จิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงด้วยการทำเพลง แม้จะล้มร้อยครั้งก็ยังสุขร้อยครั้งของ เป้ อารักษ์

Passion คือ ความหลงใหล 

        หลายคนที่มีแพสชันมักหลงใหลในอะไรสักอย่าง หรือหลงใหลที่จะทำบางอย่างโดยไม่สามารถหยุดได้จนกว่าความหลงใหลนั้นจะหมดไป กับบางคนแพสชันกลายเป็นจิตวิญญาณที่สถิตอยู่ข้างใน เป็นเหตุผลหนึ่งของความหมายในการมีชีวิตอยู่ ต่อให้สำเร็จบ้าง หรือไม่สำเร็จบ้าง แต่หากพลังงานนั้นยังก่อให้เกิดความสุข เขาก็ยินดีที่จะทำมันต่อไป 

        หากมอง ‘เป้’ – อารักษ์ อมรศุภศิริ ในฐานะศิลปินและนักแต่งเพลง ที่ทำเพลงออกมามากมาย แต่บทเพลงเหล่านั้นก็ยังไม่ถูกเรียกว่าเป็นเพลงแมส หรือเพลงที่เข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้าง ทว่าเขาก็เป็นคนเช่นนี้… คนที่เต็มไปด้วยแพสชัน ไม่ยอมแพ้ และคาดหวังว่าจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ แม้ตลอดการทำเพลงที่ผ่านมาจะโดนวิจารณ์ โดนคำด่า คำบูลลี่มากมายแค่ไหน แต่เขาก็บอกกับเราผ่านซิงเกิ้ลใหม่ที่เพิ่งปล่อยออกมาไว้ว่า…

        “เอาคำด่าของมึงมาทำ คำด่าของคนไม่ฟัง คนด่าไม่ใช่คนทำ แต่กูจะทำๆๆๆ มึงเชิญด่ากูเอามาทำ กูยังมีฝัน กูยังทำมัน เพราะกูเคยดัง กูยังมีตังค์ กูยังดันทุรัง จะอีกกี่ครั้ง”

        …เขาก็จะยังทำต่อไปจนกว่าจะดังอีกครั้ง…

        เรานัดกันที่ค่ายเพลง What The Duck ขณะที่ เป้ อารักษ์ มาถึง ท้องฟ้าที่อึมครึมอยู่ก็ปล่อยเม็ดฝนลงมาทันทีอากาศที่ร้อนระอุยามบ่ายกลับเย็นสบายไปด้วยกลิ่นอายของบรรยากาศวันฝนพรำ แล้วบทสนทนาก็เริ่มขึ้น

พัฒนาการความเป็นศิลปินของ เป้ อารักษ์ ตั้งแต่ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวอัลบั้ม ‘ออโต้อีโรติก’ จนมาถึงเพลงล่าสุด ‘เชิญด่า’ เป็นอย่างไรบ้าง

        อัลบั้มสองชุดแรกเป็นเพลงแนวที่พูดถึงสังคมค่อนข้างมาก ตอนนั้นคิดว่า ผมเป็นตัวแทนของคนในสังคมที่เขาไม่ได้ออกมาพูด หรือคนตัวเล็กๆ ที่ส่งเสียงดังไม่ถึง แต่พอออกอัลบั้มชุดสอง กระแสของเฟซบุ๊กเริ่มมาแรง เราก็เลยไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้มากนัก เพราะมันมีคนที่เขาอึดอัด เขาพูดแทนในแพลตฟอร์มของเขาแล้ว เลยรู้สึกว่างั้นเราแต่งเพลงที่คนฟังแล้วชอบ เพราะมีเนื้อหาอะไรที่โดนๆ บางอย่างแทนดีกว่า 

        ส่วนดนตรีจนถึงครึ่งชุดสามผมยังติดความเป็นโฟล์ก คันทรี จนมีผู้ชายคนหนึ่งคือพี่ฮิวโก้ (จุลจักร จักรพงษ์) เดินมาแนะนำให้ว่า “ถ้าจะทำดนตรี อยากทำแบบไหนก็ทำไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าจะเล่นสดแบบไหน หรือถ้าที่แต่งออกมามันไม่เป็นโฟล์กก็ไม่ต้องไปพยายามทำให้มันเป็นโฟล์ก” คำพูดนั้นเลยจุดประกายให้ผมทำดนตรีแบบอะไรก็ได้ 

        ดังนั้น ตอนทำอัลบั้ม ‘เหล็ก กับ ไม้’ จะมีครึ่งหนึ่งเป็นดนตรีไฟฟ้า ร็อก เป็นสไตล์แบนด์แบบสมัยก่อน หลังๆ มาก็จะเป็น Simple Music เป็นฮิปฮอปนิดหนึ่ง เรียกว่า “เติบโตมาในแบบที่ตามใจตัวเอง สนุกแบบไหนก็ทำแบบนั้น” นั่นคือที่เราคิดว่าควรจะเป็นมากที่สุดของการเป็นศิลปิน คือการไม่มีอะไรมาปิดกั้น

แล้วทำไมมาวันนี้ความภูมิใจในวันนั้นกลับกลายเป็นไม่ชอบไปเสียแล้ว

        เพราะว่าผมออกอัลบั้มเร็วไปหน่อย ถ้าออกมา ณ ปัจจุบันนี้ผมน่าจะทำได้ดีกว่าภายใต้เนื้อหาแบบนั้น แต่จะว่าไปปัจจุบันนี้ผมก็แต่งเพลงแบบนั้นไม่ได้แล้วเหมือนกันนะ แล้วตอนนั้นการร้องของผมก็ไม่ได้เรื่องจริงๆ เราก็ต้องยอมรับ เราโดนด่าก็เข้าใจได้ แต่ก็พยายามแก้ตัวต่อไป 

คิดว่าสิ่งนี้ยังเป็นจุดอ่อนในการทำเพลงของคุณในวันนี้อยู่หรือเปล่า 

        ยอมรับว่าผมไม่ใช่นักร้องที่เก่งมากๆ แต่ก็พยายามพัฒนาไปสู่จุดนั้นอยู่ครับ

ทราบมาว่าตอนปล่อยเพลง ‘มาเลเซีย’ ออกมาโดนต่อว่าหนักมาก ช่วงนั้นจมดิ่งหรือท้อบ้างไหม 

        ความดิ่งไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเรายังมีงานทำตลอด แล้วเราก็รู้อยู่แก่ใจว่าเรากำลังพยายามจะทำอะไรหลายๆ อย่างให้ดีขึ้น เราพยายามตลอด ซึ่งผมก็ยังโอเคกับเพลง มาเลเซีย นะ ยังร้องได้ แต่จะขอให้ร้องแต่เพลง มาเลเซีย อย่างเดียว เพราะเป็นเพลงเดียวที่หลายๆ คนรู้จัก ผมคงไม่ไหว เพราะความจริงผมยังมีอีก 60 เพลงที่อยากร้องอยู่เช่นกัน 

        เพลงที่คนรู้จักเยอะกลับเป็นเพลงที่มาจากคำวิจารณ์ คุณเคยวิเคราะห์กับตัวเองบ้างไหมว่าทำไมเพลงอื่นๆ ถึงไม่แมสเสียที หรือเพราะถูกฉาบด้วยภาพลักษณ์การเป็นนักแสดง พระเอกหน้าตาดี เลยทำให้คนมองข้ามสิ่งที่เราพยายามจะพิสูจน์ไป

        จริงๆ อันนั้นควรจะเป็นประโยชน์ด้วยนะ…. ซึ่งอาจจะเป็นผลจากตอนที่โดนวิจารณ์ตั้งแต่ตอนแรก แล้วคนก็ไม่กดเข้าไปฟังเพลงเป้อีกแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทำให้คนกดเข้าไปฟังเพลงเราอีกครั้ง

        แต่ผมคิดว่าผมทำเพลงแมสตลอดนะ (หัวเราะ) ความจริงผมว่าเพลง ‘สมศรี’ ก็แมสนะ ตอนผมแต่งได้ผมดีใจมาก ฉันแต่งเพลงแมสแล้ว อย่างเพลง ‘ไก่’ เราก็คิดว่าแมสแน่นอน ดังแน่ ปรากฏว่าไม่ใช่ หรือเป็นเพราะว่าเรายังร้องแบบนี้อยู่หรือเปล่า 

        ซึ่งช่วงหลังก็ดีขึ้น ผมเคยมีทริกในการทำเพลงไปฟีเจอริงกับธามไท (ธามไท แพลงศิลป์) ในอัลบั้มที่แล้ว เราไม่ใส่ชื่อคนร้อง ก็มีคนมาถามว่าทำไมเพลงนี้เราไม่ใส่ชื่อ คือเราแค่อยากลองดูว่าถ้าไม่ใส่ชื่อแล้วคนจะติดตามมากขึ้นมั้ย ซึ่งก็เท่าๆ เดิม แต่ก็อาจจะมีมากขึ้นนิดหนึ่ง

 

มีเพลงไหนอีกไหมที่คิดว่าต้องแมสแน่ๆ แต่สุดท้ายก็ยังไม่แมสอยู่ดี 

        ผมเคยคุยกับพี่บูม (ถิรรัฐ ภู่ม่วง) แห่งคลื่นวิทยุ Cat Radio เขาบอกตอนที่เขาฟังเพลง รอ ครั้งแรก “มันคงจะดีถ้าเธอน่ะเป็นดาราเพราะฉันจะมองหน้าเธอในจอ” เพลงนี้ต้องดังแน่เลย แต่ก็ออกมาเงียบๆ เหมือนเดิม ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม เพราะไม่มีสูตรวิเคราะห์ตายตัวหรอก ถ้าเราวิเคราะห์ได้คงรวยกันหมดแล้ว ค่ายเพลงคงไม่มีศิลปินเจ๊ง แต่ก็มีทางแก้คือทำไปเรื่อยๆ ผมก็กำลังใช้ทางนั้นอยู่ 

มาถึงเพลง ‘เชิญด่า’ เพราะโดนมาเยอะหรือเปล่า เลยจุดประกายให้ทำเพลงนี้ออกมา

        เกิดจากผมทำอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายที่ทำคอมพิวเตอร์มิวสิก เพราะเราชอบ Hip Hop R&B เราทำมาตลอด ไม่ว่าจะเพลง ‘ไม่บอก’ ‘สอนใคร’ หรือแม้แต่ ‘คนสวย’ แต่เรายังขาดองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นฮิปฮอป  คือการอวดรวย (flex)

        เราอยากอวดรวย ฉันรวย มีผู้หญิงที่เคยเป็นแฟนของเพื่อนมาเป็นแฟน มันคือบริบทในวัฒนธรรม Hip Hop เราก็เลยอยากจะ flex แบบนั้นบ้าง แต่พอทำไปทำมา ดันกลายเป็นเอาเรื่องจริงมาพูดเล่น กลายเป็นการไปเอาเรื่องจริงมาล้อเล่น “ฉันมีครบทั้งบ้าน รถ และนาฬิกา พวงมาลัยกูไม่สนเพราะกูไม่ต้องไปนั่งหน้า” เหมือนกับเอาตัวเองมาล้ออีกทีหนึ่ง 

        แล้วก็มีความอึดอัดบางอย่าง คนชอบถามผมว่า “หายไปไหน ยังทำเพลงอยู่ไหม”… เราไม่ได้เศร้านะ แต่เหนื่อย ผมยังทำอัลบั้ม ออกเพลงทุกสองปี แต่คนก็ยังมาถามว่า “ยังทำอยู่ไหม?” แล้วเพลงสุดท้ายที่ฟังคืออะไร “มาเลเซีย” Oh my god! I have 60 songs man! มันก็เลยกลายเป็นเอาเรื่องนี้มาเล่นดีกว่า เวลาที่คนชอบด่าเราจากเพลงเดิมๆ เราก็เอามาล้อว่า “ด่าไปเลย ไม่ทำอะไรเพราะกูยังมีเงินใช้” อันนี้คือประโยคหลักในความเป็นฮิปฮอป

 

จากการทำเพลง เชิญด่า ที่หยิบเอาคำด่า คำวิจารณ์มาทำเพลง เลยทำให้สงสัยว่าคนเราจำเป็นต้องฟังทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิตขนาดนั้นไหม 

        ผมฟังนะ ฟังแล้วเอามาแก้ด้วย คอมเมนต์ผมก็อ่านหมด ทุกคอมเมนต์ในยูทูบ ผมแค่ขี้เก๊กไม่กดไลก์เฉยๆ แต่ผมอ่านหมด วันแรกไม่ต้องทำอะไรเลย เข้ายูทูบนั่งอ่านที่คนมาเมนต์ ยิ่งตลกๆ ผมยิ่งชอบ ด่ามันๆ ยิ่งชอบ อย่างน้อยเขาก็ฟังก่อนแล้วเขาจะด่าอะไรผมก็ตามสบาย เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา เราเจอมาเยอะจนมีภูมิต้านทานแล้ว 

        อย่างเพลง เชิญด่า มาจากคำวิจารณ์ เป็นคำวิจารณ์ของเว็บหนึ่งชื่อ ‘สะเดา’ (sadao) เขาเขียนชมผมทุกอัลบั้ม จนอัลบั้ม BIG ล่าสุดเขาก็ชม และบอกว่าอัลบั้มที่พูดถึงเพลงรักแต่ไม่รู้จะมากเกินไปรึเปล่า เราก็คิด “เออว่ะ ช่วงหลังเราแต่งแต่เพลงรักนี่หว่า” จะเป็นรักแบบกวนตีน หรือกวนประสาทยังไงก็ตาม มันก็ยังเป็นเพลงรัก พอได้อ่านแบบนี้ ก็คิดว่า ฉันจะแต่งแต่เพลงรักไม่ได้แล้ว ต้องหาอะไรใหม่ๆ ที่มันทำให้คนว้าว จึงออกมาเป็นเพลง เชิญด่า

ออกเพลงมาทั้งหมด 60 กว่าเพลง พร้อมทั้งกำลังเข้าสู่อัลบั้มที่ 6 แต่ก็ยังไม่แมส มีท้อแล้วอยากเลิกทำบ้างไหม

        ทำมาก็ไม่ดัง แถมยังจนขึ้นด้วย (หัวเราะ) ของที่ผมแบกไปทุกโชว์ก็ครึ่งล้าน ของที่ซื้อมาตั้งนานแล้วก็ยังไม่คืนทุน เพื่อนถามว่า “เป้ทำธุรกิจอะไรนอกจากนักแสดง?” อ๋อ ผมมีวง “แล้วเป็นไง?” สุดท้ายติดตัวแดง 

        แต่มันก็สนุก ผมชอบ ดนตรีเหมือนเป็นที่เก็บจิตวิญญาณของผม เคยมีคนพูดกับผมว่า เวลาที่เราไปเล่นหนังเล่นละคร เราไปเป็นตัวละครตัวอื่น เราก็สนุกกับมันได้เพราะเรารู้ว่าตัวจริงเราเป็นอะไร ถ้าวันไหนที่เราไม่รู้ว่าตัวจริงเราเป็นแบบไหนเราจะเล่นหนังเล่นละครลำบากแล้ว เราจะกลับมาใช้ชีวิตปกติไม่ได้ แต่พอเรารู้ว่าตัวเองจริงๆ เป็นอะไรจากการทำดนตรีก็เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม ตัวจริงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เราพูดในเพลง แต่หมายถึงเราเป็นคนชอบฟังเพลง ชอบทำเพลง อันนี้คือเราตัวจริง 

ต่อให้ทำแล้วไม่ดังก็ยังมีความสุขในการทำเพลงต่อไป

        ผมก็มีเป้าหมายของผมว่าอยากจะกลับไปอยู่ในจุดที่ Slur เคยอยู่ เพราะเราเคยผ่านช่วงเวลานั้นมา ช่วงเวลาที่สนุก มีทัวร์เดือนละสิบกว่างาน ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ให้คนดูสนุกตามเหมือนตอนที่ทำกับ Slur นั่นคือเป้าหมายที่ผ่านมาแล้วของผม เราเคยไปมาแล้ว เราก็อยากจะกลับไปอีกรอบหนึ่ง แต่แค่ไม่รู้ว่าจะกลับไปได้หรือเปล่า แต่คิดว่าถ้าวันนั้นมาถึงได้ก็คงสะใจดี 

        แต่ความสุขในการทำเพลงคือ การที่ได้ทำเพลงใหม่ๆ เจ๋งๆ ออกมา ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันทำให้การทัวร์คอนเสิร์ตเป็นเรื่องโกหกไปแล้ว มันมีอยู่จริงหรือเปล่า ผมก็เลยมีความสุขแค่เวลาที่มีเพลงออกมา ช่วงหลังๆ ต้องไปกำกับ MV เพลงตัวเองด้วย พอ MV ออกมาแล้วชอบ เราก็มีความสุข เพราะเราไม่ได้ทำเพลงหาเงินอย่างเดียว

ในยุคที่ศิลปินต่างนิยมคัฟเวอร์เพลงกัน ทำไมคุณไม่ลองทำบ้างเผื่อจะมีฐานแฟนคลับกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น

        ผมเคยไปดูวงที่เขามีเพลงฮิตอยู่สองสามเพลง อีกสิบเพลงที่เหลือเขาคัฟเวอร์หมดเลย บ้าแล้ว ผมไม่ต้องดูเขาก็ได้ สำหรับผมรู้สึกว่าเวลาที่เราไปดูคอนเสิร์ต เราก็อยากดูศิลปินเล่นเพลงตัวเอง เราคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น หรือทำคัฟเวอร์เวอร์ชันตัวเองไปเลย ยังน่านับถือกว่า 

        อีกอย่างเพราะเพลงผมเยอะ แล้วเป็นความนอยด์ส่วนตัวด้วยคือ ผมร้องเพลงไม่เก่ง ยิ่งไปร้องเพลงคนอื่นมันก็จะยิ่งทำให้เพลงเขาฟังดูแย่ลง ถ้าผมไปเล่นเพลงคนอื่นอาจเสียเวลาเปล่า เพราะมีคนที่เล่นได้เพราะกว่าผมเยอะ 

อีกเทรนด์หนึ่งที่เห็นคือ เดี๋ยวนี้มักจะเห็นศิลปินสลับไปเขียนเพลงให้กันเยอะ หลายเพลงก็ฮิต คุณอยากลองทำแบบนั้นดูบ้างไหม

        หลายคนก็มาบอกว่าให้เขาช่วยเขียนไหม ผมคิดว่าถ้าช่วยเขียนไม่ต้องทำก็ได้ หมายถึงว่า ผมมีเพลงเยอะมากที่ยังไม่ได้ออก ถ้าทำเพลงตัวเองไม่หมดแล้วจะต้องให้คนอื่นมาเขียนเพลงให้อาจจะยังไม่ต้อง แต่ให้คนอื่นทำดนตรีให้ ผมเริ่มแล้ว ซึ่งมีความสุขดี เลยเป็นเหตุผลที่ผมเข้าใจระบบของโปรดิวเซอร์ว่าเป็นอย่างไรจากที่สมัยก่อนเราทำเองมาตลอด แต่ถ้าวันไหนที่แต่งเองไม่ได้แล้ว ผมบอกเลยว่า ผมจะไม่ทำเพลงแล้ว ถ้าแต่งไม่ได้ก็คือเลิก

แม้ว่าในด้านการทำเพลง เป้ อารักษ์ ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้าพูดถึงในเรื่องการแสดง คุณได้พิสูจน์ฝีมือมาแล้วหลายบทบาท การรับงานแสดงสักเรื่อง คุณตัดสินใจจากองค์ประกอบใดบ้าง 

        เยอะเลยครับ ผมอยากทำให้การแสดงเป็นอาชีพ และในการที่จะเป็นอาชีพได้ต้องมีความต่อเนื่อง เพราะเราก็เป็นคนไฮเปอร์ ถ้าเราว่าง ไม่มีงานประจำ ไม่มีถ่ายละคร เราจะเริ่มฟุ้งซ่าน เริ่มมีสิ่งแย่ๆ เข้ามาในหัวสมอง หรือทำเพลงจนไม่ได้ออกไปไหน หรือจะทำอะไรที่เสียเวลามากๆ เช่น การไปเล่นเซิร์ฟตลอดทั้งอาทิตย์ ก็เลยรู้สึกว่าการที่มีงานประจำมันเข้ากับเรา ผมเลยเลือกเล่นละครที่ทำให้เราเลี้ยงชีพได้ตลอด 

        ช่วงแรกเลย เราจะเลือกจากที่เราไม่เคยเล่น บทที่ท้าทายไม่เหมือนเรา อีกแบบคือเลือกที่องค์ประกอบทั้งหมดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะออกมาดี ละครเรื่องนี้น่าจะออกมาดี เพราะองค์ประกอบมันดี เช่น บทบาท ผู้กำกับ นักแสดง โปรดักชัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ทำไมผมถึงรับละคร ‘เพลงบินใบงิ้ว’ เพราะผมไม่เคยข้ามไปสู่วัยที่เป็นสามีทะเลาะกับภรรยา เช่นเดียวกันก็มีเรื่อง ‘บางกอกเนรมิต’ ที่ผมต้องรับบทเป็นคุณหลวงในยุคเก่า ซึ่งผมก็คิดมาตลอดว่าผมเล่นไม่ได้ เห็นว่าเขาชวนผมก็เลยลอง ผลออกมาก็ไม่ได้จริงๆ ในขณะเดียวกันเรื่อง ‘ครูมะ ห้อง ป.3 ก.’ เราอ่านบทแล้วเห็นโรงเรียนทางเลือกของยุคนั้น ซึ่งเรารู้ว่าถ้าทำออกไปให้คนได้ดู คนน่าจะมีความสุข ใจชื้นมากขึ้นในระบบการศึกษา ผมก็เลยเล่น 

แล้วมีไหมที่ถ้าให้กลับไปเล่นบทเดิมใหม่ตอนนี้ จะตีความตัวละครนั้นได้ดีกว่าเดิมจากตอนที่เคยเล่นไว้

        มีหลายๆ เรื่องเลย อย่าง ‘เฉือน’ ถ้ากลับไปเล่นใหม่ผมทำได้ดีกว่าเดิมแน่ ‘เธอกับเขาและรักของเรา’ กลับไปเล่นผมก็ทำได้ดีกว่าเดิมเหมือนกัน ตอนนั้นผมเด็กเกิน ไม่ได้มีความก้าวร้าวในชีวิตขนาดนั้น แค่เป็นเด็กเกเรคนหนึ่งแต่ไม่ได้เก๋า แต่ว่าบทสองบทนั้นต้องการความเก๋า ความนิ่ง แม้แต่การขยับตัว ท่าทางการเดิน เดินแบบไหนที่ทำดูนิ่ง ซึ่งวันนั้นผมทำไม่ได้ น่าจะเป็นสองเรื่องหลักที่คิดว่าผมกลับไปทำได้ดีและเท่กว่าเดิมแน่นอน ส่วนเรื่องที่คิดว่าถ้ากลับไปคงทำไม่ได้เท่านั้นแล้วคือ ‘สุดเขตสเลดเป็ด’ กลับไปจะไม่ตลกแบบนั้นแล้ว ตอนนั้นมันตั้งใจกวนตีนมากๆ ตั้งใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าจะยืนแบบนี้ (หัวเราะ) 

การเป็นศิลปิน นักแต่งเพลง หรือแม้แต่นักแสดง ทำให้คุณเข้าใจและรับมือกับความสัมพันธ์ในชีวิตได้ดีขึ้นไหม

        พังหมดครับ ไม่มีความสัมพันธ์ไหนเหมือนกัน จากประสบการณ์ของผม ไม่มีใครเหมือนกันเลย และไม่สามารถใช้สูตรตายตัวได้ ดังนั้น บทบาทไม่ได้ให้อะไรขนาดนั้น เพราะจะเอามาปรับใช้กับตัวเองไม่ได้ แต่ให้ทักษะบางอย่างมากกว่า เช่น ยิงปืน ยูโด ปีนเขา 

        แต่ความมันของชีวิตจริงคือ บางทีหนักกว่าในหนัง ใครจะไปคิดว่าคนในผ้าเหลืองจะไปเขื่อน​ (หัวเราะ) คุณเขียนบทหนังยังคิดไม่ได้ ถามว่าใช้ได้ไหมในระบบเบสิก ก็ใช้ได้แค่ในตอนเด็ก ถ้ายุคเราเจนฯ วาย คือโตขึ้นแต่งงาน คบกับคนคนเดียว มีลูก มีบ้าน 

        พอโตขึ้นมา เรารู้ เราเห็นภาพ เรารู้ว่านั่นไม่จริงทั้งหมด ไม่มีอะไรเหมาะที่สุด หรือเพอร์เฟ็กต์ที่สุด ทุกคนชอบไม่เหมือนกัน เราอาจจะเป็นแฟนกับคนที่มีลูกแล้วแล้วมีความสุขก็ได้ หรือแฟนเราจะทำอาชีพอะไรก็ได้ หรือเราจะทำแบบไหนก็ได้ บางคนเขามีข้อตกลงหลายแบบ จะคบกันกี่คน คลับฟรายเดย์ อาจจะใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด เพราะอาจจะมาจากเรื่องจริงและเติมแต่งเข้าไป แต่มันก็ไม่มีใครกล้าเขียนพล็อตแบบนั้นในหนัง

แล้วทุกวันนี้การใช้ชีวิตของ เป้ อารักษ์ ในวัย 37 เป็นอย่างไร

        ทั้งง่ายและยากขึ้นครับ ผมก็ประนีประนอมประมาณหนึ่ง แต่จะมีบางจุดที่ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ส่วนเรื่องความเข้าใจน่าจะมากขึ้น คือเข้าใจว่าคนไหนเป็นแบบไหน คนไหนต้องการอะไรในการร่วมงาน ประนีประนอมกับเรื่องพวกนั้นมากกว่า เข้าใจระบบนิเวศของการทำงานมากขึ้น

        แต่ชีวิตส่วนตัวก็ง่ายขึ้น ผมใช้ชีวิตเงียบๆ ไม่ต้องออกมาบอกสื่อเรื่องส่วนตัวมากนัก เหมือนทุกอย่างเข้าระบบไปหมด แล้วเป็นระบบที่โอเค เรามีค่ายเพลง เรามีผู้จัดการ ครอบครัวเราก็ยังโอเค ทุกอย่างก็เลยง่ายขึ้น

ถ้าหากอัลบั้มนี้ได้เป็นซาวด์แทร็กประกอบชีวิตใครสักคนหนึ่ง คนคนนั้นจะเป็นคนแบบไหน 

        ถ้าไม่รวมเพลง เชิญด่า นะ เป็นคนเจ้าชู้ เป็นผู้ชายแบดๆ อวดรวย มีเพลงหนึ่งชื่อ ‘เบาะหลัง’ ร้องว่า “อยากจะชวนเธอไปเบาะหลังของรถฉันที่หน้าสตูดิโอ” อะไรประมาณนี้ คือขี้เก๊ก อวดรวย (ยิ้ม)


เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