ikigai นิ้วกลม

นิ้วกลม | ผู้ค้นพบความหมายของชีวิตจากการตื่นขึ้นมาวิ่งตอนเช้าในทุกๆ วัน

เมื่อ IKIGAI กลายเป็น buzzword หรือ คำที่กลายเป็นที่พูดถึงในหมู่คนหนุ่มสาวที่กำลังมองหาความสุขและความสำเร็จในชีวิต แท้ที่จริงแล้ว อิคิไกนั้นแฝงอยู่ในกิจวัตรประจำวันอันแสนธรรมดา อย่างการตื่นเช้าๆ ออกกำลังกาย หาอร่อยๆ รองท้อง ก่อนจะเริ่มต้นทำงานไปตลอดทั้งวันอย่างอดทน เอาจริงเอาจัง และรักษามาตรฐานของผลงานไว้ให้ดีสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับกิจวัตรประจำวันของ ‘นิ้วกลม’ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ผู้ตื่นเช้าขึ้นมาวิ่ง และเขียนหนังสือไประหว่างวัน ชีวิตอันธรรมดานี้เอง ทำให้เขาค้นพบอิคิไกของตัวเอง และเข้าถึงความหมายของชีวิต

ikigai นิ้วกลม

The Power of Morning Routines

     ย้อนกลับไปเมื่อสองสามปีก่อน นิ้วกลมอยู่ในช่วงสภาวะเซื่องซึม เหงาหงอย ทั้งที่ชีวิตของเขาดูราบรื่นและประสบความสำเร็จในทุกมิติ ผลงานหนังสือระดับเบสต์เซลเลอร์มากมาย มีความรัก แต่งงาน เริ่มสร้างครอบครัวอันอบอุ่น ชีวิตที่ดูลงตัวภายนอกกลับสร้างคำถามมากมายขึ้นมาภายในใจ

     “มองไปในอนาคตแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่มีเส้นทาง เหมือนการเดินขึ้นบันไดมาเรื่อยๆ แล้วมองไม่เห็นบันไดขั้นต่อไป อะไรที่มาท้าทายให้เราดำเนินชีวิตต่อไป เราจะมีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร” เขาเล่าให้ฟัง

     ในขณะเดียวกัน บริบทของสังคมบ้านเมืองในเวลานั้นก็เต็มไปด้วยความอึมครึมน่าอึดอัด เพราะในแวดวงนักเขียนและคนทำงานสื่อต่างก็มีการแบ่งฟากฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดเจน ถึงแม้นิ้วกลมจะไม่ใช่นักเขียนแนวการเมือง แต่เมื่อแสดงความเห็นหรือเผยแพร่ผลงานที่เกี่ยวข้องออกไป ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงกลับมา

     “เพื่อนหลายคนรู้สึกเบื่อหน่ายและอึดอัดกับสภาพแวดล้อมทางความคิด มันไม่เหมาะกับการแสดงความคิดเห็น ไม่เหมาะกับการทำงานของเรา มองไปอีกปีหน้าก็คงไม่ใช่ว่าบ้านเมืองจะกลับสู่สภาพปกติได้เร็วๆ นี้”

     สภาพแวดล้อมภายนอกและความคิดภายในใจ ทั้งสองอย่างทำให้เกิดภาวะแปลกๆ คือตื่นเช้ามาแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี บางทีก็ขี้เกียจลุกจากเตียง กระทั่งว่าย้อนกลับตั้งคำถามเหมือนสมัยเป็นวัยรุ่น ว่าชีวิตคืออะไร อยู่ไปทำไม จนกระทั่งมีเพื่อนชวนไปออกกำลังกาย เตะฟุตบอล ปั่นจักรยาน และวิ่ง และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตในช่วงวัยเกือบสี่สิบ

 

ikigai นิ้วกลม

Discipline

     “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการออกกำลังกายคือ ในช่วงเวลาที่เรากำลังขยับเขยื้อน ภายในใจจะไม่สับสนวุ่นวาย ในหัวสมองของเราหยุดคิด และรู้สึกมีความสุข ตอนนั้นไปปั่นจักรยานกับเพื่อนๆ ที่สุวรรณภูมิ 24 กิโลเมตร เหนื่อยมาก แต่เมื่อเราข้ามเส้น finish line เราก็รู้สึกดีๆ ขึ้นมา”

     หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา Homo Finishers – สายพันธุ์เข้าเส้นชัย ได้พูดถึงประเด็นนี้อย่างละเอียด

