“ผมตันกับการทำ The Yers เพราะอยู่กับมันมา 10 ปี จนผมไม่รู้ว่าแรงบันดาลใจของ The Yers คืออะไรแล้ว เราหาทางไปไม่เจอ”
คำพูดของ ‘อู๋’ – ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (นักร้องนำ) ทำให้เราตระหนักอีกครั้งถึงสัจธรรมหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าคนเราจะเป็นใคร หรือทำอาชีพอะไร เราจะมีช่วงเวลาที่เจอ ‘ทางตัน’ อยู่เสมอ แม้แต่วงดนตรีดังอย่าง The Yers ที่ทำเพลงมากว่า 10 ปี พวกเขาก็ยังเจอกับทางตันอยู่ดี
คำถามคือ แล้วเราจะหาทางไปต่อได้อย่างไร?
สำหรับอู๋คือการลองทำอัลบั้มเดี่ยว “พอทำอัลบั้มเดี่ยวเหมือนได้บำบัดและรีเฟรชตัวเอง รวมถึงการได้กลับมาทำวงอีกครั้งหนึ่ง” ส่วนสมาชิกในวงคนอื่น ‘โบ๊ท’ – นิธิศ วารายานนท์ (เบส) และ ‘บูม’ – ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง) ก็ใช้เวลานั้นทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ก้าวผ่านปัญหาบางอย่างในชีวิต หรือค้นหาความสนใจใหม่อย่าง ‘ต่อ’ – พนิต มนทการติวงค์ (กีตาร์) ที่สนใจ NFT จนได้คอลเลกชันของวงออกมา “เราน่าจะเป็นวงแรกในประเทศที่ทำ NFT ทำด้วยตัวเอง แล้วก็เจ๊งด้วยตัวเอง” อู๋กล่าว จากนั้นสมาชิกทุกคนต่างก็หัวเราะกันออกมา
กลับมาตอบคำถามที่ว่า แล้วเราจะหาทางไปต่อได้อย่างไร? คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ ที่ทุกคนต่างตอบเหมือนกันคือ “ไปทำอย่างอื่น” เหมือนที่อู๋หันไปทำอัลบั้มเดี่ยว ได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองหลายอย่างออกมา ได้ตกผลึกสิ่งใหม่จนออกมาเป็นอัลบั้มที่ชื่อว่า PRAY
อัลบั้ม PRAY ที่มาจากการ PRAY
อู๋: “อย่างที่บอกว่าตอนนั้นตันกับการทำ The Yers นอกจากทำอัลบั้มเดี่ยวที่เหมือนได้บำบัดและรีเฟรชตัวเอง รวมถึงการกลับมาทำวง ผมก็ขอพร ขอจนกลายเป็นว่าเพลงทั้งหมดจากอัลบั้มนี้ที่ได้มาจากการขอพร”
เขาเสริมว่าก่อนหน้านี้ตั้งใจใช้ชื่ออัลบั้มว่า ‘MYTH’ และมีความตั้งใจจะซ่อนชื่อของอัลบั้มไว้ในเอ็มวีของทั้ง 4 เพลงที่ปล่อยออกมา แต่หลังจากอู๋ได้ใช้เวลาค้นหาความหมายของคำว่า MYTH อย่างละเอียด พบว่าคำนี้มีนัยยะไปในทาง Negative คือเป็นตำนานที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องราวในอัลบั้มนี้ที่อู๋เล่าถึงการค้นพบความจริงและความเชื่อของเขา สุดท้ายจึงเปลี่ยนชื่ออัลบั้มว่า PRAY ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สอง
การสุมหัวเขียนเพลง งานกลุ่มที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โบ๊ท: “ประจวบเหมาะกับที่เป็นช่วงโควิดแล้วล็อกดาวน์พอดี เราจึงได้มารวมตัวกันแบบจริงจังแทบทุกวัน มาคุย มาเคลียร์เดโม่ เคลียร์รายละเอียดดนตรีของแต่ละคน ทำให้อัลบั้มนี้ถูกประกอบร่างให้สมบูรณ์แบบเพราะช่วงนั้นเราอยู่ด้วยกันตลอด”
ต่อ: “ปกติสมาชิกแต่ละคนจะเสนอไอเดียกันมา เริ่มในภาคดนตรีของตัวเอง แล้วก็เอามารวมกันว่าเพลงไหนไปต่อได้ เหมือนที่เคยทำมาในอัลบั้มอื่นๆ แต่ว่าอัลบั้มนี้มันได้คิดได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น ทำให้อัลบั้มชุดนี้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรวมหัวกันเขียนเนื้อเพลง และก็ทำดนตรีด้วยกัน มีที่พวกผมเริ่มทำกันเองเอาความเป็นตัวของตัวเองไปใส่ในความเป็น The Yers มากขึ้นด้วย”
อู๋: “แต่ก่อนผมจะเป็น one man show เสียเยอะ ตั้งแต่ทำเดโม่อัลบั้มชุดแรก แต่กับอัลบั้มนี้เราค่อยๆ ถอยลงมา บางเพลงผมก็ให้เพื่อนส่งเดโมมาเลย ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์ที่นั่งเขียนเนื้อเพลงกันสี่คน แล้วเนื้อเพลงบางคำมาจากสมาชิกแต่ละคนในวง ถือว่า PRAY เป็นอัลบั้มที่เราได้ร่วมวงกันเป็นวงดนตรีจริงๆ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมว่าน่าจะเป็นการทำงานที่แฮปปี้ที่สุดเลย”
ความเป็น The Yers ที่แค่มองตาก็รู้ใจกันหมดแล้ว
ฟรอนต์แมนของวงเล่าว่า ด้วยความที่ตัวเขาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงและโปรดิวเซอร์ ทำให้เมื่อก่อนต้องคอยตบ คอยตี คอยปรับให้วิธีเล่นของสมาชิกแต่ละคนอยู่ในกรอบของความเป็น The Yers มาตลอด เพราะทุกคนต่างก็มีความชอบ มีแนวทาง รวมถึงมีของที่อยากจะปล่อยออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงอัลบั้มชุดที่ 4 ทุกคนต่างรู้แล้วว่าความเป็น The Yers อยู่ตรงไหน ทำให้ตอนนี้แค่มองตาก็รู้ใจกัน
“แล้วกรอบของ The Yers อยู่ตรงไหน” – เราถาม
ต่อ: “กรอบของ The Yers ในมุมผม เวลาทำเพลงแค่เป็นวิธีการเล่นที่ไม่ได้ดุดัน แค่ไม่ได้มีความมากเกินกว่าที่จะเป็น The Yers ถ้าใครฟังมาตั้งแต่แรกจะสังเกตเห็นว่าผมไม่ได้เป็นคนที่เล่นเร็วๆ เล่นเยอะๆ เพราะว่ามันถูกตบเข้ามาให้มันเหลือเท่านั้น ตั้งใจให้มันเหลือเท่านั้นจริงๆ ก็เลยออกมาเป็นกรอบนี้”
โบ๊ท: “ผมว่าด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยกว่า 10 ปี เราก็เริ่มรู้แล้วว่าอะไรคือกรอบของ The Yers บวกกับการที่ได้ไปทำห้องอัดที่บ้านอู๋ก็ยิ่งมีเวลาให้ได้ทดลองใส่อะไรหลายๆ อย่างเข้าไปได้อย่างอิสระ จึงได้ปล่อยของเต็มๆ แต่เราจูนกันนานเหมือนกันตั้งแต่อัลบั้ม Y กว่าจะจูนกับวงติดนี่ก็ใช้เวลาพอสมควร ต้องเข้าใจว่าเราเล่นเท่านี้พอ เหมือนบูมก็จะมีวิธีการตีกลองของบูม”
บูม: “ด้วยความที่ดนตรีในแนวของ The Yers กลองไม่ได้มีความซับซ้อน แต่ในมุมของมือกลองเราก็อยากจะนำเสนออะไรที่มันซับซ้อนมากขึ้น แต่บางอย่างพอเข้าไปอยู่ในเพลง พอฟังแล้วเสียงกลองแบบนี้ไม่ควรอยู่กับแนวแบบนี้ เราก็จะค่อยๆ ลดระดับของกลองลงมา”
The Yers ยังคงเสพติดความเจ็บปวด ความหม่นมืดของชีวิตอยู่เช่นเดิม
อู๋: “เราไม่ได้รับมือได้ดีกว่าเลย ยังหลงใหลในการเก็บตุนความรู้สึกนั้นอยู่ แต่เราเข้าใจมันมากขึ้น ทุกครั้งที่ทำงานออกมา หรือเพอร์ฟอร์มออกมา ถ้ามีพลังแห่งความเกลียด ความโกรธ ตวามอิจฉาริษยา มันทำได้ดีตลอด ไม่ใช่ว่ามีคนมาด่าแล้วเราด่ากลับ หรือไปต่อยไปใส่อารมณ์ เราจะเก็บความรู้สึกนั้นไว้แล้วก็มาระบายกับงานศิลปะที่เราทำเสมอ ยังยืนว่ามันเป็นเชื้อไฟที่ดีมากๆ สำหรับเรา”
บูม: “ก็ยังมีอยู่ แต่ผมก็จะมีวิธีรับมือกับมันมากขึ้น ไม่ใช่ว่ารู้ทุกอย่าง แต่แค่ว่าเราจะเตรียมรับกับอะไร สุดท้ายมันก็เจ็บเหมือนเดิม แค่ว่าเราสามารถปฏิบัติกับมันได้ถูกต้อง”
ต่อ: “ถ้าสำหรับผม ผมน่าจะเป็นคนที่ส่งพลังลบได้ยากที่สุด ด้วยคาแรกเตอร์ แต่ว่าเราเข้าใจมากขึ้น เราจะต้องรับมือความเศร้าเสียใจในสามวัน ซึ่งในชีวิตมันต้องเกิดขึ้นจนกว่าเราจะตาย เหมือนเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับในความจริง”
โบ๊ท: “ผมก็หาวิธีรับมืออยู่เหมือนกัน ทรมานที่มันดิ้นอยู่ข้างในเวลาโกรธ แค้น อิจฉาหรืออะไรก็ตาม ผมก็จะคิดสถานการณ์ที่เป็นตัวหยุดไว้ ก็โอเค พร้อมยิง แลกก็ได้ แล้วความคิดมันจะหยุดชั่วคราว โอเค เอาดิ ยิงเลย เราสมมติสถานการณ์ประมาณนี้ขึ้นมาเพื่อหยุดตัวเอง”
ความรักที่ยังค้ำจุนให้ The Yers ยังอยู่ด้วยกัน
ย้อนกลับไปคุยกันยังช่วงที่พวกเขาเล่าว่าตันกับการทำวง ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน ช่วงเวลานั้นอู๋จึงหันไปทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง จนมีคำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ “วงแตก แยกวงเหรอ” ซึ่งวงการเพลงในต่างประเทศ การที่ศิลปินออกผลงานเดี่ยวบ้างนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่เพื่อตอบข้อสงสัยที่อาจมีคนค้างคาใจในจุดนี้ เราจึงโยนคำถามนี้ให้กับพวกเขาได้ช่วยตอบ
อู๋: “มีความรู้สึกหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด และช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เราคุยเรื่องนี้กันบ่อยมากว่า The Yers ไม่ได้อยู่ด้วยเงินมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราเป็นวงดนตรีที่ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องเงินเลย สิ่งหนึ่งที่ค้ำจุน The Yers มาโดยตลอดคือความรู้สึกของการได้เจอแฟนเพลง และได้เชื่อมต่อความรู้สึกกับพวกเขาซึ่งเป็นความรู้สึกที่หาไม่ได้จากอาชีพอื่น
“ผมและเพื่อนๆ รู้สึกแบบนี้ทุกครั้งหลังจากที่เราเดินลงจากเวทีมา มันมีความสุข แต่เราบอกไม่ได้ว่ามันสุขแบบไหน แล้วมันสุขด้วยอะไร มันจะหาอะไรแบบนี้ได้ที่ไหน มันเกิดความรู้สึกนี้ตลอด และเรายังขวนขวายความรู้สึกนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นความรู้สึกที่มีเงินเท่าไหร่ก็หาซื้อไม่ได้ ผมว่าตรงนี้แหละที่ทำให้เรายังเล่นดนตรีด้วยกันอยู่
“การทำอัลบั้มนี้เป็นคำตอบเลยว่านี่แหละคือจุดที่เราอยากให้วงมันเป็นมาโดยตลอด การที่เราสามารถมองหน้ากันแล้วรู้กันทุกอย่าง ไม่ใช่แค่วิธีการเล่น วิธีการคิด หรือเพอร์ฟอร์ม แต่คือการรู้ใจกันไปหมดทุกอย่าง บางทีเราอยู่ในสถานการณ์ที่มันตึงเครียดหรือกดดันมากๆ แต่พวกเราแทบไม่ต้องพูดด้วยซ้ำ เพราะรู้แล้วว่าต้องแก้ปัญหากันอย่างไร เหมือนแฟนที่คบกันมานานมากๆ ผมชอบ The Yers แบบนี้ ณ วันนี้ที่สุดแล้ว”
“แล้วถ้าวันนึงเราต้องเลิกกัน….” – เราเอ่ย
อู๋: “เลิกกันก็แต่งเพลงด่าเลย”
ทุกคน: (หัวเราะ)
การเติบโตของ The Yers ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
อู๋: “ผมว่าน่าจะเป็นพุง เพราะนี่ก็เป็นสิ่งที่ภรรยาผมด่าอยู่ทุกวัน”
ทุกคน: (หันมองหน้ากันแล้วหัวเราะอีกรอบ)
อู๋: “สิ่งที่เปลี่ยนไปของ The Yers อย่างแรกคือ ผมใส่ใจกับสิ่งที่จะพูดมากขึ้น สิ่งที่จะพูดในเนื้อเพลง มีกรอบมีระเบียบ มีความรับผิดชอบมากขึ้นในการที่จะพูด ส่วนเรื่องอีโก้ พอหลายคนโตขึ้นแล้วค่อยๆ หายไป แต่สำหรับผมยิ่งโตผมยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ พอมีอีโก้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็จะปฏิเสธสิ่งที่ไม่เอามากขึ้นจนเหลือแค่สิ่งที่เราชอบมันจริงๆ ผมว่า TheYers น่าจะเป็นแบบนั้น แน่นอนว่าเรื่องหน้าที่การงานแต่ละคนเริ่มเจอทางใหม่ๆ
“แต่ผมว่าพวกเราแทบจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนไปเลย เราติ๊งต๊องเหมือนเดิม เราไร้สาระ เราเล่นดนตรีกันห่วยเหมือนเดิม ไม่ได้อยากบอกว่าตัวเองเด็กหรือยังใหม่อยู่ เรารู้สึกว่าเรายังเป็นวงหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้บอกว่าเราจะเป็นรุ่นใหม่นะ แต่ยังมีเรื่องใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้อยู่ดี เราเลยรู้สึกว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรก็ยังเป็นแบบนั้น อาจมีตัวสูงขึ้น ตัวหนาขึ้น มีความชอบเรื่องนู้นนี้มาใหม่ แต่ในความเป็นวงทุกครั้งที่อยู่ด้วยกันเรายังเหมือนเดิม”
โบ๊ท: “สำหรับผมคิดว่าอะไรที่เป็นแง่ดีก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งความเข้าใจ ประสบการณ์ แต่ปัญหาคาราคาซังก็ยังไม่เปลี่ยน”
อู๋: “แต่ในแง่ของเพลง เราพูดได้เลยว่าการทำงานอัลบั้มใหม่ชุดนี้เป็นอัลบั้มที่เราอยากให้ The Yers เป็นมาตั้งแต่เริ่มทำวงเลย ตอนเราทำอัลบั้มแรกๆ ซึ่งหลายคนก็ยังชอบมันมากๆ แต่ถ้าถามผมทั้ง 4 คนเราไม่ได้ชอบขนาดนั้น มันผิดพลาดเยอะไปหมด จนมาถึงอัลบั้มชุดนี้เรารู้เลยว่านี่คือทั้งหมดที่เราอยากทำ แบบนี้แหละที่เติมเต็มเรา ถ้าย้อนกลับได้เราคงเอาเพลงชุดที่สี่ไปเดบิวต์เป็นอัลบั้มแรกของเรา” (หัวเราะ)
โบ๊ท: “เป็นชุดที่รู้สึกว่าทำเสร็จแล้วไม่ติดค้าง ชุดก่อนมันยังมีแอบติดในใจว่ายังได้กว่านี้อีกไหม”
บูม: “ใช่ๆ ชุดก่อนเรายังมีคำถามว่าต้องมีเพิ่มตรงไหน ลดตรงไหนอีกไหม”
ต่อ: “ผมว่า 10 ปีมันเหมือนเรามีทักษะที่เก่งขึ้น เพราะว่าจากอัลบั้มแรกเราห่วย พูดเลยว่าเราห่วย เรามีความกังวลอยู่ตลอด แต่ว่าพอเรามาถึงอัลบั้มนี้ สามารถบอกได้เลยว่าเราเล่นโอเคในระดับที่สามารถบอกได้ว่าเราอัดดนตรีเอง เพราะว่าอัลบั้มก่อนๆ ถ้าเกิดมองย้อนกลับไปที่อัลบั้ม You ผมโดนด่าเยอะมากจากอู๋ พอมันถึงจุดๆ หนึ่งที่เรารู้ตัวเองว่าเรากาก เราห่วย จริงๆ แล้ว มันก็ต้องการเวลาเพื่อบอกว่า เราต้องเล่นประมาณนี้พอ”
The Yers การเผชิญหน้ากับ Midlife Crisis และเยียวยาตัวเอง
บูม: “อย่างในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเราจะไปเปรียบเทียบกับวงเด็กรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า วงเสียเวลาไปอย่างน้อย 4 ปี เราก็จะ 40 กันแล้ว แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ยังมีโอกาส เหมือนเวลามันน้อยลงแล้วทุกอย่างมันถูกบีบให้เราต้องทำอะไรสักอย่าง”
อู๋: “ผมฉีดโบท็อกซ์ (หัวเราะ) ผมว่านะ… ผมพยายามมองว่าปัญหาของทุกคนน่าจะเป็นเรื่องเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสำหรับผมตั้งแต่ไหนแต่ไรเรื่องเงินคือ ไม่ใช่ว่าผมปฏิเสธเงิน แต่มันเป็นเรื่องรองของผมมาโดยตลอด ผมไม่เคยทำงานประจำ ไม่เคยมีชีวิตที่มั่นคงเลย ไม่เคยใช้เงินโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรก่อนได้ กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มันขึ้นก็จะลง ทุกครั้งที่ลงก็จะขึ้นตลอดเวลา”
บูม: “จริงๆ ก็เครียดประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายเครียดไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ลงมือทำดีกว่า ช่วงนี้ก็หาอะไรอย่างอื่นทำผ่อนคลายตัวเอง เพราะอย่างที่บอกไว้ว่า The Yers ถูกเยียวยาด้วยการเล่นคอนเสิร์ต แต่พอเราไม่มีคอนเสิร์ตให้เล่นก็ว่างอยู่เฉยๆ แล้วมันก็จะคิดไปคิดมาไปเรื่อยมากกว่า”
ต่อ: “ของผมพังมาแล้วก่อนช่วงโควิด ชีวิตย่ำแย่มาก เราต้องทำอย่างไรกับชีวิต เราต้องทำอย่างไร คิดไม่ออกจริงๆ พอโควิดมาเราก็เจอทางตัวเอง เหมือนได้รีเฟรชใหม่ พอหลุดออกจากตรงนั้นได้ความคิดก็เปลี่ยนไปเพราะว่าเราไม่ได้ทำในสิ่งเดิมแล้ว เราเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความคิดตัวเองให้มองอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ก็ต้องใช้เวลา และความพยายามพอสมควร
“คือผมเคยจมอยู่กับชีวิตจนรู้สึกว่าผมต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ไปหาอะไรใหม่ๆ ไปไซต์งานก่อสร้าง ไปดูเขาตอกเสาเข็ม อยากจะรู้ว่าตัวเองไปได้หรือเปล่า ลองนั่นนู่นนี่มาหมดแล้ว ผมว่าโอกาสเข้ามาเองจะเป็นความโชคดี โชคดีหรืออะไรหลายๆ อย่างทำให้มาเจอสิ่งที่มันทำให้เรารู้ว่านี่แหละต้องไปต่อแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร”
โบ๊ท: “ผมว่าน่าจะสักพักใหญ่ๆ ที่ผ่านมาน่าจะชัดที่สุดในชีวิตแล้ว แล้วพอต้องเจอกับโควิดเข้ามา เราไม่ค่อยมีความมั่นคงทางด้านการเงินอยู่แล้ว ก็จะหนักหน่อย พูดเยอะจนท็อกซิกกับคนรอบข้างไปแล้ว ผมพยายามเบรกตัวเองไม่ให้แย่ เราปล่อยพลังลบออกไปแบบไม่รู้ตัว”
อู๋: (หันไปมองโบ๊ท) “คิดไปเองว่าปล่อยพลังลบใส่คนอื่น แต่ว่าคนอื่นไม่ได้คิดแบบนั้น”
เพลงไหนคือที่สุดคืออัลบั้มใน PRAY
อู๋: “ผม บูม โบ๊ท เราสามคนชอบเพลง ปริศนา มาก เพราะในพาร์ตของดนตรี เราก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้ได้มาก่อน มันอาจจะง่ายสำหรับวงอื่น แต่สำหรับวงเราเป็นอะไรที่ใหม่มาก ทั้งบีตใหม่ เครื่องดนตรีใหม่ เป็นการนำเสนอที่เราไม่เคยทำซึ่งผมชอบมากๆ เลย เป็นเพลงแรกของ The Yers ที่ผมพูดได้เต็มปากว่าผมชอบมากๆ เราสามารถฟังจนมันช้ำกี่ครั้งก็ยังฟังได้อยู่”
ต่อ: “ผมชอบเพลง ตำรับยา เพราะว่าให้ความรู้สึกเหมือนครั้งแรกที่เราปล่อยอัลบั้ม เหมือนมีพลังทุกครั้งที่ฟังเพลงนี้ ให้ความรู้สึกสดใหม่ทุกครั้งที่กลับไปฟัง แล้วตอนทำเพลงนี้ก็สนุกมาก ได้ทดลองทำนู่นนี่ เพราะเป็นเพลงแรกที่เราต้องปล่อย แสดงว่าเราต้องปั้นเพลงนี้ให้เสร็จเป็นซิงเกิลแรกมันเหมือนเราใส่มันเต็มที่จริงๆ”
The Yers ในอีก 10 ปีข้างหน้ายังคงอยู่ด้วยกัน แต่หน้าจะเป๊ะกว่าเดิม
บูม: “เรื่องเพอร์ฟอร์มก็จะดรอปลงไปบ้าง”
โบ๊ท: “อยากเล่นด้วยกันต่อ ถ้าเป็นไปได้ก็ดี”
ต่อ: “คิดว่าตอนนั้นน่าจะยังอยากเล่นเหมือนเดิม เพราะตอนนี้ก็ยังอยากเล่นอยู่”
อู๋: “อายุ 44… ผมว่าผมน่าจะยังหล่อแล้วก็เท่อยู่ มันน่าจะถึงเวลาที่เราไม่ไหว ต้องพึ่งมีดหมอแล้ว อาจซ้อมน้อยลง ปวดหลัง แต่หน้าจะเป๊ะมาก”
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพูดคุยกับเหล่าหมาป่าเดียวดายในครั้งนี้สรุปได้ว่า The Yers ไม่ใช่วงดนตรีมืดหม่นตามเพลงที่สื่อสารออกไป หรือคาแรกเตอร์ที่เซตไว้ แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นวงตลก… ร่วมก้าวข้ามความเจ็บปวดของชีวิตด้วยกันกับอัลบั้ม PRAY
ขอบคุณ: Mee-d cafe – Vintage ที่เอื้อเฟื้อสถานที่
เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