึ้น บวกกับตัวผมเองที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความชอบที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างตอนแรกเราชอบเพลงแนวฮิปฮอปมาก ถึงแม้ว่าจะไม่ดังเท่าเพลง Bounce แต่ตอนนั้นอยู่ในจุดที่ออกเพลงอะไรมาแฟนๆ ก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว เราก็เลยอยากทำตามใจตัวเอง ไม่ได้สนใจในทางธุรกิจขนาดนั้น ดื้อด้วยแหละ (หัวเราะ) ถ้าเป็นผู้ใหญ่เขาคงไม่ให้ทำเพลงแบบนั้นแน่ๆ
แต่เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่มีคนจ้องมองเยอะ เหมือนอยู่ในสปอตไลต์ เวลาเราทำอะไรจะมีผลต่อคนที่ติดตาม และมองเราเป็นไอดอล ถ้าเราทำแบบนี้ออกมาก็อาจจะทำให้เพลงป๊อปในแบบของเรามีความแปลกใหม่มากขึ้น ตอนนั้นมีความติสต์ แล้วบางทีก็แก้เพลงเขาด้วย
อย่างเพลง ‘ที่ปรึกษา’ ของพี่ดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) ตอนแรกเขาแต่งมาเมโลดี้จะค่อนข้างเนือยๆ แล้วเราเป็นคนที่ชอบแนวฮิปฮอป ระหว่างที่อัดเสียงเราก็เลยขอเพิ่มตรงนั้น ตรงนี้ ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้จักพี่ดี้ แต่พี่ห้องอัดเขาก็ให้ลองอัดไปก่อนแล้วโทร.หาพี่ดี้ดูว่าได้ไหม ซึ่งพี่ดี้เขาก็โอเค เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนเพลงเขาจนน่าเกลียด แต่เปลี่ยนเพื่อให้เพลงมันดีขึ้น ถ้าทุกคนสังเกต ก่อนท่อนฮุกจะมีความแร็ปๆ หน่อย เหมือนกับเพลง หน่วง (ของวง Room39) ทำให้เพลงมันดูเท่ ดูวัยรุ่นขึ้น
Golf Pichaya
แต่หลังจากช่วงพีก กอล์ฟ-ไมค์ ต่างก็ออกโซโลเป็นของตัวเอง ซึ่งยุคนั้นการแยกวงถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ
เพราะหลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนทำดนตรี ซาวนด์เอนจิเนียริง ทำบีตเอง ทำดนตรีเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พอเวลาแต่ละคนโตขึ้นก็ต่างมีจุดยืนที่ชัดเจนของตัวเอง อยากเสนอแนวเพลงที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น ซึ่งอีกคนอาจจะไม่ชอบแนวนี้ ก็เลยคุยกับผู้ใหญ่ว่าขอแยกโซโลได้ไหม แต่ก่อนจะยังไม่มีวัฒนธรรมนี้ เขาก็จะหาว่าดรามา ตีกันแล้ว แยกวง ยุบวง แต่สมัยนี้มันโอเคขึ้น ทำโซโลแล้วก็กลับมารวมกันได้ นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำโซโลอัลบั้ม
คุณบอกว่าความชอบคนเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ตอนอัลบั้ม 3 เราได้ไปเรียนมากขึ้น ก็เลยอยากทำเพลงแนว EDM เหมือนเราได้ไปเจอดนตรีแนวใหม่ ได้ค้นหาสิ่งใหม่ แล้วรู้สึกสนุกก็เลยไปในทางนี้มากขึ้น ตอนนั้นแนวนี้ยังไม่ค่อยฮิตเลยเป็นคนฟังกลุ่มน้อยมากๆ แต่ผมก็ไม่สนใจหรอก จำได้ว่าผู้ใหญ่บอกว่า “อยากให้เพลงดังแบบที่คนทั่วไปชอบ หรืออยากเป็นฮีโร่ในสายตาของศิลปินด้วยกัน” ซึ่งเราเลือกอันหลัง แล้วเพลงก็ไม่ได้ฮิตมากนัก แต่คนที่ชอบดนตรีเขาก็จะนับถือความกล้า และความแหวกแนวของเรา
ตั้งแต่เดบิวต์ก็เดินทางในสายการทำเพลงมาตลอดเลย มีช่วงที่หมดแพสชันบ้างไหม
เหมือนเส้นทางของเราเปลี่ยนอยู่ตลอด จากเด็กติดเกม ได้เดบิวต์เป็นนักร้อง หลังจากนั้นก็เริ่มไปสายละคร สายการแสดงบ้าง ผมพยายามหาอะไรที่สนุกทำ “เมื่อไหร่ที่แพสชันบางอย่างดรอปลงไป ก็หาอีกอันที่ทำให้เรามีแพสชันใหม่ เพราะผมรู้สึกว่าวิธีนี้จะทำให้เราเดินต่อไปได้เรื่อยๆ” นั่นคือเหตุผลที่เราทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดละคร ทำหนัง ทำซีรีส์ไซ-ไฟ ทุกอย่างล้วนเกิดจากความชอบของเราหมด หรือแม้กระทั่งเราชอบออกแบบ ก็ทำกระเป๋าแฟชั่น คือแบรนด์ YAAAS เพราะเราชอบวาดรูปอยู่แล้ว ซึ่งเหตุผลที่ผมชอบเล่นเกมเพราะชอบตัวการ์ตูน เลยทำให้เราชอบวาดรูปด้วยก็เลยเป็นที่มาที่เราทำสิ่งต่างๆ ตลอดที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปแม้กระทั่งตอนเป็นกอล์ฟ-ไมค์ โลโก้ลิงเราก็เป็นคนออกแบบด้วย สมัยนั้นเสื้อผ้าที่แต่งขึ้นคอนเสิร์ตที่ทัวร์ทั่วประเทศ เราก็ออกแบบ วาดไปให้เขาดูหมดเลย เพียงแต่บางอย่างอาจจะไม่ได้ถูกนำเสนอออกไปว่าเราทำอะไรบ้าง เขาก็จะโฟกัสแค่ความเป็นกอล์ฟไมค์
แต่ก็เหมือนว่ามีช่วงหนึ่งที่พักจากการทำเพลงไป ช่วงนั้นเรียกได้หมดไฟกับการทำเพลงหรือเปล่า
ตอนนั้นหายจากการทำเพลงเป็นปีๆ แล้วเราไม่ได้เต้นจริงจังนานมาก แล้วพอกลับมา feat. กับชิน (ชินวุฒิ อินทรคูสิน) ก็ไม่คิดว่าจะชวนมาให้เต้นเยอะขนาดนี้ เหมือนถูกหลอกล่อมา (หัวเราะ) แต่ก็เหมือนได้มาปัดฝุ่นนะ เพราะตอนแรกคิดว่าจะไหวไหม ช่วงสองวันแรกที่มาซ้อมเต้นรู้สึกท้อ เพราะว่าสนิมยังเกาะอยู่ เลยกลับมาซ้อมที่บ้านด้วย พอซ้อมครั้งหลังๆ ก็เริ่มได้ เริ่มกลับมาแล้ว
คือไม่ได้เฟลอะไร แค่หยุดไปนานเลยต้องเคาะสนิมออกหน่อย
ใช่ครับ แต่เหมือนอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ว่าไฟในการทำอะไรสักอย่างของคนเรา ไม่ได้อยู่อย่างสว่างไสวเสมอไป อาจจะมอดไปนิดหนึ่ง เลยไปหาอย่างอื่นโฟกัสทำไปก่อน พอไฟกลับมาก็ค่อยมาทำ
จึงเป็นช่วงที่โฟกัสกับการทำช่องยูทูบ
ช่วงนั้นเป็นช่วงเก็บความรู้ ทำยูทูบ ศึกษาคริปโต และ NFT
ไม่ใช่แค่การทำเพลงแต่คุณชอบหลายอย่างเกี่ยวกับศิลปะ อยากให้นิยามคำว่า ‘ศิลปิน’ ในมุมมองของตัวเองให้ฟังหน่อย