     “เราตั้งเป้าหมายบางอย่างที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่เป้าหมายนี้มีไว้เพื่อเราจะได้ตื่นขึ้นมาทุกเช้า เพื่อจะได้ลงมือทำอะไรบางอย่างจนถึงไปจุดนั้น”

     นิ้วกลมบอกว่า สำหรับคนที่อายุสามสิบขึ้นไป ร่างกายจะมาถึงจุดถดถอยลง อ้วน หน้าเหี่ยว ผมร่วง ฯลฯ หลายคนปล่อยวางกับชีวิตด้วยการไม่คิดอะไรมาก เที่ยวเตร่ กินเหล้า ใช้ชีวิตให้สนุกสุดเหวี่ยง มีช่วงหนึ่งที่เขาชอบนัดเจอเพื่อนบ่อยๆ กินเหล้าเฮฮา แต่แล้วก็ยังคงสับสนภายในใจว่าชีวิตคนเรามันเท่านี้เองเหรอ

     ความสับสนภายในใจเกิดมาจากสภาพจิตใจและร่างกายที่ถดถอย เขาก็เลยออกวิ่ง แล้วก็พบว่าตัวเองสามารถกลับมาสดชื่น สดใส มีพลังในตัวเอง เหมือนการลอกคราบได้อีกครั้งหนึ่ง ได้ร่างกายใหม่ จิตใจใหม่

     นิ้วกลมแนะนำหนังสือเรื่อง Resilience โดย Eric Greitens

     “ในช่วงที่เริ่มออกวิ่ง ก็พอดีได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เมื่อชีวิตของเราอยู่ท่ามกลางความผันผวนมากมาย บางครั้งเราประสบปัญหาหรือพบความล้มเหลว แต่เราก็สามารถลุกขึ้นยืนหยัดได้อีกครั้ง หนังสือเล่มนี้สอนให้ผมรู้จักความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ข้ามผ่านเรื่องยากๆ ไปได้สำเร็จ มันแตกต่างจากความสุขพื้นฐานที่เราคุ้นเคย เช่น ได้กินอาหารอร่อย ได้อยู่ในที่อากาศเย็นสบาย หรือได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น การไปโบสถ์ การไปดูคอนเสิร์ต แต่นี่คือความสุขที่คุณไม่สามารถใช้เงินซื้อหา คุณไม่สามารถหาจากคนอื่น แต่คุณจะต้องเอาตัวเองไปผ่านประสบการณ์ที่ยากเย็นที่สุด”

     เขาพบว่าการตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่แล้วหยิบรองเท้าวิ่งขึ้นมาใส่ ช่วยก่อวินัยในตัวเอง ทำให้ค่อยๆ รู้สึกว่าชีวิตมีเส้นทางข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นทางชัดก็ออกวิ่งไปเรื่อยๆ โดยไม่สับสน และรู้สึกเบาใจ ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน กลับสามารถค้นพบความสุขภายใน แตกต่างจากตอนที่ยังไม่ได้วิ่ง เขาตื่นมาแล้วรู้สึกอิสระ จะทำอะไรก็ได้ แต่กลับไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี

     ในทุกๆ เช้าเมื่อเรารู้แล้วว่าตื่นมาต้องทำสิ่งนี้ แล้วก็ลงมือทำไป นิสัยนี้จะตอกย้ำในเชิงบวก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการงาน เมื่อเราสัญญากับตัวเองว่าจะทำให้เสร็จ เราก็จะลงมือทำให้เสร็จจริงๆ ตามที่ตั้งใจ

     “การตื่นเช้าแล้วออกไปวิ่งทุกวัน ช่วยสั่งสมนิสัยการควบคุมตัวเอง ในช่วงวัยนี้ผมค้นพบสองอย่าง อย่างแรกคือเราต้องควบคุมจิตใจตัวเอง ตรงข้ามกับตอนหนุ่มๆ เราเคยคิดว่าต้องมีอิสระ ทำอะไรตามที่คิด ออกไปไหนก็ได้ตามใจ แต่ในวัยนี้ผมพบกว่าเราต้องฝึกฝนจิตใจตัวเอง อย่างที่สองคือเราต้องควบคุมร่างกายตัวเองไปพร้อมกัน”

     นิ้วกลมบอกว่า วินัยในตัวเองช่วยแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่ฮาล์ฟหรือฟูลมาราธอน แล้วตื่นขึ้นมาฝึกฝนทุกเช้าอย่างมีวินัย อดทนยืนหยัดไปให้ได้สักอาทิตย์เดียว อาทิตย์ต่อไปเราวิ่งได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ผลลัพธ์นี้สามารถเห็นได้ด้วยตัวเอง

