‘ต้องทำให้เกิดความชอบธรรม ไม่ต้องเกรงใจใคร’ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

ครบ 1 เดือนเต็มพอดี กับเหตุการณ์การเสียชีวิตของดาราสาว ‘แตงโม’ – นิดา พัชรวีระพงษ์ ซึ่งในรอบกว่า 30 วันที่ผ่านมา ข่าวสารการเสียชีวิตจากการพลัดตกแม่น้ำเจ้าพระยาของเธอ ไม่ได้ลดดีกรีความร้อนแรงแต่อย่างใด รวมไปถึงยังมีประเด็นสำคัญๆ และความเคลือบแคลงใจต่อรูปคดีออกมาอยู่แทบจะตลอดเวลา

        โดยเฉพาะในมุมของการชันสูตร ที่ถึงตอนนี้ได้รับการผ่าเพื่อชันสูตรเป็นครั้งที่สองไปแล้ว พร้อมกับเชิญ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งในอีกสถานภาพหนึ่งของ ‘คุณหญิงหมอพรทิพย์’ ปัจจุบันเธอเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา อันมีผลโดยตรงต่อกรณีการเรียกร้อง ‘สิทธิ์’ และความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตอย่างแตงโมอีกด้วย 

        การผ่าชันสูตรครั้งที่สองผ่านไปไม่นาน และกำลังรอผลการรวบรวมหลักฐานต่างๆ ซึ่งคาดว่าใกล้จะถึงโค้งสุดท้ายของคดีความนี้ แต่ไม่ว่าผลของคดีความจะออกมาในรูปแบบไหน สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาสู่ผู้คนในสังคม นั่นคือ การเข้าใจในเรื่องของ ‘สิทธิ’ ในการเข้าถึงข้อมูลและความเป็นธรรม ทั้งในมุมของผู้เสียชีวิต หรือแม้แต่ญาติเองก็ตาม ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังไม่เคยมีการพยายาม ‘สื่อสาร’ ในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ และเข้าใจถึงสิทธิ์ที่พึงมี

        นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ ‘คุณหญิงหมอพรทิพย์’ นำโอกาสเหล่านี้ มาสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชน ตลอดจนเธอกำลังขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูป ทั้งในด้านการสืบสวนสอบสวน ด้านนิติวิทยาศาสตร์ และสิทธิต่างๆ ผ่านช่องทางการเป็น กมธ. สิทธิมนุษยชนฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั่นเอง

        หากจะบอกว่า หมอกควันในคดีความของแตงโมยังคงลอยปกคลุมอยู่ ก็คงไม่ผิดไปนัก แต่ในท่ามกลางความฟุ้งกระจายของข่าวสาร เรายังพอมองเห็น ‘คุณูปการ’ ของเหตุการณ์นี้ เราจึงเชื้อเชิญ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ มาร่วมพูดคุยกัน ในวันที่เธอบอกว่า รับโทรศัพท์แทบไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ยินดีที่จะไขข้อข้องใจ และชี้แนะในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน…

การเข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่ง คุณหมอรู้สึกอย่างไร

        ความจริงไม่คิดว่าตัวเองจะถูกดึงเข้าไป คือเราเฝ้าตามอยู่ห่างๆ เพราะส่วนตัวหมอกำลังทำหน้าที่เรื่องการปฏิรูป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคดีในลักษณะนี้อยู่พอสมควร แต่จู่ๆ ก็มีข่าวออกมาว่า คุณแม่ (พนิดา ศิริยุทธโยธิน) ต้องการให้หมอพรทิพย์ชันสูตรศพของแตงโม จากจุดนั้นจึงเหมือนเราถูกดึงเข้าไป คล้ายๆ เอาชื่อเราเข้าไปโยน ตูม! จากนั้นผู้คนทุกสารทิศก็มุ่งมาที่เรากันหมด เหมือนความหวังต่างๆ มารวมอยู่ที่เรา แต่ถามว่าหมอเป็นตัวละครด้วยหรือเปล่า หมอไม่คิดแบบนั้น (ยิ้ม)

คือต่อให้ไม่ถูกดึงเข้ามา แต่โดยส่วนตัวคุณหมอก็ติดตามข่าวนี้มาตลอดตั้งแต่เกิดเรื่อง 

        ใช่ค่ะ คือส่วนตัวก็แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่แรก เช่น ทำไมคนที่อยู่บนเรือถึงแสดงออกมาในลักษณะแบบนั้น คือถ้าเป็นเรา เพื่อนจมน้ำหายไป เราคงร้องไห้ และต้องหาจนเจอ คงจะไม่ไปไหน แต่ในมุมกลับกัน ทำไมเขาถึงดูมีลับลมคมใน ไม่ว่าจะเป็นการไม่แจ้งว่าแตงโมหาย การไปรวมตัวกัน แล้วกลับมาให้การว่าแตงโมตกเรือเพราะนั่งปัสสาวะอยู่ท้ายเรือ ซึ่งทุกคนก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันหมดว่า เป็นไปไม่ได้ 

        ต่อมามีข่าวว่าเจอศพ ทีแรกจะนำศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่แป๊บเดียว ส่งย้ายไปที่สถาบันนิติเวช คือในชีวิตหมอ เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยมาก การย้ายลักษณะนี้เพื่อให้ทุกอย่างมันง่าย คำว่าง่ายไม่ได้แปลว่าทุจริต แต่มันมีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งโดยส่วนตัว ถ้ารู้สึกว่ามีสัญญาณที่ไม่ค่อยดี ถ้าเป็นในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบอยู่ เราจะไม่ปล่อยผ่านไปเลย

ล่าสุดข่าวที่ออกมา คาดว่าจะมีการปิดคดีภายในไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม คุณหมอคิดว่าทุกอย่างจะจบไหม

        เราเป็นคนไม่ค่อยคาดเดา เลยตอบไม่ได้ (ยิ้ม) แต่ส่วนตัวมีความเห็นว่า คดีจะปิดก็ปิดไป เรื่องการตรวจหลักฐาน การตามหาหลักฐาน การรวบรวมหลักฐาน มันเป็นหน้าที่ของเขา ซึ่งถ้าเชื่อมั่นว่าทุกอย่างครบถ้วน เรียบร้อย จะแถลงปิดก็ปิดได้ แต่ในมุมของคนที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่แค่ กมธ. สิทธิฯ (คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา) ของหมออย่างเดียว แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น สำนักงานอัยการ ซึ่งอัยการก็อาจจะสั่งตรวจสอบ หรือแม้แต่สภาทนายความก็สั่งตรวจสอบได้เช่นกัน คือพูดง่ายๆ ว่า ปิดน่ะปิดได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ถูกตรวจสอบ หากว่าเรื่องราวยังมีความน่าเคลือบแคลงใจอยู่

ประเด็นเรื่องของบาดแผลที่พบ จุดนี้จะมีผลต่อรูปคดีอีกแค่ไหน

        คือจากการชันสูตรครั้งที่สอง เราเห็นความชัดเจนของแผลนี้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ และเป็นส่วนที่เราสามารถคาดหวังได้จากบาดแผลนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเป็นผู้สังเกตการณ์ สิ่งที่เราทำได้คือ พยายามสื่อออกไป สื่อเพื่อที่จะให้พนักงานสอบสวนเอาข้อมูลนี้ไปเชื่อมโยงกับที่เกิดเหตุ 

        หมอยกตัวอย่างกรณีหนึ่งให้ฟัง เราเคยพบศพถูกทำร้ายโดยการถูกของแข็งทุบ ซึ่งพอชันสูตรลงไป ปรากฏว่าเราพบรอยบางรอย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ นั่นคือรอยรองเท้า หน้าที่ของเราก็คือต้องไปตามหารองเท้าที่มีรอยแบบนี้ แต่ไม่ใช่ไปจบคดีว่าถูกตีด้วยของแข็ง ถูกไหมคะ กรณีนี้ก็คล้ายกัน ถ้าหากเราพบรอยแผลเฉพาะ ก็ต้องหาวิธีเทียบเคียง 

        คือที่ผ่านมา มันมีความเสียหายในการเก็บหลักฐานอยู่เยอะ ซึ่งทำให้เรื่องราวดำเนินมาถึงขนาดนี้ สมมติถ้าเป็นหมออยู่ตรงนั้นในวันนั้น หากเจออะไรไม่ชอบมาพากล เราจะบอกกับพนักงานสอบสวนทันที เฮ้ย เราเจอไอ้นั่นนะ เจอไอ้นี่นะ เพื่อทำให้งานของเราสมบูรณ์มากที่สุด แล้วที่สำคัญที่สุด มันจะนำไปสู่ความจริงทั้งหมดนั่นเอง

จากเหตุการณ์นี้ ถ้าถามว่า อะไรคือสิ่งที่ ‘พลาด’ ที่สุดในมุมมองของคุณหมอ 

        เป็นเรื่องการแทรกแซงค่ะ และบอกได้เลยว่า ถ้าไม่รวย หรือถ้าไม่มีอำนาจ แทรกไม่ได้ค่ะ นี่เรื่องจริง สังคมเห็นกันหมด ถ้าเป็นคนอื่นถูกคุมตัวกันไปแล้ว แต่นี่ทำอะไรกันไม่ได้ ถามว่าทำไมทำอะไรกันไม่ได้ พูดสิ ทำไมทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่ต้องตอบโจทย์ต่อสังคมมากๆ คือคนที่ใกล้ชิดคนตายมากที่สุด นั่นคือผู้จัดการส่วนตัว แต่กลายเป็นว่าไปอยู่พวกเดียวกันหมด คุณต้องตอบความสงสัยเหล่านี้ของประชาชนให้ได้

คิดว่าจะมีเรื่องอะไรที่เหนือความคาดหมายอีกไหมก่อนการปิดสำนวนคดี

        อย่างที่บอกไป เป็นคนไม่ค่อยคาดเดา ก็เลยไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่ว่าสิ่งที่เห็น ณ ตอนนี้ กลไกของสังคมแข็งแรงมาก ต่อให้มันจะเป็นเรื่องเท็จหรือจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม แต่ว่ามันแข็งแรงมาก คิดดูสิ จากสมัยก่อนที่อาจจะเก็บคลิปมาตรวจสอบได้แค่ 2 จุด โอ้โฮ ทุกวันนี้มันโผล่มาเป็นร้อยๆ จุด เพราะฉะนั้น หมออยากใช้คำว่า คุณเอามือปิดฟ้าไม่มิดหรอกสำหรับเรื่องนี้

คุณหมอมีความเห็นอย่างไร กับประเด็นที่โซเชี่ยลมีเดียเข้ามามีผลกับคดีนี้เป็นอย่างมาก

        สนุกดี จากนี้ไปคุณอย่าทำอะไรให้มันเป็นที่คาใจต่อประชาชน เพราะประชาชนจะช่วยกัน เพียงแต่ว่าพวกเราที่อยู่ในสังคม ก็ต้องบริโภคให้เป็น ไม่ใช่ไปบ้าตามกัน เพราะเรื่องบางอย่างก็แต่งขึ้น บางอย่างก็จินตนาการไปเอง แต่โดยรวม หากมองในด้านดี หมอว่ามันดีมาก มันเป็นพาวเวอร์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีมาก ดีที่สุดเลยที่เคยเห็นมา อย่างที่บอกไป จากนี้ไป ใครจะทำอะไรง่ายๆ ปิดง่ายๆ ไม่มีทางละ 

กลับมาทีเรื่องรูปคดีอีกสักนิด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานที่ไม่ถูกบูรณาการของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พูดอย่างนี้ได้ไหม

        ได้ค่ะ บางทีอยู่หน่วยงานเดียวกัน แต่ไม่บูรณาการการทำงานร่วมกัน จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ถามว่าในต่างประเทศมีปัญหาแบบนี้ไหม มีเหมือนกัน แต่เขาเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการชันสูตรมาเป็นอันดับแรก เพราะการชันสูตรเป็นการค้นหาความจริงให้กับคนตายที่ดีที่สุด มันจึงทำให้หลายแห่งในต่างประเทศ แพทย์จะมีทีมที่เกิดเหตุเป็นของตัวเอง คนเหล่านี้เป็นคนประเภทอยู่กับศพจนรู้ทุกอย่าง และสามารถทำงานได้อย่างอิสระ

