ธนีกานต์ แดงดา

ธนีกานต์ แดงดา | ใส่สตั๊ดสู้บอลโลก กับเส้นทางชีวิตของนักฟุตบอลหญิงที่เริ่มต้นจากคำว่าไม่ชอบ

ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียก็เตะกันไป แต่คนไทยทั้งประเทศก็ไม่ลืมที่จะส่งใจไปร่วมเชียร์สาวๆ แห่งทีมชบาแก้ว หลังจากคว้าตั๋วไปฟุตบอลหญิงโลกปี 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของความสำเร็จนี้มาจาก ‘ไหม’ – ธนีกานต์ แดงดา กองหน้าตัวหลัก ลูกสาวของ พ.อ.อ. ประสิทธิ์ แดงดา หรือโค้ชสิทธิ์ อดีตนักฟุตบอลและอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนสังกัดสโมสรฟุตบอลแอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด (สโมสรกองทัพอากาศ) ทั้งยังเป็นน้องสาว ‘มุ้ย’ – ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าคนสำคัญของทีมชาติไทยยุคนี้

     เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเติบโตมาท่ามกลางวิถีของฟุตบอล ผ่านคำชี้แนะของผู้เป็นพ่อตั้งแต่ยังเล็ก สองสายตาเห็นพี่ชายซ้อมอย่างหนักมาทั้งชีวิต เป็นแรงบันดาลใจให้สองเท้าน้อยๆ ออกเดินตามวัดรอยเท้าของพี่ชาย ในขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นภาระแห่งความคาดหวังที่กดทับลงบนบ่าของเธอ

     บทสนทนาของเราจึงมุ่งไปสู่ประเด็นการตั้งเป้าหมาย การกำหนดทางเลือกด้วยตัวเอง เพื่อถ่ายทอดเส้นทางชีวิตของเธอ ซึ่งเริ่มต้นจากคำว่าไม่ได้ชอบ จนท้ายสุดกลายเป็นเรื่องที่ดีเกินคาด เรื่องราวแบบนี้น่าจะเป็นแนวทางเล็กๆ ให้กับเด็กไทยรุ่นใหม่อีกมากมายที่กำลังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจ เริ่มต้น และเติบโตขึ้นไป ว่าแท้จริงแล้วชีวิตเราควรจะดำเนินไปบนเส้นทางใด

 

ธนีกานต์ แดงดา

 

เรารู้สึกทึ่งมากๆ ที่คุณประสบความสำเร็จทั้งในโลกของนางแบบและในโลกของกีฬาฟุตบอล คุณเริ่มต้นเส้นทางทั้งสองนี้ และค้นหาของตัวเองเจอได้ยังไง

     ต้องบอกตามตรงว่าตอนเด็กๆ เรื่องฟุตบอลไม่เคยอยู่ในความคิดของเราเลย ก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ว่าผู้หญิงกับการเตะบอลมันไม่ค่อยเข้ากัน เราเองมองว่ายังไงก็ไปด้วยกันไม่ได้ ยิ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มันก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย แถมมันก็ไม่ใช่ความฝันในวัยเด็ก และไม่ใช่ความชอบของเราเลยสักนิด

     ตอนเด็กๆ เราอยากเป็นผู้หญิงสวยๆ อยากเป็นนางแบบ อยากเป็นนางงามอะไรแบบนั้นเลยนะ เราอยากไปยืนอยู่บนรันเวย์ ไปเดินอยู่บนแคตวอล์ก แต่พอเอาเข้าจริง ความฝันแบบเด็กๆ กับโลกความเป็นจริงตอนโตขึ้นมา มันกลับไปคนละทางกันเลย เรามีความฝันของตัวเอง แต่เราก็มีความหวังของพ่อด้วย พ่อชี้ให้เห็นว่าพี่ชายเป็นแบบอย่างที่ดีของความสำเร็จ

     ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่นำพาชีวิตเรามาสู่การเล่นฟุตบอลได้ง่ายกว่า หนทางที่เราจะกระโดดออกไปเป็นนางแบบ เราเองรู้เรื่องนี้ดีอยู่ในใจ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราไม่ได้อยากเล่นฟุตบอลเลยนะ แต่โดนบังคับ เพราะพ่ออยากให้เป็นนักฟุตบอล

 