ผมเคยพูดในคลิปที่ลงไปว่า เวลามีคนเรียกเราว่าดารา เราจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เข้าใจว่าเป็นคำที่เรียกง่ายที่สุด แต่สำหรับเรารู้สึกว่าถ้าใช้คำว่า ‘ศิลปิน’ น่าจะดีกว่า เพราะคำว่า ‘ศิลปิน’ กับ ‘ดารา’ ไม่เหมือนกัน
ศิลปินจะมีความเป็นตัวของตัวเองกว่า และเป็นผู้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ หรืออะไรที่ทำออกมาแล้วเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่เห็นงานเราแล้วมีไฟขึ้นมา เหมือนไปจุดไฟให้อีกคนหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หรือสร้างศิลปินอีกคนหนึ่งขึ้นมา
ส่วน ‘ดารา’ ใครจะเป็นก็ได้ ยิ่งยุคนี้ เราว่าคำนี้ได้มาเร็ว เพราะช่องทางกว้าง แต่ก็ไปเร็วด้วย ถ้าเรามีความเป็นศิลปินในตัว ผมว่ามันจะอยู่ได้นานและยั่งยืนกว่า ถึงแม้ไม่ได้หวือหวาอย่างดาราที่จะมีช่วงพีก แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะอยู่ได้ยาวแค่ไหน บางคนได้มาเร็วและง่ายมากจนรู้สึกว่าฉันไม่ต้องรักษามันไว้ก็ได้ เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามันมีค่า
ล่าสุดกับโปรเจ็กต์ NFT ทราบมาว่าต่อยอดคอนเซ็ปต์มาจากมิวสิกวิดีโอเพลงใหม่ We don’t Stop
เพราะผมเป็นคนที่สนใจเรื่องคริปโตอยู่บ้าง แต่เราก็ไม่ได้อินกับการนั่งดูกราฟตลอดเวลาขนาดนั้น พอเห็น NFT ก็รู้สึกว่าเข้าทางกับเรามากกว่า เพราะมีเรื่องศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วอยู่ในโลกของคริปโตที่เข้าไปสู่เมตาเวิร์ส ซึ่งถูกจริตเรา เลยเข้ามาศึกษาว่าคืออะไร แล้วช่วงนั้นประจวบเหมาะกับช่วงที่เราทำ MV เพลง We don’t Stop ซึ่งตอนนั้นเราดีไซน์ซอมบี้ออกมา เป็นสีฟ้า ชมพู เลยรู้สึกว่าทำไมไม่ใช่ตัวนี้มาใช้เป็น NFT เราในอนาคต ซึ่งตอนนั้นผมก็นั่งวาดไป 3-4 รูป ตั้งใจจะให้ถึง 7-10 รูป แล้วเราจะเอาไปลงขาย แต่มันก็แค่นั้น จนเราไปดูยูทูบแล้วอ่านเรื่อง Generative Art ที่ทำได้เป็นหลายพันตัว จนกระทั่งวันหนึ่งทีมที่มาร่วมทำ NFT กับผม ตอนนั้นเขาโทร.มาเล่าให้ฟังว่าลูกเขาดู MV เรา ซึ่งปกติลูกเขากลัวมาก แต่ดู MV เราแล้วไม่กลัวเลย เพราะซอมบี้เราเป็นสีช็อกกิ้งพิงก์ เขาเลยถามว่าทำไมเราไม่ทำ NFT ล่ะ เราก็บอกว่ากำลังวาดอยู่เลย เราก็เลยคุยกันจนสุดท้ายทำกันจริงจัง
จนเกิดเป็น NFT ‘ZOMBINATIONZ’ ขึ้นมา
ตอนแรกคิดอยู่หลายชื่อมาก จนสุดท้ายมาคิดว่าซอมบี้เรามีการรวมอะไรหลายอย่างที่มาจากความชอบของเรา ไม่ว่าจะเป็นแฟชัน เสื้อผ้า หรือการ์ตูนอนิเมะที่เราชอบ หรือซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นแรงบันดาลใจ แล้วมาปรับให้เข้ากับงานของเรา ก็เลยใช้คำว่า Zombie กับ Combination มารวมกัน แล้วเติมตัว Z เข้าไป
