Itim Parit

‘StartDee’ ความมุ่งมั่นใหม่ของ ‘ไอติม พริษฐ์’ กับการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนการศึกษาหลังโควิด

คุณว่าเวลาหนึ่งปีเปลี่ยนอะไรไปได้มากขนาดไหน

        จากต้นปี 2020 จนถึงวันนี้ คงยากที่ตัวเราในปีที่แล้วจะจินตนาการได้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากเพียงใด

        หรือแม้แต่ตัวเราเองในปีที่แล้ว หลายคนก็คงปรับเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ความฝันมากมายในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งปีเช่นกัน

        ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ ก็เป็นอีกหนึ่งคนนั้น ที่ต้นปีที่แล้วเรายังจดจำเขาในบทบาทสมาชิกพรรคการเมือง มุ่งมั่นกับการเข้าไปทำงานในรัฐสภา แต่เมื่อเส้นทางที่ตั้งใจไม่เป็นดั่งหวัง เขายังคงเดินหน้าทำงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือเล่มแรก เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวิทยากรพิเศษในหลายเวที หลายมหาวิทยาลัย และบทบาทใหม่ในวันนี้ กับการเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาไทยชื่อว่า ‘StartDee’ ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถเปลี่ยนการศึกษาได้ โดยมีภาพในใจว่าอยากให้นวัตกรรมนี้ทำหน้าที่คล้ายเน็ตฟลิกซ์ของการศึกษาไทย

        เน็ตฟลิกซ์ของการศึกษาไทยคืออะไร เป้าหมายในเส้นทางการศึกษาคืออะไร และเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนช่วยการศึกษาหลังโควิด-19 ได้อย่างไร ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ จาก Live with adB รายการ Conversation เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา

 

หลังจากจบ chapter ของบทบาททางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว เราเห็นคุณในที่ต่างๆ ทำอะไรหลากหลายมาก ทั้งเขียนหนังสือ เสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวิทยากรหลายเวที จนมีสตาร์ทอัพของตัวเอง คุณวางเส้นทางตัวเองอย่างไรหลังเลือกตั้งปีที่แล้ว 

        ถ้าย้อนกลับไปตอนผมเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว อย่างที่หลายคนทราบว่าผมไม่ได้รับเลือกให้ไปทำหน้าที่ตรงนั้น เราก็น้อมรับผลการตัดสินใจของประชาชน แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ มันเกิดขึ้นจากสองเดือนถัดมาที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจจะไปเข้าร่วมฝ่ายรัฐบาล ซึ่งขัดกับสิ่งที่ทางพรรคได้พูดเอาไว้ในช่วงหาเสียง และเป็นอะไรที่ขัดกับความเชื่อหรือว่าอุดมการณ์ส่วนตัว ผมเลยตัดสินใจลาออกจากพรรค ยอมรับว่าไม่ได้เป็นอะไรที่วางแผนมาก่อน เลยหันไปเขียนหนังสือเล่มแรกของผม ชื่อ Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร? พยายามที่จะอธิบายหรือว่าตอบคำถามเกี่ยวกับการเมืองต่างๆ 

        ช่วงเขียนหนังสืออยู่สองเดือนนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้เราได้เรียบเรียง ประมวลความคิดเราในระดับหนึ่ง ตอนจบผมตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะเดินต่ออย่างไรดี หลักๆ คือผมใช้สองเกณฑ์ในการตัดสินใจ อย่างแรกคือเราไปอยู่ตรงไหนแล้วทำประโยชน์ได้บ้าง อย่างที่สองคือเราไปอยู่ตรงไหนแล้วได้เรียนรู้ตลอดเวลา ได้รับทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา 

        ถามว่าวันหนึ่งจะกลับมาทำการเมืองไหม ก็ไม่ปิดกั้นนะครับ ผมยังมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุดก็คือผ่านระบบการเมือง แต่ว่า ณ จุดนี้ ในวันที่เรายังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา ยังไม่ได้รับโอกาสตรงนั้น ก็พยายามจะหาปัญหาบางอย่างที่เราอยากจะเข้าไปแก้ โดยสองปัญหาหลักๆ ที่เราตั้งตอนนั้น อย่างแรกคือเรื่องของการศึกษา ซึ่งเดี๋ยวจะแชร์ให้ฟังอีกทีหนึ่งว่าทำไมมันถึงกลายมาเป็น StartDee ที่วันนี้ก็กลายมาเป็นงานปัจจุบัน และสองคือเรื่องรัฐธรรมนูญ เรียกได้ว่างานประจำคือทำเรื่องการศึกษา ส่วนเสาร์อาทิตย์คือขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญ เหมือนกับเป็นงานประจำสองด้านเหมือนกัน เพราะตอนนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจจะมีความท้าทายมากขึ้น และอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลา เราก็มุ่งเน้นร้อยเปอร์เซ็นต์ในฝั่งของการศึกษา

ตอนนี้งานเรื่องการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญคือหยุดไปโดยสิ้นเชิงเลยหรือเปล่า

        ไม่หรอกครับ พอโควิด-19 เข้ามา เราก็เข้าใจว่ามันอาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ความสนใจของประชาชนจะอยู่ตรงนี้เป็นหลัก สิ่งที่เราทำก็คือรวบรวมข้อมูล ผมเคยจัดกิจกรรมที่เรียกว่า collab นฐานะกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เป็นการทำกิจกรรมที่เชิญชวนให้คนมาร่วมกันทำความเข้าใจแล้วเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา มาลองออกแบบประเทศดูว่า ถ้าอยากให้ประเทศมีลักษณะหรือผลลัพธ์แบบไหน เราควรจะมีรัฐธรรมนูญแบบไหน ก็มีการรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมา ตอนนี้เป็นช่วงที่เรากลับเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อที่ว่าพอวันหนึ่งที่สังคมมีการพูดคุยประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เราจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขได้ แต่งานประจำหลักของผมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คือการเป็นผู้ก่อตั้ง แล้วก็เป็น CEO ของสตาร์ทอัพน้องใหม่ ชื่อว่า StartDee ซึ่งเราได้ประกาศเปิดตัวต่อสาธารณะในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่าน

พฤศจิกายนปีที่แล้วจนถึงเดือนนี้ก็ประมาณ 6 เดือนเอง ตอนนั้นคงไม่คิดไม่ฝันว่าต้องรีบเปิดตัวขนาดนี้ แล้วจุดเริ่มต้นของ StartDee คืออะไร มันสอดรับกับความตั้งใจเดิมที่เคยคิดว่าจะเดินบนเส้นทางการเมืองอย่างไร

        คือความจริงสัมพันธ์กันมากนะครับ อย่างที่บอกว่าการทำงานการเมืองคือการพยายามจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ถ้าถามว่าผมให้ความสนใจการศึกษามานานแค่ไหน ความจริงก็คือเป็นด้านที่ผมสนใจมาตลอด เพราะผมเชื่อจริงๆ ว่ามันเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ แทบจะทุกปัญหา จุดเริ่มต้นของการแก้ไขอยู่ที่การศึกษา ถ้าเราบอกว่าเราอยากเห็นเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องมีบุคลากรที่มีทักษะซึ่งตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต จะมีบุคลากรที่มีทักษะเหล่านั้นได้ก็ต้องมีระบบการศึกษาที่ช่วยฝึกฝนและพัฒนาทักษะเหล่านั้นให้กับบุคคลในประเทศ ถ้าเราบอกว่าเราอยากลดความเหลื่อมล้ำ อยากเห็นทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการประสบความสำเร็จ ก็ต้องเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ‘ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันหรือยังในการเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ’ ถ้าเราบอกว่าเราอยากเห็นคนออกมารักษ์โลกมากขึ้น หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ต้องปลูกฝังจิตสาธารณะมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเราบอกอยากเห็นคนทุจริตน้อยลง ก็ต้องมาปลูกฝังตั้งแต่เด็กเหมือนกันว่าทำอย่างไรให้เราเข้าใจว่าอะไรคือทุจริต และกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปิดโปงเวลาเราเห็นการทุจริตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผมว่าถนนแทบทุกสาย ต้นตอของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่การศึกษา ทีนี้พอเราออกจากแวดวงการเมืองแล้วมาอยู่ในจุดที่รู้สึกว่าเราอาจจะใช้เวลาช่วงนี้ในการมุ่งเน้นหรือแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่ง ผมเลยมาตกผลึกว่าอยากจะทำเรื่องการศึกษา