ด้วยความเป็นเด็กในตอนนั้น คุณคิดอย่างไรกับการโดนบังคับทางเลือกในชีวิต

     จำได้ตอนนั้นเราอยู่แค่ ม.1 ก็จะมีแต่คำถามว่าทำไม ทำไม ทำไมอยู่เต็มหัวไปหมด เราร้องไห้ประจำเลยเวลาไปซ้อม เพราะไม่อยากทำสิ่งนี้ และไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยเห็นคุณค่าของฟุตบอลเลย เราปฏิเสธและค้านอยู่ในใจตลอด แต่ไม่ได้แสดงออกถึงขั้นทะเลาะกับพ่อนะ ซึ่งความรู้สึกนี้เราเก็บไว้คนเดียว และมันก็อยู่แค่เพียงปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นก็หายไป เราคิดว่าหากพ่อไม่บังคับในวันนั้น เราอาจจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ก็ได้ ซึ่งเขาก็มีเหตุผลของเขาที่เป็นคนเลือกเส้นทางให้เรามาทางนี้

 

คุณคิดว่าวิธีที่เราทำตามผู้ใหญ่สั่งสอนจะใช้ได้กับเด็กทุกคนหรือเปล่า

     อืม… (หยุดคิด) อย่างคนแถวบ้านเราตอนเด็กๆ ก็เคยว่าพ่อเหมือนกันนะ ประมาณว่าจะบ้าหรือเปล่า เอาลูกมาซ้อมบอลเช้ายันเย็น ทั้งๆ ที่ลูกคนอื่นเขาพอตื่นมาก็ได้ออกไปวิ่งเล่น ได้ดูการ์ตูน ยิ่งตอนนั้นพี่มุ้ย (พี่ชาย) เริ่มต้นซ้อมใหม่ๆ ด้วย พ่อเองก็ทุ่มเททุกอย่างโดยไม่ได้สนคนรอบข้าง กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนอื่นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านั่นคือสิ่งที่ถูกแล้ว ดีแล้วที่วันนั้นเขาบังคับลูก ที่เขาพยายามสั่งสอนลูก ทั้งๆ ที่ในวันนั้นเราคิดว่าพี่มุ้ยเองก็ไม่ได้ชอบหรอก เพราะเราไม่สบายเหมือนลูกคนอื่นเขา แต่วันนี้พี่มุ้ยทำให้ทุกคนได้เห็นแล้ว

     สิ่งที่พ่อบังคับนั่นก็ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือเราเลือกที่จะยอมทำตาม เมื่อประกอบรวมกันแล้วคือการประสบความสำเร็จอย่างที่ทุกคนได้เห็น หากวันหนึ่งที่เราเป็นแม่คน เราอาจจะใช้วิธีนี้เหมือนกันนะ เพราะเราได้เจอมากับตัวเอง แต่คงไม่นำมาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ธนีกานต์ แดงดา

 

เวลาไม่ชอบทำอะไรแล้ว มันคงยากมาก ต้องพยายามอย่างมากเลยใช่ไหม

     เราต้องไปอยู่โรงเรียนประจำที่จังหวัดสุพรรณบุรี 3 ปี ไปหัดใช้ชีวิตเอง ทั้งเรียน ทั้งซ้อมฟุตบอล เราทั้งเหนื่อย ทั้งคิดถึงบ้านจนร้องไห้ออกมาหลายครั้ง แต่ก็ยอมรับว่าพ่อเป็นคนใจแข็งมาก เขาคงอยากสอนให้เรารู้จักคำว่าอดทน ให้ผ่านจุดที่คิดว่ายากที่สุดในชีวิตไปให้ได้ ได้ไปหัดเรียนรู้การใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมที่โหดร้าย เพราะต่อให้เราเรียนเก่งแค่ไหน หากเอาตัวรอดในสังคมไม่ได้ เราก็อยู่ร่วมในสังคมนั้นๆ ไม่ได้แน่ นี่คงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่พ่อมองออก และตั้งใจที่จะให้เราเรียนรู้เรื่องชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการไปให้ถึงการเป็นนักกีฬาทีมชาติ

     ประเด็นสำคัญคือ เราไม่อยากเรียนโรงเรียนแถวบ้าน ไม่อยากเป็นคนแบบที่เราไม่ชอบ เรากลัวติดยา กลัวเป็นผู้หญิงไม่ดี ท้องตั้งแต่เด็ก เราไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนั้น พ่อก็คงคิดเหมือนกัน พ่อเลยบอกว่ามีทางเดียวที่ลูกจะพ้นสิ่งเหล่านั้นออกมาได้ คือลูกต้องเล่นกีฬา แล้วกีฬาจะพาลูกออกไปข้างนอก เราก็เลยยอม เพื่อออกจากตรงนั้น แล้วอย่างอื่นค่อยว่ากัน ซึ่งทุกอย่างเกิดจากการที่เราเข้าไปคุยกับพ่อแม่ทั้งนั้น

 

แปลกดีที่มาจนถึงวันนี้ ในที่สุดแล้วคุณก็ชอบฟุตบอลไปโดยปริยาย

     (หัวเราะ) ใช่เลย เมื่อพอได้เริ่มทำ จนตอนนี้ก็ตัดสินใจแล้วว่าคงเป็นเส้นทางนี้แหละที่เราจะต้องเดินต่อไป ยิ่งเมื่อมาถึงตอนวันที่เราติดทีมเยาวชนรุ่นอายุ 16 ปี ซึ่งคัดจากนักบอล 100 กว่าคน เหลือเพียง 30 คน แล้วมีเราติดอยู่หนึ่งในนั้น จนได้เป็นหนึ่งใน 11 คนที่ได้ไปแข่งขัน หากเราไม่ได้ติดรุ่น 16 ปีในวันนั้น เราอาจจะไม่เลือกเล่นฟุตบอลต่อก็ได้ เพราะคิดว่าเราคงไม่ใช่สำหรับอาชีพนี้แล้ว ไม่มีทางที่จะไปต่อได้อีกแล้ว แต่พอติดขึ้นมา เราก็ยิ่งมั่นใจในทางที่จะไปต่อได้ว่าจะไปถึงจุดสูงสุดได้ และถึงตอนนี้คงเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกเราว่ามาถูกทาง

     โดยส่วนตัวเราคิดว่าหากครอบครัวไม่สนับสนุนก็ไปต่อได้ยาก และไม่เพียงแค่ไม่สนับสนุนเท่านั้น เขาอาจจะขวางทางเราเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบอะไร อยากทำอะไร ก็ควรที่จะคุยกับครอบครัวให้มากที่สุดเสียก่อน บอกสิ่งที่กำลังคิดอยู่ แล้วก็พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เรามีความฝันแบบนี้นะ พ่อแม่คิดเห็นอย่างไร จะช่วยอะไรเราได้ไหม หากเขามองว่าสิ่งที่เราถามไปมันยังไม่ใช่ พ่อแม่คิดว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วเราอาจจะเห็นด้วยกับพ่อแม่ก็ได้

 

เหมือนกับว่าพอเข้ามาสู่เส้นทางนี้แล้ว มันก็พาคุณเดินหน้าต่อมาเรื่อยๆ

     ใช่ หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ ขยับขึ้นสู่รุ่นอายุ 19 ปี จากการคัดเลือกเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการพัฒนาทักษะการเล่นของตัวเองให้โดดเด่น ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นไปอีก และต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้โค้ชเล็งเห็นถึงความสามารถว่าเหมาะสมจริงๆ กับการเป็นทีมชาติรุ่นใหญ่ หากเราพลาดรุ่น 19 ปี ก็จะไม่มีโอกาสไปต่ออีก

     แล้วตอนนั้นเราก็ทำได้อีก ทำได้มาเรื่อยๆ จนสามารถไปฟุตบอลหญิงโลกที่ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นครั้งแรกของทีมฟุตบอลหญิงไทยเลยกว่าได้ ตามด้วยบอลโลกครั้งที่สองติดต่อกัน ในปีหน้าพวกเราจะไปแข่งกันที่ประเทศฝรั่งเศส

 

ธนีกานต์ แดงดา

 

อุปสรรคระหว่างทางล่ะ คุณต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และเคยท้อจนคิดจะเลิกเล่นไปเลยไหม

     ก็ไม่ถึงขั้นว่าจะเลิกเล่น หากเป็นเรื่องการซ้อมหรือการลงสนามในทุกๆ การแข่งขัน มันเหนื่อยหนักเป็นเรื่องธรรมดาของนักกีฬาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กดดันเรามากที่สุดจนบางทีก็ทำให้ท้อเหมือนกัน คือพี่ชายเราเป็นเบอร์หนึ่งของทีมชาติ แล้วทุกคนก็หันมาคาดหวังกับเราว่าเราจะเป็นได้เทียบเท่าพี่ชายหรือเปล่า

