จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ | อย่ากลัวการตั้งคำถามโง่ๆ เพราะการไม่ตั้งคำถามจะไม่นำไปสู่คำตอบ

พูดกันแบบบ้านๆ อย่างไม่ต้อง PC (political correctness) ใดๆ โดยใช้สำนวนของเธอหลังกล้องถ่ายทอดสดมากล่าวอ้าง เราอาจพูดได้ว่า จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ คือชะนีนางหนึ่ง

ก็เหมือนหญิงสาวทั่วไป ขณะที่บทบาทของการเป็นผู้ดำเนินรายการถาม-ตอบ และการดีเบตเต็มไปด้วยอุณหภูมิดุเดือดในบรรยากาศทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา จอมขวัญบอกว่า สิ่งที่ทำให้เธอคลายเครียดได้หลังบทสนทนาของผู้เข้าร่วมรายการแต่ละฝ่ายคือ K-pop

     แต่ในอีกภาคหนึ่ง การทำงานในวงการข่าวมายาวนานก็ค่อยๆ สั่งสมและทำให้เธอถูกมองเป็นตัวแทนของ ‘นักตั้งคำถาม’ ที่ในแต่ละคำถามก็เป็นสิ่งที่เราอยากรู้ แต่ไม่มีโอกาสได้ถามออกไป ‘ตรงๆ’ และดังๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา

     “คุณอย่ากลัวการตั้งคำถามที่มันโง่ เราไม่เข้าใจความกลัวนี้ว่าถามโง่ๆ คืออะไร คำถามแบบไหนที่เรียกว่าเป็นคำถามโง่ๆ และโดยวิชาชีพแล้ว เราไม่ต้องกลัวเลยนะคะว่าเดี๋ยวถามไปจะดูโง่ แบบนั้นแสดงว่าคุณไม่ได้อยู่กับเนื้อหาแล้ว คุณอยู่กับตัวตนคุณต่างหาก ว่าใครจะมองว่าฉันโง่หรือฉลาด เขาจะยอมรับฉันหรือไม่”

     เพราะเมื่อเราอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด การตั้งคำถามและการถกเถียงคือเครื่องมือหนึ่งในการอยู่ร่วมกัน

     “สังคมที่เข้มแข็งคือสังคมที่รับฟังกัน และใช้เหตุใช้ผลในการอยู่ด้วยกัน เรามีความแตกต่างที่ปริแตกออกมาให้เห็นแล้ว และของแบบนี้ก็อยู่กับสังคม ที่คุณผวาก็เพราะคุณไม่พยายามยอมรับว่ามันมีอยู่ …อย่างน้อยที่สุดเราจะไม่ถูกกลืนกินแน่นอน เขาต้องการแบบนั้น แต่เขาจะไม่ได้จากเรา”

     คำถามข้อต่อไปก็คือ เราจะเป็นผู้ถาม ผู้ตอบ และผู้รับฟังอย่างมีคุณภาพ และไม่ถูกกลืนกินไปกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมได้อย่างไร

 

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

 

ช่วงนี้เครียดไหม พักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า

     พักผ่อนตามปกตินะ คือจำนวนงานไม่เรียกว่าเยอะนะคะ แต่รายละเอียดในแต่ละชิ้นงานเยอะ มันคือการสัมภาษณ์ ดังนั้น คุณต้องอ่านๆๆ เพื่อสะสมชุดข้อมูล สมมติคุณจะถามสักเรื่องหนึ่ง คุณอาจจะอ่านสักสามชั่วโมง แต่คุณจะได้คำถามแค่หนึ่งหรือสองคำถามเอง

     ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้อาจจะเครียด แต่ ณ วันนี้ไม่ได้เครียดอะไรมาก เราเริ่มชินกับสนามการเมือง และเริ่มชินกับแรงเสียดทานหรือบรรยากาศ และกลไกการสะท้อนกลับของสังคมแล้ว

 

เวลาทำดีเบตหรือสัมภาษณ์ เมื่อเจอคนตอบกลับมาด้วยตรรกะที่ผิดเพี้ยน คุณหงุดหงิดบ้างไหม

     (หัวเราะ) เวลามองแขกรับเชิญ เราจะมองด้วยสายตาที่เท่าเทียมกันเลย ทุกคนจะได้รับเกียรติจากเราและทีมงานอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนสิ่งที่จะทำให้คนคิดว่าเราจะรู้สึกกับเขาแตกต่างไปไหมจะเป็นเรื่องของชุดคำตอบและตรรกะภายในความเชื่อของเขา ซึ่งอันนี้เราจะไม่ก้าวล่วง

     ณ วันนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่ามันน่าสนใจตรงที่คนที่มีความคิดแตกต่างกัน แต่ละคนที่เขามีความคิดนั้นเขาใช้ตรรกะอะไร คืออาจจะมีบางคนที่โดดเด่นขึ้นมา โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่าเลอะเทอะเหลวไหลใดๆ ก็แล้วแต่ เราคิดว่ามันน่าสนใจในกลไกความคิดของเขามากกว่า เพราะในวันที่เราอยู่ในหมวกของสื่อ เราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสินว่าแบบไหนเหลวไหล แบบไหนฟังไม่ได้ อันนั้นไม่โอเค ไม่ดี อันนั้นถูก อันนั้นผิด ไม่ใช่หน้าที่เรา มันเป็นหน้าที่และเป็นสิทธิของทุกคนที่จะเลือกใช้ข้อมูลมากกว่า

     จริงๆ จะมีแขกรับเชิญบางคนนะคะ ที่เวลาคุณเห็นเขาบนหน้าจอแล้วอาจจะรู้สึกว่าเขาเป็นตัวตลก แต่ความน่ารักเบื้องหลัง เราและทีมงานจะรู้ว่าคนไหนน่ารัก หน้าจอและหลังจอให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันนะคะ

 

ในโลกสมัยใหม่ เรายังต้องถกเถียงถึงความเป็นกลางของสื่ออยู่หรือเปล่า

     จริงๆ มันมีข้อถกเถียงในช่วงที่มีการเมืองรุนแรงราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณสุทธิชัย หยุ่น จะบอกว่า นิยามของสื่อควรจะไม่ใช่คำว่าเป็นกลาง มันคือคำว่า ‘เป็นธรรม’ ต่างหาก เพราะคำว่า เป็นกลาง แปลความได้หลายเฉดมาก อย่างเช่น เวลาเราถกกัน เราจะบอกว่า ความเป็นกลางแปลว่าคุณจะไม่รู้เลยว่าอันไหนถูกผิด ดีชั่ว ขาวดำ อันนั้นเรียกเป็นกลางหรือเปล่า คำถามคือแบบไหนที่เรียกว่าเป็นกลางในแบบที่คุณคาดหวัง

     เพราะสมมติความสมบูรณ์แบบของการเป็นกลางมีอยู่จริง แล้วสื่อเป็นแบบนั้น มันก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่มีความคิดหลากหลายจะรับความเป็นกลางอันเป็นนิรันดร์นี้ได้ในแบบเดียวกัน มันอยู่ที่วิธีมองน่ะ จะคาดหวังจากคนตรงกลางคนเดียวไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองมาจากมุมไหนด้วย มันค่อนข้างนามธรรม แต่เราเข้าใจว่าในบริบทนี้ สิ่งที่เขาเรียกร้องกันคือความเป็นธรรมมากกว่า คือไม่ว่าคุณจะคิดเห็นต่อพรรคการเมือง นโยบาย แนวคิดของใครอย่างไร เมื่ออยู่ในหน้าที่และพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ คุณต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น คนดูอาจรู้สึกว่าคนนี้พูดไม่น่าฟัง ไม่มีเหตุผล ไร้ตรรกะสิ้นดีเลย แต่ไม่ว่าอย่างไร สำหรับเรา เขาก็จะยังได้พื้นที่ ไม่ใช่ถูกกรองทิ้ง

     มันเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า การที่เราตั้งคำถามหรือมีความเห็นต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในที่สาธารณะ เช่น ทวิตเตอร์ แบบใดแบบหนึ่ง แปลว่าเราตัดสินใจไปแล้วว่าพรรคใดพรรคหนึ่งถูกหรือผิด มันแล้วแต่หัวข้อนะ มันเป็นไปไม่ได้ที่ทำงานมาขนาดนี้ คุณจะมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญมีปัญหาอย่างไร การออกมาวิจารณ์กฎหมายหรือกลไกแบบนี้เรียกว่าไม่เป็นกลางหรือเปล่า นี่คือความคาดหวังที่คุณคิดว่าสื่อมวลชนควรจะไม่มีความคิดเห็นใดๆ หรือเปล่า

 

คุณแยกความคิดเห็นส่วนตัว กับหน้าที่ในฐานะคนทำข่าวออกจากกันไหม

     ใช่ แต่เวลาแสดงความคิดเห็น เราจะไม่แสดงความคิดเห็นไปที่ตัวบุคคลนะ ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีที่ปัจเจก เราจะมองไปที่ตัวหลักการของเรื่องนั้นๆ แต่ถ้าจะเอาไปตีความว่าเรากำลังด่าใคร กำลังเชียร์ใคร เราก็ไม่ก้าวล่วง แต่ถ้าจะถกเถียงกันในเรื่องที่เราแสดงออกก็อยากให้ถกเถียงในเนื้อที่เรากำลังพูดถึง เช่น ถ้าเราพูดถึง 250 ส.ว. ประเด็นนี้ควรถกเถียงว่าเราชอบใครไม่ชอบใคร หรือควรถกเถียงว่า 250 ส.ว. มีปัญหาจริงหรือไม่ คือเราถกเถียงอย่างตรงไปตรงมา และไม่เคยพูดในที่ส่วนตัวแล้วมาแอ๊บอย่างนู้นอย่างนี้นะ

 

รู้สึกอย่างไรเวลามีคนคิดว่าคุณเลือกข้าง

     ไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่มีก็แปลก แสดงว่าไม่มีคนสนใจในสิ่งที่ดิฉันพูดเลย (หัวเราะ) ไม่ suffer อาจจะเพราะวันนี้เราโตแล้ว เราผ่านเรื่องราวลักษณะนี้มาหลายระลอกแล้ว แต่ไม่ได้นิ่งเฉย ไม่ใช่ไม่ใส่ใจ แต่จะเลือกมาเฉพาะเนื้อหา ส่วนอารมณ์ความรู้สึกมากๆ เราจะกรองออก

 

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

 

เวลาจัดดีเบตที่มีอารมณ์รุนแรงมากๆ มีการขึ้นเสียงถกเกียงกันอย่างรุนแรง คุณจัดการกับภาวะตรงหน้าเพื่อให้งานลุล่วงอย่างไร

     เราไม่อิน เนื่องจากเราไม่เอาตัวลงไปอินกับพายุอารมณ์ เมื่อไม่อินกับอารมณ์ เราก็จะยังคงอยู่กับเนื้อหาได้ มันเป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินรายการด้วยแหละ โดยเฉพาะรายการที่เป็นการสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อขัดแย้ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองนะ เรื่องทั่วๆ ไปที่เป็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วย มันเป็นงานของผู้ดำเนินรายการที่จะต้องอยู่กับเนื้อหา แม้ว่าจะมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาปะปน

     อย่างการเมือง เวลามีการสาดอารมณ์ความรู้สึกใส่กัน เราจะรู้สึกว่ามันเป็นแค่องค์ประกอบที่เกิดขึ้นได้ และเราในฐานะผู้ดำเนินรายการต้องทำให้มันยังดำเนินไปได้ โดยไม่รู้สึกตื่นเต้นตกใจอะไร เพราะปกติเวลาคุณคุยกันในบ้าน พ่อแม่พี่น้องก็ยังเถียงกันได้เลย เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องปกติ

 

เคยเจอรุนแรงที่สุดแค่ไหน

     ระดับรุนแรงสุดที่เคยเจอคือจะเดินออกจากรายการ ระดับที่รุนแรงสำหรับคนทำรายการทอล์ก ไม่ใช่การไฟต์กันในรายการนะ ระดับที่รุนแรงคือการลุกออกจากการถกเถียงต่างหาก เพราะถ้าคนคุ้นเคยกับการถกเถียงโต้แย้งกัน และยังดำเนินการโต้แย้งไปได้เรื่อยๆ อันนี้คือความธรรมดาที่สังคมควรจะชิน เพราะเราจะอยู่กันไปแบบนี้แหละ เราไม่จำเป็นต้องพยายามเปลี่ยนให้ใครคิดเห็นเหมือนกันในทันที หรือชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่เราควรจะเข้าใจว่าความต่างหรือการเห็นแย้ง แล้วโต้แย้งกัน เป็นเรื่องปกติ

     เพราะฉะนั้น ความรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่ามีใครคนใดคนหนึ่งไม่อยากเถียงกันอีกแล้ว แล้วหนีไป ซึ่งเกือบเคย แต่ยังไม่เกิดขึ้น (หัวเราะ)

 

ในฐานะคนทำงานสื่อสารมวลชน คุณมีสิ่งที่เรียกว่า self-censorship ไหม

     ถ้าเป็นเรื่องของการกลั่นกรองมันจะเกิดขึ้นกับทุกข่าว เช่น ข่าวอาชญากรรมที่มีการละเมิดสิทธิ หรือการนำเสนอข่าวของเราจะไปกระทำซ้ำต่อเหยื่อหรือเปล่า อันนี้เราจะกรอง แต่ถ้าเป็นเรื่องการเซ็นเซอร์ในเรื่องของการกลัวอำนาจ กลัวผู้มีอิทธิพล เราคิดว่ากรอบคิดคือไม่ใช่ความกลัว แต่คือกรอบวิชาชีพ จรรยาบรรณ และกฎหมาย

     อำนาจเป็นสิ่งที่คนมีอิทธิพลเขาอยากใช้กับเราอยู่แล้ว เราก็ต้องไม่ให้มันสำเร็จ เขาจะใช้ก็ใช้ไป แต่จะสำเร็จไม่สำเร็จก็อยู่ที่เราด้วย

 

มีความกลัวหรือเปล่า

     โห ฉันปอดแหกที่สุด (หัวเราะ) คือใครจะพูดอะไร ไม่ต้องขู่ กลัวที่สุด

 

แต่ก็ยังทำ?

     (หัวเราะ) ย้อนแย้งนะคะ ไม่มีใครอยากเผชิญกับอำนาจมืดหรอกค่ะ ไม่มีใครอยากเอาชีวิตไปท้าทายกับอะไรที่มันใหญ่ มันน่ากลัวหรอก แต่สิ่งที่จะเข้ามาในเส้นทางของเรา ในพื้นที่ที่มันเป็นของเราจริงๆ เราจะปกป้องมันไหม ถ้าในงานเราต้องทำแบบนี้ แม้กระทั่งตัวเองยังปกป้องสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แล้วเราจะทำงานสาธารณะเพื่อบอกคนอื่นให้ปกป้องสิ่งที่เป็นของเขา หรือเราจะร่วมกันปกป้องสิ่งที่ควรเป็นของเราได้อย่างไร เราก็ต้องสู้กับความหวาดกลัวนั้น ไม่ได้บอกว่าไม่กลัวนะคะ และไม่ได้ท้าทายหรือยั่วยุ เราทำในกรอบที่มันอธิบายได้

 

ถ้าการยืนยันและการปกป้องพื้นที่ของเรามันทำให้ต้องเสียการเสียงาน เหมือนกรณีที่ผู้ดำเนินรายการข่าวบางคนถูกปลดไป คุณจะว่าอย่างไร

     โดยหลักการ ไม่ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับใคร มันไม่ใช่กลไกที่ใช้ได้หรอก เพราะการใช้อำนาจกับลักษณะที่คุณมองว่าเป็นปัญหาแบบนี้ มันจะตีกลับ ซึ่งสุดท้ายแล้วงานสื่อมวลชนมันจะดีไม่ดี ใช่ไม่ใช่ ตอบโจทย์สาธารณะหรือเปล่า มันอยู่ที่สังคม ไม่ได้อยู่ที่คนคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว คุณเป็นใครที่จะใหญ่กว่าสังคม และตัดสินว่าสิ่งที่สื่อทำอยู่มันใช้ได้หรือไม่ได้ แล้วคุณทำแบบนี้คุณมีคำอธิบายไหม

 

หดหู่ไหม

     เราเป็นคนมีอารมณ์ขันนะคะ ในวันที่ยังเปล่งเสียงของเราได้มันไม่หดหู่หรอก แต่ในวันที่ทำไม่ได้ต่างหากที่หดหู่ ซึ่งมันก็มีบางช่วงที่ความเข้มข้นของสถานการณ์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นจนเรารับไม่ค่อยทัน คือมันซ้ำซากและกดทับน่ะ แต่ถ้าเรายังแสดงความคิดเห็นได้แบบนี้ ไม่ว่าเสียงตอบกลับมาจะเป็นอย่างไร ก็ยังถือว่าโอเค

 

 

ในฐานะประชาชน มีความหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไหม

     ต้องให้เกียรติกับเสียงคนน่ะค่ะ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นแบบใด บางส่วนถูกกำหนดแล้วจากกลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะละทิ้งสิทธิ์ของเรา ยังไงกากบาทในมือทุกคนยังเป็นสิทธิ์ของเรา อย่างน้อยที่สุดมันยังมีความหมายกับเราว่าสิทธิ์นี้ยังอยู่กับเรา เพราะฉะนั้น ไปใช้มันซะ ส่วนผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ต้องรวมกับองค์ประกอบที่ผ่านๆ มา เพราะฉะนั้น อย่าไปคาดหวังว่ามันจะออกมาอย่างที่ควรเป็นเป๊ะๆ เพราะกลไกเป็นแบบนั้น

     ถามว่าจะทำอย่างไร เราก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้จากมันไป และหาทางแก้ไข ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่บอกให้เราอดทนและเรียนรู้นะคะ มันไม่ได้ดีทันที แต่เรามีโอกาสที่จะเรียนรู้ได้ เช่น คราวที่แล้วเลือกผิด ไม่น่าเลือกมาเลย คราวหน้าก็ไม่ต้องเลือกแล้ว นี่คือสิทธิและการเรียนรู้ เพียงแต่เราจะอดทนกับการเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกันได้นานพอหรือเปล่า หรือเราจะเข้าไปขัดตรงกลางกันอีก

 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะคนทำข่าว ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เราอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตเต็มตัว

     จริงๆ แล้วในช่วงสิบปีเศษๆ ที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปเยอะนะคะ ทั้งเรื่องของรัฐประหารที่มีค่อนข้างถี่ ทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เรื่องของการยุบพรรคการเมืองหลายระลอก เรื่องการมีโซเชียลมีเดีย และเรื่องของการสู้กัน

     การหยิบประเด็นที่แหลมคมกว่าอดีตขึ้นมาถกเถียงได้ ณ วันนี้ มันทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และถ้าเราไม่ละทิ้งช่วงนี้ไปมันจะมีประโยชน์มากนะคะ ถ้าเราจับรายละเอียดที่เกิดขึ้นมาถกเถียง เอามาคิดวิเคราะห์ กลั่นกรอง

     ส่วนภูมิทัศน์การเมืองเราก็จะเห็นผู้เล่นหน้าใหม่ๆ หรือการเผชิญหน้ากันก็ไม่ใช่คู่เดิมๆ อีกต่อไปแล้ว จากเดิมเป็นตัวแทน ก็อาจจะเปิดหน้ามากขึ้น

 

แล้วรายการดีเบตระหว่างนักการเมืองเองก็เกิดขึ้นเยอะมากเช่นกัน การดีเบตเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร

     การให้ประชาชนได้เห็นว่าตัวเลือกที่เขามีอยู่ในมือควรจะเป็นใคร ถึงแม้ว่าคำพูดไม่สามารถบอกทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคำพูดไม่แสดงอะไรเลย เราเชื่อว่าประชาชนทราบว่าคำพูดไม่ใช่ทั้งหมดเวลาจะเลือกใครสักคนหนึ่ง เขารู้ ไม่ต้องไปบอกเขาหรอกว่ามันเป็นแค่คำพูด แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เขาจะเลือกมาใช้ได้ และมันก็เหมือนเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ จากเมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่านักการเมืองหนีการสัมภาษณ์ หนีการดีเบต เป็นเรื่องปกติ แต่คำถามคือ คุณจะไม่ยอมให้สังคมเปลี่ยนไปเลยเหรอ ณ วันนี้ เรามาถึงจุดนี้แล้ว คุณจะกลับไปพูดทำไมในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่เคยเกิดขึ้น

 

การดีเบตแต่ละครั้งสามารถส่งผลให้คนที่ปักใจเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดไปเป็นอีกแบบได้ไหม

     ไม่แน่ใจว่าส่งผลได้แค่ไหนนะคะ แต่อย่างน้อยเราต้องทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่ควรมี อาจจะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนด้วยซ้ำไป แต่มันคือการเปิดโอกาส เช่น ใครที่รักที่ชอบอยู่แล้ว มันก็โอเคที่เขาจะได้มีโอกาสที่จะได้แน่ใจเพิ่มขึ้น แต่ถ้าใครยังก้ำๆ กึ่งๆ เขาจะได้รู้ชัดขึ้น หรือบางคนอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในแง่ไหน แต่อย่างน้อยเราได้ตระเตรียมเอาไว้ว่าถ้าเขาจะเลือกมันไปใช้ เขาจะได้มีใช้

     ซึ่งทุกคนก็มีวิธีของตัวเอง เราไม่กล้าแนะนำ โดยส่วนตัวเราชอบดูชุดเหตุผล ว่าที่มาของชุดเหตุผลที่นำมาซึ่งความคิดรวบยอดนั้นมาอย่างไร แต่เรื่องของการที่เราจะเชื่อเขาได้ไหม คนนี้จะโกหกไหม มันไม่สามารถบอกได้ในการดีเบตครั้งเดียว อาจต้องดูเมื่อเขาไปเป็นตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งแล้วเขาทำอย่างที่พูดไหม อีกเรื่องที่เรียนรู้ส่วนตัวคือ เราไม่ได้ปักใจว่าจะต้องเป็นใครคนใดคนหนึ่งเสมอไป ก็ลองผิดลองถูกกันไป

 

สำหรับคนที่ชักจูงใจคนเก่งจนเราคล้อยตามได้ โดยที่พฤติกรรมจริงอาจเป็นอีกแบบหนึ่ง มองว่าตรงนี้เป็นด้านลบของการเปิดพื้นที่ไหม

     เป็นไปได้ แต่เราไม่เชื่อว่ามันจะหยุดอยู่แค่การฟังคำพูดไงคะ การที่บอกว่า ใครคนหนึ่งพูดเก่ง ดีแต่ปาก ดีแต่พูด ชุดคำพวกนี้มันออกมาจากการเรียนรู้ของเราแล้วไง เราคิดว่าทุกคนเรียนรู้ได้ เขารู้ว่าเขากำลังจะไปกาให้ใคร และคนนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่ เราไม่เชื่อว่าคนจะเชื่ออะไรจากแค่คำพูด แล้วปล่อยลอยๆ ไป

 

ในแง่ของผู้เข้าร่วมการถกเถียงจากฟากฝ่ายที่มีแนวคิดคิดแตกต่างกัน การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาพูดคุยกันจะทำให้พวกเขาเข้าใจอีกฝ่ายเพิ่มมากขึ้นด้วยหรือเปล่า

     พูดถึงบริบทการเมือง เวลาคนที่มีแนวคิดแตกต่างกันมานั่งคุยกัน เราคิดว่าประโยชน์ของวงแบบนี้ไม่ได้เกิดกับผู้พูดในวงเอง แต่จะเกิดกับคนที่ฟังอยู่นอกวงต่างหาก นี่คือหน้าที่ของการดีเบต เพราะมันจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ เกิดการคัดง้างกัน

 

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

 

ว่ากันว่าคนไทยเป็นชนชาติที่ไม่ชอบการตั้งคำถาม วัฒนธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เราเดินมาสู่จุดที่เรากำลังเผชิญอยู่ด้วยหรือเปล่า

     ภาพจำจะถูกมองเป็นแบบนั้น แต่เราไม่ได้เชื่อว่าจะเป็นกัน 100% แต่ส่วนใหญ่แล้วมันทำให้เรามีภาพจำว่าการตั้งคำถาม การค้าน โต้แย้ง หรือถกเถียง เป็นเรื่องไม่คุ้นชินในสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือว่า การถกเถียงกันเป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดความลำบากใจ และคิดว่านี่คือความขัดแย้ง ไม่ควรเกิดขึ้น อย่าทำ ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันผิด การที่คุณไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลย ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ควรมีอยู่ เราโกหกตัวเองไม่ได้นะคะ

     เวลาที่บอกว่าเราต้องกินเหมือนกัน ต้องรักกัน ต้องสามัคคีกัน คือเราจะพูดทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมด้วยความคิดรวบยอดแค่สองสามอย่างไม่ได้หรอกค่ะ เราก็ทราบว่าของจริงมันไม่ใช่ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเราจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปทำไม เพราะจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัว ทำไมเราไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมดา ทำความเข้าใจ และอยู่กับมันแบบจัดการได้ เช่น เรายืนกันอยู่สามสี่คน ลองถามทีละเรื่องสิว่าเราคิดเหมือนกันไหม แล้วถ้าเกิดคิดไม่เหมือนกัน ก็ เออ แยกย้ายกันไป ไม่ต้องคุยกันแล้ว จะเอาแบบนี้เหรอ

 

แต่เราก็มักถูกสอนว่าสังคมที่เป็นเอกภาพ ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน คือสังคมที่เข้มแข็ง

     เราคิดว่า สังคมที่เข้มแข็งคือสังคมที่รับฟังกัน และใช้เหตุใช้ผลในการอยู่ด้วยกัน เรามีความแตกต่างที่ปริแตกออกมาให้เห็นแล้ว และของแบบนี้ก็อยู่กับสังคม ที่คุณผวาก็เพราะคุณไม่พยายามยอมรับว่ามันมีอยู่ คือคุณไม่สามารถโทษได้ว่าปัญหามันเกิดจากคนคนเดียว หรือเรื่องเรื่องเดียว แต่เพราะความหลากหลายมันไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงตัวออกมาหรือเปล่า คือเราก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบความขัดแย้งหรอกนะ แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติ

 

คำถามแบบไหนที่อยากให้ทุกคนถามออกไป

     สงสัยอะไรก็ถามไปเลย ในการทำงานของเรา เรามักจะสอนรุ่นน้องว่า คุณอย่ากลัวการตั้งคำถามที่มันโง่ เราไม่เข้าใจความกลัวนี้ว่าถามโง่ๆ คืออะไร คำถามแบบไหนที่เรียกว่าเป็นคำถามโง่ๆ และโดยวิชาชีพแล้ว เราไม่ต้องกลัวเลยนะคะว่าเดี๋ยวถามไปจะดูโง่ แบบนั้นแสดงว่าคุณไม่ได้อยู่กับเนื้อหาแล้ว คุณอยู่กับตัวตนคุณต่างหาก ว่าใครจะมองว่าฉันโง่หรือฉลาด เขาจะยอมรับฉันหรือไม่

     หน้าที่และงานของสื่อมวลชนมันคือความเป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งห่วงตัวเอง เราก็โง่ออกไปทุกวัน ก็ยังอยู่ได้นะ การตั้งคำถามไม่ได้อยู่ที่โง่หรือฉลาด อยู่ที่ว่าเราได้คำตอบกลับมายังไง คือเรามีสิทธิที่จะตั้งคำถาม ดังนั้น เราควรจะตั้งคำถาม

     อีกเรื่องคือ การให้สังคมคุ้นชินกับการตั้งคำถาม เราว่าสำคัญมากเลย เพราะจะทำให้สังคมเคลื่อนไปได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ถูกแช่แข็งหรือกดเอาไว้ แล้วก็หลอกตัวเองไปว่ามันไม่มีอย่างนั้น มันโอเคแล้ว แบบนี้ดีที่สุด มันไม่ใช่

 

ถ้าถามไปเรื่อยๆ เราจะหาคำตอบที่ถูกต้องได้อย่างไร

     การถามคือการเปิดโอกาสให้ได้คำตอบ แต่ถ้าไม่ถามเลย มันจะไม่มีแม้กระทั่งการเปิดโอกาสในการหาคำตอบนะ

 

มีคำถามแบบไหนไหมที่เราไม่ควรถาม

     เรื่องส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวที่หาประโยชน์เชื่อมโยงสาธารณะไม่ได้ และเจ้าของสิทธิเขาไม่ได้อนุญาต ไม่เต็มใจ บางเรื่องมันไม่มีความจำเป็นต้องทราบ เช่น ในบริบททางการเมือง ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่เราต้องขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว เรื่องรสนิยมส่วนบุคคล เรานึกไม่ออกว่ามันเอามาใช้อะไรได้

     เช่น การรู้เรื่องเพศสภาพของคนทำงานการเมือง เพียงเพราะจะเลือกหรือไม่เลือกเขา โอเค คุณอาจคิดได้ว่าเพศสภาพของเขามีผลต่อการเลือกของคุณ เป็นวิธีตัดสินใจเลือกของคุณ แต่การตั้งคำถามเข้าไปในรสนิยมทางเพศของเขา ซึ่งเขาวางมันไว้ในพื้นที่ส่วนตัว มันใช่หรือเปล่า

     เหมือนกันกับการโจมตีเรื่องความสัมพันธ์ของคนในเวลาส่วนตัว หรือพื้นที่ส่วนตัว โดยที่มีคำอธิบายว่ามันคือเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม ถ้าเราจะตั้งคำถามในลักษณะนี้ เราต้องตอบให้ได้ด้วยว่ามันกระทบต่อสาธารณะอย่างไร การโจมตีด้วยวิธีการแบบนี้มันสะท้อนตัวคนโจมตีนะ ไม่ได้สะท้อนคนตัวคนที่ตกเป็นเหยื่อ คำถามคือมันเวิร์กไหม

 

อาจจะเวิร์กกับคนที่ใช้การโจมตีเหล่านี้เป็นเครื่องมือ เพราะเรื่องอารมณ์ความรู้สึกใช้ทำลายกันได้ง่ายกว่าเหตุผล หรืออาจขายได้มากกว่า ไม่งั้นข่าวซุบซิบดาราก็ขายไม่ได้

     ถ้าเป็นเรื่องซุบซิบดาราเราจะมีชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบริบทการเมือง การเล่นเรื่องความสัมพันธ์ในที่ลับ มันเวิร์กเหรอ แล้วการใช้วิธีนี้มันใช้ต้นทุนที่สูงมากจนคนที่กระทำอาจจะลืมประเมินไปว่าต้นทุนที่คุณต้องรับผิดชอบ อาจสูงกว่าที่คุณจะรับไหวด้วยซ้ำ เหมือนกันกับสังคมน่ะค่ะ ถ้าสังคมยอมรับว่าวิธีการเล่นงานกันด้วยมิตินี้มันใช้ได้ เท่ากับสังคมต้องยอมรับต้นทุนนี้ร่วมกัน เพราะฉะนั้น เรามองว่ามันไม่มีสาระสำคัญอะไรเลย

 

แล้วถ้าเป็นเรื่องซุบซิบดาราล่ะ

     ข่าวซุบซิบดาราจะออกมาในลักษณะที่มีสีสันของตัวเอง และในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างรุนแรง มันถูกใช้ในการสะท้อนเรื่องส่วนตัวของดารานักร้องนักแสดงอยู่หลายครั้ง ในช่วงที่ผ่านมาก็จะมีให้เห็นบ้างเรื่องความสัมพันธ์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในเรื่องบุคคลภายในครอบครัว คนรัก หรือแม้กระทั่งคนในวงการบันเทิงที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง คำถามคือ มันมีผลต่องานของเขาหรือไม่ ซึ่งอันนี้แล้วแต่คนนะ เราบอกไม่ได้ว่าคนที่อยู่ในวงการนั้นเขาขีดเส้นชัดเจนหรือเปล่า แต่สมมติเราแทนตัวเองในฐานะประชาชน เราค่อนข้างแยก ไม่ใช่ไม่สนใจฟัง ตัดทิ้ง ไม่ใช่นะ แต่คือแยก

     เช่น คนที่มีความเห็นทางการเมือง เขาจะชอบใครก็แล้วแต่ อันนี้เราไม่สนใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือเนื้อหาเวลาเขาพูด ว่าเขาพูดด้วยการเหยียดหยาม กล่าวหา เหมารวมหรือเปล่า อันนี้เป็นประเด็น มันไม่ได้เป็นประเด็นเพราะเขาเป็นคนบันเทิงนะ ไม่ว่าใครทำก็เป็นประเด็น

     อีกเรื่อง เช่น ความสัมพันธ์ส่วนตัว อันนี้แล้วแต่คนไม่ชอบว่าจะรับผลงานเขาต่อหรือเปล่า แต่ส่วนตัวเราคิดว่ามันมีพื้นที่ที่ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว เพราะฉะนั้น ผลงานของเขา เราก็ยังจะตามต่อ

 

คบซ้อนก็ไม่จำเป็นต้องไปแบนผลงานเขา?

     จริงๆ แล้วการที่ใครสักคนจะออกมาแถลงข่าวหรือตอบคำถาม เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาพูดเรื่องจริง 100% ไหม เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาตัดสินใจจัดการสถานการณ์นั้นด้วยวิธีคิดแบบไหน มันคิดได้สองแบบนะคะ คือเราไม่มีทางรู้เลยว่าผู้ที่ออกมาแถลงเขาพูดความจริงไหม หรือเขาตัดสินใจที่จะพูดแบบนี้เพียงเพราะอยากให้เรื่องถูกเข้าใจและจบลงที่ตัวเขา หรือจริงๆ แล้วการที่ไม่ต้องออกมาแถลงข่าว หรือไม่ต้องพูดเรื่องนี้กับสาธารณะเลย เราคิดว่านั่นก็ยังเป็นสิทธิ์นะ

     บางทีมันก็ตั้งคำถามได้เหมือนกันว่า เราต้องบอกทุกเรื่องเลยเหรอ ซึ่งโอเค อาจจะโดนโต้แย้งได้ว่าเขาเป็นคนสาธารณะ แต่การเป็นคนสาธารณะมันเป็นได้แทบทุกหมวดเลยนะ แต่สาธารณะก็จะเป็นคนขีดเส้นบอกเองว่าเราควรจะเข้าไปสู่พื้นที่ของคนสาธารณะได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราจะรู้ว่าเราควรปฏิบัติต่อเขา ควรรับฟังเขา ควรเข้าไปในพื้นที่ของเขาแค่ไหน

 

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

 

เราจะเป็นคนที่ตั้งคำถามอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร

     เราให้ความสำคัญกับการไม่ละเลยการตั้งคำถาม มากกว่าคำถามนั้นเป็นคำถามแบบไหน เพราะการตั้งคำถามแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ อยู่กับข้อมูล

 

สมัยเด็กๆ เป็นคนที่มีบุคลิกชอบตั้งคำถามอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไหม

     ไม่ค่ะ มาเปลี่ยนได้เพราะทำงาน เราอาจจะเป็นผลผลิตของระบบที่มีวัฒนธรรมที่ไม่ถูกฝึกให้ตั้งคำถาม แต่บุคลิกตอนเด็กเป็นคนพูดเสียงดัง มีอารมณ์ขัน ความไม่อินก็ยังอยู่ ซึ่งมันช่วยมากเลยนะกับการทำงาน เช่น การทำประเด็นการเมือง คือให้เราถกเถียงได้ แต่จะอิน อารมณ์ค้าง แบบฉันคุยกับแกไม่ได้อีกต่อไป ทำไมแกถึงคิดอย่างนี้วะ ไม่นะ ไม่ได้อินขนาดนั้น ตอนที่การเมืองรุนแรงฉันดู K-pop จ้ะ

 

อยากเป็นนักข่าวมาตั้งแต่สมัยเรียนเลยหรือเปล่า

     ไม่ ไม่เคยฝันอยากเป็นนักข่าว ไม่รู้จักอาชีพนักข่าว ถ้านับจากตอนเด็กๆ ก็อยากเป็นหมอ โดยที่ไม่ประเมินสติปัญญาตัวเอง (หัวเราะ) โตมาหน่อยก็วนศาสตร์ เพราะตอนนั้นมีกรณีเรื่อง คุณสืบ นาคะเสถียร แล้วก็เปลี่ยนอีก อยากเข้ามัณฑนศิลป์ ดูเท่ดี แล้วพอไปเรียนวาดรูปปุ๊บ ไม่ได้เรื่องเลยกู เปลี่ยนเถอะ แล้วก็จะมาเป็นรัฐศาสตร์ พอตอนเอนทรานซ์ก็เข้ามนุษยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จากตรงนั้นที่มาเข้าวงการข่าวได้เพราะเรียนวิชาเลือกตัวสุดท้ายเป็นการวิเคราะห์ข่าว พอต้องทำงานส่งอาจารย์ เราก็พบว่ากลไกการเสนอข่าวมันมีผลต่อสังคม วิธีการมองของคนทำข่าวมันมีผลต่อข่าว เลยคิดว่าฉันไปทางนี้ละกัน เริ่มคิดว่าน่าสนใจ ตอนนั้นไปสมัครหนังสือพิมพ์ สนใจข่าวต่างประเทศ คือยังสนใจในทางภาษา ไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาตรงนี้ คือไอ้ที่มาตรงนี้ได้เพราะจับพลัดจับผลู

 

ตอนเริ่มต้นทำงานแรกๆ เวลาต้องสัมภาษณ์คนมีความประหม่าไหม

     มีๆ เราเริ่มตอนอายุยังน้อย เพราะฉะนั้น แขกรับเชิญก็จะอายุเยอะกว่า ด้วยความเกรงใจตามวัฒนธรรมและค่านิยมไทยก็จะทำให้เรากล้าๆ กลัวๆ ที่จะตั้งคำถาม โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อสงสัยในตัวเขาหรือการทำงานของเขา เพราะฉะนั้น ก็ยากเหมือนกัน แต่เมื่อเราทำความเข้าใจมากขึ้น เราจะพบว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงาน นี่คือบทบาทของเรา ถ้าเราทำโดยยึดตัวงานเป็นหลัก แขกก็จะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจไม่เป็นไร เราก็ต้องทำไป

     ตอนที่จัดรายการออกทีวีครั้งแรก จำได้ว่างงไปหมดเลย แบบ… ทำจบไปได้ไง ครั้งแรกมันจะเครียด เพราะเราพยายามจำทุกอย่างที่ทุกคนสอนว่าการทำรายการสัมภาษณ์ต้องทำอย่างไร จำๆๆ จนเกือบจะหลุดเนื้อหา เพราะกลัวลืมสิ่งอื่นๆ ที่ถูกสอนมา แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเริ่มเข้าใจว่าอะไรน้อยอะไรมากได้บ้าง

 

เท่าที่ทำมารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ของเราอย่างแท้จริงไหม เบื่อบ้างหรือเปล่า

     ไม่ได้เบื่อที่เนื้องาน แต่ก็จะมีปัจจัยแวดล้อมที่คนทำงานทุกแบบจะเบื่อได้ คือมันไม่ใช่อาชีพในฝัน แต่มันเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และเราเคารพวิชาชีพนี้มาก เพราะมันมีความรับผิดชอบในตัวเองไม่แพ้สิ่งอื่นที่เราอยากทำในชีวิตเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะระลึกเสมอว่าพื้นที่ที่เราทำงานอยู่ไม่ใช่แค่ของเราคนเดียว มันมีความสาธารณะ มีความรับผิดชอบร่วมกับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำก็เพื่อรับใช้สังคมด้วย อันนี้ก็พึงระลึกอยู่เสมอ

 

บรรยากาศการทำข่าวในประเทศไทยเข้มข้นดุเดือดเหมือนใน 1Spotlight (2015) ไหม 

     ความเป็นทีวีกับลักษณะของสื่ออื่นๆ มันแตกต่างกันอยู่แล้ว ก็อาจจะเปรียบเทียบไม่ได้เสียทีเดียว หรือบริบทสังคมในประเทศก็แตกต่างกัน แต่ในแง่ของหลักการที่ยึดมั่นอาจใช้ตัวเดียวกันได้ แต่ด้วยความที่เราทำสื่อทีวี มันจะเป็นสื่อที่ไวมาก ถ้าพูดในแง่ดีคือเป็นสื่อที่เร็ว ถ้าพูดในแง่ที่ไม่ได้ดีมากคือมันเป็นสื่อที่ฉาบฉวย (หัวเราะ) แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดในแขนงของมัน เพราะทีวีมีผลกระทบเยอะ มีทั้งภาพ ทั้งเสียง มีความเร้าใจ ดึงดูดความสนใจ

     ในเรื่องราวของ Spotlight ณ เวลาที่เรื่องราวเกิดขึ้น กับ ณ สังคมปัจจุบันนี้ เราไม่แน่ใจว่าเหมือนกันหรือเปล่า แต่เรื่องการเปิดเผยความจริง เราว่ายังมีอยู่แน่นอน ขึ้นอยู่กับแต่ละห้วงเวลาว่ามันเอื้อให้ทำได้แค่ไหน (คิดนาน) เอาตอนนี้เลยนะ การอยู่ภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร มันไม่ได้เหมือนกับการอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว มันมีอำนาจบางอย่างที่ควบคุมเราอยู่

 

แล้วในฐานะสื่อ เราควรมีความกล้าหาญแบบไหน

     การทวงถามความกล้าหาญนี่ต้องคุยกันยาวเหมือนกัน เราจะเลือกคุยมิติไหน เช่น เฮ้ย การทวงถามว่าทำไมถึงไม่กล้า คำถามคือ เราต้องเสี่ยงกับกติกาที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหรอ ถ้าจะเล่นในเกมของเขา เราต้องใช้ต้นทุนทั้งหมดของเรากับวิธีการที่ไม่ถูกต้องด้วยเหรอคะ เราว่ามันไม่ใช่นะ

 

แต่ถ้าไม่มีคนที่กล้าเลย การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น

     แน่นอนเราต้องกล้าหาญ แต่รูปแบบ วิธีการ และจังหวะก็สำคัญ เช่น ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม แต่เราต้องอยู่ภายใต้กติกานั้น เราจะอยู่แบบไหนล่ะ ใช้พลังทั้งหมดเพื่อจะถูกกติกาไม่เป็นธรรมเล่นงานเหรอ ถ้าคุณต้องลงสนามเล่นกับกติกาที่ไม่เป็นธรรม ทำไมต้องเปลืองแรง ใส่แรงเต็มๆ เล่นกับกติกาที่มันโกงอยู่แล้ว ทำไมต้องอยู่ในสนามแบบนั้น ความหมายคือเราจำเป็นต้องใช้ปัจจัยอื่นร่วมกับความกล้าหาญด้วย… ต้องคุยกันยาว

 

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

 

เราสูญเสียอะไรไปบ้างกับสุญญากาศทางการเมือง 5 ปีที่ผ่านมา

     (ถอนหายใจ) เราสูญเสียเสรีภาพไป เพราะเราอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ข้อโต้แย้งที่บอกว่าเราวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยังเหน็บ ยังล้อเลียนได้ จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีแค่ดีกรีล้อเล่นแบบนั้นไง มันมีดีกรีที่ถูกจับแล้วดำเนินคดีจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะมองแค่ดีกรีเบาๆ ล้อเล่นได้ แซวได้ แสดงว่าเราเลือกมองแค่ด้านเดียว และถ้าจะมีข้อโต้แย้งว่าในยุคที่ไม่ใช่รัฐประหารก็เกิดขึ้นได้ ใช่ แต่มันสู้กันได้เต็มที่กว่านี้ไง

 

ทำงานมานาน คุณเคยเผชิญสิ่งที่เรียกว่า midlife crisis หรือยัง

     เราได้ยินมาเยอะนะ มีเพื่อนบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในวิกฤตนั้นแล้ว แต่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเจอมาหลายๆ ระลอกมันอยู่ในนิยามนั้นหรือเปล่า หรือก็แค่เบื่อหน่ายชั่วครั้งชั่วคราว เช่น (ถอนหายใจ) ทำไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร หรืออยากทำอย่างอื่นบ้าง บางทีก็ถามตัวเองเหมือนกันว่า เฮ้ย เรามีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าไหม คือถ้าเรื่องงานอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่กับบรรยากาศรอบตัวที่มันซ้ำซากและไม่ถูกต้อง มันสามารถสร้างความรู้สึกหดหู่สิ้นหวัง แต่ยังไงก็ตาม เรารู้สึกได้นะ แต่ต้องไม่ยอม

 

ไม่ยอมอย่างไร

     ถามตัวเอง เราก็ถามตัวเองนะว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดเราจะไม่ถูกกลืนกินแน่นอน เขาต้องการแบบนั้น แต่เขาจะไม่ได้จากเรา เขาต้องการกดให้คุณรู้สึกแบบนั้นอยู่แล้ว แต่เขาจะไม่ได้ เขาต้องการจะเปลี่ยนคุณ แต่เขาจะไม่ได้ ซึ่งเรากำลังตั้งคำถามอยู่ว่าที่เรารู้สึกแบบนี้เพราะอะไร เป็นเพราะเราเองอย่างแท้จริง หรือเป็นผลจากการที่เขาต้องการให้เกิด

 

ถ้าจอมขวัญต้องสัมภาษณ์จอมขวัญอีกคน จะถามว่า…

     กลุ่มคำถามหนึ่งอาจตั้งคำถามในกรอบการทำงานของสื่อมวลชนในภาวะปัจจุบันที่มีการพูดถึงและถกเถียงถึงนิยามหลายเรื่อง ส่วนอีกกลุ่มคำถามหนึ่งก็คือ ‘คุณเชื่อและยังศรัทธาว่างานของคุณมีผลต่อสังคมจริงๆ ไหม’ และอาจจะถามจอมขวัญในมุมมองส่วนตัวว่า อะไรที่คุณอยากพูดถึงที่สุดในมุมมองของความเป็นแค่จอมขวัญที่ไม่ใช่นักข่าว เพราะคุณเป็นจอมขวัญที่เจอคนเยอะ คุณเป็นจอมขวัญที่มีความท้าทายกดดันหลายแบบ คุณน่าจะมีมุมมองต่อสังคมอยู่หลายอย่าง จะพูดอะไรในวันที่คุณเป็นจอมขวัญธรรมดา ไม่ต้องพูดถึงในมุมมองที่เป็นนักข่าวก็ได้

 

และจอมขวัญอีกคนจะตอบกลับจอมขวัญอีกคนว่า…

     เราเชื่อในปัจเจกนะคะ ว่าทุกคนมีความสามารถ มีความคิด สติปัญญา ความเชื่อศรัทธา และชุดเหตุผลตรรกะของตัวเอง เราเชื่อตรงนั้น และคิดว่ามันน่าสนใจ ไม่ใช่แค่เพียงใครเชื่อแบบไหน คิดอย่างไร และจำเป็นต้องชี้ว่าถูกหรือผิด ฉลาดหรือไม่ฉลาด

     แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ สังคมที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันถูกตีความว่าอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีเส้นแบ่ง ล้ำไปในเส้นของใครก็ได้ เราคิดว่าอันนี้ไม่ใช่ คนละเรื่อง สังคมที่โต้แย้งและถกเถียงกันได้จะมีเส้นอยู่ว่าแค่ไหนคือพื้นที่เหล่านั้น

     บางครั้งคนจะคิดว่าการไปล้ำเส้นคนอื่นคือความหลากหลาย นี่คือข้อถกเถียง คือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นอิสระ ซึ่งสำหรับเรา เราคิดว่ามันไม่ใช่ ในขณะเดียวกันเรื่องที่คุณต้องถกเถียงโต้แย้งกันแบบไม่ลดละ ไม่ยอมกัน เรากลับไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้น เราว่ามันกลับด้านกันอยู่

 

เมื่อมีคนถาม มีคนตอบ ก็ต้องมีคนฟัง เราจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้อย่างไร

     ต้องใช้ใจ ก็คือเปิดใจฟังก็เป็นผู้ฟังที่ดีได้แล้ว แต่คำว่าเปิดใจฟังไม่ได้แปลว่าต้องเชื่อทุกอย่างนะ ต้องกลั่นกรองอยู่ดี แต่คือการให้โอกาสอีกฝ่ายในการแสดงออกและรับฟัง เราเองก็เรียนรู้จากการรับฟังว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเปลี่ยนตัวเองไปได้เลย คือไม่สามารถบอกได้ว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่เราสามารถเปลี่ยนไปเป็นคนที่รู้อะไรได้กว้างขึ้นเพียงเพราะว่าเปิดใจรับฟัง

 


1Spotlight (2015): ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ เกี่ยวกับนักข่าวซึ่งเปิดเผยความจริงด้านมืดของสังคม