ikigai โอ๊ต

โอ๊ต ปราโมทย์ | ค้นพบความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพที่อยู่ภายในผ่านการใช้ชีวิตแบบเพลินๆ

IKIGAI ไม่ใช่เรื่องความสุขและความสำเร็จ ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรเลยว่าเมื่อมีแล้วคุณจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือมีความสุข อิคิไกไม่ใช่การออกไปแสวงหาสิ่งอื่นใดภายนอก เพื่อจะได้พบความสุขและสัมผัสแห่งอิคิไก แท้ที่จริงแล้วอิคิไกดำเนินไปในสภาวะลื่นไหล เหมือนการดำรงอยู่ในมณฑลแห่งพลัง บางครั้งก็ไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เป็นการทำงานและมีชีวิตไปแบบเพลินๆ ในความเพลิดเพลินนั้นเองที่เราจะได้พบกับความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพภายในที่ผุดออกมา จะว่าไปเหมือนชีวิต ‘โอ๊ต’ – ปราโมทย์ ปาทาน ไม่ผิดเพียน เขาคือผู้สร้างเสียงหัวเราะให้กับเรา ด้วยความเพลิดเพลินภายในใจของเขาตลอดเวลา

ikigai โอ๊ต

Go with the Flow

     นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักชายหนุ่มหุ่นหมี ฝีปากกล้า ลีลาดี หัวเราะเสียงดัง ร้องเพลงเพราะคนนี้ หลายคนหลงรักในความต่ำตมของเขา บางคนร้องยี้บอกรับไม่ได้กับความหยาบคายที่เกินรับได้ ไม่ว่าคุณจะมองเขาในแง่มุมไหน สำหรับเรา เขาเป็นคนที่มีความสามารถสูงจนน่ายกย่อง เพราะถึงแม้จะอยู่ในสภาวะอารมณ์ไหนก็ตาม เขาก็พร้อมก้าวออกมาเรียกเสียงหัวเราะจากคนที่รอดูชายคนนี้อยู่ได้เสมอ

     “ก็มีแหละตอนที่รู้สึกไม่พร้อม บางวันนอนไม่พอ ไม่สบายด้วย แล้วก็ต้องเดินทาง เพราะมีการลงคิวงานผิดพลาด แต่เราก็ต้องไป ทุกอย่างประเดประดังเข้ามาพร้อมกัน ก็มีความรู้สึกหงุดหงิดแน่นอน ในใจก็เต็มไปด้วยเสียงร้องว่า ไม่ไหวแล้วเว้ย ขออยู่คนเดียวเงียบๆ ได้ไหม เดี๋ยวต้องขึ้นเวทีแล้ว อยากนั่งทำสมาธิ ไม่ก็อยากขึ้นรถกลับบ้านเลย”

     ถึงแม้จะเหนื่อยและสภาพร่างกายย่ำแย่ขนาดไหน สุดท้ายเขาก็ไม่ทิ้งงานด้วยเหตุผลเดียวที่บอกเรา คือถ้าเกิดเขาลุกออกไป อยากหนีปัญหา เดี๋ยวก็จะมีปัญหา 2-3-4 ตามมา เขาขอเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนึ่งให้จบๆ ไปเลยดีกว่า

     “ผมเหนื่อยนะ เหนื่อยมาก แต่วันที่เราโหยหาสิ่งเหล่านี้ เราลำบากกว่านี้อีก เราโหยหาคนมาดูเราร้องเพลง โหยหาคนมาดูรายการของเรา พวกเขาคือพลังของผม ทำให้ผมกลับมามองว่า ตอนนี้เรามีความสุขฉิบหาย ผมไม่ขอทำลายความสุขตรงนี้ด้วยการไปฟาดหรือไปเหวี่ยงใคร เพราะมันไม่แฟร์กับพวกเขา”

