พระจิตร์

พระจิตร์ ตัณฑเสถียร | มองให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของสรรพสิ่งและรู้เท่าทันทุกสเตตัสที่เกิดขึ้นในตัวเรา

การไปสัมภาษณ์ พระจิตร์ ตัณฑเสถียร (พระจิตร์ จิตฺตสํวโร) ในครั้งนี้ จะว่าไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้

โดยระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงวัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น ตามแผนที่นั้นมีระยะทางทั้งหมดประมาณ 450 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการนั่งเครื่องบินไปลงสนามบินจังหวัดขอนแก่น แต่เราเลือกที่จะขับรถไป จึงใช้เวลาทั้งหมดไปราวๆ 6 ชั่วโมง แต่เป็น 6 ชั่วโมงที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองอย่างเงียบสงบ ไม่เปิดเพลง ไม่พูดคุยเมื่อไม่จำเป็น ตาจับจ้องแค่หนทางข้างหน้า สมาธิอยู่ที่การขับรถ หยุดพักบ้างเมื่อเหนื่อยล้า สดชื่นแล้วก็ไปต่อ ความสงบเงียบ เรียบง่าย แบบนี้เองที่เป็นช่วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งสำหรับคนเมืองอย่างเรา จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า ความสงบเงียบเป็นสิ่งที่อยู่ไกลจนต้องตามหา หรือมันอยู่กับเราตั้งแต่แรก แล้วเราไม่เคยทำความรู้จักมันกันแน่ ไปๆ มาๆ อาจไม่ใช่แค่ความเงียบเท่านั้นที่เราไม่เคยทำความรู้จักหรือค้นหา แต่น่าจะมีอีกหลายต่อหลายสิ่งที่เรามองหา แต่เข้าข่ายไม่เคยมองเห็น ทั้งที่มันอยู่ใกล้แค่ภายในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวตนหรือสิ่งที่เราต้องการ ในนามของความฝัน หรือเป้าหมาย

โลกสอนให้เราวิ่งไปข้างหน้า เพื่อจะได้ไล่ตามความฝัน แต่แทบไม่มีใครบอกเราว่า การหยุดวิ่งก็ทำให้เราค้นพบสิ่งที่เราตามหาได้เช่นกัน โลกสอนให้เรารู้จักคนมากมาย แต่ไม่มีใครสอนให้เรารู้จักตัวเองว่า ตกลงมนุษย์หนึ่งคนที่ชื่อว่า ‘ตัวเอง’ มีคุณค่าอะไรบ้าง

     ก่อนที่ พระจิตร์ ตัณฑเสถียร จะบวช ท่านทำงานในสายการตลาดและการสร้างแบรนด์ที่ท่านเรียกของท่านเองว่า สายประดิษฐ์ เพราะหน้าที่ของท่านคือการประโคมใส่ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งที่ธรรมดาสามัญ กลายเป็นสิ่งที่มีความพิเศษมากเสียจนมีคนยอมจ่ายให้กับมูลค่าเพิ่มนั้น และเพราะทำงานด้านนี้มาตลอด สายตาของท่านจึงเคยชินกับการแยกแยะว่า คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ คืออะไร และอะไรคือสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา เมื่อเราหาคุณค่าที่แท้จริงได้ เราก็จะรู้ว่าสิ่งนั้นมีหน้าที่อะไร และเราควรใช้ประโยชน์อย่างไร การจะทำเช่นนั้นได้ เราจึงต้องอาศัยเครื่องมือที่ชื่อสติ

     ในหนังสือชื่อ สันติสุขทุกลมหายใจ ที่พระจิตร์ ตัณฑเสถียร แปลมาจากงานเขียนของ ท่านติช นัท ฮันห์ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ทางธรรมของท่านเอง มีอยู่บทหนึ่งที่เราสนใจและอ่านวนไปมาหลายรอบทั้งก่อนและหลังการสนทนาธรรมกับท่านคือ

     ‘การพิจารณาความไม่มุ่งหวัง ช่วยเราหยุดความรู้สึกถูกกดดันให้เสาะแสวงหาสิ่งนี้สิ่งนั้นไปทั่ว จนทำให้ตนเองต้องเหนื่อยล้าทั้งทางใจและทางกาย การไร้ซึ่งความมุ่งหวังหมายถึงการไม่ไล่ตามสิ่งใดๆ ไม่ตั้งเป้าใดๆ ไว้เบื้องหน้าให้ต้องวิ่งไล่ตาม ความสุขนั้นมีอยู่แล้วในปัจจุบันขณะ เราเป็นในสิ่งที่เราต้องการเป็นอยู่แล้ว

     แต่ละคนก็ใช้วันหยุดแตกต่างกันไป ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากให้คนอ่านได้ใช้วันหยุดนี้ในการหยุดนิ่ง เพื่อทบทวนในสิ่งที่บางทีเราเองก็อาจลืมไป จะมองว่าบทสัมภาษณ์นี้เป็นการเตือนสติ เราก็ยินดี เพราะสติมิใช่หรือที่เราจำเป็นต้องใช้ แต่มักจะทำหายอยู่เสมอ

 

พระจิตร์

 

เท่าที่ติดตามอ่านในสื่อ ระยะหลังๆ มานี้ ดูเหมือนจะมีการถกเถียงกันเรื่องชีวิตเรียบง่าย บางคนบอกว่า ชีวิตที่เรียบง่ายต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด บางคนบอกว่า เป็นการปฏิเสธระบบทุนนิยม ซึ่งเชื่อว่าท่านน่าจะเป็นอีกคนที่เคยแสวงหาชีวิตที่เรียบง่าย เลยอยากทราบว่าความเรียบง่ายที่แท้จริงคืออะไร และชีวิตมันเรียบง่ายได้จริงไหม