‘ปัญหาการศึกษา’ ที่ใครก็พูดกัน แต่คุณมองปัญหานี้ว่าอย่างไร มิติไหนของการศึกษาที่ต้องเร่งแก้ไข

        ความจริงมัน 3 ตลบเลยแหละ ตลบที่หนึ่ง คือคุณภาพการสอนในโรงเรียนทั่วประเทศก็แตกต่างกัน ประเทศไทยมีโรงเรียนอยู่ทั้งหมดประมาณสามหมื่นโรงเรียน ในขณะที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ สามารถผลิตเด็กที่เรียกง่ายๆ ว่าเป็นแชมป์โลกไปชนะโอลิมปิกมาได้ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีห้าพันโรงเรียน ส่วนสามหมื่นโรงเรียน บางโรงเรียนมีครูไม่เหมาะสำหรับทุกระดับชั้นด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าโรงเรียนประถม ป.1-ป.6 มีครูไม่ถึง 6 คน เขาก็ไปคาดหวังว่าครูคนหนึ่งจะสามารถสอน ป.1 ป.2 ป.3 ได้พร้อมกัน ซึ่งมันก็ไม่ดีต่อการพัฒนาของเด็ก 

        ตลบที่หนึ่ง คือคุณภาพการเรียนในแต่ละโรงเรียนมันไม่เท่าเทียมกัน ตลบที่สอง คือสมมติว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหรือเด็กบอกว่าไม่เป็นไร ได้รับการเรียนที่อาจจะดีไม่มากพอ เราไปหาช่องทางการเรียนรู้นอกห้องเรียนดีกว่า ไปเรียนพิเศษดีกว่า ปรากฏว่าทางเลือกที่เขามีมันถูกจำกัดด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เด็กบางคน โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ฐานะร่ำรวยหน่อย บางทีก็ใช้เงินจำนวนมากในการเรียนพิเศษ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นกำแพงที่สูงเกินไปสำหรับเด็กทั่วไปในประเทศ แล้วตลบที่สามที่หนักไปกว่านี้ คือในขณะที่เรากำลังเครียดกันอยู่ว่าคุณภาพการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนดีพอหรือเปล่า ช่องทางการเรียนนอกห้องเรียนดีหรือเปล่า เรายังไม่แน่ในเลยว่าการศึกษาที่แต่ละคนได้รับในประเทศมันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดจริงๆ หรือเปล่า

        ถ้าไปดูสถิติ เราจะเห็นว่าเด็กไทยเป็นชาติหนึ่งที่เรียนหนักที่สุดในโลก ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนคือสูงสุด แต่ว่าผลลัพธ์ใน PISA การสอบที่วัดทักษะแต่ละประเทศกลับตามหลังหลายๆ ประเทศ ซึ่งอยู่ครึ่งล่างของตาราง ตามหลังคือไม่ใช่ตามหลังประเทศอย่างฟินแลนด์ที่เขาเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วว่ามีการศึกษาที่ดี แต่ว่าในประเทศอาเซียนด้วยกัน 7 ประเทศที่มีข้อมูล ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 5 

        เพราะฉะนั้น มันก็เลยกลายเป็น 3 ตลบที่ว่า การศึกษาที่ดีกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงไม่ง่าย ผมก็เลยอยากจะทำสตาร์ทอัพด้านการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า EdTech การศึกษาที่พยายามจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น อันนี้ก็เป็นที่มาของไอเดียที่ว่าอยากจะพัฒนาแอพพลิเคชันขึ้นมา ที่เป็นเหมือนกับเน็ตฟลิกซ์ของการศึกษา เข้ามาปุ๊บก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนได้อย่างไม่จำกัด

 

ไอติม พริษฐ์

การแก้ปัญหาทำได้หลายทาง ทำไมถึงเลือกที่จะทำเป็นสตาร์ทอัพ

        การวางแผนตอนแรกมันมีหลายองค์ประกอบที่เราพิจารณา อย่างแรกคือเราต้องดูเรื่องเทคโนโลยีก่อน เทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาช่วยเหลือเด็กไทยได้มากที่สุด คือเราเริ่มเห็นการเติบโตของ EdTech หรือว่าสตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านการศึกษาจากหลายประเทศที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ แล้วมาเทียบกับสถิติในเมืองไทย แล้วเราเห็นว่าความจริงอัตราการเข้าถึงสมาร์ตโฟน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สัญญาณอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยแอบดีกว่าประเทศเหล่านั้นด้วยซ้ำ มันพลิกความคิดอย่างแรกของเราว่าทำไมประเทศเหล่านั้นที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงสมาร์ตโฟนยังแย่กว่าเรา แต่เขาสามารถสร้าง impact หรือว่าสร้างประโยชน์ให้กับเด็กหมู่มากได้ด้วยเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น อย่างแรกคือการศึกษากรณีศึกษาทั้งในประเทศและนอกประเทศว่ามีอะไรที่สามารถทำได้บ้าง

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าจริงๆ แล้ว EdTech ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อจะทดแทนโรงเรียนหรือว่าระบบการเรียนแบบปกติ แต่สถานการณ์ตอนนี้มันเหมือนบังคับกลายๆ ให้การเรียนการสอนออนไลน์กลายเป็นทางออก ถ้าปัญหาโควิด-19 มันลากยาวไปมากกว่านี้ คุณมองว่าโลกของการศึกษาหลังจากนี้จะถูกเปลี่ยนไปอย่างไร 

        ผมเชื่อว่าแทบจะทุกคนที่ทำงานในแวดวงเทคโนโลยีด้านการศึกษา ไม่ได้มีความเชื่อว่าเทคโนโลยีควรจะมาทดแทนโรงเรียน การที่เราทำ StartDee ขึ้นมา เราไม่ได้คิดว่าเด็กมาเรียนใน StartDee แล้วไม่ควรไปโรงเรียน ท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีจะมาช่วยเสริมหรือ complement การเรียนในโรงเรียน เรายังมีความเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดต้องเป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสาน นั่นหมายความว่ามีทั้งส่วนที่เป็นออนไลน์และส่วนที่เป็นออฟไลน์ แล้วมีปฏิสัมพันธ์กับครูเป็นๆ ในห้องเรียน 

        แต่อย่างที่บอกว่าพอโควิด-19 เข้ามาแล้วโรงเรียนเปิดไม่ได้ กลายเป็นว่าคนมาคาดหวังจากเทคโนโลยีเยอะขึ้นว่าการเรียนออนไลน์จะสามารถมาทดแทนในระยะสั้นช่วงนี้ได้หรือไม่ ถามว่าการศึกษาหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร อย่างที่หนึ่ง คือผมว่ามันก็เป็นการทดสอบที่ค่อนข้างโหดอยู่เหมือนกัน ว่าการเรียนออนไลน์หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการศึกษามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน การเดิมพันมันสูงขึ้นกว่าสมัยก่อน เพราะว่าสมัยก่อนมันจะเป็นโจทย์ที่ว่า นอกจากการเรียนในโรงเรียนแล้ว เทคโนโลยีจะช่วยเด็กให้มีความเข้าในเนื้อหามากขึ้นอย่างไร ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าไม่มีโรงเรียนเลย เทคโนโลยีจะสามารถมาช่วยตรงนั้นได้อย่างไร อันนี้เป็นความท้าทายที่หนึ่งที่จะต้องมาทดสอบว่ามันเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนในส่วนของการเข้าถึงเทคโนโลยีเอง ส่วนประเด็นที่สองผมว่าอาจจะน่าสนใจกว่าและอาจจะทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนกว่าในอนาคต คือผมว่ามันทำให้คนเริ่มหันมาทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีด้านการศึกษามากขึ้น ว่ามันสามารถไปช่วยส่งเสริมการเรียนในโรงเรียนได้อย่างไรในวันที่โรงเรียนเปิดตัว 

        ผมยกตัวอย่าง 2 ตัวอย่าง ว่าเทคโนโลยีไปช่วยการเรียนในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร 

        ตัวอย่างที่หนึ่ง คือเราอาจจะ zoom in เข้าไปที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ผมบอกว่าไม่มีครูผู้เชี่ยวชาญในทุกระดับชั้น ไม่มีครูพอสำหรับทุกระดับชั้น หรือไม่มีครูที่เชี่ยวชาญทุกวิชา สมมติว่าผมเป็นครูคนหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กที่เชี่ยวชาญแค่ภาษาไทย แต่ไม่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ จะคาดหวังให้ผมสอนภาษาอังกฤษมันก็อาจจะเป็นการสอนที่อาจจะไม่ได้ดีที่สุด ถ้าเรามีเทคโนโลยีต่างๆ มันก็สามารถทำให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนจากครูที่อยู่ที่อื่นซึ่งเขาเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษได้ และในฐานะของครูโรงเรียนนั้น ผมก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนโค้ช หรือว่าเป็นครูที่มาช่วยแนะแนว เป็นครูหลังห้องที่ช่วยให้คำปรึกษาและตอบคำถามเด็กมากกว่าเป็นคนที่ให้ความรู้อย่างเดียว ตัวอย่างแรกนี้ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีมันทำให้มีความเท่าเทียมมากขึ้นในส่วนของโรงเรียนต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพได้ 

        ตัวอย่างที่สองคือ การกลับมาโจทย์เดิมว่าการศึกษาที่ดีที่สุดในอุดมคติคือการศึกษาที่ถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ถ้าผมเป็นครูคนหนึ่ง ยืนอยู่หน้าห้องแล้วก็สอนพีทาโกรัส สอนสามเหลี่ยม ถ้าผมสอนเด็ก 40 คนพร้อมกัน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สิ่งที่ผมพูดมันจะไปตรงกับความต้องการของเด็กทั้ง 40 คน เด็กหน้าห้องที่เรียนเก่งอยู่แล้ว ถ้าผมสอนอะไรที่ง่ายเกินไป เขาก็จะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ มันช้า มาพูดสิ่งที่รู้อยู่แล้วมันก็เสียเวลาเขา หรือถ้าผมสอนอะไรที่ยากเกินไป มันก็เร็วเกินไปสำหรับเขา เขาก็จะขาดความสนใจไปเลย แต่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำให้ประสบการณ์ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันได้ มันเหมือนกับเน็ตฟลิกซ์ ถ้าคุณชอบดูซีรีส์เกาหลี คุณก็เลือกดูซีรีส์เกาหลี เน็ตฟลิกซ์ก็จะเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าคุณเป็นคนที่ชอบดูซีรีส์เกาหลี ก็จะแนะนำซีรีส์เกาหลีใหม่ๆ ที่ออกมาว่า ถ้าหากคุณชอบเรื่องนี้ โอกาสสูงมากที่คุณจะชอบเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าสไตล์เหมือนกัน เนื้อเรื่องคล้ายๆ กัน ในขณะที่อีกคนไม่ชอบเลยซีรีส์เกาหลี จะดูแต่ซีรีส์ของอเมริกาก็จะเจอแต่เนื้อหาของซีรีส์อเมริกา เพราะฉะนั้น พอมีเทคโนโลยีเข้ามามันก็เลยช่วยตรงนี้ได้ อันนี้คือการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบ personalized ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีมาช่วยคุณครูในห้องเรียนได้

ในเรื่อง Personalized Learning จริงๆ แล้วการจะรู้ตัวเองว่าอยากเรียนอะไร อยากทำอะไร มันเริ่มอย่างไร อย่างเราตอนเด็กๆ ก็จะเคยชินกับการที่คุณครูแนะแนวบอกว่าเรียนสิ่งนี้สิ เลือกสายโน้นสายนี้สิ หรือมีปัจจัยของสังคมต่างๆ ที่ตีกรอบมาด้วย คุณมองว่าหลังจากนี้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนการทำให้เด็กรู้จักตัวเองได้ไหม อย่างไร

        ผมว่าการค้นพบตัวเองไม่ควรจะเป็นอะไรที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวของผม ยิ่งโลกสมัยนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้นกว่าสมัยก่อน ผมว่ามันคาดหวังไม่ได้ว่าหากเราค้นพบหรือถนัดตรงนี้แล้วมันจะเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น ผมว่าการค้นพบตัวเองมันเป็นสิ่งที่อาจจะต้องทำกันอยู่เรื่อยๆ มีการเช็กหรือถามตัวเองอยู่ตลอดว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราตื่นเช้ามาทำในทุกวัน มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ที่สุดหรือเปล่า แล้วมันเป็นสิ่งที่เราถนัดจริงๆ ที่สุดหรือเปล่า ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

        การค้นพบตัวเองมันไม่ใช่จะเกิดขึ้นตอน ม.4 ครั้งเดียว ที่รู้ว่าอยากเรียนคณะไหนแล้วก็จบ แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องค้นพบอยู่เรื่อยๆ แล้วสิ่งที่ตามมาจากการค้นพบตัวเองอยู่เรื่อยๆ ก็คือการค้นพบทักษะใหม่อยู่เรื่อยๆ ผมคิดว่าในเร็วๆ นี้ คำว่าการศึกษาที่ถ้าเราถามคน 20-30 ปีที่แล้ว ว่าการศึกษาคืออะไร ภาพในหัวเขาคือเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับเด็กอายุ 4-23 ปี แต่ในอนาคต คำว่า ‘การศึกษา’ จะกลายเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคยว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกช่วงอายุ เพราะว่าโอกาสน้อยมากที่ทักษะที่เรามีในปัจจุบันจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตไปตลอดช่วงชีวิต เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จึงเป็นอะไรที่สำคัญมาก

หลายคนตั้งคำถามว่าการ Online Learning มันจะแทนคุณครูคนสอนที่เป็นคนจริงๆ ได้หรือเปล่า ในมุมมองของคุณ ข้อจำกัดของมันคืออะไร และจริงๆ แล้วคุณมองบทบาทของ Online Learning ว่าควรทำหน้าที่อะไร 

        ในระยะสั้น ผมยังเชื่อว่ามันเป็นความหวังที่ดีที่สุดที่จะช่วยเด็กจำนวนมากให้มีความต่อเนื่องในเรื่องของการเรียนรู้ในช่วงที่โรงเรียนเปิดไม่ได้ แต่ในระยะยาว Online Learning ไม่ควรตั้งเป้าว่าจะมาทดแทนคุณครู แต่ควรตั้งเป้าว่าจะทำอย่างไรให้คุณครูได้ใช้เวลาในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

        มันมีคอนเซ็ปต์หนึ่งที่เรียกว่า Flipped Classroom สมมติผมจะสอนวิชาประวัติศาสตร์ เป็นคุณครูประวัติศาสตร์ที่โรงเรียน แล้วผมมีเวลา 1 ชั่วโมงในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้นักเรียน ถ้าผมไม่มีเทคโนโลยีเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผมจะต้องเชิญนักเรียนเข้ามาในห้อง และผมต้องใช้เวลาเยอะมากในการให้ข้อมูลก่อน สมมติ ผมจะสอนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมก็ต้องให้ข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้นในปีนั้น ประเทศนั้นไปบุกประเทศโน้นอะไรอย่างนี้ ปาไปแล้ว 40 นาที ผมก็ยังให้ข้อมูลอยู่ กลายเป็นว่าเวลาที่ผมมีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียนมันน้อยนิดมาก ในทางกลับกัน ถ้ามันมีช่องทางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี ผมอาจจะบอกว่า ถ้างั้นผมไม่ใช้เวลาในห้องเรียนเลยในการให้ข้อมูล ผมจะให้เป็นการบ้าน เด็กกลับไปเรียนหรือไปเปิดดูวิดีโอนี้ ไปอ่านข้อมูลนี้มา แล้วเดี๋ยวเรามาคุยกันในชั่วโมง ผมก็จะมีเวลา 1 ชั่วโมงเต็มๆ เลยในการเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาเรียนกัน แล้วก็บอกให้เด็กมาช่วยกันวิเคราะห์ดีกว่า ไหนลองแบ่งกลุ่มแล้วลองมาโต้เถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดู คุณคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อันนี้กลายเป็นว่ามันพลิกบทบาทของครูเลย จากสมัยก่อนที่ไม่มีเทคโนโลยี คือคุณครูถูกคาดหวังว่าต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลทุกอย่าง ผู้ให้ความรู้ทุกอย่าง เป็นคุณครูหน้าห้องที่ลุกขึ้นมายืนพูด 60 นาที แต่พอเทคโนโลยีเข้ามา ก็กลายเป็นว่าคุณครูได้ใช้เวลาตรงนั้นไปทำอย่างอื่นที่อาจจะดีกว่า คือไปใช้เวลานั้นในการพัฒนาให้เด็กมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร ซึ่งเราพูดกันมาตลอดว่าไม่ได้อยากเห็นเด็กไทยเก่งแค่ท่องจำ แต่ว่าต้องมีทักษะที่ดีด้วย 

        อันนี้ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยได้ เพราะว่ามันช่วยคืนเวลาให้คุณครูสามารถไปพัฒนาทักษะของเด็กจริงๆ แล้วถ้ายิ่งไปไกลกว่านั้นที่หากคุณครูสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเก็บได้ว่าเด็กแต่ละคนกลับบ้านไปแล้วดูจริงหรือเปล่า หรือดูว่าเด็กคนไหนมีพฤติกรรมที่เขาเปิดดูวิดีโอแล้วเราเห็นว่าเขาดูไม่จบ เราก็จะรู้แล้วว่าเนื้อหานั้นอาจจะไม่ดึงดูดเขามากพอ แต่ถ้าเราไปดูแล้วเห็นว่าเขาย้อนกลับมาดูที่เดิมบ่อยๆ เราอาจจะถามว่าเขาไม่เข้าใจตรงนั้นหรือเปล่า มันกลายเป็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้มาทดแทนคุณครู และส่วนตัวผมไม่ต้องการให้เทคโนโลยีมาทดแทนคุณครู ผมอยากให้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาที่ดีได้อย่างง่ายขึ้น แล้วก็ช่วยให้คุณครูได้ใช้เวลาที่มีกับเด็กในห้องเรียนเพื่อการพัฒนาทักษะของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ไอติม พริษฐ์

เทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสอนมากขึ้น จะทำให้คุณค่าของการศึกษาเปลี่ยนไปไหม อย่างไร 

        ต้องกลับมาถามว่าจุดประสงค์ของการศึกษาคืออะไร ทำไมเราต้องส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียน ทำไมเราไม่ปล่อยให้เขาเติบโตขึ้นมาแล้วอยู่ที่บ้านอย่างเดียว 

        ผมว่าการศึกษามันก็เป็นใบเบิกทางสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการสะสมความรู้หรือทักษะ เพื่อไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต อันนั้นเป็นความตั้งใจที่ไม่ผิด แต่ถ้าให้ผมนิยามคำว่าการศึกษา ผมว่าท้ายที่สุดแล้วมันคือการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในประเทศให้สามารถรับมือกับโลกแห่งอนาคตได้ ซึ่งสมัยก่อนเราจะมองว่าการเตรียมความพร้อมคือการเตรียมความพร้อมแค่เด็ก ไม่ต้องเตรียมผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่พร้อมแล้ว ผ่านระบบการศึกษามาแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น อย่างที่บอกว่าผู้ใหญ่ก็ต้องเรียนเหมือนกัน เพราะว่าทักษะใหม่ๆ มันมีเข้ามาเรื่อยๆ

        สมัยก่อนเรามองว่าการเตรียมความพร้อมคือการให้ความรู้อย่างเดียว เพื่อที่จะมีความรู้ไปทำอาชีพของตัวเองได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเพราะผมมองว่าหลายๆ อย่างที่อาจจะเป็นความรู้ เทคโนโลยีอาจจะมีความรู้มากกว่าเรา ถ้าเรามองว่าความรู้คือการสามารถจำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ ไม่มีใครจำได้ดีกว่า Google จุดประสงค์ด้านการศึกษาจึงเปลี่ยนไป แต่หลักยังคงเหมือนเดิมที่ว่า การศึกษาคือการเตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถรับมือกับโลกแห่งอนาคตได้ 

        ตอนนี้การรับมือกับโลกแห่งอนาคตได้ดีที่สุดคือการพัฒนาทักษะ ทักษะที่ไม่ว่าคุณจะไปทำอาชีพไหนก็เป็นทักษะที่สำคัญ เป็นทักษะที่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้เร็วขนาดนั้น เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร และการเห็นอกเห็นเห็นใจผู้อื่น หรือว่า empathy ก็เป็นทักษะที่สำคัญ ยิ่งพอมาบริหารทีมในจำนวนคนที่มากขึ้นเราจะเห็นเลยว่าการมีความรู้แล้วสามารถวิเคราะห์ได้มันเป็นเรื่องที่หลายคนมี แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แล้วก็การหาทางออกที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามีคนมาช่วยแก้ปัญหาของเขา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นทักษะที่ระบบการศึกษานี่แหละที่จะช่วยเตรียมให้เราสามารถฝึกฝนและมีทักษะเหล่านี้ได้

มีคนบอกว่าอาชีพครูจะเป็นอาชีพที่ถูกแทนยากมากที่สุด เพราะอย่างไรมนุษย์ก็ต้องสอนมนุษย์

        อาชีพครู ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากกว่าอาชีพอื่น เพราะอย่างที่บอก คืองานวิจัยทุกอย่างชี้ชัดว่าการพัฒนาของเด็ก การเรียนรู้ของเด็ก มันดีที่สุดคือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ผมจึงเชื่อว่าอาชีพครูจะไม่หายไปไหน แต่บทบาทของครูจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากครูหน้าห้องที่ให้ความรู้มาเป็นครูหลังห้องที่ช่วยฝึกทักษะ 

ดูเหมือนว่าวิกฤตครั้งนี้จะเป็นโอกาสใหญ่สำหรับ Online Learning เป็นโอกาสดีสำหรับสตาร์ทอัพทางการศึกษาด้วยซ้ำ แต่ถ้าในภาพที่ใหญ่กว่านี้แล้ว คุณมองว่าวิกฤตครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หลังจากนี้เราควรมุ่งหน้าตั้งเป้าหมายร่วมกันไปในทิศทางไหน 

        เรื่องโควิด-19 มันก็ตั้งคำถามกับหลายๆ อย่างของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เราไม่ได้คิดถึงมันมาก อย่างผมเองก็มีเพื่อนบางคนที่ทำธุรกิจขนาดเล็กในด้านของการท่องเที่ยวบ้าง ด้านของอุตสาหกรรมบันเทิงบ้าง ความสำเร็จที่เก็บสะสมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แทบจะหายไปในช่วงไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งอันนี้ผมว่ามันก็ทำให้เราตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของเราในปัจจุบันเหมือนกันว่า มันควรจะมีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่มั่นคงกว่านี้ นั่นหมายความว่ามันควรจะมีการสร้างระบบรัฐสวัสดิการไหม ที่ภาครัฐเข้ามาช่วยประคับประคองว่าเราจะช่วยหรือจะสร้างระบบที่ไม่ว่าคุณจะลำบากแค่ไหน อย่างน้อยคุณมีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ อย่างน้อยคุณมีการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพขั้นพื้นฐาน บางคนพูดไปถึงว่าเราควรจะมีการใช้ระบบที่เรียกว่า Universal Basic Income หรือเปล่า ที่บอกว่าอย่างน้อยประชาชนควรมีเงินเดือนขั้นพื้นฐานที่ทางรัฐรองรับให้ในวันที่วิกฤตเข้ามา เพื่อที่ว่าไม่ว่าจะแย่แค่ไหนในอนาคต ไม่ว่าจะมีวิกฤตโควิด-19 อีกรอบหนึ่ง มีโรคระบาดอีกโรค หรือว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ เข้ามา อย่างน้อยแย่ที่สุดของประชาชนก็ไม่ใช่แย่จนเกินไป ผมว่าถ้าเกิดมองในภาพรวมมันคือจุดนั้นแหละ ที่ว่าทำไมต้องเห็นถึงความสำคัญของการสร้างหลักประกันให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้นในวันที่เราทำนายอนาคตได้ค่อนข้างยากพอสมควร

        ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเราบอกว่าหลักประกันคุณภาพชีวิตมันมีอะไรบ้าง ถ้าเราแตกไปสัก 4-5 อย่าง ผมก็จะมองว่าอย่างน้อยก็ต้องมีเงินเดือนในระดับที่สามารถประคับประคองชีวิตได้ มีงานทำ มีการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งในอนาคตมันไม่ใช่แค่เด็กแล้ว แต่รวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วยที่ต้องเข้าถึงการพัฒนาทักษะใหม่ๆ การสาธารณสุข หรือว่าที่พักอาศัย 

        ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์เราจะเห็นเลยว่าหลักการทั้งหมดที่ผมพูดมันถูกสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่น่าสนใจมากว่าสหราชอาณาจักรเคยมีการพูดถึงการสร้างรัฐสวัสดิการตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรายงานของนักการเมืองสายเสรีนิยมคนหนึ่งที่ชื่อว่า เซอร์ วิลเลียม เบเวอริดจ์ (Sir William Beveridge) ในปีประมาณ 1942 ซึ่งในช่วงนั้นคนไม่ได้ตอบรับแผนของเขาสักเท่าไหร่ แผนของเขาก็คือการบอกว่ามันควรจะมีเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่พอจบสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นว่าความคิดเหล่านี้มันสามารถถูกปฏิบัติได้เพราะมีแรงสนับสนุนจากประชาชนทุกกลุ่มที่หันมารวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพว่าเราต้องการแบบนี้ ถึงขั้นที่ว่าคนที่นำเสนอไอเดียนี้ที่ชื่อว่า เคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee) สามารถชนะการเลือกตั้งจาก วินสตัน เชอร์ชิล ที่เป็นเหมือนกับฮีโร่จากสงครามได้เลย ด้วยไอเดียนี้ ก็เลยเกิดการก่อตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอังกฤษที่ชื่อว่า National Health Service มีการขยายสิทธิ์ มีการเรียนฟรีไปถึงระดับมัธยม มีการสร้างโครงการที่พักอาศัยสำหรับประชาชนในกลุ่มรายได้น้อยทั่วประเทศ 

        หลังวิกฤตทุกๆ ครั้ง ผมว่ามันเป็นการออกแบบโครงสร้างประเทศใหม่ในทุกครั้ง และผมคิดว่าวันนี้อาจจะยังไม่ใช่วันที่ต้องพูดถึงเรื่องนั้น เพราะว่าสิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือการแก้ไขและเยียวยาความลำบากของประชาชนในระยะสั้น แต่คิดว่ามันก็เป็นพื้นที่ของการที่จะช่วยกันออกแบบในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการศึกษาหลังโควิด ออกแบบกลุ่มเศรษฐกิจ ออกแบบระบบสาธารณสุข ออกแบบระบบการทำงาน การเงิน ขนส่งมวลชน ทุกอย่างเลยครับ

ในแง่หนึ่ง วิกฤตนั้นทำให้เกิดโอกาส ทำให้เราผลักดันการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการศึกษามากขึ้นซึ่งน่าจะส่งผลดีระยะยาว แต่ในระยะสั้นแล้ว วิกฤตนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการศึกษา และเราควรเตรียมรับมือกับผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดอย่างไร

        อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก ผมได้ไปดูสถิติมาและทราบว่าสถิติไม่ได้แย่อย่างที่ผมคิด อย่างแรกต้องเริ่มจากภาพรวมก่อนว่าทำไมโควิด-19 ถึงทำให้เกิดปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาหลักๆ เกิดขึ้นจากการที่เราต้องเลื่อนเปิดเทอม ก็เลยจะเกิดปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่า Summer Slide ทุกครั้งที่มีการเปิดเทอมใหญ่ที่แม้ไม่มีโควิด-19 มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าความรู้ของเด็กจะถดถอยลง พูดง่ายๆ คือนึกย้อนกลับไปในตอนที่เราเป็นเด็ก ทุกครั้งที่มีปิดเทอมใหญ่ เราก็จะลืมว่าเรียนอะไรไปในก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้น เด็กที่กลับมาหลังเปิดปีการศึกษาจะมีความรู้ที่อยู่ในระดับที่น้อยกว่าวันที่เขาจบไปเมื่อปีที่แล้ว ทีนี้พอมันปิดแค่สองเดือนไม่ได้เป็นปัญหาเพราะเด็กเขาก็ต้องการการพักผ่อน แต่พอมันยืดไปเป็นสามสี่เดือน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะยืดไปอีกกี่เดือน มันเลยเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Summer Slide ที่เด็กจะขาดการเรียนรู้ไปในระยะเวลาที่ค่อนข้างนานกว่าปกติ 

        มีผลวิจัยออกมาว่าการเลื่อนเปิดเทอมออกไปแค่ 6 สัปดาห์ หรือการที่เด็กขาดการเรียนรู้ไปแค่ 6 สัปดาห์ อาจจะทำให้เด็กตามหลังพัฒนาการของเขาไปกว่าครึ่งปีการศึกษา พูดง่ายๆ คือการขาดไป 6 สัปดาห์ ต้องใช้เวลาครึ่งปีการศึกษาในการคืนความรู้ตรงนั้นมาทั้งหมด อันนี้ก็เลยเป็นปัญหาหลักจากการเลื่อนเปิดเทอม และปัญหาตรงนี้จะรุนแรงขึ้นสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เพราะถ้ายาวไปถึงเดือนกรกฎาคมแล้วยังเปิดเรียนแบบที่เรียนในโรงเรียนไม่ได้ มันจะกลายเป็นว่าคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะขาดความรู้ยาวนานไปอีก 

        ทีนี้ก็ต้องมาถามว่าเราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร อันดับแรก ต้องมาดูเรื่องสถิติอุปกรณ์ก่อน ซึ่งพอไปดูแล้วคือ การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ 58% อันนี้ตัดไปได้เลยเพราะว่าเกือบครึ่งเข้าไม่ถึง แต่ข้อหนึ่งที่ดีกว่าต่างประเทศคืออัตราการเข้าถึงสมาร์ตโฟน อันนี้เป็นข้อมูลจาก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ของเด็กไทยอยู่ที่ 68% ซึ่งยังไม่ร้อยแต่ก็ไม่ถือว่าแย่มาก และที่ผมค่อนข้างชื้นใจขึ้นมาระดับหนึ่ง คือถ้าเราแบ่งเด็กเป็นระดับรายได้ เป็น Top 20% หรือ 20-40% ลงมา เด็ก 20% ที่มีรายได้น้อยที่สุดก็เข้าถึงสมาร์ตโฟน 79% ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีในระดับหนึ่งว่าถ้าเราสามารถทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพอยู่ในโทรศัพท์มือถือเด็กได้ อย่างน้อยเราเข้าถึงเด็ก 80% ได้แล้ว อีก 20% จะทำอย่างไรก็ต้องไปดูกันอีกที 

        นักวิชาการบางคนเสนอว่าสามารถเปิดสลับคาบได้ไหม ไม่ใช่เปิดทีเดียวให้ทุกคนมาเรียนพร้อมกัน ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเราสามารถช่วยเด็ก 20% ที่เข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟนได้อย่างไร แต่อย่างน้อยโทรศัพท์เราสามารถช่วยได้แล้ว 80% แต่ถึงแม้จะเข้าถึง 80% ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะเข้ามาเรียนจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้น มันจึงมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องช่วย ถึงแม้เด็กจะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ที่บ้าน แต่ถ้าไม่มีคนไปเพิ่มแรงจูงในการให้เขาเข้ามาเรียน ไม่มีสถานที่เงียบๆ ที่จะมานั่งเรียนได้ คุณพ่อคุณแม่ลากเขาไปช่วยทำงานที่บ้าน ถึงแม้เขาจะมีโทรศัพท์มือถือก็ไม่ได้มีการเรียนรู้ ดังนั้น การแก้ปัญหาการศึกษาในช่วงโควิด-19 มันจึงแก้ด้านการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ อันนี้ผมค่อนข้างเห็นใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วการจะมองภาพรวมต้องไม่มองแค่เรื่องของเด็กกับการศึกษา แต่ต้องมองเรื่องคุณภาพชีวิตของครอบครัวทั้งหมด เพราะถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่เขาตกงาน พักงาน ไม่มีรายได้ เราก็จะไปโทษเขาไม่ได้ ถ้าเกิดว่าเขามีความคิดที่ว่าอยากจะดึงลูกเขามาช่วยหารายได้เสริมในช่วงนี้ แล้วก็ทำให้ลูกขาดโอกาสหรือไม่มีเวลาในการมาเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือ 

        ท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขปัญหาการศึกษาในช่วงโควิด-19 ผมว่ามันต้องแก้ในระบบ ไม่ใช่แก้แค่เรื่องการศึกษา แต่ต้องดูแลกันทุกภาคส่วน ตราบใดที่ประชาชนยังลำบากอยู่ ไม่มีข้าวจะกินในแต่ละวัน จะมาหวังว่าเขาจะมาให้ความสำคัญเรื่องของการศึกษามันคงลำบาก ตอนนี้ก็มีการพูดคุยกันเยอะว่ามันจะมีการเปิดเทอมหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ต้องมาดูกันว่าคนที่เปราะบางที่สุด ที่เจอปัญหาหรือว่าประสบปัญหามากที่สุดในโควิด-19 คือกลุ่มไหน เราสามารถเยียวยาเขาได้เร็วที่สุดอย่างไร อันนี้มันแก้เรื่องการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้

 

Itim Parit

ในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีดูช่วยให้เกิดความเท่าเทียม ให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ แต่หาก infrastructure ไม่พร้อมแล้ว มันอาจส่งผลตรงกันข้ามได้ไหม จะทำอย่างไรกับคนที่เข้าไม่ถึง หรือปรับตัวกับเทคโนโลยีไม่ทันตั้งแต่แรก

        การเท่าทันต่อเทคโนโลยีเป็นอะไรที่สำคัญ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เราต้องระวังคือเรื่องของ Digital Divide คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากดิจิตอล มันเป็นคำถามโลกแตกว่าเทคโนโลยีเพิ่มหรือลดความเหลื่อมล้ำ มันตอบแบบขาวดำได้ยากมาก ยกตัวอย่างตอนที่ผมไปโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา เป็นโรงเรียนที่ไม่เชิงว่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแต่ก็ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง ห้องเรียนที่โรงเรียนนี้ มีเด็กประมาณ 30 คน 29 คน มีสมาร์ตโฟน และมีคนหนึ่งที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดี ถ้าผมเอาการศึกษาที่ดีไปอยู่ในโทรศัพท์ของเด็กทุกคนแล้วถามว่าเพิ่มหรือลดความเหลื่อมล้ำก็ตอบได้ยากมาก เพราะในมุมหนึ่งมันลดความเหลื่อมล้ำ มันทำให้เด็ก 29 คน เท่าเทียมกับเด็กในโรงเรียนชั้นนำในกรุงเทพฯ แต่มันกลับไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็ก 29  คนที่มีโทรศัพท์มือถือกับหนึ่งคนที่ไม่มี มันตอบขาวดำไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเพิ่มหรือลดความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามั่นใจได้แน่นอนว่าเทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำ คือเรา make sure ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ถ้าวันไหนที่เด็กทั้ง 30 คนนั้นมีสมาร์ตโฟน ผมมั่นใจและฟันธงได้เลยว่าเทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่อง Digital Divide มันต้องเริ่มต้นโดยการทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีก่อน แต่การเข้าถึงไม่ได้หมายถึงแค่การมีสมาร์ตโฟนอย่างเดียว มันหมายถึงการสามารถใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นด้วย

ในมุมของการเยียวยาอย่างเท่าเทียม เราต้องให้ความสำคัญกับคนที่เปราะบางที่สุดก่อนใช่หรือไม่ 

        มันค่อนข้างพูดยาก แต่ตามหลักการแล้วก็ควรจะช่วยคนที่ลำบากที่สุดมากที่สุด แต่มันก็ควรจะหาดุลเหมือนกัน เพราะถ้าเกิดเราจะใช้ระบบการคัดกรองที่ต้องมานั่งวัดว่าใครลำบาก ใครไม่ลำบาก จนทำให้เกิดความเชื่องช้าหรือว่าความไม่แม่นยำในการคัดกรองสมจริง เพราะ ณ เวลานี้ มันเป็นวิกฤตที่ต้องการความรวดเร็วในการเยียวยา ผมคิดว่าเรื่องการวางมาตรฐานการคัดกรองที่ซับซ้อนเกินไปก็ไม่สมควร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องประเมินอยู่เหมือนกัน

ก่อนหน้าที่โควิดจะเริ่มต้น เราเห็นกระแสหนึ่งในสังคมไทยคือการปะทะกันทางความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า คุณมองเรื่องนี้อย่างไร ในวันที่ทุกคนรู้แล้วว่ามันมีวิกฤตร่วมกันมากกว่าความเห็นต่างส่วนตัว หลังจากนี้คุณมองว่าความคิดของทั้งสองกลุ่มควรจะหันเข้าหากันอย่างไรในการร่วมหาทางรับมือกับวิกฤตในอนาคต  

        ผมเป็นคนที่พยายามอย่างมากที่จะไม่แบ่งรุ่น เราพยายามไม่ตีตราว่าคนรุ่นนี้เป็นแบบนั้น คนรุ่นนั้นเป็นแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นว่าไปเพิ่มการแบ่งแยก แต่ก็คงปฏิเสธหลักฐานไม่ได้ว่าความคิดของคนแต่ละรุ่นนั้นต่างกัน และผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิด อย่างถ้าเราไปดูสถิติการเลือกพรรคการเมืองในต่างประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศไทย สัดส่วนของคนสูงอายุที่เลือกพรรคที่มีความเชื่อแบบอนุรักษนิยมจะสูงกว่าสัดส่วนของคนเป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว และมันไม่ใช่เรื่องของยุคสมัย แต่พอเด็กวัยรุ่นคนนั้นโตขึ้นไปก็จะมีแนวโน้มในการเลือกพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้น มันเป็นเรื่องสัจจธรรมอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เพียงแต่ว่าโจทย์ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้สามารถพูดคุยและสามารถหาทางออกกันได้ภายใต้ความแตกต่างนั้น

        การมีวิกฤตได้พิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าสามารถทำให้ประเทศมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ไม่ได้บอกว่าควรจะมีวิกฤต แต่ควรจะมีช่องทางอื่นที่ทำให้คนหันมาพูดคุยกันได้ อย่างที่ผมบอกว่าการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการที่ต้องมีการความร่วมมือของคนทุกรุ่น ทุกประเภท ทุกกลุ่ม มันก็สำเร็จได้ที่อังกฤษ เพราะว่ามันมีเรื่องของวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามา ทำให้พอมันจบทุกคนก็มารวมตัวกัน ทีนี้เราก็ต้องหวังว่าจะไม่ต้องพึ่งวิกฤตถึงจะทำให้คนหันหน้ามาคุยกันภายใต้ความคิดที่แตกต่าง 

        ผมเคยยกตัวอย่างหนึ่งที่ชอบมากเลยคือไต้หวัน ไต้หวันเคยมีปัญหาหนึ่งคือเรื่องของ Grab ว่า Grab ไม่ควรถูกกฎหมาย เถียงกันหลายปีก็ไม่จบเพราะครึ่งหนึ่งก็รู้สึกว่ามันควรจะถูกได้แล้วเพราะว่ามันเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อีกครึ่งหนึ่งก็บอกว่าไม่แฟร์กับคนขับ เพราะว่าคนขับที่เป็นคนขับแท็กซี่เขาก็จะรู้สึกว่าทำงานแทบตาย มีใบอนุญาต แต่ต้องมาเจอคนขับแกร็บไปแย่งงานเขา เถียงกันอยู่อย่างนี้ไม่มีวันจบ ถ้าจะทำ Grab ให้ถูกกฎหมายความคิดเห็นก็ 50:50 ตลอด ทางไต้หวันเขาก็เลยเปลี่ยนวิธีการถาม เขาไม่ถามว่าควรหรือไม่ควรถูกกฎหมาย แต่เขาถามว่า ‘คุณอยากเห็นอุตสาหกรรมแท็กซี่เป็นอย่างไร’ มาออกแบบอุตสาหกรรมแท็กซี่กันว่าอยากให้เป็นแบบไหน ปรากฏว่า 90% ของคนอยากให้ไม่มีการผูกขาด 90% ของคนบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของผู้โดยสาร 90% บอกว่าค่าโดยสารห้ามสูงเกินไป เขาก็เอาตรงนั้นมาเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้น actually ของคน 2 กลุ่มที่เถียงกันมานานว่าควรถูกกฎหมายหรือไม่ควร เขาเห็นด้วยในหลายๆ อย่าง แต่พอเราเปลี่ยนวิธีการถามคำถามมันทำให้คนหันมาเน้นที่จุดร่วมมากกว่าจุดต่าง แล้วก็เอาจุดร่วมที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันมาเป็นฐานในการสร้างนโยบาย

