“นั่นแน่! หนังเรื่องใหม่ของคุณมาจากหนังสือการจัดบ้านของ มาริเอะ คนโดะ ใช่ไหม” เราถามเชิงหยอกทันทีเมื่อเห็น ‘เต๋อ’ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เดินหน้า ‘เด๊ดๆ’ ตามเอกลักษณ์เข้ามาใกล้ๆ
หน้าเรียบเฉยเปลี่ยนเป็นยิ้มร่าและหัวเราะลั่น ก่อนบอกว่า “ไม่ใช่ครับ แต่ก็มีแรงบันดาลใจนิดๆ มาจากคุณคนโดะนั่นแหละ” จากนั้น ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และ ‘ออกแบบ’ – ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง สองนักแสดงนำจากหนังเรื่อง ‘ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ เต๋อ นวพล กำกับฯ และจะฉายในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ก็เดินตามเข้ามาสมทบตามที่นัดหมายกันไว้
หากพูดถึง ‘สิ่งของ’ ว่ากันตามตรง มันคือวัตถุที่เรามีไว้เพื่อใช้สอยหรือเพื่อความรื่นรมย์ใจ แต่แปลกนักที่ทำไมเวลาจะต้องทิ้งสิ่งของสักชิ้น บ่อยครั้งที่เรากลับตัดใจได้ยากยิ่ง อาจเป็นเพราะความเสียดาย ความหวงแหน หรือเรื่องราวและความทรงจำที่ฝังอยู่ในของชิ้นนั้น… เวลาจัดเก็บบ้านจึงมักกลายเป็นเรื่องที่เราต้องมานั่งทบทวนเรื่องราวในใจตัวเองอยู่บ่อยๆ
“มันวัดหัวใจเราประมาณหนึ่งเลย ว่าถ้าทิ้งหรือเก็บเราจะเป็นคนอย่างไร จะกลายเป็นคนไม่สนใจความรู้สึกคนอื่นหรือเปล่า หรือเป็นคนที่ก้าวข้ามความยึดติดกับสิ่งของได้ ต้องตอบความรู้สึกตัวเองจริงๆ ให้ได้”
เต๋อ นวพล เล่าถึงเสน่ห์ของการจัดบ้าน ที่ทุกครั้งเขามักจะเจอสิ่งของบางอย่างที่พานให้หวนนึกถึงความสัมพันธ์และเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในอดีต จากจุดนี้ทำให้เขาขัดเกลาออกมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังจัดบ้านในช่วงปลายปี ก่อนที่เธอจะเจอสิ่งของบางอย่าง จนทำให้เธอนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต่างจากประสบการณ์ตรงของผู้กำกับฯ
จะเลือกเก็บไว้ หรือเลือกทิ้งไป — ด้วยความรู้สึกอย่างไร — เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ทุกครั้งที่เราหยิบของหนึ่งชิ้นขึ้นมาแล้วเลือกว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง ก็จะมีผู้คน ช่วงเวลา สถานที่ และความสัมพันธ์ผุดขึ้นมาให้เราระลึกถึงเต็มไปหมด เพื่อให้เราตัดสินใจได้ว่าจะทิ้งของชิ้นนี้หรือไม่ —เต๋อ นวพล
งานใหม่ของพวกคุณเรื่อง ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ออกฉายช่วงปลายปีพอดี คุณมีนัยอะไรเกี่ยวกับช่วงเวลานี้หรือไม่
เต๋อ: อาจเพราะผมเป็นคนที่ชอบจัดบ้านและความรู้สึกตัวเองในช่วงปีใหม่อยู่แล้ว ตอนที่ทำสตอรีบอร์ดเรื่องนี้ก็เป็นช่วงปีใหม่พอดี เลยอยากให้ช่วงเวลาที่ฉายเป็นเดือนส่งท้ายปีเหมือนกัน ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีนะ เหมือนว่าหนังเรื่องนี้กำลังพาเราไปปรับปรุงบ้านและตัวเองพร้อมๆ กัน เรากำลังจะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง
ซันนี่: ผมชอบที่หนังใช้คอนเซ็ปต์ที่เราไม่ค่อยได้เห็นความรักในมุมนี้กันเท่าไหร่ เรื่องของความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่ว่าเธอชอบฉัน ฉันชอบเธอ ความเป็นมนุษย์มีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งของบางอย่าง เอาง่ายๆ แค่เราจับของขึ้นมาหนึ่งชิ้น เราก็คิดต่อแล้วว่าใครซื้อมาให้เรา หรือเราซื้อมาตอนไหน ก็จะพาเราหวนกลับไปคิดถึงอดีตอยู่ทุกครั้ง เราเลยคิดว่าตรงนี้เป็นมุมที่น่าสนใจดี เพราะเหมือนเราลงลึกเข้าไปในชีวิตมนุษย์ยิ่งขึ้นไปอีก
เป็นเพราะมนุษย์มักจะหลงลืมความสัมพันธ์หรือเปล่า สิ่งของเหมือนจะทำหน้าที่เป็นเครื่องแทนใจ แทนความทรงจำ
ซันนี่: ถ้าเรามีสิ่งของอยู่ เวลาหยิบขึ้นมาก็จะทำให้นึกถึงช่วงเวลานั้น แต่ถ้าเราทำมันหายหรือลืมมันไปแล้ว บางทีเราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีความทรงจำร่วมกันกับเจ้าของอยู่
เต๋อ: ทำให้เรามักเป็นคนที่ชอบเก็บของ จริงๆ ก็เสียดายด้วย (หัวเราะ) แต่ช่วงหลังก็เริ่มทิ้งได้บ้างแล้ว มันเป็นเรื่องของช่วงเวลาด้วยครับ บางทีของในปี 2016 ที่คิดว่าทิ้งไม่ได้แน่ๆ แต่ในปี 2018 เรากลับทิ้งได้ เหมือนมันยังไม่ถึงเวลา หรืออาจเป็นเพราะตัวเราเปลี่ยนไปทุกปี อะไรที่เคยรู้สึกกับสิ่งนี้ พอถึงจุดหนึ่งเราก็อาจไม่รู้สึกอะไรแล้วกับมัน
จะว่าไป หากมีสิ่งของมากมายหลายชิ้น แค่จัดเก็บให้เป็นระเบียบก็น่าจะได้ ทำไมถึงต้องตัดใจทิ้งจนถึงขนาดมีฮาวทูในการทิ้งด้วยล่ะ
เต๋อ: ความจริงอีกอย่างคือบ้านไม่มีที่เก็บแล้ว (หัวเราะ) ถ้าเกิดเรามีพื้นที่ไม่จำกัดก็คงเก็บของทุกอย่างไว้เหมือนกัน ผมอาจจะไม่ได้คิดเรื่องนี้เลยก็ได้ แต่ชีวิตจริงเรามีข้อจำกัดเต็มไปหมด เราเลยต้องเลือกอะไรบางอย่างออกไปจากชีวิตบ้าง ความรู้สึกก็เหมือนกัน เวลาจัดบ้านหนึ่งครั้ง เราก็จะได้จัดการความรู้สึกตัวเองผ่านสิ่งของว่า ตอนที่ได้สิ่งของนี้เหตุการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าเคยทำอะไรเอาไว้ทั้งดีและไม่ดี และจะว่ากันอย่างไรต่อไป หมายถึงจะเก็บหรือทิ้งทั้งสิ่งของและความสัมพันธ์ ผมเลยชอบทำกิจกรรมนี้ช่วงสิ้นปี เหมือนเป็นการประเมินผลประจำปีว่าชีวิตเกิดอะไรขึ้นบ้าง
คุณคิดว่าทำไมการตัดสินใจจะทิ้งของบางอย่างถึงเป็นเรื่องที่แสนจะยากเย็น
เต๋อ: เพราะจริงๆ เราไม่อยากทิ้งมัน เราไม่อยากให้มันเป็นขยะ ทำให้ส่วนใหญ่ก็จะรอจนกว่าจะเจอคนต่อไปที่เห็นคุณค่าจากมัน ทำให้เวลาจะทิ้งก็มักจะคิดว่า เราจะทิ้งจริงเหรอ
ซันนี่: ผมไม่ค่อยทิ้งอะไร ถ้าไม่พังหรือว่ามีเยอะมากๆ เวลาที่บ้านถามว่ามีเสื้อผ้าเยอะๆ เอาไปบริจาคไหม เราก็นั่งเลือกจากร้อยตัว ได้มาสามตัว (หัวเราะ) มันเสียดายไปหมดเลย ขนาดตอนให้ไปแล้วก็ยังคิดอยู่เลยว่ามันก็สวยและยังใส่ได้อยู่นี่ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง เพราะถ้าเราไม่รักมันจริง คงไม่มานั่งตัดสินใจแบบนี้หรอก มันยากนะ เพราะถ้าตัดสินใจแล้วก็ต้องรับผลของการตัดสินใจให้ได้ด้วย
ออกแบบ: แต่สำหรับเรา อะไรที่ไม่ใช้แล้วก็ทิ้งได้ทันทีเลยนะ อย่างเช่น กระดาษสีที่เอาไว้ใช้ทำรายงานตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่เราไม่เคยหยิบเอามาใช้อีกเลย มันตั้งอยู่ที่เดิมมาหลายปี เราก็เก็บทิ้ง แล้วจะมีคนเก็บไปใช้ต่อก็เรื่องของเขา เพราะเราถือว่าตัวเองไม่ได้ใช้แล้ว
ซันนี่: แต่ถ้าของสิ่งนั้นยังมีคุณค่าอยู่ เราก็ต้องรักษามันไว้สิ หรือถ้าจะให้คนอื่น คนที่เอาไปก็ต้องเอาของที่เราให้เอาไปใช้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเราเอาขยะไปให้เขา เราไม่อยากให้ของของเรากลายเป็นขยะสำหรับคนอื่น ขยะควรจะเป็นแค่สิ่งที่ไม่สามารถเอาไปใช้ต่อได้แล้ว
ออกแบบ: ก็ไม่ถึงขนาดนั้นนะคะ อย่างนาฬิกาเรือนแรกที่พี่ให้เราเป็นของขวัญวันเกิดก็จะเก็บไว้ หรือแหวนที่อาม่าให้ก่อนท่านเสียชีวิตก็เก็บ
ซันนี่: เก็บแค่สองอย่าง แต่อีกหนึ่งหมื่นอย่างออกแบบทิ้งหมด (หัวเราะ)
ออกแบบ: ไม่ใช่ (หัวเราะ) อย่างโทรศัพท์มือถือที่เราใช้ตอน ม.2 เรายังเก็บไว้อยู่เลย
ซันนี่: แล้วจะเก็บไว้ทำไม ไหนบอกใช้ไม่ได้แล้วก็จะทิ้ง
ออกแบบ: เพราะมีรูปที่เราถ่ายอยู่ในนั้น
มาริเอะ คนโดะ เขียนในหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ว่า “เราไม่ต้องเสียใจที่ทิ้งสิ่งของไปหรอก เพราะมันได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จเรียบร้อยแล้ว”
ซันนี่: อันนี้คือเขาหาวิธีตัดใจจะทิ้งสิ่งของต่างหาก เลยอ้างขึ้นมาว่าเราไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว มันหมดหน้าที่แล้ว ไม่เกี่ยวกัน มันเป็นแค่วิธีหาเหตุผลให้กับตัวเองอีกแบบหนึ่ง ถ้าหมดหน้าที่จริงทำไมเราต้องทิ้งล่ะ เก็บไว้ไม่ได้เหรอ ไม่เห็นจะเกี่ยวกันเท่าไหร่เลย
เต๋อ: จริงๆ วิธีแบบนี้ผมก็รู้มา ซึ่งมีคนใช้ได้จริงเหมือนกันนะ
ออกแบบ: โหย ถ้าเราอ่านหนังสือของเขา เราไม่ทิ้งของหมดทั้งบ้านเลยเหรอ (หัวเราะ) แต่ถ้าเราคิดแบบนี้ได้จริงๆ ห้องของเราคงโล่งน่าดูเลย
อย่างออกแบบ ดูเหมือนจะเลือกเก็บของสำคัญที่มีคนให้มามากกว่าของที่ซื้อหามาเอง อย่างนั้นใช่ไหม
ออกแบบ: ใช่ค่ะ ถ้าเป็นของที่ซื้อหามาเอง เราจะตัดใจทิ้งได้ง่ายมาก
ซันนี่: ออกแบบเป็นคนที่เด็ดขาด เขาเป็นคนที่มีเหตุผล
เต๋อ: งั้นสมมติว่ามีพี่คนหนึ่งให้ของชิ้นหนึ่งมาซึ่งก็สวยดี แต่ไม่ใช่สไตล์ของเรา แบบนี้ออกแบบจะเก็บหรือทิ้ง
ออกแบบ: เราก็อาจจะถามแม่ว่าเอาไหม หรือถ้าถามใครแล้วไม่มีคนอยากได้ เราก็จะทิ้งไปเลย ช่างมันเถอะ
เต๋อ: แต่สำหรับผม จะเก็บไว้จนกว่าจะเจอคนคนนั้น ถ้าให้ทิ้งไปเลยเราจะคิดในใจแล้วว่า “โหย จะดีเหรอวะ”
ซันนี่: ถ้าเป็นออกแบบถึงจะถูกบรีฟว่าเป็นของยุคนั้นยุคนี้ มีความสวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ แต่โน่นเลย ถังขยะครับ ใครอยากได้ก็เอาไป (หัวเราะ)
ออกแบบ: พี่ซันนี่ทำให้หนูดูเป็นเด็กที่ไม่มีจิตใจ (หัวเราะ)
หากเทียบสิ่งของกับความสัมพันธ์ล่ะ ออกแบบจะสามารถตัดสินใจได้อย่างไม่ลังเลเลยไหมว่าคนนี้ใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา
ออกแบบ: ถ้าเป็นเรื่องของคน เราคิดว่าความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นเรื่องของเราคนเดียว ถ้าเราสองคนไม่สามารถไปต่อด้วยกันได้ มันก็คือไม่ใช่ เราก็ตัดจบเลย แต่ถ้าเป็นสิ่งของนั่นคือการตัดสินใจของเราคนเดียว ถ้าอะไรที่ซ่อมได้ก็จะซ่อม เพราะเราอยากใช้ต่อ แต่ถ้าเป็นของที่เสียหายแล้ว เช่น แก้วที่แตกแล้วซ่อมไม่ได้ เราก็ทิ้ง
ของที่ตัดสินใจทิ้งได้ยาก ส่วนใหญ่เป็นเพราะคุณกลัวจะหลงลืมเรื่องราวและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับของชิ้นนั้นด้วยหรือเปล่า
เต๋อ: เวลาเราทิ้งของเราไม่ได้กลัวจะลืมหรือพยายามจะลืม เราทิ้งเพราะเรายอมรับและก้าวข้ามมันไปได้แล้วมากกว่า ต่อให้จะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เวลาทิ้งเราไม่ได้รู้สึกแบบ… เราฝังกลบสิ่งนี้ด้วยความโกรธแค้นกันเถอะ แต่มันเป็นการก้าวข้าม เราไม่ได้พยายามจะลืมอะไร มันแค่ผ่านพ้นไปแล้วและไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเราอีกต่อไป
อันที่จริงแล้วหนังเรื่องใหม่นี้ก็เป็นเรื่องของความรักความสัมพันธ์เหมือนทุกเรื่องของเต๋อ เพียงแต่คราวนี้เล่าผ่านการเก็บบ้าน
เต๋อ: ใช่ เรื่องที่ผ่านมาของเราก็เกี่ยวกับความรักทั้งนั้น เพราะถ้าไม่มีความรักมันจะไม่มีปมในเรื่องเลย เรามองว่าเรื่องราวในชีวิตแต่ละวันก็เกิดขึ้นจากความรักในอะไรบางอย่างทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรักแบบหนุ่มสาว รักแบบเพื่อนและครอบครัว หรือรักในสิ่งของ เราแค่เอาความรักมาตีความให้มันลึกซึ้งมากขึ้น อย่างเรื่องนี้ นางเอกคือคนที่กำลังจัดของครั้งใหญ่ในบ้าน ทำให้เธอต้องเจอสิ่งของต่างๆ ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเก็บหรือจะทิ้งดี ซึ่งกระบวนการตัดสินใจมันหลีกเลี่ยงที่จะไม่เกี่ยวกับความรักได้เลย เรารักของสิ่งนี้ไหม เราชอบคนที่ให้มาหรือเปล่า หนังมันเลยพูดถึงเรื่องความรักและความสัมพันธ์แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
ออกแบบ: เรื่องแบบนี้มันยาก เพราะการที่คนสองคนยังเห็นคุณค่าต่อกัน แล้วไปด้วยกันต่อได้ เขาต้องเข้ากันได้จริงๆ ไม่ได้มีคู่รักทุกคู่ที่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างยืนยาวเหมือนพ่อแม่ของเราได้ ต้องใช้เวลา ความสัมพันธ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มันไม่ง่ายเหมือนสิ่งของ
เต๋อ: อะไรที่จะเก็บหรือไม่เก็บนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเรายังรู้สึกชอบอยู่ ต่อให้มีปัญหาอะไรก็ตาม ไม่นานทุกอย่างก็จะผ่านไป เราจะไม่รู้สึกว่ามาถึงทางตัน แต่ถ้าเวลาของมันหมดแล้วจริงๆ ต่อให้ไม่มีปัญหาอะไร เราก็รู้สึกได้เองว่าเดินมาจนถึงทางตันแล้ว ยิ่งถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นมาเราจะรู้สึกเลยว่ามาถึงตอนจบแล้ว การเก็บหรือทิ้งเป็นการเช็กความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การทำงาน หรือความสัมพันธ์ต่างๆ
เหมือนเวลาคนถามผมว่าทำไมถึงยังทำหนังอยู่ ผมคิดว่าก็คงเพราะตัวเองชอบนั่นแหละ ปัญหาที่เกิดในวันนี้ปีนี้ก็ผ่านไป เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเท่านั้นเอง เราถึงยังไม่ทิ้งเรื่องของการทำหนังไป ซึ่งการเช็กความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องง่ายมาก แค่เรารู้สึกอย่างไร ถามตัวเองแบบที่ไม่ต้องหลอกใคร ซึ่งถ้าเรายังโอเคอยู่ก็ชัดแล้ว เป็นการวัดหัวใจตัวเองประมาณหนึ่งเลย ว่าถ้าทิ้งหรือเก็บเราจะเป็นคนอย่างไร จะกลายเป็นคนไม่สนใจความรู้สึกคนอื่นหรือเปล่า หรือเป็นคนที่ก้าวข้ามการยึดติดกับสิ่งของได้ ต้องตอบความรู้สึกตัวเองจริงๆ ให้ได้
ถ้าอย่างนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์นี้ควรจะทิ้งหรือเก็บดี
ออกแบบ: ขึ้นอยู่ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบไหนด้วย
เต๋อ: ถ้าความสัมพันธ์แบบแฟน สมมติวันหนึ่งที่ออกแบบเบื่อเขาแล้ว จะทิ้งเลยไหมหรือเห็นใจ
ซันนี่: ผมว่าออกแบบทิ้งแต่แรกแล้ว พูดแต่ละคำมา หมอนั่นโดนทิ้งแน่นอน (หัวเราะ)
เมื่อตอบตัวเองได้อย่างชัดเจน กลายเป็นว่าความสัมพันธ์ที่ดูเป็นเรื่องความรู้สึก เป็นนามธรรมนั้นกลับเป็นสิ่งที่จับต้องได้ชัดเจนเลยนะ
ซันนี่: ผมว่าความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งจับต้องได้เหมือนกัน เพราะมันเคยเกิดขึ้นจริง เรารู้สึกจริง คำว่าจับต้องได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจดหมาย รูปภาพ หรือมีของแทนใจอะไรต่างๆ ความรู้สึกและประสบการณ์ก็สามารถจับต้องได้เหมือนกัน เพียงแค่สิ่งของมันมีให้เห็นจริงๆ มันอยู่ให้เห็นตลอด เลยดูเหมือนว่ามันเกี่ยวข้องกันจนแยกไม่ออก จริงๆ สิ่งของเป็นแค่สื่อหนึ่งเท่านั้น
ผมเองก็เป็นทั้งคนเก็บและคนทิ้ง แต่ไม่ใช่เพราะว่าเราตัดใจได้หรือตัดใจไม่ได้ จะเก็บของถ้าเห็นของชิ้นนั้นสวย หรือบางทีก็รู้สึกผิดเวลาต้องทิ้งของที่คนอื่นให้มา เขาอุตส่าห์ขับรถมาตั้งไกล นั่งรถตั้งนานเอาของมาให้เรา จะทิ้งลงจริงเหรอ แต่การทิ้งแล้วหมายความว่าเราไม่สนใจความรู้สึกของคนให้หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เพราะความรู้สึกมันก็ยังอยู่ในความทรงจำ อยู่ในหัวใจของเราอยู่แล้ว
หรือเป็นเพราะความยึดติด ที่ทำให้คนเราไม่ค่อยยอมทิ้งสิ่งของต่างๆ ในครอบครอง
ซันนี่: ส่วนหนึ่ง บางทีเรามักจะเป็นทุกข์หรือเป็นสุขจากการยึดติดกับสิ่งของพวกนี้ แต่มันก็ไม่ผิดอะไรนี่ ถ้าเรายอมรับที่จะทุกข์หรือสุขแบบนั้น การยึดติดไม่ได้ผิดอะไร
เต๋อ: อยู่ที่ว่าเรากล้าจะยอมแลกความรู้สึกกับการยึดติดไหม ถ้าคุณเก็บของไว้ก็ต้องเตรียมตัวรับความรู้สึกกับอารมณ์ของตัวเองด้วย
แล้วพวกคุณคิดว่ามนุษย์เราจะไม่ยึดติดกับสิ่งของเลยได้ไหม
เต๋อ: ได้นะ เพราะบางทีเราก็ไม่ได้เก็บของเพราะมันสวยหรือต้องเก็บไว้ แต่บางทีก็เป็นเรื่องของความทรงจำและความรู้สึก บางทีถ้าเราก้าวข้ามมันไปได้แล้ว การไม่ยึดติดกับตัววัตถุแล้วปล่อยให้ความรู้สึกเราโหยหาและระลึกถึงช่วงเวลานั้น มันก็เป็นการคิดถึงความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน
ซันนี่: ได้แน่นอน เราเป็นคนเข้าใจอะไรง่าย เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วดีที่สุดเสมอ วันเวลาผ่านไปหากเราจะต้องไม่มีมันก็ต้องยอมรับให้ได้ครับ อย่างโทรศัพท์มือถือ วันหนึ่งถ้าหายไปจากโลกเราก็ต้องอยู่ให้ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ตายจากการที่โลกไม่มีโทรศัพท์ คนเราชอบคิดว่าการปล่อยวางคือความเศร้าอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เราปล่อยวางเพราะสิ่งของทำหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว ความคิดถึงก็ทำหน้าที่เหมือนกับสิ่งของได้เหมือนกัน
ออกแบบ: สุดท้ายถ้าไม่มีสิ่งของใดๆ ในชีวิตเลย เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปอยู่ดี จะโหยหาไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา อย่างเช่น ถ้าแหวนที่อาม่าให้ก่อนเสียชีวิตหาย เราก็จะรู้สึกเศร้านะ แต่มันก็พาอาม่ากลับมาไม่ได้ เราเลยเลือกที่จะยอมรับและเก็บไว้ในความทรงจำดีกว่า
ทำไมคนในยุคนี้มักจมดิ่งอยู่กับความสัมพันธ์ที่โศกเศร้าอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในโซเชียลมีเดีย
ซันนี่: อาจเพราะเขาเกิดมามีแบบนี้แล้ว อย่างสมัยก่อนมันมีหลายสื่อ ไม่ได้เกิดมาแล้วทุกคนจะต้องพูดอะไรผ่านโซเชียลมีเดียตลอด แต่สำหรับคนยุคนี้อาจคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติของพวกเขา เคยคิดเหมือนกันนะว่าทำไมเขาไม่คิดในใจกัน แต่จนถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่านี่คือการคิดในใจของเขาโดยที่คนอื่นเห็นด้วย แต่ถ้าเราเอง—จะรู้สึกว่าคนเราไม่จำเป็นต้องพูดกันผ่านโซเชียลมีเดียตลอด เราอยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างโลกมนุษย์กับออนไลน์ ก็เลยมันจะรู้สึกว่าในโลกออนไลน์จะมีอะไรบางอย่างเคลือบอยู่เสมอ เราจะไม่ค่อยเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่เขาคิดจริงๆ มันมีหลายตัวแปรที่จะบอกว่าเขาไม่ได้คิดแบบนั้นจริง ผ่านการพิมพ์และโพสต์ของเขา
เต๋อ: คนก็ต้องเศร้ากันทุกยุคไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง เพียงแต่ว่าในยุคของโซเชียลมีเดีย เราเห็นอะไรแบบนี้กันได้ง่าย เพราะมันเป็นที่เอาไว้ระบาย เพราะถ้าพูดกันตามตรงมันคือสิ่งที่สะท้อนความคิดของเรา ขนาดช่องโพสต์สเตตัสของเฟซบุ๊กยังขึ้นประโยว่า What’s on your mind? เลย
แล้วทำไมคนถึงเลือกแสดงความรู้สึกต่อกันผ่านสื่อ แต่พอเวลาเจอหน้ากันจริงๆ กลับไม่แสดงท่าทีที่จะสานสัมพันธ์ต่อกัน
ออกแบบ: เราว่าเป็นเรื่องความสบายใจของแต่ละคน เหมือนในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นคอมฟอร์ตโซนของเขา
เต๋อ: เราคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีมากกว่า เขาโตมาในยุคที่คุ้นเคยกับการพิมพ์ จริงๆ ยุคนี้ทุกคนก็คุ้นชินกันหมด แต่ช่วงที่ผมเกิดมันยังอยู่ในโลกออฟไลน์บ้าง ยังต้องคุยโทรศัพท์ ต้องออกไปเจอคนอื่นเพื่อพูดคุยบ้าง มันเป็นวิธีในการเลือกใช้สื่อมากกว่า
ซันนี่: ยุคนี้เขาอาจจะระบายลงโซเชียลมีเดียว่าวันนี้รู้สึกผิดหวังกับตัวเองจัง แต่ผมจะไม่ทำเลยแม้จะรู้สึกแบบนั้นจริงๆ มันคงเป็นวิธีการแสดงออกของแต่ละคนน่ะ
ถ้าโซเชียลมีเดียหายไป คนยุคนี้น่าจะอยู่ยากขึ้นเหมือนกันนะ
ซันนี่: ก็คงจะเคว้งหน่อยในตอนแรก แต่สักพักก็ต้องก้าวต่อไปอยู่ดี เป็นอีกยุคหนึ่งแทน สมัยก่อนคนป่ายังอยู่กันมาได้เลย ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ล่ะ
คนเราต้องแคร์ความรู้สึกของคนรอบข้างในโลกออนไลน์ไหม
ออกแบบ: ไม่เลยค่ะ เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรับอะไรแบบนี้เข้าตัว
เต๋อ: แต่เราก็สามารถเลือกได้เหมือนกันนะว่าอยากให้ความรู้สึกแบบไหนเข้ามาหาเรา เวลาทำหนังเรื่องหนึ่งผมเจอมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งคนที่รักมากๆ คนเกลียดมากๆ แต่พอเจอบ่อยๆ เราก็เริ่มเข้าใจกลไกของมัน เราเริ่มหาตัวกรองความรู้สึกเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้ เริ่มแยกแยะได้ว่าอันไหนดีหรือไม่ดีกับเรา นี่เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน ถ้าเรายังอยากให้สื่อตรงนี้อยู่ แต่ถ้าไม่อยากใช้จริงๆ ก็ปิดมันไปเลย ง่ายนิดเดียว
ซันนี่: ไม่มีใครว่าเราได้ ถ้าเราไม่ว่าตัวเอง ความเห็นคนอื่นมันก็เรื่องของคนอื่น ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งจริงใจขนาดไหนเราก็ยังไม่รู้ บางคนในโลกออนไลน์ด่าเราแทบตาย แต่พอเจอตัวจริงต่อหน้ามาขอถ่ายรูปด้วยก็มี (หัวเราะ)
คุณคิดว่าการระบายความรู้สึกลงไปในโซเชียลมีเดีย ช่วยผ่อนคลายจิตใจขึ้นไหม
ออกแบบ: ไม่จำเป็นเลย เรายังไม่เข้าใจเลยว่าการระบายลงโซเชียลมีเดียมันช่วยให้เราสบายใจได้จริงๆ เหรอ
ซันนี่: เราก็ไม่จำเป็นต้องตะโกนว่า ‘วันนี้รู้สึกไม่ดีจังเลยโว้ย’ ลงในนั้นเลยนี่ ทำไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมาหรอก (หัวเราะ)
ออกแบบ: ถ้าจะระบายอะไรสักอย่าง เราก็คงไปคุยกับเพื่อนมากกว่าจะที่เขียนระบายลงโซเชียลฯ ที่เหมือนกับเราคุยกับใครก็ไม่รู้
คนรุ่นใหม่อย่างออกแบบ มีวิธีรับมือกับความเห็นเชิงลบในโลกออนไลน์อย่างไรบ้าง
ออกแบบ: จริงๆ ทุกวันนี้เราแทบไม่ค่อยได้เล่นโซเชียลมีเดียเลย ทีวียังแทบไม่ได้ดู แต่ก็รู้อยู่ตลอดว่าในโลกออนไลน์เกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็ยังตามข่าวอยู่ อย่างวันนี้ก็รู้ว่ามีคนมาแสดงความเห็นไม่ดีในงานของเราที่เพิ่งลงเป็นคลิปวิดีโอไป แต่ก็รู้สึกว่าเราไม่เห็นต้องไปสนใจเขาเลย แค่ลบๆ ลืมๆ ไปก็จบแล้ว
ซันนี่: เอาเบอร์มาเดี๋ยวโทร.ไปด่าให้ (หัวเราะ) สำหรับผมเวลาใครว่าอะไรมามันเป็นเรื่องของเขา ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย และสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่แค่อยู่ในโลกออนไลน์เท่านั้นจริงๆ
เต๋อ: คนชอบคิดกันว่าสิ่งเหล่านี้มันอยู่ใกล้ตัวเรา แต่จริงๆ มันไม่ได้อยู่ใกล้เลย มันอยู่ในจอ อยู่ในกระจก คนที่โดนความคิดเห็นเชิงลบเยอะมากๆ ไม่ได้แปลว่าเดินออกไปหน้าบ้านจะต้องถูกด่าเหมือนกัน ชีวิตจริงไม่ใช่แบบนั้น เวลาเจออะไรไม่ถูกใจ เราควรทำความเข้าใจมากกว่าว่าทำไมถึงเกิดขึ้น มันไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดี แต่มันอาจไม่ตรงใจหรือถูกใจเราเฉยๆ หรือเปล่า
ซันนี่: เราต้องจัดการความรู้สึกตัวเองให้ได้ อย่าไปโทษสิ่งอื่น ถ้าเราไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็ไม่ต้องไปสนใจหรืออย่าไปทำแบบนั้นสิ มันง่ายนิดเดียวเลยนะ ไม่ต้องพิมพ์ด้วยซ้ำ
เต๋อ: ผมว่าเราจะเรียนรู้ไปเอง เทคโนโลยีเป็นเรื่องของการสื่อสาร มันเหมือนกับไฟที่ใช้ได้ทั้งก่อฟืนหุงข้าวและเผาบ้านในเวลาเดียวกัน มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องรู้จักว่าจะรับมือและสื่อสารกับคนอื่นอย่างไร สมมติเราพิมพ์เถียงกับเพื่อนแล้วไม่จบสักที วันหนึ่งเราจะเข้าใจเองว่าเราไม่ต้องสื่อสารหรือรับสารแบบนี้มาก็ได้ มันไม่มีวันจบหรอก แล้วเราจะเริ่มตอบตัวเองได้ว่าเราควรจะอยู่ในโลกออนไลน์นี้หรือไม่ เราควรจะพิมพ์สเตตัสระบายความรู้สึกในใจหรือเปล่า จะติดต่อสื่อสารกับคนในนั้นอย่างไร เราจะคิดรอบคอบมากขึ้น
การรับฟังก็เหมือนกัน สุดท้ายเราก็จะรู้เองว่าการเป็นคนสาธารณะ แปลว่ามีคนสื่อสารกับเราจำนวนมาก ก็จะมีความเห็นหลากหลายเข้ามาเหมือนกัน เราก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้และหาวิธีจัดการกับความรู้สึกตัวเองให้ได้
ซันนี่: ฟังที่เต๋อพูดก็รู้สึกว่า ถ้ามีคำว่า ‘คิดก่อนพิมพ์’ ขึ้นมาบนหน้าจอบ้างก็ดีเหมือนกันนะ
ออกแบบมาร่วมงานกับเต๋อและซันนี่ที่เขาเป็นผู้กำกับ-นักแสดงคู่หูกันมา รู้สึกกดดันกับความเข้าขาของพวกเขาไหม
ออกแบบ: ตอนแรกก็รู้สึกกดดันเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะกดดันไปทำไม ในเมื่อบทก็ไม่ได้เหมือนกันอยู่แล้ว โชคดีที่ได้ทีมงานที่ดีคอยช่วยเหลือ ตรงไหนที่ทำไม่ได้หรือรู้สึกว่ายาก พี่ๆ เขาก็จะคอยช่วยเหลือและอธิบายให้ฟังตลอด
ตอนที่รู้ว่าจะต้องมารับบทผู้หญิงที่ต้องเก็บบ้านครั้งใหญ่ ออกแบบนึกถึงอะไร
ออกแบบ: มาริเอะ คนโดะ เลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะช่วงนี้เขาก็กำลังเป็นกระแสพอดี แต่ถ้าถามว่ารู้เรื่องทฤษฎีของเขาไหม ก็ไม่เลย (หัวเราะ)
เต๋อ: พอมาเป็นตัวละครจะมีรายละเอียดเยอะกว่านั้นมาก การจัดบ้านก็มีเรื่องราวของมัน แต่พอต้องอธิบายว่าคนนี้เป็นใคร ทำไมต้องเก็บบ้าน จะทิ้งหรือเก็บสิ่งของเพราะอะไร มันเลยสร้างเรื่องราวให้ตัวละครมีชีวิตมากขึ้น
ออกแบบ: เวลาทำงานเราต้องมาคุยกันก่อนว่าแก่นความคิดของผู้หญิงคนนี้คืออะไร เธอเจออะไรมาบ้าง ต้องเป็นแบบไหนกันแน่ หรือแม้กระทั่งมีอะไรที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเราได้ไหม เพื่อที่จะเอาไปพัฒนาต่อ ตัวละครนี้เลยมีตัวตนเราอยู่ด้วยพอสมควร
เวลาทำงานร่วมกัน คุณทั้งสามคนมีวิธีเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง
เต๋อ: เราทั้งสามคนมีหลายอย่างที่เหมือนกันมากเลยนะ อย่างที่เราคุยกันตอนนี้ยังรู้สึกเลยว่า พวกเราแม่งแก่ คุยกันแต่เรื่องแปลกๆ และนามธรรมแบบนี้กันได้นานขนาดนี้ (หัวเราะ) อาจเป็นเพราะพวกเราพร้อมที่จะแชร์และรับฟังกัน สมมติผมมีเรื่องที่พวกเขาไม่เข้าใจเลย เขาก็จะถามว่าคืออะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะปรับให้เรามีรสนิยมมุมมองที่คล้ายกันไปเอง
ออกแบบ: ใช่ การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญมาก เราคิดว่าถ้าเราไม่ได้สนใจโลกของแต่ละคน ไม่พยายามพาตัวเองไปรู้จักโลกของพวกเขา เราก็จะไม่สนิทกันเลย
ในมุมมองเต๋อ โลกของซันนี่และออกแบบเป็นอย่างไรบ้าง
เต๋อ: เรามองว่าซันนี่เขาอยู่อีกโลกหนึ่งไปแล้ว เหมือนทหารผ่านศึกที่พร้อมจะก้าวไปอีกขั้น ที่ผมก็ยังเข้าไม่ถึงเหมือนกัน เพราะในโลกการทำงานประสบการณ์เขาเยอะมากๆ ส่วนออกแบบจะง่ายหน่อย คือเขามีอีกอาชีพหนึ่ง ทำงานต่างประเทศมาก่อน และยังเด็กกว่าผมมากๆ ด้วย แค่นี้ก็รู้สึกว่าเป็นโลกคนละใบกันแล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกว่าตัดขาดขนาดนั้น เพราะด้วยนิสัยหรือการรับฟังอย่างที่บอก ทำให้ถึงแม้ออกแบบจะเด็กกว่าผมเป็น 10 ปี เราก็ยังสนิทกับเขา แต่นี่อาจเป็นเรื่องเฉพาะคนด้วย ถ้าเจอเด็กอายุ 23 คนอื่นผมอาจจะไม่สนิทแบบนี้ก็ได้
รู้มาว่าออกแบบจะอ่อนไหวกับเรื่องการทำงานมาก
ออกแบบ: เพราะเราชอบกดดันตัวเอง อยากให้งานออกมาดีที่สุด แต่พอมีอะไรพลาดมาก็มักเก็บมาคิดว่าเราต้องทำได้ดีกว่านี้สิ แล้วก็ชอบแอบไปร้องไห้ในรถตู้คนเดียว (หัวเราะลั่น)
เต๋อ: ถือว่าเขาเก็บอารมณ์เก่งเหมือนกัน เราเพิ่งมารู้ตอนถ่ายเสร็จแล้วว่าออกแบบแอบไปร้องไห้คนเดียวตลอด แต่ตอนทำงานผมไม่รู้เลย เพราะมัวแต่อยู่หน้ากอง
ซันนี่: บางทีเขาก็ชอบเข้ามาขอโทษเรา เราก็จะบอกว่าไม่ต้องกดดันตัวเอง ขอโทษทำไม เราเป็นทีมเดียวกัน แต่เขาก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ดี
เรื่องก่อนหน้านี้อย่าง ฉลาดเกมส์โกง ออกแบบก็เปราะบางแบบนี้เหมือนกันไหม
ออกแบบ: ตอนรับบทครูพี่ลิน เราต่อยกำแพงเลย (เสียงร้องอู้วดังไปทั้งห้อง) ตอนถ่ายทำฉากในรถไฟใต้ดินที่ซิดนีย์ แล้วเราขอเขาปิดสถานที่ไม่ได้ รถไฟก็กำลังจะเลิกวิ่ง ตอนนั้นเหลือแค่ซีนนี้เป็นซีนสุดท้าย ถ้าถ่ายไม่ทันก็ต้องกลับมาถ่ายใหม่ซึ่งจะเปลืองงบมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็ทำไม่ทัน ตอนนั้นเราก็เสียใจมากเหมือนกันที่เป็นต้นเหตุให้ถ่ายทำไม่เสร็จ
เต๋อ: คิดว่ามีแต่ในมิวสิกวิดีโอเสียอีก ต่อยจริงเลยเหรอ
ซันนี่: นี่ไง คนถึงทำมิวสิกวิดีโอแบบนี้ออกมาเยอะ มันฝังเข้าไปในหัวเด็กยุคนี้หมดแล้ว ว่าต้องต่อยกำแพงเวลาคับข้องใจ (หัวเราะ)
แต่กับหนังเรื่องนี้ ออกแบบคงรู้สึกกดดันน้อยลงใช่ไหม
ออกแบบ: น้อยลงมาก แทบจะเป็นคนละแนวเลยค่ะ (ยิ้มอย่างภูมิใจ)
ซันนี่: ทำงานกับผู้กำกับแบบเต๋อ ถ้าไม่เข้าใจคือตายเลยนะ สมมติถ้าเราเป็นนักแสดงที่เล่นหนังมานาน แล้วมาเจอเขาเรื่องนี้เรื่องแรก เราจะเชื่อว่ามีหาเรื่องกันแน่นอน (หัวเราะ) เพราะเราแทบไม่รู้เลยว่าผู้กำกับคนนี้คิดอะไรอยู่
เต๋อ: จริงๆ ตอนที่รู้ว่าออกแบบร้องไห้ก็ช็อกเหมือนกัน เพราะเราคิดว่าตัวเองเป็นผู้กำกับที่ใจดีที่สุดในจักรวาลแล้วนะ
แล้วผู้กำกับที่ใจดีที่สุดในจักรวาลคนนี้ แก้ปัญหานี้อย่างไร
เต๋อ: ผมบอกน้องไปว่า ในความรู้สึกที่เราคิดว่าตัวเองแสดงไม่ดี บางทีในมุมมองผู้กำกับคือมันดีแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าน้องเขาจินตนาการไปถึงขั้นไหน เพราะเวลาเราบอกว่าโอเค มันคือโอเคแล้วจริงๆ ถ้าไม่โอเคคงไม่ปล่อยให้ผ่านหรอก ก็ต้องอยู่ตรงนั้นเรื่อยๆ จนกว่าเราจะบอกว่าพอแล้วอยู่ดี หรือบางทีซีนนั้นมันแค่ดี ไม่ได้แย่ แต่เราต้องไปต่อแล้วเหมือนกัน ก็ไม่ได้ผิดอะไร การทำหนังมันคือการบริหาร ถ้าเราจะเอาแต่ยอดเยี่ยมอย่างเดียว มันจะมีปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย ต้องมีการตัดทิ้งกันไปบ้าง แต่ไม่ใช่ตัดทิ้งแบบชุ่ยๆ นะ ต้องตัดทิ้งแบบเราพึงพอใจในระดับหนึ่งด้วย
ปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้หนังออกมายอดเยี่ยมทุกช็อตไม่ได้
เต๋อ: ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเวลา ถ้ามีเวลาไม่จำกัด เราจะได้ฉากที่ยอดเยี่ยมทั้งหมดออกมาแน่นอน แต่พอเรารู้ว่าเวลาทำหนังมีข้อจำกัดอยู่ เราก็ต้องรู้จักการบริหารว่าซีนไหนต้องยอดเยี่ยมเท่านั้น หรือซีนไหนเอาแค่โอเคก็พอไหว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับทุกคนต้องเจอ
ในฐานะที่เต๋อเป็นผู้กำกับที่ชอบถ่ายแบบลองเทกมาแต่ไหนแต่ไร รวมทั้งในเรื่องนี้ก็มีอยู่ อยากรู้ว่าลองเทกที่เปอร์เฟ็กต์ของคุณนั้นเป็นแบบไหน
เต๋อ: สำหรับผมคือต้องเป๊ะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวหนังและวิธีการเล่าด้วย ไม่ใช่ว่าจะใช้ลองเทกทุกช็อต แล้วจะกลายเป็นหนังดี อีกอย่างลองเทกใช้เวลาและพลังงานของเรามหาศาลมาก การจะถ่ายแบบนี้เราต้องจัดคิว ดูคิวกันละเอียดมาก หนังดีๆ ที่ใช้ลองเทก อย่างเช่น Children of Men นี่ก็ซูเปอร์ลองเทก เขาอาจจะซ้อมกันทั้งวันเลย แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะใช้วิธีนี้แล้วหนังออกมาดี อย่างการสัมภาษณ์ครั้งนี้ที่เราคุยกันเป็นชั่วโมง ถ้าคนดูได้อ่านทุกอย่างแบบต่อเนื่องยาวๆ เลย ก็คงจะไม่สนุกเท่ากับที่ผ่านการเรียบเรียงใหม่แล้วก็ได้
คุณไม่คิดว่าตัวเองจะทะเยอทะยานจนถึงขั้นทำลองเทกทั้งเรื่องอย่างหนังเรื่อง Birdman บ้างหรือ
เต๋อ: ถ้าเป้าหมายของผมคือการนำเสนออะไรสักอย่างยาวๆ ผมอาจจะทำก็ได้ ยิงไปเลย 6 ชั่วโมง ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย คนดูก็ดูกันไปเลย (หัวเราะ)