     จะบอกว่าไม่แฟร์กับคนดูก็เข้าใจได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งการรับความทุกข์มาเก็บไว้เอง แล้วค่อยๆ ปล่อยให้ความรู้สึกด้านลบนั้นค่อยๆ หายไป บางทีมันก็ไม่น่าจะแฟร์กับตัวเราเหมือนกัน

     “ตัวผมเองไม่มีความสุขไม่เป็นไร เก็บไว้ข้างในนี่แหละ อย่าไปฟาดคนอื่น เพราะต่อให้เราทำดีแค่ไหน ต่อให้ดีกันมาแค่ไหน แต่ถ้าเราเผลอฟาดเขาไปครั้งเดียว เขาจะจำ เขาจะตราหน้าเลยว่า ‘โอ๊ต ปราโมทย์ มันเหี้ย’ ทีนี้จะไปนั่งอธิบายปรับความเข้าใจก็ยากละ ทัศนคติของคนเราไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ”

 

ikigai โอ๊ต

 

I Started a Joke

     สิ่งที่เราสงสัยคือ ต่อให้เป็นคนอารมณ์ดีขนาดไหน แต่พอเข้าโหมดต้องทำงานแล้วบางทีก็สนุกไม่ออก แต่เขากลับสามารถปล่อยมุกตลกได้อย่างลื่นไหลทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะว่าเราต้องเปิดรับทุกสิ่งที่เข้ามาแล้วหยิบมันมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์มุกให้ตัวเองอย่างนั้นหรือเปล่า

     “ผมไม่ได้เปิดรับนะ แต่คนอื่นเขารู้ว่าเล่นกับผมแล้วผมไม่โกรธ พวกเราเล่นตลกกันเพื่อให้บุคคลที่สามขำ หรือเล่นเพื่อให้บรรลุในการสนทนานั้น ดังนั้น ใครจะมาเล่นอะไรกับผมแรงๆ ผมได้หมด แต่ถ้าเป็นตอนปกติ เดินๆ อยู่ แล้วคนเข้ามาด่า อันนี้อีกเรื่องนะ ถ้าโดนแบบนี้ผมก็ไม่โอเค”

     เราบอกไปว่าเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ แกรี โอลด์แมน นักแสดงฮอลลีวูด เขาบอกว่าเวลาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ให้สวดมนต์ด้วยคำสั้นๆ ว่า ‘ช่างแม่ง’ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

     “มันจริงนะ มีบางครั้งที่ผมหงุดหงิดคนคนหนึ่ง แต่ก่อนนี่เป็นเรื่องลำบากในชีวิตมากเลย เพราะเราจะคิดว่าทำไมมึงเป็นคนแบบนี้วะ แต่พอได้รู้จักกับคำว่า ‘ช่างแม่ง’ ความคิดเราเปลี่ยนเลยนะ เรื่องของมึงเลย มึงจะเป็นคนแบบนี้ก็เรื่องของมึง เราก็ขอคบเขาแต่ในส่วนที่ดีก็พอ”

     เราพอจะจับเซนส์ในการเล่นตลกบางอย่างของ โอ๊ต ปราโมทย์ ได้ นั่นคือ เขาเป็นคนที่ชอบไหลไปกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เห็นอะไรก็หยิบจับมาบิดเป็นมุกตลกได้เสมอ แต่เวลาที่อยู่ในสถานที่เดิมๆ จัดรายการในห้องส่งที่ปิดทึบ หรือนั่งอยู่ในรถยนต์เป็นคนขับรถ แล้วเขาไหลไปกับอะไรกันแน่

