ikigai จักรพงษ์

จักรพงษ์ คงมาลัย | ประสบการณ์ความล้มเหลวและการฟื้นคืนกลับมามีความสุขกับงานอีกครั้ง

บางครั้ง IKIGAI ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายกับชีวิตของเรา เมื่อเผชิญหน้ากับโลกรุ่มร้อนเร่งรีบจนทำให้เราซวนเซเดินเป๋ไปมา แต่ความหมายที่เรากำหนดให้กับชีวิตเองนั้นจะช่วยพาเรากลับคืนมาสู่เส้นทางชีวิต ลุกขึ้นมายืนหยัดกับปัญหาตรงหน้า มองหาความสอดคล้องกับผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัว เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความหมายที่ดีงาม โดยเฉพาะการนำอิคิไกมาประยุกต์ใช้ในการงานธุรกิจที่น่าจะเคร่งเครียดและต้องต่อสู้แข่งขันกันดุเดือด ‘ปอง’ – จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้งดิจิตอลพีอาร์เอเจนซีที่ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้ จะมาบอกเล่าประสบการณ์ความล้มเหลวและการฟื้นคืนกลับมามีความสุขกับงานและทีมงานของเขาให้เราได้ฟังและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ikigai จักรพงษ์

Individualism to Group Success

     ในโลกยุคดิจิตอลที่อะไรๆ หมุนไปไวกว่าที่เคย เราจะพบว่ารอบตัวนั้นท่วมท้นไปด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไหลผ่านเราไปในแต่ละวัน ทั้งรูปภาพ คลิปวิดีโอ บทความ คำพูดและการแสดงความคิดเห็นของผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลก เทคโนโลยีเชื่อมโลกเราไว้ให้เหลือใบเล็กนิดเดีย วันดีคืนดีโพสต์สุขสันต์วันเกิดคุณย่าของเด็กหนุ่มชาวบราซิล หรือประกาศตามหาน้องหมาที่หายไปในวันคริสต์มาสของครอบครัวชาวอังกฤษ อาจถูกแชร์ต่อๆ กันจนมาปรากฏบนนิวฟีดของเราที่กรุงเทพฯ นี่คือหนึ่งในความความมหัศจรรย์ของการเข้าถึงข้อมูลในโลกยุคดิจิตอลที่ถูกปลดล็อก

     ในขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีทำงานอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ท่วมท้นและรวดเร็ว พวกเขาจะค้นหาความสุขจากงานและข้ามผ่านปัญหาอุปสรรคมากมายไปได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาเบื้องต้นที่สุด ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องความสำเร็จท่วมท้นในเรื่องตัวเลขยอดขายหรือผลกำไรเลยด้วยซ้ำ

     “สิ่งหนึ่งที่ทำให้การทำประชาสัมพันธ์บนโลกดิจิตอลไปได้ด้วยดี ผมมองว่ามันต้องเป็นข้อมูลที่ดีด้วย” ‘ปอง’ – จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้งบริษัท Moonshot Digital PR Content Agency ที่ว่าด้วยเรื่องของ Brand Love มาให้ทัศนะในเรื่องนี้กับเรา

 

Ten People, Ten Colors

     ปองมุ่งเน้นการสร้าง Brand Loveให้กับลูกค้า ถือเป็นแกนหลักในการทำประชาสัมพันธ์ของ Moonshot เพื่อสร้างมุมมองเชิงบวกให้คนรักแบรนด์ผ่านข้อมูลและคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ ซึ่งต้องมีประโยชน์ต่อผู้อ่านด้วย เป็นอีกขั้นของการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่เรื่องการตลาดหรือโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย ความทะเยอทะยานมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมายและหลักการของตัวเอง บางครั้งก็นำไปสู่ความเครียดมากเกินไป เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และขาดการทำงานเป็นทีมกับลูกน้องที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นเจเนอเรชันวาย

     “ตอนที่เริ่มมาทำ Moonshot ผมมีทฤษฎีอยู่เต็มหัวเลย อ่านตำราฝรั่งมาเยอะ เราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำ branded content แบบนี้ลูกค้าต้องชอบแน่ๆ เราจะมีอีโก้ของเราลึกๆ ว่าเราเคยผ่านงานมาหมด ทั้งเคยเป็น publisher และเคยทั้งเป็น brand เอง ทำไมเอเจนซีเราจะทำไม่ได้ แต่ปรากฏว่าที่ผมคิดๆ มาทั้งหมด มันผิดถนัด”

     ปองเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ช่วงเริ่มปีแรกๆ ในการก่อตั้ง Moonshot ที่ความท้าทายไม่ได้อยู่แค่การเสนองานลูกค้าให้ผ่านเท่านั้น อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เขาเจอคือ การบริหารลูกทีมที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ความสุข ความสนุก และความกระตือรือร้นในการทำงานของคนในทีมที่นับวันเริ่มลดน้อยถอยหาย

     “ผมกลับบ้านไปนั่งเครียดทุกวัน ทำไมกันนะ ทั้งๆ ที่เราก็ทุ่มเท ทำงานหนักมากให้บริษัท มาแต่เช้าตรู่ กลับดึกดื่น แต่น้องๆ ในทีมไม่มีความสุขในการทำงาน ร้องไห้ทุกวัน บรรยากาศในบริษัท สภาวะอารมณ์ในการทำงานของทีมมันไม่ดีเลย”

     ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่ปองจะมาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท Moonshot เขาคนนี้ผ่านงานทั้งในและนอกประเทศมาอย่างโชกโชนตลอด 18 ปีของการทำงาน เริ่มจากการเป็นนักข่าวซึ่งสนุกกับการเล่าเรื่อง ค่อยๆ ผันตัวเองสู่สายการตลาด จากนั้นจึงเข้าสู่แวดวงบริษัทเทคโนโลยี แอพพลิเคชัน และเว็บไซต์ ไต่ตำแหน่งระดับการทำงานขึ้นมาเรื่อยๆ

     “จาก junior สู่ middle management และ top management ความสุขในการทำงานของเราเปลี่ยนไปในแต่ละขั้นของชีวิต และแน่นอนว่าความทุกข์เองก็เปลี่ยนประเภทเช่นกัน จากเมื่อก่อนต้องทำงานตามกรอบที่เขาวางไว้ให้ ตอนนี้เราคือคนกำหนดขอบเขตเหล่านั้น เมื่อขึ้นมาถึงจุดนี้ เราจะรู้ได้ทันทีว่าการทำงานมันคนละแบบกันอย่างสิ้นเชิง”

     “พี่ปองอย่า kill กันแรงนะ” คำพูดของน้องๆ ในทีมเมื่อต้องนำไอเดียมานำเสนอในที่ประชุม สิ่งที่ปองค้นพบคือ ลูกทีมที่ทำงานกับเขารู้สึกกดดันอย่างมากแม้ว่าเขาจะบริหารงานตามหลักการดังที่ควรจะเป็นแล้วก็ตาม

 

ikigai จักรพงษ์

 

Harmony & Sustainability

     ตอนแรกเขาบริหารงานด้วย KPI (Key Performance Indicator) ตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่ในที่สุดก็พบว่าเขาไม่ได้บริหารใจคน

     “ผมค้นพบว่าจริงๆ แล้วการเป็นผู้นำและบริหารทีม คือการทำให้ทุกคนเกิด harmony ในการทำงาน ทำให้คนที่อยู่รายรอบเรามีความสบายใจ เปิดพื้นที่ให้เขาได้คิด ได้ทำ ได้นำเสนอไอเดีย”

     หลังจากบรรยากาศในการทำงานดำดิ่งไปจนถึงจุดต่ำสุด เขาจึงได้เรียนรู้และหันมาบริหารใจคน จนกระทั่งพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานเปลี่ยนไปไปในทางที่ดีขึ้น

แค่ผมไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เอาไอเดียตัวเองไปใส่เขา มันกลับกลายเป็นว่าผมบริหารความรู้สึก มากกว่าบริหาร KPI เราแค่ต้องสนใจคนอื่นจริงๆ ไม่ใช่สนใจแค่เพราะเป็นมารยาททางสังคม

     “มันเลยกลายเป็นบรรยากาศในการทำงานดีขึ้น คนรอบตัวเรามีความสุขมากขึ้น เปิดใจคุยมากขึ้น และอยากทำงานเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน นั่นคือจุดเปลี่ยนทุกอย่าง”

     ปองยิ้มแล้วเล่าถึงเส้นทางการทำงานอันยาวนานของเขา ผ่านบริษัทและรูปแบบการทำงานมาหลากหลาย แน่นอนว่าแต่ละองค์กรมีฮีโร่อยู่ ฮีโร่ที่โดดเด่นและได้รับการจับตามอง แต่ความสุขจากการทำงานทุกวันนี้ของเขา ไม่ได้เกิดจากการมีฮีโร่ในบริษัทอีกต่อไปแล้ว แต่มันเกิดจากความสำเร็จร่วมกันของทุกคนในทีม เป็นความสุขเมื่อเห็นงานโดยรวมลุล่วงสู่เป้าหมาย ไม่ได้เป็น individualism และเป็น group success

     “เมื่อก่อนผมเข้าใจคำว่า ‘ทีมเวิร์ก’ ว่าคือการทำงานเป็นระบบทีม เอาจริงๆ แล้วมันคือการทำงานด้วยกันเพื่อส่งเสริมกันและกัน เป็น right ingredient ที่เข้ากันได้ชนิดขั้นสุด ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งระหว่างการทำงาน ทุกคนเลยพร้อมที่จะร่วมแก้ไข ถึงเหนื่อยแค่ไหนแต่ก็พร้อมยิ้มและสู้ไปด้วยกัน”

     ปองมองคำว่า ‘หัวหน้า’ ในทุกวันนี้ว่าไม่ใช่นักเตะที่จะลงไปขลุกกับเกมในสนามอีกแล้ว แต่ออกมาเป็นเพียงโค้ชที่ยืนมองนักเตะอยู่ข้างสนาม เป็นคนที่คอยสังเกตการณ์และคอยบอกเขาว่าตอนนี้มากหรือน้อยไป

     “ความสุขในการทำงานของผมตอนนี้คือการเห็นคนอื่นมีความสุข เห็นเขาทำงานเข้ากันได้ดี แล้วเกิดงานที่ประสบความสำเร็จ นี่คือชาลเลนจ์ใหม่ของชีวิตที่ทำให้ผมอยากมาทำงานทุกเช้า”