     หลวงพี่คิดว่าชีวิตที่เรียบง่ายในนัยยะของตัวเอง คือการทำให้ตัวเองมีปัญหาน้อยที่สุด สร้างภาระให้กับสังคมและ โลกให้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หลวงพี่เป็นคนที่ฉันมังสวิรัติมา 11 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาสนะ เรื่องนี้จะดูว่าเรียบง่ายก็ได้ วุ่นวายก็ได้ สมมติเราเป็นพระแล้วสำรับหนึ่งไม่มีอาหารมังสวิรัติเลย เรายอมรับได้ไหม ชีวิตที่เรียบง่ายของเราคือจะไม่ไปบงการคนว่าให้เอาอาหารปลอดเนื้อสัตว์มาให้เรา แต่เราจะฉันเท่าที่มี มีผัก มีส่วนไหนที่ฉันได้ก็ฉันไป ไม่ทำให้เรื่องมาก เพราะการไม่ฉันเนื้อสัตว์ เราถือว่ามันก็เพียงพอแล้วสำหรับเรา เนื้อสัตว์อาจจะจำเป็นสำหรับบางคนที่ยังต้องเจริญเติบโต แต่เราก็อายุ 48 แล้ว เรางดเนื้อสัตว์ร่างกายเราก็สบายดี ระบบขับถ่ายก็ดี ก็ถือว่าพอแล้ว อีกอย่างเราถือว่า อายุขนาดนี้แล้ว อะไรที่มันเยอะเกินไป เราก็แค่ลดลง

     หรือย้อนไปสมัยเป็นฆราวาส ชีวิตที่เรียบง่ายสำหรับเราก็เกิดจากการกินมังสวิรัติ เพราะมันทำให้เราต้องพกอาหารกล่องไปกินที่ทำงาน มันทำให้เราเลือกอาหารที่ครบหมวดหมู่ได้ ได้กินอย่างที่เราต้องการ ในราคาที่เราพอใจจะจ่าย แบบนี้ถือว่าเราไม่เบียดเบียนใคร นี่ไงคือการเบียดเบียนตัวเองและคนอื่นให้น้อยที่สุด ทำให้ชีวิตเรียบง่ายที่สุด แต่ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตนี้สำหรับคนที่ไม่มีเวลาก็อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากก็ได้ เพราะต้องมาวุ่นวายกับการเตรียมอาหาร แต่ครอบครัวหลวงพี่เป็นครอบครัวคนทำอาหาร มันก็เลยทำได้ อีกอย่าง เราเลือกที่จะทำอย่างนั้นเพราะเราจะได้เตรียมอาหาร ได้เจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวเพราะเราทำทุกอย่างด้วยมือเรา ได้ประหยัดเงิน ได้สุขภาพที่ดี

 

คือชีวิตที่เรียบง่ายไม่ได้หมายถึงรูปแบบภายนอก?

     การจะเริ่มต้นมีชีวิตที่เรียบง่าย มันอยู่ที่ว่าเรามีอะไร และเราต้องการอะไรจากมัน เช่น หลวงพี่ก็มีเงินซื้อข้าวนะ ถ้าไปซื้อจริงๆ ก็ซื้อได้อยู่แล้ว แต่เราถือว่าเราพอมีเวลาเหลือ และเราอยากใช้เวลานั้นไปกับการเคลื่อนไหว เจริญสติ เพราะฉะนั้น เราก็ใช้การเคลื่อนไหวนั้นไปกับการทำอาหาร มันก็เลยลงตัวพอดี ประเด็นคือเราอยากได้อะไรจากวิถีชีวิตนี้ และมีอะไรบ้างที่เราไม่ยินดีจะเสียไป เช่น เราไม่ยินดีเสียสุขภาพกับเรื่องบางเรื่อง เราก็หลีกเลี่ยงไป หรือการทานมังสวิรัติทำให้เรามีความสุขกับการได้รักษาความเมตตาในตัวเองที่จะไม่ทานสิ่งมีชีวิตเป็นตัวๆ มันตอบโจทย์ที่ทำให้เราสบายใจ ได้ฝึกฝนตัวเอง ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่ นั่นคือเวลา เพราะคนอื่นที่ไม่มีเวลา เขาอาจจะคิดว่าการทำแบบนี้คือภาระก็ได้ นี่คือสิ่งที่หลวงพี่บอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีอะไรและเราจะฝึกอะไร มันตอบโจทย์เราเรื่องอะไร ถ้าทำได้ก็จบ ไม่ต้องไปลำบากพยายามเฟ้นหาในสิ่งที่เราไม่มี เช่น เราไม่มีเวลา แต่อยากจะได้ในสิ่งที่ต้องใช้เวลามากมายไปแลกมา มันก็ไม่ลงตัว

 

กลายเป็นว่าบางครั้งการทำให้ชีวิตเรียบง่าย ก็เป็นความยากอย่างหนึ่งด้วยซ้ำไป

     คือมันยากที่จะง่าย เพราะพวกเรามีนิสัยบางอย่างที่เป็นอุปสรรค เช่น มีคนถามหลวงพี่ว่า เราก็ดูแลชีวิตตัวเองกันได้ ทำไมต้องมารับศีลเป็นพระตั้ง 227 ข้อ มันยากจะตาย แล้วแบบนี้มันจะทำให้ชีวิตเราวุ่นวายไหม แต่หลวงพี่มองว่า ศีลนี่เป็นนวัตกรรมทางสังคมเลยนะ เพราะมันทำให้ชีวิตเราเรียบง่ายมาก ทำให้เราไม่เสียเวลากับการอยู่ การกิน การนอน จนมากเกินไป เอาแค่ศีล 8 ก็พอ ลองดูสิ ถ้าเราไม่ปรนเปรอตัวเองจนมากเกินไป ไม่ว่าจะด้านปากท้อง ประโคมร่างกายทั้งทางด้านผิวพรรณและความบันเทิง เช่น การฟังเพลง ดูหนัง หรือนอนมากเกินไป เราจะเหลือเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่นเยอะเลย