     “เล่นกับคนที่เขามาเล่นกับเรา เล่นกับสายที่โทร.เข้ามา เพื่อนร่วมรายการนี่แหละสำคัญ ระหว่างที่ไม่ได้เจอกันจะมีเรื่องเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา เราเล่นเกมด้วยกันสนุก ไปเที่ยวมาสนุก เล่นสงกรานต์ด้วยกันสนุก เราก็เอาประสบการณ์พวกนี้มาโม่กันก่อน ให้คนฟังรู้สึกว่านี่เพื่อนคุณกำลังเอาชีวิตมาแชร์ให้ฟัง พอเขารู้สึกเริ่มสนิทกับเรา ต่อไปก็จะไหลไปเรื่อยๆ สิบสายที่โทร.เข้ามาเขาก็อยากจะเล่นสนุกกับเรา เราก็หาอะไรกุ๊กกิ๊กๆ มาเล่นกับเขา แล้วเขาก็เล่นกลับมา”

 

ikigai โอ๊ต

 

Unconscious Creativity

     ระหว่างการสนทนาเราก็คุยกันถึงเรื่องคิวงานที่รัดแน่น ซึ่งเขาบอกว่าแต่ละเดือนเขามีวันหยุดของตัวเองจริงๆ แค่สามวันเท่านั้น เราจึงไม่แปลกใจเลยที่คนอารมณ์ดีอย่างเขาก็อยากหลบตัวไปอยู่ในมุมสงบกันบ้าง แต่ก็อดถามกลับไปไม่ได้เหมือนกันว่า ชีวิตที่คอยต้องสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่น แล้วเขาสร้างเสียงหัวเราะให้ตัวเองอย่างไร

     “ตอนนี้ผมติด Dragon Ball Super มาก ดูไปได้ 70 ตอนแล้ว เดินทางมาถึงครึ่งทาง” เขาตอบพร้อมกับสายตาที่เป็นประกาย

     “เดี๋ยวนี้ผมไม่ดูรายการตลกเลย เวลาหยุดมีน้อยผมจะทำอะไรที่ชอบ ดูการ์ตูน เล่นเกม ฟังเพลง หยิบเกมเก่าๆ ที่เล่นค้างไว้มาเล่นต่อ”

     บรรยากาศกลับมาคึกคักในทันที เราแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเกมต่างๆ ตั้งแต่การมาของ God of War 4 หรือการรอคอยเกม Final Fantasy 7 ฉบับรีเมก ที่เปลี่ยนรูปแบบของเกมเพลย์แบบยกเครื่อง ไปจนถึงการ์ตูนเรื่อง Teen Titans Go! ในเน็ตฟลิกซ์ หนังเรื่อง Ready Player One และ Avengers: Infinity War ที่กำลังเข้าฉาย จนมีความรู้สึกหนึ่งเกิดขึ้นและพูดออกมาว่า พอเราสนุกกับเรื่องแบบนี้กันก็จะถูกบางคนมองว่าทำไม่ไม่รู้จักโต

     “คนเราต้องมีความเป็นเด็กในตัว จะเรื่องอะไรก็ได้ อ่านการ์ตูนก็ได้ ซึ่งการ์ตูนนี่คุณต้องดูกันนะ สำหรับคนญี่ปุ่น อนิเมะหรือมังงะนี่คือสิ่งที่สร้างชาติของประเทศเขาเลย คุณไปที่ญี่ปุ่น คุณจะเห็นการ์ตูนแทรกซึมอยู่ทุกที่ ทั้งป้ายบอกทาง ในร้านอาหาร ข้างรถประจำทาง แล้วพวกเขาเดือดร้อนกันไหม ก็ไม่ พวกเขาดูมีความสุขด้วยซ้ำ ถ้ามาบอกว่าอ่านหนังสือการ์ตูนแล้วเด็กจัง ผมขอถามกลับหน่อยว่า แล้วความสุขของคุณคืออะไร ดีไม่ดีเขาตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ”

     ที่เขาบอกไว้ตอนต้นว่าต่อให้เหนื่อยให้เครียดแค่ไหน เมื่อถึงเวลาขึ้นแสดง ตัวเขาก็พร้อมทันทีที่สวิตช์ของไมโครโฟนถูกกดไปที่ปุ่ม On ถ้าอย่างนั้นเราจะทำชีวิตให้เหมือนกับถูกเปิด Mic On ตลอดเวลาไปเลยดีไหม

     “ผมว่ามันเหนื่อยเกินไป เราพยายามทำตัวให้เหมือน ซุน โกคู (ตัวเอกจาก Dragon Ball) ดีกว่า โกคูเองก็ไม่ได้เป็นซูเปอร์ไซยาตลอดเวลา คุณก็เป็นซูเปอร์ไซยาในเวลาที่ต้องเป็นสิ ถ้าโกคูอยู่บ้านด้วยโหมดซูเปอร์ไซยา รับรองบ้านพังฉิบหายวายป่วงแน่ๆ จับอะไรก็พัง หยิบจานจานก็แหลกคามือ โกคูนี่แหละที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ต้อง Mic On ตลอดเวลา ถึงเวลาพักก็ปิดไมค์ซะ เมื่อไหร่ที่ต้องสู้ ต้องทำการแสดงคุณก็ปล่อยพลังออกมาให้หมด ยิ่งถ้ารู้ว่าคู่ต่อสู่เก่งกว่า เราก็ต้องเป็นซูเปอร์ไซยาร่างสองสามสี่ขึ้นไป

     “ผมถูกสอนมาว่าเมื่ออยู่บนเวทีทุกสายตานั้นจับจ้องเราอยู่ ให้คิดเสมอว่าตัวเองเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกใบนี้ มีอีโก้เท่าไหร่ใส่ไปเลย แต่ถ้าเล่นกับคนอื่นก็ต้องรู้ว่าจังหวะไหนที่ควรเก่ง จังหวะไหนที่ควรแพ้ ไม่ใช่โชว์เหนือตลอด ถ้าทำเก่งตลอดเวลาการรับส่งมุกก็จะกร่อย ไม่น่ารัก จังหวะนี้ต้องให้เพื่อนเล่นสิ ปล่อยให้ไหลลื่นไปด้วยกัน เมื่อเสร็จงานให้เอาอีโก้นั้นวางไว้บนเวที ทิ้งความเก่ง ทิ้งความจองหอง ทิ้งความมั่นใจไว้ แล้วกลับมาเป็นคนเดิม แต่ส่วนใหญ่พอผมเข้าไปในรถปุ๊บ ร่างกายจะชัตดาวน์เองเลย”

     เขาเล่าพร้อมกับหัวเราะเสียงดัง ก่อนที่จะขอตัวไปอัดรายการอีกหนึ่งรายการตอนสามทุ่ม ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขาในวันนี้

 

ikigai โอ๊ต

 


Theory of Comedy

Dr. Richard F. Taffllinger สรุปแกน 6 ประการของหลักการสร้างเรื่องตลกขบขันเอาไว้ คือ
     – มุกตลกต้องเกิดจากความคิดสร้างสรรค์มากกว่ามาจากอารมณ์
     – เล่าเรื่องหรือแสดงด้วยความเป็นธรรมชาติ
     – เป็นเรื่องราวของมนุษย์ เป็นเรื่องที่เรารับรู้หรือสัมผัสได้
     – มีอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน เรื่องราวต้องมาจากบรรทัดฐานทางสังคมที่คนยอมรับ
     – ท่าทาง พฤติกรรม หรือคำพูด ที่ไม่ถูกที่ถูกเวลากับสถานที่นั้นๆ จะช่วยสร้างความขบขันได้
     – ท่าทาง พฤติกรรม และคำพูด ต้องไม่สร้างความเจ็บปวดต่อผู้ชมหรือคนที่มีส่วนร่วม
 
     ส่วนในหนังสือ Joke-cracking for Complete Dummies นั้นให้คำนิยามของ ‘มุกตลก’ ไว้ว่า เป็นข้อความหรือสิ่งเร้าที่ประกอบไปด้วยความผิดปกติ การคาดเดาไม่ได้ และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชม