นวพล x วิชัย

นวพล x วิชัย | ในสนามของการแข่งขันที่เราทุกคนไม่อาจเดินออกมา

ชุดกระโปรงสีลูกกวาดสุดฟรุ้งฟริ้ง ท่าเต้นแสนจั๊กจี้หัวใจ และน้ำเสียงงุ้งงิ้งออดอ้อนแฟนคลับ คือเปลือกนอกที่เราใช้ตัดสินและแบ่งแยกพวกเขากับพวกเราออกจากกัน แต่ถ้าเราเคยรู้สึกว่าตัวเองช่างไม่เข้าพวกกับกลุ่มเพื่อน ผ่านความล้มเหลวในการทำงาน เคยมีวันแย่ๆ ที่เราอยากจะลืมเลือนมันไป สิ่งเหล่านี้เองที่จะเชื่อมโยงเรากับเขากลับสู่โลกใบเดียวกัน

     หลังจาก วิชัย มาตกุล ชักชวน นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มาทำสารคดีของวง BNK48 จนภาพยนตร์เรื่อง BNK48: Girls Don’t Cry สำเร็จเสร็จสิ้นสู่กระบวนการฉายไปเป็นที่เรียบร้อย พวกเขาก็ยังไม่ได้เป็นแฟนคลับและไม่เคยขอจับมือกับสมาชิกคนไหนทั้งสิ้น แต่เขาอยากชักชวนให้คุณมองพวกเธอเหล่านั้นอีกครั้งผ่านหนังเรื่องนี้

     ไม่ว่าเปลือกที่ห่อหุ้มป็อปคัลเจอร์จะเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัย แต่สิ่งที่เป็นเนื้อแท้ไม่เปลี่ยนไปคือเรื่องราวของความสัมพันธ์ มิตรภาพระหว่างเพื่อน การค้นหาตัวตน และการอยู่ให้รอดท่ามกลางสนามแข่งขัน ชีวิตของ BNK48 ก็เป็นเช่นเดียวกับพวกเราเพราะทุกคนบนโลกใบนี้ต่างเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ พยายามเท่าไหร่แต่ก็ไม่เป็นผล

     เช่นนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อมีเวลามากพอให้นวพลได้คลุกคลีทำความรู้จัก และได้นั่งจ้องตาคุยกันในห้องเงียบๆ ความสงบและปลอดภัยที่แวดล้อมสมาชิก BNK48 บทสนทนาถึงชีวิตของพวกเธอจึงมีน้ำตาออกมาเป็นส่วนมาก

 

นวพล x วิชัย

 

ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวทั่วไป เขาจะเรียนจบกันสักอายุ 23 ปี แล้วค่อยเริ่มต้นชีวิตการทำงาน แต่ในขณะที่สมาชิก BNK48 อายุเพียง 13-23 ปีเท่านั้น คุณว่าเขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานเร็วเกินไปมั้ย

     เต๋อ: เราว่าพอเขาชอบ เขาจะไม่คิดว่ามันเป็นงานเลยนะ แค่คิดว่ามาอยู่ตรงนี้ดีกว่า เป็นพื้นที่ที่เขาชอบ มันพูดยากว่าน้องจะเข้าใจว่าเขาทำงานเร็วไปหรือเปล่า บางทีเขาอาจจะไม่รู้ว่ามันคืองาน หรือมันคือความชอบที่ได้เข้ามาทำด้วยซ้ำ ก็เลยพูดยากว่าเร็วไปมั้ย ต้องถามเขาแต่ละคนมากกว่าว่ายังเอนจอยอยู่หรือเปล่า เพราะถ้ายังเอนจอย เขาก็อาจจะเหนื่อยในบางวันแต่ก็ยังอยากทำอยู่

     แต่ก่อนเราอาจจะรู้สึกว่าเด็กวัยนี้น่าจะเป็นอย่างนี้ แต่เราว่าเด็กยุคนี้เขามีตัวเลือกในชีวิตเต็มไปหมด เขาอาจจะไม่เข้าโรงเรียนแล้วเรียนแบบโฮมสคูลก็ได้ หรือว่าจะเข้าโรงเรียนก็ได้ มันมีทางเลือกมากมายจนความคิดของทุกคนไม่ได้เดินไปตามกรอบเดิมกรอบเดียวกันแล้ว

     ความคิดแบบเดิมยังมีและยังแมสอยู่ แต่มันได้บางลงไป เริ่มไม่เป็นไปตามแบบแผนมากขึ้น ที่จริงแล้วสมัยก่อนเด็กเขาก็อาจจะอยากทำเหมือนตอนนี้แหละ แต่กูจะเข้าไปได้ยังไงในเมื่อมันไม่มีรูปแบบการสื่อสารที่เปิดโอกาสให้มากๆ อย่างทุกวันนี้ บางทีพ่อแม่ไม่ให้ก็จบแล้ว

     วิชัย: ผมว่าวัยรุ่นยุคนี้ไม่มีกรอบของการเรียนรู้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเด็กประถมมันก็จะรู้แค่ในกรอบของความเป็นประถม เราจะไม่รู้ว่ามันมีบาร์อยู่ตรงไหนหรอกถ้าพ่อแม่ไม่ยอมให้เราออกไปข้างนอกตอนกลางคืน แต่สำหรับน้องมันไม่มีกลางวันกลางคืนแล้ว น้องเข้าอินเทอร์เน็ตไปเมื่อไหร่ น้องก็จะได้เห็นสิ่งที่น้องอยากเห็น ทั้งที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะเห็นด้วยซ้ำ ทีนี้พอถามว่าน้องๆ โตพอที่จะเข้าสู่วัยทำงานหรือยัง ก็บอกไม่ถูกแฮะ เขามีสิทธิ์ที่จะเลือกเองมากกว่าที่จะให้อายุมากำหนดตัวเขา ถ้าเขาโอเคที่จะเดินไปในเส้นทางไหน ก็ไปเลย

     เต๋อ: บางคนก็รู้อยู่แล้วนะว่าเข้ามาแล้วจะเจออะไร แต่ก็เข้า มันอยู่ตรงที่ว่า ใครมองสิ่งนี้ว่าเป็นอะไร บางคนอาจจะคิดว่าเข้ามาเพื่อหาเงิน บางคนคิดว่าเป็นการเรียนรู้ บางคนคิดว่าเป็นความฝันของฉัน บางคนอยากทำงานวงการบันเทิง บางคนชอบคอนเซ็ปต์ ชอบคัลเจอร์แบบนี้ บางคนก็มาเพราะชอบ AKB48 ก็มีปะปนกันไป ขึ้นกับเหตุผลของแต่ละคน

 

จริงๆ แล้วเขามองว่าคำพูดและการกระทำของเขาในตอนนี้มันจะส่งผลในห้วงเวลาสั้นๆ หรือเขาคิดไปถึง Career Path ในระยะยาว

     เต๋อ: เขามองเป็น Career Path นะ เพราะถ้าอยู่มันก็ต้องอยู่กันไปอีกสักพัก มันมีสัญญานู่นนี่อยู่ ไม่ใช่แค่ห้าเดือนแล้วจบ หรือประกวดร้องเพลงที่แข่งกันหนึ่งปีจบ เขาอยู่กันยาวๆ แล้วเด็กก็รู้แหละว่าพวกเขาจะเจออะไร จะทำหรือไม่ทำอะไร เขารู้ก่อนอยู่แล้ว

     วิชัย: ผมมองว่าบางส่วนเด็กเข้ามาก็ไม่ได้คาดคิดหรอกว่าจะมาเจอเรื่องที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แต่พอเข้ามาแล้วผมว่าทุกคนมันก็มีพาร์ตหนึ่งที่ เฮ้ย กูไม่อยากเป็นคนแพ้ว่ะ ก็เอาให้ที่สุดก่อนแล้วค่อยว่ากันก็ได้

บางทีมันมีความขึ้นหลังเสือแล้วลงยาก แต่ก็ต้องอยู่ตรงนั้นให้ได้ก่อน อย่างน้อยก็เต็มที่กับมัน

 

 

แล้วความทุกข์ของเขาจะประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง

     เต๋อ: ผมว่ามันคือเรื่องทั่วๆ ไปของวัยรุ่นนะ อะไรที่เราเจอในโรงเรียนหรืออะไรที่เราเจอในที่ทำงานมันก็มีอยู่ที่นี่หมด เราเป็นเพื่อนกันแต่เราก็ต้องแข่งขันกัน มันคือทั้งสนามเด็กเล่นและที่ทำงาน มีการเลื่อนขั้นอะไรก็ว่าไป เขาเป็นแค่เด็กอายุสิบกว่าถึงยี่สิบต้นๆ แต่ว่าเขามาอยู่ในระบบที่มันชัดเจนมากๆ เท่านั้นเอง

     วิชัย: เหมือนเด็กประถมที่ต้องเคารพเด็กมัธยม แต่ความซีเนียริตีของวงนี้มันเกี่ยวพันกับรายได้ กับ Career Path ในอนาคตด้วย เขาเลยต้องซีเรียสกับมันมากกว่าเดิม ยิ่งมีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทุกอย่างมันวัดด้วยตัวเลข ความต่างชั้นมันยิ่งถูกนิยามออกมาเป็นค่า วัดผลได้ จับต้องได้ มันเลยยิ่งน่ากลัวยิ่งทุกข์มากกว่าเดิม

 

ใครที่มีตัวเลขก็มีซีเนียริตีมากกว่าแล้วไปจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน แล้วก็จะมีกลุ่มอื่นๆ ที่ลดหลั่นกันไปใช่มั้ย

     เต๋อ: ถ้าเป็นการจับกลุ่มมันอาจจะเป็นการจับตามอายุนะ เหมือนกับว่าถ้าเราอายุ 22 เราจะไปคุยกับคนอายุ 12 รู้เรื่องได้ยังไง มันเลยมีชราไลน์ กุมารไลน์ แบ่งตามความสนใจตามอายุที่ใกล้เคียงกันมากกว่า แต่ถ้าถามลึกลงไปว่าแต่ละกลุ่มเขาคุยเรื่องอะไรบ้าง เราก็ไม่รู้นะ เพราะเวลาเด็กนั่งคุยกันมันคือพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขา ซึ่งถ้าเป็นสิ่งที่เขาคุยแล้วเราฟังได้มันก็จะเป็นเรื่องสัพเพเหระทั่วๆ ไป

 

ระยะห่างระหว่างคุณกับเขามาจากความตั้งใจของคุณว่าจะไม่เข้าไปใกล้มากกว่านี้หรือเปล่า

     เต๋อ: มันมาจากความคิดที่ว่า ถ้าเป็นเพื่อนเขา บางอย่างเพื่อนกันจะไม่ทำ ถ้าเราเป็นนักข่าวหรือสื่อ สมมติเขานั่งคุยอะไรกัน เราอาจจะเข้าไปนั่งฟัง แต่ถ้าในความเป็นเพื่อนกันปกติ เรารู้ว่าคนนั้นเครียดอยู่ ก็อย่าไปยุ่งกับเขาเลย แต่ถ้าเกิดเราอยากได้ฟุตเทจมาก เราก็พยายามซูมหรือไปเอาเสียงมาให้ได้ แต่เราแค่ตั้งใจว่าจะเข้าไปในฐานะเพื่อน ดังนั้นอะไรที่เขาอยากคุยส่วนตัวก็ปล่อยเขาไป แล้วเดี๋ยวว่ากัน

 

ความไว้วางใจระหว่างคุณกับเขาจึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย

     เต๋อ: ไม่ๆ เพิ่งรู้สึกตอนเดือนท้ายเอง ที่มันคงได้เวลาพอดีแล้วมั้ง ตอนแรกเขาก็ไม่คุยเลย ต้องพยายามคุย มีอะไรก็ไป กินอะไรก็กินด้วย แต่ไม่ได้เข้าไปแบบปลอมๆ นะ เป็นการเข้าไปแบบพร้อมที่จะเรียนรู้มากกว่า เหมือนเราเข้ามาโลกใหม่ ต้องให้เขาเล่า ให้เขาชี้แนะว่ามันคืออะไร เรียนรู้ไป ไม่เข้าใจก็ถาม จนช่วงท้ายๆ ถึงมีการ strike back แซวกลับ เริ่มแบบ “พี่เต๋อทำไมอย่างนี้วะ”

 

นวพล x วิชัย

 

ส่วนวิชัยกลับไม่ได้เข้าไปคลุกคลีอยู่ด้วย เป็นเพราะอะไร  

     วิชัย: ตอนแรกตั้งใจจะไปกับเต๋อ แต่พอผมพลาดไปห้าหกวัน มันก็เป็นตอนที่เต๋อเริ่มรู้จักกับเขาแล้ว เลยรู้สึกว่าเราไม่ควรมีคาแร็กเตอร์ใหม่ไปเติมให้เขาแล้ว อยู่ข้างนอกไปเลย ไม่ควรให้เขามารู้สึกว่า เฮ้ย มีคนแปลกหน้าอีกแล้ว นวพลพาใครมาอีกวะ มันมาจากความคิดส่วนตัวของผมตอนทำงานโฆษณาด้วยนะ เวลาเข้าประชุมแล้วลูกค้าประชุมนัดที่หนึ่งสามคน แต่พอประชุมนัดที่สองมีเพิ่มมาอีกสองคน เราจะรู้สึกระแวงอีกสองคนที่เพิ่มขึ้นมา เลยจำความรู้สึกนี้ไว้ ไม่เพิ่มตัวละครเข้าไปให้เขาอีก

     ทีมผมก็เหมือนกัน ประชุมมาห้าหกครั้งแล้วมีนัดครั้งที่เจ็ด พนักงานคนไหนที่เคยไปกับผมก็ไปแค่นั้นพอ เพราะเวลาเจอคนใหม่แล้วเขาจะ ไอ้นี่ใคร มาทำไม ผมเลยพยายามไม่ให้มีความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้น

 

ถ้ามีผู้ชายสองคนมานั่งจ้องตาเราในห้องสัมภาษณ์แคบๆ ก็คงรู้สึกอึดอัดเหมือนกันนะ

     เต๋อ: เรารู้สึกว่าความไว้วางใจมันเกิดจากธรรมชาติที่สุด อย่าไปเล่ห์เยอะ เพื่อนกัน ใจๆ กันก็พูด ถ้ามึงไม่ต้องการให้กูเข้ามา กูก็ไม่เข้า หรือถ้าชวนก็ไป มันตรงไปตรงมามากๆ เพราะเอาจริงๆ เรารู้สึกว่า อีกทางหนึ่งเหมือนเรากำลังเข้าไปในเวลาส่วนตัวของเขา ไม่ได้อยากให้เขารู้สึกว่า กูเหนื่อยจะตายห่า ยังจะต้องมานั่งตอบคำถามพี่คนนี้อีก ถ้าเลือกได้อยากเข้าไปในฐานะทีมงานด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ยังมีประโยชน์กับเขา คือการเข้าไปนั่งเฉยๆ มันเหวอเหมือนกันนะ แต่ถ้าเราไปช่วยยกของบ้างเขาอาจจะรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งมากกว่า

     แต่ทั้งหมดนี้มันก็คือการคิดแทนเขานั่นแหละ จริงๆ แล้วเขาจะยังไง รู้สึกขนาดไหน เราไม่รู้ เขาอาจจะรู้สึกว่าอยู่สบายมากเลย ไม่มีอะไรเลยก็ได้ คงเป็นเพราะเราเคยอยู่กับนักแสดงด้วยมั้ง เจอซันนี่ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) เจอใหม่ ดาวิกา เราก็พอเข้าใจว่าเขาไม่ได้อยากจะตอบอะไรตลอดเวลา เขาก็อยากจะเดินไปไหนมาไหนได้ มีช่วงเวลาส่วนตัวบ้างเหมือนกัน

 

อย่างคุณก็เจอนักแสดงมามาก เห็นนักแสดงเก่งๆ เขาสามารถเสกน้ำตาได้ในทันทีที่สั่ง เราก็เลยสนใจตรงที่คุณบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่จริงมากๆ

