‘แพงงงงงงง!!’ เสียงบ่นดังระงมของผู้คนทั้งประเทศ ถึงสภาวะ ‘ข้าวของขึ้นราคา’ แน่นอน, สินค้าที่มาแรงแซงทางโค้งในเวลานี้ ก็ ‘ราคาหมู’ นั่นไงจะอะไรล่ะ! ราคาพุ่งขึ้นไปสูงกว่ากิโลกรัมละ 240-250 บาทก็เป็นไปแล้ว ที่มาที่ไปของปัญหาหลักๆ เกิดจากสภาวะหมูขาดตลาด เนื่องจากเกิดโรคระบาดในหมูหรือ ASF (ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้คำตอบกันแบบไม่เคลียร์ใจผู้ประกอบการและผู้บริโภคเอาเสียเลย) เมื่อหมูหายาก ในท้องตลาดจึงมีราคาสูง มิหนำซ้ำ ข้าวของอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังพร้อมใจกันขึ้นราคา ประหนึ่งเกิดอุปทานหมู่
ความตึงเครียดชวนให้ความดันขึ้น จากภาวะเงินมีเท่าเดิมแต่ซื้อของราคาเดิมไม่ได้ ถูกส่งต่อไปสู่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้า โดยเฉพาะร้านอาหารที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในวัตถุดิบที่สูงขึ้น เรื่องเหล่านี้ยืนยันได้อย่างดีจาก จงใจ กิจแสวง หรือ ‘เจ๊จง’ เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดัง ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในสภาวะ ‘แบกต้นทุน’ จนหลังแอ่น สุดท้ายเมื่อเกินจะต้านทาน เธอก็ต้องยอมขึ้นราคาค่าอาหารในร้านมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
‘เรื่องนี้เจ๊เจ็บ!!’ เพราะถึงแม้จะไม่อยากขึ้นราคา แต่ในเมื่อราคาค่าวัตถุดิบพุ่งเอาๆ แบบนี้ ยังไงก็คงต้องยอมขึ้นอยู่ดี มิฉะนั้น ร้านอาหารกว่า 13 สาขาของเธอที่มีอยู่คงร่อแร่ หายใจรวยริน และอาจไม่รอดเช่นกัน
ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างยังคงคลุมเครือและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย a day BULLETIN เดินหน้าเข้าไปสนทนากับเจ๊จงยังร้านของเธอ ในฐานะผู้ประกอบการที่กำลังประสบกับชะตากรรมวัตถุดิบแสนแพงแบบนี้ เธอมองปัญหานี้อย่างไร และมีวิธีบริหารจัดการกับสถานการณ์หนักหนานี้เช่นไร รวมไปถึงในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ภาวะข้าวยากหมากแพงขนาดนี้ เธออยากบอกอะไร กับใคร ทุกบรรทัดจากนี้ มีคำตอบจาก ‘หัวใจ’ รออยู่
วางปังตอบนเขียงหมูดังปัง! แล้วลงนั่งพูดคุยกับเจ๊จงกันได้เลย…
สถานการณ์ตอนนี้ ถ้าเปรียบเป็น ‘คนป่วย’ เจ๊จงคิดว่าตัวเองอยูในขั้นไหนแล้ว
ไอซียู (ยิ้มเจื่อน) หนักเลย ตอนนี้เหมือนทุกอย่างมันเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เรามีคำถามว่า ทำไมถึงต้องได้รับแต่ข่าวว่าหมูขึ้นราคาแทบทุกวัน แล้วอยู่ๆ มันกลายเป็นว่าสินค้าทุกอย่างก็เขยิบราคาตาม เดี๋ยวอันนั้นขึ้น เดี๋ยวอันนี้ขึ้น คือขึ้นมันทุกวัน จนเราหลอน เฮ้ย วันนี้จะมีอะไรขึ้นมาไหม มันกลายเป็นว่าทุกอย่างพากันเฮโลขึ้นราคาไปหมด
