กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ | คุยกับผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ถึงอนาคตของมหานครที่ไม่เคยหลับไหล

แทบจินตนาการไม่ออกเลยว่า หากต้องใช้ชีวิตสัก 24 ชั่วโมง โดยไม่มีไฟฟ้า ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร เพราะด้วยรูปแบบชีวิตที่ผสมกลมกลืนไปกับเทคโนโลยี ทั้งการทำงาน ช่วงเวลาการพักผ่อน หรือแม้แต่การติดต่อสื่อสารกับคนพิเศษ กิจกรรมทุกอย่างของเราเกี่ยวเนื่องอยู่กับเทคโนโลยี และมีพลังงานไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนชีวิตของเรา

หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงหรือฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในทุกๆ ช่วงเวลานั้นมาจากไหน และมีการทำงานที่หนักแค่ไหนอยู่เบื้องหลัง เราจึงพาคุณไปรู้จักกับ กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ถึงประเด็นต่างๆ มากมายเกี่ยวกับอนาคตของพลังงานไฟฟ้า ไล่ไปตั้งแต่การเข้ามาของ Disruptive Technology ที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานและทัศนคติในการมองโลกไปอย่างสิ้นเชิง การเข้ามาถึงของเทคโนโลยีรถ EV การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานและจำหน่ายเองจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งทั้งหมดนี้คืออนาคตที่อยู่ไม่ไกล

ผู้ว่าการฯ เน้นกับเราว่า นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเหล่านั้น สิ่งที่ กฟน. เชื่อมั่นมากที่สุดคือการให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีวันหยุด และพร้อมแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับการใช้งานแก่ผู้บริโภคในทุกๆ วินาทีที่ใช้งาน

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

 

แนวโน้มเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด

     มีหลายอย่างที่ท้าทายกำลังเกิดขึ้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงจากนโยบายภาครัฐ และเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ระบบเก็บสะสมพลังงาน ตลอดจนเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีโอกาสผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือขายเข้าระบบบนพื้นฐานของการช่วยออกค่าใช้จ่ายในกรณีที่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า ทำให้การบริหารจัดการระบบจำหน่ายมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น กฟน. จึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ มุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรดิจิตอล ทั้งในด้านระบบจำหน่าย การบริการ และการบริหารองค์กร

 

การผลิตพลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์มีความท้าทายอย่างไรที่ กฟน. ต้องรับมือ

     ด้วยข้อจำกัดของโซลาร์เซลล์ที่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และผลิตได้เฉพาะเวลากลางวัน ประกอบกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานก็ยังสูงอยู่ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทำให้ในช่วงเวลากลางคืนยังคงต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบกลาง ในขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้า ต้นทุนนอกจากค่าเชื้อเพลิงคือการลงทุนก่อสร้างระบบไฟฟ้า ซึ่งการใช้โซลาร์เซลล์ไม่ได้ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างระบบ นอกจากนี้ การเป็นแหล่งพลังงานที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบไม่แน่นอนเป็นความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้า

 

ถ้าในอนาคตรถยนต์ EV เข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ ผู้บริโภคจะสามารถใช้บริการได้อย่างเต็มที่ไหม

     จากผลการศึกษาคาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนประมาณ 6.5 แสนคัน ในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งด้วยกำลังการติดตั้งของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในภาพรวมแล้ว สามารถรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ กฟน. ยังมีการวิจัยเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในลักษณะเฉพาะจุด เพื่อใช้โครงข่ายระบบไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการจัดสร้างอุปกรณ์ติดตามการจ่ายไฟฟ้าของหม้อแปลงจำหน่าย หรือ Transformer Load Monitoring โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะสื่อสารกับเครื่องชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อควบคุมและจัดสรรการชาร์จไฟของรถที่รับไฟจากหม้อแปลงจำหน่ายลูกเดียวกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน

     สำหรับความสะดวกในการใช้งาน กฟน. ได้จัดทำ ‘MEA EV Application’ ใช้งานได้สะดวกสบายบนสมาร์ตโฟน เวอร์ชันล่าสุด 2.0 รองรับการใช้งานทั้งระบบ iOS และ Android สำหรับการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ มีระบบนำทางไปยังสถานีชาร์จ การแจ้งข้อมูลประวัติการชาร์จ การคำนวณอัตราการประหยัดพลังงาน รวมถึงฟังก์ชันอื่นๆ ที่จะจัดทำเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในอนาคต

 

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

 

น่าสนใจว่าทั้งปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นและรูปแบบการใช้ที่ซับซ้อนขึ้น รวมทั้งการจะให้ภาคประชาชนผลิตไฟใช้เอง และจำหน่ายไฟฟ้าส่งเข้ามาในระบบได้จริง กฟน. มีการวางแผนรับมืออย่างไรตรงจุดนี้

     แน่นอนว่าในอนาคตแหล่งจ่ายไฟฟ้าขนาดเล็กจะกระจายตัวเพิ่มขึ้น ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้เอง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนจะลงทุนในเทคโนโลยีพวกนี้ ในขณะเดียวกันการไฟฟ้าฯ ก็ต้องเตรียมระบบเพื่อมารองรับการ disruptive จากเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยนำระบบบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าที่เรียกว่า Smart Grid มาใช้ ซึ่งเป็นระบบที่จะตรวจวัดพารามิเตอร์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อให้เราสามารถควบคุมการจ่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

     อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า Smart Grid หรือโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ คือโครงข่ายไฟฟ้าที่นำเทคโนโลยีทางด้านไอทีเข้ามาควบคุมจัดการระบบการจ่ายไฟฟ้าที่มีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น โดยสามารถควบคุมการทำงานทั้งหมดจากระยะไกล เช่น การควบคุมการทำงานของสวิตช์ในระบบจ่ายไฟ ซึ่งในอนาคตระบบทั้งหมดจะพัฒนาไปสู่การทำงานได้แบบอัตโนมัติ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องเพื่อทดลองระบบ Smart Grid และจะได้ขยายผลออกไปในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

 

จากอดีตถึงปัจจุบัน การเติบโตของการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแค่ไหน และมีพัฒนาการอย่างไร

     ปัจจุบัน ในเขตนครหลวง การเติบโตหลักๆ ของการใช้พลังงานไฟฟ้านั้นมาพร้อมกับการขยายตัวของชุมชน แต่ในอดีตก็จะเป็นเรื่องของพื้นที่อุตสาหกรรม ในสมัยก่อนเราจะมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตอนหลังได้มีนโยบายจากรัฐบาลที่กระจายโรงงานพวกนี้ออกไปเพื่อสร้างความเจริญเติบโตในเขตเมืองรองต่างๆ ก็ทำให้การใช้ไฟฟ้าของเราเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่กระจุกตัวอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม ตอนนี้ก็มาอยู่ในภาคธุรกิจและที่อยู่อาศัย ซึ่งก็มีการเติบโต 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

     ในอดีตบทบาทของการไฟฟ้าฯ คือการเร่งขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้าออกไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน หลังจากนั้นความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างต่อเนื่อง กฟน. ก็จะต้องปรับปรุงระบบไฟฟ้าด้วยโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าชนิดสายตัวนำเปลือย เป็นสายไฟฟ้าชนิดที่มีฉนวนหุ้ม เพื่อลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพลมฟ้าอากาศ มีพายุมา หรือแม้แต่มีกิ่งไม้ไปแตะ นก หนู หรือกระรอกก็ทำให้ไฟฟ้าดับได้ง่ายๆ ก็เป็นปัญหาที่เราต้องเจอ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจำเป็นต้องพึ่งพิงไฟฟ้าในชีวิตประจำวันทุกเวลา เพราะฉะนั้น ความต่อเนื่องในการจ่ายไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นต้องมีการจัดการแก้ไขและคืนไฟให้เร็ว

     ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านไอทีมีความก้าวหน้าอย่างมาก และถูกนำไปปรับใช้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน ในด้านระบบไฟฟ้า ทิศทางการพัฒนาต่อไปก็จะเป็นการปรับเข้าสู่การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เช่น โครงการ Smart Metro Grid

 

ที่ผ่านมา กฟน. มองการเข้ามาของ Disruptive Technology อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการทำงานไหม

     ในด้านมุมมองของ กฟน. ที่มีต่อ Disruptive Technology นั้นไม่มองว่าเป็นปัญหา แต่ในทางกลับกัน หาก กฟน. มีความสามารถในการปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างความเติบโต ซึ่งทั้งหมดนี้หากจะเกิดขึ้นได้ กฟน. จำเป็นต้องมีการวางแผนและปรับบทบาทองค์กรให้ยืดหยุ่น คล่องตัว รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง

     โดยในปัจจุบัน กฟน. มีโครงการด้านต่างๆ ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เช่น Smart Micro Grid ที่จะเป็นผู้บริหารจัดการและพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงโครงการด้าน Energy Trading Platform ซึ่งจะช่วยรองรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าในอนาคต และนอกจากนี้ กฟน. ยังมีแนวคิดที่จะให้บริการด้านระบบไฟฟ้าในรูปแบบ MEA Total Solution ที่จะช่วยดูแลด้านระบบไฟฟ้าอย่างครบวงจรอีกด้วย

 

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างคือการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่ค่านิยมในการให้ความสำคัญกับการคิดค้นทำสิ่งใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้มีการทดลองพร้อมกับยอมรับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้

 

กฟน. กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

     การเปลี่ยนแปลงในช่วงต่อไปคือการเปลี่ยนสู่ยุคดิจิตอล ซึ่ง กฟน.ก็ได้มีการปรับระบบงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิตอล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็พิจารณาอย่างรอบคอบในการนำมาใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจาก Pilot Project เมื่อได้ผลดีจึงขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

     การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างคือการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่ค่านิยมในการให้ความสำคัญกับการคิดค้นทำสิ่งใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้มีการทดลองพร้อมกับยอมรับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในเบื้องต้นเริ่มจากการคิดค้นเพื่อทดแทนการซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้เราพึ่งตัวเองได้

 

กฟน. ยังมีโครงการสำคัญอะไรที่ต้องสานต่ออีกบ้าง

     อีกหนึ่งโครงการที่เรากำลังดำเนินการทำอย่างเร่งด่วนก็คือโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพราะด้วยการขยายตัวของเมืองในลักษณะที่มีความเจริญมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในแนวรถไฟฟ้าผ่าน เราจะเห็นตึกสูงหรือคอนโดฯ ที่เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้น การเพิ่มขึ้นเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ไฟฟ้าในแนวตั้ง คือในพื้นที่เท่าเดิมแต่มีความหนาแน่นสูง ทำให้การจ่ายไฟด้วยระบบสายอากาศมีข้อจำกัดด้านระยะห่างของสายไฟฟ้า ทำให้เราไม่สามารถเพิ่มวงจรไฟฟ้าขึ้นได้

     ปัจจุบัน กฟน. ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 45.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ 41.7 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ในแผนรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 127.3 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2562 กฟน. ยังมีแผนงานก่อสร้างเพิ่มเติมอีกจำนวนกว่า 120 กิโลเมตร โดยทั้งหมดมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 ซึ่ง กฟน. ยังได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ กฟน. กำหนดไว้

 

จากโจทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความท้าทายของคุณในบทบาทผู้นำองค์กรวันนี้คืออะไร

     ความท้าทายคือการขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิตอลที่เราพยายามผลักดันไม่ให้เราเป็นเพียงแค่ผู้ใช้งาน แต่ต้องเรียนรู้และบูรณาการการใช้งานระบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในลักษณะการต่อยอดและประยุกต์ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย

 

คุณจัดการกับความกดดันอย่างไร

     ผมว่าความจริงใจและการมีเหตุมีผลจะช่วยลดความกดดันในการทำงานลงไป และการสร้างความเข้าใจกับพนักงานตรงนี้จะทำให้งานเดินหน้าไปได้ราบรื่นมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วการบริหารคนที่ดีที่สุดคือการทำให้เป็นตัวอย่าง จริงใจ ใช้เหตุและผล และจากการที่ผมสัมผัสงานในทุกส่วน องค์ความรู้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา

 

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

 

แนวทางการทำงานที่ต้องส่งต่อให้พนักงาน กฟน. ทุกคนคืออะไร

     คือการสร้างความเป็นมืออาชีพของเราในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในเมืองมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการที่เรากำหนดวิสัยทัศน์ของเราเป็น ‘Energy for city life, Energize smart living.’ หรือ ‘พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร’

     ดังนั้น พนักงานทุกคนจึงมีส่วนช่วยในการสร้างความเป็นมืออาชีพในการบริหารระบบไฟฟ้าสำหรับเมืองมหานคร โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดูแลระบบไฟฟ้าและบริการให้เป็นเลิศ พัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คือความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง ในการที่จะทำให้มีไฟฟ้าพร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ และเตรียมพร้อมตลอดเวลาที่จะแก้ไขปัญหาขัดข้องที่เกิดกับระบบไฟฟ้า ไม่ว่าจะเกิดจากสภาพอากาศที่มีพายุฝน อุบัติเหตุ หรือเหตุสุดวิสัยอื่นๆ

 

สิ่งที่คุณยึดถือในการทำงานมาตลอดคือเรื่องอะไร

     แนวคำสอนตามพุทธศาสนา ‘อิทธิบาท 4’ เป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานได้ ฉันทะ คือการรักในสิ่งที่ทำ มองหาจุดที่ท้าทายหรือประโยชน์ของงานที่ทำ วิริยะ คือความพยายามมุ่งมั่น จิตตะ คือการเอาใจใส่ รับผิดชอบ และวิมังสา คือการคิดวิเคราะห์ หรือปัจจุบันอาจจะเทียบได้กับการวิเคราะห์ข้อมูล หรือใช้ fact base

 

คุณมองความสำเร็จในวันนี้อย่างไร

     มองว่าเป็นความสำเร็จขององค์กรที่มีประวัติการรับใช้ด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

 

เป้าหมายการนำพา กฟน. เดินไปในวันข้างหน้าเป็นอย่างไรต่อไป

     จุดที่เราจะเดินต่อไปคือการนำเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ เข้ามา ในด้านของการบริการ เราก็นำเทคโนโลยีดิจิตอลเซอร์วิสเข้ามา ผู้ใช้ไฟฟ้ามีช่องทางการจ่ายค่าไฟฟ้าทางอินเทอร์เน็ต ทางสมาร์ตโฟน สามารถติดต่อขอรับบริการอื่นๆ ของการไฟฟ้าฯ ผ่านระบบพวกนี้ได้ รวมทั้งการพัฒนาแบ็กออฟฟิศ เราก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามา รวมทั้งการพัฒนา Smart Grid ที่เราจะพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะ ซึ่งจะสร้างความสะดวกในการใช้งานในอนาคต อันนี้ก็จะเป็นทิศทางที่เราจะทำให้เป็น Digitalization

 

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

 

     ที่ผ่านมา กฟน. ในฐานะผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยดีตลอดมา และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวให้รองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น โดย กฟน. จะมีแนวนโยบายขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ยกระดับเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อการให้บริการที่ดี สร้างผลงานให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ายิ่งขึ้น ทั้งในด้านความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย ของระบบไฟฟ้า การจัดหาพลังงานไฟฟ้า การบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับงานบริการ งานระบบจำหน่าย งานบริหารจัดการระบบไฟฟ้า

 


Did You Know?

     ปัจจุบันประเทศไทยมีรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของคนไทยรวมทั้งสิ้นกว่า 38 ล้านคัน โดยในปี พ.ศ. 2579 รัฐบาลได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ EV กว่า 1.2 ล้านคัน หรือคิดเป็น 7.8 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณรถทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าต้องมีแหล่งพลังงานที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 เมกะวัตต์ ในการชาร์จรถไฟฟ้าทั้งหมดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากในอนาคต ทางภาครัฐและเอกชนจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับรูปแบบการบริโภคพลังงานที่เปลี่ยนไปได้หรือไม่

ที่มา: www.carrushome.com

 

กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์

 

MEA EV Application แอพฯ เพิ่มความสะดวกในยุคสมาร์ต

     ในปัจจุบันรูปแบบการใช้พลังงานไฟฟ้ามีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการวางแผนจัดการหลากหลายรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือการจัดทำแอพฯ MEA EV Application ในวาระครบรอบ 60 ปีของ กฟน. เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน โดยผู้ใช้สามารถค้นหาสถานีชาร์จไฟ การจองหัวชาร์จล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ และมีระบบ GPS เพื่อระบุเส้นทางการไปใช้งานให้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย แอพฯ รองรับการใช้งานในสมาร์ตโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android

ที่มา: www.springnews.co.th