เพราะอะไรถึงชอบซอมบี้
เพราะถึงแม้ซอมบี้จะตายไปแล้วแต่มันก็ยังเดินต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นเกม คือผมชอบฆ่าซอมบี้ (หัวเราะ)
ในคลิปล่าสุดที่คุณเล่าถึงโปรเจกต์ NFT มีพูดประโยคหนึ่งว่า “ทำไมความตายต้องมืดมน” เลยอยากถามต่อว่าส่วนตัวมอง ‘ความตาย’ ว่าอย่างไร
จริงๆ แล้ว ตอนที่ผมจะวาดซอมบี้ เราพูดประโยคนี้กับตัวเองขึ้นมาว่า “ทุกครั้งที่ในหนังมีคนตาย ทุกอย่างจะต้องดับสนิท มืดมิด แล้วชีวิตหลังความตายในหนังมักจะมืดไปหมด ทำไมไม่คิดบ้างว่าวิญญาณเราอาจจะล่องลอยไปสู่กาแลกซีที่เป็นสีม่วงๆ ชมพูๆ อาจจะไปรวมกับทางช้างเผือก หรืออะไรที่เป็นสีสันหรือเปล่า” ดังนั้น ทำไมเราต้องติดอยู่ในกรอบเดิมว่าทำไมซอมบี้ต้องสีเทาๆ ซีดๆ เท่านั้น เลยทำให้ซอมบี้ของเราใส่ชุดเท่ๆ กวนตีนๆ พูดง่ายๆ คือคิดให้ออกไปจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ ไปเลย
การทำโปรเจกต์ NFT ของคุณ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ไหมว่าอยากทำเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร
เราตั้งเป้าว่าจะไม่ใช่ศิลปินที่มาเพื่อเอาเงิน กอบโกย แล้วก็ออกไป เพราะตอนทีมงานของผมทำงานกัน เขาถามผมเลยว่าจริงจังไหม ผมก็บอกเลยว่า “พี่จริงจัง พี่เป็นคนที่อยู่ในสปอตไลต์อยู่แล้ว ถ้าพี่ทำอย่างนั้นถือว่าฆ่าตัวเองในชีวิตของการเป็นศิลปินเลยนะ” เพราะว่าถ้ามาเพื่อกอบโกยเสร็จแล้วออกไป มันก็สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
ที่เราทำเพราะรู้สึกว่าอยากสร้างโปรเจกต์ที่สามารถช่วยศิลปินที่มีปัญหา เช่น หลายคนที่เขามีฝีมือ แต่ทำไมเขายังขายไม่ได้ เลยอยากให้คอมมูนิตี้ของเรามีเป้าหมายคือ การช่วยศิลปินที่มีปัญหา เราก็มาดูกันว่าถ้าศิลปินคนนั้นมีแพสชันเดียวกับเรา แล้วทีมเราสามารถให้ความรู้ได้ ส่วนเรามีมีเดียที่สามารถช่วยได้ ก็จะกลายเป็น artist curator ที่ส่งเสริมศิลปินอีกที ก็กลับมาที่คำถามว่า ทำไมน้องๆ ที่เข้ามาแล้วท้อไปจะทำอย่างไร คือต้องมีทีมที่สนับสนุนที่ดีด้วย แล้วเราก็ต้องมีความรู้ ขวนขายเองด้วยว่าจะทำอย่างไรให้งานเราที่สวยจริงมีโอกาสไปสู่สายตาคนที่ชอบงานของเรา ก็ต้องมีคนที่มีความรู้มาช่วย
กลับมาที่การทำช่องยูทูบ ค่อนข้างไปได้ดีเลย ในฐานะคนผลิตคอนเทนต์ได้มุมมองใหม่ๆ อะไรจากตรงนี้บ้าง
ก็เป็นเรื่องของการสร้างคอนเทนต์เลย เพราะเมื่อก่อนเราเป็นนักแสดง นักร้อง แต่พอมาทำยูทูบก็จะมีเรื่องของจะทำคอนเทนต์อะไรที่ทำให้คนดูรู้สึกสนุก แล้วคนดูที่ติดตามช่องเราติดตามเพราะอะไร ก็ต้องคอยอ่านคอมเมนต์ว่าแฟนๆ ช่องเราพูดถึงอะไร เราก็จะเห็นว่า “ดูแล้วยิ้มได้ ดูแล้วมีความสุข ได้พลังบวก”