ในฐานะคนที่อยู่กับราคาวัตถุดิบอยู่ตลอดเวลา มันมีสัญญาณบ่งบอกถึงการ ‘ขึ้นราคา’ มาตั้งแต่เมื่อไหร่
เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มันเริ่มขึ้นทีละอย่าง เช่น กล่องพลาสติก หรือพวกภาชนะที่ใส่ของ ราคาปรับมา 65 สตางค์ ถามว่า 65 สตางค์ต่อใบเยอะไหม เยอะนะ หลังจากนั้นก็ขึ้นราคาหนังยาง พวกของกระจุกกระจิก หรือแม้แต่น้ำมันพืช ตัวนี้คือร้ายกาจมาก ขึ้นราคามาตลอด แต่บางคนไม่รู้ ที่เจ๊รู้เพราะเจ๊ต้องใช้เยอะ ต่อวันเป็นสิบปี๊บ จากราคาลังหนึ่ง 400-500 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเกือบๆ จะ 900 บาท เมื่อก่อนเจ๊จ่ายค่าน้ำมันพืชต่อเดือนครั้งหนึ่งราวๆ หลักหมื่น แต่เดี๋ยวนี้เป็นแสน คือมันขยับขึ้นราคามาตลอด เพียงแต่มันไม่เป็นข่าว มันมาแรงกับหมูที่เป็นข่าวขึ้นมา แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องซื้อของ ซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ จะรู้ดีว่าเวลาควักเงินที มีสะดุ้ง
“บอกเลยว่า คนเลี้ยงหมูจะตายกันหมดแล้ว นั่งร้องห่มร้องไห้กัน คนขายหมูที่ตลาดเป็นหนี้กันไปหมด เดินมาหาเจ๊วันก่อน บอกจะเลิกขาย เพราะไม่รู้ว่าขายไปแล้วมันจะเหลืออะไร”
อย่างหมูที่ขึ้นราคา มันเริ่มส่งผลกระทบกับเจ๊จงแบบเต็มๆ ตอนไหน
ต้องเล่าอย่างนี้ก่อน ปกติเจ๊จะสั่งหมูทุกวัน โดยเจ๊จะสั่ง 2 ทาง คือสั่งจากเบทาโกรจำนวนหนึ่ง แล้วก็สั่งจากตลาดเจ้าประจำอีกจำนวนหนึ่ง เจ๊จะไม่สั่งปริมาณเท่ากันเป๊ะๆ ทุกวัน เพราะถ้าเผื่อของเหลือ เราจะไม่มีที่แช่ เจ๊จึงสั่งแค่พอประมาณ ถ้าขาดเหลือยังไง เราค่อยสั่งจากตลาดเจ้าประจำที่สั่งซื้อกันมาหลายสิบปี
ทีนี้ช่วงหลังๆ ราคาหมูที่ตลาดเจ้าประจำเกิดวิ่งไปเกือบๆ กิโลกรัมละ 190 บาท คือเรายอมรับเลยว่าไม่สามารถซื้อได้ เพราะถ้าซื้อราคานี้ เราเองก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน โชคดีที่อีกทางหนึ่งคือที่สั่งกับเบทาโกรยังตรึงราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 155 บาท แต่นี่มีสัญญาณมาแล้วว่าจะขึ้นราคาอีกสองรอบ คือรอบวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมารอบหนึ่ง หลังจากนั้นจะไปขึ้นอีกทีวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อีกรอบหนึ่ง อันนี้เตรียมทำใจได้เลย
คือมันขึ้นมาหลายเด้งมาก ก่อนหน้านี้ก็ขึ้นมาตลอด แล้วเราไม่รู้ว่าเราควรจะยังไงต่อ คือตอนนี้ถึงจะบอกว่าอาการหนัก แต่ว่ามันหนักสุดแล้วหรือยัง หรือมันจะหนักกว่านี้อีกไหม เราหลอนตรงนี้แหละ
ถ้าราคาหมูยังคงขึ้นไปอีก เจ๊จงวางแผนไว้อย่างไร
ถ้าแพงไปกว่านี้ เจ๊คงหยุดชนิดหมูที่ใช้เป็นบางตัว อย่างลูกชิ้นหมูที่เป็นลูกๆ ตอนนี้ปรับขึ้นมา 5 บาท หรือหมูยอ ปรับขึ้นมา 3 บาทต่อ 10 ชิ้น แบบนี้เรายอมควักเงินเองนะ ไม่เป็นไร เราไม่อยากไปโยนภาระให้กับลูกค้า แต่อย่างกุนเชียงปรับขึ้นมากิโลกรัมนึง 50 บาท แบบนี้ไม่ไหว หนักจริง เราก็คุยๆ กันว่า หมดล็อตนี้ เราน่าจะหยุดขายก่อน
คือถามว่าลูกค้าสามารถซื้อได้ไหม เขาซื้อได้ แต่ส่วนตัวเจ๊ มันเป็นอะไรที่… (หยุดถอนหายใจ) ถ้าเราจะเลิกขาย เราจะเลิกเพราะเกรงใจลูกค้านี่แหละ คือไม่ไหว ให้เขาไปกินอย่างอื่นแทน หาอย่างอื่นมาแทนให้เขากินดีกว่า เจ๊ยังโชคดีที่มีข้าวแกงขาย แล้วเราก็ปรับให้มีเมนูปลา หรือมีอะไรอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าได้กิน คือมีทางเลือกน่ะพูดง่ายๆ มันเลยมองว่ายังพอขายได้
ชื่อแบรนด์ว่า ‘เจ๊จงหมูทอด’ แต่ถ้าไม่ขายหมู เจ๊จงทำใจได้เหรอ
ก็ถ้ามันแพงมาก ถึงจะเป็นเจ๊จงหมูทอด มันไม่จำเป็นว่ามาร้านเจ๊แล้วต้องกินหมูทอดหรอก กินอย่างอื่นก็ได้ อย่างน้อยกับข้าวอื่นๆ เจ๊ก็มีตั้งเยอะ คือก่อนหน้านี้เริ่มมีสัญญาณการขาดทุนกันบ้างแล้ว ลูกๆ บอกว่าแม่ เราเริ่มขาดทุนมาหลายเดือนแล้วนะ ปกติเจ๊จะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องรายละเอียดตัวเลขในบัญชี ปล่อยให้ลูกๆ ทำ ซึ่งตอนนี้ เฉพาะร้านนี้ เดือนหนึ่งเราขาดทุนอยู่ราวๆ 3 หมื่นบาท
ส่วนสาขาอื่นๆ ที่ตอนนี้มีอยู่ 13 สาขา ซึ่งเป็นของลูกๆ ที่เขาแตกออกไปทำกันเอง สถานการณ์ตอนนี้ไม่ค่อยดี เช่น สาขาสามย่านมิตรทาวน์ หรือเซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่นั่นขายแต่หมูอย่างเดียว ไม่ได้มีข้าวแกงอย่างที่ร้านหลัก ตอนนี้เจ๊งไปกว่า 2 ล้านบาทแล้ว จริงๆ สถานการณ์มันหนักมาตั้งแต่ช่วงโควิด เพราะสาขาที่อยู่ในตึกที่ทำการออฟฟิศ อย่างสาขาที่ตึก FYI พอคนทำงานอยู่บ้าน ลูกค้าก็ลดน้อยลง เราก็ขายได้น้อยลง มันจะเพิ่งมาดีขึ้นสักเดือนกว่าๆ ช่วงปลายปีที่ผ่านมานี่เอง แต่กลายเป็นว่ามาเจอปัญหาของแพงอีก เหนื่อย… (ยิ้มแห้ง)
“ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ ถ้าลงมือทำด้วยความรวดเร็ว แต่พอเจ๊พูดออกไปแบบนี้ เดี๋ยวจะมีเสียงออกมาว่า มันต้องเป็นไปตามระบบ หรือมันทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ท่านคะ จะตายกันหมดแล้วค่ะ ถ้าท่านคิดจะสั่งจริงๆ มันไม่มีอะไรที่จะช้าหรอกค่ะ”
อัพเดตขณะนี้ ร้านหมูทอดเจ๊จงทั้ง 13 สาขายังเปิดอยู่