        ส่วนทีมพิสูจน์หลักฐานจะถูกฝึกฝนมาอย่างดี คือสามารถดูแผล แล้วไปดูที่เกิดเหตุ พอดูที่เกิดเหตุ ก็กลับมาดูแผล จากนั้นก็จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่คือการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ พนักงานสอบสวนจะทำงานง่ายมาก 

        หมอเชื่อว่า โดยธรรมชาติของพนักงานสอบสวน เขาไม่ได้อยากปิดข้อมูลหรอก เขาก็ต้องการทำคดีให้สำเร็จโดยเร็ว แต่ปัญหาคือคนที่เข้ามาแทรกแซง คนนอกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปคดีให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าเราสร้างระบบให้นิติวิทยาศาสตร์ไม่ถูกแทรกแซง พนักงานสอบสวนก็จะสบายใจ คุณไม่สามารถบิดอะไรได้เลย เพราะหลักฐานมันเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สำหรับประเทศไทย วันนี้เรายังไม่ใช่อย่างนั้น

นี่จึงเป็นที่มาของการพยายามมีการปฏิรูป ทั้งในมุมของการสอบสวน หรือระบบนิติวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของผู้เสียชีวิต ที่คุณหมอกำลังผลักดันอยู่ใช่ไหม

        ใช่ แต่ต้องย้อนเล่าอย่างนี้ คือตัวหมอเป็นคนเชื่อเรื่องธรรมะจัดสรร ธรรมะคุ้มครอง หมอมีความเชื่อว่า เวลาเราจะทำอะไร หรือจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ต้องอาศัยจังหวะและเวลา หมอจะไม่ใช่คนที่บุกตะลุยโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

        อย่างเรื่องการปฏิรูป จริงๆ มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่เกิดคดีของ ‘เจนจิรา’ เมื่อปี พ.ศ. 2541 ถ้ายังจำกันได้ วันนั้นหมอไม่เชื่อว่าเจนจิราจะถูกฆ่าที่โรงแรมตามคำสารภาพของผู้ต้องหา ถึงขนาดขอให้ดูดท่อบ่อเกรอะของโรงแรมขึ้นมาพิสูจน์ดู ตำรวจก็โกรธว่า ผู้หญิงคนนี้ใครวะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายหมอก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้ฆ่ากันที่นี่ ไปฆ่าที่หอพัก ผลสรุปก็จริงอย่างที่หมอสันนิษฐาน 

 

        ถามว่าหมอคิดไหมว่าตัวเองเก่ง ไม่เลย แต่หมอเชื่อเรื่องชีวิตลิขิตให้เราต้องทำอะไรบางอย่าง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น เราก็ใช้โอกาสที่เข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม แต่หมอจะไม่ฝืนทำ เราเอาเท่าที่ทำได้ จะรอดูว่าเมื่อไหร่ที่มีเส้นทางให้เดิน เราถึงจะเดิน ถ้าเดินไม่ได้ เราจะถอยมารอก่อน จากคดีเจนจิราจึงมีการผลักดันในเรื่องมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็นสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นมา 

        ต่อมาก็เกิดเป็นกฎหมายเรื่องการพิสูจน์ศพนิรนาม มาทำสำเร็จเมื่อปี 2558 แต่ไม่นานนัก กฎหมายนี้ก็ถูกแก้ไปอีกโดย สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ส่วนตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็มีการถูกแก้ไปด้วย ซึ่งผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้โดยง่าย ต้องผ่านกรรมาธิการ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง

        ระหว่างนั้นเราเองก็เฝ้าดูอยู่เฉยๆ เพราะอย่างที่หมอบอก ถ้าเดินไม่ได้ เราหยุดรอ รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ระหว่างนั้นก็ทำความดีของเราให้เพียงพอ จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้น ซึ่งหมอไม่รู้จักคนร่างเลยสักคน แต่ปรากฏว่า เขายกเอาเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเพื่อการปฏิรูป จึงเป็นที่มาให้เราได้รับโอกาสเข้ามาเสนอเรื่องการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงปฏิรูปเรื่องสิทธิต่างๆ ของผู้เสียชีวิต

        อย่างที่เราบอก เราไม่ได้ทำเพราะรู้สึกว่าจะต้องทำให้สำเร็จ แต่หน้าที่ของเรา เมื่อไหร่ที่มีโอกาส เราจะเดินหน้าเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด เหมือนอย่างคดีนี้ (คดีแตงโม นิดา) ถือเป็นการจุดประกายให้เราสามารถเดินหน้าทำในสิ่งที่ดีที่สุดอีกครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม และกับตัวประชาชนต่อไป

ในรายละเอียด การปฏิรูปทั้งสามส่วนนี้ มีโรดแมป หรือภาพร่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นอย่างไร

        กรณีการปฏิรูปการสืบสวนสอบสวน มีความตั้งใจกันว่า ในอนาคตจะนำอัยการเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในมุมของหมอ บอกเลยว่าต้องมี เพราะตำรวจทำงานช้า แล้วที่ผ่านมาเป็นการทำงานที่เรียกว่าโมโนโพลี (monopoly) หรือการผูกขาด ซึ่งมันควรจะมีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วย เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

        ส่วนที่สอง คือการปฏิรูปนิติวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้มีกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติออกมาแล้ว แต่ว่าการขับเคลื่อนก็ยากมาก เพราะเขาเอาหน่วยงานไปวางไว้ผิดที่ คือไปวางไว้ที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งกระทรวงน่ะถูกที่ แต่กระทรวงดันเอาไปวางไว้ผิดที่ คือไปวางไว้ที่สถาบันนิติเวช ซึ่งผู้บริหารเป็นตำรวจ เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง การทำงานจึงเดินยาก คือการจะเดินหน้าอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าจะเดินยังไงถึงจะเดินได้สำเร็จด้วย

        ส่วนที่สาม คือการปฏิรูปเรื่องสิทธิที่จะรับรู้ของเหยื่อ เรื่องนี้ในทางสากลมีแล้วทั่วโลก จุดนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดกรมคุ้มครองสิทธิ์ขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดก็ต้องดูว่าจะเดินหน้าไปได้ขนาดไหนในอนาคต    

แล้วในส่วนของคณะกรรมาธิการสิทธิฯ คุณหมอสามารถช่วยเหลือประชาชนในมุมไหนได้บ้าง

        ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ทำอยู่ มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว คือพูดง่ายๆ ว่าประชาชนสามารถเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา เราต้องบอกอย่างนี้ การรับเรื่องนั้นไม่ยาก แต่การเดินเรื่องต่อนี่ยาก อยู่ที่ประธานกับกรรมาธิการชุดนั้นๆ ซึ่งประธานและกรรมาธิการชุดนี้ เขามีความเข้าใจ จึงสามารถดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี ส่วนในมุมของประชาชน ถ้าจะให้แนะนำเพิ่มเติม คงอยากแนะนำว่า อย่ายอมแพ้ ร้องที่นี่ไม่ได้ ก็ไปร้องที่นั่น สำคัญคือเลือกให้ถูกคณะกรรมาธิการก็แล้วกัน

ถ้าหากมีกรณีการเสียชีวิตแบบไม่เป็นธรรม หรือต้องการความช่วยเหลือให้เกิดความโปร่งใส คุณหมอพอจะแนะนำอะไรได้บ้าง ในสิทธิที่ประชาชนพึงมี

        อยากให้เริ่มจาก เมื่อไหร่ที่เกิดความไม่เป็นธรรม ขอให้ตั้งสติ เพื่อให้เกิดความคิดว่าเรามีสิทธิ์นะ แล้วจากนั้นลองหาหน่วยงานที่เขารับเรื่องราวของเราได้ อย่างกรณีคดีของแตงโม คุณมาที่ กมธ. สิทธิมนุษยชนของหมอได้ เรายืนยันว่าเราไม่ปฏิเสธการช่วยเหลืออย่างแน่นอน

        แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่แค่หน่วยงานเดียว คุณอาจไปขอความช่วยเหลือจากสำนักอัยการ หรือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มันอาจจะยากหน่อย เพราะมีเรื่องระบบระเบียบต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นสำคัญคือ เราต้องไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ผ่านไปง่ายๆ ถ้าอยากให้สังคมดีขึ้น ต่อให้ไม่ใช่เคสของเรา หรือญาติเรา เราก็อย่าปล่อยให้เรื่องราวแบบนี้ผ่านไป 

        ในความเห็นส่วนตัว หมอคิดว่ามันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะสร้างความเป็นธรรมในตัวเรา รวมทั้งเราเองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้อื่น มากกว่าที่จะเดินมาหาหมอแล้วบอกว่า คุณหมอช่วยให้ความเป็นธรรมให้หน่อย ไม่ค่ะ ต่อแต่นี้ไป เราทุกคนสามารถสร้างความเป็นธรรม ให้กับตัวเรา และให้กับสังคมได้ แต่เราต้องช่วยกัน หมอถึงบอกว่า พลังทางสังคมในครั้งนี้ดีมาก แต่ว่าเอามาใช้ต่อให้ถูกทางแล้วกัน 

        ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าทุกคนมีสิทธิ์ เพราะฉะนั้น เราต้องปกป้องตัวเอง สู้เถอะ มันต้องมีทาง

เคยสงสัยไหมว่า เมื่อไหร่ที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นในประเทศ ทุกคนจะเอ่ยชื่อ ‘หมอพรทิพย์’ เสียทุกครั้ง คุณหมอเคยคิดไหมว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น

        คือเราเข้าใจประชาชน เพราะเราเป็นคนกล้าพูด เป็นคนไม่กลัวคน แต่ไม่ใช่ว่าเราไปท้าทายเขานะ เราตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า หมอไม่เคยกลัวคนเลว คือถ้าจะตายในหน้าที่ ฉันก็ยอมตาย แต่ถ้าตายโดยไม่ทำอะไรให้ถูกต้อง ฉันจะไม่ยอมตายแบบนั้น

        แต่ต่อไป หากมีการปฏิรูปเกิดขึ้นจริง มีกฎหมายเรื่องสิทธิต่างๆ ที่ประชาชนพึงจะรับรู้ เราเชื่อว่าจะมีหมอคนอื่นๆ กล้าพูดมากขึ้น จากนี้ไปจะไม่ต้องกลัว และไม่ต้องมาหาหมอพรทิพย์คนเดียวอีกแล้ว หมอทุกคนทำหน้าที่ได้ สามารถพูดได้ ซึ่งที่ถูกต้องมันควรต้องเป็นอย่างนั้น

ถึงจะไม่ชอบคาดเดา แต่ขอถามปิดท้าย จากนี้ไปนัยยะสำคัญอะไรที่คุณหมอคิดว่า เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู สำหรับคดีของแตงโม

        คาดว่าทั้ง 5 คนจะพบกับความไม่ง่าย เพราะว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นมากมาย เช่น ผู้ตายเมา พบแอลกอฮอล์ แต่อีก 5 คนตรวจไม่พบ การที่ตรวจไม่พบ ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความจริง รวมทั้งทั้ง 5 คนทำลายหลักฐานไปได้ยังไง สำคัญที่สุด การทำลายหลักฐาน ถือเป็นสิ่งที่บอกเหตุไหมว่า คุณปกปิดอะไรอยู่ 

        ดังนั้น การที่ตำรวจจะสรุปอะไรออกมานับจากนี้ พึงระวังว่าจะพังทั้งองค์กร เพราะโดยหน้าที่ คือทำให้เกิดความชอบธรรม ไม่ใช่ความเกรงใจใคร คุณต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม และความจริงต้องปรากฏ ใครทำอะไรไว้ก็ได้อย่างนั้นล่ะ เชื่อหมอสิ


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