     ยกตัวอย่าง ถ้าเราคิดว่ามื้อเย็นเป็นมื้อสำคัญ ต้องกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา ลองไม่กินมื้อเย็นสักหนึ่งเดือนสิ จะรู้ว่าสุขภาพเราดีขึ้นมาก เพราะมื้อเช้าจะกลายเป็นมื้ออร่อย มื้อกลางวันอาจจะทานมากขึ้นอีกนิด แล้วมื้อเย็นก็ไม่ต้องทานอีก สบายตัว สามทุ่มกว่าเราก็อยากจะนอนแล้ว ตีสี่ก็ตื่น มันก็จะสดชื่น หกโมงเช้าทานอาหารเช้า ทุกอย่างพอดีหมด แค่นี้ชีวิตมันก็จะง่าย แต่มันต้องการการฝึกฝนตัวเองใหม่ ต้องเผชิญความไม่คุ้นเคย สละความคุ้นเคยบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไปก่อน ถ้าดูกันดีๆ มันมีความคุ้นเคยอีกหลายอย่างนะที่ไม่เป็นประโยชน์กับชีวิต แต่มันเป็นความคุ้นเคยและเป็นวิถีสังคมเท่านั้น เช่น การรับประทานข้าวเย็น ซึ่งสำหรับหลายๆ คนนี่เป็นมื้อหนักที่สุด ทั้งที่อีกไม่กี่ชั่วโมงเราก็จะนอนแล้ว ทานมากไปมันก็ทำให้ระบบในร่างกายทำงานหนักอีก

     จริงๆ หลวงพี่ตัดวงจรความคุ้นเคยไปหลายอย่างตั้งแต่ตอนเป็นฆราวาสแล้วนะ เพราะรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มันทำให้เรามีค่าใช้จ่ายที่เยอะเกินไปจริงๆ ถ้าเราหาเงินแบบคนกรุงเทพฯ แล้วใช้แบบคนกรุงเทพฯ บางทีเราจะไม่มีเงินเก็บเอาเสียเลย ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟดีๆ แทบจะไม่เคยได้เงินจากหลวงพี่ เพราะรู้สึกว่ามันแพงเกินไป ไม่เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ๆ น้องๆ ที่ทำงานออฟฟิศ สามารถดื่มกาแฟแก้วละเป็นร้อยได้ยังไง เมื่อก่อนเราทำงาน ก็ชงกาแฟใส่เหยือกไปกินทั้งวัน หลวงพี่คิดว่ากาแฟเหยือกนั้นมีราคาไม่เกิน 30 บาท แล้วก็ได้กินกาแฟจริงๆ ไม่ต้องกินน้ำตาลเยอะ ซึ่งน้ำตาลมันก็เป็นรสสนุกๆ แต่เรากินกาแฟเพื่อเอาตื่น ก็แค่นั้น

 

วิถีชีวิตที่เป็นที่นิยมของคนยุคนี้คือการเสาะแสวงหาร้านกาแฟใหม่ๆ ไปชิม ไปถ่ายรูป รีวิว เช็กอิน หลวงพี่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้มันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

     ในฐานะที่เคยทำงานด้านการตลาด เราคงต้องดูว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น คุณค่า หรือ value จริงๆ มันคืออะไรบ้าง เช่นสำหรับหลวงพี่ คุณค่าของอาหารก็คือมันทำให้เราอิ่ม เราต้องการแค่นี้ แต่สำหรับบางคน เช่น น้องชายหลวงพี่ (พล ตัณฑเสถียร) เขาทำงานด้านอาหาร เขาก็ต้องสนใจอาหารในมิติที่หลากหลายกว่า เพราะเขาต้องใช้อาหารเป็นข้อมูลในการทำมาหากิน

     แต่หลวงพี่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปวิจารณ์อาหารหรือสรรหาเมนูใหม่ๆ หน้าที่ของหลวงพี่ก็คือการกินให้มันพอดิบพอดีกับความต้องการของตัวเอง กินแล้วอย่าให้ป่วย กินแล้วต้องมีแรง กินแล้วอย่าให้ค่าใช้จ่ายของมื้อนั้นกลายเป็นภาระ แต่หลายๆ คนก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ไปร้านใหม่ๆ เหมือนจ่ายค่าเปิดหูเปิดตาให้ตัวเองน่ะ แต่จนถึงวันนี้หลวงพี่ไม่รู้แล้วว่าความใหม่คืออะไร หลวงพี่ทำงานในสายงานประดิษฐ์ งานนวัตกรรม ก็เห็นๆ อยู่ว่าอะไรมันคืออะไร ไอ้ที่ว่าใหม่มันจะใหม่ได้สักแค่ไหนกัน เมื่อเรากินอาหาร ในที่สุดแล้วเราก็กินอาหาร หลวงพี่มองปริมาณการกินด้วยซ้ำไป ถ้าจัดจานออกมาสวย แต่ปริมาณน้อยมาก จะเริ่มคิดแล้วว่านี่เราต้องสั่งอะไรกินอีกถึงจะพอนะ เพราะเราเป็นคนออกกำลังกาย เป็นคนทำงาน ก็เลยต้องกินให้อิ่ม ดังนั้น อาหารที่นำไปจากบ้านทุกวันๆ มันก็เลยเพียงพอสำหรับร่างกายเราแล้ว