เปิดอยู่ เพราะมันเป็นอาชีพของเรา ยังไงเราก็คงต้องสู้อยู่ แต่ทีนี้มันอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการยังไงให้มันอยู่รอด อย่างบางสาขาเราต้องไปคุยกับเจ้าของพื้นที่ ขอลดค่าเช่าได้ไหม ถ้าคุยกันแล้วไม่ได้ เราก็ต้องปิด เพราะถ้าขืนอยู่ เราก็ตายอยู่ดี หรืออย่างที่นี่เอง (สาขาพระรามสี่) เราก็คุยกับลูกน้องทุกคน สถานการณ์ตอนนี้ต้องช่วยกันประหยัดนะ พยายามสอนเขา เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้
เจ๊จงพอจะเล่าให้ฟังได้ไหม ว่ามีวิธีบริหารจัดการวิกฤตนี้อย่างไร
อันดับแรก สาขาไหนที่มีค่าเช่าที่สูง เจ๊พยายามให้ลูกไปคุยก่อน หรือถ้าไม่ไหว แม่จะเข้าไปคุยให้ หรือร้านเจ๊ที่นี่ ค่าเช่าถูกก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายลูกน้องสูง เราต้องมาบริหารจัดการว่า อะไรที่เราประหยัดได้ก็ประหยัด แต่เราจะไม่ลดคุณภาพ ไม่ลดปริมาณสินค้าลงแน่นอน เราใช้วิธีเน้นตรวจสอบวัตถุดิบอื่นๆ ที่มันมีผลกระทบ อย่างเช่นน้ำมันพืช เรากำชับกับลูกน้องว่า น้ำมันพืชแพง ต้องช่วยกันประหยัด คำว่า ‘ประหยัด’ คือ อย่าให้มันหกเยอะ พยายามให้มันอยู่ในกระทะให้ได้มากที่สุด ใช้ประโยชน์จากมันให้คุ้มค่าที่สุด
ส่วนเรื่องการลดคุณภาพสินค้า อย่างที่บอกไป เจ๊ไม่มีวันลดแน่นอน ขายเท่าไหนก็เท่านั้น เรื่องนี้เจ๊ว่าสำคัญมาก ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ บอกลูกค้าไปตรงๆ ดีกว่า อย่าไปลดคุณภาพ หรือแม้แต่ลดปริมาณลง มันเสียเครดิตเราเปล่าๆ
ถ้าราคายังขึ้นต่อไป เจ๊จงเกินจะแบกจริงๆ คิดว่าจะทำอย่างไร
ไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้นเลย นี่พูดจากใจจริงๆ นะ เจ๊ยังไม่รู้ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆ เจ๊จะทำยังไง เมื่อวันก่อนมีพี่ที่รู้จักกันพูดกับเรา โอ๊ย เจ๊เลิกขายของ เจ๊ก็ไม่เป็นไร เจ๊รวย เราสวนกลับเลย พี่ขา ใครบอกเจ๊รวย มาดูสิว่าเจ๊รวยจริงไหม บางคนบอกหมูขึ้นราคาแค่นี้ ขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอก โอ้โฮ! มึงมาเป็นกูนี่ แล้วมึงจะรู้
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้อย่างที่บอกไป คือต้องช่วยกันประหยัด ตอนนี้ถ้ามีลูกน้องลาออก เจ๊ไม่รับเพิ่ม เพราะเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน อย่างสาขานี้มีประมาณ 20 กว่าคน แต่ก่อนมีถึง 30 กว่าคน แต่ออกแล้วคือออกเลย ไม่รับใหม่เพิ่ม โดยเฉพาะในช่วงนี้ เพราะต้นทุนเหล่านี้ บางทีเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องหันมามองด้วยเหมือนกัน
วิกฤตนี้ถือว่าหนักสุดตั้งแต่เปิดร้านมาเลยไหม
ใช่ ตั้งแต่เจ๊เปิดร้านมาเกือบๆ จะ 20 ปี ไม่เคยมีหนักเท่านี้มาก่อน เวลาเรามองดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว เรามีความรู้สึกว่า โห ทำไมมันต้องขนาดนี้ด้วยวะ ตอนที่เจ๊เลิกซื้อหมูจากตลาด ตอนนั้นกิโลกรัมละ 190 บาท แต่ตอนนี้ไม่รู้ไปที่เท่าไหร่แล้วนะ คือมันเกินจะรับไหวจริงๆ หรืออย่างหมูสามชั้น จากกิโลกรัมละ 145-150 บาท ตอนนี้มันไปที่ 240 บาท ไก่จากกิโลกรัมละ 50-55 บาท ตอนนี้ราคาขึ้นไปอยู่ที่ 70-75 บาท ไก่นี่ก็ตัวแพง เผลอๆ แพงพอๆ กับหมู มันขึ้นมาที 20-25 บาท แล้วเราใช้วันหนึ่ง 30-45 กิโลกรัม ต้นทุนเพิ่มไปเท่าไหร่ เอาแค่ 20 คูณก็ได้
นี่คือต้นทุนที่เราต้องปรับทั้งหมด ซึ่งมันทวีคูณมาก จ่ายค่าวัตถุดิบทีเป็นแสนๆ ทางลูกๆ ก็ต้องไปหมุนเงินมาโอนจ่ายให้แม่ แต่เห็นเราโวยวาย ร้องบอกไม่ไหวๆ แต่อย่างมากเราก็ขึ้นราคาค่าอาหารไป ซึ่งสุดท้ายผลมันไปตกอยู่ที่ลูกค้า ที่ต้องมากินของที่ปรับราคาขึ้นมา คือเรารับไม่ได้
เจ๊สงสารคนกินมากกว่า เหมือนกับว่าภาระมันต้องไปตกอยู่ที่เขา ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ค่ารงค่าแรงก็เท่าเดิม แล้วมันไม่ได้แพงเฉพาะร้านเราร้านเดียวไง ร้านอื่นก็ต้องขึ้นราคาเหมือนกัน ถ้าไม่กินร้านนี้ ไปซื้อร้านนู้น ร้านนู้นก็ยังแพงอยู่ดี คือเห็นแล้วเราก็ห่อเหี่ยว
แต่ครั้นว่าเราจะไม่ทำต่อ มันก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นอาชีพของเรา ไหนจะลูกเจ๊อีก แต่ละคนเรียนจบก็มาช่วยทำธุรกิจนี้กันหมด เราก็ไม่รู้จะไปทำอะไร อย่างถ้าเจ๊เลิกขึ้นมาจริงๆ ลูกน้องอีกกี่สิบคนที่จะต้องตกงาน ไม่นับรวมสาขาอื่นๆ พนักงานรวมๆ เป็นร้อย ถ้าเลิกกันไป แล้วลูกน้องล่ะ เขาจะทำยังไง ลำพังตัวเจ๊เอง อาจจะไปนั่งขายวันละนิดๆ หน่อยๆ ขายหมูสักวันละ 20 กิโล แต่ลูกน้องเจ๊ล่ะ เจ๊ทำใจไม่ได้
“เรื่องเงินเรื่องทองสำคัญมาก ยามที่เรามี ยามที่ยังหาได้ ต้องเก็บเอาไว้ให้ดี เมื่อก่อนเจ๊ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องพวกนี้ จนมาเจอสถานการณ์โควิด เจ๊รู้เลยว่าเงินสดในมือมันสำคัญมากแค่ไหน ในยามที่เราเจ็บป่วย หรือยามที่เราขาดแคลน เจอภาวะตึงเครียด กระแสเงินสดมันสำคัญมาก เมื่อก่อนชอบไปคิดว่าพรุ่งนี้ตายก็ไม่ได้ใช้ แต่มันไม่ใช่ไง วันนี้กูยังไม่ตาย แต่หายใจร่อแร่อยู่เนี่ย”
เจ๊จงคิดว่าไหมว่า เรื่องทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ มันจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้า…
ถ้าเขาใส่ใจประชาชนให้มากกว่านี้ ถ้ารู้ว่าหมูมันเป็นโรคมาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่รีบรักษา ปล่อยให้มันล่วงเลยมาขนาดนี้ทำไม เจ๊เชื่อว่าถ้าแก้ไขเสียตั้งแต่แรก มันไม่น่าจะมีปัญหามากขนาดนี้ เมื่อวันก่อนเจ๊ไปออกรายการโทรทัศน์ คุณประภัตร โพธสุธน (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ท่านบอกว่าหมูมันมีอยู่ แต่ไม่รู้ว่ามันไปอยู่ที่ไหน เจ๊ก็อยากจะถามว่า แล้วหมูมันอยู่ไหน หมูกูอยู่ไหน ในเมื่อท่านพูดว่ามีหมูในระบบ ถ้าดูตามตัวเลขแล้วหมูมันยังอยู่ แต่ไม่รู้หมูมันอยู่ไหน อ้าว แล้วมันอยู่ไหนล่ะ
ทางด้านคนเพาะเลี้ยงหมูเขาก็บอกว่า หมูมันไม่มี เขายืนยันว่าไม่มี เจ๊จะไปดูที่ไหนก็ได้ จะเข้าฟาร์มไหนบอกมาเลย เดี๋ยวเขาพาไปดู มีแต่ฟาร์มเปล่าๆ เพราะหมูมันไม่มี เจ๊เจอคุณยายร้องไห้ แกบอกเลี้ยงหมูไว้ 40 ตัว ตายหมด ต้องไปขายที่ดินได้เงินมา 4 ล้าน เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้เขา คุณยายบอกเก็บเงินมาทั้งชีวิต มาหมดเอาตอนนี้ เพราะหมูเป็นโรค ถามว่าถ้ารู้ว่ามันเป็นโรคแต่แรก ทำไมไม่รีบจัดการ ปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
เจ๊กลับบ้านมาคุยกับลูก ตอนนี้ประเทศรอบข้างเรามีหมูเป็นโรคระบาดหมด ประเทศนั้นก็เป็น ประเทศนี้ก็เป็น ไอ้ห่า! เราอยู่ตรงกลาง แล้วเราไม่เป็นหรือไง มึงจะเก่งขนาดนั้นเชียวเหรอ ใช่ไหม ปิดกันจนสุดท้ายแล้วคนที่ร่อแร่ก็คือประชาชน
บอกเลยว่า คนเลี้ยงหมูจะตายกันหมดแล้ว นั่งร้องห่มร้องไห้กัน คนขายหมูที่ตลาดเป็นหนี้กันไปหมด เดินมาหาเจ๊วันก่อนบอกจะเลิกขาย เพราะไม่รู้ว่าขายไปแล้วมันจะเหลืออะไร หรืออย่างพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นร้านเล็กๆ เขารับวัตถุดิบมาสูง พอเขาขึ้นราคาปุ๊บ ลูกค้าก็ไม่อุดหนุนเขา พอไม่อุดหนุน เขาก็อยู่ไม่ได้ ส่วนในมุมของคนซื้อกิน ค่าแรงกูก็ได้เท่านี้ แต่กูต้องมาซื้ออาหารที่มีราคาสูง แล้วกูจะไหวไหม เรื่องแบบนี้มันกำลังส่งผลพวงกันไปเป็นทอดๆ
เจ๊เลยอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่แต่บริษัทใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว ลองหันมามองคนตัวเล็กๆ ด้วย ทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบอกว่า อีก 18 เดือน หมูอาจจะเข้ามาในระบบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะมันยังไม่มีวัคซีนที่จะมาช่วยดูแลหมู กลับไปที่คุณยายคนเดิมที่เราไปเจอ แกบอกว่ารัฐเอาเงินมาช่วยนะ แต่ให้เขาไปซื้อหมูมาเลี้ยง ยายเลยบอกว่า ถึงเลี้ยงไปหมูก็ตายอยู่ดี เพราะมันไม่มียารักษา
สรุปปัญหามันไม่ได้แก้ที่ต้นตอใช่ไหม คือเอาเงินที่จะให้เขาไปซื้อหมูมาเลี้ยง ไปลงทุนทำวัคซีนขึ้นมา หรือไปหาวัคซีนมาให้ได้ มันจะดีกว่าไหม พอมีวัคซีนปุ๊บ แล้วค่อยเอาเงินไปให้เขา เพื่อที่เขาจะได้ซื้อหมูมาเลี้ยง ตอนนี้เอาเงินไปให้เขาซื้อ ซื้อเพื่ออะไร มันก็ตายอยู่ดี คนที่เลี้ยงเขารู้ เขาก็บอกแล้ว จะให้เลี้ยงทำไมคะท่าน?
สมมติถ้ามีอำนาจสั่งการได้ เจ๊จงอยากให้แก้ไขปัญหานี้อย่างไร
อันดับแรกอย่างที่เรารู้ วัคซีนต้องมี เพราะฉะนั้น จัดการหาวัคซีนมาก่อน พอมีวัคซีนปุ๊บ อันดับต่อมา ไปเลยนะ ไปเอาเงินให้เขาไปซื้อลูกหมู เพื่อเอามาเลี้ยง ซึ่งเท่าที่รู้มา ก็ไม่ได้ง่ายอีก เพราะแม่พันธุ์มันตายไปเยอะ กว่าที่มันจะคลอดออกมาใหม่ ต้องรอเวลาอีก แต่ยังไงก็ช้าไม่ได้ ถ้าขืนยังช้าอยู่นะ ไม่ใช่แค่แพงทั้งแผ่นดิน แต่มันจะพังทั้งแผ่นดิน เพราะสุดท้ายผลพวงจะเกิดเป็นลูกโซ่ถึงกันไปหมด ดังนั้น อย่ารอ รีบแก้ไขเลยค่ะ เจ๊ขอล่ะ
อยากส่งเสียงไปถึง ‘ผู้ที่มีอำนาจสั่งการ’ ด้วยประโยคอะไรไหม
เร็วๆ หน่อยค่ะ ขอแค่นั้นเอง ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ ถ้าลงมือทำด้วยความรวดเร็ว แต่พอเจ๊พูดออกไปแบบนี้ เดี๋ยวจะมีเสียงออกมาว่า มันต้องเป็นไปตามระบบ หรือมันทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ท่านคะ จะตายกันหมดแล้วค่ะ ถ้าท่านคิดจะสั่งจริงๆ มันไม่มีอะไรที่จะช้าหรอกค่ะ
วิกฤตครั้งนี้ เป็นบทเรียนอะไรให้ผู้ประกอบการอย่างเจ๊จงบ้าง
เรื่องแรก จากที่ไม่เคยดูรายละเอียดตัวเลขบัญชี วันนี้ต้องมาดู (หัวเราะ) เพราะต้นทุนเรา รายรับ รายจ่าย มันเปลี่ยนไปหมด เราต้องหันมาดู ต้องบริหารจัดการ เจ๊เป็นคนไม่ชอบอะไรที่ยุ่งยาก พอมาเจอปัญหานี้ เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอด
อีกอย่างคือเรื่องเงินเรื่องทอง สำคัญมาก ยามที่เรามี ยามที่ยังหาได้ ต้องเก็บเอาไว้ให้ดี เมื่อก่อนเจ๊ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องพวกนี้ จนมาเจอสถานการณ์โควิด เจ๊รู้เลยว่าเงินสดในมือมันสำคัญมากแค่ไหน ในยามที่เราเจ็บป่วย หรือยามที่เราขาดแคลน เจอภาวะตึงเครียด กระแสเงินสดมันสำคัญมาก เมื่อก่อนชอบไปคิดว่าพรุ่งนี้ตายก็ไม่ได้ใช้ แต่มันไม่ใช่ไง วันนี้กูยังไม่ตาย แต่หายใจร่อแร่อยู่เนี่ย (หัวเราะ) ดังนั้น เรื่องเงินสำคัญมาก
วันนี้อายุ 56 ปี ถ้าพูดในแง่การทำมาหากิน เจ๊ว่าสถานการณ์นี้หนักสุดในชีวิตแล้ว เพราะไหนจะโควิด ไหนจะของที่ขึ้นราคา อย่างโควิดทำให้ลูกค้าหายไปประมาณ 30% แล้วยังมาเจอปัญหาข้าวของราคาแพง สมมติเราเคยได้กำไรอยู่ 3 บาท วันนี้มันเหลือไม่ถึงบาทด้วยซ้ำ
“มีคนบอกหมูแพงก็อย่าไปกิน ใช่ เจ๊ก็สนับสนุนให้ไปกินอย่างอื่น แต่อย่างอื่นมันถูกกว่าไหม ของอย่างอื่นมันก็ไม่ได้ถูกไปกว่ากัน เพราะมันพากันยกขบวนขึ้นราคากันหมดแล้ว คือจากจุดเริ่มต้นของปัญหา ถ้าไม่ปล่อยเอาไว้ มันก็ไม่น่าจะมาถึงขนาดนี้ นี่คือการปล่อยปละละเลย มันถึงได้เป็นอย่างนี้”
โควิด-19 ก็ยังไม่จบ ไหนจะข้าวของขึ้นราคา เรียกว่าเจอปัญหาซ้ำซ้อน หรือหนักในหนัก เจ๊จงรู้สึกอย่างไร
อยากถามแค่ว่า ทุกวันนี้มันเกิดอะไรขึ้น เคยมีคนบอกว่า เดี๋ยวหลังโควิด คนจะกลับมาซื้อของกินเยอะขึ้น ไม่ใช่เลย มันเป็นคำตอบที่ไม่ใช่เลย หลังโควิดคนยิ่งประหยัดขึ้นด้วยซ้ำ แล้วยิ่งมาเจอของแพง มันยิ่งตอกย้ำความเจ็บปวดของผู้คน เขาไม่ได้มีเงินกันเยอะแยะอยู่แล้ว เรียกว่าโดนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเขาจะอยู่กันยังไง
มีคนบอกหมูแพงก็อย่าไปกิน ใช่ เจ๊ก็สนับสนุนให้ไปกินอย่างอื่น แต่อย่างอื่นมันถูกกว่าไหม ของอย่างอื่นมันก็ไม่ได้ถูกไปกว่ากัน เพราะมันพากันยกขบวนขึ้นราคากันหมดแล้ว คือจากจุดเริ่มต้นของปัญหา ถ้าไม่ปล่อยเอาไว้ มันก็ไม่น่าจะมาถึงขนาดนี้ นี่คือการปล่อยปละละเลย มันถึงได้เป็นอย่างนี้
ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่กำลังประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง เจ๊จงอยากบอกอะไรกับประชาชนคนไทยที่ต้องอยู่ในชะตากรรมเดียวกันนี้บ้าง
ประหยัด มันคงเป็นคำนี้ที่เราต้องมี เวลานี้ถ้าซื้ออาหารทำเอง ยังไงก็ไม่ไหว ซื้อทำเอง ต้นทุนยิ่งสูง เจ๊ไม่ได้บอกว่าจะต้องมาอุดหนุนเจ๊ แต่เจ๊มองว่า อันไหนที่มันประหยัดได้ ชั่วโมงนี้ให้ประหยัด เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มันจะเป็นยังไง ชั่วโมงนี้เก็บเงินไว้ในมือเยอะๆ แต่ก็เข้าใจว่าเงินหายากอีก ต้องกัดฟันสู้กันไป
ปิดท้ายการสนทนา เจ๊จงอยากฝากอะไร ไปถึงใครอีกบ้างไหมกับปัญหานี้
ไม่รู้จะฝากอะไรแล้ว เจ๊ว่าเขารู้อยู่แล้ว ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แค่เขาจะลงมือทำขนาดไหน หรือแก้ไขขนาดไหน เท่านั้นเอง แล้วอย่างที่เจ๊บอก ขอให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่าเห็นแต่เฉพาะรายใหญ่ รายเล็กกำลังจะตาย คนตัวใหญ่หนึ่งคน กับคนตัวเล็กอีกสิบคนจะตาย ก็เลือกเอาว่าควรจะดูแลใคร
เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