เบื่อหน่าย ชินชา ไม่อยากมีส่วนร่วม
ดูเหมือนนี่จะเป็นความรู้สึกร่วมของยุคสมัยที่ผู้คนมีต่อการเมืองไทย เพราะวังวนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานนับสิบๆ ปี โดยที่ท่าทีดูยิ่งจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้ในระบบถูกลากออกมาสาดสีตีไข่กันนอกกฎกติกา ทำให้ดูเหมือนจะเคยชินกันว่าถ้าผลประโยชน์ตกไม่ถึงฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็ลุกฮือขึ้นมาล้มกระดานเริ่มต้นใหม่ทำให้ประเทศนี้เหมือนจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อไม่เสร็จสมบูรณ์เสียที
ถามว่า แล้วเราจะอยู่กับวันนี้กันอย่างไร ในวันที่เสรีภาพขาดหาย รอรัฐบาลทำตามสัญญามาสี่ปี แม้อีกไม่กี่เดือนดูเหมือนจะมีแสงที่ปลายอุโมงค์ ว่าเราใกล้จะได้เลือกตั้ง แต่กฎกติกาที่ถูกขีดขึ้นใหม่ก็ทำเราสงสัยว่า นี่เหรอประชาธิปไตยที่แท้จริง
ไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘จอห์น’ – วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หนึ่งในบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อและคลุกคลีกับประเด็นร้อนแรงของการเมืองมาต่อเนื่องยาวนาน ในวันที่เขาอยู่ในวัยกลางคน มีชีวิตลูกสองคนให้ดูแล เขามีมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองเราในวันนี้อย่างไร
หน้าตาของความหวังในอนาคตจะเหมือนกับอดีตอันย่ำแย่ที่ผ่านมาหรือเปล่า
สภาพสังคมและการเมืองในตอนนี้ สร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับคนหนุ่มสาวมากแค่ไหน
ผมว่าเราอึดอัดคนรอบข้าง คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน คนที่ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่เมื่อหลายปีก่อนเขาเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะมาก อ้าว แล้วตอนนี้คืออะไรวะ ทุกวันนี้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเจอหน้าทุกคนก็พยายามที่จะทำตัวปกติ เฮ้ย สบายดีเหรอ นู่นนั่นนี่ เราได้นำพากันมาถึงจุดนี้กันแล้ว พวกคุณจะไม่แสดงความเห็น จะไม่แสดงออกอะไรกันเลยเหรอ
แต่ผมก็ไม่ได้โกรธเขาหรืออะไรเขานะ แค่รู้สึกว่าคนเราถ้าจะแสดงออกอะไร ก็แสดงออกอย่างต่อเนื่องไป แล้วก็สม่ำเสมอ ไม่ควรจะเป็นการออกมาแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะมันทำให้สงสัยว่าคุณใส่ใจปัญหาส่วนรวมจริงหรือเปล่า หรือตอนนั้นคุณมีวาระซ่อนเร้นอะไรเอาไว้
คนเราย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เขาอาจจะมีความอดทนมากขึ้น อีกไม่กี่เดือนก็ดูเหมือนเราจะได้เลือกตั้งแล้วนี่ เราก็ดูว่าเขาจะทำตามสัญญาไหม
(หัวเราะ) ผมว่าเราทุกคนน่าจะรู้นะว่าตั้งแต่มีเพลงเราจะทำตามสัญญาออกมา (คืนความสุขให้ประเทศไทย) มันไม่มีสัญญาจริงๆ เกิดขึ้นหรอก แล้วทุกวันนี้เพลงเหล่านั้นก็โดนลดเสียงลงไปเรื่อยๆ จำนวนการเปิดก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ คืออย่าไปนับเลย บรรดาเพลงที่เขากรอกหูประชาชน มันคือคำสัญญาที่ไม่เป็นจริง
ถ้าบอกว่าเพื่อนเหล่านั้นมีความอดทนมากขึ้นแล้ว ก็คงไม่ใช่ แต่ผมว่าเราไม่รู้แล้วล่ะว่าจะทำยังไงกัน เพราะถ้าเป็นแต่ก่อนตอนนั้น เราสามารถออกมาเรียกร้องกันได้ไง คุณสามารถแสดงออกกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาวันนี้จะให้ไปแสดงออกกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ มันคงไม่เหมือนกัน เพราะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเขามีมาตรา 44 มีอำนาจให้เข้ามาตรวจสอบ กำกับดูแลในนามของความมั่นคง
สิ่งที่ผมคิดว่าเราทุกคนควรจะเรียนรู้มากที่สุดคือเรื่องนี้ไง เห็นกันหรือยัง พอเป็นแบบนี้มันทำให้สิทธิเสรีภาพของเราลดลงไปมากๆ แล้วเราก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ จะเอากันอีกไหมล่ะ แบบนี้น่ะ
หัวเราะเหมือนจะไม่ค่อยเชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ที่เขาออกมาบอกว่าครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตย แล้วก็แฟร์ มันไม่มีทางแฟร์หรอก การเข้าถึงสื่อ การประกาศนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองก็ทำกันไม่ค่อยได้ อืม สิ่งพวกนั้นผมไม่แตะก็ได้นะ แต่สิ่งที่ผมต้องแตะให้ได้เลยก็คือเรื่องของ สว. ที่ถูกคัดสรรมาโดย คสช. แล้วแบบนี้จะไปแฟร์ตรงไหน เพราะมันไม่ได้มาจากประชาชน แค่นี้ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็โอเค เราก็คาดว่ามันจะเป็น hope for the best อะไรเท่าที่เราได้มาสักนิดหนึ่งแค่นี้ก็ยังดี ก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้กันไป ใช้ไหวพริบของประชาชนเองนำพาไปสู่ทางที่ดีขึ้นละกัน
แล้วมีอะไรบ้างที่ควรโฟกัสในการเลือกตั้งรอบนี้
อืม จริงๆ ผมรู้สึกว่ายังไงพวกเขาก็กลับมานะ ได้กลับมาอยู่แล้วล่ะ เพราะว่าเสียงที่เขาต้องการก็ไม่ได้เยอะอยู่แล้ว ก็น่าจะกลับมาแน่นอน แล้วก็ด้วยเสียง สว. ที่พร้อมสนับสนุนทุกสิ่งอย่าง ผมคิดว่าสิ่งต่อไปที่พวกเราต้องช่วยๆ กัน และจะเป็นบททดสอบที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่าการมีเสียงฝ่ายค้านมันจะเป็นอะไรที่เห็นผลได้จริงๆ ไหม เพราะเมื่อกลับมาเป็นระบบรัฐสภา และมีระบบเลือกตั้ง ตัวแทนที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก็น่าจะมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านมากกว่า ซึ่งพอเป็นฝ่ายค้าน เราจะได้เห็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แล้วก็มารอดูนักการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านมาอภิปรายกันต่อหน้าคุณลุงเขากันดีกว่า เพราะที่ผ่านมาเขาจะมีความเคยชินกับการอยู่กับคนที่บอกอะไรเขาก็ยกมือให้ตลอด แต่ตอนนี้จะเจอของจริงว่าการอยู่ในเวทีการเมืองมันเป็นอย่างไร ผมว่านี่คือสิ่งที่อยากจับตามองหลังจากการเลือกตั้งรอบนี้ เรามาดูการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านกันดีกว่า
การเมืองดูจะกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังเพิกเฉย ตีตัวออกห่าง เพราะเขาเห็นความขัดแย้งของรุ่นก่อนที่ดำเนินมาเป็นสิบๆ ปีไม่เห็นจบ จะทำให้เด็กกลุ่มนี้กลับมาอยากมีส่วนร่วมได้ยังไง
ไม่รู้คุณเคยเห็นคลิปวิดีโอรณรงค์ออกเสียงการเลือกตั้งมิดเทอมของอเมริกาที่ชื่อว่า Dear Young People : ‘Don’t Vote’ หรือเปล่า ที่มีคุณลุงคุณป้าแก่ๆ ออกมาบอกว่าฉันนี่แฮปปี้กับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มากเลย เพราะอีกไม่นานเดี๋ยวพวกฉันก็ตาย พวกเธอไม่ต้องกังวล พวกเธอไม่ต้องออกมาเลือกตั้งหรอก เพราะว่าฉันใส่ใจจริงๆ ฉันใส่ใจกับเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดของพวกฉัน ฉันไม่ได้กังวลเรื่องประกันสุขภาพ สิทธิอะไรเท่าไหร่ เพราะอีกไม่นานฉันก็ตายแล้ว คือจริงๆ มันเป็นวิดีโอแซะให้คนรุ่นใหม่หันมาแสดงออกกันมากขึ้น คือผมไม่อยากใช้คำว่า… เมื่อประเทศเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนิดๆ (หัวเราะ) แต่เมื่อถ้ามันมีโอกาสคล้ายให้เราสามารถส่งเสียงกันได้มากขึ้น ประชาชนคนรุ่นใหม่ก็ควรจะออกมาส่งเสียงของตัวเองกัน
ดูเหมือนว่าสถานการณ์แบบนี้จะเป็นเหมือนกันทั่วโลก ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดูจะเปลี่ยนแปลงได้ยากเหลือเกิน การที่ให้คนหนุ่มสาวออกไปใช้สิทธิ์ มันจะมีประโยชน์อะไร
คนรุ่นใหม่ที่โตมาแล้วเห็นสภาพการเมืองที่มีความวุ่นวาย วนลูปน่าเบื่ออยู่อย่างนี้ ลึกๆ ผมว่าพวกคุณก็คงรู้สึกว่าเบื่อแล้วว่ะ ไม่ชอบอย่างนี้เลยว่ะ แล้วกูก็ไม่อยากไปมีส่วนร่วมเพราะรู้สึกว่าเสียงกูแม่งไม่มีค่าเลย เสียงกูแม่งทำอะไรไม่ได้หรอก ผมจะบอกพวกคุณว่าตอนนี้น่ะมันยังทำอะไรไม่ได้แน่ๆ เพราะว่าเขามีปืนไง แต่ว่าถ้าเวลาผ่านไป มันจะนำพาไปสู่จุดที่เสียงของคุณดังมากยิ่งขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมานิดๆ เสียงของคุณก็จะยิ่งแข็งแรงเข้าไปใหญ่ แล้วคุณก็สนับสนุนมันเข้าไปเรื่อยๆ สิ เพื่อให้มันแข็งแรง แล้วถ้ามีเสียงใครบอกว่าจะยึดอำนาจอีก คุณก็ออกมาแสดงความเห็นว่าฉันไม่โอเคที่จะยึดอำนาจแบบนี้อีกนะ แล้วเหตุการณ์แบบนี้มันก็จะเกิดขึ้นยากขึ้นเรื่อยๆ
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่หลายคนบอกว่าอยากเปลี่ยนแปลงสังคม อยากทำโน่นทำนี่ อยากให้สังคมมันดีขึ้น ฉันน่ะเบื่อเหลือเกิน นู่นนั่นนี่ แต่ว่าพอถึงเวลาที่เป็นโอกาสคุณกลับไม่ทำอะไร แล้วคุณก็บอกว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ใช่สิ มันก็เหมือนกับทุกเรื่องน่ะแหละ ที่เราชอบพูดกันว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น คุณอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งนั่นเป็นเรื่องส่วนตัวของคุณ คุณก็ต้องพยายาม แล้วคุณต้องทำงานหนักมากเพื่อให้มันเกิดขึ้นใช่ไหม
แต่เรื่องการเมืองที่เป็นส่วนรวมนี้ล่ะ มันเป็นสิ่งที่เราส่วนรวมควรช่วยกันให้มันเกิดขึ้น ยิ่งต้องใช้พลังคนจำนวนมากให้เกิดขึ้น คุณก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นไง คุณก็ต้องออกมาส่งเสียงกันนิดหนึ่ง ออกมาเลือกตั้ง ออกมาส่งเสียงกันหน่อย แค่ในทางโซเชียลฯ ก็ได้ นั่งกันอยู่บนโต๊ะกินข้าวก็พูดคุยเรื่องนี้กันก็ได้ ผมไม่ได้บอกให้คุณลุกออกมาสละชีพ ไม่ใช่ขนาดนั้น แต่คุณอยากให้ได้มาในสิ่งที่ดีขึ้น คุณไปเที่ยวเกาหลี คุณไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปยุโรป แล้วรู้สึกว่าทำไมมันเจริญเหลือเกิน ทำไมฟินแลนด์การศึกษาดี๊ดี ทำไมประกันสุขภาพของประเทศฝั่งสแกนดิเนเวียถึงได้ยอดเยี่ยมเหลือเกิน ทำไมเราไม่เป็นแบบนั้น ก็มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรถ้าคุณไม่มีส่วนร่วม
แล้วคุณก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนความคิดของคนอื่นด้วย คุณแค่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของคุณ แสดงเสียงของคุณออกมา คนอื่นเขาจะรับฟัง จะคิดตามคุณด้วยไหม มันก็แล้วแต่เขา มันเป็นสิทธิ์ของเขา แต่อย่าคิดที่จะไปเปลี่ยนความคิดเขา ผมว่ามันไม่โอเค มันจะได้ผลที่สุดคือการที่ให้คนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วการที่มองว่าความคิดฉันดีกว่าเธอ ฉันฉลาดกว่า ฉันเรียนสูงกว่า ฉันมีคุณภาพกว่า หรืออะไรก็ตาม ผมว่ามันไม่ยุติธรรม ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ชาวนา ชาวไร่ คนต่างจังหวัด หรือใครก็ตาม ก็มีความคิดเป็นของตัวเองได้ อะไรมันดีสำหรับเขา เขาเห็นว่าถนนมันดีขึ้น เขาก็อยากจะมีรถไฟฟ้าในจังหวัดของเขาบ้างหรือเปล่า แล้วบางทีคนในเมืองก็รู้สึกว่าอยู่ต่างจังหวัดก็ดีแล้ว เงียบสงบ เวลาไปเที่ยว ไปพักผ่อนมันสงบมากเลย กลายเป็นว่าคนเมืองก็จะหวงแหนความเป็นชนบทว่ามันดีแล้ว เอ้า!? คืออะไร แล้วจะให้เขาจมปลักไปเรื่อยๆ อย่างนั้นเหรอ อย่าไปคิดแทนคนอื่นครับ ทุกคนมีสิทธิ์และควรได้แสดงความคิดเห็นของเขา
ย้อนกลับไปหน่อย แล้วสิ่งที่ควรจะเรียนรู้จากเกมการเมืองสีเสื้อสองรอบที่ผ่านมาในอดีตคืออะไร ที่จะทำให้เรากลับมาสู้กันในระบบหรือกฎเกณฑ์ได้
ผมว่าสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้ ผมบอกตามตรงนะว่ามันก็มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองฝักสองฝ่าย แต่มันเป็นเรื่องสถาบัน เรื่องทางทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้หรอก แต่ผมว่าสิ่งที่จะทำให้เราไปสู่เส้นทางที่เรียกกันว่าการปรองดองที่แท้จริง การที่เราจะก้าวไปถึงจุดที่สังคมมันสงบสุขได้ คือเราต้องอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ต้องอยู่บนกฎกติกาเดียวกัน และการที่จะเป็นกฎกติกาเดียวกันได้ก็ต้องมาจากการแสดงความคิดเห็นของคนส่วนรวม มันไม่ใช่เป็นการวางกฎกติกาของคุณลุงคุณป้าอายุมากๆ ที่รู้สึกว่าฉันเป็นผู้อาวุโส ฉันเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และฉันรู้ดีว่าบ้านเมืองนี้มันควรจะก้าวไปทางไหน
กระบวนการเรียนรู้อดีตของประเทศไทยเคยมีอยู่จริงหรือเปล่า
แม้แต่การแสดงออกของรัฐก็ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้อดีต พอทหารเข้ามามีอำนาจก็พยายามทำเหมือนแบบ เรามาลืมทุกอย่างกันเถอะ แล้วเราจะเดินหน้าประเทศไทย เหมือนประมาณว่าอดีตมันแย่มาก คอร์รัปชันมันแย่มาก อะ เดี๋ยวให้องค์กรนู่นนี่เขาไปจัดการนะ แต่เราจะเดินหน้าอย่างเดียว ไม่ได้มีการมามองดูว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็นิรโทษกรรมกันแบบว่าชิลมากเลย มันส่งเสริมการปกปิดมากกว่า ผมรู้สึกแบบนั้นนะ
เราเรื้อรังกันมานานแค่ไหนแล้ว เป็นเพราะว่าเรายังติดนิสัยเดิมๆ กันอยู่ คือแม้แต่รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็เหมือนกันนะ มันก็ยังมีหลายเหตุการณ์ที่เหมือนจะปล่อยวางสิ่งที่มันเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา มากกว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้อดีต คือไม่ใช่รัฐบาลเลือกตั้งเพอร์เฟ็กต์นะ เพราะมันก็มีหลายอย่างที่ทำไม่โอเคเหมือนกัน เราก็ควรจะต้องเรียนรู้
ในประเทศที่เขาดูจะยืนอยู่บนหลักประชาธิปไตยได้คงทนไม่ว่อกแว่ก สภาพสังคมเขาผ่านอะไรมาถึงเป็นแบบนั้นได้
บ้านเรามีความรุนแรงเกิดขึ้น มีความสูญเสียเยอะแยะมากมาย นักศึกษาคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็เสียชีวิตกันไปเยอะ แต่ทุกวันนี้มันค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป มีคนรุ่นใหม่สักกี่คนที่จะรู้ถึงเหตุการณ์นั้นๆ แต่มันต่างกันเลยกับบางประเทศ ยกตัวอย่าง ผมเคยได้คุยกับคนเกาหลีใต้เยอะมาก สัมภาษณ์เขา พูดคุยกับเขา ที่คุณมองว่าเขาเป็นโอปป้า โอ้โฮ แต่งตัวคูลมากเลย เต้นเคพ็อพ โย่วๆ อะไรเหล่านี้ แต่พอไปถามเขาเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงที่กวางจู เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เขารู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาก็หวงแหนสิทธิเสรีภาพที่คนรุ่นก่อนได้เสียชีวิตไปเพื่อพาให้มาถึงความเป็นประชาธิปไตยของเขาทุกวันนี้ คือมันไม่ได้เพอร์เฟ็กต์นะ แต่มันดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ และเขาไม่ได้จะลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นหัวรุนแรงอะไร
แต่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้เมื่อเราไปถามเขาว่าเสียงของคุณมีความสำคัญแค่ไหน เขาจะฮึกเหิมขึ้นมาทันทีเลยว่าเสียงของเขาแม้จะเสียงเดียวก็มีความหมาย ถ้าคุณไม่ฟังเสียงผมแสดงว่าไม่ใช่แล้ว คุณไม่ได้เป็นตัวแทนของผม คิดดูสิ แค่การมีส่วนร่วมแค่นั้นก็สามารถสร้างความตื่นตัวให้กับนักการเมืองได้แล้ว ว่าการที่คุณได้รับเลือกเข้าไปแล้วมีสิทธิ์มากกว่าคนอื่น มันไม่ใช่นะ
สิ่งที่คนในประเทศเขาต่างจากเราคืออะไร
อย่างของเกาหลีใต้เองผมว่าเขาก็ผ่านความรุนแรงมาไม่แพ้เรานะ เขาเคยเป็นเผด็จการทหารมาก่อน นักศึกษาก็ต้องเสียชีวิตกันมากมายไม่ได้ต่างจากของเรา แต่ผมคิดว่าถ้าจะเทียบกันให้เห็นเป๊ะๆ เลยคงจะลำบาก เพราะเงื่อนไขของการปกครอง ปัจจัยต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเด็กหรือคนรุ่นใหม่ๆ ของเกาหลีมีความตื่นตัวในเรื่องของการเมืองเยอะมาก เป็นเพราะการศึกษา เขาเรียนรู้จากอดีต มีการส่งเสริมประชาชนพอสมควรให้รู้ว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อันนี้มันอาจจะเป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งมั้ง
เพราะผมก็จำได้ว่าเคยคุยประเด็นนี้กับพ่อ เขาก็บอกว่าสมัยลูกเรียนมัธยมที่สามเสน มันก็ไม่ค่อยมีไม่ใช่เหรอ หรือว่าเขาบอกเหตุผลของการยึดอำนาจว่าอะไร ก็ไม่พ้นเป็นเรื่องของคอร์รัปชัน มันก็เป็นเหตุผลเดิมๆ แล้วพอเปิดหนังสือมาก็มีเรื่องราวความรุนแรงการสูญเสียอยู่ไม่กี่บรรทัด หรือมีอยู่แค่ย่อหน้าเดียว มันไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้อะไร ในขณะที่เกาหลีทำเป็นหนัง คิดดูดิว่าหนังอย่าง A Taxi Driver ที่เกี่ยวกับนักศึกษาออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม่งทำเงินหลายพันล้าน สูงสุดตลอดกาลของเกาหลีใต้ ทั้งที่เป็นหนัง political drama ในขณะที่บ้านเราหนังที่ทำเงินได้มากคือ พี่มาก.. พระโขนง ที่เป็นเป็นการรวมกันของคอเมดี หนังผี โรแมนติก แล้วก็ดราม่า ต้องรวมไว้สี่อย่างเพื่อให้มันครบรสมากแล้วถึงจะทำเงินได้สูงสุดในบ้านเรา 1,000 ล้าน
ซึ่งถ้าใครดูหนังเรื่อง A Taxi Driver ก็จะเห็นว่าเขาไม่ได้มีการบอกว่าฝั่งไหนในหนังเป็นขาวหรือดำ แต่บางทีบ้านเรามันยังมีความเป็นคนดีคนชั่วอยู่ ตอนนั้นรัฐบาลชั่วและนักศึกษาดี มันไม่ใช่อย่างนั้นไง เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเราต้องยอมรับว่ามันเป็นสีเทา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากนักศึกษาก็มีด้วยเหมือนกัน ความรุนแรงที่มาจากการที่มีอำนาจมากเกินไปไร้ซึ่งการตรวจสอบก็มีด้วยเหมือนกัน หนังพวกนี้มันเปิดโอกาสให้คุณว่า อะ เอาข้อมูลชุดนี้ไป เราถ่ายทอดมันในเชิงศิลปะ ใส่ความบันเทิงเข้าไปด้วย แล้วคุณก็ไปตัดสินใจเอาเองว่าคุณยังอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ในอนาคตอีกไหมล่ะ
เวลาย้อนไปตรวจสอบอดีต หรือมองไปสู่อนาคต เราจะก้าวข้ามอคติที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามยังไง
ปัญหาคือเราไม่คุยกันไง ผมเชิญแขกเยอะมากมาออกรายการของผม แขกที่ทางสื่อหรือทางโซเชียลมีเดียมองว่าเราเป็นคนละฝั่งกัน ผมก็คิดว่า ก็คุยกันได้นี่หว่า ก็เชิญมาคุยแต่หลายๆ คนก็ปฏิเสธ ผมไม่รู้ว่าเหตุผลเขาคืออะไร แต่ว่ามันไม่คุยกันอะ ผมทำงานอยู่ในหลายๆ ช่องทีวี พอเดินเข้าไปในกองถ่าย แล้วเจอคนวงการบันเทิงที่เราเห็นว่าเขาแสดงออกทางการเมือง แต่เวลาเจอกันจะไม่แตะเรื่องนั้นเลย คือผมเข้าใจแหละว่าเขาไม่อยากให้เกิดความอึดอัด เพราะเดี๋ยวต้องทำงานด้วยกันนะ เนี่ย มันเลยกลายเป็นว่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นปล่อยผ่าน แล้วพอแยกกันกลับบ้านไปต่างคนก็จะคิดว่าตอนนั้นกูไม่ผิด
ผมว่าเรามาถึงจุดที่ไม่มีใครไม่ผิดแล้วแหละ จริงๆ ทุกคนมีส่วนร่วมกันหมดแหละครับ คุณต้องยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วจะแก้ไขปัญหาอะไรต่างๆ ก็ช่วยกันแก้ไขบนพื้นฐานและมาตรฐานที่กระบวนการยุติธรรมที่มันแฟร์ และกระบวนการนี้ทุกประเทศก็เคยผ่านมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ฝรั่งเศส ในประเทศอเมริกาใต้อะไรก็ตาม เขาก็เคยเป็นประเทศเผด็จการแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน แล้วเขาก็ต้องผ่านความเจ็บปวดมาเหมือนกัน แล้วก็ต้องดำเนินกันต่อไปในการค้นหาความเป็นจริง เอาผิดย้อนหลังก็ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องเปิดให้คนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในอดีต พอคนปล่อยผ่านคนนิ่งเฉย ปัญหามันหมักหมม จนวันนี้ยังเคลียร์ไม่หมดเลย ความจริงทั้งหมดยังไม่ปรากฏ แล้วจะต้องใช้เวลาอีกแค่ไหน
คุณเชื่อว่าโลกโซเชียลมีเดียจะช่วยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไหม
ผมก็เชื่อนะว่าเวลาผ่านไปจะเป็นแบบนั้น ต้องให้สังคมดำเนินไปด้วยตัวของมันเอง สังคมจะค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง และผมก็เชื่อว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาหนึ่งในการเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน บางคนกำลังสนุกอยู่กับมัน กำลังเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดผลประโยชน์
แต่ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่ผมทำรายการ เจาะข่าวตื้น ช่วงแรกๆ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว มันจะเห็นได้เลยว่าเรื่องของอารมณ์เรื่องการใช้คำพูดต่างๆ ของผู้คนมันอยู่เหนือเหตุผลและรุนแรงมาก เวลาผ่านไปเริ่มเห็นการถกเถียงกันในแบบที่เป็นเหตุเป็นผล เอาข้อมูลมาหักล้างกัน เราก็เห็นว่า โห เจ๋งว่ะ เห็นคนถกเถียงกันแม่งมันเว้ย ชอบ อย่างนี้ดี ไม่ใช่มาด่าควายเหลืองควายแดงกันอย่างเดียว อันนั้นมันคือช่วงแรกๆ แต่พอเราเห็นพัฒนาการของการใช้เหตุผลมากยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้ผมเริ่มเห็นวิวัฒนาการไปอีกขั้น เริ่มมีการไม่เปิดหน้า ไม่รับผิดชอบคำพูดของตัวเอง นำเสนอข้อมูลโดยไม่เป็นความจริงแล้วคุณก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร แล้วเราจะอยู่ยังไง ในสังคมเราต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นและตัวเองด้วยสิ
การแสดงความเห็นทุกอย่างบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เราเป็นลิเบอรัลที่แท้จริงไหม
ไม่อะ คือตอนนี้หลายคนลืมสิ่งสำคัญไป แล้วคิดว่าฉันแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ แต่คุณไม่ได้มีเสรีภาพเต็มที่ในยุคปัจจุบันนี้หรอก ในแง่เชิงการเมืองก็ไม่มีแล้ว และคุณก็ต้องไม่ลืมว่าการที่คุณจะแสดงออกถึงเสรีภาพของคุณ คุณก็ต้องพร้อมรับผิดชอบการแสดงออกของคุณด้วย เราต้องรู้ว่ามันมีขอบเขตขนาดไหน การที่เราแสดงออกมันเป็นสิทธิของคุณ แต่คุณแสดงออกบนพื้นฐานข้อเท็จจริงด้วยหรือเปล่า
“
คุณต้องพร้อมยอมรับ ไม่ใช่ว่าทำไมมีคนมาด่าฉันเพราะไม่เห็นด้วย ใช่ มันเป็นสิทธิ์ของคุณที่จะแสดงออก และมันก็เป็นสิทธิ์ของเขาด้วยเหมือนกันที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ ผมว่าคนเราต้องตื่นตัวตรงนี้
”
กับทัศนคติที่ไม่เปิดรับฝั่งคนอื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในสังคม เราจะจัดการอย่างไร
ถ้าวันนี้จะมีผู้ใหญ่คนไหนลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าไอ้เด็กพวกนี้ก้าวร้าว แล้วกูจะเชื่อผู้ใหญ่พวกนี้ดีหรือเปล่าวะ ทำไมคุณต้องเชื่อผู้ใหญ่ ใช้ความคิดของคุณพิจารณาเองดิว่าคุณโอเคกับความคิดของไอ้เด็กคนนี้หรือเปล่า ถ้าคุณโอเค รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แย่นี่ เพียงแต่ว่าวิธีการสื่อสารไม่ถูกจริตเท่าไหร่ แต่มีเหตุผลคุณก็รับฟังไป โดยที่ไม่ต้องสนับสนุนเขาสุดโต่ง คิดเองดิ คุณก็มีความคิดนี่ ชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร มันเรื่องของคุณ แปลกใช่ไหม ชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร นี่ไงคุณเลือกได้ไง ไม่คุ้นใช่ไหมกับการเลือกได้
ยกตัวอย่าง เพื่อนที่เป็นคนเกาหลีใต้ของผมเขาโตมากับครอบครัวที่เป็นอนุรักษ์นิยมมาก คุณปู่ของเขาเป็นครอบครัวทหารมาก่อนแล้วก็เฟื่องฟูมากๆ ในยุคเผด็จการทหาร ส่วนพ่อของเขาก็เติบโตมาในยุคที่นักศึกษาเริ่มออกมาส่งเสียงในยุคของกวางจู ก็จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันกับปู่ แล้วยิ่งยุครุ่นลูกซึ่งเป็นเพื่อนผมก็จะหัวก้าวหน้ามาก สนับสนุนประชาธิปไตยสุดเหยียด เกลียดทหารมาก เขาก็บอกว่า ปู่ของเขาจนบั้นปลายชีวิตถึงจะมาคิดได้ว่าแม่งไม่โอเคว่ะ ที่ผ่านมากูสนับสนุนอะไรไปวะ ตอนนั้นปู่เขาก็มองว่าไอ้พวกนักศึกษาที่กวางจูมันเลว มันไม่ดี จนมาเมื่อเร็วๆ นี้ถึงได้มีความคิดที่แตกต่างออกไป บางเรื่องมันใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจ แต่ที่ผ่านมาก่อนจะมาถึงวันนี้ เวลาไปกินข้าวไปเที่ยว เพื่อนผม พ่อของเขา และปู่ก็จะไม่พูดเรื่องนี้กันเลย เพราะพูดขึ้นมาแล้วจะลุกเป็นไฟ แต่ว่าพอถึงเวลาก็ไปแสดงออกทางความคิดในพื้นที่ของตัวเอง เฮ้ย ก็อยู่ด้วยกันได้นี่หว่า มันมีวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกันได้ ถึงเวลาก็ไปเลือกตั้ง ถ้าพรรคไหนชนะเขาก็ดีใจหรือเสียใจในกลุ่มของเขาเอง แต่เขาไม่มีการมาชี้หน้าด่า มาต่อว่า มันก็อาจจะเปรียบเทียบได้กับสังคมใหญ่ คุณก็มีความคิดเห็นของคุณไป มีอุดมการณ์ของคุณไป พอถึงเวลาก็มาสู้กันในกติกานะ
ถามในบทบาทพ่อ คุณเองก็มีลูกตั้งสองคน เลี้ยงลูกยังไงกับสภาพสังคมการเมืองที่เป็นแบบนี้
ผมก็คิดมากขึ้นนะ พอมีลูกผมก็ยิ่งคิดว่าลูกกูกำลังโตอยู่ในสังคมแบบไหนวะเนี่ย แต่ผมก็มีความเชื่อมั่นมากๆ ว่าเมื่อลูกผมโตขึ้นเขาจะได้อยู่ในสังคมที่โอเคกว่านี้ เพราะผมเชื่อว่าคนรุ่นผมมีความตื่นตัวตื่นรู้มากยิ่งขึ้นในสิทธิ์ของตัวเอง แล้วในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้เสียงของเราดังมากยิ่งขึ้น มันน่าจะส่งไปถึงรุ่นลูกได้นะ อาจจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
พอเขาโตมาจะให้คัดรัฐธรรมนูญเหมือนที่พ่อคุณเคยให้คัดไหม
ยังสิ (หัวเราะ) ลูกผมเพิ่งสี่ขวบ ตอนนี้ผมปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ วิธีการเลี้ยงของพ่อผมก็เป็นสิ่งที่ผมเพิ่งมาเรียนรู้ตอนโตว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ว่าแต่ละบ้านก็มีวิธีการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แล้วผมก็ไม่ได้มองว่าต้องเลี้ยงตามปู่ เพราะผมคิดว่าถ้าต้องให้ลูกคัดรัฐธรรมนูญวันนี้ ลูกคงตายอะ คือหมายความว่าอย่าไปคัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลยลูก เดี๋ยวแม่งก็เปลี่ยน อย่าคัดเลยแม่งน่าอายฉิบฉบับนี้ ผมก็คงไม่ให้คัดอยู่แล้ว แล้วก็ดีใจที่ลูกเพิ่งสี่ขวบยังไม่ต้องมารับรู้อะไรแบบนี้
ถ้าต้องมาอธิบายการเมืองช่วงนี้ให้ลูกเข้าใจตอนโต คุณจะอธิบายอย่างไร
ผมว่าสมมติลูกเข้าถึงวัยทีนเอจ หรืออายุยี่สิบกว่าๆ แล้วมาเล่าถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน ผมว่าลูกก็ยังคงงงอยู่ดี มันเกิดอะไรขึ้นบ้างนะพ่อ มันมีอะไรบ้างนะ โอ้โฮ มหากาพย์ แม่งคือเกมออฟโธรนเลย แต่มันเป็นการเมืองไทยไง เห็นลุงตู่นั่งดู AKB48 เรื่องนาฬิกา 25 เรือนมันเป็นยังไง มันมีอย่างนั้นด้วยเหรอพ่อ คุณลุงเขายืมนาฬิกาเพื่อนมาลูก อันนี้มันต้องลากไปถึง GT200 เลยนะ ถ้าเปรียบเทียบย้อนกลับไปยุคเรา มันก็ยังมีข้อมูลจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 14 ตุลาคม ยังมีข้อมูลอีกเยอะมากที่ไม่เคยผ่านตาเรา และมันก็มีข้อเท็จจริงอีกเยอะมากที่ยังไม่ถูกเปิดเผยหรือนำเสนอ ยังไม่ถูกนำมาตีแผ่แล้วทำให้เกิดการถกเถียงมากยิ่งขึ้นผ่านทางการศึกษา ผมคิดว่าไอ้เหตุการณ์ที่เกิดในวัยของเรา เมื่อไปถึงวัยของลูกๆ ก็คงจะคล้ายๆ กัน คือเราต้องเรียนรู้กันไปอีกนาน
Dear Young People, ‘Don’t Vote’
คลิปวิดีโอรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกลางสมัย (Midterm Elections) ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนต่อการบริหารประเทศของเขา ซึ่งหากทรัมป์สูญเสียเสียงข้างมากของผู้ว่าการรัฐ สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้การบริหารงานที่เหลืออยู่อีก 2 ปีของเขายากลำบากขึ้น ซึ่งเนื้อหาในคลิปวิดีโอจะเป็นผู้สูงอายุออกมาแซะคนรุ่นใหม่ว่าไม่ต้องออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเองหรอก ตอนนี้มันโอเคอยู่แล้ว แม้ชีวิตของพวกเขากำลังเผชิญอยู่กับปัญหาการกราดยิงในโรงเรียน การเหยียดผิว และปัญหาสิ่งแวดล้อม
A Taxi Driver (2017)
ภาพยนตร์เกาหลีที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนร่วมกันต่อต้านเผด็จการ คิมมันซอบ ในช่วง 1980 ที่กวางจู (Gwangju Uprising) โดยนำเสนอผ่านมุมมองของคนขับรถแท็กซี่ในโซล ที่วันหนึ่งเขาตกกระไดพลอยโจนไปขับแท็กซี่ให้กับนักข่าวชาวเยอรมันที่กำลังเดินทางไปทำข่าว เพื่อเปิดโปงเบื้องหลังเหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้ A Taxi Driver กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของเกาหลีใต้ โดยทำเงินไปกว่า 84,448,023 ดอลลาร์ฯ ในเกาหลีใต้ และทั่วโลกอีกกว่า 80,146,180 ดอลลาร์ฯ