        การออกแบบประเทศก็เหมือนกัน ถ้าย้อนกลับไปเรื่องรัฐธรรมนูญที่สมัยก่อนถามว่า ‘เห็นด้วยกับการแก้หรือไม่’ ครึ่งหนึ่งก็จะบอกว่าแก้ ครึ่งหนึ่งก็จะบอกไม่แก้ มันก็จะจบอยู่อย่างนั้น ตอนที่เราจัดกิจกรรม collab เราก็เลยเปลี่ยนวิธีการถามคำถาม เราบอกว่า ‘ลืมไปเลยนะว่ารัฐธรรมนูญเขียนอย่างไร แต่มาคุยกันดีกว่าว่าอยากเขียนแบบไหน แล้วค่อยมาดูว่าที่เราอยากได้มันเหมือนหรือมันต่างจากสิ่งที่เรามีมากน้อยแค่ไหน’ เป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์มากที่บางคนบอกว่าอยากแก้มาก แต่ก็จะมีบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากได้และมันตรงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว บางคนที่บอกว่าไม่อยากแก้สิ่งที่อยากได้มันต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เขาคิด มันก็เป็นคำถามเพื่อหาทางออกร่วมกัน 

แล้วคำถามประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ ในมุมของคุณ คิดว่าเราควรเปลี่ยนคำถามไปในทางไหนเพื่อจะได้คำตอบที่แตกต่างจากเดิม 

        บทเรียนทั้งหมดทั้งในเรื่อง Grab เรื่องรัฐธรรมนูญ เราไม่ควรถามคำถามที่มันขาวดำ ซึ่งคำถามขาวดำคำถามหนึ่งที่คนชอบถามว่า ‘จะเลือกอะไรระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ’ สองสิ่งนี้มันมีความเชื่อมโยงกันพอสมควร สมมติเราบอกว่าจะเลือกเศรษฐกิจเพราะคิดว่าโรคเอาอยู่แล้ว เปิดเมืองทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คนที่โดนผลกระทบมากที่สุดก็คือคนที่รายได้น้อย เพราะถ้าเกิดโรคระบาดขึ้นมาอีกแล้วเราจะต้องปิดประเทศอีกรอบหนึ่ง คนที่อยู่ตำแหน่งที่ลำบากที่สุดก็คือคนรายได้น้อย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเลือกสุขภาพอย่างเดียว ไม่สนเศรษฐกิจเลย มันก็กลายเป็นว่าคนเราก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มันสะเทือนใจมากเมื่อเห็นกราฟอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูง เพราะฉะนั้น อย่าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง มันต้องควบคู่กันไป เพราะถ้าเรามองว่ามันเป็นแค่การเลือกสองด้าน ก็จะเป็นการนำประเทศไปสู่สภาวะที่ไม่ได้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าเราไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจเลย พูดภาษาปกติก็คือคนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะประคับประคองชีวิตเขาได้ แต่ถ้าเราเลือกเศรษฐกิจอย่างเดียวปัญหาสุขภาพก็จะกลับมาทวีคูณและคนที่จะลำบากที่สุดก็คือคนรายได้น้อย เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามหาสมดุลระหว่างสองเรื่องนี้ 

        ผมเลยคิดว่าคำถามที่สร้างสรรค์กว่าว่าเปิดเมืองแบบไหนคือการเปิดเมืองที่ดีที่สุดและเสี่ยงน้อยสุด ก็ต้องมาดูว่าคนกลุ่มไหนที่มีความเสียหายทางเศรษฐกิจเยอะสุด พอเปิดให้เขาก่อนได้ไหม อันนั้นเป็นสิ่งที่น่าจะสร้างสรรค์ที่สุดในการหาทางออก

 

Itim Parit

เราสามารถนำเทคโนโลยีและฐานข้อมูลที่รัฐมีมาช่วยสร้างคำถามใหม่ๆ เปิด crowdsourcing หรือสร้างมาตรการที่ตอบรับกับช่วงเวลานี้ได้บ้างไหม 

        มันต้องเป็นการแบ่งส่วน (segment) ให้กับประชาชน เพราะประชาชนแต่ละคนเจอปัญหาไม่เหมือนกัน เมื่อวันก่อนได้คุยกับนักเศรษฐศาสตร์ หลายคนบอกว่าวิธีการแบ่งที่ง่ายที่สุด คิดเป็น 4 ตาราง เป็นช่องสองคูณสอง แกนแนวนอนคืออาชีพที่เขาทำอยู่นั้นโดนผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าทำออนไลน์ก็โดนผลกระทบน้อย แต่ถ้าเกิดทำออนไลน์ไม่ได้ หรืออาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็จะโดนผลกระทบมาก อันที่สองคือความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ เพราะถ้าให้เขาเริ่มกลับมาทำงานมันจะเสี่ยงต่อการติดโควิดมากน้อยแค่ไหน ก็จะแบ่งคนเป็น 4 ประเภท หนึ่ง) คนที่โดนผลกระทบมาก แล้วกลับมาทำงานไม่ได้ เสี่ยงเยอะ สอง) คนที่โดนผลกระทบมาก ถ้ากลับมาทำงานจะเสี่ยงน้อย สาม) คนที่โดนผลกระทบน้อย ถ้ากลับมาทำงานจะเสี่ยงมาก และสี่) คนที่โดนผลกระทบน้อย กลับมาทำงานแล้วเสี่ยงน้อย เราก็หาทางออกที่แตกต่างกันใน 4 ช่อง 

        ถ้าคิดตามผม คือช่องที่เป็นคนที่โดนผลกระทบมาก แต่ถ้าออกมาทำงานก็เสี่ยงสูงเหมือนกัน กลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเยียวยา เราต้องพยายามช่วยเยียวยาเขาเพราะจะปล่อยให้เขากลับมาทำงานก็ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูง เขาก็โดนผลกระทบเยอะเหมือนกัน อีกช่องหนึ่งคือช่องที่ผลกระทบมาก แต่ความเสี่ยงน้อย ผมว่าเป็นกลุ่มแรกที่ควรจะมีการเปิดให้เขาออกมาทำงานก่อน ส่วนที่ได้รับผลกระทบน้อย ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมากก็สามารถประคับประคองได้ อย่าง StartDee ที่เราทำงาน WFH  ทุกคน ยกเว้นวันที่จะต้องมาถ่ายทำจริงๆ ซึ่งก็มีมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางอะไรอยู่

StartDee จะเปิดให้ใช้งานจริงในช่วง 1 พฤษภาคมนี้ คุณออกแบบโครงสร้าง StartDee ไว้อย่างไร โลกของการศึกษาที่บอกว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ของการศึกษามันคืออย่างไร 

        ถ้าใช้คำว่าเน็ตฟลิกซ์ของการศึกษา ผมมองว่ามันมีเน็ตฟลิกซ์ขั้นพื้นฐาน กับเน็ตฟลิกซ์แอดวานซ์ ขั้นพื้นฐานคือเป็นแอพฯ ที่เปิดเข้าไปแล้วสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนได้หมดเลย เหมือนกับเวลาเราอยากดูหนังหรือซีรีส์อะไร เราก็เปิดเน็ตฟลิกซ์เข้าไปดูในนั้น ซึ่งเนื้อหาใน StartDee มันก็มีครบทุกวิชา ทุกระดับชั้น หมายถึงว่า ป.1 ถึง ม.6 วิชาหลักมีหมด แต่จะมีนอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียนในโรงเรียนด้วย 

        StartDee ตระหนักอยู่ตลอดว่ามีหลายทักษะที่หลักสูตรของประเทศไทยอาจจะยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะฉะนั้น ใน StartDee เราจะมีเนื้อหาที่อิงกับหลักสูตร ซึ่งเป็นวิชาที่เรียนในโรงเรียนบวกกับเนื้อหาทักษะด้านอื่นที่เรารู้สึกว่ามันสำคัญสำหรับเด็ก อย่างเช่น เรื่องทักษะการเงินที่เรามองว่าอยากให้เด็กทุกคนมีทักษะว่าควรจะวางแผนการเงินอย่างไร ยิ่งเด็กมัธยมปลายที่อาจจะเริ่มมีการมีงานทำ พอก้าวเข้าสู่ชีวิตมหา’ลัย หรือชีวิตหลังมัธยม จะมีทักษะเรื่องของดิจิตอลว่าเท่าทันโลกดิจิตอลอย่างไร มีเรื่องของความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมว่าเราใช้ชีวิตที่บ้าน ที่โรงเรียน เราควรจะปรับวิถีชีวิตอย่างไรที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เรากำลังคิดและประเมินเรื่องของเพศศึกษาเหมือนกัน แต่อันนี้เราต้องเช็กดีๆ ว่าเราสามารถล็อกได้ว่าไม่ใช่เด็กที่ตามวัยอันควรเข้าไปดูได้ มันจะมีเรื่องของการแนะแนวที่พยายามทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เราในการนำเสนออาชีพใหม่ๆ ที่น่าสน ให้เด็กเข้าใจว่ามีทางเลือกอะไรบ้างสำหรับชีวิตการงานของเขา เพราะฉะนั้น ในขั้นพื้นฐานมันเป็นเหมือนกับเน็ตฟลิกซ์ที่สามารถเข้าไปดูเนื้อหาอะไรได้หมดเลย 

        ส่วนในขั้นที่ฉลาดขึ้นมา คือเรามองว่าการศึกษาที่ดีมี 3 องค์ประกอบ อย่างแรกคือต้องเป็นการศึกษาที่เหมาะกับแต่ละคน เป็นการศึกษาที่ personalized อันนี้คือการเอาระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนตอบคำถามถูกผิดมากน้อยแค่ไหน ดูวิดีโอนี้มีพฤติกรรมการดูแบบไหน ก็จะพยายามปรับหน้าตาประสบการณ์ให้มันตรงกับความต้องการของเขา เราเชื่อว่าตรงนี้จะทำให้เด็กสนใจการศึกษามากขึ้น เพราะมันกลายเป็นว่าการที่เขาเข้ามามันทำให้เขาเจอเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาตลอด 

        องค์ประกอบที่สองจะต้องเป็นการศึกษาที่สนุก ผมอยากเห็นเด็กสนุกกับการศึกษา ไม่ใช่มองว่าการศึกษาเป็นภาระ แต่จะมองว่าการมาเรียนใน StartDee แล้วมันสนุก StartDee จะมีฟีเจอร์ที่พอเราเรียนจบ หรือเราตั้งแผนไว้ว่าจะเรียนวิชาเหล่านี้กี่ชั่วโมง พอเราเรียนได้ตามแผนมันจะให้รางวัลเรา เพิ่มแต้ม เลเวลอัพ มีไอเทมอะไรต่างๆ ที่สามารถไปแลกได้ อันที่สามก็คือการศึกษาที่ดีต้องเป็นการศึกษาที่เรียนรู้ร่วมกัน เราไม่อยากให้เด็กที่เข้ามาแล้วรู้สึกว่าอยู่เดียวดาย แต่ทำอย่างไรให้มันมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่เข้ามาในแอพฯ เหมือนกัน เราก็จะมีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กสามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้กันได้ สมมติ เราจดโน้ตวิชาหนึ่งเราก็สามารถแชร์ให้กับเพื่อนๆ ได้ พอแชร์ปุ๊บเราก็จะได้รางวัลกลับคืนมา มันก็จะทำให้เด็กเริ่มแบ่งปันกันและกัน มีเว็บบอร์ดที่สามารถเข้าไปถามตอบสิ่งที่สงสัยได้ 

        อันนี้คือภาพวิสัยทัศน์ของทาง StartDee ซึ่งจริงๆ ตัวแอพฯ พร้อมโหลดแล้วแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ สามารถเข้าไปดูได้เพราะมันจะมีฟีเจอร์พื้นฐานอยู่ อย่างน้อยเน็ตฟลิกซ์ขั้นพื้นฐานจะมีฟีเจอร์ที่พร้อมแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังค่อยๆ ทยอยอัพโหลดเนื้อหาเข้าไป ถ้าคิดเหมือนเน็ตฟลิกซ์ คือเรามีโครงแล้ว แต่เรายังมีหนังอีกหลายเรื่องที่ต้องไปกำกับ อย่างที่บอกในตอนต้นว่าไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องเสร็จเร็วขนาดนี้ แต่พอมีโควิด-19 เข้ามาเราก็ต้องเร่งทำเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือในช่วงนี้

หลังจากเกิดเหตุ COVID-19 สิ่งที่คุณเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนมุมมองของคุณไปอย่างไร แล้วในบทบาทของ CEO บริษัทสตาร์ทอัพ ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง 

        ถ้าพูดในระดับประเทศ คือเราได้เรียนรู้ว่าคุณหมอที่ประเทศไทยเก่งมาก และจากตัวเลขที่เห็นในวันนี้มันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศเรา ซึ่งอันนี้ผมยอมรับว่ามันทำให้เกิดความย้อนแย้งในตัวผม เพราะผมมีความเชื่อมาตลอดว่าเราไม่ควรมีค่านิยมว่าคนเรียนเก่งต้องไปเป็นหมอ สมัยก่อนมันจะมีค่านิยมที่ว่าเรียนเก่งก็ไปเป็นหมอสิ ก็เลยทำให้หลายคนที่เป็นหมอค่อนข้างเรียนเก่ง ส่วนตัวผมค่อนข้างจะต่อต้านค่านิยมนี้มาตลอดเพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้มีความเก่งแบบเดียว หรือคุณจะเก่งไม่เก่งอย่างไร คุณสามารถเลือกอาชีพที่คุณอยากทำได้ แต่อันนี้มันก็เป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่งที่ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่ง

        แต่ถ้าในฐานะ CEO บริษัท มี 2 อย่างที่ผมเรียนรู้ อย่างแรกคือในกระบวนการทำงานมันทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ ในสมัยก่อนเราจะคุ้นเคยมากกับการตื่นเช้าทุกวันแล้วมาทำงานที่สำนักงาน แต่เมื่อถูกบีบบังคับว่าเราต้องทำงานออนไลน์ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำงานออนไลน์หรือทำงานที่บ้านแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันมีข้อเสียอยู่เยอะ เพราะผมยังเชื่อว่าการประชุมจะมีประสิทธิภาพมากกว่าถ้าเราได้คุยต่อหน้า แต่ก็ทำให้ตั้งคำถามเหมือนกันว่าเมื่อกลับไปสู่โลกหลังโควิด เราจำเป็นต้องบังคับพนักงานมาทำงานตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์จริงๆ หรือเปล่า หรือเราจะมีการทำงานที่บ้านในบางวัน อันนี้ก็เป็นคำถามที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ของผม 

        อย่างที่สอง ผมรู้สึกว่าในฐานะ CEO สตาร์ทอัพด้านการศึกษา ผมจำได้ว่าในวันที่โควิด-19 เข้ามาใหม่ๆ เป็นช่วงที่คนในบริษัทเราก็เริ่มเหนื่อยเหมือนกัน เพราะว่ามีเป้าหมายที่ค่อนข้างเร่งรัดในการพัฒนาแอพพลิเคชัน ตอนนั้นมีการประชุมบริษัททุกๆ สัปดาห์ ผมได้พูดในที่ประชุมว่า ผมมองโควิดแล้วผมรู้สึกว่าภารกิจที่เราทำอยู่มันเป็นภารกิจที่สำคัญอยู่แล้ว เพราะมันเป็นการทำให้การศึกษาที่ดีเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ผมมีความเชื่อว่าในอีกเดือนสองเดือนภารกิจเราจะมีความสำคัญยิ่งกว่านี้อีก แล้วพอ fast forward มาถึงวันนี้มันก็เป็นสิ่งที่จริง ผมจึงคิดว่าโควิดมันเป็นการทดสอบทุกคนเหมือนกันว่าเราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ไปช่วยสังคมได้มากน้อยแค่ไหน แล้วพอเห็นความพยายามของคุณครูทุกคนที่บริษัท ความพยายามของทีมที่พัฒนาด้านแอพพลิเคชัน ทีม HR ทีม Support Function ทุกทีมในบริษัทที่อดหลับอดนอน ผมได้เรียนรู้จริงๆ ว่ามีหลายคนที่มีความตั้งใจที่ดีมาก และพร้อมจะเหนื่อยกว่าเดิม พร้อมจะล้ากว่าเดิม เพื่อพยายามทำสิ่งที่ตัวเองทำได้เพื่อช่วยเหลือสังคมในเวลานี้