สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

‘เฮียฮ้อ’ – สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์: Kamikaze การกลับมาของตำนานที่ไม่ยอมตาย

“คนคุยกับเราแล้วชอบนึกถึงเพลง” 

        นี่คือสาเหตุหลักของการรีแบรนดิ้งครั้งยิ่งใหญ่ของ RS จากปากของผู้บริหาร และผู้ก่อตั้งค่ายเพลงที่อยู่คู่กับวัยรุ่นยุค 90s และสังคมไทยมานานมากกว่า 20 ปี แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงทราบแล้วว่า RS นั้นไม่ใช่บริษัทที่ทำธุรกิจเพลงเป็นหลักอีกต่อไป เมื่อธุรกิจมากกว่า 70% ของ​ RS เปลี่ยนไปเป็น commerce จนมีรายได้มหาศาลแม้ในช่วงโควิด-19 

        การรีแบรนด์อาจเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่าแปลกใจอะไรนักในวงการธุรกิจ เพราะหากคุณต้องการที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กร การรีแบรนด์ย่อมจำเป็น และในวันที่ RS ไม่ได้โดดเด่นในเรื่องการทำเพลงแล้ว ภาพลักษณ์ RS เดิมก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

        แต่แล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา RS ภายใต้การบริหารของเฮียฮ้อ กลับปลุกตำนานค่ายเพลงของเด็กยุค 90s และยุค 2000 อย่าง RoseSound และ Kamikaze เพื่อที่จะลุยตลาดเพลงอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

        หากการรีแบรนด์ครั้งนี้เป็นการทำเพื่อไม่ต้องการให้ภาพจำของ RS เป็นธุรกิจเพลง แล้วการที่นำตำนานความสำเร็จของตัวเองในอดีตกลับมาทำใหม่นั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่ และค่ายเพลงขวัญใจเด็กแนวอย่าง Kamikaze ภายใต้แบรนด์ RS ใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีเป้าหมายอะไร โดยเฉพาะสำหรับผู้ชายคนนี้ ‘เฮียฮ้อ’ – สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

 

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

การกลับมาทำเพลงครั้งนี้ของ RS จะเป็นอย่างไรบ้าง

        จะมีการปรับ positioning นิดหน่อยของอาร์สยามที่ทำอยู่แล้ว ให้มีความเป็นเพลงของคนเมืองมากขึ้น แล้วก็จะมี RoseSound ที่เราจะเรียกว่าเป็นค่ายเพลงที่เปิดใหม่ ในสไตล์ ‘เทรนดี้มิวสิก’ เป็นเพลงที่ฟังสบาย RoseSound เนี่ยมีความหลังกับเฮียมาก เพราะว่าเป็นแบรนด์แรกที่เฮียทำค่ายเพลงตอนอายุ 19 

        เมื่อก่อนคนมักจะเข้าใจว่าเราคือ RS Sound แต่จริงๆ แล้ว RS มาจากคำว่า ‘RoseSound’ วันนี้เราก็เลยนำกลับมาปัดฝุ่นทำใหม่ แล้วก็มี Kamikaze ที่ภาพลักษณ์ก็ชัดอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เราไม่ได้เจาะตลาดวัยรุ่น เราเรียกว่าเป็นแนวเพลง ‘ป๊อปมิวสิก’ เสียดีกว่า

ก่อนหน้านี้ RS ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นไปได้ด้วยดีอยู่แล้ว ทำไมจู่ๆ ถึงกลับมาทำเพลงเหมือนเมื่อก่อน

        จริงๆ ต้องบอกแบบนี้ครับ ว่าเพลงเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นมากับ RS อยู่แล้ว สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามเราอย่างต่อเนื่องก็จะคิดว่าเราเลิกทำเพลงไปแล้วในหลายปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วเราไม่เคยเลิกนะ ธุรกิจเพลงยังอยู่กับเราอยู่ตลอด เพียงแต่มันมีการปรับตัวไปในแต่ละช่วง เพราะว่าธุรกิจเพลงนั้นเป็นธุรกิจที่ถูก ‘ดิสรัปต์’ มาตลอด ก่อนที่คำว่า ‘ดิสรัปต์’ จะมาฮิตกันซะอีก ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักคำนี้กันเลย 

        คนที่ทำธุรกิจเพลงเลยต้องดิ้นรนให้อยู่รอด ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นส่วนที่ดีที่ทำให้เราถูกฝึกอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะฉะนั้น ธุรกิจเพลงจึงไม่เคยจางหายไปจาก RS แค่ช่วง 5-10 ปีหลัง เราได้ทำการปรับสเกลให้มันเล็กลง สร้างโมเดลที่ทำให้เพลง ‘อยู่ได้’ ในมุมมองธุรกิจ 

        คือการปรับตัวเป็นจุดเด่นของ RS อยู่แล้ว และก็เป็นวิธีการทำงานหลักของเฮียด้วย วันนี้เราคิดว่าสภาพแวดล้อมของคนฟังกับการทำธุรกิจเพลงของ RS มันเหมาะสมที่จะทำให้บริษัทของเรา ก็เลยคิดว่าจะกลับมารุกในธุรกิจเพลงแบบจริงจังอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกัน

คนปัจจุบันมีความพิถีพิถันในการเสพเพลงมากขึ้น แล้ว RS จะไปอยู่ตรงไหนในใจผู้ฟัง

        ต้องบอกว่าเหตุผลที่เรากลับมาทำธุรกิจเพลงในวันนี้มีอยู่ 3-4 ประการ 

        ประการแรก คือเราคิดว่าการที่ RS มีกลยุทธ์หลักขององค์กรที่เรียกว่า ‘Entertainmerce’ ปัจจุบัน RS ทรานสฟอร์มจนมีสัดส่วนของธุรกิจคอมเมิร์ซมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เพลงเราก็ยังทำอยู่ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย ในวันที่เราคิดว่าคอมเมิร์ซเราแข็งแรงแล้ว เราก็เลยเลือกที่จะทำธุรกิจเพลงภายใต้คอนเซ็ปต์ใหญ่ขององค์กรด้วย โมเดลเพลงของ RS ที่พยายามจะทำต่อจากนี้ เราจะเรียกว่า Music Star Commerce ซึ่งเป็นการที่เอาธุรกิจเพลงกับศิลปินมาเชื่อมโยงกับธุรกิจคอมเมิร์ซให้ได้ มุมแรกนี่คือมุมมองของธุรกิจ

        ประการที่สอง เฮียมองว่าทุกวันนี้ ช่องทางการฟังเพลงของคนมันหลากหลาย ดังนั้นการทำธุรกิจเพลงหรือการสร้างศิลปินสักคนในวันนี้ โจทย์มันเลยหลากหลายตาม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตั้งโจทย์กับมันยังไง ความสำเร็จของการทำเพลงหรือของศิลปินมันแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ว่าสมัยก่อนเราวัดความสำเร็จของศิลปินเพียงอย่างเดียวคือ ‘ถ้ายอดขายดี นั่นคือสำเร็จ นั่นคือตัวชี้วัด’

        แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ปัจจุบันมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะตั้งเป้าหมายกับศิลปินของเราไว้ยังไง ศิลปินบางคนวัดกันที่ยอดวิว หรือบางคนวัดกันที่ทำยังไงให้เขาเป็นที่สนใจ และถ้าเขามีผู้ติดตามเยอะ เขาก็จะกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ทรงพลัง ดังนั้น ศิลปินทุกวันนี้เขาจึงไม่ใช่เพียงแค่ศิลปินเท่านั้น บางคนใช้การเป็นศิลปินเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ตัวเองกลายเป็น ‘media’ ดังนั้น เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาทำธุรกิจเพลง สร้างศิลปินใหม่อีกครั้ง

        ส่วนเรื่องของการฟังเพลงที่หลากหลายของคนในสมัยนี้ เฮียมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เราบอกว่าเราเป็นป๊อปมิวสิก แต่เราไม่ได้เจาะแค่ตลาดวัยรุ่น Kamikaze ของเราก็คือเพลงป๊อปนี่แหละ คนฟังอาจจะเป็นวัยรุ่นก็ได้ หรืออาจจะโตขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง เพลงที่อยู่ในกลุ่มของป๊อปมิวสิก เราจะมองว่าเป็นทางของ Kamikaze มันก็จะทำให้เรามีแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น

 

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

คุณตั้งโจทย์กับศิลปินของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

        ศิลปินแต่ละคนเฮียก็ตั้งไว้แตกต่างกันไป วันที่เราจะเปิดค่ายใหม่อีกครั้งเนี่ย ศิลปินบนโมเดลใหม่ทั้ง 9 คน จะมีโจทย์และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน แต่มีปลายทางที่เหมือนกัน เราคาดหวังว่าเขาจะกลายเป็นศิลปินที่มีแฟนเพลงติดตามและให้ความสนใจ เพราะต้องการให้เขากลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในการที่เราจะเอาไปเชื่อมโยงกับธุรกิจคอมเมิร์ซที่เรายึดเป็นหลักได้

คุณเคยบอกว่าเป็นคนตัดสินใจในว่าเพลงไหนดีหรือไม่ดี สำหรับค่ายของคุณ กลับมาครั้งนี้คิดว่าตัวเอง ‘เอาอยู่’ อยู่หรือเปล่า

        ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่ เวลาที่ทีมเอาเพลงมาเสนอ เราก็ยังบอกได้เสมอว่า อันนี้ต้องแก้อย่างนี้เว้ย เพลงนี้ฮุกดี AB ไม่ดี เราก็จะใช้ฟีลลิงของเราในการตัดสินใจ ทีมงานที่ทำงานก็จะเข้าใจตรงกัน คำถามที่ว่าเอาอยู่ไหม เฮียบอกได้เลยว่า ‘สบาย’ ทุกวันนี้เฮียยังฟังแร็ปได้ ฟังเฮาส์ได้ เฮียฟังเพลงหลากหลายมากๆ เพลงวัยรุ่นเฮียก็ชอบซาวนด์ใหม่ๆ ลองกลับไปฟังดูว่า เพลงยุค 90s RS บางเพลงซาวนด์ยังล้ำกว่าเพลงยุคนี้เลย แร็ปเตอร์ เจอาร์-วอย ซาวนด์ยังอินเทรนด์อยู่เลย ถ้ามองว่าเกือบ 20 ปี เฮียทำเพลงแนวนี้มาตลอด เราไม่ได้หลุดไปเลย เฮียก็คิดว่าเฮียทำได้ เหมือนเราคุยกับเด็ก ทำงานกับเด็ก เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างกัน

แสดงว่าอาจจะเห็นศิลปิน RS ไป collaborate กับค่ายอื่นได้แล้วใช่ไหม เพราะเมื่อก่อนจะเห็นว่าค่ายเพลงนี้กับค่ายเพลงนั้นจะไม่ค่อยถูกกัน

        ต้องบอกว่าบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว สภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไปหมด ในอดีต ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะเห็นได้ชัดว่า RS กับ Grammy เป็นคู่แข่งกัน จนหลายๆ คนมองว่าเป็นศัตรูกันไปเลย แต่ถ้าถามว่าในยุคนั้นจะเป็นต้องแข่งขันก็ขนาดนั้นไหม

        คำตอบก็คือ ‘จำเป็น’

        เพราะการขายมากขึ้นของค่ายหนึ่งจะทำให้ไปกิน market share ของค่ายตรงข้าม ซึ่งยุคนั้นมันเป็นแบบนั้น ถ้าไอ้นี่ขายได้ ไอ้นั่นจะหาย การแข่งขันมันเลยดุเดือด แต่หลังจากโลกยุคดิจิตอลเข้ามา ซีดีมันหายไปจากตลาด มันเลยไม่เกี่ยวกันละ การแข่งขันไม่ได้ถูกจำกัดโดยช่องทาง เพราะเมื่อก่อนมันถูกแข่งขันโดยช่องทางไง คุณจะฟังเพลงของใคร ก็จะเลือกสื่อของฝั่งนู้นเท่านั้น 

        ถ้าพูดในมุมมองของการทำธุรกิจ และการทำมาร์เกตติ้งยุคนั้น เราเป็น ‘ผู้ส่ง’ ฝ่ายเดียว ผู้บริโภคเป็น ‘ผู้รับ’ แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว ผู้บริโภคเป็น ‘ผู้เลือก’ คุณแค่วาง ยกตัวอย่างศิลปินอิสระคนหนึ่ง เขาแค่วางบนยูทูบ บนโซเชียลฯ เพราะฉะนั้น มันไม่มีความแตกต่าง ตัวผลงานเพลงต่างหากที่จะสร้างความแตกต่างได้ ชักจูงผู้บริโภคให้มาหาได้ ดังนั้น การแข่งขันมันเลยเปลี่ยนไปแล้ว

RS ก็จะเป็นคนแรกๆ ที่เลือกที่จะทำ streaming media ต่างๆ แล้วมันก็คาบเกี่ยวเลยจนมาเป็น KKBOX, Apple Music, Spotify ระยะเวลาที่ผ่านมา คุณเห็นความชัดเจนอะไรบ้างในธุรกิจเพลง

        เอามุมธุรกิจก่อน เมื่อกี้บอกว่าธุรกิจเพลงจะเป็นธุรกิจที่โดนดิสรัปต์มากที่สุด อย่างตอนที่เฮียกำลังจะเข้ามาทำธุรกิจเพลง คือเฮียมาในยุคเทปคาสเซ็ตกำลังบูม และกำลังจะไป อยู่ได้แป๊บเดียวซีดีก็เข้ามาแล้ว อยู่ได้ยาวระยะหนึ่งก็เจอพวกเอ็มพีสาม ดาวน์โหลดเพลง เข้ามาแล้ว แล้วก็เข้ามาในยุคสตรีมมิง 

        คือแต่ละช่วงมันสั้นมาก แล้วก็จะมีความพยายามในการเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างเช่นพวก KKBOX Spotify แต่บางอย่างมันก็มาเร็วเกินไป ผู้บริโภคยังไม่พร้อมที่จะรับ คนทำธุรกิจก็ลำบาก การจะทำอะไรสักอย่างที่เรายังไม่ทันที่จะตั้งหลักได้เลยมันก็เปลี่ยนแล้ว มันก็ลำบาก ก็เลยคิดว่าเราถอยดีกว่า

        แล้วในแง่ของผลตอบแทนมันก็ยากจริงๆ ช่วงนั้นการจะหาผลตอบแทนให้กับศิลปินก็ลำบาก เพราะถ้ายอดขายซีดีไม่มี เขาก็ไม่มีส่วนแบ่ง ค่ายอยู่ไม่ได้ งานโชว์อย่างเดียวมันก็ไม่ได้ ค่ายมันเลยต้องปรับตัวมาเรื่อยๆ 

        วันนี้ต้องยอมรับว่าในวันที่ประชาชนเกือบทั้งหมดคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว อีกทั้งในวันที่โทรศัพท์มือถือเนี่ยมันคือทุกอย่าง มันคือเครื่องฟังเพลง มันก็เลยทำให้การสตรีมมิงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง การฟังเพลงมันก็ง่ายขึ้น เราก็เลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะกลับมา 

อยากรู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ RS ทำอย่างอื่นด้วย

        จริงๆ RS ทำหลายอย่างอยู่แล้วทำ เพลง มีเดีย ทีวี วิทยุเราก็ทำ อีเวนต์เราก็ทำเราเคยไปทำกีฬาด้วย ฟุตบอลโลก 2 สมัย บอลยูโร 2 สมัย ลาลีกาสเปน แต่อันนั้นก็อยู่ในหมวดมีเดีย และเอนเตอร์เทนเมนต์ วันที่เรากระโดดเข้ามาทำคอมเมิร์ซ ก็ประมาณสัก 6 ปีที่แล้ว

มันเหมือนเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปเลย มีการปรับตัว ให้กับทีมยังไงให้เร็วได้ขนาดนี้ เพราะ RS เป็นองค์กรที่ใหญ่แต่ก็เร็วมาก

        อย่างแรก พวกเราเจอเรื่องการดิสรัปต์มาตลอดจากธุรกิจเพลง ดังนั้น การปรับตัวเนี่ย มันเป็นคาแรกเตอร์ของตัวเฮียเลย เฮียเป็นคนปรับตัวเร็ว ด้วยสภาพแวดล้อมด้วย เด็กสมัยนี้ด้วย เราไม่เคยกลัว เราพร้อมที่จะปรับอยู่ตลอดเวลา พอเราทำตัวแบบนั้นมันก็เลยทำให้ทีม RS ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาด้วยเหมือนกันเพื่อให้ทันกับเฮีย

        เรื่องที่สอง เราเป็นคนชอบแสวงหาโอกาส ดังนั้น เวลาเราทำธุรกิจ เราจะมองเทรนด์ว่าอะไรกำลังจะมา สังเกตได้ว่าเราจะเป็น first move เสมอ อะไรที่รู้สึกว่าไม่ค่อยดี เราก็จะเป็นคนแรกๆ ที่ถอย แต่อะไรที่มันน่าสนใจเราจะเป็นคนแรกๆ ที่เข้าไปลอง ดังนั้น จะเป็นเหมือนกับ culture ของเรา ทีมของเราก็จะเป็นแบบนั้น คนนอกอาจจะมองว่าทำไมมันเร็วขนาดนี้ แต่ว่าจริงๆ มันเป็น culture ของเราอยู่แล้ว 

        เรื่องต่อไปคือ ทำไมองค์กรเรามันถึงเร็ว องค์กรของ RS เฮียจะออกแบบให้มันเป็นลักษณะ flat ตลอดเวลา สิ่งที่เฮียเน้นอยู่เสมอคือ ‘สปีด’ เมื่อไหร่ที่เฮียรู้สึกว่ามันเริ่มเร็ว ไม่ได้ดั่งใจแล้ว เฮียก็จะเปลี่ยน re-organize chart องค์กรใหม่ทันที ปลายปี 2562 ก็เพิ่งจัดโครงสร้างใหม่ไป ซึ่งมันเร็วอยู่แล้วนะ แต่มันไม่ค่อยได้ดั่งใจ มันเห็นอุปสรรค เฮียก็เลือกที่จะเปลี่ยนมันซะ 

        การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคนกับองค์กร หลายๆ คนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แต่กับที่นี่เป็นเรื่องไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนที่อยู่ได้ก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องสนุก เพราะมีเรื่องท้าทายใหม่ๆ ให้คิดให้ทำตลอดเวลา แต่ก็มีคนที่อยู่ลำบากเพราะว่าไปกับองค์กรไม่ได้ปรับตัวลำบาก ปรับตัวไม่ทัน

แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณเลือกคนเข้าทำงาน หรือว่าคนในองค์กรของคุณต้องมี

        ถ้าเป็นผู้บริหารระดับกลางขึ้นมาเฮียจะนั่งสัมภาษณ์ด้วย ถ้าเป็นระดับอื่นจะเป็นหัวหน้าฝ่ายนั้นเลือกกันเอง เฮียจะชอบเลือกคนฉลาด อันนี้อาจจะเป็นแค่กับเราคนเดียวนะ อาจจะไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง เวลาเราคุยเลือกคน เฮียไม่เคยสนใจเลยว่าคนคนนั้นเรียนอะไรมา ได้เกรดอะไร หรือผ่านอะไรมาเลย เวลาดูเรซูเมจากคนที่เข้าสมัครที่ทำงานเก่าของเขา เฮียก็ให้ความสำคัญน้อย เฮียชอบคุยกับคนฉลาด เพราะคนฉลาดเขาก็จะปรับตัวเร็วไง

คนฉลาดคุยกันอย่างไร

        เวลาเราคุยกับใคร แป๊บเดียวเราก็รู้แล้วว่ากำลังคุยกับคนฉลาดหรือว่าคนโง่ อย่างแรก เฮียบอกเลยว่าการศึกษาไม่ได้บอกอะไร เพราะว่าเดี๋ยวนี้หลายๆ สิ่งที่เราเรียนมันไม่ตรงกับสิ่งที่เรามี การที่เราจะหาคนเข้ามาทำงาน มันไม่มีการสอนแล้วไง มันไม่เหมือน 20 ปีที่แล้ว ที่ถ้าผมจะหาครีเอทีฟ ผมจะหาฝั่งนิเทศ หรือเรียนภาพยนตร์มา แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเรียนเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการมองเฉยๆ 

        หรืออย่างที่ทำงานเก่าเฮียก็ให้ความสำคัญน้อย จริงๆ คนที่อยู่ในองค์กรเก่าแล้วสำเร็จ มันก็อาจจะไม่ได้มาสำเร็จที่นี่ เพราะแต่ละองค์กรก็มีวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เหมือนกัน แล้วเฮียเจอบ่อยด้วย สมมติว่าบางคนประสบการณ์ทำงานเยอะมากเลย แต่พอมาอยู่ RS บางทีอยู่ได้ไม่พ้นโปรฯ เลย มันไม่ใช่เรื่องเก่งไม่เก่งนะ แต่เป็นเรื่องคนเขาเคยอยู่ที่หนึ่งแล้วโอเค พอมาอีกที่หนึ่งอาจจะไม่โอเคก็ได้ ไม่ใช่แค่ RS อย่างเดียว

        เราจะเห็นผู้บริหารบางคนที่เคยทำงานไว้เก่งมากเลย แต่พอย้ายไปทำงานเป็นซีอีโอที่หนึ่ง คนคาดหวังมากว่าจะนำพาองค์กรไปได้ดี เพราะเขาเจ๋งมากเลย แต่ก็ไปไม่รอด มันมีหลายองค์ประกอบ วันนี้เฮียเลยให้เรื่องปรับตัวเนี่ยเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในยุคนี้ หรือการทำธุรกิจในยุคนี้เลย การเลือกคนในยุคนี้เฮียก็จะเลือกคนฉลาด และคนที่มีไหวพริบ

คุณกำลังจะบอกว่าคนสมัยนี้ต้อง multi-skill มากกว่า

        Single skill อยู่ลำบาก เอาง่ายๆ ชิ้นงานบันเทิงคอนเทนต์หนึ่งอาจจะใช้คนประมาณ 4-5 คน เขียนบท คนถ่าย ตัดต่อ ลงเสียง แต่เดี๋ยวนี้คนเดียวทำเองได้หมด โดยไม่จำเป็นต้องเด่นทางใดทางหนึ่งด้วยซ้ำ แค่มองภาพรวมแล้วเข้าใจก็รู้แล้วว่าต้องเป็นยังไง ทำอะไรบ้าง แล้วการที่คนเดียวทำทุกอย่างมันดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเขาเข้าใจว่าชิ้นงานของเขาเป็นยังไง เขาจะรู้ตั้งแต่ต้นว่าควรจะเขียนสคริปต์ยังไง ถ่ายยังไง ตัดต่อยังไง และจะออกมาเป็นยังไง คนใน RS จึงจำเป็นตองมีหลายทักษะ

คุณมีการขัดเกลาคนอย่างไรบ้างให้ได้แบบนี้

        คือการที่ให้องค์กรมาเกลาคนแบบนี้มันยาก มันต้องเดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะตั้งแต่ระดับเฮียลงไป หรือตั้งแต่ระดับแถวที่สอง คือมันหมดยุคที่หัวหน้าจะมาสั่งลูกน้องตลอด หรือลูกน้องจะมารอความช่วยเหลือจากหัวหน้าตลอด แบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นโค้ชที่ดี และพนักงานต้องเป็นผู้เล่นที่ฉลาดที่จะเล่นตามที่โค้ชแนะ ถ้าเปรียบเทียบกับฟุตบอล 

        นักฟุตบอลที่เก่ง คุณคิดว่าเขาเก่งเพราะโค้ชหรือว่าเพราะตัวเขา? มันก็ทั้งสองส่วนประกอบกัน ตัวเขาต้องมีพรสวรรค์ มีพรแสวง และต้องเจอผู้จัดการที่โค้ชชิงเก่งๆ ก็จะดึงศักยภาพเขาออกมาได้

แสดงว่าการขัดเกลาพนักงานของคุณคล้ายกับเสือที่คาบลูกทิ้งลงไปในเหวหรือเปล่า

        ก็ไม่ขนาดนั้นนะ (ฮา)

แล้วตัวคุณขัดเกลาตัวเองอย่างไรบ้าง

        อ่านหนังสือเยอะๆ แต่ทุกวันนี้ก็อ่านน้อยลง เพราะเดี๋ยวนี้ใช้อีบุ๊กมากขึ้น

 

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

หนังสือที่คุณชอบอ่านเป็นแบบไหน เดี๋ยวนี้หนังสือฮาวทูเยอะมาก คุณคิดว่าช่วยในการพัฒนาตัวเองบ้างหรือเปล่า

        หนังสือฮาวทูก็ดีนะ เฮียก็อ่านนะ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าฮาวทูเนี่ยมันเป็นฮาวทูของใคร แต่เฮียชอบอ่านประวัติและวิธีคิดของคนมากกว่า คนเก่งถ้าเขาคิดแล้วเขาอ่านยังไง เราก็ควรจะอ่านตามเขา อย่างคนดังๆ ต่างประเทศ ถ้าเราคิดว่าคำพูดเขามีความหมาย ความคิดของเขาก็ต้องมีความหมายเหมือนกัน 

ตอนนี้สนใจประวัติชีวิตใครอยู่

        ตอนนี้เพิ่งซื้อหนังสือของ ทิม คุก มา แต่ไม่ใช่ประวัติเขานะ มันเป็นวิธีคิดเสียมากกว่า แต่ส่วนตัวเฮียชอบ สตีฟ จ็อบส์ มากกว่า แต่เพราะว่าสองคนนี้เขามีวิธีคิดกันแบบคนละขั้วกันเลย ตอนที่ สตีฟ จ็อบส์ เสีย คนจะคิดว่า Apple คงไปไม่รอดแล้ว แต่สุดท้ายแล้ว ทิม คุก เขาก็มองได้ว่า Apple จะอยู่ยังไง 

        ตอนแรกก็สงสัยว่า Apple จะทิ้งความเป็น innovative แล้วไปเน้นเรื่องกำไรอย่างเดียวไหม เพราะ ทิม คุก เขาก็เป็นนักการเงินมาก่อน วันนี้เขาก็พิสูจน์แล้วว่าเขาทำทุกอย่างที่เคยสร้างไว้ดีให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวเลขก็ดีด้วย มันก็มีอะไรที่น่าค้นหาสำหรับวิธีคิดของเขา

        แล้วก็หาหนังสือฮาวทูอ่านเหมือนกัน มันมีเรื่อยๆ เพราะว่าพรุ่งนี้มันก็มีเรื่องใหม่ๆ ให้คุณเรียนรู้แน่ อาทิตย์หน้า ยังไงก็ต้องมีแน่ มันนิวนอร์มอลทุกวัน

คุณยัง active ในทวิตเตอร์เหมือนเดิมไหม

        ก็มีเล่นบ้าง เพราะโซเชียลฯ อย่างเดียวที่เล่นก็คือทวิตเตอร์ ส่วนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เฮียไม่เล่น คือเราอ่านที่คนเข้ามาพูดเกี่ยวกับเราหมดนะ แต่เฮียก็ไม่ได้ตอบสนอง เฮียคิดว่ามันก็อยู่ที่เราจะเลือกเสพยังไง 

เมื่อมีค่ายเพลงกลับมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์มันต้องกลับมาแน่ๆ คุณมีแผนจะรับมืออย่างไรบ้าง

        อ๋อ เฮียเฉยๆ 

        คือเรื่องบางเรื่องก็ไม่ต้อง take action ทุกเรื่อง อย่างที่สองคือ ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันเปิดกว้างแล้ว ใครก็แสดงความคิดเห็นได้ ความเห็นนั้นจะถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ไม่เป็นไร ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ถ้าเรามองในแง่ธุรกิจถือว่าเราสำเร็จแล้ว 

        เมื่อก่อนถ้าเขาว่าเขาอาจจะไม่ซื้อ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ คุณไม่ต้องซื้อ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ชอบ แต่คุณก็ตามเด็กผม คุณก็กลายเป็นลูกค้าของผมทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว วันนี้บริบทมันเปลี่ยนไปแล้วครับ เราก็ต้องเปลี่ยนให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่คนที่รักเท่านั้นที่จะมีมูลค่าให้กับศิลปิน คุณคิดว่าคนที่ตามซูเปอร์สตาร์คนหนึ่ง 3 ล้านคน คิดว่าคนพวกนั้นรักเขาหมดเหรอ ถูกไหม อาจจะครึ่งหนึ่งเกลียดก็ได้ แต่สำหรับเขาแล้ว 3 ล้านนั้นเป็น value มันจะต่างกันนะกับเมื่อก่อน 

        ตอนยุคซีดีเนี่ย คนที่ไม่ซื้อคือไม่ชอบแน่นอน คนซื้อคือคนที่รัก แต่สำหรับเดี๋ยวนี้ คนที่รักอาจจะมีแค่ 1 ล้านนะ อีก 2 ล้านที่เหลือคือหมั่นไส้ คอยตามคอมเมนต์ ดาราบางคนต้องการให้ทัวร์ลงด้วย บางคนเขาตั้งใจ เพราะบางคนทำเรื่องดีๆ แล้วโลกไม่ค่อยจำ เลยต้องทำอะไรที่มันคันๆหน่อย มันก็อยู่ที่ใครต้องการอะไร เขาก็จะวางตำแหน่งเขายังไง

        ผมเปรียบเทียบง่ายๆ อย่างเมื่อก่อน พระเอกหนังเท่านั้นที่คนจะสนใจ แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น แบดบอยคนก็สนใจ มันอยู่ที่คาแรกเตอร์ด้วยว่าคุณจะกำหนดคาแรกเตอร์ไว้ยังไง

คุณเป็นคนที่ค่อนข้างมองอะไรแล้วมองขาด คิดว่าอะไรเป็นจุดอ่อนของตัวเองและ RS 

        เอาจุดอ่อนเฮียละกันนะ ซึ่งก็คิดว่าเป็นจุดดี แต่คนรอบข้างชอบเตือน เฮียว่าเฮียเป็นคนที่ทำอะไรเร็วเกินไป คิดเร็วทำเร็ว ซึ่งมันเป็นนิสัย บางทีก็เร็วเกินไป แก้ยาก อีกอย่างคือไม่ค่อยชอบเรื่องจุ๊กจิ๊ก เรื่องใส่ใจรายละเอียด แต่อันนี้เฮียแก้ได้ โดยการหาคนที่เฮียไว้ใจมาจัดการตรงนี้แทน อันนี้เป็นสองอย่างที่คิดว่าเป็นจุดอ่อนเฮียนะ

        ในส่วนของ RS ทุกวันนี้ก็อยู่ในจุดที่ตัวเองพอใจแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ แต่มันก็คือธุรกิจ ซึ่งธุรกิจมันหยุดไม่ได้หรอก

งั้นถ้าบอกว่าหยุดไม่ได้แล้ว หลังจากที่มีตึกนี้ที่เป็นหนึ่งหลักไมล์ของความสำเร็จ ในอนาคตข้างหน้าอยากทำอะไรอีกไหม

        ถ้าฝันแบบใกล้ๆ ก็อยากให้ RS มีรายได้หมื่นล้านภายในไม่เกิน 5 ปีนี้ แต่ถ้าทำได้เราก็จะปรับเป้าหมายใหม่ เพราะถ้ามันไม่มีเป้าหมายใหม่ๆ มันก็ไม่มีแรงขับเคลื่อนให้กับชีวิตเราและองค์กร

ขอหลักการคร่าวๆ ในการพัฒนาแบรนด์หน่อย ในฐานะที่ RS เพิ่งรีแบรนด์ใหม่มา

        ถ้าพูดถึงเกี่ยวกับแบรนด์ RS นะ จริงๆ คิดมานานแล้วในการรีแบรนดิ้งธุรกิจ RS เฮียคิดไว้ประมาณ 3 ปีแล้ว พอถึงวันที่เราสำเร็จในการทรานสฟอร์มธุรกิจเป็นคอมเมิร์ซ แล้วมันมีอุปสรรคหนึ่งที่เราเจอแล้วมันแก้ยาก แม้รายได้มากกว่า 60% ของ RS จะมาจากคอมเมิร์ซก็คือ

        ‘คนที่คุยกับเราแล้วมันชอบนึกถึงเพลง’ 

        เพราะเราอยู่กับคน อยู่กับสังคมมานาน เราก็เลยคิดว่าเราควรที่จะรีแบรนด์ ในขณะที่กำลังสร้างตึกที่นี่ด้วย เลยวางแผนไว้ว่า ในวันที่มาอยู่ที่ตึกนี้ เราก็จะใช้ตึกนี้ในการรีแบรนด์ RS ไปทีเดียวเลย 

        เราก็เตรียมเรื่องของรีแบรนด์ เรื่องการปรับ CI และเรื่องของโลโก้ เราเลือกทีมที่ลอนดอน ชื่อว่า Pentagram เป็นบริษัทระดับโลก สาเหตุในการเลือกก็มีอยู่ 2 อย่าง ก็คือ หนึ่ง Pentagram เป็นบริษัทที่เก่งมาก และสอง คือต้องการคนที่ไม่รู้จัก RS มารีแบรนด์ให้ เพราะในอดีต RS รีแบรนด์โดยใช้บริษัทในไทย ไม่ว่าเขาจะเก่งแค่ไหน มันก็ไม่เคยหลุดออกจากกรอบเดิมไปได้เลย เพราะ ‘เขาโตมากับ RS’  ไง 

        ตอนที่เราไปคุยกับบริษัทข้ามชาติ เขาไม่รู้จักเรามาก เขาก็จะดูแค่ว่าตอนนี้บริษัทเราเป็นยังไง vision, mission บริษัทเป็นยังไง purpose บริษัทคืออะไร การสร้างแบรนด์ของเราในวันนี้ก็คือ การที่เราทำทุกมิติ แบรนด์ที่ดี มันต้องจับต้องได้ เข้าถึงและเข้าใจ และที่สำคัญ เราต้องทำทั้งคนในและคนนอก เพราะคนในนี่แหละเป็นคนที่ represent แบรนด์ใหม่ของเราได้ดีที่สุด 

Kamikaze เมื่อก่อนเคยติดลมบนไปแล้ว แล้วถ้าเกิดผลตอบรับของมันออกมาไม่ได้ดีเหมือนที่คิด จะทำอย่างไร

        มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว วันแรกที่เฮียคิดจะเริ่มทำเพลงอีกครั้ง ใครๆ ก็ถามว่าเฮียจะเอานักร้องเก่าออกมาร้องเพลงเหรอ ต้องบอกเลยว่า ไม่ใช่ เพลงมันคือสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมของยุคนั้นๆ เพราะฉะนั้น การทำเพลง RoseSound ในวันนี้ก็คือการทำเพลงให้คนในยุคนี้ฟัง ด้วยศิลปินในยุคนี้ ดังนั้น Kamikaze วันนี้ก็คือ Kamikaze ในวันนี้ จะไปเทียบกับ Kamikaze ในยุคนั้นได้ไหม มันก็ไม่ได้ ของบางอย่างมันเท่ในวันนั้นเท่านั้น เพราะว่าเพลงมันเป็นวัฒนธรรมในช่วงนั้นๆ เพราะฉะนั้น มันก็วัดกันไม่ได้ เทียบกันไม่ได้ 

        แล้วก็วัดไม่ได้ด้วยว่ามันเคยเจ๋งขนาดนั้น มันเคยติดลมบนขนาดนั้น วันนี้มันจะติดลมบนเท่ากันไหม อย่างที่เฮียบอกไว้ตอนแรกแล้วว่าวันนี้ตัวชี้วัดมันต่างกัน ตอนทำ Kamikaze ตอนยังขายซีดียังขายแผ่นอยู่เลย เดี๋ยวนี้มันแทบจะไม่มี physical ให้ขายแล้ว มันคงออกมาไม่เหมือนกันหรอก

แสดงว่าการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับอดีต มันไม่ใช่ขั้นตอนของการเติบโตในสายตาคุณ

        มันก็เป็นอีกมิติหนึ่ง อย่างในมุม RS เราไม่ปล่อยให้มันเสียโอกาส อย่าง  COOL Fahrenheit เราตั้งบริษัทใหม่ที่แตกออกมาชื่อ COOL Live เอาไว้ทำอีเวนต์และคอนเสิร์ตเอกเทศ ปีหน้าก็กะว่าจะรุกหนักอีเวนต์ ซึ่งก็วางแผนอยู่ว่าจะทำอะไรบ้าง ในตอนนี้คอนเสิร์ตที่เขาทำก็มีทำร่วมกันกับศิลปินนอกค่ายอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ทิ้งเลยคือการผลักดันศิลปินเก่าของเรา เราเรียกว่า #โตมากับอาร์เอส ก็พวกศิลปินยุค 80s-90s หรือ Kamikaze ก็มีแผนว่าจะกลับมาทำคอนเสิร์ตปีหน้า เป็นรวมศิษย์เก่า

 

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

พอพูดถึงเรื่องนี้แล้ว อยากจะถามว่า แล้วเรื่องหนังยังสนใจอยู่หรือเปล่า

        คือต้องบอกแบบนี้ครับ เพลงมันทำสนุก พูดในมุมของธุรกิจก่อน เรื่องกำไรก็สำคัญ แต่เพลงมันทำแล้วมันสนุกด้วย หมายถึงถ้าทำแล้วมันกำไรด้วยนะ เวลาที่เราฟัง ตอบคอมเมนต์ว่ามันไม่ดีอย่างนู้นไม่ดีอย่างนี้ มันเป็นอะไรที่สนุก หนังก็ไม่ต่างกัน แต่ว่าสิ่งที่ทำให้มันไม่น่าสนใจในมุมมองของเฮียก็คือ ‘หนังมันไม่ใช่เกมของผู้สร้าง มันเป็นเกมของเจ้าของโรง’ ดังนั้น เกมที่เราไม่มีทางชนะ ถึงแม้ว่ามันจะสนุก แต่เราก็ถอยมาดีกว่า

        ก่อนหน้านี้ RS เคยทำ RS Film ประสบความสำเร็จมาก แต่บนความสำเร็จนั้นเราได้เพียงน้อยนิด มันไปอยู่กับโรงหมด มันไม่ใช่เกมของเรา เราก็ถอยมาดีกว่า ยุคนั้นเราเริ่มต้นมาด้วย โลกทั้งใบให้นายคนเดียว ก่อนจะเลิกทำหนัง เรามี มือปืน/โลก/พระ/จัน แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า จะเห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องเพลงนะ เรื่องหนัง RS ก็เป็นตำนานเหมือนกัน แต่ที่เราเลิกเพราะมันไม่ใช่เกมของเรา เวลาชนะเราได้นิดเดียว แต่ตอนแพ้เราแพ้เยอะ มันก็ไม่ใช่เกมที่เราควรจะไปเล่น

ถ้าในเรื่องของการทำหนังมันยังสนุกสำหรับคุณ แล้วในอนาคตถ้ามีช่องทางให้ทำกำไรมากขึ้น จะยังกลับมาทำหรือเปล่า

        ผมคิดว่ายาก เพราะธุรกิจหนังกำลังโดนดิสรัปต์ ธุรกิจโรงมันก็โดนดิสรัปต์ และการโดนดิสรัปต์นั้นมันก็ยังไม่นิ่ง เราไม่เห็นว่าจุดจบมันจะไปอยู่ตรงไหน แต่สำหรับเพลงมันเริ่มนิ่งละ เราเริ่มเห็นว่าถ้าออกศิลปินมาหนึ่งคน เขาจะอยู่ยังไงให้อยู่ได้ และค่ายที่อยู่กับเขาก็อยู่ได้

การมีค่ายในยุคนี้มันยังสำคัญต่อศิลปินไหม เพราะบางคนไม่มีค่ายเขาก็อยู่ได้

        อยู่ที่เป้าหมาย อย่างที่บอกเมื่อกี้ ศิลปินที่ไม่ต้องมีค่ายก็มีทางเดินของตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องมี ค่ายมันก็มีข้อดีข้อเสีย มันก็แล้วแต่ แต่มันไม่ใช่ทางเดียว เหมือนเมื่อก่อนที่การจะเป็นศิลปินคุณต้องมีค่าย ไม่ค่ายใดก็ค่ายหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนค่ายเป็นคนคุมช่องทางทั้งหมดของคุณ

คุณบอกว่าเมื่อก่อนเป็นซีดี ทุกวันนี้เป็นมิวสิกสตรีมมิง หนังก็เหมือนกัน เมื่อก่อนก็เป็นหนังโรง วันนี้ก็เริ่มมี Netflix เป็นสตรีมมิงเหมือนกัน

        มันยังไม่คุ้มกันในการทำคอนเทนต์ เอาง่ายๆ อย่างการทำละครก็ได้ เพราะทุกวันนี้เราก็ยังทำอยู่ เราทำซีรีส์ขายป้อนให้กับสตรีมมิง แล้วก็ OTT แต่เราทำแล้วขายเพราะว่า เราต้องทำป้อนให้กับช่อง 8 ด้วย เหมือนเราทำคอนเทนต์ทีเดียวได้ออกสองที่มันก็คุ้ม แต่ถ้าทำคอนเทนต์เพื่อไปออกในสตรีมมิงอย่างเดียว ณ วันนี้ มันยังไม่ใหญ่ขนาดนั้น ถ้าตลาดพร้อมผมก็พร้อม แต่ผมจะไม่เข้าไป push ตลาดให้มันพร้อม

รู้สึกว่าคุณสนุกกับการคิด การทำตรงนี้มากเลย เคยคิดถึงการเกษียณตัวเองไว้บ้างหรือเปล่า

        ไม่มีเลย มีแค่คิดว่าจุดหนึ่งคงไปนั่งเป็นประธานออกความคิดอย่างเดียว แต่เกษียณเลยนี่คงไม่เอา เฮียเชื่อว่าการเกษียณตัวเองมันทำให้เราหมดค่า มันจะเฉาๆ มันจะไม่มีประโยชน์ เราว่าเราก็จัดเวลาเอาดีกว่า ถ้าวันหนึ่งธุรกิจนิ่งขึ้น เรามีเวลามากขึ้น เราก็แค่ให้เวลากับมันน้อยลงดีกว่า สร้างทีมขึ้นมาดูแล เพราะการทำงานคือการดูแลตัวเองพัฒนาตัวเอง ดังนั้นการหยุดไปเลยมันก็จะทำให้เราเฉา ก็ไม่มีความคิดจะเกษียณ

ถ้าสมมติเปรียบเทียบ RS เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง คุณคิดว่าเป็นตัวอะไร

        ยาก คิดยาก ถ้าบอกว่า RS เป็นสัตว์อะไร RS มันก็ไม่ใช่ RS สิ