     เต๋อ: อันอื่นเราไม่รู้ว่าเป็นยังไงเหมือนกัน แต่ในการสัมภาษณ์ที่เราเจอ เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามในสี่เดือนที่ผ่านมา มันอยู่ที่ว่าสุดท้ายเขาจะคุยกับเรามั้ย เราประเมินผลไม่ได้หรอกว่าเราสนิทกันหรือเปล่า จนถึงวันนี้เราก็ไม่รู้ เราทำได้แค่ก่อนสัมภาษณ์จะบอกน้องๆ เสมอว่า พูดก็ได้ไม่พูดก็ได้ เอาที่สบายใจ อันไหนที่เราถามแล้วเผอิญถามลึกเกินไป ไม่สบายใจก็ไม่ต้องพูด แล้วสิ่งที่เขาพูดเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันไปถึงก้นบึ้งหรือไม่ แต่ว่าสิ่งที่เราได้ฟัง เรารู้เลยว่าสิ่งที่เขาพูดมันจริง มันใกล้มาก แล้วมันคุยกันนานมาก

คนเราถ้ามันต้องไม่จริงไปสองสามชั่วโมงมันเหนื่อยนะ

     พูดไม่ได้หรอกนะว่าจริงหรือไม่จริง แต่ในความรู้สึกเรา เราว่ามันค่อนข้างตรงไปตรงมาและเราก็รู้สึกดีใจและขอบคุณที่เขาไว้วางใจเราพอที่จะพูดสิ่งนี้ออกมา บางอันมันลึกมาก เหมือนเพื่อนมาเล่าเรื่องที่มันลึกมากให้เราฟังเลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเล่าก็ได้ แต่เขาแค่อยากพูด เราก็ฟัง

 

นวพล x วิชัย

นวพล x วิชัย

     

     วิชัย: เป็นเรื่องที่ตอนแรกแอบกังวลเต๋ออยู่เหมือนกัน เพราะสารคดีนี้มันคือสองปีของการมี BNK48 นะ เขามีรายการของตัวเอง เรียกได้ว่าแฟนๆ ของวงเห็นเกือบทุกมิติของน้องไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเขาพูดโดยที่เขาห่วง Career Path มันก็คือสิ่งที่คนอื่นได้ยินมาหมดแล้ว เลยรู้สึกว่าสองสามเดือนที่เต๋อไปอยู่กับเด็กๆ มันคือการลงทุนเพื่อวันนั้นวันเดียวที่เขาพูดมาแล้วเขาสบายใจที่จะพูด

     ปัญหาอยู่ที่ว่าเราเลือกตัดยังไงไม่ให้น้องเสียใจที่น้องได้พูดมากกว่า เรารู้สึกว่าเหมือนเราได้ฟัง เราควรเทกแคร์มันนะ เหมือนเพื่อนมาบอกความลับเราแล้วเราไม่ควรเอาความลับนี้ไปบอกคนอื่น มันเลยมีอะไรที่เขาพูดมาแล้วรู้สึกว่าใช้งานไม่ได้ว่ะ

     เต๋อ: ถ้าเราจะทำอะไร เราจะทำให้มันเป็นตรงกับตัวเขามากที่สุดแค่นั้นเอง ไม่ได้มอมยาเขาก่อนพูด แล้วก็ไม่ได้บอกว่าข้างบนสั่งมานะว่าต้องพูดอย่างนี้ ให้มันเกิดผลทางอารมณ์มากที่สุดนะ มันเลยเป็นโอกาสที่เขาจะได้พูด แล้วเราจะทำออกมาให้เป็นหนังของเขามากที่สุด

 

ถ้าได้ฟังในส่วนที่ตัดทิ้งไปแล้วเราอาจจะช็อกกันไปเลยใช่มั้ย  

     เต๋อ: ไม่ๆ มันไม่ได้ช็อกแบบ เฮ้ย เพราะมันอาจจะมาจากการที่เราไม่ได้คิดว่าเขาเด็ก จากที่คุยหรือว่าเจอกันมาก็เห็นว่าเขาโตแล้ว มีประสบการณ์มากมาย เหมือนผู้ใหญ่คุยกัน

     วิชัย: บางวันขึ้นมาดูสัมภาษณ์ก็แอบอึ้งกับบรรยากาศที่น้องสื่อออกมาทางหน้าตา บางคำถามที่คุยกันไปมาอยู่ดีๆ น้องก็เงียบไปเลย เงียบไปนานมากๆ เชี่ย ซีนนี้ดีมากแต่ใช้ในหนังไม่ได้เลย เพราะน้องคงไม่อยากให้ใครเห็นสภาพนั้นของน้อง

     ทุกวันหลังสัมภาษณ์เสร็จก็จะถามเต๋อว่าดีมั้ย เต๋อก็จะบอกว่าดี แล้วที่ดีนี่ใช้งานได้มั้ย (หัวเราะ) ไม่ได้ เพราะมันดีเกินไป ดีในฐานะที่มนุษย์เห็นกันแล้วไม่ควรเอาไปให้คนอื่นเห็นอีก

     เต๋อ: แต่ไม่ใช่ว่าเซ็นเซอร์ตัวเองนะ ด้วยความที่หนังมี 100 นาที มันมีเวลาจำกัดขนาดนี้แล้วจำเป็นมั้ยที่จะต้องเอามาใช้ ไม่ใช่ว่า โห อันนี้ดำมืดแล้วเราจะต้องทำ complilation of ความดำมืด เพราะมันดาร์ก มันแรง ไม่อะ ถ้าอันไหนไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใส่ แต่ถามว่าเสียดายมั้ย ก็เสียดาย

 

อาจจะต้องเอามารวบรวมทำเป็นภาคต่อเป็น complilation of ความดำมืด

     เต๋อ: (หัวเราะ) ไม่หรอก มันยากนะ สัมภาษณ์เสร็จไปสองเดือน น้องเขาก็เปลี่ยนแล้ว เรายังรู้สึกเลยว่า หนังเราแม่งช้าไปมั้ยวะ เขาไปเจอเหตุการณ์ต่างๆ ที่มันเข้ามาเร็วมาก เหมือนเด็กที่เจอเหตุการณ์มากมายตลอดเวลาในทุกวัน

     วิชัย: ช่วงนั้นผมแอบขึ้นมาดูสัมภาษณ์บ่อยๆ เอาผ้าห่อไว้ไม่ให้น้องหรือใครเห็นเลย ตอนดูรู้สึกว่า ไม่ใช่เด็กคุยกับผู้ใหญ่แล้วนะ แต่มันคือคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันมานั่งคุยกันมากกว่า

เราเคยเป็นอย่างนั้นมากๆ เคยถูกคนไม่เอาเรา มันเกิดขึ้นกับวัยไหนก็ได้ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมีอายุ 35 แล้วถึงจะเจอสิ่งนี้ อยู่ที่ว่าเราจัดการมันได้ดีแค่ไหน เผอิญเขาอายุแค่สิบสี่สิบห้า อาจจะจัดการได้ไม่ดีนัก

     แล้วเขาไม่ได้เล่าออกมาเป็นคำพูดด้วยซ้ำ เขาเล่ามาแบบเป็นการที่นั่งนึกว่า เขาจะพูดอะไรให้เขาดูดีที่สุด ผมว่าอันนี้คือแบบ เชี่ย เจ็บปวด ก็เลยคุยกันว่าไม่ต้องใช้ดีกว่า

 

 

นวพล x วิชัย

 

เมื่อถอดเรื่องวัยที่ต่างกันออกไป จริงๆ แล้วความทุกข์โศก ความอ่อนไหว หรือการถูกปฏิเสธที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าเสียใจมันคือความรู้สึกที่เราทุกคนต่างมีเหมือนๆ กัน

     เต๋อ: สิ่งที่เขาเจอบางอันเราก็เคยเจอ เหตุการณ์บางอันที่เขาเผชิญเราก็เคยเผชิญ อาจจะไม่ได้เป๊ะ แต่มันประมาณนี้แหละ เราก็เลยไม่รู้สึกว่ามันจะมีช่องว่างในเรื่องอายุเลย หรือว่าเป็นเพราะเพื่อนร่วมอาชีพด้วยหรือเปล่าไม่รู้

     วิชัย: ถ้ามันจะเป็นช่องว่างมันอาจจะไม่ใช่ generation gap แต่เราว่ามันคือ marketing gap เพราะว่ามันมียูนิฟอร์ม มันมีดนตรี มันมีท่าเต้นแบบติงต๊องๆ หน่อยมาวาง มันเลยมีช่องว่างที่หนาขึ้นเรื่อยๆ คนจะ ignore ไปเลยเพราะว่าอะไร แค่น่ารักหรือเปล่า แต่พอเรามาอยู่ในวง เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ เขาก็คือคนที่ทำอาชีพนั้นๆ แต่บังเอิญเป็นคนอายุ 12 ที่มาประกอบอาชีพนี้ว่ะ ถ้าคุยกันแล้วถอดเครื่องแบบออก ถอดการตลาดออกก็คนทั่วๆ ไปนี่แหละ

     เต๋อ: เนื้อในของมันคือความรู้สึกต่างๆ ไม่เกี่ยวกับวัย มันคือความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกน้อยใจ มันมีเหมือนกันหมด

ถ้าคุณอายุ 35 แล้วน้อยใจมันก็คือน้อยใจ คุณโกรธแม่งก็คือโกรธ

     แต่มันโกรธเลเวลไหน มันเลยเชื่อมโยงกับชีวิตอย่างเราๆ ได้ไม่ยาก แต่ความพิเศษของมันแค่คอนเซ็ปต์ก็พิเศษแล้ว เข้ามาตอนแรกเหมือนวงอินดี้วงหนึ่งแล้วจู่ๆ ก็ไปโผล่อยู่ทุกบิลบอร์ดทั่วฟ้าเมืองไทย มันเป็นชีวิตที่สวิงมาก สตอรีของเขาก็เลยน่าสนใจมากๆ

 

แต่การจะไปอยู่บนบิลบอร์ดได้นั้นก็ต้องแลกมาด้วยวินัยในรูปแบบที่คนปกติทั่วไปเขาไม่ทำกัน

     วิชัย: อืม วัยรุ่นมันก็ถือเป็นวัยที่ต้องออกไปสนุก ไม่อยู่ในกฎใช่มั้ย เราเลยสนใจว่าทำไมเขายอมรับสิ่งนี้ได้มากกว่า แล้วเขาเดินตามกฎนั้น เวลามีดราม่าน้องไม่ทำตามกฎออกมาผมก็เลยไม่แปลกใจ ก็เขาเป็นเด็กวัยรุ่นอะ แต่แปลกใจมากกว่าที่เขารู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้แต่เขาเลือกที่จะเข้ามาเพื่อจัดการกับมันให้ได้

     เต๋อ: ผมว่าเขาเหมือนกึ่งยอมกึ่งแลก เหมือนอยากเข้าโรงเรียนนี้แต่โรงเรียนมีกฎสิบข้อนะ แต่ถ้าเกิดได้อยู่โรงเรียนนี้คงจะดี เพราะเขามีกิจกรรมที่เราอยากทำทั้งนั้นเลย ก็ได้ เรายอมทำตามสิบข้อนี้เพื่อจะได้อยู่ในโซนที่เราอยากทำ แล้วด้วยความที่เขาชอบทำกิจกรรมเหล่านี้มันเลยยอมแลกได้ ถามว่าห้ามถ่ายรูปคู่เป็นเรื่องหนักหนามั้ย ก็อาจจะหนักหนาสำหรับเด็กๆ แต่เมื่อเทียบกับการได้ไปเต้นที่เวทีนั้นเวทีนี้หรือได้ขึ้นคอนเสิร์ตมันคุ้มค่ากว่า

 

มันเหมือนการที่เรายอมทำงานจนเหนื่อยแทบตายเพื่อแลกกับอะไรบางอย่างในชีวิตใช่มั้ย

     เต๋อ: เอ้อ ทำงานที่ไม่ชอบแต่ได้เงินเยอะ อะไรแบบนั้นเลย

     วิชัย: เปรียบไปก็เหมือนนางแบบที่ห้ามกินแฮมเบอเกอร์ กินแล้วจะอ้วนนะ มันประหลาดแหละแต่ทุกอาชีพมีกฎประหลาดๆ ของมันอยู่ อาชีพนี้ห้ามถ่ายรูปคู่ห้ามมีแฟนแค่นั้นเอง

 

นวพล x วิชัย

 

ศิลปินรุ่นนี้เริ่มมีการพูดถึงปัญหาทางสังคมบ้างหรือยัง

     วิชัย: ถ้าถามผมพูดแบบชาวบ้านๆ เลยนะ ผมว่าก่อนที่ชาวบ้านจะมาสนใจประเด็นสังคมมากๆ เขาจะต้องเอาปากท้องของเขาให้รอดก่อน ถ้าตัวฉันรอดแล้ว ฉันจะเริ่มมองออกไปที่คนอื่น ผมรู้สึกว่าด้วยความที่น้องจะต้องมีเพลงใหม่ๆ ออกทุกสามเดือนแล้วเขาจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ติดในเป็นหนึ่งในสิบหกคนนั้นให้ได้ ประเด็นทางสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องรอง รอหาที่ยืนให้ตัวเองให้ได้ก่อน

     ส่วนคนที่ยังไงก็มีที่ยืนอยู่แล้วก็อาจจะเริ่มคิดถึงประเด็นสังคมบ้าง เพราะในหนังก็จะเห็นว่าน้องคนนี้ดิ้นรนเพื่อตัวเองอยู่นะ แต่น้องคนนี้จะเริ่มดิ้นรนเพื่อสังคมแล้ว พัฒนาไปอีกสเต็ปแล้ว วันหนึ่งทุกคนมันจะถึงสเต็ปนี้แหละ อยู่ที่ว่าตอนนี้คุณอยู่ในสเต็ปที่เท่าไหร่เท่านั้นเอง

     เต๋อ: อีกแบบคือ สนใจปัญหาสังคมที่สัมพันธ์กับตัวเอง เช่น อรโดนโจมตีก็จะสนใจเรื่อง การไซเบอร์บูลลี่ หรือเฌอปรางขับรถไกลก็จะขับรถเหนื่อยเว้ย ทำไมเราไม่มีการคมนาคมที่ดีกว่านี้ ถึงเวลาที่มันเริ่มเชื่อมต่อกับสังคมแล้ว เด็กมันก็คิดไปได้ไกลเหมือนกันนะ

 

แล้วถ้าเป็นภายในกลุ่มของเขาเอง เขาคิดถึงแต่ตัวเองหรือคิดถึงส่วนรวมมากกว่ากัน

     เต๋อ: มันผสมๆ กันนะ พูดยากว่าเขาคิดถึงอะไรมากกว่า มันมียี่สิบหกคน ก็กลับไปกลับมานะ บางสถานการณ์ก็เลือกวง บางสถานการณ์ก็เลือกตัวเอง อยู่ที่ว่าช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร ตอนนั้นอยู่ในสถานการณ์ไหน

มนุษย์คนหนึ่งเราไม่สามารถเอาทฤษฎีไปจับได้ คนมันซับซ้อนผสมปนเปกันมาก วันนั้นเขาอาจจะเป็นอย่างนี้แต่พรุ่งนี้เขาเป็นอีกคนหนึ่งไปแล้ว

     ผมถึงบอกว่าพอจบสัมภาษณ์ไปสองเดือนแล้วผมก็ไม่รู้แล้วว่าใครจะเป็นยังไงกันบ้าง

     วิชัย: ได้คุยกับพี่คนหนึ่งถึงหนังเรื่องนี้ เขาบอกว่ามันเหมือนมีทีมฟุตบอลที่มีตัวจริงตัวสำรอง เป้าหมายหลักของเขาคือเขาอยากให้ทีมชนะ แต่ฉันก็อยากจะเป็นตัวจริงนะ ถึงจะเป็นกองหลังแต่ก็อยากยิงประตูเหมือนกันนะเว้ย ถ้ายิงประตูได้ ทีมก็ชนะ ตัวเองก็มีผลงาน ผมเลยรู้สึกว่ามันพันกันขนานกันไปหมด อยู่ที่ว่าคุณรู้หน้าที่ของคุณหรือเปล่า

     เต๋อ: แล้วมันก็เป็นอย่างนี้เสมอมา เพียงแต่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหน กฎห้าข้อสิบข้อนี้อาจจะเกิดในยุคห้าสิบปีก่อนมาแล้วเหมือนกัน แต่อยู่ในรูปแบบของกลุ่มนักเรียนนอก กลุ่มตำรวจ หรือกลุ่มทหาร มันมีอยู่แล้วแต่มันจะอยู่ที่ไหนก็ได้ และอยู่ที่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอะไรมากกว่า ในอนาคตมันอาจจะไปอยู่ใน AI ก็ได้

     วิชัย: ถ้าเป็นเมื่อก่อนมันก็คือการสอบเอนทรานซ์หรือเปล่า ที่ครึ่งหนึ่งของประเทศจะสอบไม่ติด หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ในโลกของการทำงาน การที่แผนกหนึ่งมีคนมากมายแต่ก็จะมีคนเดียวเท่านั้นใช่มั้ยที่จะได้โปรโมตเลื่อนขั้น

 

แบบนี้ต่อไปโลกของเราจะยิ่งแข่งขันขับเคี่ยวเอาเป็นเอาตายเพื่อให้เราได้เป็นเซ็นเตอร์มากขึ้นใช่มั้ย

     วิชัย: มันเป็นอย่างนั้นเสมอมา แต่ไม่มีระบบไหนที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนเท่า 48 Group

     เต๋อ: เพียงแต่การแข่งขันอื่นบางทีมันช่วยเราเหมือนกันนะ เพราะมันไม่ได้จับมาอยู่ต่อหน้า สมมติคุณมาสมัครงาน คุณไม่ได้นั่งต่อหน้าคนอีกห้าคนนะ แต่อีกห้าคนมีอยู่ มากันคนละรอบ ไม่เห็นกัน ถ้าสุดท้ายคุณได้แปลว่าคนอื่นไม่ได้นะ มันมีการแข่งขันแน่ๆ เพียงแต่ไม่ดุเดือดเท่านี้ มีคนอยู่ 26 คน มีตัวเลขให้เห็นเลยว่าคุณได้หรือคุณไม่ได้ แล้วทุกคนในประเทศก็จะรู้เหมือนกันว่าคุณได้หรือไม่ได้

 

สเต็ปต่อไปมันก็จะเกิดคนที่แอนตี้สังคม เบื่อการแข่งขัน แล้วก็จะออกมาบอกว่าเราจะแข่งกันไปทำไม ซึ่งมันก็คือคนที่เดินออกไปจากวงใช่มั้ย

     เต๋อ: เราคิดว่าเขาออกด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ไม่ไหวแล้วเลิกมากกว่า ถามว่าใช่พวกคนที่แอนตี้สังคมมั้ย อาจจะไม่ใช่ แต่เขาแค่พบว่ามันไม่เหมาะกับเขามากกว่าหรือเปล่า ไม่ใช่แบบเบื่อการแข่งขัน มันคงจะเป็นแบบ… หรือเราทำไม่ได้วะ กูเข้าผิดชมรมปะวะ เหมือนซิ่วอะ เขาอาจจะผ่านจุดที่แบบ ไม่แน่ใจว่าเราต้องพยายามมากกว่านี้ หรือว่าจริงๆ แล้วมันไม่เหมาะกับเรา คำถามนี้คลาสสิกมากกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่มันคงไม่ถึงขั้นฮิปปี้ว่ากูไม่เอาแล้ว เราจะไปอยู่ไกลๆ มันไม่ขนาดนั้น เพราะถ้าจะไปอยู่ไกลๆ เขาคงไม่เข้ามาสมัครตั้งแต่แรกแล้ว

     วิชัย: บางทีการที่เขาออกมาแอนตี้สังคมมันเป็นแค่การระบายหรือเปล่า เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องแข่งขันกับมันต่อไป ถึงแม้เขาแกรดออกมา กูไม่อยู่ในวงแล้วโว้ย ออกมาข้างนอกแล้วคุณไปทำงาน คุณก็ต้องแข่งอยู่ดี แค่ระบบมันเปลี่ยน

     เต๋อ: ถ้าเกิดมันเป็นสนามที่เราชอบ เราก็จะไม่คิดว่าแข่ง จริงๆ มันก็แข่งแหละ แต่จะรู้สึกอีกแบบ

     วิชัย: เขาอยู่ในสนามที่มันไม่ได้ขับอุปสรรคออกมาชัดเจนขนาดนั้น แต่ผลแพ้ชนะชัดเจนมาก แถมยังมีสักขีพยานที่รู้อยู่ทั่วประเทศ เขาอาจจะเบื่อกับการที่ตัวเองถูกรีพอร์ตทุกอย่างก็ได้ ผมรู้สึกว่าคนที่เดินออกเหมือนเขาแพ้ตัวเองมากกว่าหรือเปล่า

 

นวพล x วิชัย

 

โลกการทำงานของพวกคุณเดี๋ยวนี้ก็วัดผลจากตัวเลขเหมือนกัน แล้วภายในจิตใจตัวเองตอนนี้เป็นยังไงกันบ้าง

     เต๋อ: ด้วยความที่ได้ยอดไม่เยอะอยู่แล้ว (หัวเราะ) ตัวเราเองไม่สามารถเทียบได้กับคนอื่น สมมติแซลมอนเฮ้าส์ทำคลิปคุณลุงเนลสันแล้วได้ยอดถล่มทลาย แต่เราไม่เคยทำอะไรแล้วได้ขนาดนั้น เลยสนใจที่ว่าระหว่างทางเราเป็นยังไงมากกว่า ดูว่าสนุกมั้ยกับถ้าทำแล้วยังมีคนให้ทำอีก ก็จะโอเค เราหล่อเลี้ยงตัวเองต่อไปได้

     ชีวิตเราเป็นซับคัลเจอร์มาตลอดเวลาอยู่แล้ว จริงๆ เราโคตรเข้าใจ BNK48 เลย เพราะเขามาแบบวงดนตรีอินดี้วงหนึ่งเลย เราเป็นซับคัลเจอร์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะทำยังไงดีให้มันรอดไปด้วยกัน ก็ทำแบบที่ชอบไป ถ้าทำแล้วได้ทำอีกก็ถือว่าพึงพอใจมากแล้ว

     วิชัย: ส่วนของเราก็ทำใจนะ มันก็นอยด์บ้างแต่ทุกอย่างเราไม่ได้เป็นคนกำหนด มันคือเฟซบุ๊กกำหนด เราคิดแบบซิมเปิลเลยว่าได้งานที่ดีมั้ย เราชอบมันหรือเปล่า กับได้เงินดีมั้ย สมเหตุสมผลหรือเปล่า ในสามข้อนี้ถ้าได้สองอย่างผมพอใจแล้ว งานนั้นผมอาจจะไม่ค่อยแฮปปี้ก็ได้นะ แต่ผมได้เรียนรู้กับมันพร้อมทั้งได้เงินที่สมเหตุสมผลพอ แต่ถ้างานไหนผมได้แค่อย่างเดียว ได้เงินแต่ไม่เอนจอย อันนี้ผมถือว่าเฟล แต่ที่ทำมายังไม่เคยเจอนะครับว่า เงินก็ไม่ดี งานก็ไม่ดี ส่วนใหญ่ต้องได้สองอย่างกลับมาเสมอ

     แต่ถ้าถามว่ายอดไลก์ยอดแชร์น้อยๆ แล้วนอยด์มั้ย คือเราไม่ได้เป็นคนกำหนดแล้วอะ วิธีแก้ก็คือจ่ายเงินไป ใช้เงินแก้ปัญหา สำหรับยุคที่ไวรัลไม่มีจริงแล้ว ทำไงได้ เราทุกคนต่างอยู่ในกฎของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (หัวเราะ)

     เต๋อ: อย่างน้องๆ เขาก็มีหลักในการตอบตัวเองนะ แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เหมือนมนุษย์มันมี Defense Mechanisms อยู่แล้ว ไม่ได้นะ กูจะบอกว่าตัวเองยังไม่เก่งพอเหรอ ไม่หรอก เขาจะบอกว่า อันนั้นมันไม่ดี โลกมันไม่ยุติธรรม อะไรก็ได้ที่คนทั่วๆ ไปใช้ในการอธิบายตัวเอง

 

น้องๆ เขาควรจะอยู่ในวงจรแข่งขันที่เข้มข้นดุเดือดแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ ต้องมีชื่อเสียงมากแค่ไหนหรือต้องเจ็บปวดอีกมากเท่าไหร่ถึงควรจะเดินออกจากวง

     เต๋อ: เมื่อไม่รักมันแล้วมากกว่า สมมติคนที่ชอบมันต่อให้เขาไม่ได้อะไรกลับมามากมาย แต่การรับรู้หรือวิธีการคิดของเขามันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะเราก็เคยเป็น เกือบทุกคนเคยเป็นสิ่งนั้น ในช่วงแรกๆ ของการทำอะไรบางอย่างมันจะห่วยๆ หรือมันจะไม่เวิร์ก แต่ถ้าเราชอบ เราจะแบบ เออ งานหน้ากูจะเอาแม่งให้ได้ เราเผชิญความผิดหวังมาหลายทีนะ (หัวเราะ) แต่บังเอิญชอบไง มันก็เลยจะแบบทำไปอีกๆ คราวนี้มันอยู่ที่ว่าตัวเขาเองจะบอกได้เองว่าจะพอหรือยัง

     วิชัย: ผมรู้สึกว่าทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่าย แม้แต่งานที่เราฝันเอาไว้ว่าเราอยากทำมันอะ ถึงเวลาเราก็ต้องจ่ายให้มัน มันจะมาในรูปแบบของความปวดหัว ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้เจอหน้าลูก มันมีค่าใช้จ่ายหมด อยู่ที่ว่าเราเตรียมมาจ่ายมากแค่ไหน เราจะยอมควักเนื้อเราไปเรื่อยๆ หรือเปล่า มันอาจจะมีกำไรกลับมาบ้างถ้าเราทำไปแล้วคนชอบเรา

     แต่ว่าถ้างานไหนขาดทุนเรายังจะกล้าควักเนื้ออยู่มั้ยล่ะ น้องๆ ก็จะเป็นแบบนั้นแหละ แต่ละคนมันก็มีทุนรอนไม่เหมือนกัน บางคนได้กำไรกลับมาเพราะว่า กูจ่ายแล้วมีคนชอบงานกูเว้ย กูมีทุนมากขึ้นกูก็จ่ายต่อ บางคนทุนหมดไปแล้วแต่ว่าสายป่านยังยาวก็ยังอยู่ได้ บางคนไม่ไหวแล้วว่ะ ออกดีกว่า กูหมดตัวแล้ว

 

ขอบคุณภาพ: Salmon House