     ลำพังเราเป็นเพียงผู้เล่นทีมชาติคนหนึ่งที่ลงไปแข่งในสนาม ก็รู้สึกหนักบนบ่าอยู่แล้วกับการที่แบกความหวังของคนไทยทั้งประเทศ แล้วเรายังเสริมแรงกดทับด้วยคำว่าน้องสาวของมุ้ย ด้วยสรีระของผู้หญิงกับผู้ชายก็ต่างกัน จะให้เราเล่นได้เก่งเท่าพี่ชายให้ได้ เราก็ท้อเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เรานอยด์อยู่พักใหญ่เลยนะ แต่ก็ต้องลุกขึ้นแล้วเดินหน้าต่อไปให้ไว

     เราเลือกที่จะปล่อยวางคำว่าน้องของมุ้ยออกไป แล้วตั้งใจพิสูจน์ความสามารถในแบบฉบับของตัวเราเอง เป็นน้องไหมในสนามแข่งขันที่ทุกคนเชื่อว่าเราทำได้ เราก็ต้องผลักดันตัวเองให้ทำให้ได้ จนกลายเป็นทางออกที่ทำให้เราผ่านพ้นแรงกดดันส่วนนั้นมาได้

 

เมื่อช่วยที่เราเริ่มต้นพูดคุยกัน คุณบอกว่าตอนเด็กๆ อยากเป็นนางแบบ นั่นคือความฝันที่คุณไม่เคยละทิ้งใช่ไหม คุณจึงตัดสินใจสมัครประกวดนางแบบด้วย

     สำหรับเรา

ความฝันไม่มีคำว่าสาย หากสุดท้ายเราจะกลับไปทำตามฝันในวัยเด็ก

     เพราะตลอดระยะเวลาที่เล่นฟุตบอล เราไม่เคยทิ้งความฝันที่อยากเป็นนางแบบ ทุกครั้งที่เห็นรายการประกวดไทยซูเปอร์โมเดลในทีวี เรามักจะบอกกับพ่อแม่และทุกคนว่าเราจะไปประกวดรายการนี้ให้ได้ (หัวเราะ) ซึ่งทุกคนต่างก็รอดูอยู่เหมือนกัน สิ่งที่เราพูดตลอดเวลานั้น เมื่อไหร่เราจะทำซะที และเราจะทำได้จริงไหม และแล้วก็เราก็มีช่วงว่างหยุดนาน 3 เดือน ซึ่งไปตรงกับตอนที่เขาเปิดรับสมัครประกวดพอดี เราก็เลยไปสมัครด้วย ซึ่งตอนนั้นเราเองก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง แต่ที่รู้ๆ คือนี่คือโอกาสที่เราได้ทำตามสิ่งที่คิดไว้ตั้งแต่เด็ก

     ท่ามกลางแรงสนับสนุนและแรงเชียร์จากครอบครัว แถมเพื่อนๆ ทุกคนในทีมชาติก็เชียร์ รวมทั้งคุณแป้ง (นวลพรรณ ล่ำซำ) ก็เห็นด้วย ทำให้เราตั้งใจฝึกซ้อมเดินแบบและทำให้ดีที่สุด จนสามารถเข้ารอบได้ถึง 20 คนสุดท้าย ซึ่งแค่นั้นก็พอใจแล้ว ถือว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้ทำแล้ว ต่อจากนี้ไปก็ไม่มีอะไรคาใจอีก และเราก็กลับมาเดินเส้นทางฟุตบอลของเราต่อ

     พอตอนนี้กลับมานั่งคิดๆ ดูอีกที มันก็ภูมิใจในตัวเองนะ ที่ระหว่างเป็นนักบอล เราฉีกทุกกฎเกณฑ์ของวงการฟุตบอลไทย ด้วยการถอดรองเท้าสตั๊ดไปใส่รองเท้าส้นสูง เปลี่ยนจากวิ่งเหงื่อโซมหน้าบนสนามหญ้า ไปเดินสวยๆ หน้าเป๊ะอยู่บนแคตวอล์ก

 

สงสัยว่าหากตอนนั้นได้เป็นนางแบบอาชีพขึ้นมาจริงๆ คุณจะเลิกเล่นฟุตบอลไหม

     ไม่ๆ ไม่เลิก ตอนแรกกะว่าจะพยายามทำทั้งสองอย่างไปด้วยกัน มีอยู่ช่วงหนึ่งก็เรารับงานนางแบบไปด้วย แล้วก็รู้เลยว่ามันเหนื่อยมากแค่ไหน เหนื่อยจนทำให้คิดว่าต้องกลับมาอยู่กับฟุตบอลเหมือนเดิมน่ะดีแล้ว ยอมรับเลยว่าเราอยู่กับฟุตบอลมาสิบกว่าปี จากที่ไม่ชอบก็กลายเป็นชอบไปแล้ว แต่พอเราไปเป็นนางแบบ และได้รับงานจริงจัง กลายเป็นว่าเราไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ มันแค่ความฝันวัยเด็กที่อยากทำ พอไปทำจริงๆ ก็ไม่ชอบ เราเลยกลับมาทำสิ่งที่ชอบดีกว่า

 

ธนีกานต์ แดงดา

 

กลับมาเรื่องฟุตบอลบ้าง อยากให้คุณช่วยเล่าถึงตอนที่ตัดสินใจไปสังกัดสโมสรอสเตอร์ซุนด์ แลัวลงเล่นลีกประเทศสวีเดน

     ตอนนั้นเราอยู่ระหว่างการซ้อมเก็บตัวเพื่อไปจะแข่งเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ และเป็นเวลาเดียวกับที่ทางสโมสรของสวีเดนได้ยื่นข้อเสนอให้เราไปเล่นในลีกดิวิชัน 2 ซึ่งเราเป็นคนที่ไม่ลังเลต่อการตัดสินใจ เพราะทุกการตัดสินใจ เราคิดก่อนเสมอ โดยเรามองว่าการไปแข่งเอเชียนเกมส์ก็สำคัญ แต่ถ้าไม่คว้าโอกาสการไปต่างประเทศตรงนี้เอาไว้ เราก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่

     แน่นอนว่าตอนนั้นหากเราเลือกสวีเดน เราจะไม่ได้ลงแข่งเอเซียนเกมส์ครั้งนั้น แต่เราก็คิดว่า อย่างไรก็ตามเราก็ได้เล่นฟุตบอลเหมือนกัน ต่างกันแค่เป็นทีมชาติกับลีก ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่า ระหว่างที่อยู่นั่น 3 เดือน เราอาจจะได้เทคนิคดีๆ ความรู้เข้มข้น และประสบการณ์ต่างๆ ที่สามารถกลับมาช่วยพัฒนาทีมชาติไทยก็ได้

 

เส้นทางในสวีเดนทำให้คุณต้องพิสูจน์ตัวมากกว่าการเป็นทีมชาติไทยหรือเปล่า

     จากที่เคยอยู่โรงเรียนประจำเมื่อตอนเด็กๆ ที่นั่นสร้างวินัยและทำให้เราเป็นคนมีความรับผิดชอบ พอเราโตขึ้น ได้ไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเพียงลำพัง 3 เดือน วินัยที่เราเคยได้เรียนรู้มานั้นในชีวิตจริงกลับเข้มขึ้นไปอีก การรับผิดชอบและการตรงต่อเวลาก็ต้องเป๊ะมากๆ ตรงนั้นมีความเป็นมืออาชีพสูง ต่างคนต่างอยู่ ทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราต้องเจอกับภาวะการแข่งขันกันเองที่สูงลิบ การเล่นที่จริงจังแม้จะเพียงแค่การซ้อม คือเตะเป็นเตะ กระแทกเป็นกระแทก ไม่มีมาคิดเล็กคิดน้อย เพราะเมื่อลงสนามจริงคุณก็ต้องเจอกับเหตุการณ์นี้เหมือนกัน