     “เพื่อนผมบอกไว้แบบนี้ การออกกำลังกายไม่เคยทรยศเรา ใครฝึกฝนเท่าไหร่ เขาก็ได้ไปเท่านั้น ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เป็นการตอบแทนได้ชัดเจน เราควบคุมตัวเองได้ ผลลัพธ์ก็ปรากฏกับตัวเองชัดเจนเช่นกัน”

ikigai นิ้วกลม

Life Goal

     ช่วงเวลาที่เรารู้สึกไม่อยากลุกจากเตียง ก็เพราะไม่รู้ว่าชีวิตนี้มีเป้าหมายอะไร

     “ผมอายุจะสี่สิบแล้ว ที่ผ่านมาชีวิตนี้เคยตั้งเป้าหมายหลายเรื่อง ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จึงเรียนรู้แล้วว่าการบรรลุเป้าหมายแต่ละครั้ง มันก็ไม่ได้มีอะไรมากกว่าการบรรลุเป้าหมายครั้งที่ผ่านๆ มา หรือถึงแม้จะล้มเหลว ไปไม่ถึงเป้าหมาย เราก็ไม่รู้สึกผิดหวังหรืออะไรมากนักแล้ว

     “แต่เป้าหมายในการวิ่งทุกเช้านั้นแตกต่างไป มันเป็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมกับร่างกายของตัวเราเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือกับตัวเอง เราเคยตั้งเป้าเรื่องภายนอก เช่น เราอยากเรียนเก่ง เราอยากได้รางวัล เราอยากได้นั่นนี่ แต่เป้าหมายครั้งนี้เป็นรูปธรรมของตัวเรา เราตั้งเป้าหมายเพื่อให้ลงมือทำไปแต่ละวันๆ เมื่อได้ทำแล้วเรากลับพบสิ่งที่แตกต่างจากเดิม คือมันเปลี่ยนร่างกายและจิตใจเราได้”

     แน่นอนว่าการตื่นขึ้นมาวิ่งทุกเช้าไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานโดยตรง แต่มันส่งผลทางอ้อม โดยช่วยเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อโลกของเราให้ดีขึ้น และเป็นแง่บวกมากขึ้น

มันคือหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต คือเราต้องเคลื่อนไหว ธรรมชาติออกแบบเรามาแบบนี้ สิ่งที่จำเป็นมากๆ ก่อนที่จะไปคิดถึงเรื่องความสำเร็จในงาน คือเราต้องรักชีวิตเราก่อน ในวันหนึ่งงานที่รักอาจจะไม่มีความหมายอะไรเหลืออยู่

     “ถ้าสายตาของเรามองโลกว่ามันแย่ไปหมด งานของเราไม่สามารถไปช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไรให้โลกได้ ดังนั้น มุมมองและทัศนคติที่เรามีต่อโลกนั้นคือสิ่งที่สำคัญ การออกกำลังกายทำให้จิตใจเรามองโลกดีขึ้น เราเห็นว่าชีวิตมีหวัง โลกมีหวัง ทัศนคติที่ดีก็ทำให้งานของเราออกมาดีด้วย”

     นิ้วกลมบอกว่า ในโลกของการทำงานนั้นมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย แต่โลกของการวิ่ง เราเป็นคนกำหนดเองทุกอย่าง ทุกอย่างขึ้นกับตัวเรา การวิ่งจึงส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ถึงแม้มันจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโดยตรง ไม่ได้ทำให้เราทำงานเก่งขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดมันทำให้เราพึงพอใจและภูมิใจในตัวเอง

     “ความรู้สึกนี้ช่างเรียบง่ายเหลือเกิน ผมเคยคิดว่าความภูมิใจนั้นเกิดจากการได้รับคำชมจากคนอื่น แต่จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นมาจากภายในใจเราเอง ในการวิ่งทุกเช้า เราพอใจและภูมิใจทุกครั้งที่วิ่งเสร็จ วันนี้อยากวิ่งสิบ เราวิ่งได้สิบก็ภูมิใจ วันรุ่งขึ้นเราอยากวิ่งยี่สิบ เราวิ่งได้ยี่สิบก็ภูมิใจ ความภูมิใจนี้สะสมเพิ่มพูน มันจะคอยบอกเราว่า เฮ้ย มึงโอเคนะเว้ย โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาปรบมือให้

     “แม้ว่าโลกภายนอกจะยุ่งยากแค่ไหนก็ตาม แม้ว่าจะมีปัญหาอะไรเข้ามา เราก็รู้สึกว่าบางเบาลงกว่าเดิม เพียงแค่ค่อยๆ แก้ไขไป ทำงานไป ไม่ตื่นตระหนก เพราะในใจเราคิดอยู่เสมอว่าเราไม่ได้แย่นะเว้ย”

     ผลงานเขียนของนิ้วกลมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เขาตั้งข้อสังเกตว่าช่วงไหนที่วิ่งเยอะๆ ความคิดในหัวจะน้อยลง บางทีการครุ่นคิดคือการติดกับและหลงสนุกกับความซับซ้อน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้นำไปสู่อะไร แค่เป็นสวนสนุกของความคิด แต่พอเราลุกออกไปหาอะไรอย่างอื่นทำ ความคิดจะน้อยลง

     สมการชีวิตนั้นแท้จริงแล้วเรียบง่ายแค่นี้เอง เวลาที่คุณเคลื่อนคุณไม่คิด เวลาที่คุณคิดคุณไม่เคลื่อน

     “บางทีผมอยากจะเป็นนักคิดให้น้อยลง แต่เป็นนักประสบการณ์ให้มากขึ้น” เขาบอก

     ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าตนเองมีเป้าหมายอย่างไร เราทุกคนก็สามารถตั้งเป้าหมายที่อาจจะไม่ได้มีเลอเลิศ เพียงแต่เราตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลให้ตื่นเช้าขึ้นมาทำ เช่น เป้าหมายว่าจะลงมาราธอนอีกครั้งภายในปีนี้ ยิ่งเป็นเป้าหมายที่ยากขึ้น ก็ต้องยิ่งทำให้ตัวเองงอกงามขึ้น

สิ่งที่เข้าใจตัวเองผ่านการวิ่ง เหมือนกับความคิดแบบกรีกโบราณ การมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เพื่อแค่มีชีวิตอยู่ แต่ยังหมายถึงคุณต้องงอกงามด้วย ถ้าไม่งอกงามเพิ่มขึ้นไป ก็ไม่ต่างจากคุณตายไปแล้ว

     เผชิญหน้ากับความทุกข์ยากไปเรื่อยๆ เราจะได้พบเจอกับตัวตนใหม่ ตัวตนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวินาทีที่เราผ่านพ้นมันมาได้สำเร็จ แต่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางของการฝึกฝน เกิดขึ้นทุกเช้าที่เราตื่นขึ้นมาแล้วก็ใส่รองเท้าวิ่ง

ikigai นิ้วกลม


Resilience

เขียนโดย Eric Greitens ผู้เคยมีผลงานหนังสือ Strength & Compassion: Photographs and Essays

คำว่า Resilience หมายถึงความอดทนยืนหยัด การฟื้นคืนตัวกลับมา เมื่อล่มจมหรือพังทลายไป เราจะกลับคืนมาอย่างไร

ผู้เขียนบอกว่าความสุขที่มีอยู่ 3 แบบ คือ

     1. ความสุขจากความพึงพอใจ

     2. ความสุขจากการขอบคุณอะไรบางอย่าง

     3. ความสุขที่เกิดขึ้นจากการข้ามผ่านด่านยากๆ
 
     ในชีวิตเราจำเป็นต้องมีความสุขทั้งสามประการประกอบเข้าด้วยกัน แต่ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มีความสุขสองประการแรกอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว แต่กลับเริ่มขาดความสุขประการที่สาม

     ผู้เขียนเป็นนาวิกโยธินที่เคยผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เขาเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งซึ่งไปรบที่อัฟกานิสถาน พอกลับบ้านมาสองสามสัปดาห์ จากที่เคยมีรูปร่างกำยำ มีความกระตือรือร้น พอกลับบ้านแล้วซึมเศร้า หงอยเหงา ไม่รู้ว่าชีวิตอยู่ต่อไปทำไม ลองคิดดูว่าตอนที่อยู่ในหน่วยรบ ทุกเช้าที่ตื่นมาได้รับคำสั่งให้ออกไปรบ ทหารทุกคนรู้สึกกลัวที่ต้องประจันหน้ากับข้าศึก ใจเต้นแรง เลือดสูบฉีด แต่นั่นกลับเป็นช่วงเวลาที่พลังชีวิตไหลเวียนไปทั่วร่างมากที่สุด สิ่งนี้แหละที่สูญหายไป เมื่อชีวิตไม่มีด่านยากๆ ให้ข้ามผ่านไป

     ดังนั้น เรื่องยากๆ ในชีวิตนั้นทำให้เรามีพลัง ไม่ใช่แค่เพียงทัศนคติ แต่มันคือความจำเป็นของชีวิตเลยก็ว่าได้