     แต่ถ้าทำอย่างที่คุณว่า เช่น ไปชิม ถ่ายรูป เช็กอิน แบบนั้นหมายความว่าใช้การกินในฐานะที่เป็นแฟชั่น เป็นเครื่องสร้างความบันเทิง เป็นข้อมูลไว้พูดคุยกันในสังคม หรือสะท้อนรสนิยมว่าเราเป็นคนทันสมัย แต่แก่นจริงๆ ก็คืออาหารนั่นแหละ หลวงพี่มองแค่นั้น ด้วยความที่เราโตมากับสายงานหีบห่อ หมายความว่าทำโฆษณา สร้างแบรนด์ต่างๆ มันก็คือแวดวงการปรุงแต่ง การนำเสนอสิ่งที่ดูดี ดังนั้น เราก็จะคิดตลอดว่า เราจ่ายเงินเพื่ออะไร แล้วได้อะไร หลายปีมาแล้วหลวงพี่เคยไปทำงานที่สิงคโปร์ แล้วมีโอกาสไปนั่งดื่มชาที่ร้านหรูร้านหนึ่ง ก็ไปกินชุดไฮทีของเขา ซึ่งพิจารณาดูแล้วพบว่าของที่กินได้จริงๆ มีแค่น้ำในป้านชากับขนมชิ้นเล็กๆ บนจานไม่กี่ชิ้น นอกนั้นเราต้องทิ้งไว้ที่ร้านทั้งหมด เพราะเรากินชั้นไฮทีไม่ได้นี่ (หัวเราะ) ของกินได้มีอยู่เท่านั้นเอง นอกนั้นเป็นฉากละครทั้งหมดที่ชื่อว่า แบรนด์

 

พระจิตร์

 

แล้วจากจุดนั้นมันก่อให้เกิดความคิดอะไรตามมาอีกหรือเปล่า

     คือหลวงพี่เป็นคนที่มองเรื่องคุณค่าที่แท้จริงมาโดยตลอดนั่นแหละ เพราะอาชีพเก่าของหลวงพี่เป็นอาชีพที่คนเขาเอาของเปลือยๆ มาให้เราสร้าง ประโคม ประกอบให้มันดูดี มันเป็นศาสตร์ของการสร้างมูลค่าเพิ่มนั่นเอง เพราะฉะนั้น มันก็เลยทำให้เรามองเห็นมูลค่าดิบของมันได้ก่อน ว่ามันมีอะไรบ้าง แล้วเราใส่อะไรลงไปบ้าง ดังนั้นก็เลยรู้ทันว่าเราจ่ายเงินไปกับอะไร เช่น ร้านชากาแฟหรูๆ เขาจ่ายค่าเช่าที่ไปมหาศาล ราคามันก็เลยต้องแพง ดังนั้นเราก็ถามตัวเองได้นี่ว่า จำเป็นไหมที่เราต้องไปนั่งที่นั่นและจ่ายในราคานั้น จำเป็นไหมที่ต้องได้รับการบริการอย่างดีเยี่ยมจากพนักงานในร้านนั้น หรือได้ประสบการณ์ขนาดนั้น พอตอบได้ว่าไม่จำเป็น อ้าว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายในราคานั้นนี่นา เราก็ซื้อชามากิน อัดน้ำร้อนใส่กระติก รินออกมาดื่มในเวลาที่ต้องการ ในปริมาณที่ต้องการ โดยไม่ต้องมีใครมาเสิร์ฟ เพราะเราอยากอยู่กับตัวเอง อยากทำงาน อ่านหนังสือ

 

มันเป็นเรื่องที่เราต้องมองให้ทะลุว่าเราต้องการคุณค่าอะไร ที่เหลือก็ต้องมองให้เป็นสิ่งที่คนอื่นเขาประโคมเข้ามา

     เราก็ต้องดูก่อนว่าเรายินดีจ่ายค่าประโคมเหล่านั้นไหม ไม่ใช่ว่าเราจะขวางโลก อะไรก็จะไม่ซื้อ ไม่จ่าย เราต้องดูก่อนว่ามันมีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องใช้หรือเปล่า ถ้ารายได้เรามีอย่างไม่จำกัด เราก็คงใช้ยังไงก็ได้ แต่ถ้าเรายังมีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย การจ่ายอะไรแบบนี้มันก็ทำให้เกินกำลัง

 

เมื่อพูดถึงแบรนดิ้ง มันก็มีเรื่อง personal branding หรือการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคลต่างๆ นานา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของธุรกิจก็ได้ เพราะโดยทั่วไปคนเราก็อยากสร้างแบรนด์หรือตัวตนเพื่อให้คนอื่นยอมรับกันอยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือเราอยากเป็น somebody มากกว่า nobody ในมุมของหลวงพี่ มองการเป็น somebody หรือ nobody อย่างไรบ้าง สิ่งที่ควรจะเป็นมันคืออะไร

     มันต้องดูครับว่า เราจะเป็น somebody ไปทำไม คือที่ถามคำถามนี้ มันแทงใจมากๆ คือย้อนกลับไปตอนเรียนมหาวิทยาลัย มีอยู่วิชาหนึ่งที่สอนเรื่องการตลาด ซึ่งหลวงพี่ก็ไปนั่งฟังอาจารย์เขาบรรยาย จำได้ว่าอาจารย์พูดเป็นภาษาอังกฤษที่แปลได้ประมาณว่า ถ้าหากก่อนอายุ 30 คุณยังเป็น nobody อยู่ และไม่กลายเป็น somebody เสียทีคุณก็จะเป็น nobody ไปทั้งชีวิต ตอนนั้นฟังแล้วขนลุกเพราะกลัวในสิ่งเหล่านั้น เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องเป็น somebody ด้วย แล้วการเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักมันแย่ยังไง

     สำหรับหลวงพี่มันน่ากลัวกว่ามากที่เราจะต้องพยายามเพื่อเป็นใครสักคนให้ได้ แถมยังต้องขวนขวายเป็นให้ได้ก่อนอายุ 30 ด้วย แล้วถึงวัยนั้น ถ้าเราไม่สามารถเป็น somebody ได้ เราจะหลงทางในชีวิตตัวเอง คนจะไม่รู้ว่าเรามีค่าอะไร ตรงนี้น่ากลัวมาก เพราะเราเป็นคนที่มีความสุขมากในการเป็น nobody เมื่อก่อนจะซื้อเสื้อผ้าแบบที่ใส่แล้วไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร ใส่แค่เสื้อขาว กางเกงครีม เพราะไม่อยากสะดุดตาคน แค่อยากทำมาหากิน กลับบ้าน ไม่อยากให้มาสนใจเรา อยากให้สนใจงานมากกว่า หลวงพี่อยากล่องหน ในความหมายคือไม่ต้องมาสนใจผมหรอก ผมจะทำอะไร กินอะไร ก็เรื่องของผม เพราะมันใช้ชีวิตสบายกว่า ไม่ต้องมาพยายามแบกหัวโขนในการเป็นแบบนั้นแบบนี้ 

 

การเป็น somebody มันมีค่าใช้จ่าย มีราคาของมัน ถ้าเราอยากเป็น ก็ต้องคิดว่า ประโยชน์ของมันคืออะไร และต้นทุนของมันคืออะไร ลองบวกลบคูณหารดูแล้วมันติดลบหรือเป็นบวก

 

บางคนอาจจะคิดว่าคุ้ม เพราะทำให้มีรายได้มาก ได้ใช้ชีวิตดีๆ

     มันก็เป็นแบบนั้นแหละ คนเป็นไอดอลของคนก็มีคนจ่ายให้ทวีตเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถือของก็ได้เงิน แต่คนจำนวนมากเขาไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่ กลายเป็นว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าเขา แต่ไม่ได้มีรายรับเท่ากัน และต่อให้เราทำเพื่อให้เหมือนเขาทุกอย่าง มันก็เป็นได้แค่ look alike ดูเหมือน แต่ไม่ใช่ และเราก็เสียโอกาสในการที่จะเป็นตัวของตัวเอง โตในแบบเราเอง งามในแบบเราเอง เพราะทุกคนมีคุณค่า

     ปัญหาของคนยุคนี้จริงๆ คือการหาจุดยืนในแบบที่ไม่งาม ถ้าเราเจอจุดยืนที่งาม เราจะใช้ความพยายามน้อยมาก แปลว่า เราต้องหาแก่นของตัวเองให้เจอ คนส่วนใหญ่ที่เป็น somebody เขาต้องลงทุนเยอะ เปลี่ยนตัวเองมากมาย เพื่อเป็นใครสักคนที่ตัวเองไม่ได้เป็นจริงๆ ค่าใช้จ่ายและความพยายามมันจึงเยอะเวลาที่เราทำในสิ่งที่ไม่ใช่เรา แต่เป็นแค่เราในแบบที่เราปรารถนาจะเป็น หรือ desired self ที่เราคิดว่าสังคมจะเห็นค่า ถึงได้ไม่เข้าใจเวลาที่เห็นคนพยายามทำทุกอย่างเพื่อแลกแค่ยอดไลก์ มันคืออะไรกัน? เราไม่ได้รักตัวเองมากเพียงพอหรอกเหรอ การทำแบบนั้นแปลว่าเรากำลังลืม target audience ไปหนึ่งคน นั่นก็คือตัวเรา เพราะถ้าเรารู้ว่าเรารักตัวเองได้แล้ว รักแบบดีๆ นะ เราจะไม่ต้องการการอนุมัติจากใครเพื่อให้เรามีความสุข หรือเป็นที่ยอมรับเลย

     เหมือนที่หลวงพี่ไม่ต้องพยายามทำอะไรให้คุณประทับใจ เพราะหลวงพี่มีความสุขกับตัวเองแล้ว ความรักจากคนอื่นเป็นแค่ส่วนเพิ่มเติม แต่ความรักที่เรามีกับตัวเองมันพอดีแล้ว นั่นคือการยอมรับตัวเองว่าเราเป็นแบบนี้ ไม่ต้องกระเสือกกระสนไปถมช่องว่างระหว่างคนที่เราเป็นกับคนที่เราอยากจะเป็น

 

แล้วการไม่กระเสือกกระสนไปเป็นคนที่เราอยากเป็น มันจะไม่กลายเป็นว่าเราไม่พัฒนาตัวเองหรือ?

     โอ… ขอให้เป็นเราที่ดี เท่านั้นก็เหลือเฟือแล้ว ขอให้เป็นเราเวอร์ชันที่ดี เป็น best version of self ก็พอ ในศาสตร์ของการตลาด เขาหากันจะตายนะเรื่อง unique selling point แต่เรากลับจะพยายามไปเลียนแบบคนอื่น แล้วเราจะยูนีคได้ยังไง แค่เริ่มต้นก็มองหาคนอื่นแล้ว เรากลับมาพัฒนาตัวเองดีกว่า มันเป็นเรื่อง reffiinement เป็นการเจียระไนตัวเอง อะไรในตัวเราที่ไม่เข้าท่าก็เอาออกไปซะ มันตรงข้ามกับการประโคมใส่ตัวเอง

     คือหลวงพี่เข้าใจนะว่าคนที่ไม่โตพอ เขาจะช้อปปิ้งเอาไว้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไร ยังไม่รู้แก่นสารของตัวเอง และยังไม่กล้าปักธงด้วยว่าเราเป็นแบบนี้ เรากลัวว่าจะเสียโอกาส แต่แค่เราเงียบให้พอ ฟังตัวเองให้ได้ รู้จริงๆ ว่าเราถนัดอะไร มีความสุขกับอะไร ต่อให้ถึงมันจะทุกข์ แต่เรายินดีทำ เพราะเรามี passion ไง ดังนั้น เลือกสิ่งที่เรารัก แล้วก็ทำสิ่งนั้น จุดถนัดของแต่ละคนนั่นแหละคือแบรนดิ้ง เช่น หลวงพี่ถนัดเรื่องการสื่อสาร ก็จะใช้การสื่อสารกับทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องการปฏิบัติธรรม เช่น ระหว่างที่เราคุยกัน หลวงพี่ต้องฟังจิตใจของตัวเองด้วยว่ากำลังคิดอะไร มันกำลังบอกว่า ชอบสิ่งไหน ไม่ชอบสิ่งไหน ไอ้สิ่งที่มันบอกเราตลอดเวลานี่แหละ ที่ทางธรรมเรียกว่ากิเลส ซึ่งเราฟังเขาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม แค่สื่อสารกลับไปบ้างว่า เราไม่เชื่อเขานะ คุยกับเขาดีๆ ว่าอย่าทำแบบนี้กับคนอื่น อย่าคิดแบบนี้กับคนอื่น เพราะเราเป็นนักสื่อสารไง แค่เราสื่อสารกับจิตใจตัวเอง

 

การสื่อสารกับตัวเองต้องทำอย่างไรบ้าง

     คนเรามักคิดว่าการสื่อสารคือการพูด หรือการสื่อสารขาออก แต่หลวงพี่จะสื่อสารขาเข้า คือฟัง ทั้งฟังตัวเองและคนอื่น เพราะเมื่อเราฟังตัวเองเยอะๆ เราจะรู้จักตัวเอง ฟังคนอื่นเยอะๆ เราจะรู้จักคนอื่น รู้ไหมว่าร่างกายและจิตใจเราบอกเราอยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็นยังไง เหนื่อยอะไร กลัวอะไร

 

พระจิตร์

 

เวลาเราดู TED Talk ในตอนที่เกี่ยวกับพระโดยเฉพาะ เรามักจะเห็นประเด็นที่ว่าด้วยความสุขอยู่ในนั้น เลยอยากถามว่าความสุขสำคัญอย่างไร ทำไมต้องหยิบเรื่องนี้มาพูด

     เพราะมนุษย์ทุกข์ไงครับ แล้วความสุขในเชิงพุทธนี่ ถ้าดูดีๆ พระพุทธเจ้าพูดถึงคำว่าพ้นทุกข์ ไม่ได้พุดถึงคำว่าสุข แต่ทีนี้พอพ้นจากทุกข์แล้ว บางทีเราก็เรียกง่ายๆ ว่าเป็นความสุข แต่ที่จริงคือทำยังไงให้ไม่ทุกข์มากกว่า ความสุขของคนพุทธก็คือความไม่ทุกข์ มีก็ไม่ทุกข์ ไม่มีก็ไม่ทุกข์ ความไม่ทุกข์ก็คือความเข้าใจว่าชีวิตมันเป็นอย่างนั้นเอง เท่านั้นแหละ แต่สังเกตดูดีๆ คนเป็นพระจะไม่ได้สุขแบบตื่นเต้นเร้าใจ ชาวพุทธไม่สุขแบบนั้น

     ส่วนเรื่องคำว่า ความสุข หลวงพี่คิดว่าเพราะคนมักจะใช้คำตรงกันข้าม พอไม่ทุกข์ก็เลยกลายเป็นสุข แต่สุขของโลกคือสุขแบบดี๊ด๊า ซึ่งเป็นคนละความหมายกับสุขแบบพุทธ ที่ไม่ได้หมายถึงสุขแบบได้ดั่งใจ แต่เป็นสุขจากความเข้าใจ เพราะการได้ดั่งใจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราเคารพเหตุผลมากกว่า ดังนั้น ถ้าหลวงพี่ไม่อ่านหนังสือก็จะสอบไม่ได้ หลวงพี่ก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์เพราะหลวงพี่ไม่ได้อ่านไง

 

แล้วสุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ แปลว่าอะไร

     สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจก็คือความเข้าใจทำให้เป็นสุข ถ้าไม่เข้าใจเราก็จะสุขๆ ทุกข์ๆ ถ้าเราเข้าใจดีแล้ว สุขทุกข์ก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ถือสา เราเข้าใจ มันสงบสุขเพราะความเข้าใจ เอาง่ายๆ ถ้าคนที่เรารักเสียชีวิต เราเศร้า แต่เขาก็แก่แล้ว ป่วยด้วย จะไม่เสียชีวิตได้อย่างไร คือเราเข้าใจเพราะฉะนั้น จะให้ไปร้องไห้ทำไม ก็มันเข้าใจน่ะ

 

แล้วถ้าอยู่ๆคนที่รักตายไปโดยไม่รู้เหตุผล ไม่รู้เหตุปัจจัยล่ะ

     มันต้องมีเหตุมีผล แค่เราไม่รู้เอง เช่น อะไรสักอย่างเช่น ตับไตไส้พุงของเขาคงหมดอายุ หรือแม้กระทั่งคนฆ่าตัวตาย ก็แปลว่าความอดทนของเขาอาจจะหมดอายุก็ได้ หรือความศรัทธาต่อตัวเองคงหมดอายุ นั่นหมายความว่า มันคงหมดหรือขาดอะไรสักอย่างที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปไม่ได้ ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจ ก็จะกระสับกระส่าย แต่ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะยอมรับได้ว่า มันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันมีเหตุมีปัจจัยของมัน

 

เห็นด้วยไหมว่าคนเราตั้งสเตตัสบนเฟซบุ๊กวันละหลายครั้ง แต่บ่อยครั้งที่เราไม่รู้จักสเตตัสตัวเอง

     ใช่ ถ้าเรารู้ว่าเราไม่สบายใจก็หายใจลึกๆ สิ เราจัดการตัวเองได้ รู้จักทำจิตใจให้สงบ ถ้าใจไม่สบายก็กลับมาอยู่กับร่างกายเราสักพัก เพราะร่างกายเรามันง่ายมาก ถ้าใจวุ่นวายเรามาพักกับกายมันก็สงบ เหมือนคนเล่นโยคะ ถ้าอยู่กับร่างกาย 100% จิตใจมันก็ไม่ว้าวุ่น ง่ายๆ เหมือนเวลาที่เราเดินเงียบๆ แล้วใส่ใจกับเท้ากระทบพื้น มันก็จะค่อยๆ สงบ เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญมากกับจิตใจหรืออารมณ์ เรามาพักกับร่างกาย ตัดการสื่อสารกับใจสักครู่หนึ่ง แล้วค่อยกลับมามองใหม่ ‘อ้าว สงบแล้วเหรอ ฉันก็ไม่ได้ต้องเชื่อเธอทุกครั้งนี่นา’ ตะกี้ยังตะแง้วอยู่เลย มีแต่ความโกรธๆๆ อยากๆๆ ชอบๆๆ มีแต่การบีบคั้นใจตัวเอง และเอาใจตัวเองมาบีบคั้นชีวิต