     อีกอย่างคนต่างชาติเองไม่ได้ยอมรับคนเอเชียอย่างเราสักเท่าไหร่ ไม่ยอมรับจนวันที่เราเล่นได้ดีมาก ด้วยการเทคนิคที่ปรับใช้ไปสู้กับเขา อย่างการปล่อยบอลเร็ว หลีกเลี่ยงการปะทะ จนเราสามารถทำประตูให้กับทีมได้ เขาถึงจะเริ่มยอมรับ แต่การยอมรับของเขาคือแค่ยอมส่งบอลให้นะ เพราะตอนแรกๆ เขาไม่ส่งบอลให้เราเลย จะว่าไปก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ค่อยคุยกับเราเลยด้วยซ้ำ ไม่บอกอะไรเลยสักอย่าง โดยเฉพาะคนเก่งๆ ระดับซูเปอร์สตาร์ ซึ่งเราเองก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างเต็มที่

     ท้ายสุดเราก็มีส่วนพาทีมไปจนถึงเลื่อนชั้นสู่ดิวิชัน 1 ในปีต่อมาได้ (น้องไหมยิง 1 ประตูแรกในยุโรป ระหว่างเกมที่ต้นสังกัดออสเตอร์ซุนด์ และสามารถถล่มคู่แข่งอย่างลุสดาลส์ไปได้ 6-0 ในเกมลีกดิวิชัน 2 ของประเทศสวีเดน เล่นทั้งหมด 7 เกม น้องไหมยิงได้ 3 ประตู มีส่วนช่วยทีมเลื่อนสู่ดิวิชัน 1 ได้อย่างงดงาม)

 

เวลาที่มีโอกาสเข้ามา มีทางเลือกเข้ามาในชีวิตหลายทาง คุณใช้หลักอะไรในการเลือกเดิน

     (นิ่งคิด) เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ระหว่างทางเราก็ไม่คิดทางเลือกอื่น ไม่ว่าจะทำอะไร เพราะการที่มีเส้นทางให้เลือกมากจนเกินไปก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ ตอนแรกอาจจะรู้สึกตื่นเต้นว่า โอ้โฮ ฉันมีโอกาสเยอะแยะ จะไปทางไหนก็ได้ แต่กลายเป็นว่าเราจะไม่ได้โฟกัสกับทางไหนสักทางเลย ไม่ต่างจากเวลาเราทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน มันก็ทำออกมาได้ไม่ดีอยู่แล้วล่ะ แต่หากเราโฟกัสอยู่แค่หนึ่งสิ่งหรือสองสิ่ง เราก็จะเอาใจใส่ตรงนั้นได้มากขึ้น และเดินไปตามเส้นทางของมันได้

คุณต้องเลือกสักทางที่จะจดจ่ออย่างจริงจัง และลงมือทำให้ไปสุดๆ แล้วถ้าผลออกมาว่ามันไม่ได้จริงๆ ค่อยกลับมาดูทางเลือกอื่นที่เหลือ แล้วก็เริ่มต้นกันใหม่

     โดยส่วนตัวแล้ว ระหว่างทางที่ทำอยู่ ก็พยายามอย่าไปคิดว่าฉันยังมีทางเลือกอื่นอยู่ ในทางกลับกัน ลองคิดดูว่าถ้าชีวิตนี้ฉันไม่มีทางเลือก ยังไงเสียก็ต้องเลือกไปต่อกับเส้นทางนี้อยู่ดี จริงไหม

 

เคยตัดสินใจผิดไหม และถ้าหากเลือกผิดทาง มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

     ก็ทำอะไรไม่ได้แล้วไง และคงต้องยอมรับกับเส้นทางนั้นไป แต่มันก็ย้อนกลับมาในจุดเริ่มต้นที่เราเป็นผู้เลือกเส้นทางนั้นด้วยตัวเองนี่นา เราตัดสินใจทำมันด้วยตัวเอง แม้แรกๆ จะโดนพ่อบังคับ (หัวเราะ) แต่เราเลือกเอง และเราจะไม่เสียใจกับทางที่เราเลือกด้วยตัวเอง ต่อให้มันออกมาดีหรือไม่ดี แต่คำถามสำคัญกว่านั้นคือ เราเต็มที่กับเส้นทางนั้นหรือยังล่ะ หากเราตอบตัวเองว่าใช่ แต่มันกลับไปไม่รอด เราจะไม่มีคำว่าเสียใจหรือเสียดายอย่างแน่นอน

 

ธนีกานต์ แดงดา

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทางเลือกนั้นมันยากเกินขีดความสามารถของตัวเองหรือเปล่า

     การที่เราวางเป้าหมายไว้สูงเกินไป ก็ไม่ต่างจากการกดดันตัวเอง อย่างเส้นทางฟุตบอลของเรา เราไม่ได้วางเส้นทางไว้ว่าจะต้องไปให้ถึงการเป็นแชมป์โลก หรือไปแข่งแล้วต้องเป็นแชมป์ทุกรายการ ซึ่งแน่นอนว่าใครๆ ก็อยากเป็นแชมป์กันทั้งนั้น แต่ก็ไม่ต้องไปตั้งเกินความเป็นจริง

     อย่างฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ตอนนี้เราอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก เรามีสิทธิ์ไปบอลโลกปีหน้าอยู่แล้ว ซึ่งพวกเรารู้ดีว่าคงไม่สามารถเป็นเบอร์หนึ่งได้ ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์จริงๆ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่เมื่อถึงปีหน้า เรามีโอกาสไปแข่ง ได้พิสูจน์ขีดความสามารถของเรา วันนั้นพวกเราอาจจะแพ้หลุดลุ่ย 10-0 เลยก็ได้ ในทางกลับกัน หากมัวคิดแค่เรื่องเป็นแชมป์ แต่กลับไม่พัฒนาตัวเอง ไม่โฟกัสอยู่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน นั่นอาจทำให้อนาคตที่ยังมาไม่ถึงสั่นคลอนได้

 

หากไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แล้วเราจะเล่นฟุตบอลไปทำไม

     แค่ฟุตบอลหญิงไทยได้ไปบอลโลก ยิ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรก เราก็ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของเราและนักเตะทุกคนแล้ว แต่หากเป้าหมายของเราจริงๆ คงเป็นการพาทีมชาติไทยให้ประสบความสำเร็จไปได้เรื่อยๆ แม้ว่าเราเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดผู้เล่นหลัก แต่ตอนนี้เราเองยังไม่สามารถทำประตูให้ได้ เราก็ตั้งเป้าว่าเราจะต้องช่วยทีมให้ได้มากกว่านี้

 

สุดท้ายแล้วความฝันวัยเด็กกับชีวิตจริงในทุกวันนี้ คุณว่ามันมาบรรจบกันที่ตรงไหน

     คงบรรจบตรงที่ถึงวันหนึ่งเราเลิกเล่นฟุตบอล เราคุยกับพ่อไว้เรื่องนี้เหมือนกัน ว่าจะเลิกเตะฟุตบอลตอนอายุ 28 ปี และพ่อก็เห็นด้วย เราอยากมีชีวิตเป็นของเราเอง อยากพลิกชีวิตและไปเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ เราจะก้าวต่อไปทั้งๆ ที่รู้ว่าการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ตอนอายุ 28 ปี อาจจะยากกว่า และช้ากว่าคนอื่นที่เริ่มมาตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แต่หากเริ่มช้ากว่าไปกว่านี้ อายุก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นั่นอาจจะยิ่งยากกว่าเดิมก็ได้

     เราเองเคยคิดไว้ว่าอยากแต่งงานตอนอายุ 28 มีลูกสักตอน 30 แล้วยึดอาชีพแม่ อยู่บ้านเลี้ยงลูก แล้วทำธุรกิจเล็กๆ น้อยอย่างอื่น แล้วเลือกที่จะมีความสุขไปกับสิ่งใหม่ๆ ตรงนั้น อีกอย่างตลอดเส้นทางฟุตบอลที่ผ่านมา เราพอใจในผลงานของตัวเองเสมอ เรียกได้ว่าเราประสบความสำเร็จเรื่องฟุตบอลแล้ว คงได้เวลาที่จะจดจำความสำเร็จดีๆ เอาไว้ แล้วก้าวออกไปบนเส้นทางใหม่ ดีกว่าเล่นไปเรื่อยๆ จนไม่ไหว โรยราแล้วโดนคัดออกจากทีม ซึ่งคงเป็นความรู้สึกที่แย่มากกว่าการที่เราตัดสินใจหยุดทุกอย่างด้วยตัวเองในวันที่เราประสบความสำเร็จ และทำตามฝันได้เรียบร้อยแล้ว

     นั่นคงเป็นเวลาของเราที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของเราเองอย่างแท้จริง

 


สไตลิสต์: Hotcake สถานที่: ศูนย์พัฒนาศักยภาพฟุตบอล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี