คาลิล พิศสุวรรณ | มีชีวิตเพื่อสู้กับปัญหาสังคมและประเทศ เพราะการย้ายไปที่อื่นไม่ใช่คำตอบ

บ่ายวันที่ฝุ่น PM 2.5 ลอยหนาทั่วกรุงเทพฯ เราเดินสวมหน้ากากอยู่บนฟุตปาธเล็กๆ ขนาดกว้างไม่ถึง 1 เมตร ที่มีต้นไม้ใหญ่ตั้งกีดขวางกลางทางเดินพอดี เพื่อไปพบกับ คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนและนักวิจารณ์รุ่นใหม่ที่กล้าพูดถึงปัญหาของสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เราแชร์ความทุกข์ให้เขาฟังว่า หลายครั้งเรารู้สึกสิ้นหวังกับชีวิตในประเทศนี้จนอยากหนีไปอยู่เมืองนอกให้จบสิ้นไป ทำให้เขาค่อยๆ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสังคมและการเมืองของไทยที่ตกค้างมาเนิ่นนานอย่างร้อนแรง

     น่าแปลก ที่แม้ว่าชายคนนี้จะเห็นปมปัญหาที่ซ่อนอยู่มากมาย แต่ก็ยังยืนยันว่าการย้ายไปอยู่ต่างประเทศคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับเขา สุดท้ายแล้วคนรุ่นใหม่ยังเป็นความหวังของประเทศจริงๆ หรือเปล่า และเรากำลังต่อสู้กับอะไรอยู่กันแน่ มันอาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาตั้งคำถามนี้ด้วยกันอย่างจริงจัง

 

คาลิล พิศสุวรรณ

 

คนรุ่นใหม่หลายคนมีความคิดอยากจะไปอยู่ประเทศอื่นเพราะเหนื่อยหน่ายประเทศตัวเอง คุณเคยรู้สึกแบบนั้นไหม และคิดอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้

     ความคิดอยากไปอยู่เมืองนอกเคยมีแว่บๆ เข้ามาในหัวบ้าง แต่เป็นในเชิงที่ว่า ถ้าเราไม่ได้เกิดในประเทศนี้มันคงจะดีเนอะ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคำถามว่า ถ้าตอนนี้เราไปอยู่เมืองนอกได้เราจะไปไหม ในยุคนี้เราอาจจะเห็นภาพเมืองนอกถี่หน่อย สไลด์ไทม์ไลน์ก็เจอแต่คนไปต่างประเทศ แล้วพอยิ่งมีเรื่องการเมืองเข้ามาเสริมก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าประเทศเรามีปัญหา คงจะดีกว่าถ้าเราไปอยู่ที่อื่น

     แต่สำหรับตัวเรา เรารู้สึกว่าการไปอยู่เมืองนอกไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีมิติที่ลึกซึ้งไปกว่าฉากหน้าที่เราเห็น ทั้งความซับซ้อนทางวัฒนธรรม หรือประเด็นที่ว่า เขาจะเปิดรับคนที่ชาติพันธุ์ หน้าตา ผิวพรรณต่างกันแค่ไหน เราคิดว่าการไปอยู่ต่างประเทศไม่ใช่แค่มีตังค์ก็ไปได้ แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่า พร้อมที่จะรับความท้าทาย หรือความซับซ้อนที่จะต้องรับมือในประเทศอื่นหรือเปล่า

 

คุณเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกาด้วยใช่ไหม ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

     ตอนนั้นถามว่ามีความสุขไหม ก็มีนะ ได้เจอเพื่อนใหม่ เจอวัฒนธรรมที่แตกต่างไป แต่ถามว่ามันคือที่ที่เราอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ไม่ เราเป็นคนเอเชียที่เติบโตกับความเป็นเอเชียมาโดยตลอด แต่พอได้ไปอยู่เมืองนอกครั้งแรก 1 ปีเต็มๆ สิ่งที่เราพบคือการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมที่บางเรื่องก็ทำให้เราเกิดบาดแผล กลายเป็นปมที่ยังอยู่กับเรามาจนถึงทุกวันนี้

     แน่นอน ความคิดว่าอยากจะไปอยู่เมืองนอกมันเกิดขึ้นได้ ไม่แปลก และเราก็ไม่คิดจะไปตัดสินใครที่เขามีความคิดนี้นะ เพราะเขาอาจจะจริงจัง มีต้นทุนพร้อม ศึกษาวัฒนธรรมมาอย่างเต็มที่ มุ่งมั่นจะไปอยู่ที่นั่นจริงๆ เพียงแต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในประเทศไทยยังมีคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่เขาไม่ได้มีอภิสิทธิ์ ไม่ได้มีทุน และไม่ได้เข้าถึงการศึกษาในระดับเดียวกับคุณ สังคมเรายังมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมากๆ ในระดับที่แค่จะจินตนาการถึงเรื่องไปอยู่เมืองก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำสำหรับคนอีกไม่รู้เท่าไหร่

     คนที่ไปแล้วชีวิตดีขึ้น ก็ยินดีกับเขานะ แต่กับตัวเรา เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าอยู่มาวันหนึ่งเกิดรู้สึกไม่ไหวแล้วกับประเทศนี้ แล้วมีช่องทางให้หนี เราจะไปไหม

 

มองว่าคนที่ไปคือเขาหนีเหรอ

     เราไม่อยากพูดว่าหนี เพราะทุกคนต่างก็มีเหตุผลของเขา ทั้งเรื่องธุรกิจ การศึกษา ครอบครัว การจะพูดว่าหนีมันง่าย และดู blame ไป แต่ทั้งหลายทั้งแหล่มันทำให้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าว่าทำไมเราถึงไม่อยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ นั่นเพราะลึกๆ แล้วเรารู้สึกว่า เราคงจะอยู่ได้อย่างไม่มีความสุขนัก ไม่ได้หมายความว่าเรามีความสุขกับที่นี่นะ เราไม่มีความสุขกับที่นี่หรอก แต่แค่รู้สึกว่าที่นี่ยังมีสิ่งที่เราทำได้อยู่ ยังมีสิ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา อย่างน้อยก็ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนมองเห็นกันและเลิกตัดสินกันมากขึ้น แน่นอนว่าเราก็เป็น no one คนหนึ่งในสังคมแหละ แต่แค่เชื่อว่ายังทำอะไรบางอย่างที่นี่ได้

 

แต่มันยังมีคนอีกมากมายที่ไม่ได้คิดว่า อยู่ที่นี่เพราะมีประโยชน์ เขาแค่อยู่ไปเรื่อยๆ เท่านั้น

     มันก็ไม่ได้ผิด ขึ้นอยู่กับว่าเขาวัดจากอะไร อย่างการที่เขามองว่าตัวเองไม่มีประโยชน์แล้ว มันเป็นเพราะช่วงเวลานี้หรือเปล่า ที่ต่อให้จริงๆ แล้วตัวคุณจะมีประโยชน์แค่ไหน แต่รัฐบาลก็ไม่ให้คุณทำ ไม่ให้คุณได้แสดงความคิดเห็นอะไร เรารู้สึกว่าประเทศนี้มองความเปลี่ยนแปลงในระยะที่สั้นมาก เราอยากให้ทุกอย่างเกิดขึ้นในทันที แต่ไม่ค่อยได้ถอยย้อนออกมามองโครงสร้างภาพรวม หรือประวัติศาสตร์จริงๆ ว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา

     ย้อนกลับไปสมัยพันธมิตร เราเห็นว่าทักษิณโกง ออกมาประท้วงไล่ทักษิณกันใหญ่ พอไล่เขาออกได้ก็ดีใจ แต่ปัญหาคือ ยังมีคนอีกมากมายไม่ตระหนักว่า สิ่งที่เขาทำไปในวันนั้นมันส่งผลสืบเนื่องจนเกิดเป็นประยุทธ์ในวันนี้

     สารภาพว่าช่วง ม.ปลาย เราก็ไปพันธมิตรนะ ยืนยกธงด้วยความไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร ทักษิณโกงอะไร แล้วมันร้ายแรงขนาดที่คนจำนวนมากจะโกรธขนาดนี้เลยเหรอ เราไปเพราะเชื่อคำที่เขาบอกว่า คนโกงเท่ากับคนเลว ส่วนเราที่ออกมาต่อสู้ก็เป็นคนดี รับใช้พระมหากษัตริย์ แล้วยิ่งเราเป็นคนใต้ด้วยแล้ว ความเป็นพันธมิตรมันผูกกับอัตลักษณ์ของคนใต้มากๆ คือเป็นคนไม่ยอมใคร ใจนักเลง รักสถาบัน พอได้ออกไปก็เลยเหมือนได้พิสูจน์ความเป็นคนใต้ของเรา เป็นมนุษย์ที่ดี ตระหนักเรื่องการเมือง

     แต่ปัญหาคือตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองจริงๆ ว่า ที่ทำอยู่นี้ถูกต้องแล้วเหรอ เพราะเราเชื่อพันธมิตรอย่างสุดหัวใจ ทุกวันนี้พอเรามองกลับไปในอดีต เราจะเห็นความผิดปกติหลายๆ อย่างในพันธมิตร คือเขา dehumanize มนุษย์อย่างน่ากลัว ถ้าย้อนฟังคำที่เขาใช้บนเวที เรายังตกใจเลยว่า ตอนนั้นเราไม่รู้สึกอะไรเลยได้ไงวะ มันน่าขยะแขยงมากเมื่อคิดว่ามนุษย์กลุ่มหนึ่งจะพูดประโยคเหล่านั้นออกมาเพื่อสร้างความเกลียดชังให้กับมนุษย์ด้วยกัน แต่สังคมเราก็ยึดถือว่า นี่แหละคือตัวแทนของความดี

     แล้วสุดท้ายเป็นไง พอมีเสื้อแดงถูกยิงตาย แทนที่จะรู้สึกสะเทือนใจ กลับมีแต่คนสมน้ำหน้าดีใจ แล้วไม่นานก็ลืมกัน เราเข้าใจเลยที่เขาบอกว่า เสื้อเหลืองเสื้อแดงทำไมถึงไม่ปรองดองกัน ไม่ยอมก้าวข้ามอดีตไปสักที ก็เพราะเสื้อแดงมีคนตายไง มีคนได้รับผลกระทบจริงๆ จากเหตุการณ์ทางการเมืองไง ซ้ำร้ายคือไม่ได้รับแม้กระทั่งคำขอโทษ หรือสิ่งชดเชยใดๆ ด้วย เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงไม่เคยจะเท่ากัน แล้วจะให้เกิดการปรองดองง่ายๆ โดยที่ฝั่งหนึ่งรับรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ได้มองเราเป็นมนุษย์เลยได้เหรอ มันไม่ได้อยู่แล้ว

     การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลก มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันนี้ พรุ่งนี้ มันจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา แต่สังคมเราไม่เคยมองไปไกล มองแค่ว่า อยากกำจัดทักษิณ โดยยินยอมให้ทหารมาลิดรอนอำนาจเราไป แค่นี้ก็สบายใจแล้ว แต่ดูตัวเราเองทุกวันนี้สิ ต้องมานั่งทนอยู่กับคนคนหนึ่งที่พูดอะไรไปไม่เคยจะจำได้เลย ความไม่อดทนของสังคมเรามันพาเรามาถึงจุดนี้

 

 

แล้วจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้คุณมองเห็นอีกด้านหนึ่งของปัญหานี้

     คงเป็นความโชคดีที่เราได้มีโอกาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และมันพาเราไปเจออาจารย์ท่านหนึ่งที่ช่วยปลดล็อกความคิดและทำให้เริ่มตั้งคำถามกับทุกอย่าง การตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญมากในสังคมนี้นะ แต่มันกลับไม่ถูกให้ค่าเท่าไหร่

     ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเราร้องเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน ถามว่าทั้งสิบข้อมีอะไรที่บอกให้เด็กตั้งคำถามบ้างไหม หนึ่งนับถือศาสนา สองรักษาธรรมเนียมมั่น ไล่ไปจนครบสิบข้อเราก็จะพบว่า เพลงนี้คือการบอกให้เด็กอยู่ใต้อำนาจและการตัดสินใจของผู้ใหญ่ทั้งหมด เราไม่เคยบอกให้เด็กคิด สงสัย โต้เถียงกันด้วยเหตุผลใดๆ แต่บอกให้เด็กฟัง เพราะเราคิดว่านั่นคือสิ่งทีดีที่สุดสำหรับเด็ก โดยไม่เคยสนใจเลยว่าสิ่งนั้นมันพาเด็กไปสู่จุดไหน 

     เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีมีมากี่ปีแล้วล่ะ แล้วดูผู้ใหญ่ทุกวันนี้สิ ดีเหรอ หรืออย่างคำขวัญวันเด็กก็วนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ที่สุดท้ายก็เอาไว้ถามเด็กเพื่อแจกกระปุกออมสิน มันไม่ได้ให้คุณค่าใดๆ กับเด็กหรือกระทั่งผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

     แต่พอเราเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามแบบนี้ มันทำให้เราเริ่มระมัดระวังตัวกับการจะเชื่ออะไรมากขึ้น คือไม่ใช่ว่าพอตั้งคำถามกับเสื้อเหลืองแล้วเราต้องอยู่กับเสื้อแดงร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือพอตั้งคำถามกับเสื้อแดงแล้วเราต้องอยู่กับเสื้อเหลืองร้อยเปอร์เซ็นต์ เราว่าประเทศไทยชอบแบ่งขั้ว ความดี ความเลว ชอบทักษิณ ไม่ชอบทักษิณ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ว่าคุณต้องอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างถาวรไง บางครั้งเราก็ต้องกระโดดกันไปมา หรือมันอาจจะมีฝ่ายที่สาม สี่ ห้า หก ก็ได้ เพียงแต่มันไม่ได้ถูกให้คุณค่า มันถูกเหมารวมว่ามีแค่สองฝั่งเพราะมันง่าย

 

เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนมองว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อประเทศ แต่เป็นเพราะความสามารถและเสียงของเขาไม่เคยถูกให้ค่ามากกว่า ทำให้พวกเขารู้สึกสิ้นหวัง

     ก็น่าสิ้นหวังแหละ เพราะประเทศนี้แทบจะไม่มีอะไรดีเลย แต่ถามว่าเราควรจะสิ้นหวังเหรอ ก็ว่าไม่นะ มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาสิ้นหวัง เพราะความหวังต่างหากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเมื่อไหร่ที่เราสิ้นหวัง เมื่อนั้นแปลว่าเราพร้อมจะยอมรับกับสภาพชีวิตตอนนี้

     ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เรารู้สึกว่าการที่ใครสักคนจะยอมทอดทิ้งความหวังไปมันเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์นะ เพราะนั่นเท่ากับว่า ชีวิตคุณโอเคแล้วที่จะอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้ คุณอาจไม่ได้โดนกดขี่ขูดรีดมาก หรือคุณอาจจะมีทุนที่เพียงพอ มีการศึกษาที่โอเค แล้วคุณก็พอใจแล้ว คุณเลยไปบอกใครต่อใครว่า ประเทศนี้แม่งไม่มีความหวังแล้วว่ะ มึงอย่าหวังเลย

     แต่กับอีกหลายๆ คนที่เขายังอยากจะหวัง หรือเขาจำเป็นต้องหวัง เพื่อสักวันหนึ่งเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ คำถามคือ เราได้ทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนั้นมากแค่ไหน ก่อนที่จะไล่บอกว่าประเทศนี้แม่งก็เป็นประเทศที่เรามาเช่าเขาอยู่ ทำงานไปวันๆ เดี๋ยวก็ตาย แต่เราพอใจจริงเหรอที่จะอยู่ในสังคมแบบนี้ หลับหูหลับตา ไม่เห็นว่ามันมีการกดขี่ขูดรีดที่เกิดขึ้นกับประชาชนอีกมากมาย มันน่าเศร้าว่าทำไมเราถึงชินชากับสภาวะนี้กันได้

     แต่อย่างในแง่ของคนรุ่นใหม่ ถามว่ามันน่าสิ้นหวังไหม เราก็ไม่รู้นะ เพราะถ้าย้อนไปดูในประวัติศาสตร์อย่าง 14 ตุลา อาหรับสปริง หรือ Umbrella Movement ในฮ่องกงก็ล้วนเกิดจากคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น คนรุ่นใหม่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพราะถ้าไม่หวังกับคนรุ่นใหม่แล้วจะหวังกับใครล่ะ

     เราว่าสิ่งสำคัญคือการต้องตระหนักให้ได้ว่า สักวันเราทุกคนจะตกรุ่นกันทั้งนั้น ต่อให้ทุกวันนี้ใครๆ จะพากันเรียกคุณว่าคนรุ่นใหม่ แต่ไม่นานคุณก็จะกลายเป็นคนรุ่นเก่าที่เคลื่อนตามอะไรไม่ทันอีกแล้ว

 

แล้วคนเราต้องพยายามที่จะไม่ตกรุ่นไหม

     เราเห็นผู้ใหญ่หลายคนที่เขาพยายาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะแสดงถึงความพยายามที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมา ในวันหนึ่งเราต่างก็ต้องยอมรับว่าตัวเองน่ะเก่าแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องพร้อมที่จะเปิดรับด้วย หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ไปตัดสินเขา พร้อมกับเรียนรู้ว่าโลกปัจจุบันมันกำลังเดินไปทางไหน

     เราว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นเคสที่ทำให้เห็นชัดเลยว่าการเคลื่อนจากเจเนอเรชันหนึ่งไปสู่อีกเจเนอเรชันเป็นอย่างไร อย่างเราเองอาจจะเคยเล่นเน็ตตั้งแต่ช่วงประถมกับคอมตู้ปลา แต่พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่หลายๆ คนมาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็ตอนมีสมาร์ตโฟนไปแล้ว ซึ่งคนรุ่นเราจะพอเข้าใจธรรมชาติ มารยาท และบรรยากาศของอินเทอร์เน็ตมาแล้วบ้าง แต่กับผู้ใหญ่เขายังเพิ่งเริ่มต้น จุดนี้น่าสนใจมาก เพราะเรามองว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจน และ empower พวกเขาพอสมควร

     ลองนึกดูว่า สมมติเราคุยกับพ่อแม่ เสนอความคิดเห็นบางอย่างออกไปต่อหน้า กับการพิมพ์สิ่งนั้นลงไปบนโซเชียลมีเดีย เราว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะต่างกันนะ เพราะในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่บนโลกกายภาพ มันจะมีเรื่องอัตลักษณ์ ร่างกาย หรืออวัจนะภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เขาตัดสินเราก่อนที่จะรับสารไปอย่างสมบูรณ์ แต่โซเชียลเน็ตเวิร์กมันทำให้การตัดสินใจเชิงกายภาพถูกชะลอลงไป เวลาเราส่งข้อความต่อๆ กันในไลน์ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้นทางเป็นใคร อาจจะเป็นแค่เด็กคนหนึ่งก็ได้ แต่มันทำให้พ่อแม่เราเชื่อ นี่เป็นพลังอย่างหนึ่งที่ empower คนยุคใหม่ เพราะคนยุคเก่าเขายังเคลื่อนตามเทคโนโลยีไม่ทัน

     นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังทำให้เราเห็นผู้ใหญ่ในภาพที่กลมขึ้น เมื่อก่อนเราเห็นพ่อแม่ ครู เฉพาะแค่ในพื้นที่ที่เขาอนุญาตให้เราเห็นเท่านั้น เราจึงรับรู้พฤติกรรมของพวกเขาอย่างจำกัด แต่เดี๋ยวนี้เราเห็นผู้ใหญ่ส่งสติ๊กเกอร์ให้กัน คอมเมนต์โต้ตอบกัน หรือไปกดไลก์เนื้อหาอะไรก็ไม่รู้ ตรงนี้มันทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเขาที่ชัดเจน และรอบด้านขึ้น คือไม่ได้มีแค่ด้านของอำนาจ และการสั่งการอย่างเดียว โลกออนไลน์ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ผิดพลาดได้ เห็นว่าพวกเขาก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ

     อย่างเมื่อก่อนเราจะน้อมรับคำสอนของผู้ใหญ่เพราะเราเชื่อว่าเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน เชื่อว่าเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด มีสุภาษิตที่ทำให้เราไม่กล้าตั้งคำถามกับผู้ใหญ่มากมาย แต่ตอนนี้บรรยากาศมันเปลี่ยนไปแล้ว

 

ถึงตอนนี้คุณยังมองว่าผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กๆ น้อยเกินไปอยู่ไหม

     จะพูดอย่างนั้นก็ได้ ดูง่ายๆ เลยอย่างเช่นอายุเลือกตั้ง คนไทยเลือกตั้งได้ตอนอายุ 18 วันก่อนเราเห็นพรรคการเมืองหนึ่งมีแนวคิดลดอายุเลือกตั้งให้ถึง 15 ซึ่งเราว่ามันน่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่า เขาเชื่อในศักยภาพของเด็กแล้ว มันยังเป็นการมองว่า การเมืองเข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตเราตั้งแต่เด็ก

     สังคมเรายังเชื่อว่าความคิดหรือวัยวุฒิของเด็กจะพัฒนาอย่างถึงพร้อมเมื่อถึงช่วงอายุๆ หนึ่ง แต่ลองมองย้อนกลับไปสมัยเราเรียน ม.ปลาย เราพบว่าประเทศเราให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มากๆ เราแบ่งวิทยาศาสตร์เป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่กับวิชาสังคมศึกษา เรากลับไม่แบ่งอะไรเลย มีแค่สังคมศึกษาอย่างเดียว เรียนซ้ำอยู่อย่างนั้นทุกปี ถามว่าแบบนี้มันช่วยพัฒนาสมองเราไหมล่ะ เนื้อหาก็มีแต่เรื่องเดิมๆ จริยธรรม พระพุทธศาสนา หน้าที่พลเมือง หรือประวัติศาสตร์ที่ก็ชาตินิยมมากๆ สุโขทัย อยุธยา คือถ้าเขาบอกว่าอายุ 18 แล้วเราจะมีวัยวุฒิมากพอ แต่ทำไมในระดับ ม.ปลายเรากลับไม่ได้เรียนอะไรที่มันจะพัฒนาให้เรามีศักยภาพในการจะไตร่ตรองได้ดีขึ้นเลย

     บางประเทศเขาสอนวิชาปรัชญาในโรงเรียน แต่คนไทยยังพูดกันอยู่เลยว่าเรียนปรัชญาไปก็พูดไม่รู้เรื่อง คือเราไม่ได้เข้าใจเลยว่าฐานของปรัชญาจริงๆ คืออะไร สังคมไม่ได้เชื่อในการปล่อยให้เด็กพูด เราเชื่อในความคิดแบบวิทยาศาสตร์มากว่ามันต้องมีคำตอบตายตัวในทุกๆ เรื่อง แต่เราไม่เข้าใจว่าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องมีคำตอบตายตัวก็ได้ หรือทุกๆ หลักคิด ทฤษฎี ทุกๆ ความคิดเห็น หรือกระทั่ง common sense เราสามารถตั้งคำถาม หรือล้มล้างมันได้ตลอดเวลา

     เราโตมากับคำพูดที่ว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า กับคาดหวังว่าเด็กจะต้องโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต่ผู้ใหญ่กลับไม่เคยถามเด็กๆ เลยว่า ปัจจุบันพวกเขาอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร อยากรู้อะไร คุณทำในสิ่งที่คุณคิดว่ามันดีกับเขา เพื่อที่เขาจะได้โตมาเป็นผู้ใหญ่เหมือนคุณ เราไม่เคยฟังเสียงของพวกเขาเลย แต่กลับเชื่อว่าสิ่งที่เรามอบให้จะทำให้เด็กๆ เป็นคนดีและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มันเหี้ยมากและมันเศร้ามากเลยนะที่ปัจจุบันของเด็กไม่ถูกให้คุณค่า

 

คาลิล พิศสุวรรณ

 

อย่างนี้ที่เขาบอกกันว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองมันจริงไหม

     ไม่จริงเว้ย (เน้นเสียง) เด็กรุ่นใหม่อยู่กับการเมืองมากกว่าคนรุ่นเราอีกนะ อย่างเพจสัตว์โลกอมตีนที่ล้อประยุทธ์ทั้งวัน ในแง่หนึ่งอาจจะดูไม่มีสาระ แต่นั่นคือการเมืองนะ หรืออย่างเรื่องฝุ่นละอองนี่ก็โคตรจะการเมือง เพราะเด็กในวัย 15-16 ที่แค่เขาต้องหยิบหน้ากากมาปิดหน้า ก็เท่ากับเขาตระหนักและเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองแล้วนะ มันไม่ใช่เขาไม่สนใจ เพราะเขาอยู่กับมัน และผูกพันกับมันมากกว่าคนรุ่นเราด้วยซ้ำ

     คนรุ่นเราอาจจะเคยเฮๆ ไปประท้วงไล่ทักษิณ แต่เด็กรุ่นนี้เขาตระหนักว่านายกเป็นยังไงด้วยตัวเขาเอง มันชัดเจนมากนะ แต่อีกทางหนึ่งมันก็เป็น paradox เหมือนกัน เพราะการที่เราเล่นมีมประยุทธ์ซ้ำๆ ทุกวัน มันทำให้เราชินชาและ normalize เผด็จการหรือเปล่า เพราะการที่เผด็จการมีโอกาสอยู่ได้ไปเรื่อยๆ ในแต่ละวันมันไม่ปกติอยู่แล้ว มันประหลาดมาก เราก็ถามตัวเองว่าทนไปได้ยังไง หรือพอลองอ่านข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศก็ยิ่งรู้เลยว่าประเทศเราเพี้ยน และตลกมาก ตรงนี้เลยบอกไม่ได้เหมือนกันว่า สุดท้ายแล้วบรรยากาศแบบนี้จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ตระหนักกับปัญหา ไปพร้อมๆ กับสร้างความชินชากับเผด็จการกันแน่

 

อย่างการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ลึกๆ เราก็แอบกลัวเหมือนกันว่าจะกลับไปเป็นอย่างเดิม

     แล้วอยากให้เป็นอย่างเดิมเหรอ

 

โห ใครจะไปอยาก

     ใครจะอยาก เรารู้สึกว่า แค่ความคิดไม่อยากจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมนี่มันทรงพลังมากเลยนะ อย่างยุคเรา เราได้ยินมาว่าเผด็จการย่ำแย่ แต่เราไม่เคยเห็นเผด็จการที่มันบัดซบจริงๆ เท่ากับตอนนี้ รัฐบาลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากที่จะแสดงให้เห็นว่า เผด็จการแม่งเหี้ยจริงๆ มันล้มเหลว ห่วยแตก ไม่สมควรจะมี ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็อาจมีสำนึกว่าเขาไม่อยากกลับมาเป็นแบบนี้อีกแล้ว เราไม่รู้ว่าประยุทธ์จะอยู่ในอำนาจได้อีกกี่ปี แต่เราเชื่อว่าเสียงของเด็กตอนนี้มันจะเข้มแข็งขึ้น พวกเขาตระหนักมากกว่าคนรุ่นเราแล้วว่าไม่อยากให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ไม่ได้มีภาพจำว่าทหารคือความเข้มแข็ง ความสงบ การพิทักษ์ประเทศอีกแล้ว แต่ทหารคือคนอย่างประยุทธ์ จันทร์โอชา

     เราว่าการที่เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเห็นประเทศกลับมาเป็นสภาพนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ทรงพลังมากพอ และช่วยให้เรามีความหวังว่าอย่างน้อยๆ มันจะช่วยให้คนระมัดระวังกับความคิดกันมากขึ้น ตั้งคำถามกันมากขึ้น สมมติว่าในอนาคตเกิดมีการเดินขบวนอะไรขึ้นมา เราเชื่อว่าคนอาจจะไม่เฮโลไปเดินทันที แต่จะหยุดถามตัวเองก่อนว่า กูจะไปทำไมวะ สุดท้ายจะไปหรือไม่ไปมันไม่เกี่ยว ขอแค่คิดก่อนว่า ทำไมเขาต้องไป แค่นี้เราว่าก็เป็นความหวังแล้ว

 

ในทางกลับกัน คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวของเด็กๆ ยุคนี้มีเรื่องอะไรที่ควรตั้งคำถามไหม

     เราว่าบางครั้งมันก็มีการสร้างภาพให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ร้ายมากไปหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ใหญ่ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน อาจจะมีหลายคนที่หวงแหนอำนาจ แต่เราไม่ก็ควรเหมารวมคนอายุมากกว่าทุกคนเป็นศัตรูไปหมด ลองคิดว่าในยุคนี้ที่เด็กๆ ยังโดนกีดกันไม่ให้มีปากมีเสียง แต่พอถึงวันที่เด็กรุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจ การจะไปไล่ปิดป้ายผู้ใหญ่เป็นวายร้ายแล้วปิดปากพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ผู้ใหญ่เคยทำไว้

     เราไม่ได้อยากอยู่ในสังคมที่สุดท้ายต่างผลักกันและกันออก แต่เป็นสังคมที่ให้พื้นที่และเคารพเสียงซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ คนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าก็ตาม เรารู้สึกว่าทุกเสียงมีค่า อย่างในชีวิตเราก็มีผู้ใหญ่หลายคนที่ยินดีจะรับฟัง และไม่ได้ตัดสินว่าเราเป็นแค่เด็กนะ