ซึ่งนั่นก็แสดงว่าคอนเทนต์เราทำให้คนที่มาดูคลายเครียดได้ ดังนั้น เราก็ต้องสร้างคอนเทนต์ที่ตอบสนองความรู้สึกนั้นของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างคอนเทนต์ที่ตัวเองชอบด้วย ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนดูน้อยกว่าแต่ก็ยังทำมันเพราะเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่มีคนที่ชอบเหมือนกัน เขาก็จะดึงคนอื่นๆ ที่ชอบเหมือนกันเข้ามาอีก เหมือนการสร้างฐานแฟนใหม่ๆ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เราชอบ ไม่ได้สร้างมาเพื่อหลอกล่อให้ติดตามเพิ่มขึ้น เราไม่อยากทำแบบนั้น เราอยากทำคอนเทนต์เพื่อตอบสนองคนดูด้วย แล้วเราก็ไม่อึดอัดที่ต้องทำมันด้วย เพราะกอล์ฟรู้สึกว่าการทำแบบนี้ทำให้เราทำได้ยาวกว่าการที่เรามานั่งทำในสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อตอบสนองคนอื่น
แสดงว่ายอด Subscribe ไม่ได้สำคัญที่สุดในการทำยูทูบของคุณ
ถ้าพูดตามตรง ทุกคนก็อยากได้ เราก็อยากได้ แต่เราอยากได้ยอด Subscribe จากคนที่ชอบในสิ่งที่เราทำจริงๆ ไม่ใช่กด Subscribe ทิ้งไว้ แล้วก็ไม่ดูเลย เราอยากให้คอนเทนต์เราเป็นตัวเรา แล้วให้คนที่เข้ามาชอบในสิ่งที่เราทำมากกว่าที่เราจะทำอะไรบางอย่างเพื่อความต้องการของเขาฝ่ายเดียว
เป็นคนที่ทำอะไรหลายอย่างอยู่เสมอ อยากรู้ว่ามองตัวเองในอนาคตไว้อย่างไร
ตอนทำเพลงกอล์ฟ-ไมค์เคยเจอคำถามนี้นะ แล้ววันหนึ่งเราก็ไม่คิดว่าวันนี้ฉันเป็นยูทูเบอร์แล้ว ดังนั้น คำตอบคือไม่กล้ามองเลย ไม่กล้าด่วนสรุปว่าอีก 5 หรือ 10 ปีเราจะเป็นอย่างไร แต่คนน่าจะซึมซับและเห็นผมในมุมที่เป็นศิลปินมากขึ้นในเชิงการทำงานศิลปะ เพราะก่อนหน้านี้คนอาจไม่ได้เห็นขนาดนั้น แต่ NFT เป็นสิ่งที่ทำให้คนได้เห็นมากขึ้น
ภาพ ‘ความสุข’ ของคุณในวันนี้คืออะไร
พอมีโควิด-19 ทำให้เรารู้เลยว่าแค่ได้ออกไปข้างนอกแล้วใช้ชีวิต แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว เพราะว่าช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก เรากลัวไม่กล้าออกไปไหน มันเครียดมากเลย รู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ ชีวิตหดหู่มาก พอได้ออกไปไหนบ้างมันทำให้เรารู้สึก appreciate มากๆ กับการได้ออกไปข้างนอก ได้เห็นบรรยากาศข้างนอก ได้เห็นคนแค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว (ยิ้ม)
เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง