ฝันร้ายและอนาคตที่เจ็บปวดของเด็กรุ่นใหม่ สู่แรงขับเคลื่อนชีวิตของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ถ้านับจากภาพยนตร์เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว (2011) ก็เป็นเวลา 11 ปีแล้ว ที่ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ทำงานในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์อิสระมาตลอด และสร้างลายเซ็นในผลงานของตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสะท้อนถึงความรู้สึกอึดอัดของตัวละครที่ต้องเจอกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ไปจนการพูดถึงปัญหาของวัยรุ่นในมุมของการถูกปิดกั้นความอิสระ ผ่านนัยยะทางภาพยนตร์ ทำให้คนดูสามารถตีความไปได้มากมายทั้งเรื่องของจิตใจ สภาพสังคม หรือการกดขี่โดยผู้มีอำนาจ (ก็ได้)

       วันนี้เขากลับมากับงานชิ้นใหม่ในแนวลึกลับระทึกขวัญและร่วมงานกับนักแสดงวัยรุ่นหญิงชื่อดังนับสิบชีวิตในเรื่อง Faces of Anne แม้ตัวเขาจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ตั้งใจทำออกมาเพื่อให้คนดูสนุกกับหนังอย่างถึงที่สุด แต่ด้วยชั้นเชิง และความเก๋าของผู้กำกับคนนี้ เราเชื่อว่าเขาต้องสอดแทรกอะไรบางอย่างไว้ในหนังด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นลองมาอ่านความคิดของชายคนนี้กันดูหน่อยว่า ภายในหัวของเขาวันนี้ยังมีฝันร้ายอะไรที่ยังตามหลอกหลอนอยู่ และเขาใช้วิธีอะไรในการถ่ายทอดวิธีคิดที่ไม่เหมือนใครเพื่อให้เราเข้าใจและสนุกไปกับเรื่องราวตรงหน้าได้

คุณบอกว่าหนังเรื่องใหม่เป็นการพาตัวเองออกจากเซฟโซนที่ทำแต่หนังอิสระมานาน ทำไมเรากลับคิดว่า การทำหนังอิสระคือการออกจากเซฟโซนของตัวเองต่างหาก

        เพราะหนังเรื่อง Faces of Anne มาจากการที่โปรดิวเซอร์ของทางเอ็ม พิคเจอร์ส ถามเราว่ามีโปรเจ็กต์อะไรเสนอไหม เราจึงเอาเรื่องนี้ไปบอกเขา เพราะมันจะเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมงานกับนักแสดงจำนวนมากมาเล่นบทเดียวกัน แน่นอนว่าตัวหนังมันค่อนข้างขายคอนเซปต์สูงมาก เป็นหนังที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย ดังนั้น การออกจากเซฟโซนของเราคือการเสนอโปรเจกต์นี้แล้วทำให้เป็นหนังที่ดีที่สุดในแบบที่มันเป็น โดยที่เราไม่โกหกเขาว่าเราขายโปรเจกต์ไปแบบหนึ่ง แล้วค่อยทำออกมาเป็นแบบนี้ เขาก็ได้เห็นทุกอย่างตั้งแต่แรก และข้อดีอีกอย่างคือ เราไม่ได้ถูกกดดันว่าต้องขายคนกลุ่มนี้ให้เยอะหน่อยหรือทำให้มันแมสกว่านี้ เรายังได้ทำหนังที่มีกระบวนการอิสระอยู่ แต่มันมีโอกาสให้เราได้ลองเล่นอะไรได้มากขึ้นมากกว่า

        Faces of Anne เป็นแนวทริลเลอร์ จิตวิทยา ที่เราพยายามไม่อินดี้แล้วนะ (หัวเราะ) แต่จริงๆ เวลาทำหนังแต่ละเรื่องเราไม่มานั่งคิดหรอกว่าตัวเองอินดี้หรือไม่อินดี้ เพียงแต่ Faces of Anne มีโอกาสให้เราได้เล่นอะไรเยอะขึ้น เพราะตั้งแต่หนังเรื่อง แต่เพียงผู้เดียว (2011) เราก็ทำหนังอิสระมาตลอด การได้มาทำงานกับทางเอ็ม พิคเจอร์ส จึงใช้โอกาสนี้พาตัวเองออกจากเซฟโซนสักหน่อย ลองทำหนังที่ไม่เคยทำดูบ้าง

จริงๆ ถ้าไม่นับว่าเป็นหนังอิสระ Snap แค่…ได้คิดถึง (2015) หรือ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019) ของคุณก็เป็นหนังแมสอยู่นะ 

        ใช่ หนังของเราก็พูดกับคนดู เพียงแค่ว่าคนดูอาจจะไม่คุ้นเคย (หัวเราะ) แต่เราคิดว่าปัญหาจริงๆ ของอุตสาหกรรมหนังไทยในปัจจุบันคือ คนทำจะเอาใจคนดูในเชิงของการทำแฟนเซอร์วิส และทำให้เป็นมหรสพอย่างเดียว แต่หนังเหล่านั้นก็จำเป็นที่จะต้องมี และมีคนทำเยอะแล้ว ดังนั้น เราก็จะทำอีกแบบหนึ่งเท่านั้นเอง แต่สำหรับเรา Snap แค่…ได้คิดถึง ก็คือหนังรักเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ตัวละครของเรา ไม่ใช่ตัวละครแบบที่รักจนแบบไม่กินข้าว รักแบบไม่เข้าใจอะไร ตัวละครใน Snap แค่…ได้คิดถึง จึงมีเรื่องของปากท้องที่ต้องเลี้ยง หรือ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019) ก็เป็นหนังวัยรุ่นที่ไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ เพราะวัยรุ่นทุกวันนี้เจอแต่เรื่องหนักๆ จะตาย เราสร้างตัวละครที่มันจริง ซึ่งหนังของเราเริ่มต้นแบบนี้มากกว่า และที่มันจริงก็คือวัยรุ่นทุกวันนี้ไม่ได้มีความสุข สิ่งรอบๆ ตัวล้วนแต่มีคำถาม มีความเคว้งคว้างทั้งนั้นเลย หนังของเราจึงไม่ได้ทำงานกับคนที่ตั้งใจจะมาดูอะไรที่พาฝัน อย่าง Faces of Anne ในที่สุดแล้วมันก็จะพาคนดูไปพบกับฝันร้ายของตัวละคร เพราะหนังเรื่องนี้คือแนวทริลเลอร์ ดังนั้น เราจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้คนดูพบกับฝันร้าย แน่นอนว่ามันก็จะมีเนื้อหาบางอย่างที่เราอยากสื่อสารออกไปด้วย

แต่หนังของคุณก็ทำร้ายจิตใจคนดูบางกลุ่มอย่างจงใจเหมือนกัน

        ถ้าเราอยู่ในประเทศที่คุณภาพชีวิตดีกว่านี้ หนังของเราอาจจะไม่ได้ทำร้ายคนดูมากขนาดนี้ก็ได้ (หัวเราะ) เพราะตัวละครเราก็เอามาจากความเป็นจริง บ้านเรามีหนังพาฝันเยอะแล้ว แต่เราเชื่อว่ามีหลายคนที่ชอบการทำร้ายจิตใจของหนังเรานะ แต่ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายจิตใจคนดูนะ แต่ที่แน่ๆ คือ ผมไม่ใช่คนมองโลกในแง่ดี เวลามีปัญหาเกิดขึ้น ผมทำเป็นไม่เห็นปัญหาไม่ได้ เราเจอคนในรุ่นเดียวกันที่ชีวิตเขาสบายแล้ว ซึ่งยอมรับว่าชีวิตผมก็สบาย แต่เพื่อนร่วมรุ่นเรากลับมองข้ามปัญหากันไป เรารู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ยิ่งคนวัยผมด้วยเขาจะรู้สึกว่าโลกที่รู้จักกำลังจะหลุดมือเราไปแล้ว ด้วยวัยหรืออำนาจที่มี หลายๆ ครั้งเขาก็เลือกที่จะยื้อมันไว้ ไม่ปล่อยให้ไปสู่โลกของคนรุ่นถัดไป เรารู้สึกว่าแบบนี้ไม่ค่อยแฟร์ ตอนที่เรามีอายุน้อยตัวเองก็อยากให้โลกเป็นไปอย่างที่เราต้องการ ทุกคนมีการลองผิดลองถูก ต่อให้สิ่งที่เขาต้องการยังไม่สมบูรณ์แต่ได้ลองผิดลองถูกก็ยังดี ให้เขาได้มีบาดแผลบ้าง เราไม่ต้องไปรั้งเขาขนาดที่ไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น ให้เขาได้ล้มลุกคลุกคลาน ให้เขาได้ปรับกันไป ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นสังคมที่ถูกแช่แข็ง แต่หลายคนก็โชว์เก๋าแล้วไปบีบไปกดเด็กจนเป็นปัญหา เราทำได้แค่สนับสนุนได้แต่ชี้ให้เห็นปัญหา จะทำมาบอกว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะคนทำหนัง หน้าที่ของเราคือ เราไม่สามารถมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้

การสอดแทรกปัญหานี้ไปในหนังบางทีก็ตีความยาก มันจะง่ายกว่าไหมหากคุณเล่าแบบตรงไปตรงมาเลย

        ถ้าแบบนั้นอาจจะไม่เป็นภาพยนตร์เท่าไหร่นะ (หัวเราะ) แต่เราก็พูดตรงๆ ผ่านทวิตเตอร์ไปเลยก็ได้ หนังที่ผ่านมาของเราก็รู้สึกว่ามันตรงมากๆ แล้วนะ แต่เราไม่ได้จะประกาศว่าฉันคิดอย่างนี้ เราทำหนังที่โยนคำถามแล้วพยายามให้มันเชื่อมโยงกับคนดูมากกว่า ให้คนดูไปทำงานต่อกันในความรู้สึกของเขาเอง มากกว่าที่จะบอกว่าฉันคิดว่าอย่างนี้ไม่ดี เพราะทำแบบนั้นมันจะไม่เกิดบทสนทนาในหัวคนดู ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้สำคัญกว่า ส่วนความลึกตื้นก็แตกต่างกันอยู่แล้ว มันไม่สามารถหาจุดที่ดีสุด กำลังพอดี หรืออะไรได้ บางเรื่องคนดูบอกว่าดีแล้ว แต่เรากลับรู้สึกซ้ำซากมาก หรือถ้าเอาหนังของผมไปเทียบกับหนังของหลายๆ คน หนังของเขาลึกกว่าผมมากๆ ผมจึงทำในแบบที่ตัวเองรู้สึกว่าโอเคที่สุด ทำได้เฉพาะสิ่งที่เราเป็นจริงๆ

ครั้งนี้คุณได้นักแสดงหญิงวัยรุ่นมาร่วมงานจำนวนมาก ถือเป็นการตอบความต้องการของคุณด้วยใช่ไหม

        ใช่ ตั้งแต่เราได้เจอเด็กเยอะๆ เราค้นพบว่าพวกเขามีบางอย่างร่วมกัน ในหัวเราจึงเกิดไอเดียว่าคนที่หน้าตาไม่เหมือนกันเลย แต่มีบางสิ่งร่วมกันจะเป็นอย่างไร จึงเกิดเป็นตัวละครชื่อ ‘แอน’ ขึ้นมา ซึ่งตัวละครนี้จะเปลี่ยนคนแสดงไปเรื่อยๆ ทำให้เราได้ร่วมงานกับนักแสดงจำนวนมาก ซึ่งถ้าทำหนังอิสระเราก็จะทำแบบนี้ไม่ได้เพราะเงินไม่พอ (หัวเราะ) แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดแข็งของหนังเรื่องนี้ด้วย ทางค่ายเอ็ม พิคเจอร์สก็ซัพพอร์ตและสนับสนุนเพื่อให้มันเกิดขึ้นด้วย เราเองก็เลือกตั้งแต่นักแสดงที่เคยร่วมงานกับเรามาแล้ว ไปจนถึงคนที่เห็นหน้าเห็นตากันอยู่โดยก่อนหน้านี้เราเชื่อมั่นและรอว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสได้ทำงานกับเขา หนังเรื่องนี้จึงทำให้เราได้มาเจอกัน

คุณบอกได้แรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้มาจากฝันร้าย แล้วพอทำออกมาเป็นหนัง คุณออกแบบฝันร้ายที่ว่าอย่างไร มีการใช้วัตถุดิบจากความระทึกขวัญในงานอย่าง เด็กใหม่ (2018) มาร่วมด้วยบ้างไหม

        เรื่องของ ‘แนนโน๊ะ’ ว่าด้วยระบบการศึกษา เหตุการณ์ทั้งหมดจึงเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่จริงๆ แนนโน๊ะก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไปด้วย ดังนั้น ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าหลายคนก็อยู่ในฝันร้ายกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะแค่เด็กๆ แต่รวมถึงพวกเราด้วย เราไม่ได้อยู่ในฝันที่ดีแล้วก็ตื่นไม่ได้ ถูกบังคับให้หลับ ตอนที่เราทำหนังเรื่อง Faces of Anne ก็พูดเรื่องนี้ด้วย เป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่ก่อนที่จะเขียนบทขึ้นมา เราทำมาตั้งแต่ทำ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019) แล้ว เพราะเราไปเจอเด็กผู้หญิงมากมาย เราได้สัมภาษณ์เด็กเยอะแยะที่มาจากทั่วประเทศ ทุกคนต่างมีภาวะบางอย่างร่วมกัน คือการตกอยู่ในฝันร้ายแล้วมันไม่ได้รับอนุญาตให้ตื่น ก็เลยเป็นที่มาของ Faces of Anne

ฝันร้ายของคุณมันรุนแรงระดับไหน

        หนักกว่าฝันร้ายในยุคของผมเยอะเลย เพราะตอนนี้ผมอายุ 50 ปีแล้ว เหลือเวลาในโลกไม่ได้เยอะเท่าเด็กยุคใหม่ๆ งานยุคหลังๆ ของเราตั้งแต่ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019) เป็นต้นมา เราสนใจอนาคตของประเทศ เราสนใจคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น ตัวละครของเราจึงเป็นคนหนุ่มสาวเสมอ เรารู้สึกว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องแบก แม้กระทั่งคนรุ่นเราก็ตาม มาจากความหนักในหลายๆ เรื่องทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของโลกเองโดยอัตโนมัติ การที่โซเชียลมีเดียทำให้โลกเล็กลง การรับรู้เรื่องที่เยอะขึ้นกว่ายุคเรา ซึ่งตอนนั้นเราโตมาในแบบที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอก เรามีเวลาให้ตัวเองได้โฟกัส ได้อ่านหนังสือ ได้ฟังเพลง ได้ทำอะไรอยู่ไม่กี่อย่าง มีวงดนตรีไม่กี่วง มีหนังสือไม่กี่เล่ม แต่ยุคนี้วงดนตรีเยอะมาก แค่เปิดแอพฯ ฟังเพลงยังมีการสุ่ม มีอัลกอริทึมมาจัดให้ด้วยว่าเราน่าจะชอบเพลงแบบไหน ทุกอย่างมันท่วมท้นไปหมดเลย แค่นี้เราว่าก็หนักมากอยู่แล้วที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกสับสนมาก ถ้าเราเป็นวัยรุ่นตอนนี้เราก็คงมีคำถามว่าตกลงแล้วฉันคือใคร และฉันจะต้องเดินไปทางไหน

กลายเป็นว่ารู้เยอะขึ้น ง่ายขึ้น แต่กลับหาตัวเองเจอยากขึ้น

        เราคิดว่าตอนนี้เด็กๆ เหนื่อยมากขึ้น เพราะการรับรู้เรื่องมากขึ้นยิ่งทำให้เหนื่อยมากขึ้น ในยุคของเรามีสิ่งให้เลือกที่จะชอบไม่ยาก แต่ยุคนี้เอาแค่เรื่องวงดนตรีก็มีตัวเลือกเยอะมากๆ แม้ว่าจะเลือกชอบไม่ได้ยาก แต่มีซับคัลเจอร์ย่อยลงไปมากมาย ทุกวงต่างมีกลุ่มแฟนของตัวเอง การที่เด็กจะนิยามตัวเองว่าเป็นใครหรือทำอะไรเราว่ามันเหนื่อยมากขึ้นเพราะมีตัวเปรียบเทียบเต็มไปหมด การที่จะบอกว่าฉันเป็นใครแบบเมื่อก่อน ก็มีซับย่อยลงไปอีกว่าตกลงแล้วฉันแบบที่ฉันอยากเป็นคืออะไร แล้วฉันที่ไม่สามารถเป็นได้อีกล่ะ ไหนจะฉันแบบที่คนอื่นมองว่าฉันเป็น ฉันแบบที่พ่อแม่อยากให้เป็น ฉันแบบที่เป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นแฟน ความสับสนตรงนี้มันมีความท่วมท้นกว่ายุคของเรามาก

        เหมือนกับว่าเด็กรู้ตัวว่าชอบอะไร แต่เข้าใจตัวเองหรือเปล่ามันแตกต่างกันนะ ชอบอะไรนั้นไม่ยากแค่กดไลก์ก็รู้ได้ แต่การเข้าใจว่าทำไมเราถึงกดไลก์ให้สิ่งนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเราอยู่ในโลกที่มีเครื่องมือมันมาลวงตาเราด้วย มันบอกว่าเราชอบสิ่งนี้ เพราะมันมีอัลกอริทึมมาจัดให้ ขนาดหน้าฟีดโซเชียลฯ เรายังเลือกเองไม่ได้เลย ตกลงเราชอบสิ่งนี้จริงหรือเปล่าหรือเพราะมันจับให้เราดูกันแน่ (หัวเราะ) มันทำให้เกิดความคลุมเครือสูงกว่ายุคเรา

ถ้าคุณมาเป็นเด็กยุคนี้คิดว่ารับมือไหวไหม

        เราก็คงมึนกว่านี้ (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้โทษสิ่งเหล่านี้เลยนะ เรากลับรู้สึกเห็นใจเด็กๆ ด้วยซ้ำ เพราะจริงๆ มันก็ไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้น แต่เวลาที่เด็กพยายามจะทะลุตัวเองออกมาสู่อะไรบางอย่าง มันก็จะมีมือที่มองไม่เห็นดึงเขากลับแล้วบอกว่าให้นั่งอยู่ตรงนี้นิ่งๆ ดีๆ หรือคอยกดทับว่าเด็กสมัยนี้อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งคำว่าเด็กสมัยนี้ก็มีมาทุกยุคอยู่แล้วหรือเปล่า (หัวเราะ) เพียงแต่ตอนนี้เรากลัวน้อยลง แต่เราแคร์อนาคต ความกลัวของเราคือโลกที่จะอยู่นี้มันจะยังโอเคไหม ในทางกายภาพโลกเราก็กำลังแย่อยู่แล้ว ซึ่งคนในประเทศเราก็ไม่ได้สนใจอะไรเลย ตอนนี้ทุกอย่างกำลังพังทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ทุกอย่างกำลังลงไปสู่ก้นเหวหมดเลย ยิ่งถ้าคุณอยู่ในประเทศหรือสังคมที่มีสติ เราจะแคร์สิ่งเหล่านี้มากขึ้นไปด้วย 

การทำหนังแต่ละเรื่องมันเป็นการได้ปลดปล่อยความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจออกมาได้บ้างไหม

        จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นการคลายปมไปทีละเปลาะมากกว่า หนังหลายๆ เรื่องเป็นการบอกว่าเรากำลังสนใจเรื่องอะไรตอนนั้นของชีวิต แต่ละเรื่องก็ค่อยๆ เคลื่อนที่ไปจากที่เคยพูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง เรื่องความรัก ก็เริ่มเป็นเรื่องของสังคม ไปสู่อัตลักษณ์ของสิ่งที่กว้างขึ้นจนเป็นเรื่องของประเทศไปสู่คนรุ่นถัดไป เราคิดว่ามันค่อยๆ เคลื่อนไปแบบอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่าต้องทำอย่างนี้เท่านั้น การที่เรายังไม่รู้สึกว่าอยู่ในสภาวะซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะการทำหนังด้วย มันได้ตั้งคำถาม ได้ออกไปหาคำตอบ และได้ปลดความสงสัยไปทีละเปลาะ การทำหนังสำหรับเราเลยเป็นการบำบัดแบบหนึ่ง

คลายปมไปได้หนึ่งเปลาะก็เกิดปมเปลาะใหม่ขึ้นมา

        ใช่ แต่ถ้ามองดีๆ ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ (หัวเราะ) แต่เราคิดว่ามันเป็นแรงขับเคลื่อนด้วย สำหรับคนทำงานที่จะต้องผลิตหรือสร้างงานขึ้นมา ถ้าเราทำสิ่งที่เราไม่สนใจมันจะมีพลังอะไรมาขับเคลื่อนเราได้ ถือเป็นการ Coming of Age ของเราด้วยส่วนหนึ่งกับเรื่องบางเรื่อง บางเรื่องก็เลยความสนใจของเราไปแล้ว สิ่งที่เคยสนใจตอนนี้ก็ไม่สนใจแล้ว เราก็ก้าวผ่านเรื่องนั้นไป ตอนนี้สิ่งที่เราสนใจก็เป็นเรื่องที่เราต้องทำออกมา เพราะเราเจอน้องๆ ที่ทำงานในกองถ่าย เราเห็นความหนักอึ้งที่เขาแบกอยู่ เด็กในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เรียนได้เจอกันแบบตัวเป็นๆ เขากลายเป็นคนที่ไม่มีเพื่อน บางคนย้ายโรงเรียนช่วงโควิด-19 ระบาด ไปอยู่โรงเรียนใหม่ไม่ได้เจอเพื่อนแบบต่อตัว ความสัมพันธ์มีความซับซ้อน มีความประหลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนที่เรียนจบก็เคว้งคว้างมากๆ ในภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ ทุกคนต้องกอดงานของตัวเองไว้ ไหนจะต้องเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ไปได้ดี แล้วต้องถามตัวเองว่ากูเป็นใครตอนนี้ มันเครียดมาก โดยที่ตอนรุ่นเราหลังเรียนจบเราไม่รู้เลยว่าเพื่อนคนอื่น เขาไปทำอะไรยังไง เราได้แต่มุมานะทำสิ่งที่เราไม่ได้เปรียบเทียบกับใคร เพราะไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีอะไรมาโฟกัส แต่เด็กทุกวันนี้เขาจะไม่โฟกัสก็ไม่ได้ เขาไม่ไปอยู่ในตรงนั้นเลยก็ไม่ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขามาตั้งแต่เด็ก ไม่ดูก็ไม่ได้

คนวัย 50 ปี ส่วนมากขับเคลื่อนชีวิตด้วยความสุข แต่คุณกลับได้แรงผลักดันจากปัญหา

        การเป็นคนเนกาทีฟก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหนเลย ถ้าคนในสังคมตระหนักถึงปัญหาเยอะขึ้น เอาแค่เรื่องนี้ก่อน เราก็จะช่วยกันหาทางทำอะไรที่มีประโยชน์ขึ้นได้เอง เราจะได้ไม่ต้องมาเห็นข่าวจำพวกคนเทน้ำเต้าหู้ลงท่อ การแยกขยะ หรือการโกงเงินใดๆ เกิดขึ้น เราไม่ต้องไปถึงขั้นเป็นเรื่องที่ดังก็ได้ แค่เรื่องที่เราทำกันได้แต่ยังเป็นปัญหาอยู่นี้ก่อน ซึ่งไม่มีใครรู้สึกดีกับเรื่องที่เกิดขึ้นหรอก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ถึงกับทำให้เราไม่อยากตื่นมาใช้ชีวิตเลยขนาดนั้น เรายังใช้ชีวิตอย่างมีความฝัน แต่สิ่งที่เป็นเนกาทีฟเหล่านี้ทำให้เราใช้ชีวิตหรือทำงานได้โดยที่ไม่ละเลยมันเท่านั้นเอง สิ่งนี้อาจจะเป็นแรงกระตุ้นเราด้วยซ้ำว่าวันนี้จะตื่นขึ้นมาทำอะไร ที่ทำให้โลกหรือลูกของเราดีขึ้น ไม่แย่ลงไปกว่านี้ เราก็ทำไปให้เต็มที่

หนังของคุณตัวละครหญิงจะมีเสน่ห์ราวกับว่าคุณเข้าใจพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ผู้ชายจะเข้าใจความคิดของผู้หญิง คุณทำได้อย่างไร

        คงเป็นที่ความอยากรู้ เพราะความที่เป็นผู้ชายของเรานี่แหละที่ทำให้สนใจแล้วก็อยากรู้ว่าผู้หญิงคิดอะไร อาจเป็นเพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ลึกลับสำหรับเราอยู่แล้ว ทำให้เราอยากเข้าใจผู้หญิงมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะเรามีลูกสาวด้วย และอาจจะเป็นเพราะอะไรหลายอย่าง หรือส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงในประเทศเรามีอะไรที่ต้องแบกเยอะกว่าผู้ชาย มีความอึดอัดคับข้อง มีพื้นที่ไม่เท่ากัน เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในประเทศที่พื้นที่ของเพศนั้นไม่เท่ากัน

        อย่างตอนนี้ลูกสาวผมเขาเรียนอยู่ที่ประเทศโปแลนด์ ก่อนหน้านี้ตัวเขามีความไม่เข้ากับที่นี่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้เรื่องเลย จนผมพบว่าเขามีคำถามมีปัญหาอะไรบางอย่างกับระบบของประเทศนี้ผมจึงเข้าใจเลย เพราะในเอเชียจะมีความเป็นสังคมรวมกลุ่มกันสูง มีเรื่องการนินทา จับกลุ่ม ต้องใช้ของให้เหมือนกัน ทำสิ่งนี้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเป็นของตัวเองได้ยากอยู่แล้ว ลูกสาวผมก็มองอะไรหลายๆ อย่างแบบนี้ ผมจึงเอาเขาออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่จบ ป.6 แล้วให้เขาเลือกเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้เขามีความสุขมาก เพราะคนที่นั่นไม่ค่อยมีความสังคมรวมหมู่มาก แต่ละคนมีความเป็นปัจเจกบุคคลในตัวเองสูง เขาจึงมีความสุข

เนื่องจากหนังของคุณจับที่ประเด็นใหญ่ๆ เคยคิดว่าหนังของตัวเองจะมีการต่อยอดเป็นโปรเจกต์ยาวๆ แบบ Boyhood (2014) ที่เส้นเรื่องลากยาวไปสัก 8 ปี หรือ 12 ปี ได้ไหม

        นั่นเป็นโปรเจกต์ที่เห็นแล้วได้แต่อิจฉาที่เขาสามารถทำได้ หรือโปรเจกต์อย่าง Before trilogy ก็ได้ น่าอิจฉานะที่เขาสามารถทำหนังออกมาได้หนึ่งเรื่อง แล้วทิ้งไว้สัก 15 ปี แล้วค่อยเอามาทำต่อว่าคนคู่นี้จะเป็นอย่างไร นั่นหมายถึงระบบนิเวศน์ของวงการหนังฮอลลีวู้ดมันดีมากๆ เราอยากให้ Snap แค่…ได้คิดถึง (2015) ในอีก 8 ปีต่อมา ทำให้เห็นว่าตัวละครผึ้ง (อิ้งค์ วรันธร) เป็นอย่างไร หรือ ซู (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) ใน Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019) จะไปไหน เราอยากทำแบบนั้นจะตาย แต่หนังเรื่องหนึ่งใช้เงินสร้างไม่ใช่น้อยๆ มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเจ้าภาพมาช่วยสนับสนุนด้วย (หัวเราะ)

ทำไมถึงย้อนแย้งกับความรู้สึกว่าตอนนี้การทำหนังอิสระมันง่ายกว่าเมื่อก่อนมากๆ

        ถ้าคุณทำภาพยนตร์เพื่อเข้าฉายโรงหนัง ณ วันนี้ทุกอย่างก็ยังค่อนข้างเทอะทะและยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งโลก แค่เรื่องการนำหนังมาฉายในโรงหนังก็เริ่มไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนในปัจจุบันแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในมือของคนดูหมด ฉันจะดูหนังตอนไหนก็ได้เพราะมันอยู่ในมือถือแล้ว แต่การไปดูหนังในโรงหนังต้องเดินทางฝ่ารถติด ช่วงนี้พายุเข้าเอาไว้ก่อน เรื่องปากท้องก็ทำให้เราไม่สนใจเรื่องดูหนังในโรง เพราะต้องมาลุ้นค่าตั๋วอีกว่าจะขึ้นราคาไหม บางเรื่องก็ราคาไม่เท่ากัน หนังเรื่องนี้ยาวหน่อยเขาจะขึ้นราคาไหม แล้วการเกิดโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งกระตุ้นปัญหาให้หนักเข้าไปกว่าเดิม เรารอเขาเอาลงสตรีมมิ่งก็ได้ แต่หนังหลายๆ เรื่องก็ถูกสร้างด้วยกระบวนการที่ต้องดูในโรงเท่านั้น เพราะจะได้ประสบการณ์คนละแบบจริงๆ อย่างล่าสุดสำหรับเราคือ Nope (2022) ที่ต้องดูในโรงจริงๆ ถ้าดูที่บ้านอาจจะรู้สึกจืดๆ ด้วยซ้ำ มันออกแบบทุกอย่างเพื่อการรับชมในโรงหนังจริงๆ

        ซึ่งปัญหานี้เป็นบั๊กที่เกิดขึ้นในวงการหนังไทยมาหลายสิบปีมาก มันต้องมีคนเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ซึ่งต้องเป็นโรงหนังและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการที่เขามีกำลังหรือมีทุนบนหน้าตักเยอะๆ มาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้การมาดูหนังโรงภาพยนตร์มันสอดคล้องกับพฤติกรรมคนดู หนังที่ทำรายได้มักจะเป็นหนังที่คนรู้สึกว่าต้องไปดูในโรงเท่านั้น หนังหลายเรื่องที่เราอยากดูเข้าโรงได้แป๊บเดียวถูกเอาไปฉายในโรงรอบๆ ชานเมือง ซึ่งถ้าหนังดีจริงมันสามารถยืนโรงได้ยาวๆ โรงหนังก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีหนังฉายหรอก แต่ก็ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เริ่ม ที่ผ่านมาเรามีคนทำหนังดีๆ เกิดขึ้นมาตลอด มีคนฉายแสงออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็ถูกระบบแบบนี้ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง มันน่าเศร้า คนทำหนังก็ไม่มีทางเลือกมาก ก็ต้องผลิตงานออกมาเยอะๆ เพื่อเลี้ยงตัวเองไปโดยที่มองคุณภาพเป็นเรื่องรอง จนคนดูเกิดคำถามว่าทำไมมีแต่หนังคุณภาพไม่ค่อยดีออกฉายเยอะ มันก็ไปลดศรัทธาของคนดูหนังได้แล้วมันเป็นแบบนี้ต่อเนื่องกันมานาน ถ้าคุณดูมีศรัทธากับหนัง อุตสาหกรรมหนังไทยก็จะมีความแข็งแรง เรื่องนี้เราคิดว่าต้องแก้ก่อนเลย แล้วเราเชื่อว่าต่อไปคนดูจะรู้แล้วว่าถ้าอยากดูหนังที่มีคุณภาพต้องไปดูในโรงหนังเท่านั้น ต้องแก้บั๊กตรงนี้กันก่อนซึ่งคนแก้ต้องไม่ใช่แค่คนทำงานตัวเล็กๆ แค่ฝ่ายเดียวเท่านั้น

ทุกวันนี้คุณดูหนังบล็อกบัสเตอร์บ้างไหม

        ดูสิ เราเอนจอยกับหนังบล็อกบัสเตอร์จะตาย (หัวเราะ) เราชอบหนังของมาร์เวลนะ เราชอบ Avengers: Endgame (2019) แต่เราไม่ชอบ Thor: Love and Thunder (2022) เราว่าหนังน่าเบื่อมาก เราคาดหวังว่าจะสนุกกว่านี้ แต่หนังมาร์เวลยุคหลังๆ มันไม่ได้เลยจริงๆ เขาใช้เวลาตั้ง 11 ปี ในการสร้างความผูกพันกับเรา ตอน Avengers: Endgame (2019) เราซึ้งกับมันมากๆ เลยนะ

คุณใช้วิธีคิดอย่างไรเพื่อสร้างงานของตัวเองให้ออกจากขนบของหนังทั่วๆ ไป

        ผมใช้สิ่งที่ตัวเองอยากพูดมากกว่า เพราะเรารู้เรื่องโครงสร้าง จังหวะของหนัง เนื้อหาต้องมีกี่องก์ เนื้อเรื่องต้องไปถึงไหนอย่างชัดเจนมากๆ อยู่แล้ว และเราใช้มันเพื่อการตรวจสอบเท่านั้น เพราะเวลาทำหนังเราจะปล่อยไหล แต่ว่าเรามักจะเขียนบทหนังไปแล้วจะถอยออกมาเป็นระยะ ดูว่าตอนนี้ลำดับของเรื่องมันไปถึงไหน ซึ่งมันก็จะช่วยเราได้ แต่เราจะไม่พึ่งพามันหรือว่ายึดติดว่าหนังต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น

ก่อนที่จะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ คุณทำงานหลากหลายอย่างมาก ในวันนั้นเป็นการค้นหาตัวเองหรือมีอะไรให้ทำก็ทำไปก่อน

        มีหลายๆ ส่วนมาก แต่ข้อดีของการทำทุกๆ อย่างมันก็กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับเรา และทำให้ได้เจอได้รู้ปัญหาของคนจำนวนมาก เมื่อเราทำหนังเราก็ต้องเขียนบทเอง เพราะเราต้องใช้เรื่องจริงมาใช้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีวัตถุดิบเยอะๆ เรื่องไหนที่เราอยากจะเข้าใจ ก็ต้องถามคนเยอะๆ ให้พอที่จะได้ข้อมูลกว้างมากพอที่จะรู้ว่าเขาคิดอะไรแบบไหน ซึ่งการได้ค้นพบว่ามนุษย์เราคือสัตว์โลกที่ทำอะไรไม่น่าเชื่อได้ตั้งมากมายกับชีวิต เราว่ามันเป็นประโยชน์กับชีวิตมากๆ ไม่นับสิ่งที่ทำเพราะได้เงินนะ (หัวเราะ)

        แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังเฆี่ยนตีตัวเองอยู่แต่แค่เบาลง เพราะความเข้มงวดมันเป็นเรื่องอัตโนมัติไปแล้ว อะไรที่ไม่ดีก็รู้ตัวว่าไม่ดี เวลาเขียนบทเราก็จะรู้แล้วว่าพอหรือยัง ยังมีอะไรตงิดๆ อยู่ไหม ถ้ามีก็จะไม่ปล่อยก็ทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเราไม่เคยทำงานประจำมาเก่อนเลย การที่เป็นฟรีแลนซ์มันทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว ดังนั้นงานที่ดีเท่านั้นที่จะนำพาเราไป สู่งานต่อไปได้

สิ่งที่คนทำงานยุคนี้กลัวที่สุดคือการที่ตัวเองกลายเป็น ‘เป็ด’ เป็นคนที่ทำอะไรได้หลายอย่างแต่ไม่สุดสักทาง คุณมีข้อแนะนำอย่างไร

        เราเห็นว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเขาด้วยว่าเขาเลือกจะเลือกโฟกัสกับอะไร ตอนเราเด็กๆ เราไม่เป็นเป็ดขนาดนี้ เพราะเรารู้น้อย เด็กเดี๋ยวนี้รู้เยอะ และมีเครื่องมือที่จะทำให้รู้อะไรหลากหลายได้มากขึ้นแต่ยุคก่อนไม่มี เราก็เลยรู้อยู่แต่สิ่งเดียว แต่เดี๋ยวนี้เด็กเรียนหนังจบมา เขาถ่ายก็ได้ ตัดก็ได้ ทำได้ทุกอย่างเลย จนทั้งกองจะมีแกคนเดียวเลยหรือไง (หัวเราะ) ทำให้เขากลายเป็นเป็ด ก็ต้องถามตัวเองว่าจะโฟกัสอะไร แล้วก็ทำให้มันไปให้ถึงที่สุดว่าไปได้แค่ไหน การเป็นเขาเป็นเป็ดเพราะนั่นคือความรู้สึกว่ามันคือความปลอดภัย ถ้าคุณไม่ได้ทำงานนี้ คุณทำงานนั้นก็ได้ ได้เงินเหมือนกัน ผมเคยคุยกับผู้บริหารท่านหนึ่ง เขาก็บอกว่าตอนนี้ไม่มีใครอยากเป็นคนที่เชี่ยวชาญทางใดทางหนึ่งแล้ว เขาไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าฉันจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ มีแต่เป้าหมายว่าอยากจะทำงานแล้วเกษียณเร็วๆ จนมีปัญหาตามมาคือ ฉันทำงานนี้ ฉันก็เล่นคริปโตด้วย ถ้าวันไหนที่ราคาเหรียญตกวันนั้นเขาแทบไม่อยากทำงานเลย แต่ที่เขาต้องทำแบบนี้เพราะอยากเซฟตัวเอง แต่มันทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อและไม่สามารถโฟกัสได้

        ความสามารถพื้นฐานของคนที่ทำได้หลากหลายนั้นดี แต่ว่าการโฟกัสแล้วเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเส้นทางของตัวเองดีกว่า คุณเลือกมาเถอะ เลือกมา มันจะทำให้คุณอยู่ได้ยาวกว่า เพราะการทำอะไรได้หลายอย่างแต่ไม่เชี่ยวชาญมันทำให้คุณเป็นได้แค่ตัวเลือก เพราะคนที่ทำได้เหมือนกันมันมีเยอะเต็มไปหมดเลย ตอนที่คุณทำๆ ไป มันต้องมีช่วงที่ยาก ที่เจ็บปวด พอไปถึงจุดหนึ่ง มันก็จะเกิดการคัดเลือกเอง เวลาคนพูดถึงผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เขาก็จะนึกถึงชื่อของคุณทันที

คำถามสุดท้าย ใครๆ ก็สงสัยว่าทำไมหนังเรื่อง Faces of Anne ถึงไม่มี แอน ทองประสม

        หนึ่ง ค่าตัวเขาต้องแพงแน่ๆ (หัวเราะ) สอง ด้วยอายุของเขายากที่จะมาเป็นแอนในเรื่องได้ แต่จริงๆ แล้วเราก็คิดถึงเขาตั้งแต่ต้นนะ เพียงแต่เราหาจุดที่ลงตัวให้เขาไม่ได้ แต่เรามองว่าคนชื่อแอน ซึ่งเป็นตัวอักษร A เป็นอักษรตัวแรกของภาษาอังกฤษเป็นชื่อที่สามัญที่สุด ใครก็ต้องมีแอนของตัวเอง ในชีวิตเรามีคนรู้จักชื่อแอนไม่รู้กี่คน เราเลยอยากเอาเรื่องนี้มาเล่นกับคนดูว่าแอนที่คุณเห็น แอนที่คุณรู้จักเป็นใคร และแอนคนนั้นเป็นคนแบบไหน