 

ถ้าอย่างนั้นสเตตัสที่เราควรจะรู้จักที่สุดคืออะไร

     ใจเราเป็นปกติหรือไม่ปกติ ถ้าใจเราไม่เป็นปกติก็ปรับให้เป็นปกติ ซึ่งความไม่ปกติก็แบ่งออกไปได้อีก ไม่ปกติเชิงลบหรือไม่ปกติเชิงบวก รักหรือชัง ถ้าชังก็แฟร์กับโลกหน่อย

 

แฟร์กับโลกแปลว่าอะไร

     คนชังโลก มักจะชอบคิดว่า คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ถามก่อนว่ารู้จักเขาเหรอ แน่ใจเหรอว่ารู้จักเขา ถ้าเรามีชีวิตแบบเขา เราอาจจะทำยิ่งกว่าเขาก็ได้นะ เราไม่รู้จักใครมากพอเลยสักคน สมมติมีคนขับรถปาดหน้าก็ด่าออกไป แน่ใจแล้วเหรอว่ารู้จักเขา สเตตัสที่เราควรจะรู้จักเลยเป็นเรื่องของใจว่าสงบสุขหรือไม่สงบสุข ถ้าไม่สงบสุข ไม่สงบสุขอย่างไร ถ้ายังไม่แน่ใจก็กลับมาสงบก่อนแล้วกัน ยังไม่ต้องคิดมาก (หัวเราะ) 

     ถ้าไม่สงบแบบกังวล กังวลอะไรก็ไปเคลียร์สิ ถ้าเคลียร์ไม่ได้ก็ควรจัดหมวดหมู่ว่าเป็นเรื่องที่ทำอะไรกับมันได้ไหม หรือว่าไม่ได้แล้ว หรือบางที เราอาจจะฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย ซึ่งปกติคนเรามันจะมีอารมณ์อยู่ประมาณ 7-8 สเตตัสเอง รวมๆ แล้วจะเป็นเรื่องของชอบ ชัง ฟุ้งซ่าน หดหู่ สงสัย สับสน กังวล เหงา เบื่อ แค่นี้เอง เราแค่ทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง แล้วหาเหตุว่าเกิดมาจากอะไร แรกสุดให้แยกตัวเองออกมาจากอารมณ์ให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะดูแลเขาไม่ได้ ดูแลความโกรธไม่ได้เพราะตัวเองกับความโกรธเป็นหนึ่งเดียวกัน และเราจะไม่แฟร์กับคนอื่น เพราะเรามีแนวโน้มจะเข้าข้างตัวเอง แต่ถ้าเราแฟร์ๆ แบบไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่เข้าข้างคนอื่น การแก้สถานการณ์จะดีขึ้น เวลาที่เรายกตนข่มท่าน จิตใจเราจะร้ายกาจ แล้วอีกหน่อยจิตใจเราจะฝึกยาก ถ้าเราเห็นแก่ตน เราจะเป็นปัญหาเพราะตน การดูแลตนเองก็เหมือนเลี้ยงเด็ก ต้องพูดกันดีๆ สอนเหตุสอนผลกัน ทุกวันนี้เราปล่อยให้ตัวตนเป็นเจ้านายอยู่นะ จริงๆ เราต้องเป็นนายเขา คนที่แยกแยะได้ดีๆ เราจะเรียกว่า คนที่หลุดพ้นจากจิตใจตัวเองแล้ว

 

พระจิตร์

 

ก่อนหน้านี้ทราบมาว่าหลวงพี่ไม่ค่อยดูทีวี คือเป็นคนทำงานสายการตลาดที่ไม่ชอบดูทีวี แปลว่าหลวงพี่เห็นข้อเสียอะไรของการดูทีวีหรือเปล่า

     ที่เขาบอกกันว่า You are what you eat. มันไม่ได้หมายถึงอาหารจานๆ อย่างเดียวนะ รวมไปถึงรูปรสกลิ่นเสียงที่เรารับเข้าไปในร่างกายก็ถือเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ถ้าเราดูจริงๆ ก็จะเห็นว่าสื่อทุกวันนี้ ไม่ได้มีคุณภาพมาก ถามว่าไม่ได้ดูเลยเหรอ จริงๆ หลวงพี่ก็ดูบ้างนะ แต่เราเลือกดูเฉพาะสิ่งที่เราอยากรู้ ดูนิดๆ หน่อยๆ ให้พอเข้าใจเนื้อหาของมัน เราไม่ได้ใช้สื่อในการสร้างความบันเทิงให้เรา เพราะเราเป็นคนมีอะไรทำ ต่างกับคนส่วนใหญ่ที่มักจะเล่นอินเทอร์เน็ตตอนไม่มีอะไรทำ แต่สำหรับหลวงพี่ หลวงพี่มองว่าเวลามีค่าและเราไม่ควรไปฆ่าเวลาตรงนั้น

 

คนเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านคอมวันละ 4 ชั่วโมง ใช้โซเชียลฯ ไปอีก 2 ชั่วโมงกว่า ดูทีวีไปอีก 2 ชั่วโมง ถ้าเราทำกิจกรรมทั้งหมดนี้ก็น่าจะหมดไป 8-9 ชั่วโมงต่อวัน แล้วเราก็เอามาบอกตัวเองว่าเพราะเราจะได้ทันโลกไง หลวงพี่มองประเด็นนี้อย่างไร มันจำเป็นขนาดนั้นไหม

     คือพูดในมิติทางธรรมแล้วกันนะ การทำกิจกรรมต่างๆ ที่ว่ามา มันทำให้เรารู้อะไรต่อมิอะไรเยอะมากเลยจริงๆ นั่นแหละ แต่เราจะไม่รู้จักตัวเอง เราเป็นคนทันโลกแต่ไม่ทันตัวเอง หลวงพี่คิดว่ามันอันตรายในการรู้เขาไปหมดเลยแต่ไม่รู้เรา เช่น รู้ว่าเขานิยมอะไรกัน แต่ไม่รู้ว่าอะไรเหมาะกับเรา แทนที่จะใช้เวลาเรียนรู้จากตัวเราเอง หลวงพี่ว่าในใจคนเราทุกคนเปรียบเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่เลยที่เราควรจะเรียนรู้ การใช้เวลามากขนาดนั้นไปกับการเล่นอินเทอร์เน็ตหรือเล่นแต่โซเชียลมีเดีย มันจะเสียโอกาสในการทำความรู้จักตัวเอง ทั้งที่เรามีทรัพยากรอยู่หนึ่งชิ้นที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ แต่ทำไมเราไม่ทำความเข้าใจทรัพยากรชิ้นนั้นและใช้มันให้เต็มศักยภาพสูงสุด เราพยายามจะเอาชีวิตไปแลกเปลี่ยนกับใครก็ไม่รู้ พยายามจะเอาชีวิตของคนอื่นมาประดับประดาชีวิตตัวเอง แล้วเราก็รู้สึกเหนื่อย ทำไมล่ะ

     หลวงพี่อยากจะพูดว่าโลกรอทรัพยากรที่ชื่อว่า ‘คุณ’ อยู่ เราทุกคนเกิดมาล้วนมีประโยชน์มีเหตุผลเราถึงได้เกิดมา ทำไมไม่เป็นคุณในเวอร์ชันที่คุณควรจะเป็น อย่าลืมว่า โลกนี้จะขาดคุณไปหนึ่งคนนะเวลาที่คุณเป็นคนอื่น เข้าใจใช่ไหม ทำไมต้องไปพยายามแสวงหาที่จะเป็นคนนู้นเป็นคนนี้ เรารู้จักคนอื่นแต่ไม่รู้จักตัวเอง มันจะมีประโยชน์อะไร

 

เราก็จะได้คนเหมือนกันหมดออกมา

     แล้วมันก็ไม่เหมือนด้วย มีแต่คนที่พยายามจะเหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเลยนะครับ หลวงพี่คิดว่ามันเป็นศาสตร์ของการเข้าใจตัวเอง แล้วก็ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ที่หลวงพี่ชอบคำถามของคุณคือมันร้อยกันหมดจริงๆ นะครับ ชีวิตที่เรียบง่ายก็คืออย่าทำให้ตัวเองมีปัญหา จากนั้นก็คิดว่าเรารู้จักตัวเองไหมในการจะทำให้ตัวเองเรียบง่าย เพราะการไปทำเหมือนคนนั้นคนนี้ มันทำให้ชีวิตไม่เรียบ

 

นั่นแหละคือประเด็นว่าถ้าเรารู้จักตัวเองและทรัพยากรที่มีในตัวเอง เราก็จะทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง

     ทำให้มันพอดิบพอดีกับตัวเอง รู้จักทรัพยากรบนโลกนี้ชิ้นที่เรียกว่า ‘ตัวเอง’ ซะ เราเคยชินแต่การดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต และส่งจิตออกไปข้างนอกหมด ไม่มีการดูข้างใน ซึ่งการดูข้างในนี่แหละที่เรียกว่าสติ เพราะสติทำให้เรารู้เนื้อรู้ตัว ปัญญาทำให้เรามีเหตุมีผล ทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์และจิตใจตนเอง ธรรมะคืออย่างนี้ หลายคนเข้าใจไปว่าธรรมะคือการใส่ชุดขาว นั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่นมันไกลจากความจริงของการเรียนรู้ธรรมะเลย

 

คำถามสุดท้าย มองย้อนกลับไปคิดว่า จิตร์ ตันฑเสถียร เป็นคนแบบไหน

     ครับ หลวงพี่อยากจะขอบคุณเขานะ ไม่มีเขาวันนั้นหลวงพี่ก็ไม่มีตัวเองวันนี้หรอก หลวงพี่ว่าทั้งสิ่งที่เขาทำถูกและสิ่งที่เขาทำผิด มันเป็นเหตุให้หลวงพี่เป็นหลวงพี่ในวันนี้ ต้องขอบคุณฟีเจอร์ On This Day ของเฟซบุ๊ก ที่ทำให้เราดูได้ว่าวันนี้เมื่อกี่ปีที่แล้ว เราเคยทำอย่างนี้ๆ ซึ่งรวมๆ แล้วก็เป็นของมีประโยชน์ทั้งนั้นเลยนะ ถือว่าเราไปสร้างความเสียหายให้กับคนน้อยมาก อยากขอบคุณจิตร์ ที่ทำประโยชน์ไว้ไม่น่าเกลียด (หัวเราะ) และวันนี้หลวงพี่ก็จะทำต่อจากที่เขาเคยทำ คือทำจิตใจให้เป็นอิสระจากพระจิตร์ คือเป็นอิสระจากตัวเองอีกที

 

แปลว่า

     การฝึกทุกวันนี้ของหลวงพี่ก็คือการฝึกให้เป็นอิสระจากตัวเองโดยที่ไม่ถูกตัวเองบงการ เป็นอิสระจากพระจิตร์ การเป็นอิสระจากพระจิตร์เป็นงานตอนนี้ ซึ่งหลวงพี่ก็ทำอยู่ทุกวัน มันง่ายนะ หลวงพี่สามารถทำได้อยู่ตลอดเวลา บางช่วงที่หลวงพี่จิตใจสงบดี หลวงพี่ก็ละจากความเป็นอะไรต่อมิอะไร แค่นี้หลวงพี่ก็เป็นอิสระจากพระจิตร์แล้ว คือวางหัวโขนพระได้ ไม่ต้องเอาหัวโขนพระมาครอบหัว แล้วถ้าหลวงพี่เป็นอิสระจากตัวเองได้ หลวงพี่ก็เป็นอิสระจากทุกคนนั่นแหละ